The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
พัฒนาการของตำนานพระเจ้าอาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลม

เมื่อเอ่ยถึงตำนานพระเจ้าอาเธอร์แล้ว คนทั้งหลายย่อมนึกเห็นภาพในใจเป็นพระมหากษัตริย์ชาวอังกฤษ ซึ่งถือดาบเอกซคาลิเบอร์ ครองเมืองคาเมล็อต มีมเหสีชื่อกวิเนเวียร์ มีพ่อมดเมอร์ลิน มีอัศวินทั้งปวงรายล้อมประชุมในโต๊ะกลม และชะรอยจะนึกตลอดไปเห็นถึงเรื่องการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ และเรื่องพระนางกวิเนเวียร์เป็นชู้กับอัศวินชื่อลานเซอล็อตจนเกิดเป็นเหตุแห่งหายนะของพระเจ้าอาเธอร์ขึ้นด้วย

แต่แท้จริงแล้ว หากได้ลองไปสืบค้นเรื่องพระเจ้าอาเธอร์จากตำราโบราณต่าง ๆ ฉบับแท้แล้ว จะพบว่าพระเจ้าอาเธอร์ในตำราเหล่านั้นหาได้เหมือนพระเจ้าอาเธอร์ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ บางฉบับก็ไม่มีพ่อมด ไม่มีอัศวินชื่อลานเซอล็อต ซ้ำจะยังไม่มีดาบชื่อเอกซคาลิเบอร์ หรือสิ่งที่เรียกว่าจอกศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ผู้อ่านสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนก็ต้องเรียนท่านว่าที่เป็นดังนี้เพราะตำนานพระเจ้าอาเธอร์นั้นเป็นตำนาน และตำนานมีธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับยามเล่านิทาน แม้เล่าเรื่องเดียวกัน แต่หากเปลี่ยนคนเล่าเสีย บางครั้งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต่างกันไป และพอเล่าปากต่อปากไปถึงสักสิบคนร้อยคน ที่ว่าขาวนั้นก็อาจจะกลายเป็นดำ ที่ว่าถูกก็อาจจะกลายเป็นผิดก็ได้

ตำนานพระเจ้าอาเธอร์ก็เช่นเดียว ได้ผ่านกาลเวลามายาวนาน และระหว่างทางที่ผ่านมาได้ ได้สะสมเพิ่มพูนเอาความคิดความเชื่อ เรื่องเล่าท้องถิ่น ตลอดจนจินตนาการของผู้เล่าและผู้แต่งเข้าไปเป็นอันมาก กว่าจะมาถึงปัจจุบัน ของเหล่านั้นก็ผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน และกลายเป็นตำนานพระเจ้าอาเธอร์ที่ไม่อาจระบุกาลเวลาแน่ชัด ทั้งไม่อาจบอกได้ว่ามีส่วนใดเป็นความจริง หรือส่วนใจเป็นเรื่องอันจินตนาการขึ้นกันแน่ ด้วยเหตุดังนี้เอง บางครั้งท่านจึงพบว่าหนังสือเรื่องพระเจ้าอาเธอร์สองเล่มอาจจะมีความต่างกัน บรรจุเรื่องราวที่ต่างกัน หรืออธิบายตัวละครไม่เหมือนกัน หากท่านพบเช่นนี้ก็อย่าได้คิดว่าฉบับหนึ่งผิดและอีกฉบับหนึ่งถูก เพราะตำนานนั้นระบุผิดและถูกไม่ได้เลย

หลักฐานโบราณที่สุดที่ค้นพบ ซึ่งเอ่ยถึงกษัตริย์ชื่ออาเธอร์นั้น เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชื่อฮิสตอเรีย บริโตนุม ( Historia Britonum – ประวัติศาสตร์อังกฤษ ) เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เนนเนียส ( Nennius ) ราวค.ศ. ๘๐๐

เนนเนียสอ้างว่าตนแต่งประวัติศาสตร์ฉบับนี้ขึ้นโดยอาศัยหลักฐานอ้างอิงหลายแหล่ง เช่นบันทึกต่าง ๆ ในอังกฤษ โรม และบันทึกของเหล่านักบุญโบราณ แต่หากเราในปัจจุบันอ่านหนังสือเล่มนี้ของเนนเนียสจะพาลคิดว่าเป็นหนังสือแฟนตาซีเสียยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ เพราะเนนเนียสนั้นคิดอย่างคนโบราณ และเห็นโลกเท่าที่คนโบราณในสมัยของเขาเห็น เขาอ้างว่าชาวอังกฤษสืบเชื้อสายมาจากชาวทรอยและชาวโรมัน ( ซึ่งออกจะเป็นบรรพบุรุษที่ได้รับความนิยม เพราะมีนักปราชญ์ชาติยุโรปต่าง ๆ ในสมัยเดียวกับเขาอ้างตนเป็นลูกหลานโรมันเสียมาก ) ส่วนเรื่องของ “อาเธอร์” ในบันทึกของเนนเนียสนั้นค่อนข้างสั้น โดยบอกว่าเป็นหัวหน้าเผ่าคนหนึ่งในราวคริสตศตวรรษที่หก และมีชาติกำเนิดค่อนข้างต่ำ แต่มีความสามารถในการรบสูง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารบกับพวกแซคซอนที่มารุกราน อาเธอร์ของเนนเนียสรบศึกสิบสองครั้ง ครั้นสุดท้ายที่ภูเขาชื่อบาดอน มีผู้สันนิษฐานว่าอาเธอร์ของเนนเนียสอาจจะเป็นนายกองสักคนของโรม ในสมัยที่โรมยังเคยผนวกเกาะอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร และอาเธอร์คนนี้อาจจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ตำนานอาเธอฉบับต่อมา และเป็นฉบับหนึ่งที่ได้ความนิยมค่อนข้างสูง คือ ฮิสตอเรีย รีกุม บริตานิเอ ( Historia Regum Britaniae – ประวัติศาสตร์กษัตริย์แห่งบริเทน ) ซึ่งเขียนโดยจอฟฟรีย์แห่งมอนเมาธ์ ( Geoffery of Monmouth ) งานชิ้นนี้เขียนขึ้นราวคริสศตวรรษที่สิบสอง เป็นความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นจากตำนานและนิทานจำนวนมาก

หนังสือของจอฟฟรีย์เป็นเล่มแรกที่เล่าว่าอาเธอร์เป็นบุตรของพระเจ้าอูเธอร์ เพนดรากอน และนางอิเกอร์นา ซึ่งเป็นภรรยาของกอร์โลอีส ดยุคแห่งคอร์นวอลล์ พ่อมดเมอร์ลินใช้เวทมนตร์ช่วยให้อูเธอร์ได้สมสู่กับนางอิเกอร์นา เขาเขียนว่าพระเจ้าอาเธอร์นั้นเริ่มครองราชย์ในปีค.ศ. ๕๐๕

ในระหว่างรัชกาลของพระเจ้าอาเธอร์…ตามปลายปากกาของจอฟฟรีย์ พระองค์ได้รบชาวแซคซอน และยึดตลอดไปจนถึงไอร์แลนด์ นอรเวย์ กอล ( ฝรั่งเศส ) และดาเซีย นอกจากนั้นยังรบกับโรมจนโรมต้องส่งยอมอ่อนน้อมและส่งบรรณาการให้ เมืองหลวงของพระเจ้าอาเธอร์พระองค์นี้ชื่อเมืองเซียร์ลิออน-ออน-อัสค์ ( ไม่ใช่คาเมล็อต ) และในปลายรัชกาลขณะที่พระองค์รบโรมนั้น หลานชายของพระองค์ชื่อมอร์เดรดได้ยึดครองบัลลังก์กับมเหสีของพระองค์ ( ชื่อนางแกวนฮูมารา Guanhumara ) ครั้นพระเจ้าอาเธอร์กลับมาจากโรม ก็รบกับมอร์เดรดที่คอร์นวอลล์เป็นสามารถ และสังหารมอร์เดรดลงได้ แต่ตนเองก็บาดเจ็บสาหัสด้วย พระองค์จึงให้นางแกวนฮูมารานั้นไปเข้าอารามนางชีถือบวชใช้โทษ และยกราชสมบัติให้หลานชื่อคอนสแตนติน ครั้นแล้วตัวพระองค์เองก็มีคนมารับไปยัง “เกาะอวาลอน” เพื่อรับการรักษาและพักอย่างสงบ ในเรื่องนี้มีการกล่าวถึงดาบของพระเจ้าอาเธอร์ว่าชื่อ “คาลิเบิร์น” ( Caliburn/ ภาษาเวลส์ว่า Caladvwlch )

จะเห็นว่าในเรื่องของจอฟฟรีย์นั้นมีเนื้อหาบางส่วนที่นิยมเล่ากันในภายหลัง แต่ยังคงขาดทั้งโต๊ะกลม จอกศักดิ์สิทธิ์ และอัศวินลานเซอล็อต

หนังสือเล่มนี้ของจอฟฟรีย์สนุกมาก ( แม้จะไม่เคยเป็น “หนังสือประวัติศาสตร์” อย่างที่คนเขียนหวังเลย ) มีผู้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และได้รับความนิยมอย่างสูงในฝรั่งเศสเช่นเดียวกับในอังกฤษ จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีอิทธิพลกับตำนานพระเจ้าอาเธอร์คนต่อไป คือกวีหญิงชื่อ มารีเดอฟรองส์ ( Marie de France ) จะได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้ว

มารีเดอฟรองส์ประพันธ์เรื่องของนางในปี ๑๑๕๐ เป็นนิทานหลาย ๆ เรื่องเรียกว่า Lais ซึ่งนางอ้างว่าแปลจากหนังสือที่ได้จากเบรอตง ( และบริตตานี ) เรื่องของมารีเดอฟรองส์แทบจะไม่ได้เอ่ยถึงพระเจ้าอาเธอร์เลย แต่อธิบายว่าเกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ มีการพูดถึงโต๊ะกลม และอัศวินชื่อลองวาล ( Lanval ) ซึ่งพระราชินีของพระเจ้าอาเธอร์มาหลงรัก แต่ลองวาลปฏิเสธนาง เพราะเขามีภรรยาแล้วเป็นราชินีแฟรี่แห่งเกาะอวาลอน มีเรื่องของกาเวน อัศวินมีชื่ออีกคนหนึ่งที่มักปรากฏนามในตำนานพระเจ้าอาเธอร์ และมีเรื่องของทริสทันกับอิโซลต์

ในเรื่องของมารีเดอฟรองส์ นางยืนยันมั่นคงว่าตำนานพระเจ้าอาเธอร์เกิดในบริตตานี และแม้ว่านางจะไม่ได้เอ่ยถึงจอกศักดิ์สิทธิ์เลย แต่นิทานของมารีเดอฟรองส์ก็ช่วยเพิ่ม “รสของความเป็นอัศวิน” ลงไปในตำนานพระเจ้าอาเธอร์อีกเป็นอันมาก

ที่ผู้เขียนเรียกว่า “รสของความเป็นอัศวิน” นี้ อยากจะอธิบายให้ผู้อ่านฟังว่าฝรั่งแต่ละยุคไม่เหมือนกัน ฝรั่งยุคเก่าสมัยที่ยังคงเล่าเรื่องคูฮูลินน์และฟินน์นั้นก็มองการเป็นนักรบแบบหนึ่ง คือเห็นว่านักรบควรจะสู้อย่างกล้าหาญในสนามรบจนตัวตาย ส่วนเรื่องผู้หญิงไม่ได้เน้นมากนัก เพราะไม่เห็นว่าการรักผู้หญิงเป็นกิจอันควรกล่าวถึงอะไรมากมาย ตกมาจนถึงยุคกลาง ฝรั่งเหล่านั้นจึงค่อยเกิดความโรแมนติกขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่เข้าใจกันว่าความโรแมนติกดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นในฝรั่งเศส

ที่เรียกว่าความโรแมนติกคือ อัศวินฝรั่งทั้งปวงเริ่มมีค่านิยมว่าจะต้องมีผู้หญิงสักคนสำหรับไว้ให้ตนเทิดทูน และอัศวินก็จะบำเพ็ญการเทิดทูน “เลดี้” ดังกล่าวอย่างสุดจิตสุดใจ ถือว่าเป็นของสูงดังหนึ่งนางเทพธิดาลงมาจากสวรรค์ อัศวินจะรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งหากเลดี้ชายตามามองตน หรือมอบผ้าเช็ดหน้าให้ตน แต่จะไม่เคยคิดอาจเอื้อมว่าจะได้นางมาครอบครอง และอัศวินส่วนใหญ่ก็จะถูกทรมานด้วยการที่ไม่อาจได้เลดี้มาด้วยเหตุต่าง ๆ เช่นเลดี้นั้นเป็นลูกสาวศัตรู หรือเป็นภรรยาของเจ้านาย หรือเลดี้นั้นดูถูกอัศวิน อัศวินที่ดีจะต้องทนความข่มขืนนี้ได้อย่างหน้าชื่นตาบาน และต้องบำเพ็ญตนภักดีต่อเลดี้ไปจนกว่าเลดี้จะเห็นตน ( หรือไม่เห็นก็เป็นความโชคร้ายของอัศวินไป ) และด้วยเหตุนี้เอง อัศวินยุคกลางจึงดูประหนึ่งจะมีหน้าที่สำคัญอยู่ราวสามอย่าง คือเทิดทูนเลดี้ ช่วยคนยาก และเชื่อฟังศาสนจักร

เรื่อง “โรแมนติก” ทำนองนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก และไม่ช้าก็เข้ามาในกระแสความคิดของคนยุโรป เราจะเห็นเรื่องทำนองนี้ได้ในตำนานพระเจ้าอาเธอร์สมัยหลัง ยามที่ลานเซอล็อตหลงรักพระนางกวิเนเวียร์ แต่ก็รู้สึกเจ็บปวดไปด้วยพร้อม ๆ กัน ก่อนหน้าสมัยของมารีเดอฟรองส์ ไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องรักเรื่องใคร่ในตำนานพระเจ้าอาเธอร์เลย

ผู้ประพันธ์ตำนานอาเธอร์ที่มีอิทธิพลมากอีกคนหนึ่งคือเครเตียงเดอทรัวส์ ( Crestien de Troyes ) เป็นกวีชาวฝรั่งเศส เขาเองก็แปลนิทานเบรอตงมาเช่นเดียวกับมารีเดอฟรองส์ และเป็นคนแรกที่ทำให้ “ตำนานชุดพระเจ้าอาเธอร์” มีจิตวิญญาณขึ้นมาอย่างแท้จริง เขาเป็นผู้เขียนตัวละครชื่อลานเซอล็อตขึ้นเป็นคนแรก รวมทั้งเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์ และเพอร์ซิวาล แต่ในนิทานของเครเตียง สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์” นั้น เขาเรียกแต่ว่า กราลล์ ( Graal ) โดยไม่เคยบอกอย่างแท้จริงว่ามันคืออะไรแน่ ทั้งยังไม่เคยเขียนเรื่องเซอร์เพอร์ซิวาลจนจบอีกด้วย

เขาเขียนเรื่องความรักระหว่างทริสทันกับอิโซลต์ กีแรนต์ ( เป็นอัศวินอีกคนหนึ่งของโต๊ะกลม ) กับอีนิด ทั้งหมดนี้เข้าใจว่าเครเตียงเลือกเขียนขึ้นจากนิทานท้องถิ่น และเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากเรื่องชุดอัศวินพระเจ้าชาลมาญซึ่งเป็นเรื่องในฝรั่งเศสอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ตำนานพระเจ้าอาเธอร์จึงยิ่งมีรสของอัศวินแบบฝรั่งเศสยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อบรรยายเรื่องพัฒนาการของตำนานพระเจ้าอาเธอร์มาถึงที่นี้แล้ว ผู้เขียนอยากจะชี้ให้ผู้อ่านดูว่าที่แท้ตำนานพระเจ้าอาเธอร์มีสองสาย สายหนึ่งนั้นคือสายประวัติศาสตร์อังกฤษ กับอีกสายหนึ่งเป็นสายที่ได้จากเบรอตง มีมารีเดอฟรองส์และเครเตียงเดอทรัวส์เป็นผู้เขียน

สำหรับสายประวัติศาสตร์อังกฤษ ซึ่งมีเนนเนียสเป็นผู้เริ่มต้นนั้น เห็นได้คร่าว ๆ ว่าตัวอาเธอร์อาจจะมาจากนายทัพชาวโรมัน หรือหัวหน้าเผ่าอังกฤษสักคนที่มีตัวตนจริง และเคยรบเป็นที่เลื่องลือมาก่อน แต่สายของฝรั่งเศสมาจากที่ใด ยังไม่มีผู้อธิบายได้แน่ชัด

มีผู้สันนิษฐานว่าตำนานพระเจ้าอาเธอร์สายฝรั่งเศสอาจจะได้มาจากผู้อพยพชาวเวลส์ ซึ่งเดินทางไปตั้งรกรากยังฝรั่งเศสพร้อมกับตำนานเวลส์ชุดหนึ่ง เรียกว่าตำนานอาเธอร์ แต่ไม่ใช่อาเธอร์คนที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินคาเมล็อต หรือคนที่มีดาบเอกซคาลิเบอร์ กลับเป็นอาเธอร์ซึ่งมีฐานะคล้ายนูเอดา หรือคูฮูลินน์ หรือพูลช์ ตำนานอาเธอร์ชุดนี้ไม่มีความเป็นอัศวินแบบยุคกลาง และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อังกฤษ เมื่อตำนานชุดนี้ผสมผสานกับตำนานพระเจ้าชาลมาญซึ่งเป็นตำนานท้องถิ่นของฝรั่งเศส ก็เกิดเป็นนิทานเบรอตงจำนวนมาก ซึ่งมารีเดอฟรองส์และเครเตียงเดอทรัวส์นำมาเป็นแหล่งในการประพันธ์ของตน

ตำนานอาเธอร์ชุดเวลส์นั้นเป็นตำนานที่มีอิทธิพลเคลติกอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องพระเจ้าอาเธอร์เองก็มีร่องรอยของความเป็นเคลติกอยู่ไม่น้อยเลย



Create Date : 08 สิงหาคม 2548
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 22:35:37 น. 5 comments
Counter : 941 Pageviews.

 


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 8 สิงหาคม 2548 เวลา:18:14:19 น.  

 
แวะมาเก็บความรู้เจ้าค่ะ + blog สวยดีกั๊บ


โดย: แ ม ง ป อ วันที่: 8 สิงหาคม 2548 เวลา:18:26:24 น.  

 
คราวหลังเอาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ของอังกฤษแบบละเอียดยิบเลยได้ไหมน่อ

เอาแบบเรียงชื่อกษัตริย์ เจ้าชายให้หมดราชวงศ์เลย


โดย: A IP: 61.47.124.188 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:21:39:44 น.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 5728186 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:16:16:44 น.  

 
สวัสดีน๊าาา ทักทายจ้าาาา อิอิ สปาชา sparsha A Moment of Bride เจ้าสาว เสริมจมูก ศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมจมูก Freeze Shaping สลายไขมันด้วยความเย็น ลดเซลลูไลท์ Leg Squeezing ผิวเปลือกส้ม FIS หน้าท้องใหญ่ ตัวเล็กแต่มีพุง Body Contouring ลดสัดส่วนทั้งตัว ลดปีกด้านหลัง เนื้อปลิ้นรักแร้ เนื้อปลิ้น Build Muscle สร้างกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหน้าท้อง TM Former สลายไขมันหนา สลายไขมัน ลดไขมัน Lock Shape รักษารูปร่าง Renew Perfect Body สลายไขมัน ลดสัดส่วน Oxy Peel ทำความสะอาดหน้า ทำความสะอาดหน้าแบบล้ำลึก ยกกระชับ Ulthera ปรับรูปหน้า ปัญหาผิวหย่อนคล้อย Beauty Shape สลายไขมันแบบเร่งด่วน ลดไขมัน ลดเซลลูไลท์ ผิวเปลือกส้ม Anti Cellulite & Slim Program Hip Shape สลายไขมันสะโพก กระชับผิว Sexy Mama แม่หลังคลอด รอยแตกลาย ปรับรูปร่าง ด็อกเตอร์ไลฟ์ doctorlife ศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมจมูก เสริมจมูก Cellulysis สลายไขมัน ulthera ยกกระชับ Acne Clear รักแร้ขาวเนียน เลเซอร์กำจัดขนถาวร กำจัดขน ร้อยไหม Freeze V Lift กำจัดไขมันด้วยความเย็น PRP ผิวหน้า PRP ผมบาง ผมร่วง เลเซอร์กระชับช่องคลอด กระชับช่องคลอด Love Fit Freeze Shaping สลายไขมันด้วยความเย็น Cell Repair ผิวขาวใส ลดสัดส่วน ปรับรูปร่าง TM Former Perfect Shape สลายไขมันแบบเร่งด่วน ฟิลเลอร์ Filler รักษาหลุมสิว Subcision Dual Yellow เลเซอร์หน้าใส Love Fit ปัญหาปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะเล็ด Oxy Bright ทำความสะอาดรูขุมขน Bye Bye Fat ลดไขมัน Luminous แสงสีฟ้า รักษาสิว ฆ่าเชื้อสิว ABO Active 3D Toxin IV Drip เพื่อสุขภาพและความงาม Viva Lift ยกกระชับผิว ให้ใจ สุขภาพ


โดย: สมาชิกหมายเลข 6102669 วันที่: 15 กันยายน 2563 เวลา:13:49:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.