กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มีนาคม 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
18 มีนาคม 2565
space
space
space

บทสรรเสริญธรรมคุณ (ต่อ)
 

   มีคำต่อไปที่เรียกว่า สาตถัง สะพ๎ยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พ๎ห๎มะจะริยัง ปะกาเสสิ  -  ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ

คำว่า “ประกาศ” ปะกาเสสิ  คือ   การแสดงธรรมเผยแผ่ คำนี้ ใช้เฉพาะพระศาสดา  ถ้าสาวกใช้ อะภิวะทันติ   ใช้ศัพท์คนละอย่าง แปลว่า กล่าวโดยยิ่ง รวมความก็คือ ประกาศเผยแผ่เหมือนกัน

คำว่า “พรหมจรรย์” หมายถึง ธรรมวินัยทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้  คำว่า “พร้อมทั้งอรรถ” คือ เนื้อความพิสดาร  “พร้อมทั้งพยัญชนะ” คือคำสรุปความย่อความตอนท้าย เพื่อให้จำง่าย มักผูกเป็นคาถาไว้  คำว่า “บริสุทธิ์” คือไม่เจือด้วยเท็จเทียม ทรงกล่าวคำใดว่า เป็นทุกข์ก็ทุกข์จริง ว่าทำอันตรายแก่ผู้ประพฤติก็ทำจริง ถ้าสุขก็สุขจริง  คำว่า “บริบูรณ์” คือพร้อมที่จะให้สำเร็จประโยชน์ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ไม่ครึ่งๆกลางๆ เช่น ความรู้อุทกดาบสรามบุตรไปติดเสียแค่อรูปฌานเท่านั้น เป็นต้น

   พระพุทธคุณ และพระพุทธจริยาทั้งหมดนี้ ควรที่เราทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระองค์จะกำหนดถือเอา เพื่อปฏิบัติควรแก่เพศโดยแท้ เป็นหลักที่จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เราผู้เข้ามาศึกษาในพระพุทธศาสนา ไม่ควรประมาทในการประพฤติธรรมะ มีอะไรที่ควรจะละ ที่ควรเจริญขึ้น ก็ควรละ ควรเจริญขึ้นไป ตามฐานะ ตามโอกาส ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของพุทธานุสสติ


   ทีนี้ จะกล่าวต่อไปถึงบทสวดมนต์ ธัมมาภิถุติ.   อภิถุติ   แปลว่า ชมเชย คำว่า หันทะ มะยัง ธัมมาภิถุติง กะโรมะ เส    เราทั้งหลายมากล่าวคำชมเชยพระธรรมกันเถิด โย โส ส๎วากฺขาโต ภะคะวะตา ธัมโม   พระธรรมนั้นใด เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว


    ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสนั้น เป็นการตรัสดีแล้ว ดีอย่างไร ?   คือ ดีพร้อมทุกประการ ดีในเบื้องต้น ดีในท่ามกลาง ดีในที่สุด เมื่อผู้ใดเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ ผู้นั้น ย่อมเห็นผลประจักษ์ชัดด้วยตนเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นของดี เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เป็นสิ่งที่ให้คุณให้ค่าแก่ชีวิตของเรา   ในเรื่องนี้ ขอทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่า คนเรา กับ ธรรมะต้องอยู่ด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าขืนแยกแล้วก็เกิดทุกข์ เกิดโทษ

ในเวลาใด ที่เรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ หรือว่าในเวลาใด ที่เราทำอะไรผิดพลาด เสียหายในการงาน ในชีวิตประจำวัน แสดงว่าในขณะนั้น เราขาดคุณธรรม เป็นเครื่องคุ้มครอง เราไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติ

ถ้าได้ใช้ธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติอะไรอยู่แล้ว ก็จะไม่เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่เกิดความเสียหายในเรื่องนั้น เพราะว่า มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง รักษากิจการในชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถ ถ้าขับรถด้วยความมีธรรมะ  ก็ไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ตกถนน  ไม่ชนกับใครๆ  แม้เราเดินก็เหมือนกัน  ที่เราไปสะดุดอะไรนั้นเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ดูให้ดี ประมาท จึงได้เดินสะดุดไป


   สมัยเด็กๆ อ่านหนังสือแบบเรียนเร็ว จำได้ หนูพันพี่ หนูพูนน้อง แล้วหนูพูนก็เดินไป ตะปูตำเท้า ร้องไห้แงๆ  หนูพันก็ถามว่า ร้องไห้ทำไม  หนูพูน  ตอบว่า  ตะปูตำเท้าฉัน  หนูพัน  ถามว่า ทำไมมันจึงตำเอา  หนูพูนตอบว่า  ฉันไม่ทันเห็นมันจึงตำเท้า  ข้อความในหนังสือแบบเรียนเร็วอย่างนั้น ในสมัยนั้น ก็อ่านไปเรื่อยๆ ตามเรื่องตามราว ไม่ได้นึกว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้น  แต่ว่าเมื่อโตแล้วก็นึกไปถึงแบบเรียนเร็ว ตาโถเป่าปี่ ตาดีมือแป ตาหวังหลังโกง ไม่เรียบร้อยทั้งนั้น ในแบบเรียนเร็วนี่ มือแปบ้าง หลังโกงบ้าง ไม่เรียบร้อยสักคนเดียว ที่เอามาว่ากันนี่นะ
มานึกว่า แบบเรียนของเราสนุกดี แล้วก็มีของดีอยู่ในนั้น เช่น หนูพูนเดินไปถูกตะปูตำนี่ ทำไมมันจึงตำเอา ฉันไม่ทันเห็นมัน จึงตำเท้า  หนูพันก็บอกว่า เพราะเธอเดินไม่ดี  มันจึงถูกตำ นี่แหละ คือไม่ประมาทธรรมละ   หนูพูนน่ะไม่ประพฤติธรรม   ตะปูมันจึงตำเท้า   ถ้าประพฤติธรรมก็ไม่ตำ
คนประพฤติธรรมอย่างไร ?   ค่อยๆ เดิน  ตาดู  แล้วก็ค่อยๆ กำหนดดูอยู่ในที่ที่เท้าเดิน ตรงไหนมีตะปูจะไปเหยียบมันทำไม เราเห็นนี่เราก็ไม่เหยียบ  เคยนั่งรถไป คนขับรถบางคนเก่ง ตะปูตัวเดียวแกมองเห็นบนถนน หลบวูบ ถามหลบอะไร ตะปูตัวใหญ่ว่าอย่างนั้น แสดงว่าไม่สะเพร่า เวลานั้น มีธรรมะประจำจิตใจ ธรรมะก็คุ้มครอง ไม่ให้ตะปูตำยางรถยนต์ นี่ตัวอย่างง่ายๆ

   
172 170 172

ความหมาย  "ปฏิบัติธรรม"  ที่แท้  หมายถึงการนำเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม




 
   เรื่องอื่นก็เหมือนกัน   คนเราที่ผิดพลาดเสียหายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่ประพฤติธรรม สมมติว่า  คนมีฐานะดีแล้วก็กลับหมดเนื้อหมดตัว  เราต้องศึกษาว่า  คนนั้นหมดเนื้อหมดตัวเพราะอะไร   คงจะมีความบกพร่องในชีวิตประจำวัน   เช่นว่า  ชอบเล่นการพนัน  เมื่อเล่นการพนันหนักเข้าก็หมดตัว เพราะไปเล่นการพนัน หรือว่า  เป็นคนชอบสนุกนานที่เรียกว่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร อันเป็นอบายมุขทั้งนั้น  มีสตางค์ก็ชักสนุก   เมื่อก่อนนี้ไม่มีสตางค์ ไม่เที่ยวไม่เตร่ ทำงานทำการ สร้างเนื้อสร้างตัว พอมีสตางค์ขึ้นมาก็เมาทีเดียว เมาในทรัพย์ เมาในอำนาจที่ตนมีพอสมควร เมาในความเป็นใหญ่ เมื่อเกิดเมามายขึ้นมาในรูปอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายในชีวิตของตัว เพราะไปทำความผิด ประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน มันมีความผิดพลาดทั้งนั้น


   เราเองแต่ละองค์ นี่ ลองนึกถอยหลังไปดูบ้าง ว่าในชีวิตชีวิตประจำวัน มันมีความผิดพลาดทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่นว่า บางคนอาจจะเป็นนักดื่ม  เมามาย  ดื่มบ่อยๆ  ดื่มเช้า  ดื่มเย็น  ดื่มจนเป็นนิสัย แล้วร่างกายก็ไม่ดี สติก็ไม่ดี ปัญญาก็ไม่ดี ประสาทก็ไม่ดี ร่างกายทุกส่วนเสียหาย นี่เพราะอะไร ? เพราะไม่ประพฤติธรรม คือ ไม่งดเว้นความชั่ว ทำความดี ระวังจิตใจของตนไว้ ไม่ให้ตกไปสู่ความชั่วร้าย มีชีวิตตกต่ำ บางคนก็เรื่องสุรา บางคนก็เรื่องการพนัน บางคนก็เรื่องสุรุ่ยสุร่าย จ่ายเติบกินเติบ บางคนก็ขี้เกียจ ไม่เอางานเอาการ เป็นข้อเสียอันเกิดจากไม่ประพฤติธรรมทั้งนั้น

   เพราะฉะนั้น ในชีวิตชีวิตประจำวัน ถ้ามีอะไรผิดขึ้น ต้องคิด ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะก็ดี ศึกษาธรรมะก็ดี เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น   ต้องศึกษาทันทีว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้น  ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะว่า สิ่งทั้งหลายต้องมีเหตุ   เหตุนั้นก็อยู่ในตัวเรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราก็ต้องศึกษาว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ศึกษาเพื่อให้รู้แล้วจะได้จำไว้ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตต่อไป   ถ้าใครทำอะไรผิดพลาดแล้ว ก็ศึกษาค้นคว้าหาเหตุของเรื่องนั้นๆ จนรู้จักแล้วคิดเลิก คิดละ มันไปไม่ไกล ชั่วไม่นาน ไม่เสียคนแน่ๆ เพราะว่าเราคอยศึกษาค้นคว้า

ทีนี้ คนไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า สิ่งใดผิดพลาดก็ไม่ศึกษา แล้วไม่โทษตัวเองเสียด้วย ไปโทษดวงไม่ดีบ้าง   อะไรต่ออะไรบ้าง   ผมมันคนเกิดมาอาภัพ  ดวงมันอย่างนี้แหละครับ  ชั่วก็อย่างนี้จนตาย ไม่ได้  เราไม่คิดจะแก้ก็แก้ไม่ได้  ถ้าเราใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้มันก็ได้  ธรรมะเป็นสิ่งใช้ได้


  เพระฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมจาริง (ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม) ผู้ใดประพฤติธรรมดีแล้ว  ย่อมไม่ตกไปในที่ชั่วที่ต่ำ  ที่ชั่วน่ะ มันมี ๒ อย่าง ตามความเข้าใจของคนทั่วไป;   ที่ชั่วในโลกนี้   ก็คือความยากจน   ติดคุกติดตะราง   เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ต่างๆ นานา เพราะการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร อันนี้ เรียกว่าเป็นที่ชั่ว ทุคติในโลกนี้  สำหรับผู้มีความเชื่อว่าตายแล้วเกิด  อนาคตมันมี   มีทุคติข้างหน้า  ตกนรกอะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง เพราะผลกรรมที่ตัวได้กระทำไว้  อันนี้ เป็นเรื่องที่จะปรากฏแก่ผู้กระทำ  เราควรจะนึกว่าอะไรที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของใคร ต้องแก้ที่ตัวเรา ว่าเราบกพร่องอะไร เราเสียหายอะไร แล้วเราก็แก้ไขปัญหา อย่างนี้ก็ดี

175 170 175

ท้ายๆ คิดโยงให้ถึงความหมายอริยสัจข้อ ๒ คือสมุทัย ด้วย 



Create Date : 18 มีนาคม 2565
Last Update : 18 มีนาคม 2565 9:33:18 น. 0 comments
Counter : 401 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space