Group Blog
ธันวาคม 2554

 
 
 
 
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
28
31
 
All Blog
อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)
อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)

คำว่า อวิชชา นี้ มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า วิชชา

คำว่า วิชชา สามารถแผลงอักษรออกไปเป็น พุทโธ ได้ดังนี้ คือ วิชฺชา --> วิชฺโช --> วุชฺโช --> พุชฺโช --> พุทฺโธ แปลว่า ผู้รู้ถูก, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน คือ จิตรู้จักอารมณ์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงนั่นเอง

ดังนั้น อวิชชา จึงต้องแปลว่า รู้ผิดจากความเป็นจริง คือ จิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงเกิดความยินดีและยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเรียก จิตที่ยังติดข้องยึดถืออารมณ์อยู่ ว่าเป็น สัตว์

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ คำว่า "อวิชชา" จึงเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่มีประจำอยู่กับสัตว์ทั้งปวง ซึ่งจัดว่าเป็นมลทินอย่างยิ่ง และทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรตลอดไป โดยไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

บรรดากิเลสบาปกรรมสกปรกลามกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่จิตใจของสัตว์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจาก อวิชชา ทั้งนั้น มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวรับรองไว้ดังนี้ คือ "ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ, เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว" แปลว่า "บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด"

ในปัจจุบันนี้ นักธรรมะส่วนมากแปลคำ "อวิชชา" อย่างสั้นๆว่า "ความไม่รู้" เท่านั้น ทำให้ผู้สนใจศึกษาธรรมะ ตั้งคำถามเพื่อหาความรอบรู้ต่อไปอีกว่า

๑.ใครที่ไม่รู้ ?
๒.ไม่รู้เรื่องอะไร ?
๓.อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดอวิชชา ?
๔.เบื้องต้นและเบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน ?

รวมทั้งสิ้น ๔ ข้อ คำถามดังกล่าว,เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ดี และอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ถ้าใครไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถี่ถ้วนไว้ก่อน และเผอิญถูกอนุชนสอบถามปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น,เฉพาะหน้าแล้ว ก็จะต้องเบือนหน้าหนีไม่อยากตอบโต้ด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้ช่วยจรรโลงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้อนุชนได้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง,ในเมื่อมีโอกาส

การตอบปัญหาเหล่านี้โดยไม่ให้ผิดพลาด,จนเข้าใจอย่างชัดเจนนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับอ้างอิงหรือมีพุทธพจน์รับรอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเข้าไปตอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือของผู้ฟังอย่างแท้จริง

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำจำกัดความของคำว่า อวิชชา ไว้ ๔ ประการ ดังนี้ คือ
๑.ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
๒.ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
๓.ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
๔.ทุกฺขนิโรธคามินียา ปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)

รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของ จิตที่โง่เขลาเบาปัญญา ทั้งสิ้น การไม่รู้อย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว ไม่ใช่อวิชชาในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ก็ย่อมตอบคำถามของอนุชนที่ได้ตั้งไว้ ๒ ข้อแรกว่า
๑.จิต เป็นผู้ ไม่รู้จักอารมณ์ ตามความเป็นจริง
๒.เพราะขาดการศึกษาให้รู้จัก อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

เพราะฉะนั้น การแปลคำ "อวิชชา" ว่า "ความไม่รู้" ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้,จึงไม่ถูกต้อง เพราะสภาพธรรมของจิต คือ "ความรู้" ดังนั้นจึงต้องแปลว่า "รู้ผิดจากความเป็นจริง" คือ "ไม่รู้จักอารมณ์ทั้งหลายตามที่เป็นจริง" ก็ได้

สำหรับการตอบปัญหาข้อ ๓ และข้อ ๔ ที่ว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา? และเบื้องต้น-เบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน?

มีพุทธพจน์ที่มาในพระสูตรที่ ๖๑ แห่งสังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่า "ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นและที่สุดของอวิชชานั้น ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้, อวิชชานี้ไม่ได้เกิดมีมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีขึ้นในภายหลัง"

พระพุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในตัวเองแล้วว่า อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะขาดการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อไม่ศึกษาให้ถูกต้องแล้วก็เกิดทิฐิ เห็นว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งจัดว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่าย สัสสตทิฐิ

ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งใด-สิ้นสุดเอาเมื่อใดนั้น ท่านผู้มีปัญญาย่อมตามรู้ไม่ได้ หมายความว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรแล้ว ย่อมมีอวิชชากำกับอยู่ตลอดไป จนกว่าจะได้ตรัสรู้.



คัดลอกจาก ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๖๑-๖๔



ก่อนหน้า อุทาหรณ์เปรียบเทียบจิตในพระอภิธรรม

อ่านต่อ เมื่ออวิชชาดับ วิชชาย่อมเกิดแทนที่ที่จิตทันที



เรื่องอวิชชา

อวิชชา(รู้ผิดจากความเป็นจริง)

เมื่ออวิชชาดับ วิชชาย่อมเกิดแทนที่ที่จิตทันที

อวิชชาและโมหะ




Create Date : 17 ธันวาคม 2554
Last Update : 17 ธันวาคม 2554 11:57:52 น.
Counter : 326 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ใบไม้เบาหวิว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Friends Blog
[Add ใบไม้เบาหวิว's blog to your weblog]