The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: ฝึกสมองซีกขวา(4)

อันนี้จะขึ้นจากเจอร์นัลสิบห้านาทีมาอีกเลเวลหนึ่ง เป็นของคุณเบรนเด้อีกเหมือนกัน คุณเบรนเด้เป็นอีกคนหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเขียนหนังสือได้มีแพทเทิร์นดี และเจาะลึกกว่าของคุณคาเมรอน เพราะของคุณคาเมรอนแกจะเอาศิลปินทุกรูปทุกแบบ ส่วนใหญ่มันเลยค่อนข้างเบสิค อยู่ในเลเวล "เอาจินตนาการออกมาให้ได้ก็พอแล้ว" มากกว่าของคุณเบรนเด้ที่เจาะตรงการเขียนอย่างเดียว

คุณเบรนเด้แกว่า หลังจากที่เขียนเจอร์นัลทั้งตอนเช้าทั้งแบบสิบห้านาทีไปสักพัก จนเริ่มรู้สึกมั่นใจแล้ว ก็ให้ตั้งใจว่าจะลงมือเขียน วิธีตั้งใจลงมือเขียนของคุณเบรนเด้นี้น่าสนใจมาก เพราะแกพูดเรื่องนี้ในปี 1934 ที่อเมริกา ฝรั่งยังไม่รู้จักสมาธิ แต่คุณเบรนเด้แกบอกเลยว่าให้นั่งลง หลับตา และดูจิตตัวเองบังคับให้มันอยู่นิ่ง ๆ สักพัก หรือถ้ามันไม่นิ่งก็ให้ตามมันไป มันไปไหนก็ให้ตามดูไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าตัวสงบแล้ว ว่าง่าย ๆ คือมันเป็นการนั่งสมาธิอย่างหยาบ ๆ (แกไม่ได้พูดว่า meditation หรือ mindfulness เลย ใน bibliography ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับภูมิปัญญาตะวันออกแม้แต่เล่มเดียว คาดว่าแกคงเจอในระหว่างอาชีพการงานของตัวเอง และไม่คิดด้วยว่ามันจะเกี่ยวกับศาสนา)

ถามว่าจะให้ "นั่งสมาธิ" แบบนี้นานแค่ไหน คุณเบรนเด้บอกว่าให้นั่งไปจนใจพอนิ่ง ๆ แล้วก็พอ แบบสงบลงอะไรอย่างนั้น จากนั้นแกให้นึกเอาสิ่งที่ตัวจะเขียน (ตัวละคร เรื่องราว พล็อต ฯลฯ) ไปอยู่ตรงศูนย์กลางความนิ่งอันนั้น ไม่ต้องไปคาดหวังว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันจะค่อย ๆ แตกกิ่งก้านสาขาออกมาเอง แล้วก็ค่อย ๆ คิดไปว่าจะทำตรงนั้นตรงนี้ยังไง แต่ไม่ต้องไปใส่ใจจำ เพราะตอนนั่งลงเขียน ถ้าเปิดช่องเด็กออกมาแล้ว ที่คิดไว้นั้นจะค่อย ๆ ออกมาเอง (อาจจะไม่เป็นระเบียบในตอนแรก แต่กลับไปแก้ได้อยู่แล้ว)

คุณเบรนเด้แกว่าสำหรับคนที่หัดเขียนครั้งแรก ให้นั่งติดโต๊ะเขียนไปอย่างนั้น แกว่าตอนเขียนก็คือเขียน ไม่ต้องไปเงยหน้าคิดว่าตูจะทำยังไง ตูเขียนติด จะต่อยังไงดีว้า ให้เขียนไปเลย แล้วค่อยแก้ทีหลัง (ตัด self-censor ออกไปก่อน) สำหรับมือใหม่หัดเขียน คุณเบรนเด้แกบังคับว่าต้องเขียนไปจนกว่าจะจบที่ตัวเองตั้งใจจะเขียน คายมันออกมา ห้ามลุกไปที่อื่นเด็ดขาด ถ้ารู้สึกล้า ก็หยุดก็ได้ แต่ห้ามลุก (พวกสอนเขียนนี่โหดเหมือนกันหมดไหมเนี่ย - -') แกว่าถ้าลุกไปแล้ว อารมณ์จะต่อไม่ติดอีก รอจนเขียนเก่ง เลเวลสูงแล้ว ถึงจะสามารถเขียนพัก ๆ โดยได้โดยต่ออารมณ์ติด ถ้ายังไม่ถึงตอนนั้น มีอะไรก็เขียนออกไปให้หมด อย่าได้เลิกเด็ดขาด

คุณเบรนเด้แกว่า นักเขียนส่วนใหญ่มักจะรู้เรื่องทำจิตนิ่งนี้โดยสัญชาติญาณอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่า "เหตุ" ของเรื่องคือทำจิตนิ่ง ดังนั้นสิ่งที่ออกมาจึงมักจะเป็นการทำงาน หรือกิจกรรมที่ทำให้จิตนิ่ง เช่น เย็บผ้า ถักไหมพรม ขัดพื้น ออกไปเดินท่อม ๆ ก่อนเขียน เอาปืนออกมาขัด นั่งนิ่ง ๆ คนเดียวไม่ให้คนอื่นมากวนอะไรพวกนี้ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ทำให้จิตนิ่งทั้งนั้น แต่คนเขียนหนังสือบางคน (แม้ที่ดัง ๆ แล้ว) มักจะไม่รู้ รู้แต่ก่อนเขียนต้องละเมียดค่อย ๆ ชงกาแฟ หรือเอาปืนออกมาขัด หรือถูพื้นไปนั่นแหละจนกว่ามันจะสะอาด ใจถึงจะนิ่งพอ ระหว่างทำกิจกรรมเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ คิดเรื่องที่ตัวเองจะเขียนออกมาได้เอง

วิธีข้างบนนี้ เนื่องจากมันเป็นวิธีการส่วนบุคคล แต่ละคนจิตนิ่งได้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีของคนหนึ่งจึงอาจใช้กับอีกคนไม่ได้ (โดยไม่ปรับเลย) ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมของนักเขียนเพื่อให้จิตนิ่งที่บอกมา จึงถูกใครหลายคนตีความให้มันกลายเป็นเครื่องหมายของ "ติสต์" เป็น "รสชาติของความเป็นติสต์" ไป แทนที่จะเป็น "การทำงาน" ของคนเขียนหนังสือ (ติสต์ต้องเดินไกล ๆ ไปในที่ธรรมชาติงดงาม ติสต์ต้องไปยืนดูหมู่เมฆและพระอาทิตย์ที่ริมทะเล ติสต์ต้องไปนั่งอืดทืดในร้านกาแฟ และ space out ไม่สนใจมนุษยชาติ - ทำเลียนแบบอย่างเดียวโดยไม่รู้เหตุผลก็ไม่เกิดด๋อยไรขึ้นมาดอกนาย)

ถ้าถามเรา ปรกติแล้วเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เราเป็นคนไม่นั่งสมาธิ เพราะเราหาลมหายใจไม่เจอ (หาไม่เจอมาตลอดชีวิต) และเราเป็นคนขี้เบื่อ แต่เวลาที่จิตนิ่งนั้น มักจะเป็นเวลาที่เราจัดของ ทำความสะอาด อาบน้ำ หรือเดิน ช่วงอย่างนี้ จิตนิ่งแล้ว ที่อยากคิดถึงมันมักจะมาเอง เรามักจะคิดอะไรได้เป็นช็อต ๆ ได้ดีเวลาอาบน้ำหรือเดินไกล ๆ ช่วงคิดไปเดินไปนั้น เดินจนไกลโพ้นก็ไม่รู้ตัว แต่ไม่เคยสังเกตว่าช่วงคิดจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะพอถึงจังหวะหนึ่งแล้ว ที่คิดนั้นจะค่อย ๆ จางลง คิดต่อไม่ได้อีก ตอนนี้เรายังชอบเดินไกล ๆ มากกว่านั่งให้จิตนิ่ง เราอาจจะยังไม่นั่งสมาธิแบบที่คุณเบรนเด้บอกทีเดียว แต่ใครถนัดอย่างไรก็ไม่ว่ากัน

บางคนอาจจะบอกว่าข้างบนที่กล่าวมานี้เป็นฝันกลางวัน ในแง่หนึ่ง จะเรียกว่ามันเป็นฝันกลางวันก็ได้ มันเป็นการทำงานของสมองซีกขวา โดยปล่อยให้สมองซีกขวาได้ explore คอนเซปต์ที่เราทิ้งลงไปให้ สมองซีกขวาจะเล่นกับคอนเซปต์นั้นเหมือนเด็ก ๆ เล่น คือไปจิ้ม ๆ ดึง ๆ ยืด ๆ พลิกหน้าพลิกหลัง เมื่อเล่นแบบเด็ก ซึ่งไม่มีไอเดียของ "แบบแผนที่ถูกต้อง" แล้ว จึงมักจะค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่นึกไม่ถึงออกมา ถ้าทำอะไรแต่ตามแบบแผน ใช้แต่สมองซีกซ้าย approach สิ่งที่ต้องการเขียนอย่างเดียว มันก็จะออกมาเป็นอะไรที่วางแผนไว้แล้ว เป็นอะไรที่แข็งตายตัว ไม่มีความสร้างสรรค์ ไม่มีความแปลกประหลาดหรือแปลกใจ (ซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ไม่ผิดอะไร แล้วแต่คนชอบ)

ที่จริงก็คือ คนเรานี้เรียนกันมาด้วยสมองซีกซ้ายมากเสียจนคิดว่าวิธีแบบสมองซีกซ้ายเป็นวิธีที่ถูกต้อง ต้องทำแบบสมองซีกซ้ายจึงจะได้รับความเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริงแล้ว อะไร ๆ ที่เกิดใหม่ในโลกนั้น มักจะเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของสมองซีกขวา หรือในขณะที่ "ฝันกลางวัน" นั่นเอง เช่นยืนฝันอยู่แล้วคิดว่าทำไมคนเราถึงบินไม่ได้ อันนี้เป็นสมองซีกขวาเพราะมันคิดไปนอกระเบียบแบบแผน มันกล้าไปสงสัย "วัตถุอันตราย" แต่สมองซีกซ้ายจะไม่กล้าแบบนั้น สมองซีกซ้ายจะคิดว่า "คนเราบินไม่ได้ก็ถูกต้องดีแล้ว จะไปสนใจทำไมมี เลิก ๆ"

คนที่บริหารความคิดของตัวเองได้ดี พอฝันแล้วก็จะเอามาลงมือทำ ด้วยการใช้สมองซีกซ้ายค้นคว้าหาเหตุผล เช่นไปดูในห้องสมุดหรือรายงานค้นคว้าเก่า ๆ ว่าทำไมคนถึงบินไม่ได้ จากนั้นอาจจะใช้สมองซีกขวาหาวิธีการใหม่ และใช้สมองซีกซ้ายเทสต์วิธีการนั้น สลับไปมาเหมือนใช้เครื่องมือชั้นดี

รูปแบบการเขียนหนังสือที่ดีก็เป็นการทำงานระหว่างสมองสองซีกแบบนี้เหมือนกัน



Create Date : 31 กรกฎาคม 2551
Last Update : 31 กรกฎาคม 2551 14:32:33 น. 4 comments
Counter : 516 Pageviews.

 


กลับมาอ่านอีกทีอ่ะค่ะ เอ ต้องรู้จักคุณซะหน่อย

ตามมานะคะ

Photobucket


โดย: Cherial (SwantiJareeCheri ) วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:12:28 น.  

 
เพิ่งเข้ามาอ่านตอนนี้เลยค่ะ

ดีมากเลยค่ะ แต่เรายังหาสิ่งที่สร้างสมาธิไม่ได้เลย

ปต่สมองซีกขวานี้ใช้บ่อยค่ะ ชอบคิด แต่สมองซีกซ้ายไม่ค่อยได้ใช้เลย ต้องใช้ซะหน่อยละ เด๋วมันทู่


โดย: vekalover วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:37:18 น.  

 
ถ้ายึดหลักการเรียกสมาธิแบบของคุณเบรนเด้ เราว่าวิธีการเรียกสมาธิน่าจะเปลี่ยนได้ด้วยนะ หรืออาจได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ตำราที่ว่ามีพูดถึงจุดนี้หรือเปล่าคะ?

ยกตัวอย่างของตัวเอง(...ไม่เกี่ยวกับการเขียนเท่าไหร่แฮะ)

สมัยก่อน ถ้าจะให้ท่องหนังสือสอบ เราต้องอ่านหนังสือนิยายหรือการ์ตูนจนเกิดอารมณ์เต็มอิ่มก่อน ถึงจะท่องปรู๊ดปร๊าดน่ะ
(แต่ในอีกทางหนึ่ง อาจเพราะเป็นนาทีสุดท้ายก็ได้)

วิธีเรียกสมาธิด้วยการอ่านเนี่ย เป็นวิธีที่เราใช้มาจนถึงตอนนี้ แต่ระยะหลัง มันเพิ่มการเดินไปด้วย บางทีก็เป็นการดูทีวีละครชุดที่ชอบ
พูดง่าย ๆ คือเราต้องเกิดอารมณ์พอใจก่อนน่ะ ถึงจะเริ่มทำงานหรือนึกได้ว่าจะเขียนอะไรในบล็อกหนังสือ (พอจะเรียกว่าเป็นคนติสต์ได้ไหมเนี่ย? 555)

แสดงว่าวิธีเรียกสมาธิน่าจะเปลี่ยนหรือเพิ่มวิธีการได้นะ..หรือเปล่า?


โดย: ยาคูลท์ วันที่: 1 สิงหาคม 2551 เวลา:1:30:10 น.  

 
คิดว่าวิธีเรียกสมาธิน่าจะเปลี่ยนได้ค่ะ คงต้องไปลองทดลองกันเองด้วยว่าวิธีไหนเหมาะกับตัวเองมากกว่ากัน

แต่คุณยาคูลท์อะ เป็นโอตาคุหนังสือจริง ๆ ล่วย ^^''


โดย: ลวิตร์ วันที่: 1 สิงหาคม 2551 เวลา:2:45:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.