Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 
ธรรมะจากวัด โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ วัดพุทธปัญญา แคลิฟอร์เนีย

ธรรมะจากวัด


ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ วัดพุทธปัญญา แคลิฟอร์เนีย



สุขสงบ หรือสุขสมอยาก



เมื่อถึงวันเกิด หรือเทศกาลปีใหม่แต่ละครั้ง มิตรสหายหรือผู้ที่เคารพนับถือมักจะอวยพรให้แก่กันและกันว่า สุขสันต์วันปีใหม่ หรือสุขสันต์วันเกิด หรือหากเป็นคริสตศาสนิกชนก็มักจะอวยพรให้แก่กันและกันในวันเกิดพระคริสต์ว่า สุขสันต์วันคริสต์มาส

ผู้ที่สนใจแสวงหาความสุขหลายท่านเคยตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องความสุขไว้บ้างหรือไม่อย่างไร

หากจะตอบกันตามตำราทางพระพุทธศาสนาแล้วละก็ พระพุทธเจ้าตรัสทางแห่งความสุขไว้หลายอย่าง แต่สรุปสั้นๆ พระพุทธเจ้าจัดความสุข เป็นสองอย่างคือ อามิสสุข แปลว่า สุขที่อาศัยอามิส หรือ เหยื่อ ได้แก่ คนจะมีความสุขได้ต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตอบสนองความอยาก เมื่อเขาหรือเธอได้รับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสมอยากแล้วจึงเป็นสุข

นิรามิสสุข แปลว่า สุขที่ไม่อิงอามิส หรือเหยื่อ ความสุขอันเกิดจากความสงบ ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตอบสนองความอยาก ก็เป็นสุขได้

ความสุขสมอยาก หากไม่สมอยาก เป็นทุกข์ทันที หากสมอยาก จึงเป็นสุข

ความสุขสงบ เมื่อไม่สงบเป็นทุกข์ทันที หากสงบจึงเป็นสุข

ทางแห่งความสุขจึงแบ่งเป็นสองคือ

1. ทางแห่งความสุขสมอยาก ต้องแสวงหาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เรือกสวนไร่นา ชื่อเสียง เกียรติยศมาตอบสนองความอยาก ต้องลงทุนลงแรงวิ่งล่าหากันจนบางครั้งต้องแลกด้วยชีวิตของตน หรือแลกด้วยชีวิตผู้คนพวกพ้องบริวาร ก็ยังหาความสุขไม่พบ

2. ทางแห่งความสุขสงบ ผู้หวังความสงบ ต้องปลูกฝัง ต้องสะสมความสงบที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมากมาย เพียงแต่ไม่สังเกต จึงมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หรือมีอยู่อย่างเพียงพอ ผู้ปรารถนาความสงบเพียงแต่ระวังใจอย่าให้ตัณหามาครอบคลุม บีบรัด ลากจูง ดิ้นรนแสวงหาเหยื่อมาตอบสนองข้อเรียกร้องของมันเท่านั้น

ความสุขสงบ มีคุณค่า ไม่มีราคา ไม่มีความสูญเสีย แตกต่างจากความสุขสมอยาก ซึ่งไม่เคยมีคุณค่าที่ยั่งยืน จะมีคุณค่าแค่ประเดี๋ยวประด๋าว เวลาผ่านไปไม่เท่าไร ก็กลายเป็นของไร้ค่าไปทันที แต่กว่าจะได้ครอบครองความสุขแต่ละครั้ง ต้องเสียเงินมาก ต้องเสียเวลามาก สูญเสียทรัพยากรมาก เพื่อความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยาม

ความสุขสงบเย็นเกิดขึ้นได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ หาได้ง่ายๆ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชีวิต ประกอบด้วย สติ สัมปชัญญะ สมาธิและปัญญา หรือหากฟังชื่อธรรมะแล้วชวนปวดเศียรเวียนเกล้า เดินเข้าไปดูของจริงตรงๆ ก็ได้โดยการหาเวลาให้ตัวเองสักวันละชั่วโมง นั่งเงียบๆ ที่ใดที่หนึ่ง สังเกตดูความรู้สึกตรงๆ ว่า เป็นอย่างไรในขณะนั้นๆ

หากพบความวุ่นก็มองตรงความวุ่นนั้นแหละ ไม่ต้องอยากสงบ เพราะถ้าอยากสงบ หากไม่สงบตามที่เราอยากเราปรารถนา ความทุกข์จะตามมาอีก เฝ้าดูความวุ่นจนมันสงบไปเอง หรือเปลี่ยนไปคิดเรื่องใหม่ ก็เฝ้าดูอีกต่อไป

ข้อที่ควรสังเกตคือ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูความเคลื่อนไหว มิใช่เป็นผู้เคลื่อนไหว หากเป็นผู้เคลื่อนไหวเสียเอง บทบาทจะทับซ้อนกันจนแยกไม่ออกว่า อะไรกำลังเคลื่อนไหว อะไรกำลังดู

ต้องหาโอกาสใช้สติสัมปชัญญะ ดูความเคลื่อนไวของใจให้ชัดๆ

เมื่อดูจนชัดและคุ้นเคยแล้ว ต่อมาก็จะแยกจิตออกจากกิเลส

สัมผัสจิตว่าง ที่กิเลสไม่ปกคลุม ไม่เร่งเร้า ไม่บีบบังคับขับเคลื่อน

ด้วยการสัมผัสกับจิตว่างนี้ ในช่วงเวลาสั้นหรือยาวก็จะทราบด้วยตนเองว่าว่างอย่างชัดแจ้ง

หากได้สัมผัสความว่างนี้แล้ว อย่าเร่งรีบ เฝ้าดู สัมผัส เพ่งพิจารณา จนกว่าความคิดที่เป็นกุศลหรืออกุศลจะผ่านเข้ามา ก็ตั้งสติตามดู ตามรู้ ตามเห็น จนลับตา เป็นไปตามพุทธพจน์ที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้บริสุทธิ์หมดจด เมื่อกิเลสจรเข้ามาจิตจึงเศร้าหมอง

พระพุทธพจน์นี้มีนัยสำคัญตรงที่ว่า จิตเดิมแท้บริสุทธิ์ ส่วนกิเลสนั้น จรเข้ามาคือ เพียงผ่านมา แล้วผ่านไป ส่วนกิเลสจรเข้ามาแล้วจะจอดอยู่ช้าหรือจะจอดนาน ผู้ปฏิบัติภาวนาต้องเฝ้าดูเองว่า กิเลสแต่ละส่วนที่จรมาจะผ่านไปช้าๆ หรือผ่านไปเร็วๆ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดจะระวังจิต ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร

การภาวนาคือ การเฝ้าระวังจิต ไม่เผลอให้กิเลสโอบล้อม ผูกมัดรัดรึงโดยไม่รู้ตัวหรือไม่เผลอปล่อยจิตให้แล่นหลงเข้าไปในบ่วงมาร

สติเป็นผู้เฝ้าดูอย่าเผลอไปร่วมมือกับมารชักศึกเข้าบ้านมาทำร้ายเจ้าของบ้านและทำลายบ้านเสียยับเยิน

การให้เวลากับตัวเองฝึกฝนเฝ้าดูใจเช่นนี้ จะทำให้พบรู้จักคุ้นเคยกับความสุขสงบได้ เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ ก็จะสัมผัสกับจิตสงบได้เร็วขึ้นตามความถี่ที่ฝึกมา หากฝึกๆ หยุดๆ จิตเผลอได้ง่าย เมื่อไร้สติ กิเลสก็เข้ามาตั้งรกรากได้ง่าย จิตจะกลับไปคุ้นเคยกับกิเลส นานเข้าก็อยู่กันได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัดรำคาญ

ทางเดินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้จึงมีสองทางใหญ่ๆ คือเดินไปบนเส้นทางแห่งความสุข สมอยาก และความสุขสงบ

ผู้ที่ต้องการเดินบนเส้นทางสุข สมอยาก ย่อมมีตัณหา เป็นผู้นำทาง เพื่อตามล่าเหยื่อมาสนองตัณหาให้สมอยาก อิ่มแล้วอยาก อิ่มแล้วอยาก ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ

ส่วนผู้ปรารถนาจะเดินบนเส้นทางแห่งสุขสงบ มีสติปัญญา เป็นผู้นำ ย่อมสัมผัสกับสันติสุขที่เกิดง่ายๆ ไร้ราคาจากใจที่หยุดแล่น ทุกก้าวย่างบนเส้นทางชีวิตที่ผ่านพ้นไปได้รับความสุขเป็นรางวัลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อจิตใจไม่ปรุงแต่ง แม้เพียงชั่วขณะใดขณะหนึ่ง สติปัญญาจะคอยบอกเตือนเสมอว่า หลงใหลเผลอไผลแบกสิ่งใดจนใจหนัก ก็จะได้รีบปล่อย รีบวาง เข้าใจใคร่ครวญอยู่สม่ำเสมอว่า อะไรคือวุ่น อะไรว่าง อะไรหนัก อะไรเบา อะไรเศร้าหมอง อะไรผ่องใส อะไรควรละ อะไรควรจะเจริญ แล้วมุ่งหน้าเดินเข้าหาความสุขสงบเย็น ด้วยความมั่นใจ ขอความสุขสงบเย็นจงบังเกิดแก่ผู้ปรารถนาความสุขสงบเย็นอย่างถูกธรรมและถูกทางเถิด

ที่มา: มติชน (1/3/2552)

//info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05112010352&srcday=&search=no


Create Date : 13 มีนาคม 2552
Last Update : 13 มีนาคม 2552 17:52:26 น. 0 comments
Counter : 746 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.