Group Blog
มกราคม 2555

1
4
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
19
24
25
26
27
29
31
 
 
All Blog
พระสิทธัตถะ ได้เสด็จอยู่ตามลำพังทรงฝึกฝนอบรมจิตให้สงบ
สรุปการตรัสรู้

พระสิทธัตถะ ได้เสด็จอยู่ตามลำพังทรงฝึกฝนอบรมจิตให้สงบ และในเช้ากลางเดือน 6 ทรงรับข้าว “มธุปายาส” จากนางสุชาดา ซึ่งเข้าใจว่าพระองค์ว่าเป็นเทพยดาจึงนำข้าวมธุปายาสไปถวาย หลังจากเสวยแล้วพระองค์ได้ทรงลอยถาดในแม่น้ำ
เนรัญชรา ทรงรับหญ้าคา 8 กำ จากนายโสตถิยะมาปูลาดเป็นอาสนะ (ที่นั่ง) ณ โคนต้นโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิผินพระพักตร์
ไปทางทิศตะวันออก แล้วทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่สำเร็จทางพ้นทุกข์จะไม่ยอมเสด็จลุกไปไหนถึงแม้เนื้อและเลือด
จะเหือดแห้งก็ตาม ทรงพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติทั้งหลายจนเกิดญาณ (การหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง) สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้เรียกว่า อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) พระสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อย่ำรุ่งของคืนวันเพ็ญ
เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

วิเคราะห์การตรัสรู้และการก่อตั้งพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนนี้ ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของความจริง
ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แล้วนำมาชี้แจงเปิดเผย พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าสภาพธรรม หรือทำนองคลองธรรม เป็นของมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมนั้น ๆ แล้วนำมาบอกเล่าให้เข้าใจชัดขึ้นความจริงหรือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้จึงเป็นของกลางสำหรับทุกคน และมิใช่สิ่งที่ประดิษฐ์หรือคิดขึ้นตามอารมณ์เพ้อฝัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ความจริงในลักษณะ 3 อย่าง คือ รู้ตัวความจริง รู้หน้าที่อันควรทำเกี่ยวกับความจริงนั้น และรู้ว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ตราบนั้นพระองค์ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าตรัสรู้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงนั้นพระองค์ได้ทรงลงมือปฏิบัติจน
ค้นพบประจักษ์แล้ว พระองค์จึงได้นำมาสั่งสอน
สัจธรรมหรือความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ได้แก่ ทรงรู้แจ้งหรือรู้อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 อย่าง ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

1) ทุกข์ คือความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้
ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง หรือปัญหาของชีวิตทั้งหมด

2) สมุทัย คือสาเหตุของทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 หรือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา หรือสาเหตุของ
ปัญหาชีวิต

3) นิโรธ คือความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา หมดสิ้นตัณหาแล้ว
ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน หรือภาวะหมดปัญหา

4) มรรค คือทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มัชฌิมปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ตั้งจิตชอบ หรือแนวทางแก้ปัญหาชีวิต




Create Date : 30 มกราคม 2555
Last Update : 30 มกราคม 2555 9:47:03 น.
Counter : 326 Pageviews.

2 comments
  
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ การรู้แจ้งความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา จึงเป็นหลักคำสอนที่เกี่ยวกับความจริงที่มีเหตุผลสมบูรณ์ถูกต้อง และสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติและได้รับผลด้วยตนเอง พิสูจน์ได้ ไม่จำกัดกาลเวลา ฉะนั้นในพระพุทธศาสนาจึงไม่มีคำสอนชนิดที่เรียกว่า “เดา” หรือ “สันนิษฐาน” หรือ “คาดคะเน (สมมติฐาน)” ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นความจริงที่ได้ค้นคว้าประจักษ์แจ้งแล้วจึงใช้ได้ คำว่า “พุทธ” มีความหมาย 2 ประการคือ (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2538 : 28)

1. พุทธในฐานะบุคคล หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธ เป็นศาสดาผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเสียสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากเพลิงแห่งกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง เป็นต้น พุทธในฐานะบุคคลนี้ปรากฏเป็นบุคคลใน
ประวัติศาสตร์ มีหลักฐานปรากฏให้เห็นจริง

2. พุทธในฐานะเป็นตัวความรู้หรือปัญญา หมายถึง ตัวความรู้หรือดวงปัญญา ใครก็ตามที่มีความรู้ เข้าถึงสัจธรรมก็ถือว่าเป็นพุทธ ดังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าตรัสสอนสาวกตอนหนึ่งว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา” และ “…..ธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนเรา เมื่อเราเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว” พุทธในลักษณะเช่นนี้จะอยู่ในฐานะเป็นธรรมหรือดวงปัญญา การเกิดพระพุทธศาสนา ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปทั้งศาสนาและสังคม กล่าวคือ ศาสนาต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ต่างก็สอนเรื่องพระเจ้า ให้นับถืออ้อนวอนพระเจ้า และสอนให้เกิดการนับถือชนชั้นวรรณะ มีการแบ่งชั้นวรรณะ ส่วนพุทธศาสนา ประกาศตัวเป็น อเทวนิยม ไม่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าหรือพรหมองค์ใดเลย และสอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุลโดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้วก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ควรยกย่องสรรเสริญ ตรงข้ามถ้าล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้เกิดสูงก็นับว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ นอกจากนี้หลักสัจธรรมทางพุทธศาสนายังมีเป้าหมายคือ แก้ไขความทุกข์ร้อนของสังคม นับตั้งแต่ส่วนบุคคล ครอบครัว จนถึงโลกส่วนรวม กฎหมายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับคุ้มครองและควบคุมพฤติกรรมของส่วนบุคคลของครอบครัว ศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาบุคคล สังคม ให้ดำรงอยู่อย่างสันติสุข รวมทั้งที่จะให้บรรลุถึงความหวังที่จะพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงด้วย
โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 30 มกราคม 2555 เวลา:9:48:19 น.
  
ในแง่ของการวิเคราะห์แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นนักวิภชวาที (ทรงแสดงธรรมด้วยการจำแนกแยกแยะ) ประกาศคำสอนเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟัง โดยการจำแนกแจงแจงหลักธรรมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นลักษณะคำสอนของพุทธศาสนา จึงเป็นการวิเคราะห์ออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุม และประสานสัมพันธ์ได้อย่างมีระบบ และสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในบรรดาศาสนาอื่น ๆ ที่มีการวิเคราะห์แล้ว พุทธศาสนานับว่าเป็นเด่นในเรื่องนี้

โครงสร้างพระพุทธศาสนา



โครงสร้างของพระพุทธศาสนาประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญ 3 ประการ เรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
1. พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริงของสรรพสิ่งด้วยพระองค์เอง และได้ทรงสั่งสอนชาวโลกให้รู้แจ้งตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้มา
2. พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นสัจธรรมอำนวยผลประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง
3. พระสงฆ์ คือ สาวกผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนได้รับผลแห่งการปฏิบัติ

แล้วนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่พุทธศาสนิกชนถือเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา



ในพระพุทธศาสนามีสัญลักษณ์มากมายหลายอย่าง ดังจะนำมากล่าวโดยสรุป ดังนี้

1. สัญลักษณ์โดยตรง ได้แก่ พระพุทธรูป ซึ่งสร้างขึ้นในพระอิริยาบถต่าง ๆ พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ

2. สัญลักษณ์โดยอ้อม ได้แก่
- รอยพระพุทธบาท ผู้ที่ไหว้รอยพระพุทธบาทเพื่อจะได้น้อมระลึกถึงคุณต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งตนได้เจริญรอยตามอย่าง ที่เรียกว่า เจริญรอยตามพระยุคลบาท
- รูปธรรมจักร หมายถึง วงล้อ คือ พระธรรม ซึ่งเป็นเครื่องเปรียบเทียบกับการแผ่ธรรม คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเริ่มเทศนาสั่งสอนเมื่อใด สันติก็เกิดขึ้นในโลกเมื่อนั้น
- รูปใบโพธิหรือต้นโพธิ เพราะไม้โพธิเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงอาศัยร่มเงาในระหว่างเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียรและตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
- ธงฉัพพัณรังสี ซึ่งแสดงถึงความที่พุทธศาสนิกชนยกย่องพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ประทานความสว่างทั้ง 6 ทิศ ไม่ว่าจะเสด็จไปในที่ไหนก็ทำปัญญาจักษุดวงตา คือ ปัญญาของมหาชนในที่นั้น ๆ ให้สว่าง ไม่ตกเป็นทาสของความหลงผิดต่าง ๆ
- ธงธรรมจักร ซึ่งธรรมจักร มี 8 กำ (8 ซี่ล้อ) อันหมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 ได้รับการรับรองให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาระหว่างชาติด้วย
โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 30 มกราคม 2555 เวลา:9:49:04 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ใบไม้เบาหวิว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Friends Blog
[Add ใบไม้เบาหวิว's blog to your weblog]