The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: (นอกรอบ เขียนตอบคอมเมนต์)

ที่มีคนตอบบทความตอนที่แล้วนั้น เห็นว่าน่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะเอามาลองคุยต่อกันดู

อย่างแรก คือมีความเห็นว่าคนที่เป็นนักเขียน จะต้องเป็นนักเขียน หมายความว่าเหมือนเกิดใต้ดาวนักเขียน (คงคล้าย ๆ ดาวโจรที่องคุลีมาลเกิด) ยังไงก็จะต้องเป็นนักเขียน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นนักเขียน สุดท้ายจะไม่เป็นนักเขียน

อีกความเห็นหนึ่งคือ คนที่เป็นนักเขียนนั้นมีหลายระดับ แม้เขียนเรื่องเดียวกัน ก็มีนักเขียนที่แย่ ที่ดี ที่ยอดเยี่ยม ที่เป็นอัจฉริยะ อันนี้เป็นความเห็นของสตีเฟน คิง

ที่จริงเรื่องเกิดมาเป็นนักเขียนนั้น ในจุดหนึ่งเราก็เชื่ออยู่เหมือนกัน เพราะคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนไม่ได้เกิดมาอยากเขียนหนังสือ แต่อยากจะว่ายน้ำ จะให้มันกลายเป็นนักเขียนกระไรได้ แต่เราก็คิดด้วยว่า มีบางคนที่อยากเขียนหนังสือบ้าง (หรืออยากวาดรูป หรืออยากไปเป็นช่างอ๊อกเหล็ก อะไรก็ได้ทั้งนั้น) และเรามีความเชื่อส่วนตัวว่าคนเราอยากทำอะไร ชาติหนึ่งต้องได้ลองทำอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ว่าผัดไปเรื่อย ๆ บอกว่าจะทำตอนอายุหกสิบ เพราะจริง ๆ แล้วอาจจะตายตอนอายุห้าสิบเก้า หรืออาจจะตายพรุ่งนี้ แบบเดินออกไปเจอรถขนหมูชนตาย อะไรแบบนี้ก็ได้

เพราะอย่างนั้น เราจึง ไม่มี ความเชื่อว่าคนเขียนหนังสือได้คือคนเขียนหนังสือได้ ส่วนคนเขียนหนังสือไม่ได้ ก็คือคนเขียนหนังสือไม่ได้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรามีความเชื่อว่าใครอยากเขียนคนนั้นต้องเขียน และต้องได้เขียน บางทีอาจจะเห็นว่าไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย กะหยิบปากกาขึ้นมา หรือเปิดคอม แต่บางที สำหรับบางคน การเริ่มเขียนนั้นยากมากจริง ๆ เป็นต้นว่าไม่มีเวลาเลย ต้องทำการต่าง ๆ ประมาณร้อยยี่สิบล้านอย่าง หรือบางคนมาเรียนอักษรเพราะอยากเป็นนักเขียน แต่พอเรียนวรรณกรรมเข้าไปมาก ๆ ก็เริ่มกลัว คิดว่าตัวเองเขียนไม่ดีอย่างเขา สู้อย่าผลิตขยะออกมาในโลกนี้ดีกว่า แล้วก็เลยล้มเลิกความคิดจะเขียนไป (คนอย่างนี้มีจริง ๆ เห็นมาเยอะแล้ว)

ถ้าถามว่า ถ้าไอ้คนนั้นจะผลิตขยะ แล้วให้มันผลิตทำไม เราก็นึกถึงตอนเรียนวิชาหนึ่ง โปรเฟสเซอร์บอกว่าจากการสำรวจ คนเขียนบทความวิชาการ (journal)มักบอกว่า "เดี๋ยวนี้มีบทความวิชาการเยอะเกินไปแล้ว" และ "บทความวิชาการเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรดี ๆ เลย" แต่พอถามว่าที่ตัวเองเขียนเป็นอย่างไร กลับตอบว่า "ฉันไม่ได้เขียนงานเยอะเกินไป" และ "งานของฉันเป็นงานที่ดี" ทุกคนตอบอย่างนี้เหมือนกันหมด แล้วไอ้ที่เยอะเกินไปกับไอ้ที่ไม่มีอะไรดี ๆ นั้นมันอยู่ตรงไหนกัน

ใคร ๆ ก็อยากทำอะไรเพื่อตัวเองทั้งนั้น ใคร ๆ ก็อยากเห็นว่าที่ตัวเองทำเป็นเรื่องดีทั้งนั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องของเขียนหรือไม่เขียนแล้ว แต่เป็นเรื่องของระบบกลั่นกรอง ถ้าหากไม่อยากให้มี "ขยะ" ออกมา เราก็ต้องการระบบบรรณาธิการที่แข็งแรง

ส่วนเรื่องระดับของการเขียนนั้น เราคิดว่าเรื่องมันมีอยู่ว่า มีคนที่เป็นเอตทัคคะในการเขียนเรื่องหินบนดาวอังคาร และมีคนที่เขียนเรื่องหินบนดาวอังคารได้แต่พอประมาณจริง แต่คำถามคือ คนที่เขียนได้แต่พอประมาณนั้น เขาเขียนเรื่องนี้เพราะอยากเขียนจริงหรือ แบบว่ามันบ้าเป็นโอตาคุเรื่องหินบนดาวอังคารซึมอยู่ในสายเลือดขนาดไหน หรือเขียนเรื่องหินบนดาวอังคารเพียงเพราะคิดว่าเออ บ.ก.อยากได้ (บ.ก.โลกไหนก็ไม่รู้) เออ คนอ่านอยากได้

เรามีความเห็นว่าคนที่ไม่ได้เขียนออกมาจากความปรารถนาของตัวเองจริง ๆ แต่เขียนเพราะคิดว่าคนอื่นอยากได้ จะเขียนได้เป็นประมาณ คือเขาอาจจะเขียนเก่งก็ได้ อาจจะดีกว่าคนอื่น ๆ ใน genre นั้นด้วยซ้ำก็ได้ แต่เขาจะรู้ตัวเองว่าเขาเขียนได้แต่เป็นประมาณ

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้บอกเลยว่าจะต้องติสต์แตกแล้วเขียนแต่เรื่องที่ตัวเองชอบเท่านั้น เพื่ออุดมการณ์อะไรก็ไม่รู้ เราคิดว่าคนเราอยู่ในโลก ก็มีเวลาที่ต้องเลือก ก็มีเวลาที่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง ถ้ามีลูกสอง หมาสาม แมวอีกสี่ จะให้เขียนแต่เรื่องหินบนดาวอังคารแล้วปล่อยให้ลูกและหมาและแมว (และตัวเอง) กินแกลบกระไรได้

แต่บางที เราคิดว่าการค้นหาว่าตัวเองชอบอะไรจริง ๆ อยากเขียนอะไรจริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องดีกว่าที่ตัวเองคิดไว้ เพราะเราคิดว่าคนที่เข้าไปถึงแก่นข้างในนั้นสำเร็จแล้ว มักจะเขียนเรื่องได้ดี มักจะมีเอกลักษณ์ มักจะไม่เหมือนใครอื่นอีกเลย (เพราะเราทุกคนเป็นปัจเจก) ความมีเอกลักษณ์นั้นเป็นความดีอย่างยิ่งในโลกศิลปะ (แม้ในโลกอื่นนอกโลกศิลปะก็ใช่) เมื่อเป็นเอกลักษณ์แล้ว ไม่มีคำว่าพอใช้ ไม่มีคำว่าดี ไม่มีคำว่าอัจฉริยะอีก มีแต่คำว่า นี่คือตัวเธอ นี่คือแบบของเธอเอง ไม่มีใครแทนที่เธอได้อีกแล้ว ดังนั้นบางทีบางเวลา ถ้าว่างจากการเลี้ยงลูกและหมาและแมวและตัวเองแล้ว ก็น่าจะลองคิดถึงตัวเองดูบ้างว่าจริง ๆ ชอบอะไรกันแน่

ที่บอกว่าเป็นเอกลักษณ์นั้น บางทีไม่ใช่เฉพาะเรื่องหินบนดาวอังคารเท่านั้น แต่อาจจะหมายความว่าเมื่อรู้แล้วว่าตัวเอง "ชอบอะไร" และ "เป็นอย่างไร" เราจะรู้ว่าเราจะขยายขอบเขตของเราต่อไปอย่างไหนได้ด้วย รู้ว่าจะทำอย่างไรกับตัวเอง รู้ว่าควรไปทางไหน ทำอะไร แม้ไม่เขียนเรื่องหินบนดาวอังคาร ไปเขียนเรื่องหินบนดาวพุธแทน ตัวเราที่เป็นตัวเรานั้นก็ไม่ได้หายไป

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าควรหาให้เจอว่าตัวชอบเขียนอะไรนั้น ไม่ได้หมายความว่าชอบแล้วจะตะบี้ตะบันเขียนไป โดยไม่ฝึกสมองซีกซ้ายของตัวเอง (รวมทั้งสมองซีกขวาด้วย) เหมือนคนชอบคุณทมยันตีมาก ก็เขียนเหมือนที่คุณทมยันตีเขียนทุกประการ แบบนี้เรียกว่ายังเป็นไข่ของนักเขียนอยู่ ยังไม่เป็นนักเขียน ต้องเริ่มเรียนด้วยการทำตามคนอื่นก่อน พัฒนาความสามารถขึ้นแล้ว มีเอกลักษณ์ของตัวเองแล้ว (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) จึงเรียกว่าเป็นนักเขียนได้

เรามีความเห็นว่าเป็นไข่ก็คือเป็นไข่ ต่อให้ไข่สวยฟองโต ก็เป็นไข่อยู่ดี ดังนั้นเราจึงไม่เรียกไข่ว่าลูกเจี๊ยบจนกว่ามันจะแตกออกมาจริง ๆ ทุกคนในโลกนี้เริ่มทำอะไร ต้องเป็นไข่มาก่อนทั้งนั้น ถ้าไม่ยอมเป็นไข่ อยากเป็นไก่ไว ๆ อาจถูกหลอกเอาไปทำไข่ต้ม (ให้คนอื่นขาย) และอาจไม่มีวันแตกเป็นลูกเจี๊ยบจริง ๆ แต่ถ้าไม่อยากเป็นลูกเจี๊ยบเสียแต่แรกไม่ใช่ความผิดเหมือนกัน เราก็ไม่เห็นเคยอยากเป็นลูกเจี๊ยบวิชาสกี หรือลูกเจี๊ยบวิชาบาสเก็ตบอล คนอีกมากมายก็ไม่ได้อยากเป็นลูกเจี๊ยบเขียนหนังสือเหมือนกัน

เรื่องที่พูดทั้งหมดวันนี้ อยากให้อ่านแล้วลองคิดตามด้วย บางทีอ่านไปแล้วอาจจะมีข้อแย้งอย่างนั้นอย่างนี้ได้มาก เป็นต้นว่า อะไรคือการวัดว่าเป็นนักเขียนแล้วดี ได้ตีพิมพ์หรือ ถ้าให้เขียนอ่านคนเดียวแล้วซุกไว้อย่างนั้น จะเขียนหนังสือไปทำไม หรืออะไรอื่น ๆ อีกหลายข้อ แต่ถ้าเราถามอย่างนี้ เราก็อยากให้ถามใจตัวเองเหมือนกันว่าสำหรับตัวเอง มาตรฐานของการเขียนหนังสือแล้วดีนั้นคืออะไร เราเป็นคนอย่างนี้จึงเห็นโลกอย่างนี้ คนอื่นย่อมเห็นโลกไม่เหมือนกัน อาจจะคิดว่ามัวแต่ค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองจะไม่ทันกิน ตายไปก็ไม่มีคนรู้ สู้เขียนหนังสือออกมาให้โลกเห็นดีกว่า แม้เขียนได้เป็นประมาณก็ไม่เป็นไร ยังถือว่าประสบความสำเร็จอยู่

แต่ที่จริง บางทีกระบวนการหาเอกลักษณ์ กับกระบวนการได้ตีพิมพ์นั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนั่นเอง ฝรั่งเขาเรียกว่า ground breaking หมายความว่านักเขียนคนนี้เขียนดี ได้พิมพ์มานานแล้ว แต่เรื่องที่ออกมาใหม่นั้นดีเป็นพิเศษ ชัดเจน กระจ่าง เจ๋งยิ่งกว่าเรื่องอื่น ๆ ที่ออกมา นั่นหมายความว่านักเขียนได้สัมผัสอะไรบางอย่างแล้ว แต่จะสัมผัสได้ตลอดอาชีพการงาน จะเขียนทุกเรื่องหลังจากนั้นออกมาดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือจะไม่มีทางไปถึงขั้นนั้นอีก ก็ไม่มีใครบอกได้เหมือนกัน เราเพียงแต่จะอยากจะบอกว่า บางทีอะไร ๆ มันก็ไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างที่คิด และอะไร ๆ ก็ไม่ได้ขาวหรือดำ มันเทา ๆ ไปคิดให้มันตรง มันขาว มันดำ มันจะลำบากใจตัวเอง

มีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าลองคิดแล้วหาคำตอบให้ตัวเองอีกมาก เราเองก็คงคิดของเราเหมือนกัน เพราะเราก็หาอยู่ ไม่ใช่ว่าจบแล้ว เพราะถ้าจบแค่นี้แล้ว ก็แลดูชีวิตที่เหลือไม่มีความหมายอะไร ท่าทางจะน่าเบื่อ ๆ อย่างไรชอบกล

วันนี้มัวแต่สนใจความเห็น เพราะเป็นความเห็นที่น่าสนใจมาก ๆ ทำให้ต้องนั่งคิดอยู่นาน จึงไม่ได้พูดเรื่องสมองต่อ แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะประเด็นวันนี้ต่อไปถึงเรื่องสมองกับเอกลักษณ์และการพัฒนาเอกลักษณ์ (ถึงคนมีเอกลักษณ์แล้วก็แห้งขอดได้เหมือนกัน) ได้ ซึ่งจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป



Create Date : 26 กรกฎาคม 2551
Last Update : 26 กรกฎาคม 2551 3:28:35 น. 11 comments
Counter : 1354 Pageviews.

 
ตามมาอ่านตั้งแต่ตอนแรกแล้วคุณเคียว ....

จริงๆตัวเองเชื่อว่าคนที่เขียนหนังสือเกินกว่า หมื่นคำขึ้นไปติดต่อกันทุกเดือน......เป็นพวกมีความผิดปกติในสมอง เพระการสื่อสารของมนุษย์จะเริ่มจากการสื่สารทางปาก วาจามากกว่า หากจะถ่ายทอดทางข้อเขียนก็เป็นอะรที่ผ่านกระบวนการคิดมาก่อน .....แต่มนุษย์พวกที่ชอบคิดอะไรเป็นภาษาและเรียบเรียงออกมาในรูปแบบของไวยากรณ์ตามภาษาที่ตัวเองใช้ จึงเป็นพวกที่คิดมาก แล้วนอกจากคิดมาแล้วยังต้องเรียบเรียง แล้วสร้างจินตนาการเพื่อถ่ายทอดเป็นข้อความ เนื้อเรื่อง เพื่อบรรยายเป็นตัวหนังสืออีกต่างหาก....

พวกนี้จึงดูผิดปกติเกินกว่าที่มนุษย์ปกติเขาควรจะเป็นกัน .....

ดังนั้น เราก็เชื่อว่านักเขียนไม่ใช่ติสต์ แต่เป็นมนุษย์สปีชีส์หนึ่ง ที่มีความผิดปกติในเซลส์สมอง พวกที่สปีชี่ส์ผิดปกติเหล่านี้เองที่ทำให้อาชีพนักเขียน ดำรงอยู่ ในทุกหมู่เผ่า....สืบไปอีกชั่วนิจนิรันดร์กาล


โดย: หนึ่งในสปีชีส์วิปริต (โตมิโต กูโชว์ดะ ) วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:10:04:48 น.  

 
"ความมีเอกลักษณ์นั้นเป็นความดีอย่างยิ่งในโลกศิลปะ (แม้ในโลกอื่นนอกโลกศิลปะก็ใช่) เมื่อเป็นเอกลักษณ์แล้ว ไม่มีคำว่าพอใช้ ไม่มีคำว่าดี ไม่มีคำว่าอัจฉริยะอีก มีแต่คำว่า นี่คือตัวเธอ นี่คือแบบของเธอเอง ไม่มีใครแทนที่เธอได้อีกแล้ว ดังนั้นบางทีบางเวลา ถ้าว่างจากการเลี้ยงลูกและหมาและแมวและตัวเองแล้ว ก็น่าจะลองคิดถึงตัวเองดูบ้างว่าจริง ๆ ชอบอะไรกันแน่"

โดนใจ..ค่ะ
แต่การตัดสินใจเขียนอะไรเพื่อให้คนอื่นอ่านเนี่ย
ก็เสี่ยงเหมือนกันนะคะ ว่าจะกลายเป็นขยะ..หรือเป็นวรรณกรรม..






โดย: กลีบดอกโมก วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:34:58 น.  

 
คุณโตมิ @ อา...คุณโตมิไปอ่านเรื่อง Proust and Squid (หรือชื่ออะไรทำนองนี้) ที่เป็นข่าวช่วงก่อนมาหรือเปล่า ถึงได้คิดแบบนี้

ถ้าอย่างนั้นต้องไปลองอ่านเรื่อง If you want to write ของ Brenda Ueland ดูด้วยนะคะ แล้วลองนึกดูอีกทีว่า Proust and Squid มันบอกถูกจริงหรือเปล่า อ่านจากหลายทางหน่อยอาจจะได้ไอเดียมากขึ้น

คุณกลีบดอกโมก @ นั่นสินะคะ ตอนที่ จขบ.เขียนนิยายลงบอร์ดครั้งแรก นอนไม่หลับทั้งคืนด้วยความกลัวเลยละค่ะ ^^''


โดย: เคียว IP: 128.86.158.253 วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:01:06 น.  

 
มีคนคิดแบบนี้ด้วยหรือคุณเคียว...555 เหลือเชื่อ .... เขาคิดเอาจริงเอาจังจริงๆ ถึงขนาดเขียนเป็นเรืองเป็นราวเลย

โตมิฯ แค่คิดเองเล่นๆเรื่องเซลส์สมองนักเขียนกับสปีชี่ส์ผิดปกติ ....

ขอบคุณที่แนะนำหนังสือให้นะคะ .....

แต่อายจัง........ไปดีกว่า /^ ^!


โดย: โตมิฯ เองค่ะ IP: 58.9.188.221 วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:54:56 น.  

 
อาร์...โอว อูวว แมวเคียวเขียนได้ข้อคิดมากทีเดียว
ส่วนที่เราว่านักเขียนต้องเกิดใต้ดาวนักเขียนนั้น ไม่ได้มีความหมายขนาดว่า
คนไม่ได้เกิดมาเพื่อเขียนจะเขียนอะไรดีๆไม่ได้เลยนุ เพียงแต่ว่าคงมีนัยยะเหมือนอีกคห.
ที่ว่า ..ถ้าให้เขียนเรื่องเดียวกัน "คนที่เกิดใต้ดาวนักเขียน"(เรียกแบบนี้แล้วขำดีแต่ก็เห็นภาพ)
จะสามารถเขียนได้ในระดับที่ยอดเยี่ยม ขณะที่คนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นจะเขียนได้อย่างมากก็คือดี
และเห็นชัดว่าพยายามเขียนน่ะ(พูดง่ายๆว่าเซนส์มันต่างกัน)เพราะอ่านงานที่ดีมากๆแล้วจะอยากกราบ
ซึ่งไอ้ความเจิดจรัสที่ว่า ของบางคนก็เห็นได้ชัด แต่ของบางคนก็ยังนัวๆอยู่
เป็นเคสที่ต้องรอดูต่อไปภายในอนาคต ว่าจะสามารถทำให้ดาว
ที่แท้จริงแล้วมีอยู่ในตัว(รึเปล่า?)นั้นเจิดจรัสเรืองรองขึ้นมาได้แค่ไหน

ที่แมวเคียวเขียนมาก้จะขอรับไปคิดต่อเช่นกันนุ ยังรออ่านหัวข้อต่อไปเรื่อยๆจ้า มีประโยชน์มากๆ


โดย: อสิตา-แมวแป้ง (อสิตา ) วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:21:27 น.  

 
เห็นด้วยเรื่องระบบบรรณาธิการค่ะ เราว่ามันเป็นด่านสุดท้ายที่ช่วยให้งานไม่เกิดข้อบกพร่องแบบ "เห็นกันชัดๆ" ได้น่ะ

ส่วนเรื่องงานเขียนดีหรือไม่นั้น เราว่ามันตัดสินยากอยู่ อย่างเช่น เรื่องรักพาฝันเบาหวิว ถ้าอ่านตอนไม่อยากคิดไรมาก แล้วพล็อตกับเหตุผลในเรื่องโอเค ก็ถือว่าเป็นงานที่ดีแล้ว (แต่ถ้าหยิบมาอ่านในโหมดวิชาการ ก็คงไร้สาระสำหรับเรา)

อีกอย่าง นักเขียนถ่ายทอดงานโดยใช้ตัวเองเป็นแหล่งข้อมูลหลัก งานเขียนจึงสะท้อนถึงค่านิยมและมุมมองความคิดของนักเขียน ซึ่งตัวคนเขียนเองตอนอายุ 15 กับ 25 กับ 35 ปี ย่อมไม่มีทางคิดหรือเขียนเหมือนกันเด๊ะ

ดังนั้น ตัวคนเขียนนั่นแหละที่น่าจะเป็นปัจจัยแรกของการสร้างงานเขียนที่ดี ถ้าคนเขียนมีความคิดน่าสนใจ เป็นคนมีเอกลักษณ์ และถ่ายทอดเป็น งานไม่มีทางออกมาแค่พอประมาณแน่นอน

อันนี้ทำให้เราเชื่อว่าคนที่เผชิญโลกมาเยอะ (จะแค่ไปเที่ยว ฟังมาหรือเป็นประสบการณ์ตรง) จะเขียนได้น่าสนใจกว่าคนที่หมกตัวอยู่ในห้อง เอาแต่นั่งอ่านแล้วก็เขียนเลยน่ะค่ะ

แล้วคนอารมณ์ติสต์ก็จะเขียนได้ดีกว่าคนไม่ติสต์ด้วย
(ติสต์ในความหมายของเรา ต่างจากที่จขบ. ว่าไว้นิดนึง คือเราหมายถึงคนที่สะเทือนใจหรือดื่มด่ำกับอะไรง่าย สังเกตในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนปกติมองข้ามไปน่ะ)


โดย: ยาคูลท์ วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:23:36:25 น.  

 
อันนี้ทำให้นึกด้วยว่า ถึงจะหมกตัวอยู่ในห้อง แต่ถ้ามี sharp sense หมายถึงช่างสังเกต และให้ความสนใจกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย (เป็นต้นว่า Thoreau? ยังนึกคนอื่นไม่ออก) ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการ "เห็นโลก" เหมือนกัน คือได้ใช้เซนส์ของตัวเองกับโลกภายนอก แต่เราพบว่าบางคนเซนส์ดีบางที หมายถึงมีพื้นมาบ้างแล้ว แค่อ่านหนังสือก็ยังเห็นกระจ่างกว่าคนที่ไม่มีพื้นแต่ไปประสบมาเสียอีกค่ะ

เราคิดว่าติสต์ของเราค่อนข้างคล้ายที่คุณยาคูลท์ว่าไว้มาก ยังนึกไม่ออกว่าต่างกันยังไง แต่ว่าติสต์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คือแต่ละคนอาจจะใส่ใจและละเอียดอ่อนกับอะไรไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความสนใจ

อีกอย่างหนึ่ง สำหรับเรา ไม่ว่าเรื่องรักพาฝันที่เขียนดี หรือเรื่องวิชาการที่เขียนดี เราถือว่าดีทั้งนั้นค่ะ เพราะว่าการเขียนแต่ละแบบนั้นใช้ความสามารถแตกต่างกัน และใช้บรรทัดฐานตัดสินแตกต่างกัน สำหรับเรา เรื่องหมัดเทพเจ้าดาวเหนือก็เขียนดี เรื่องสามก๊กก็เขียนดีเหมือนกัน แต่ว่าแต่ละเรื่องเป็น class ของตัวเอง เปรียบเทียบกันไม่ได้

คงประมาณนั้นละมั้ง -.-'


โดย: เคียว IP: 128.86.158.253 วันที่: 26 กรกฎาคม 2551 เวลา:23:54:31 น.  

 
เป็น class ของตัวเอง...

ใช่แล้วครับ เคยอ่านเรื่องประเภท "ประสบการณ์xxxจากทางบ้าน" เจอเรื่องนึงสุดยอดมาก ภาษาบ้าน ๆ คำห้วน ๆ สะกดผิดอีกตะหาก แต่อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจนชิดใกล้แบบได้กลิ่นจัดเลย สุดยอดจริง ๆ เหมือนฝันอันยาวนาน อยากแบ่งให้คนอื่นอ่านจัง แต่มันเรท x สุด ๆ (และเลวด้วย) แต่ได้เรียนรู้มากเลยนะ

บางทีก็รู้สึกว่าศาสตร์ทุกแขนงมีความลับอันเป็นหัวใจอยู่ในห้องเดียวกัน ต่างกันตรงทางเข้า



โดย: คุณม้าม IP: 203.107.204.131 วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:1:54:03 น.  

 
แต่บางศาสตร์ไม่มีหัวใจ เขาบอกเขาใช้ตับแทน
และตับอยู่อีกตึกนึง


โดย: คุณม้าม วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:2:32:39 น.  

 
แล้วม้ามล่ะค่ะ :)


โดย: ลวิตร์ วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:2:41:45 น.  

 
ธอโรก็ไปเดินเล่นนุ (กรั่กๆ)


โดย: ลูกสาวโมโจโจโจ้ IP: 58.9.20.51 วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:55:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.