Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
7 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

ปิโตรเลียมคืออะไร? ได้มาจากไหนกัน?



ปิโตรเลียม (Petroleum) คือ สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
เป็นของผสมที่ซับซ้อน อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว และแก๊ส หรือทั้งสามสภาพปะปนกัน
แต่เมื่อต้องการจะแยกประเภทออกเป็นปิโตรเลียมชนิดต่างๆ
จะใช้คำว่า น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ และแก๊สธรรมชาติเหลว

โดยปกติ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ มักจะเกิดร่วมกันในแหล่งปิโตรเลียม แต่บางแหล่งอาจมีเฉพาะน้ำมันดิบ
บางแหล่งอาจมีเฉพาะแก๊สธรรมชาติก็ได้
ส่วนแก๊สธรรมชาติเหลวนั้น หมายถึงแก๊สธรรมชาติในแหล่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน ภายใต้สภาพอุณหภูมิและ
ความกดดันที่สูง เมื่อถูกนำขึ้นมาถึงระดับผิวดินในขั้นตอนของการผลิต อุณหภูมิและความกดดันจะลดลง
ทำให้แก๊สธรรมชาติกลายสภาพไปเป็นของเหลว เรียกว่า แก๊สธรรมชาติเหลว

คำว่าปิโตรเลียม มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า เพทรา (Petra) แปลว่าหิน
และคำว่าโอลิอุม (Oleum) แปลว่าน้ำมัน รวมความแล้วปิโตรเลียมจึงหมายถึง น้ำมันที่ได้มาจากหิน
โดยไหลซึมออกมาเองในรูปของของเหลวหรือแก๊ส

นักโบราณคดีเชื่อว่าประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล
พวกชนเผ่าบาบิโลเนียน (Babylonian) เริ่มใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้

และเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนเป็นชาติแรกที่ได้ค้นพบปิโตรเลียมจากการเจาะบ่อเกลือ
และรู้จักใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมเพื่อเป็นเชื้อเพลิง ในการต้มน้ำเกลือให้ระเหยจนได้เกลือสินเธาว์

ชาวอียิปต์โบราณใช้ปิโตรเลียมดองศพก่อนนำไปฝังในสุสาน เพื่อช่วยป้องกันมิให้ศพเน่าเปื่อย

ในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย
มีการนำเอาน้ำมันดิบมาเป็นวัสดุเชื่อมประสานก้อนอิฐเข้าด้วยกัน ในการก่อสร้างและทำถนน

ในสมัยกรีกและโรมันมีการใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงสำหรับตะเกียง และเป็นยาขี้ผึ้งสำหรับรักษาโรค

ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก อาทิ บริเวณรอบๆ ทะเลสาบแคสเปียน โรมาเนีย พม่า และอินเดีย
ได้มีการนำปิโตรเลียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับจุดให้แสงสว่าง และใช้ในการประกอบอาหาร
ใช้เป็นวัสดุหล่อลื่น และใช้เป็นยารักษาโรค

บุคคลแรกที่ถือได้ว่าขุดพบน้ำมันคือ ชาวอเมริกันชื่อ ซามูเอล เอ็ม เกียร์ (Samuel M. Kier)
โดยในปี พ.ศ. 2391เขาขุดพบน้ำมันโดยบังเอิญจากบ่อที่เขาขุดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny)
ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และตั้งชื่อน้ำมันที่ขุดพบนั้นว่า น้ำมันซีนีกา (Seneca oil)
ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมืองอเมริกัน

ต่อมา เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันปลาวาฬ ซึ่งขณะนั้นนิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง
และใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ต่างๆ จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการแสวงหาปิโตรเลียมมาใช้ทดแทน
และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทเจาะหาน้ำมันชื่อบริษัทซีนีกาออยส์ จำกัด ขึ้นมา โดยมีหัวหน้าทีมขุดเจาะชื่อ
เอ็ดวิน แอล เดร้ก (Edwin L. Drake) ถูกส่งไปเจาะสำรวจหาน้ำมันที่เมืองทิทัสวิลล์ ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย
หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน เขาก็ขุดพบน้ำมันที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต
โดยมีน้ำมันไหลออกมาด้วยอัตรา 10 บาเรลต่อวัน ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2402
และถือได้ว่ายุคตื่นน้ำมันได้เริ่มต้นขึ้นในเชิงพาณิชย์ในโลก

สำหรับประเทศไทยนั้นมีหลักฐานปรากฏเป็นเวลานานกว่า 100 ปีมาแล้วว่า
เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้รับรายงานการไหลซึมออกมาของปิโตรเลียมที่ฝาง
และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ก็ได้ใช้น้ำมันดิบดังกล่าวนี้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง
ต่อมาเจ้าหลวงเชียงใหม่จึงสั่งให้มีการขุดบ่อตื้นขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำมันดิบที่ไหลซึมออกมาในพื้นที่ดังกล่าว
และบ่อน้ำมันแห่งนี้จึงเป็นที่เรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า บ่อหลวง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2464
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง
ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ
ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง ในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังทรง
ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบ และถ่านหินในประเทศไทยอีกด้วย

ในอดีตนั้นร่องรอยการไหลซึมขึ้นมาของน้ำมันดิบบนพื้นผิวดิน จะได้รับการพิจารณาเป็นข้อบ่งชี้ว่า
ใต้พื้นดินบริเวณนั้นมีแหล่งปิโตรเลียม อยู่ แล้วขั้นต่อไปจึงดำเนินการเจาะสำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันนั้นต่อไป

ในการเจาะสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในระยะแรกใช้วิธีการสุ่มเจาะสำรวจ
แต่ในปัจจุบันกระบวนการและขั้นตอนในการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำมันดิบ
หรือแหล่งแก๊สธรรมชาติ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก จะต้องใช้วิชาความรู้ด้านธรณีวิทยา
และธรณีฟิสิกส์ อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง

อย่างไรก็ตาม ความต้องการด้านเชื้อเพลิง และพลังงานของสังคมที่ได้เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด
กลายเป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมได้รับการพัฒนาขึ้นมา
และมีการดำเนินการในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งบนบกและในทะเล

ในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมในรูปแบบต่างๆ มากมาย
แต่ก่อนที่จะใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมได้หลากหลายเช่นนั้น
ปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบที่ค้นพบจะถูกนำมากลั่นเสียก่อน

การกลั่นน้ำมันดิบก็คือ การย่อยสลายส่วนประกอบของปิโตรเลียมออกเป็นส่วนต่างๆ และสารปนเปื้อนต่างๆ
เช่น กำมะถัน หรือไนโตรเจน ก็จะถูกกำจัดออกไปด้วย

โรงกลั่นน้ำมันอาจผลิตน้ำมัน แก๊ส และเคมีภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกมาได้มากมายถึงประมาณ 80 ชนิด
ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดคือเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล
น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเตา นอกจากนี้ก็มีสารเหลือค้างหรือกากอีกหลายชนิดเกิดขึ้น เช่นถ่านโค้ก น้ำมันดิน
ขี้ผึ้ง และยางมะตอย รวมทั้งยังมีแก๊สชนิดต่างๆ เช่น แก๊สหุงต้ม เกิดขึ้นด้วย

ถึงแม้ปริมาณของปิโตรเลียมในโลกได้ลดลงเรื่อยๆ
แต่ในปัจจุบันปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก

ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดสิ้น
การกำเนิดและการสะสมตัวต้องใช้ระยะเวลานานหลายสิบล้านปี
ดังนั้นควรพิจารณาการใช้ประโยชน์ ให้คุ้มค่าที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


ที่มา: เอกสารประกอบการสอน วิชา 303483 เคมีน้ำมันเชื้อเพลิง (2548),
สุปราณี แก้วภิรมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
ที่มา //www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1768
ภาพจาก //www.sintef.no/Home/Petroleum-and-Energy/




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2552
0 comments
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 12:58:47 น.
Counter : 1853 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.