กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
space
space
15 กุมภาพันธ์ 2565
space
space
space

สัตถา เทวะมะนุสสานัง (๑๖)



   ต่อไปบทว่า สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้ หมายความว่าอย่างไร ? ข้อนี้ หมายความว่า เป็นครูของโลก   พระองค์เป็นนักสอนเพื่อทำความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่าใดก็ตามตกอยู่ในห้วงทุกข์ พระองค์ก็เป็นครูของสัตว์เหล่านั้น ทุกเพศ ทุกชั้นโดยไม่จำกัด   พระองค์มีความรู้อย่างเพียงพอที่จะเป็นบรมครูของของโลกได้ เพราะเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรรู้ ดังได้กล่าวแล้วในบท อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะในการที่พระองค์ทรงแสดงธรรมกับสัตว์โลกอย่างไร แล้วเราก็พากันทำตามเท่านั้น พอที่จะย่นเป็นหัวข้อได้ ดังต่อไปนี้

   เรื่องเทวดานี้ ขอทำความเข้าใจเรื่องเทวดาก่อน ครูของเทวดา เทวดามีอยู่ ๓ จำพวก เขาเรียกว่า สมมติเทวดา แปลว่า เทวดาโดยสมมติ เทวดาสมมติก็คือ พระราชามหากษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ เขาเรียกว่าเป็นเทวดาโดยสมมติ เขาให้เกียรติกับพระเจ้าแผ่นดิน

   อีกพวกหนึ่ง เขาเรียกว่า อุปัตติเทพ ได้แก่ เทวดาโดยกำเนิด คือไปเกิดเป็นเทวดาในสรวงสวรรค์ ตามแบบตำนานที่มีมาตั้งแต่โบราณ เช่นว่า คนนั้นทำบุญแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทวดา อย่างนี้ เรียกว่า อุปัตติเทพ หรืออุบัติเทพ

  เทพอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิสุทธิเทพ คือเทวดาโดยความบริสุทธิ์ คือพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเทวดาโดยความบริสุทธิ์

  เทวดาทั้งสามนี้  เทวดาที่สูงสุดคือวิสุทธิเทพ คือเทวดาที่มีใจบริสุทธิ์นั่นเอง นอกนั้นเป็นบริวารทั้งนั้น  พวกเทวดาที่ยังเป็นบริวารอยู่ เช่น สมมติเทพหรืออุปัตติเทพยังมีความทุกข์ เทวดายังมีทุกข์ สวรรค์มันยังมีทุกข์ ไม่ใช่หมดทุกข์ ไม่ใช่เกิดในสวรรค์แล้วจะสบาย มันยังมีทุกข์อยู่นั่นแหละในสวรรค์น่ะ จึงต้องรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่  พระพุทธเจ้าสอนเรื่องดับทุกข์ ใครมีความทุกข์ก็มารับฟังคำสอน เหมือนอย่างกับว่า มีหมอคนหนึ่งคอยจ่ายยาแก้ไข้ ใครเป็นไข้ก็มารับยาได้  ถ้าคนไม่เป็นไข้ก็ไม่ต้องรับยาได้   ในเรื่องธรรมะที่พระองค์สอนก็เหมือนกัน พระองค์สอนธรรมะที่เป็นทางดับทุกข์   ผู้ใดยังมีความทุกข์   ไม่ว่าเทวดาหรือมนุษย์หรือใครๆก็ตาม ที่มีหูพอฟังได้ มาฟังเถอะ พระองค์สอนทั้งนั้น เราจึงเรียกว่าอย่างนี้ ว่าเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


    ทีนี้ การสั่งสอนของพระองค์นั้น สอนอย่างไร ? เราควรรู้วิธีการสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์สอนวิธีใด

   ๑. ไม่สอนเพื่อลาภ.   พระองค์ละทิ้งราชสมบัติอันบริบูรณ์ด้วยการออกแสวงหาความหลุดพ้น เสด็จออกมาดำรงตำแหน่งครูของโลก   คำบาลีที่กล่าวไว้  ครั้งกระโน้นไม่มีคำใดเลยส่อให้เห็นว่า มีผู้ถวายเครื่องกัณฑ์แก่พระพุทธเจ้า หรือสาวกเมื่อแสดงธรรมเลย  การแสดงธรรมในครั้งกระโน้น เป็นหน้าที่ของผู้แสดง จะต้องเข้าไปแสดงในสถานที่ที่คนบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น แม้เขาจะเชื่อตัวหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงคราวควรแก่การแสดงแล้วต้องแนะนำเขาทันที  แต่บัดนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พระไม่มีใครสมัครแสดงธรรมโดยปราศจากการเชื้อเชิญจากเจ้าภาพ ซึ่งจะต้องมีผู้แสดงความจำนงตายตัวแล้วว่า จะถวายสิ่งของ การแสดงธรรมเลยกลายเป็นว่าคนมีเงินเท่านั้นที่จะได้ฟังธรรม หรือไม่ก็ต้องประกอบพิธีอะไรสักอย่าง หรือเกี่ยวแก่ชื่อเสียง แล้วจึงจะจัดผู้แสดงธรรมมาแสดง ด้วยทำนองที่จะใช้ด้วยมูลค่า แต่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญบุญ ให้มาแสดง ณ ที่อยู่ของตนก็มี ให้แสดงประจำอยู่ที่วัดเป็นประจำก็มี

   ๒. แสดงธรรมด้วยเมตตา.   พระองค์ได้ปักหลักสำหรับธรรมกถึกไว้ข้อหนึ่ง เมื่อแสดงธรรมกับบุคคลอื่น ควรตั้งเมตตาจิตไว้เป็นเบื้องหน้า ไม่พึงรับอามิสหรือลาภผล เมตตาเป็นความรักที่ประกอบด้วยธรรมะ ไม่ได้ประกอบด้วยความกำหนัดเช่นความรักระหว่างเพศ แล้วแสดงธรรมให้เขารักกันบ้าง หรือเมื่อเขาถวายสิ่งของ แล้วสรรเสริญเยินยอเขา เช่นนี้เกินไป เกินพอดี  เมตตานั้นคือความรักและความอยากให้เขามีความสุข ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน แต่เขายังเป็นผู้มีปัญญาอ่อน ไม่สามารถที่จะช่วยตนเองให้เป็นสุขได้ตามลำพัง นี่เป็นบารมีอันหนึ่งที่พระโพธิสัตว์ได้สร้างสรรค์มาทีละน้อยๆ ๔ อสงไขยแสนกัป จึงจะเกิดแก่กล้าถึงที่สุดเป็นพระพุทธเจ้าได้ มีความเมตตาอยู่เสมอ  ผู้ที่มีเมตตาแท้จริงแล้วทำอะไรลงไปดีเหลือหลาย เป็นเจ้าหนี้ของโลก พระศาสดาผู้เป็นบรมครูของเราทั้งหลายตรัสว่า แสดงธรรมด้วยเมตตา

  ๓. มุ่งธรรมะเป็นใหญ่.   พระองค์ตรัสว่า คำที่พระองค์ตรัสไว้ก็ตาม ที่พระอาจารย์สอนให้ก็ตาม ตลอดจนคำที่ได้ยินได้ฟังมาจากทางไหนก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อในทันที ต้องคิดดูให้เห็นว่าดีหรือชั่ว จริงหรือไม่จริง แน่ใจเสียก่อนว่าจริงแล้วๆจึงเชื่อ เช่น กาลามสูตร ตรัสกับพวกกาลามะชน เป็นต้น ตลอดถึงสูตรอื่นก็เหมือนกันเพราะมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่มุ่งบุคคลเป็นใหญ่ ไม่เชื่อบุคคล แต่เชื่อธรรมะ  พระองค์สอนให้รู้จักหาเหตุผลแสดงเหตุผลให้กับผู้ฟัง ไม่ปิดบังอำพราง ไม่สอนคนโน้นอย่างหนึ่ง คนนี้ อย่างหนึ่ง ด้วยความลำเอียง พูดตรงไปตรงมา อย่างเป็นธรรม ไม่ต้องคิดถึงว่าจะชอบใจผู้ฟังหรือไม่ นี้ล้วนแต่มุ่งธรรมเป็นใหญ่ทั้งนั้น

   ๔. ต้องทำให้ได้เหมือนกับที่สอนเขา.   ตรัสไว้ว่า พึงตั้งตนเองไว้ในที่สมควรเสียก่อน แล้วจึงค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง และฝึกตนให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยฝึกผู้อื่น เช่น จะสอนให้เขามีศีล มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น ก็ควรทำตัวของตนเองให้มีศีลและหิริโอตตัปปะเสียก่อน ไม่ใช่ไปอ่านหรือฟังจากใครแล้วก็ไปสอนเขา ผู้ที่สอนเขาแล้วทำไม่ได้เหมือนสอน เป็นผู้ที่ควรถูกติเตียน แม้พระองค์ก็ทรงกล่าวไว้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับโลหิตะพราหมร์ว่า

ครูที่ควรถูกติเตียนมี ๓ จำพวก คือ

   ๔.๑ ผู้ที่ออกบวชแล้วไม่ทำตัวให้บรรลุสามัญผลเสียก่อนแล้วมาสอนเขา คือยังไม่บรรลุสามัญผลแล้วมาสอนผู้อื่น   คำพูดของเขาไม่มีใครเอาใจใส่   เหมือนคนรักผู้หญิงไม่เป็น หรือกอดผู้หญิงข้างหลัง

  ๔.๒ ผู้ที่พูดเช่นนี้   แต่คำพูดของเขามีผู้เอาใจใส่ เขาเพลินไปในการสอน ละทิ้งหน้าที่ของตนที่ควรทำแก่ตัว เช่น ผู้ที่ทิ้งนาของตนไถนาคนอื่น

  ๔.๓ ผู้ที่เป็นเช่นนั้น สอนไม่มีใครฟัง เขาละทิ้งสิ่งที่พอจะทำได้ไปรับภาระในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เหมือนคนตัดบ่วงเก่าเพื่อเอาบ่วงใหม่ฉะนั้น

   ครู ๓ จำพวกนี้ ควรถูกติเตียนทั้งนั้น นั่นเป็นของจริงประกอบด้วยธรรมไม่มีโทษ พระองค์รู้และยึดหลักนี้มั่น คือ ต้องทำตัวให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยไปสอนเขา


   ๕. ฉลาดในการสอน.   พระองค์ทรงเป็นผู้ฉลาดที่ทำให้เขาเข้าใจและเห็นจริงในคำสอนนั้นๆ เพราะทรงแสดงให้เหมาะแก่นิสัย สติปัญญาของผู้ฟัง แสดงไปตามลำดับ ง่ายไปหายาก ต่ำไปหาสูง ไพเราะตลอดเวลา ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด  พระองค์ใช้เหตุผลชนิดที่ผู้ฟังพอจะเอาไปคิดให้เห็นได้ ไม่ต้องเชื่อด้วยความงมงาย เพราะทรงแสดงให้เหมาะแก่เรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่หรือเล่าลือกันอยู่ในเวลานั้น เหมาะแก่กิจการที่ผู้นั้นกระทำอยู่ เช่น เห็นกองไฟ ก็เทศน์เปรียบด้วยกองไฟ เช่น อัคคิกขันโธปมสูตร เขาชอบไฟ ก็เทศน์เรื่องของร้อน เช่น อาทิตตปริยายสูตร แก่พวกชฎิล เป็นต้น และตลอดเวลาที่แสดงก็มีอุบายให้ผู้ฟังมีอาการสดชื่น รื่นเริง สนุกสนาน พอใจฟัง ในที่สุดก็จะทำตาม ไม่มีการเบื่อหน่าย ง่วงเหงาหาวนอน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฉลาดในการแสดงธรรม

   เหล่านี้ทั้งหมด เป็นลักษณะของพระองค์ที่แสดงว่า ควรแก่ตำแหน่งบรมครูของเทวดาและมนุษย์ หรือครูของโลกโดยแท้ เราทั้งหลายเป็นสาวกควรดำเนินรอยตาม ให้สมกับที่ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในวิสัยอันเป็นของแห่งบิดาตนเถิด” ก็ให้สมกับที่เราทั้งหลายปฏิญาณตนเองเป็นศิษย์ของพระองค์ที่เป็นครูของเทวดาและมนุษย์  ที่พูดว่า พวกเธอจงเที่ยวไปในวิสัยเป็นของแห่งบิดาตน นั้น หมายความว่า เดินตามรอยยุคลบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เดินไปทางไหน เราก็เดินไปทางนั้น อย่าเดินนอกทาง อย่าทำร้ายทางที่พระองค์ทำไว้ให้เราเดิน เดินตามเส้นทางตามที่พระองค์ให้เดิน เราจึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้สมความปรารถนา นี้เรียกว่า สัตถา เทวะมะนุสสานัง


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2565 8:08:46 น. 0 comments
Counter : 1334 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space