ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

ประสบการณ์ไปอินโดนีเซียก่อนเป็น AEC

ผมมีโอกาสไปอินโดนีเซียครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1994 ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์...ตอนนั้นประทับใจกับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดีของครอบครัวอุปถัมภ์ชาวอินโดนีเซียในเขต Depok คุณพ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำงานฝ่ายบัญชีในหน่วยงานราชการ  คุณแม่เป็นแม่บ้าน มีลูกชายคนโตที่ตอนนี้ไปเรียนปริญญาเอกในเยอรมัน ลูกชายคนรองเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ลูกสาวคนโตเรียนทางด้านศึกษาศาสตร์ และลูกสาวคนเล็กที่พอจะเรียนภาษาญี่ปุ่นมาบ้าง....ยังมีโอกาสติดต่อกับครอบครัวนี้บ้างแต่ไม่ถี่นัก


   เมื่อศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการดูลู่ทางเศรษฐกิจและการตลาดในอินโดนีเซีย แล้วเชิญชวนให้ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ   ผศ. คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคนริเริ่มโครงการนี้  ผมเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจและเชื่อว่าทริปไปกับอาจารย์คำรณ...น่าจะได้สัมผัสและรับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในอนาคตเพราะอาจารย์คำรณเป็นคนที่สนใจในรายละเอียดและทริปของอาจารย์คำรณที่ผ่านมาคือการดูงานจริงๆ   ผมเลยเข้าร่วมโครงการนี้  เท่ากับว่า   ผมมีโอกาสมาเยือนอินโดนีเซียอีกครั้งปลายเดือนเมษายนปี ค.ศ. 2014 เกือบ 20 ปีเต็ม!!!!


    เงินรูเปี้ยส์อินโดนีเซียที่เคยแลกมาเมื่อ 20 ปีก่อนยังเหลืออยู่อีกมาก....ตอนนั้นคิดว่าคงมีโอกาสได้กลับมาเยือนอินโดนีเซียอีก...แต่จนแล้วจนรอดก็ผ่านไปเกือบ 20 ปี Smiley





ก่อนเดินทางสงสัยว่าเงินรูเปี้ยส์รุ่นเก่าที่พิมพ์ออกใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 จะยังคงใช้ได้ไหมเพราะอินโดนีเซียมีปัญหาค่าเงินเหมือนประเทศไทยตอนปี ค.ศ. 1997  พอเช็กข้อมูลพบว่าทางธนาคารกลางอินโดนีเซียทำการเก็บเงินเก่าที่ใช้ในตลาดเข้าคลังแล้วทำลาย  และออกธนบัตรรุ่นใหม่แทน  ร้านค้าทั่วไปไม่รับธนบัตรรุ่นเก่า  หนทางเดียวที่จะแลกเงินเก่าคือไปแลกกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย

   แต่การไปทริปกับกรุ๊ปทัวร์...ไม่ได้สะดวกนักที่จะไปแลกเงินเองตามลำพัง และจากข้อมูลที่ทราบมา การจราจรในกรุงจาร์กาต้ารถติดหนักและสาหัสพอๆกับกรุงเทพฯ  โทรสอบถามไกด์คนไทยที่ไปกับคณะของเรา  เขาแจ้งว่าจะช่วยประสานงานกับไกด์ท้องถิ่นให้เรื่องหาทางแลกเงินให้ผม เพราะคงปล่อยให้ผมลงไปแลกเงินเองตามลำพังไม่สะดวกนัก


   คณะทัวร์ของเราเจอกันที่สนามบินสุวรรณภูมิตอนตี 5 เพื่อขึ้นเครื่องบินตอน 8 โมงเช้า  นอกจากคณะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ประกอบไปด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ยังมีผศ. ดร. บุญรัตน์ ปทุมชาติ ผู้จัดการสถานบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ผศ. ดร. นิยม กำลังดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเดินทางด้วย


   เครื่องบินมาถึงสนามบินซูการ์โน-ฮัตต้า (ชื่อสนามบินมาจากชื่ออดีตประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย) ตอน 11 โมงกว่า  ไกด์ท้องถิ่นที่ชื่อ อาลี มารับพวกเรา  ไปทานอาหารกลางวันนอกกรุงจาร์กาต้าก่อนจะเข้าไปในตัวกรุงจาร์กาต้า

   ไม่คาดมาก่อนว่าจะเจอคนที่รู้จักที่สนามบินซูการ์โน-ฮัตต้า  พี่นางที่เคยไปร่วมโครงการเรือเยาวชนรุ่นก่อนหน้าผม ตอนนี้ทำงานกระทรวงแรงงาน เดินทางมาราชการที่อินโดนีเซียเช่นกัน  มารู้จักพี่นางตอนไปงาน Reunion อดีตเยาวชนที่เคยร่วมโครงการเรือเยาวชนที่มะนิลาเมื่อปี 1996







ผมเคยเห็นภาพการจราจรในอินโดนีเซียจากรายการ ASEAN Beyond 2015 ทางสถานีไทยพีบีเอสว่ารถติดมากๆ  แต่มาสัมผัสด้วยตนเองแล้วเข้าใจว่า....เหมือนพวกเราอยู่่ในกรุงเทพฯ รถติดไม่ต่างกัน เห็นความแตกต่างในสังคมจากบ้านเรือนที่อยู่แบบไร้ระเบียบกับอาคารสูงที่สร้างขึ้นมา  ใช้เวลาเกือบชั่วโมงก็มาถึงสถานฑูตไทยประจำกรุงจาร์กาต้า


   เราเข้ารับฟังการบรรยายภาพรวมของอินโดนีเซียจากมุมมองของผู้อำนวยการ Thai Trade Center ประจำอินโดนีเซีย  ฟังแล้วออกจะแปลกใจที่อินโดนีเซียไม่ตื่นตัวกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน....อินโดนีเซียทำงานล่าช้า...และเป็นประเทศที่พึ่งจะตื่นตัวกับการสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ พึ่งเริ่มต้นสร้างระบบรถไฟฟ้า ในขณะที่ประเทศอื่นเขาใช้งานกันมาหลายปีแล้ว  การที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนค่าน้ำมันที่ประเทศผลิตได้ ทำให้ราคาน้ำมันที่คนอินโดนีเซียใช้มีราคาถูก ตามมาด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ...ผลตามมาก็คือคนอินโดนีเซียนิยมมีรถของตนเอง ประเทศมีประชากรมากที่สุดในอาเซียน...จำนวนรถก็มากตามไปด้วย   ค่าแรงที่ถูกกว่าในไทยแต่วันหยุดมากกว่า และประสิทธิภาพในการทำงานแรงงานไทยสูงกว่าแรงงานในอินโดนีเซีย  ดังนั้นนักลงทุนไทยคงต้องคิดดีๆ....

   สิ่งดีๆและได้ผลสำหรับอินโดนีเซียก็คือ เขาส่งเสริมให้คนในชาติหันมาตื่นตัวใส่ผ้าบาติกมาทำงานวันศุกร์  กลายเป็นวัฒนธรรม  น่ายกย่องที่เขาทำให้วัฒนธรรมตรงนี้มีความหมายมากขึ้น และคนในชาติภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง







อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก  ตอนนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกเล็งจะย้ายฐานการผลิตรถยนต์จากไทยมาลงทุนที่อินโดนีเซียแทน เพราะมีความพร้อมและจำนวนคนที่มาก อัตราการเติบโตของจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสทางการตลาด


   เราใช้เวลาจนถึง 5 โมงเย็น....ก็จบการฟังการบรรยายและซักถามข้อมูลจากหน่วยงานของไทยในอินโดนีเซีย





หลังจากนั้นเรานั่งรถมุ่งหน้าไปเมืองบันดุงที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร แต่สภาพรถติดมาก แม้ว่าจะออกจากกรุงจาร์กาต้า รถก็ยังติดตลอดเส้นทางไปบันดุง  ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงก็มาถึงบันดุง พักคืนแรกที่โรงแรม Aston Braga Bandung


  เช้าวันรุ่งขึ้น...เรามีผู้มาร่วมทริปกับเราด้วย คือ คุณเล็กที่เป็นน้องสาวคุณกบที่เป็นตัวแทนจากหอการค้าสงขลา  คุณเล็กแต่งงานกับคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนและใช้ชีวิตที่บันดุง คุณเล็กให้ข้อมูลเกี่ยวกับอินโดนีเซียให้พวกเรารู้จักดีขึ้น  บันดุงเป็นเมืองตากอากาศ คนน้อยกว่าในจาร์กาต้า บรรยากาศสบายๆ บ้านหลังใหญ่สองข้างทางของคนรวยในเมืองนี้ไม่ค่อยมีใครสร้างบ้านสองชั้น  ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึง ภูเขาไฟ Gunung Tangkuban Perahu ซึ่งตอนนี้สงบแล้ว แต่ยังมีควันพ่นออกมาให้เห็นที่ปล่องภูเขาไฟ






 มาถึงบันดุงแล้วพลอยให้นึกถึงเพลง Halo Bandung ที่เคยร้องสมัยร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์

    " Halo Halo Bandung   Ipukerna Perinaga
      Halo Halo Bandung...."


   ที่บันดุงเคยเป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ฮอลแลนด์เคยใช้เป็นเมืองหลวง คนอินโดนีเซียรุ่นเก่าหลายคนสามารถพูดภาษาดัตซ์ได้  ที่นี่เคยจัดประชุมนานาชาติและร่างปฏิญญาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายครั้ง


   ในขณะที่เดินดูภาพบรรยากาศปล่องภูเขาไฟ อากาศเย็นสบายๆบนภูเขา ก็ได้ยินเสียงบรรเลงของอังกาลุงดังขึ้น  ความจริงอังกาลุงเป็นดนตรีของอินโดนีเซียแต่คนไทยไปรับมาและดัดแปลงโดยมีหน้าตาแตกต่างไปจากต้นฉบับแต่ยังคงเรียกชื่อว่า "อังกาลุง" ใกล้เคียงกับเสียงในภาษาอินโดนีเซียที่ออกเสียงว่า "อังกลุง"




เพลงที่คนขายอังกาลุงบรรเลงคือเพลง ปุลงกาก้า ที่ร้องว่า

" ปุลง กาก้า ตูอา    เดจอ ดีเจ เดอรา
  เนเน สุด้า  ตูอา    กิ๊กินยา ติงกา ตูอา
  เรสุ่ม  เรสุ่ม เราซุม อูรารา
  เรสุม  เรสุ่ม  เรซุม อูรารา
  เรสุ่ม  เรสุ่ม  เรซุม  อูรารา
   ปูลง ก่าก้า ตูอา"


 ฟังเพลงนี้แล้วนึกถึงบรรยากาศตอนเด็กๆที่ครูสอนให้ร้องเพลงนี้....ร้องแม้จะไม่รู้ความหมาย...เต้นท่าระบำฮาวายด้วยเพลงนี้

 ดนตรีเป็นตัวเชื่อมโยงคนต่างชาติต่างภาษาให้มีความสุขร่วมกันได้จริง....


  จากจุดนี้เราเดินทางกลับไปตัวเมืองบันดุง  มีโอกาสแวะไป Outlet เขาให้เราเลือกดูสินค้าสบายๆ 2 ชั่วโมง  ผ้าบาติกหลายผืนเนื้อดี ลายสวย แต่ราคาแพงมาก ผืนละ 7,000 -8,000 บาท







คนขายของในอินโดนีเซียไม่ได้เชียร์ของลูกค้านัก  ไม่ค่อยสนใจเข้ามาดูแลลูกค้า ปล่อยให้ลูกค้าเลือกของกันเอง และพูดภาษาอังกฤษไม่ได้อีกต่างหาก.... คนไทยคิดเองเออเองว่าคนในประเทศอดีตอาณานิคมตะวันตกน่าจะภาษาดีกว่าคนไทย....แต่ข้อเท็จจริงก็คือ...ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป

 ใช้เวลาเลือกเสื้อที่ทำจากผ้าบาติกอยู่นาน เพราะว่าผมไม่ค่อยชอบผ้าที่ลายบาติกเพรียวๆ แต่ชอบผ้าบาติกลายที่สามารถใส่ได้หลายๆงาน ไม่อย่างนั้นนานๆใส่ทีอาจจะไม่ค่อยคุ้มค่านัก  สุดท้ายก็ได้เสื้อบาติกลายถูกใจ สีเขียว นี่เป็นของที่ระลึกจากทริปนี้ที่ผมซื้อให้ตัวเอง....


 จากบันดุง...เราเดินทางเข้ากรุงจาร์กาต้า ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า  ที่ผ่านมาเราทานอาหารจีนมากกว่า คราวนี้มีโอกาสได้กินอาหารอินโดนีเซีย รสชาติใช้ได้ แต่เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ลองทานสะเต๊ะ มื้อค่ำเป็นหมี่โกเร็ง ปลาทอด ไก่ชุบแป้งทอด 





เราพักที่โรงแรม Millennium ที่นี่เขี้ยวมาก โรงแรมระดับ 4 ดาวแต่ไม่มี Wi-Fi ในห้องพัก  คนรักเน็ตเซ็งอารมณ์  บังเอิญโทรศัพท์มือถือผมมีปัญหาตั้งแต่มาถึงอินโดนีเซีย....เลยไม่ต่างกันระหว่างการใช้เน็ตได้กับใช้เน็ตไม่ได้


   วันรุ่งขึ้นสอบถามผู้จัดการโรงแรมว่าเขาจะกรุณาช่วยแลกธนบัตรรุ่นเก่าให้ผมได้ไหม เพราะเราไม่มีเวลาไปธนาคารกลางอินโดนีเซีย....เนื่องจากธนาคารกลางอินโดนีเซียไม่ได้อยู่ไกลจากโรงแรมนัก  ผู้จัดการรับฝากเงินให้แต่ไม่รับปากว่าจะแลกให้ได้ไหม  เจ้าหน้าที่โรงแรมตื่นตาตื่นใจมากที่เห็นธนบัตรทีพิมพ์ในปี 1992 เพราะก่อนพวกเธอจะเกิดเสียอีก  แจ้งทางโรงแรมว่าจะกลับมาติดต่อตอนค่ำ


กว่าเราจะเดินทางออกจากโรงแรมก็ 8 โมงกว่าเพราะมีข้อผิดพลาดจากการประสานงานกัน สุดท้ายวันนี้โปรแกรมเราไม่ได้แวะไปสถาบันรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย  แต่เราเดินทางไปท่าเรือตามกำหนดการเดิม  เจ้าหน้าที่ท่าเรือมาอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารท่าเรือให้พวกเราฟัง และพาเรานำชมการบริหารท่าเรือ






ตอนบ่ายมีนัดกับหอการค้าอินโดนีเซีย  คณะหอการค้าอินโดนีเซียได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพตลาด โอกาสการลงทุนในอินโดนีเซีย และการสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจอินโดนีเซีย  ไม่ง่ายนักถ้าจะเข้ามาลงทุนตามลำพังในอินโดนีเซีย แต่ถ้ามีเพื่อนในประเทศนี้อาจจะง่ายขึ้น






ที่หอการค้าอินโดนีเซีย...ผมสะดุดตากับตัวอักษรโบราณของอินโดนีเซียในจดหมายจากเจ้าเมืองที่เขียนติดต่อ Raphal  น่าเสียดายที่ตัวอักษรอินโดนีเซียหายไปภายหลังจากชาวตะวันตกเข้ามายึดครองและทำลายวัฒนธรรมจนหมด....








คนไทยน่าจะภูมิใจที่เรายังมีตัวอักษรของเราเหลืออยู่...มีไม่กี่ชาติในเอเชียที่ยังมีตัวอักษรของตัวเอง คนไทยทุกคนควรจะหวงแหน ไม่ใช่ใช้กันเพี้ยนๆ แบบเอามันเข้าว่า แล้วสุดท้ายเมื่อภาษาไทยสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองแล้ว...จะเหลืออะไรให้ภาคภูมิใจ

เรามีโอกาสแวะไปอนุสาวรีย์เมอเดก้า ย่านถนน Thamarin ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและศูนย์ราชการ  ว่ากันว่าบนยอดอนุสาวรีย์เมอเดก้าเป็นทองคำแท้  ผมเคยถ่ายภาพกับอนุสาวรีย์นี้เมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้มีโอกาสได้มาถ่ายภาพที่ตรงนี้อีกครั้ง...คงจะมีโอกาสมาถ่ายภาพที่นี้อีกในอนาคต แต่ไม่ทราบว่าอีกเมื่อไหร่?





การจราจรตอนเย็นในกรุงจาร์กาต้ารถติดมากๆ โดยเฉพาะวันนี้เป็นวันศุกร์ ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เพียงแต่คนที่นี่ขับรถไม่ปาดไปปาดมา หรือไม่ยอมให้คนอื่นแซงเข้ามาอย่างคนขับรถในกรุงเทพฯหลายคนนิยมทำกัน  การจราจรในกรุงจาร์กาต้าติดแต่ก็ยังค่อยๆเคลื่อนตัวได้บ้าง เพียงแต่รถเยอะมากบนท้องถนนเกือบตลอดทั้งวัน




อาหารค่ำคืนก่อนเดินทางออกจากอินโดนีเซีย  เราได้ไปทานอาหารเป็นเป็ด รสชาติอร่อยทีเดียว






ชื่อร้านอยู่ในภาพข้างล่างครับ  ร้านนี้นักชิมแนะนำครับว่าอร่อยจริง...Smiley








กลับมาที่โรงแรม  พนักงานโรงแรมแจ้งว่าไปที่ธนาคารกลางแล้วแต่ไม่สามารถแลกเงินให้ได้เพราะคิวยาวมาก  สุดท้ายเงินรูเปี๊ยส์รุ่นเก่าก็ไม่สามารถแลกได้  ผมนั่งคิดหาทางออกว่าจะจัดการกับเงินเหล่านี้อย่างไรดี  การจะฝากให้นักเรียนชาวอินโดนีเซียที่เคยเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนสอนภาษาซีพีเอสช่วยแลกในเวลาที่เขาเดินทางกลับประเทศ...อาจจะทำได้แต่เป็นการสร้างภาระให้แก่เขา และผมก็ไม่ทราบว่าจะกลับมาที่นี่อีกเมื่อไหร่  ในเมืองไทยไม่รับแลกธนบัตรรุ่นนี้แล้ว....


  ในที่สุดก็มีทางออก.....




ผมตัดสินใจว่าเงินหลายแสนรูเปี๊ยส์นี้จะมีประโยชน์ต่อผู้คนในประเทศนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านองค์กรการกุศล สภากาชาด  เงินคือเงิน มูลค่าของเงินเหล่านี้ในประเทศนี้มูลค่าเท่าเดิม แต่คุณค่าสำหรับคนที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากสภากาชาดอินโดนีเซียมีมากกว่า...

ผมเลยตัดสินใจบริจาคเงินธนบัตรรุ่นเก่าทั้งหมดให้สภากาชาดอินโดนีเซียผ่านกล่องรับบริจาคที่สนามบินซูการ์โน-ฮัตต้า....


ความสุขที่ได้บริจาคเงินเหล่านี้ให้กับคนอินโดนีเซีย.....ช่วยทำให้จิตใจเบิกบาน ปลอดโปร่งขึ้น


ใช้เวลาระหว่างที่รอขึ้นเครื่องบิน...ผมนั่งเขียนโปสการ์ดถ่ายทอดประสบการณ์จากทริปคราวนี้ส่งไปให้คนไทยที่ไม่ได้ร่วมเดินทางมาด้วยคราวนี้....แทนความระลึกถึงกันSmiley



วันนึงในอนาคตผมคงมีโอกาสได้กลับมาเยือนประเทศนี้อีก...แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่ทราบ...ขึ้นกับกรรมจัดสรรครับ  คอยรอจนถึงวันนั้น....







 

Create Date : 11 มิถุนายน 2557    
Last Update : 12 มิถุนายน 2557 20:40:34 น.
Counter : 4565 Pageviews.  

คิดถึง...ชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร

  มีคนเคยถามว่า 

  "เบื่อไหมที่ต้องสอนวิชาเดิมๆ หัวข้อเดิมๆ วันละหลายๆรอบ?"

  สำหรับผม ถึงจะเป็นหัวข้อเดิมๆที่ต้องสอนแต่ผู้เรียนแตกต่างกัน บรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีสีสันต่างกัน ที่สำคัญลูกศิษย์ที่สอนโดยมากใส่ใจในเนื้อหาที่ผมสอนมากกว่าจะสร้างปัญหาในระหว่างที่ผมสอน บางกลุ่มอาจจะคุยกันในระหว่างที่สอน แต่เมื่อปรามและตำหนิในชั้นเรียน...นิสิตเหล่านั้นก็มีความเกรงใจที่จะไม่สร้างปัญหาขึ้นมาอีก Smiley

  ดังนั้นการสอนซ้ำๆๆๆๆๆจึงไม่รู้สึกเบื่อ  ตรงข้ามตอนที่ลูกศิษย์ตั้งใจฟัง จดจ่อกับสิ่งที่ผมสอน คิดตาม และเกิดความรู้ใหม่ๆ และมีแววตาที่มีความสุขที่ได้เรียนเนื้อหาที่สอน  ผมในฐานะครูของพวกเขารู้สึกมีความสุข และได้รับพลังจากลูกศิษย์ในการสอนเนื้อหาแก่พวกเขาต่อๆไป Smiley

 

  มีเหมือนกันที่รู้สึกเหนื่อยกับการสอน.....เพราะผมต้องรับผิดชอบสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจถึง 4 กลุ่ม  ภายหลังจากสอนเสร็จ นิสิตจะต้องเขียนสรุปเนื้อหาที่เขาเรียนรู้ในชั้นเรียนวันนั้นออกมาเป็นคีย์เวิร์ด เพื่อผมจะได้ทราบว่าลูกศิษย์ที่ผมสอน....พวกเขาเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากน้อยแค่ไหน เข้าใจถูกต้องไหม สิ่งที่ผมสอนกับสิ่งที่พวกเขาเข้าใจตรงกันไหม?  งานตรวจคีย์เวิร์ดลูกศิษย์เหมือนเป็นการบ้านอย่างหนึ่งที่พวกเขาส่งมาให้ผมตรวจหลังจากเรียนจบ.....เป็นภาระที่ผมสร้างขึ้นมาแต่ช่วยทำให้ผมทราบว่าลูกศิษย์ผมคิด เชื่อ และเข้าใจอย่างไรกับเนื้อหาที่เรียนไป  นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ทั้ง 4 กลุ่มมีจำนวนถึง 236 คน การตรวจคีย์เวิร์ดของนิสิตทุกคนถือเป็นภาระงานที่เอาเรื่อง เพราะผมเช็กข้อความที่นิสิตทุกคนเขียน ใช้เวลามากทีเดียวแต่เราได้เห็นมุมมองและความเข้าใจของลูกศิษย์ที่มีต่อชั้นเรียนที่พวกเขาเรียน  


 

 คีย์เวิร์ดจึงเป็นเหมือนเสียงสะท้อนจากผู้เรียน คีย์เวิร์ดแต่ละวันต่างมีสีสันแตกต่างกันไป

 

 


  นิสิตมักคุ้นเคยกับการทำงานกับเพื่อนที่สนิทกัน...แต่ในความเป็นจริง โลกของการทำงาน พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกคนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน รวมถึงหัวหน้าด้วย ดังนั้นกิจกรรมในชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีผมเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบสอน จึงถูกออกแบบฝึกให้ลูกศิษย์พร้อมที่จะก้าวไปสู่โลกของการทำงาน โลกในชีวิตจริง หัดทำงานกับคนที่ไม่คุ้นเคยและต้องสามารถทำงานร่วมกับคนที่ไม่สนิทได้

 

 

 

 

 

 



 



 ในการนำเสนอรายงานกลุ่มด้านหน้าชั้นเรียน....แต่ละกลุ่มต่างพยายามดึงเอาความคิดสร้างสรรค์มาช่วยในการทำคะแนนให้สูงขึ้น  แต่ข้อจำกัดตรงที่กลุ่ม 1 และ 3 เรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจต่อเนื่อง 3 คาบ เขาจึงมีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่ากลุ่ม 2 สาขาการบัญชีที่เรียนวันจันทร์ 2 คาบแล้วไปคร่อมวันศุกร์ 1 คาบ


  ตอนนั้นละคร "ทองเนื้อเก้า" กำลังดัง คนติดละครเรื่องนี้กันมาก.....นิสิตกลุ่มเอกสาขาการบัญชี เลยโยง "ลำยอง" เข้ามาโผล่ในการนำเสนอกลยุทธ์ทางธุรกิจกรณีศึกษา "บริษัทสงกรานต์ จำกัด"




 ในแต่ละกลุ่มเรียน  รูปแบบการนำเสนอแตกต่างกัน แต่บรรยากาศการนำเสนอของเพื่อนบางคน....สร้างเสียงเฮฮาให้กับเพื่อนร่วมกลุ่มเรียนเดียวกัน

 

 


 

 



ในกลุ่มเรียนทั้ง 4 กลุ่ม  แต่ละกลุ่ม....มีเรื่องราวที่น่าประทับใจแตกต่างกัน



กลุ่มนิสิตภาคพิเศษ  รุ่นนี้เป็นภาคพิเศษรุ่นสุดท้าย  สาขาการจัดการธุรกิจเรียนร่วมกับสาขาการบัญชี  มีจำนวนนิสิตในกลุ่มนี้ร่วม 73 คน  ผมเคยสัมภาษณ์หลายๆคนเข้ามาเรียนเป็นนิสิตใหม่ หลักสูตรปริญญาตรีภาคพิเศษสาขาการจัดการธุรกิจรุ่นนี้  ยังจำวันสัมภาษณ์พวกเขาได้....หลายๆคนสร้างวีรกรรมอะไรเอาไว้ เจ้าตัวรู้ดีSmiley   

 

ในสายตาของหลายคนอาจจะเหมาเอาว่า...นิสิตภาคพิเศษสอบเข้าภาคปกติไม่ได้เลยเข้ามาเรียนภาคพิเศษ นิสิตหลายๆคนก็คิดเอาเองว่าตัวเองด้อยกว่านิสิตภาคปกติ  แต่สำหรับผม....ที่เคยสัมภาษณ์เด็กเหล่านี้ ผมรู้ข้อเท็จจริงว่า...นิสิตภาคพิเศษรุ่นนี้แตกต่างไปจากรุ่นอื่น เพราะหลายคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แต่เลือกที่จะเรียนภาคพิเศษเนื่องจากติดปัญหาเรื่องงานของครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบหรือไม่อยากอยู่ไกลบ้าน  ดังนั้นพวกเขาหลายๆคนเป็นเด็กที่เก่งที่ไม่ควรมองข้าม

 


นิสิตสาขาการบัญชีที่เรียนกลุ่มนี้กล้าแสดงความคิดเห็นและมีความคิดดีๆ....คะแนนสอบก็ทำได้ดีด้วย   

คัชรินทร์ณีทำคะแนนสอบได้ดีแต่เขายกมือแสดงความเห็นน้อยไปหน่อย

พัชรินทร์มักแสดงความเห็นบ่อยๆในชั้นเรียนแต่มักทำคะแนนสอบได้ไม่ดี...น่าเสียดาย

ปิยะดา พยายามแสดงความเห็นในช่วงท้ายๆ....เขาไปนั่งในกลุ่มที่ชอบคุยส่งเสียงดัง ทำให้ติดหางเลขโดนตำหนิในระหว่างที่เรียน


นิสิตสาขาการจัดการธุรกิจ รุ่นนี้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เคยสอนหลายวิชา และไปทัศนศึกษาด้วยกัน ทำให้มีความสนิทสนมกัน  ประธานรุ่น ปาณัสม์ เลือกที่จะนั่งกับวงศ์กร กลมกลืนกับนิสิตบัญชีตามคำแนะนำของผมที่ไม่อยากให้แบ่งแยกระหว่างนิสิตบัญชีกับนิสิตการจัดการ พวกเขาควรจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันโดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างนิสิตต่างสาขาหรือว่าไม่ควรแม้แต่แบ่งแยกระหว่างนิสิตภาคปกติกับนิสิตภาคพิเศษ  กุศลินตั้งใจเรียนเข้ามาเรียนทุกครั้งแต่ว่าเขายังสรุปใจ ความสำคัญของเนื้อหาเรียนได้ไม่ดี  มันจึงสะท้อนออกมาตอนทำสอบ, อติพงษ์ มีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจและการปรับตัวอยู่บ่อยๆ และมักแก้ปัญหาด้วยการไม่เข้าเรียนซึ่งไม่ถูกต้อง ผมต้องแจ้งให้คุณแม่เขาทราบ เพื่อช่วยตักเตือนและปรับปรุงพฤติกรรมของเขาให้เข้าเรียน ไม่ใช่หนีปัญหาด้วยการไม่เข้าเรียน, จิราพร เป็นคนเงียบ ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น คะแนนแสดงความเห็นในชั้นยังไม่ปรากฏออกมา....ผมจึงกดดันให้เขากล้าที่จะแสดงความคิดออกมา ไม่อย่างนั้นเธอจะไม่ได้คะแนนแสดงความเห็นในชั้นเรียนเลย ตามมาด้วยการกลับไปร้องไห้ที่หอเพราะรู้สึกกดดัน  ก่อนที่จะกล้าแสดงความเห็นในชั้นเรียนต่อไป, ณัฐพร ตั้งใจเรียนมากแต่ตอบไม่ตรงประเด็น ทำให้ได้คะแนนกลางภาคไม่ดี แต่ก็มาแก้มือตอนปลายภาคสำเร็จ, ณัฐชยา สนิทกับสิตราพร สองคนนี้เป็นคนเงียบๆ, พิชญ์สินี ปกติเป็นคนเงียบ...เทอมนี้ดูกล้าแสดงความเห็นมากขึ้น, ธัญญ์นิตย์ มีความมุ่งมั่นกับการเรียนวิชานี้มาก ทำคะแนนได้สูงทีเดียว, ยุทธภูมิมักจะพูดน้อย ยิ้่มเก่ง ตอบคำถามทีไรทำให้คนฟังฮาเสมอ, ศักดิ์ดา อภิสิทธิ์ รัชตะ อยู่กลุ่มเดียวกัน เป็นพวกชอบเฮฮา

 




ดีใจที่นิสิตภาคพิเศษบางคนสะท้อนความรู้สึกและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากเรียนวิชานี้จบลง




 

กลุ่มเอกการเงินและการธนาคารมีคนเก่งหลายคน  กลุ่มนิสิตชายที่นั่งข้างหน้าเป็นกลุ่มที่ชอบแสดงความคิดเห็นและค้นคว้าหาข้อมูลมี  ชวัลวิทย์, อมรเทพ, ธิบดี ลายมือของธิบดีพอสังเกตง่ายเพราะอ่านลำบากอยู่หน่อย, จันทร์ทิมานั่งด้านหน้า...ผมยืมปากกาของเธอตอนสอนกลุ่มใหญ่เพราะลืมเอาปากกามา, แถวหน้ามี สลิลทิพย์ สุพรรษา บุศยมาศ ฐิตินันท์ ยุทธนา นั่งประจำ แต่ก็จะมีธีรวัฒน์ที่เข้าห้องเรียนสายบ่อยๆ, ณิชนันท์ย้ายมาจากคณะอื่น เช่นเดียวกับณิชาภาที่ย้ายมาจากสาขาการจัดการธุรกิจ  ผมจำเธอได้เพราะว่าตอนถ่ายภาพวันไหว้ครูคณะฯยังมีรูปเธออยู่ แต่พอขึ้นปี 2 ไม่ได้สอนแล้ว,  วัชราภรณ์และมินิทญานั่งด้านหลังกลุ่มนิสิตชาย ดูเหมือนมินิทญาพยายามตั้งใจฟังแต่โดนเพื่อนนิสิตชายกลุ่มหน้าบังอยู่บ่อยๆจนเธอต้องขยับตัวเพื่อเห็นหน้าอาจารย์ผู้สอน, วัชระเคยเป็นเด็กเรียนเก่งแต่พอผิดหวังก็ประชดชีวิตด้วยการไม่ตั้งใจเรียน....น่าเสียดายแทน, ศริวตาภรณ์ นั่งแถวที่สอง มีฐิติรัตน์นั่งแถวเดียวกัน, สัตตบงกชเป็นเด็กเรียนเก่งคนหนึ่งแต่อาจจะไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นมากนัก, ปรัศนีย์...ไม่แน่ใจว่าทำไมพ่อแม่ตั้งชื่อนี้ให้, แอนเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย และเมื่อมานั่งติดกับสุธาสินีย์ เลยชวนกันร้องไห้ง่ายๆเวลาผมพูดประเด็นสะเทือนใจ, อารีรักษ์นั่งด้านหน้าแอนอีกที แอนหน้าคล้ายกับอารีรักษ์ ผมเลยจำผิดบ่อยๆ, นริศรากังวลกับคะแนนเกินเหตุ...นั่งด้านซ้ายแถวบนๆ, สุนิศามีความตั้งใจกับการทำเกรดสูงๆ, โสภณวิชญ์มักกังวลกับการที่ตัวเองเป็นคนสมาธิสั้น,  รัชดาวรรณติดสอบวิชาอื่น...เธอเลยมาขอสอบนอกตารางตอนสอบกลางภาค

อัษฎาวุธมักจะนั่งด้านหลังมีเพื่อนผู้หญิงนั่งล้อมรอบ.....

 



 

เอกพันธ์เป็นเด็กเก่งคนหนึ่ง มักนั่งข้างหลัง เสียงสะท้อนว่าเขาได้อะไรบ้างจากวิชานี้

 




นิสิตรายนี้น่านับถือตรงที่เธอ...ยังคงใช้ภาษาใต้ในการตอบคำถามทุกครั้งในชั้นเรียน โดยไม่อายใคร แต่ภูมิใจในเสน่ห์ของภาษาใต้ 

 




กลุ่มสาขาการบัญชีปีนี้มีจำนวนนิสิตน้อยกว่ารุ่นผ่านๆมา  ในกลุ่มนี้มีคนที่ชอบแสดงความคิดเห็นหลายคน นวพร, ณัฐธิดา, ปุณยนุชและกฤษฎี   ในขณะที่อิศรารักษ์และอนุสรานั่งด้านหน้าแต่ไม่ค่อยแสดงความเห็นเท่าไหร่, ธาราตรีมักจะตื่นเต้นเวลาแสดงความเห็น แต่เมื่อพูดบ่อยๆเธอก็พัฒนาจนหายตื่นเต้นได้ในที่สุด, ปวิตรา ตัดพ้อที่ยกมือแต่ผมไม่ได้เรียก ตอนหลังเมื่อเธอพบว่าทุกครั้งทีไม่ได้ถูกเรียก ถ้าพยายามต่อไป เธอก็จะถูกเรียก ทำให้เธอกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น, ชนัญตยา มักจะมาถึงห้องเรียนก่อนเริ่มเรียน เธออยู่กลุ่มเดียวกับ กุญญดา สาธิตา ศศิพิมพ์ เพ็ญศิริ, นิทัศน์กล้าแสดงความเห็นแตกต่างจากคนอื่นและเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไปหน่อย, ภัทรีญา มั่นใจในตนเอง กล้าย้อมผมสีมาเรียน มักจะเข้าชั้นเรียนล่าช้าอยู่บ่อยๆ, ทิพวัลย์นั่งด้านหลังปุญยนุช, นภัทสรณ์เป็นนิสิตเกียรติยศ ชอบกังวลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

 

ในระหว่างสอบกลางภาคเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อกระเป๋าพร้อมโทรศัพท์มือถือไอโฟน 4 ถูกมือดีฉกไปในระหว่างสอบ.....เจ้าทุกข์ร้อนใจมาก คาดเดาว่าขโมยที่เอาไปเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ใช้เวลาสืบอยู่ประมาณ 1 เดือนก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นคนเอาไป  ผมจัดการให้เรื่องจบลงในชั้นเรียนเพราะถ้าเรื่องสอบสวนดำเนินต่อไปนิสิตที่เอาของคนอื่นไปต้องโดนไล่ออกเพราะผิดวินัยร้ายแรง มันไม่คุ้ม และให้โอกาสคนที่เอาของคนอื่นไปสำนึกผิด และเจ้าทุกข์ก็ไม่ติดใจเมื่อขโมยคืนของให้เจ้าของ....แค่เจ้าทุกข์เสียน้ำตาเท่านั้นเพราะไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น Smiley    

 



เสียงสะท้อนจากณัฐธิดาว่าเรียนรู้อะไรบ้างจากชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ  สำหรับเวลา 15 สัปดาห์ที่เธอได้เรียนวิชานี้



 

 กลุ่มสาขาการจัดการธุรกิจ ผมคุ้นเคยและจำชื่อนิสิตทั้งกลุ่มได้เกือบหมด....

อภัสรา, วิยกาญจน์, ธัญชนก สามสาวนั่งด้านหน้าติดกับโต๊ะบรรยาย อภัสรารับทำหน้าที่หาเสบียง (ซาลาเปา) ให้เพื่อนเป็นของว่างยามเช้า วิยกาญจน์มีความฝันในเส้นทางสายผู้ประกาศข่าว หวังว่าเขาจะไม่ทิ้งความฝัน  ธัญชนกมักจะนั่งจดเนื้อหาอย่างตั้งใจ

ณัฐพันธุ์ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง, กลุ่มที่ร่วมโครงการประกวดแผนธุรกิจของ TMA สี่ขุนพล มีสอง, วัชรากร, พร้อมพล, ศุภางค์ กลุ่มนี้นั่งหน้าและไม่ชอบเปิดไฟในระหว่างที่เรียน, แถวถัดไปมีจันทิมา ที่ทำคะแนนได้ดีทั้งกลางภาคและปลายภาค ดูเหมือนเขาเรียนแบบทำความเข้าใจมากกว่าท่องจำ คะแนนสอบเลยทำได้ดี, กรกนก มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผม ผมดีใจที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้กรกนกที่จะเดินตามความฝันต่อไป, พัชรีย์ นั่งอยู่กลุ่มเดียวกันแต่พูดน้อยกว่า, ฐิตินันท์คิดว่าการถูกนอกใจเป็นวิกฤตสำหรับเธอ

น้ำทิพย์ตั้งใจเรียนมาก. มีกัญญ์วราและพิจิตราที่เป็นเหมือนฝาแผดกัน นั่งด้วยกันไปติวสอบด้วยกัน, สุดถนอมที่เป็นกลุ่มแฮมคนเดียวที่แยกมานั่งแถวเดียวกับกลุ่มน้ำทิพย์...เป็นห่วงมากตอนสุดถนอมจะไปสัมภาษณ์งานที่ธนาคารกสิกรไทย แต่ไม่รู้เส้นทาง, กลุ่มแฮม สาวทั้ง 8 เบญจมาภรณ์, อรนลิน, ภาสุรี, ณราวรรณ์, กาญจนา ทับหล่อง, อิศราภรณ์, ธนิตรา มักนั่งแถวเดียวกัน, สมชาย สุดหล่อของรุ่นที่คว้ารางวัลความหล่อมาเกือบทุกปี, เบญจวรรณ พรมสงฆ์มักนั่งคู่กับอัจจิมา ดีใจที่อัจจิมากล้าพูดถึงความมุ่งมั่นที่จะทำเกรดให้ถึงเกียรตินิยม, ไอลดาเป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกับแอน, เพชรชมพูเป็นคนขี้อายและมักจะเหม่อลอยในระหว่างเรียนเป็นระยะๆ

ณัฐวดีเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน...พักฟื้นหลายอาทิตย์แต่ก็มาสอบปลายภาคได้เหมือนเพื่อนคนอื่น, กาญจนา เงินแจ้ง...พิสูจน์ว่าความพยายามไม่สูญเปล่า, มณีเพชรมักชอบนั่งหลัง, วรรณวิศาและสุภาวิณีนั่งทางด้านซ้ายมือ, สุพิชญามีปัญหาเรื่องขาซ้นเดินกะเผลกมาเรียนอยู่นาน, อดิพงษ์ ธัญวิชญ์ เป็นคู่หูกัน และมีสถาพรที่อยู่ในเครือข่าย รวมถึงกิตติ ด้วย ดังนั้นเวลาใครไม่มาเรียน ผมต้องอาศัยเน็ทเวิร์คของเพื่อนเหล่านี้มาช่วยกันดึงเพื่อนเข้าห้องเรียน, วิทยาขาดเรียนบ่อย แต่มารู้ภายหลังว่าถ้าเขาจะมุ่งมั่นดันข้าวหลามมรดกของคุณย่าเขาให้เกิด...สามารถทำได้,  เจนจิรา อลิษา ชวิศา และพรชนก อยู่กลุ่มเดียวกัน มักจะนั่งหลังและไม่ค่อยแสดงความเห็นมากนัก, คุณานนท์เปลี่ยนบุคลิกไป จากชั้นเรียนที่ผมเคยสอนเขาสมัยปี 2  เขามักเล่นโทรศัพท์มือถือในระหว่างเรียนจนโดนตำหนิ  น่าเสียดายที่เขาเป็นเด็กเรียนเก่งแต่ดูเหมือนมีปัญหาบางอย่างเลยแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ต่อต้าน

ยังมีนิสิตสาขาบัญชีที่มาเรียนกลุ่มนี้ด้วยเนื่องจากเวลาเรียนชนกับวิชาอื่น  วิษณุทำธุรกิจส่วนตัว...แต่นำประสบการณ์มาตอบข้อสอบไม่ตรงประเด็น..น่าเสียดาย. วรวัฒน์ และรัตนาวดี นั่งแถวหลังสุด และยังมีธนญชัย สาขาการจัดการอีกคนที่มาเรียนด้วย


 



การตรวจข้อสอบที่เป็นข้อสอบเขียนอธิบาย.....เป็นวิธีวัดความเข้าใจของผู้เรียนได้ดีที่สุด เพราะถ้าผู้เรียนเข้าใจ....เขาย่อมสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้ ข้อสอบแบบมีตัวเลือกให้ผู้เรียนเลือกตอบอาจจะใช้เวลาตรวจได้เร็วแต่วัดอะไรไม่ได้มาก  การเดาแล้วได้คำตอบที่ถูกอาจทำให้ผู้สอนเข้าใจผิดว่าผู้เรียนเข้าใจ   แต่การตรวจข้อสอบที่เป็นข้อสอบแบบเขียนอธิบายเป็นการเพิ่มภาระสำหรับผู้สอน เพราะการตรวจข้อสอบแบบเขียนอธิบายสำหรับนิสิตจำนวน 236 คน ใช้เวลามากๆทีเดียว   และในระหว่างตรวจอาจจะหงุดหงิดกับลายมือที่อ่านยากๆของนิสิต หรือบางคนเล่นเขียนด้วยดินสอเส้นบางๆอย่าง HB ซึ่งต้องเพ่งอย่างมากเวลาตรวจในยามค่ำคืน 

 

 

เด็กไทยรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยเพี้ยนๆจนเป็นความเคยชิน....และไม่รู้ว่าคำไทยที่ถูกต้องสะกดอย่างไร ตรงนี้น่าเป็นห่วง  สิ่งดีงาม เอกลักษณ์ของชาติ ที่ควรภาคภูมิใจถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนรุ่นใหม่ 

 ถ้าต่อไปภาษาไทยสะกดเหมือนภาษาลาวทุกประการเพียงเพราะคนรุ่นใหม่คิดกันง่ายๆว่า เอาแค่ออกเสียงเหมือนกันก็ใช้ได้ ไม่ต้องสนใจความถูกผิดของการสะกด....แล้วภาษาไทยจะเหลืออะไรเป็นเอกลักษณ์ให้น่าชื่นชมและภาคภูมิใจ


หลังจากที่ตรวจคะแนนสอบกลางภาคเสร็จ ผมแสดงคะแนนเก็บทั้งหมดให้นิสิตในชั้นเรียนแต่ละกลุ่มดู เพื่อพวกเขาจะได้ทราบว่าตอนนี้เขาทำคะแนนได้เท่าไหร่และจะต้องพยายามอีกเท่าไหร่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้  ถ้าเป็นวิชาอื่น...นิสิตอาจจะเสียขวัญรีบไปถอนรายวิชานี้ทิ้งเพราะว่าคิดง่ายๆแบบบัญญัติไตรยางส์ คะแนนไม่ถึงครึ่งก็คือไม่ผ่าน 

 แต่สำหรับวิชาที่ผมสอน....การวัดผลสัมฤทธิ์ไม่ใช่วัดแค่ตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนท้าย แต่เราวัดความพยายามของผู้เรียนตั้งแต่ต้นจนจบ  ถ้าเขาเข้าเรียนทุกครั้ง....เขาย่อมเข้าใจในเนื้อหามากกว่าคนเก่งแต่อวดดีที่ไม่เข้าชั้นเรียน เพราะข้อสอบไม่ได้ออกในชีทแต่วัดความเข้าใจของผู้เรียน ไม่เข้าเรียนยากที่จะเขียนอธิบายได้  บ่อยครั้งคนที่ทำคะแนนได้น้อยตอนสอบกลางภาค....พยายามกับคะแนนที่เหลือ พลิกมาทำเกรดที่เจ้าตัวไม่เชื่อว่าทำได้สำเร็จ

ผมสอนลูกศิษย์ทุกรุ่นว่า.....บทพิสูจน์ของคำว่า

"ความพยายามของผู้คนไม่จบลงด้วยความสูญเปล่า"

เป็นจริงเสมอ

 

ดูเหมือน....นิสิตหลายๆคนไม่ได้ภูมิใจนักที่ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร  พวกเขาอาจจะมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ไม่ได้โด่งดังมีชื่อเสียงเหมือนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ  ถ้าเพียงเขาเริ่มต้นคิดแบบนี้ก็ผิดแล้ว  ถ้านิสิตคนหนึ่งเลือกเส้นทางในสิ่งที่เขาไม่ได้ชอบ....ชีวิตที่เหลือเขาจะอยู่กับสิ่งที่เขาไม่ชอบตลอดไป และไม่มีความสุข

จริงๆแล้ว....มหาวิทยาลัยนเรศวรไม่ได้เลวร้ายอย่างที่บางคนคิด                                      

ตรงกันข้ามมหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังสร้างพวกเขาให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในอนาคต

เพียงแต่กิจกรรมที่ส่งเสริมความภาคภูมิใจในสถาบัน....ถูกเพิกเฉย

กิจกรรมที่รวมความเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร...ไม่ได้ถูกกระทำขึ้น ชีวิต 4 ปีของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมีแค่ชั้นเรียนกับหอพักเท่านั้น จบไปแล้วก็ไม่รู้สึกผูกพันกับสถาบัน

 

กิจกรรมร้องเพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงถูกจัดขึ้นในชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้นิสิตเขาเข้าใจความหมายของคำว่า "วัฒนธรรมองค์กร" สำหรับนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรคืออะไร และสร้างความภาคภูมิใจที่ได้เรียนที่นี่......ซึ่งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรียนที่ม.นเรศวรจะไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกตอนที่ได้ร้องเพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยนเรศวรว่ามันยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างไร

 

 

 

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ผมแวะไปที่คณะฯ เมื่อเปิดชั้นจดหมายพบว่ามีโปสการ์ดที่ถูกส่งจากนิสิตภาคพิเศษหลายๆคนตอนที่พวกเขาเดินทางไปทัวร์ประเทศลาว  ซึ่งทัวร์ไปลาวเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเลือกที่นิสิตกลุ่มนี้ลงเรียน  ข้อความที่เขียนในโปสการ์ดแม้จะเป็นข้อความคล้ายๆกันแต่คุณค่าอยู่ที่ตัวโปสการ์ที่ผู้ส่งตั้งใจส่งมาให้ผู้รับเพื่อเล่าเรื่องราวของการเดินทางคราวนี้....  บันทึกการเดินทางของพวกเขาผ่านโปสการ์ดเพียงแผ่นเดียวทำให้คนรับอารมณ์ดี  นี่อาจจะเป็นเสน่ห์ของโปสการ์ด ข้อความสั้นๆ เปิดเผย พร้อมภาพทิวทัศน์ของสถานที่เหล่านั้น แทนความระลึกถึงกัน

 

 


แล้ววันสอบปลายภาคก็มาถึง......กลุ่มนิสิตภาคพิเศษสอบเสร็จไปก่อนหน้านั้น แต่นิสิตภาคปกติกว่าจะมาสอบปลายภาคก็วันคริสต์มาสของปีพ.ศ. 2556  ห่างจากวันปิดคอร์สเรียนร่วม 1 เดือน   นักเรียนที่เข้าสอบร่วม 167 คน ไม่น้อยเลย  ต้องใช้อาจารย์คุมสอบ 4 คน ห้องสอบ QS4401  เป็นห้องใหญ่ แอร์เย็น 




วันนั้นเป็นวันคริสตฺ์มาส......เลยอยากสร้างบรรยากาศของการสอบแบบผ่อนคลายบ้าง  วันนั้นผมเลยเอาหมวกซานตาคลอสมาสวมในระหว่างคุมสอบ  นิสิตหลายคนพอเข้าห้องสอบเห็นผมสวมหมวกซานตาคลอส...แอบยิ้ม หัวเราะ เพราะไม่คิดว่าอาจารย์เอาจริง Smiley


ข้อสอบปลายภาคใช้เวลาเขียนอธิบาย....3 ชั่วโมง มีการเบรกให้นิสิตได้รีแล็กซ์ภายหลังจากผ่านไป 1 ชั่วโมง  นิสิตคุ้นเคยกับการสอบวิชาที่ผมสอนแล้ว  ในระหว่างเบรกจะมีการสนทนาเล่นๆระหว่างผู้สอนกับผู้สอบ  ข้อสอบปลายภาคคราวนี้....พลิ้วกว่าที่ผ่านมา เพราะมีเหตุการณ์ล่าสุดที่สามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียนและนำมาออกข้อสอบได้  นิสิตหลายคนไม่สนใจข่าวคราวบ้านเมืองและเรื่องรอบตัว....อาจเกิดอาการมึนๆงงๆในระหว่างทำสอบ....SmileySmiley   หลายคนไปเขียนระบายในเฟวบุ๊วขอบคุณพ่อแม่ที่บังคับให้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ไม่อย่างนั้นคงทำสอบปลายภาควันนี้ไม่ได้ 





ขอบคุณกล้องที่ติดมากับโทรศัพท์มือถือ Galaxy S4 ของ Samsung ทำให้มีรูปของกรรมการที่คุมสอบวันนั้นทั้ง 4 คน  ปกติคนถ่ายภาพจะเป็นคนเสียสละไม่มีหน้าในรูปที่ถ่าย




 

 

 พวกเราคุมสอบผ่านไป 2 ชั่วโมงกว่า เหลือนิสิตที่ยังคงทำสอบจำนวนที่เห็นในรูป  แต่สอบปลายภาคคราวนี้ไม่มีใครนั่งทำสอบจนครบ 3 ชั่วโมง

 

ตอนตรวจข้อสอบ.....เหมือนอย่างที่เดาเอาไว้  ผมอารมณ์ดีที่ได้อ่านข้อความอวยพรวันคริสต์มาสของลูกศิษย์บางรายที่เขียนผ่านกระดาษคำตอบ แต่ในความอารมณ์ดีของลูกศิษย์รายนี้แฝงอารมณ์หงุดหงิดกับข้อสอบปลายภาควิชานี้ที่ต้องงัดความพยายามอย่างมากเพื่อทำคะแนนให้ได้ตามที่ต้องการ


ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะตรวจข้อสอบปลายภาคของทุกคนจนเสร็จและออกเกรดให้ทันตามกำหนดที่มหาวิทยาลัยกำหนด......

 

หลายคนพอใจกับเกรดที่ทำได้วิชานี้  หลายคนตระหนักว่า "ความพยายามของผู้คนไม่จบลงด้วยความสูญเปล่า" เป็นจริง จากคะแนนเก็บที่แย่กลายมาเป็นเกรดที่ดีเกินคาดเพราะว่าพยายามอ่านหนังสืออย่างเต็มที่ก่อนสอบ แล้วผลลัพธ์ก็สะท้อนออกมาจากเกรดที่ได้ สมกับความพยายาม  หลายคนตกใจที่คะแนนสอบปลายภาคที่น้อยจนแทบไม่น่าเชื่อ  มีการอธิบายหลังไมค์ว่าการตอบไม่ตรงประเด็นส่งผลทำให้คะแนนออกมาเป็นแบบนี้  ผมเองก็เสียดายแทน ได้แต่ปลอบใจลูกศิษย์ หรือบางคนทำคะแนนสอบปลายภาคได้สูงมาก แต่คะแนนโดยรวมไม่ถึงตามเกณฑ์ที่จะได้ A ขาดเพียงไม่กี่ จุด (ไม่ถึง 1 แต้มด้วยซ้ำ)  เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับนิสิตหลายๆคนในหลายรุ่นที่ผ่านมาเช่นกัน  เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก   แต่การตัดสินให้คะแนนต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคกัน ถ้าจะเพิ่มคะแนนให้กับคนหนึ่งเพียง 1 แต้ม ก็ต้องเพิ่ม 1 แต้มให้กับคนที่เหลือในกลุ่มทั้งหมดเหมือนกัน

 

เกรดในวิชาที่เรียน...บางครั้งไม่สำคัญเท่ากับว่า  ผู้เรียนสามารถนำเอาเนื้อหาที่เรียนไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน  ไม่สำคัญว่าจะได้เกรดอะไรจากวิชานี้ แต่ถ้าลูกศิษย์สามารถเอาเนื้อหาที่เรียนไปใช้ได้จริงในเรื่องของงานและชีวิต ถือว่าพวกเขาได้ A ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหมายมากกว่า





 

ลูกศิษย์วิชากลยุทธ์ทางธุรกิจจำนวน 236 รายที่ผมสอน....สอบผ่านวิชานี้ไปเรียบร้อยแล้ว
หลายคนกำลังก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน เป็นเจ้าของกิจการ เป็นพนักงานตามหน่วยงานต่างๆ หวังว่าพวกเขาจะเลือกเส้นทางที่ถูกต้องและอวยพรให้พวกเขาประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เหมาะกับตัวเขา

พวกเขาคือผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของสถาบันแห่งนี้ที่ชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร

และมีครูที่เคยสอนพวกเขาในวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ  ชั้นปีสุดท้ายของการเรียนที่สถาบันแห่งนี้

 

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี...วันนึง....พวกเขาย้อนกลับมาอ่านและดูภาพเรื่องราวสมัยเขาเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ 

 

อาจจะ คิดถึง...ชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 


































 

Create Date : 03 เมษายน 2557    
Last Update : 10 เมษายน 2557 16:33:18 น.
Counter : 2223 Pageviews.  

นิสิตปริญญาตรีที่เรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยนเรศวรรุ่นที่ 4 ที่ผมสอน

    วิชาแรกที่เขามอบหมายให้ผมสอนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรคือวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ...

    ยังจำได้ว่าชั้นเรียนแรกที่สอนตรงกับวันจันทร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓  พอเข้าไปสอนครั้งแรก นิสิตวิชาเอกสาขาการจัดการธุรกิจเป็นชั้นเรียนแรกที่เข้าไปสอน....นิสิตยังรู้สึกแปลกๆกับกฎเกณฑ์ของชั้นเรียนที่ผมกำหนดขึ้นมาซึ่งแตกต่างไปจากชั้นเรียนอื่นที่พวกเขาเคยเรียนมา และผมยังเป็นอาจารย์ใหม่สำหรับลูกศิษย์...

    หลังจากที่คุ้นเคยกับลูกศิษย์...เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดร. ชาตรี ปรีดาอนันทสุข เป็นอาจารย์ผู้สอนสำหรับลูกศิษย์....มันคือเรื่องราวของความทรงจำที่ดีสำหรับลูกศิษย์หลายๆคนสำหรับชีวิตการเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร  


    เผลอแผล็บเดียว.....ปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ ๔ ที่ผมรับผิดชอบสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร


     กลุ่มแรกที่ผมมีโอกาสสอนเป็นนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คู่ขนาน ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  พวกเขาเรียนเทอม 1/2556  เร็วกว่ารุ่นน้องปี 3 ขึ้นปี 4 ที่ไปฝึกงานในช่วงเวลาเดียวกัน  กลุ่มลูกศิษย์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คู่ขนานสาขาการจัดการธุรกิจกลุ่มนี้...ผมเคยสอนวิชาพฤติกรรมองค์การและภาวะผู้นำมาแล้วเมื่อ ๒ ปีก่อน จึงคุ้นเคยระดับหนึ่ง  รุ่นนี้มี ๑๙ คน จึงไม่ยากที่จะจำชื่อพวกเขาได้ทั้งหมด


    กฤติยา แสวงรุจิธรรม ผู้หญิงผิวขาวหน้าหมวยจากอุตรดิตถ์ที่ตั้งใจเรียนมาก เธอเป็นแฟนคลับคอยติดตามความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ค "วิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ ม.นเรสวร" อย่างสม่ำเสมอ  เป็นหนึ่งในกองเชียร์คนสำคัญ

   กาญจนา ศรีบุบผา สาวจากเมืองพิจิตร....ดูเหมือนจะผิดหวังกับผลการเรียนที่ผ่านมา  เทอมนี้เธอจึงตั้งใจและมุ่งมั่้นกับการเรียนมากขึ้น  พยายามยกมือตอบบ่อยๆ กล้าที่จะตอบโดยไม่สนใจว่าจะผิดหรือถูก  กาญจนามักจะนั่งเรียนใกล้กับชลิดา

   เจตรินทร์  รองพล  หนุ่มเมืองตรังที่รักการนอนเป็นชีวิตจิตใจ  บ่อยครั้งที่ไม่เข้าเรียนเพราะนอนเพลินจนเกินเวลา  

   ชลิดา ฤทธิ์แก้ว สาวน้อยตัวเล็กที่มีน้ำเสียงหวาน....เธอพยายามแสดงความคิดเห็นอยู่บ่อยๆในชั้นเรียน    เธอตั้งใจเรียนมากสังเกตจากสีหน้าในระหว่างที่เรียน

   ฐาปกรณ์ สมบูรณ์  เป็นประธานรุ่น เขาทำกิจกรรมหลายอย่างจนส่งผลต่อการเรียน  มีอยู่หลายช่วงที่ฐาปกรณ์ไม่เข้าชั้นเรียน ผมสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขาเพราะอ่านจากคีย์เวิร์ดที่เขาเขียนท้ายชั่วโมงทำให้รับรู้ถึงปัญหาว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับชีวิตเขา  เขาเล่าให้ฟังว่าเขาผิดหวังในช่วงนี้...ผมปลอบและให้เขามองไปที่อนาคตโดยปล่อยวางกับสิ่งที่ไม่เที่ยงในปัจจุบันและอดีต

   ไชยวัฒน์ เกษาพร  มีฝีปากร้ายที่พูดจาสองแง่สองง่ามชวนให้คิดไปไกล....

    ณัฐธิดา สุริโย  มักแต่งชุดนิสิตชายมาเรียน มีอยู่วันนึงใส่กระโปรงมาเรียน...ทำให้รู้สึกว่าวันนั้นคือความแตกต่างอย่างแท้จริง  เธอขอบคุณผมที่ทำให้เธอสามารถมีโอกาสได้ใส่ครุยรับปริญญาตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับผม

     ธนพร ศิริผล มักจะขาดเรียนบ่อยๆ  เธอเป็นคนนครสวรรค์....ภาคภูมิใจในการเป็นนักสู้ตัวจริงของครอบครัว ไม่ว่าจะมีปัญหาใหญ่แค่ไหนพ่อแม่เธอไม่เคยหนีปัญหาสมกับเป็นเถ้าแก่ในดวงใจของเธอ

     เบญจพร โคตรแก้ว  มักจะเหม่อลอยในระหว่างเรียนหลายครั้งเพราะรู้สึกแย่กับวิชาในคณะที่พึ่งสอบผ่านไป....แต่พลอยทำให้รู้สึกหดหู่ในระหว่างที่เรียนวิชาที่ผมสอน

     ปาริชาติ สุภาษิ  เป็นคนเรียนเก่งแต่พูดน้อยมาก....จนได้ฉายาว่า "แม่พิกุลทอง" เพราะกลัวว่าพูดแล้วใบพิกุลจะร่วงออกมาจากปากเหมือนในวรรณคดีเรื่อง "พิกุลทอง"

     พรรณพร กะตะจิตต์  เป็นคนอารมณ์ดีเริงร่า ใบหน้าคล้ายอัมราจนคิดว่าเป็นฝาแฝดกัน

      พิจิตรา เพชรรัตน์  เป็นคนเรียนเก่งคนหนึ่งแต่ดูเหมือนในใจคิดอะไรอยู่...คำพูดทีเธอเขียนเอาไว้ในคีย์เวิร์ดดูเหมือนเธอต่อต้านกฎเกณฑ์บางอย่างอยู่
      ชญานิศวร์  ประเสริฐกุลไชย  สาวสุพรรณที่เป็นคนพูดน้อย  เธอตั้งใจและมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเพื่อน

       วัลยา ลาคำ เป็นคนอารมณ์ดี เสียงหวานๆ แต่มักจะอธิบายเรื่องต่างๆให้เข้าใจได้ค่อนข้างลำบาก
ไม่รู้ว่าใครไปตั้งฉายาให้เธอว่า "ซิ้ม"


        วิลารัตน์ พวงมณี  เป็นเป้าหมายให้เพื่อนในชั้นเรียนแซวเรื่องความรักต่างวัยได้บ่อยๆ

        ศิริรัตน์ ยศปัญญา  ชอบนั่งหลังกลุ่มเดียวกับไชยวัฒน์ และฐาปกรณ์

        สิรีพัชร อานพรหม   มีความคล้ายกับศิริรัตน์ จนผมเข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน

        สุกัญญา กอสัมพันธ์ มักจะนั่งเงียบๆไม่ค่อยแสดงความเห็นบ่อยนัก เป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแกล้งเขียนภาษาไทยเพื้ยนๆของคนไทยรุ่นใหม่  เพราะเธอไม่เห็นด้วยที่จะใช้ภาษาไทยเพี้ยนๆแบบนั้น

         อัมรา ทองกลิ่น  มีความคล้ายกับพรรณพร จนคิดว่าเป็นฝาแฝดกัน




กิจกรรมระหว่างที่เรียนในชั้นวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจพยายามปลูกฝังแนวคิดการทำงานเป็นทีม  การกล้าที่จะแสดงแนวคิดใหม่ๆ










วันปิดคอร์ส.....ไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้านั้น.....มีทั้งน้ำตา เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของลูกศิษย์ สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจตลอด ๑๕ สัปดาห์   ภาพสดใสของเหล่าลูกศิษย์ที่ ๑๙ คนถูกบันทึกเอาไว้เป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเหล่านี้คือลูกศิษย์ที่ผมสอน ได้ถ่ายทอดแนวคิด  ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทั้งทางธุรกิจและการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ให้แก่เหล่าลูกศิษย์ทั้งหลายเหล่านี้ หวังว่าพวกเขาจะหยิบจับเอาสิ่งที่ผมสอนไปนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเขาเอง รู้จักเลือกเส้นทางที่ถูกต้องและก้าวหน้าในเส้นทางที่พวกเขาเป็นคนเลือกเอง







ภาพลูกศิษย์กำลังคร่ำเคร่งกับการสอบปลายภาคอาจจะเป็นภาพชินตา....แต่ความพยายามของเหล่าลูกศิษย์ในการทำสอบก็ไม่ได้สูญเปล่า  มันมีผลลัพธ์ตอบกลับมา







ผมตรวจข้อสอบของลูกศิษย์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คู่ขนานทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยและออกเกรดได้ก่อนหมดระยะเวลาส่งเกรดของมหาวิทยาลัยสำเร็จ   แม้ว่าจะยุ่งอย่างมากกับงานที่ต้องทำหลายๆอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน  แต่ก็มีความสุขในการเป็นผู้สร้างเมล็ดพันธุ์ความคิดที่มีคุณค่าให้แก่โลกใบนี้ และสังคมไทย


เทอม 2/2556 ผมรับผิดชอบสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับนิสิตปริญญาตรีภาคปกติจำนวน 3 กลุ่มและ 1 กลุ่มสำหรับนิสิตภาคพิเศษ  รวมจำนวนนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ทั้งสิ้น 241 คน ถือว่าเยอะมากทีเดียว  แต่ความตั้งใจที่จะให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้เท่าเทียมกันเลยตัดสินใจที่จะรับผิดชอบสอนคนเดียว


วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ คือวันที่ผมต้องมาสอนชดเชยให้แก่ชั้นเรียนที่งดไป....เหล่านิสิตที่เห็นในรูปคือนิสิตทั้งหมดที่ลงเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งมีจำนวน 241 คน                                                    






ชั้นเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๖ ในภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๖ เดินทางมาได้เกือบครึ่งทางแล้ว....สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่สอน ออกข้อสอบ ออกเกรดแล้วจบ  แต่อยู่ที่การทำให้ลูกศิษย์สามารถนำเอาความรู้ที่เรียนจากในห้องเรียนไปใช้กับสถานการณ์จริงและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง










 

Create Date : 22 กันยายน 2556    
Last Update : 23 กันยายน 2556 16:39:19 น.
Counter : 1995 Pageviews.  

My Professor advisor's last lecture at Keio University, Tokyo, Japan

        ผมได้รับแจ้งจากกลุ่มนักเรียนเก่าที่เคยเรียนชั้นเรียนสัมมนาของศาสตราจารย์ ดร. ฮิโรคูนิ โซกาว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของผมสมัยเรียนในญี่ปุ่นว่า  ทางศิษย์เก่ากำหนดจัดงานการบรรยายครั้งสุดท้ายของอาจารย์โซกาว่าในวันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่อาคารทิศเหนือ มหาวิทยาลัยเคโอ  เนื่องจากอาจารย์โซกาว่าตัดสินใจว่าจะยุติบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว   ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์เกษียณมาหลายปีจากมหาวิทยาลัยเคโอ  อาจารย์ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเซโจ จนกระทั่งปีนี้ครบ ๗๐ ปี อาจารย์จึงตัดสินใจเกษียณจากอาชีพมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

     ( I was informed by group of Keio University Alumni who had ever studied under supervision of my Professor Advisor Prof. Dr. Hirokuni SOGAWA that my Professor Advisor decided to retire from teaching at university. Last lecture by Professor Dr. SOGAWA would be held on May 25, 2013 at North Hall, Keio University.)

    งานบรรยายครั้งสุดท้ายของอาจารย์ที่ปรึกษาของผมทำให้ผมมีโอกาสได้กลับไปเยือนมหาวิทยาลัยเคโออีกครั้ง 

     (Due to my Professor Advisor's Last lecture, I had a chance to go back to Keio University again.)

    มหาวิทยาลัยเคโอเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น  ผู้ก่อตั้งคือ ยูคิจิ ฟูกูซาว่า ผู้อุทิศตัวเองเพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ประเทศที่ทันสมัย  ในสมัยที่เอเชียเสียเปรียบชาติตะวันตกและถูกรุกรานโดยมหาอำนาจตะวันตก  ท่านฟูกูซาว่าได้ทุ่มเทเพื่อให้คนญี่ปุ่นพัฒนาตนเอง พัฒนาชาติ เพื่อจะได้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก ไม่ถูกชาติตะวันตกเอาเปรียบอีกต่อไป ท่านเป็นคนแรกที่แปลดิกชันนารี อังกฤษ-ญี่ปุ่น เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีโอกาสได้ใช้และพัฒนาภาษาอังกฤษ  ท่านกระตุ้นและปลุกเร้าให้คนญี่ปุ่นหันมาพัฒนาชาติผ่านงานเขียนของท่านจำนวนมาก  ด้วยคุณูปการที่ท่านฟูกูวาว่าได้ทำไว้กับประเทศญี่ปุ่น  คนญี่ปุ่นจึงยกย่องและเชิดชูท่าน  ในธนบัตรญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบันจึงมีภาพของท่านในธนบัตรมูลค่า 10,000 เยน

   (Keio University is the oldest university in Japan. It was founded by Yukichi FUKUZAWA who devoted himself to make Japan become modernization. When the West expanded their empire in Asia, they took advantage from Asia and disparity was common for any country in Asia. FUKUZAWA devoted himself to develop Japan to abolish disparity from the West. He was the first one who translated English-Japanese dictionary. He urged Japanese to develop nation through his many books. Because he contributed to modernization in Japan, Japanese admire him and his face appears in 10,000 Yen Banknote.)

    ผมมีโอกาสเจออาจารย์โซกาว่าก่อนจะเข้าไปหอประชุม  ผมเข้าไปทักทายอาจารย์ซึ่งทำให้อาจารย์ตกใจและอึ้งไปเพราะไม่คาดมาก่อนว่าผมจะมางานบรรยายครั้งสุดท้ายของอาจารย์  อาจารย์ถามผมว่าผมมีธุระอื่นหรือเปล่าที่มาญี่ปุ่น  ผมตอบกลับไปว่า "ผมมาญี่ปุ่นเพื่อมาร่วมงานบรรยายครั้งสุดท้ายของอาจารย์ครับ"  เห็นอาจารย์อึ้งไปที่ได้ยินแบบนั้น....

    ผมอาจจะไม่ใช่ศิษย์โปรดปรานของอาจารย์แต่เพราะอาจารย์ช่วยเหลือผลักดันจนกระทั่งวิทยานิพนธ์ของผมผ่านการพิจารณาของสภาคณาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยคณะพาณิชยฺ์ศาสตร์และสำเร็จการศึกษาได้ ดร. สมความตั้งใจในการมาเรียนที่ญี่ปุ่น  ดังนั้นจึงถือว่าอาจารย์มีบุญคุณต่อผม

    (I met my Professor Advisor before I entered North Hall Auditorium. I greeted him and he looked surprised to see me because perhaps he did not expect that I might attend his last lecture. He asked me whether I had other visit in Japan then I took this chance to attend his last lecture. I replied to him that I came to Japan for his last lecture purpose. He was stunned by my words...

     I might not be his favorite student for his seminar class but he helped me a lot to push my doctoral dissertation to be approved by Committe of Graduate school of Business and Commerce, Keio University then I finally graduated as I wished. Therefore, I never forget his benevolence. )

     การบรรยายเริ่มตรงเวลา ๑๓.๓๐ น. อาจารย์หยิบประเด็นความได้เปรียบเชิงการแข่งขันขึ้นมาพูด แล้ววิจารณ์ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงถดถอยเรื่องความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในระดับโลกไป สูญเสียความเป็นผู้นำในการแข่งขันสินค้าด้านไอทีระดับโลกให้กับเกาหลีใต้ การที่ผู้บริหารองค์กรญี่ปุ่นได้รับประสบการณ์แต่เฉพาะในสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงมีส่วนต่อการที่มีความคิดและความเชื่อที่จำกัดเฉพาะแนวคิดแบบญี่ปุ่น ซึ่งตรงนี้กลายเป็นอคติและทำให้ก้าวสู่การเป็นโลกาภิวัฒน์ที่ค่อนข้างลำบาก  แบบของการจัดการแบบฝรั่งตะวันตกมีความแตกต่างไปจากการจัดการแบบญี่ปุ่น แต่ใช่ว่าแนวคิดทั้งสองขั้วจะถูกต้อง  บางทีแนวคิดการจัดการที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้น่าจะเหมาะสมมากกว่า  การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้นั้น...ควรเน้นที่การพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น ในแต่ละจังหวัดให้มีการพัฒนาเติบโจ เพราะเมื่อทุกจังหวัดมีการเจริญเติบโตจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

     ( The last lecture started at 13:30 hrs. on time. Professor SOGAWA picked up the issue about competitive advantage to lecture and criticized why Japan lost her competitive advantage in the world competition. Japan lost her leadership on IT products to South Korea. Perhaps, Japanese Executives are familiar with Japanese society and culture then they focus only typical Japanese idea styles, as a result, it is hard for Japanese companies to become Globalization. Western Management Style is different from Japanese Management Style. It does not mean that both of these styles is good enough. Perhaps, the good management style is between both polars.  To develop country, we should start to develop local economy in each Prefecture when economy for each Prefecture is strong, it will lead to develop economy of the whole nation.)

   ภายหลังการบรรยายเสร็จสิ้นลง มีอดีตศิษย์เก่าที่เคยเรียนกับอาจารย์โซกาว่าที่ตอนนี้ไปทำงานยังองค์กรต่างๆซักถาม   อาจารย์ยังคงจำชื่อนิสิตที่เคยเรียนกับอาจารย์เมื่อหลายปีก่อนได้


   (After lecture finished, there were some students who had ever studied with Prof. Sogawa to ask some questions.. Professor Sogawa still remembered their names even if they had studied with him long time ago.)

   การบรรยายเสร็จสิ้นตามกำหนดการคือ ใช้เวลาในการบรรยาย 1 ชั่วโมง  ผมไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงที่จัดตอนเย็น  มีโอกาสถ่ายภาพกับอาจารย์โซกาว่าร่วมกับอดีตบัณฑิตปริญญาตรีที่เคยเรียนสัมมนาวิชาอาจารย์โซกาว่า ผมเคยเข้าชั้นเรียนสัมมนาปริญญาตรีชั้นเรียนของพวกศิษย์เก่าเหล่านี้ในฐานะพี่เลี้ยงช่วยสอนจึงคุ้นเคยกับน้องๆเหล่านี้

   อาจารย์ถามภายหลังถ่ายภาพเสร็จลงว่าผมกลับเมืองไทยเมื่อไหร่  อาจารย์พูดต่อไปว่า  "รีบแต่งงานเถอะ"  ดูเหมือนอาจารย์อาจจะห่วงใยที่ยังเห็นผมเป็นโสดอยู่ ผมพูดกับอาจารย์ว่า ถ้าผมแต่งงานเมื่อไหร่ ผมจะแจ้งให้อาจารย์ทราบ

    (The last lecture took one hour as arranged. I did not attend party after this lecture. I had a chance to take pictures with Prof. Sogawa with  former undergraduate students of Prof. Sogawa's seminar classes. I had attend their classes as a mentor then I am familiar with them.

    Prof. Sogawa asked me when I returned to Thailand. Then, he told me that it's time for me to decide to marry. It seems that he might worry to see that I have not married yet. I told him when I marry, I would inform him definitely.)

  การมาเยือนญี่ปุ่นคราวนี้...ผมมีโอกาสได้ไปพบกับคุณยายเท็ตสึ โอกาดะ ครั้งล่าสุดที่มีโอกาสได้เจอคุณยายโอกาดะก็ตอนมาร่วมพิธีรับปริญญาบัตรเมื่อ ๕ ปีก่อน  มาเจอคราวนี้คุณยายโอกาดะยังแข็งแรง แม้จะมีอายุ ๙๕ ปีแล้วก็ตาม ไม่น่าเชื่อเลยว่าใบหน้าของคุณยายยังคงเหมือนเดิมไม่ต่างไปจากเมื่อ ๕ ปีก่อนที่เจอกัน  คุณยายไม่มีอาการหลง อาจจะจำบางเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ แต่ตอนที่เจอกันครั้งนี้...คุณยายจำได้ว่าผมเป็นใครและความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงสนิทสนมเหมือนเดิม

   การได้เจอและรู้จักคุณยายครั้งแรกอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ....นิสิตต่างชาติที่หลงใหลในการถ่ายภาพธรรมชาติขอถ่ายภาพดอกบ๊วยภายในบ้านคุณยายเป็นที่ระลึก...นำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างคนสองคน   อวยพรให้คุณยายเท็ตสึมีสุขภาพแข็งแรงอยู่จนถึงวัย ๑๐๐ ปี

   (Visiting Japan this time, I had a chance to meet Testu OKADA. I met her last time when I attended commencement, it was 5 years ago. For this time when I met her, I felt that she was not different from the latest  time when I met her. It is unbelievable to find that her face was not different from the last time I met her.  She might not remember somethings but she still remember me and our good relationship.

    I first met and knew her by chance. I took pictures of Japanese Apricot outside her house, she felt hesitate to talk with me. However, after our conversation started, she changed her attitude towards me, good relationship between us has developed since then. Now she is 95. I wish her healthy and will be alive at 100s.)


    นอกจากนี้การได้ไปญี่ปุ่นครั้งนี้ผมยังมีโอกาสได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่เป็นนักเรียนต่างชาติซึ่งเคยเรียนชั้นเรียนหลักสูตรปริญญาเอกด้วยกัน   ลี ชิงเจี้ยน และ ชิน มิวา  ทั้งคู่เป็นนิสิตในความดูแลของอาจารย์อิมากูจิ ตอนนี้ทั้งสองคนภายหลังจากสำเร็จการศึกษาได้ประกอบอาชีพในญี่ปุ่นเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย    ไม่ได้เจอทั้งสองคนนานมากแล้ว  การได้เจอเพื่อนเก่าเป็นความสุข

    ( For this time, I also met my old friends who were classmates during Doctoral course at Keio University.  Li Xinjian and Shin Meewha, both of them were students under supervision of Professor Dr. Tadamasa Imaguchi. Now, they are working as University Professors in Japan.  It has been long time ago when I last met them.  It's good time to meet old friends again.) 

   ลี ชิงเจี้ยนเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งในญี่ปุ่นของผมระหว่างที่เรียนหลักสูตรปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคโอ  เขาช่วยเหลือผมในหลายๆเรื่อง คอยเป็นกำลังใจและแนะนำวิธีการปรับปรุงเนื้อหาวิทยานิพนธ์จนเดินถูกทางและเป็นเนื้อหาที่สมบูรณ์  เขาจึงเป็นคนทีรู้จักผมดีมากๆ

   Li Xinjian is one of my close friends in Japan during my doctoral course at Keio University. He helped me a lot and suggested me how to improve my doctoral dissertation. He knew me very well.

   ชินถามผมว่า อะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับผมในยามที่รู้สึกแย่ในระหว่างเรียนหลักสูตรปริญญาเอก (เพราะว่านักเรียนหลักสูตรปริญญาเอกส่วนมากจะถอดใจและเลิกเรียนเมื่อเจอมรสุมในชีวิตหนักๆ  มีจำนวนน้อยมากที่จะกล้าและฝ่าฟันจนเรียนจบและได้คำว่า "ดร." นำหน้า)  สำหรับเธอการที่เธอมีครอบครัว เมื่อรู้สึกท้อถอยยังมีสามีและลูกที่คอยอยู่เคียงข้าง  แต่สำหรับผม...ผมอยู่คนเดียวตามลำพังยังไม่มีครอบครัวในระหว่างที่เรียนหลักสูตรปริญญาเอกในญี่ปุ่น  

    ผมตอบชินไปว่า  บางทีการที่ผมศรัทธาเลื่อมใสในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา (ไม่ใช่ศรัทธาแบบงมงาย แบบสวดมนต์อ้อนวอนขอให้ช่วยเหลือ) หลักของพุทธศาสนามันกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตผมไม่เคยคิดยอมแพ้

   Shin asked me what was the main factor to support me when I was in the hard time during Doctoral course. For her, Family was the main factor to support her when she was despaired. However, I was alone when I studied Doctoral course. I replied that perhaps Buddhism which I have faith in the Principle of Real Buddhism. No matter what happen in my life, I never give up.

    ลี กล่าวว่า 

 "ชาตรีเป็นคนที่มีหลักการและยึดมั่นในหลักการนั้น  ภายหลังเขาตัดสินใจเรื่องใดไปแล้ว เขาไม่เคยเปลี่ยนใจ ผมชื่นชมในการที่เขาไม่เคยยอมแพ้หรือเลิกล้มความตั้งใจสักครั้งในสิ่งที่เขาตัดสินใจทำลงไป  บางที่เขาคงได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากหลักของพุทธศาสนา"

    Li said that "Chatree was the one who has his own integrity and he is stick to it. After he has made a decision, he never change his mind. I appreciated that he never give up. Perhaps, Fundamental Buddhism is a major influence on his thought."

    ชินถามผมว่า "เมื่อไหร่ผมจะแต่งงาน" ภายหลังจากที่เธอทราบว่าผมมีแฟนแล้วแต่ยังไม่แต่งงาน  ผมตอบไปว่า  "สำหรับผม การแต่งงานไม่ใช่เพื่อสืบพันธุ์มีลูกอย่างที่คนส่วนมากเขาคิดกัน  ผมจะแต่งงานกับคนที่ผมมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตสมรสด้วย"  แฟนผมเธออาจจะไม่ใช่ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบแต่เธอมีลักษณะนิสัยหลายอย่างที่ผมชื่นชม (ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ผมควรจะเปลี่ยนใจไปค้นหาคนอื่นอีกต่อไป)  แม้ว่าบางครั้งพฤติกรรมของเธอจะสร้างความน่ารำคาญใจขึ้นมาอันเนื่องมาจากการที่เธอยังมีความเป็นเด็กอยู่...แต่ผมก็ให้อภัยเธอได้เสมอ 

     การที่คุณรักใครซักคน...คุณสามารถให้อภัยคนๆนั้นได้เสมอ (แม้แต่บางเรื่องจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะให้อภัยได้ก็ตาม)

     เมื่อผมลงตัวเรื่องงานและชีวิต...ผมจะตัดสินใจแต่งงานกับเธอ

    Shin asked me when I will marry. I replied her that for me, marriage is not for children to reproduction as most people think. I will marry one who I am happy to be with. My girl friend may not be the perfect one but she has many characteristics which I adore. Sometimes I found her irritating because she is too young but I always forgive her. When you love someone, you can forgive her all the times. When I can settle my life and my work, I will decide to marry her.

   การได้กลับมาเยือนมหาวิทยาลัยเคโออีกครั้ง...มันทำให้ผมมีโอกาสระลึกถึงความหลังสมัยผมเรียนที่นี่....

   โต๊ะอ่านหนังสือในอาคารหอสมุดใหม่ชั้น ๔  โต๊ะหมายเลข ๔๐๒๒ คือ โต๊ะประจำที่ผมมักจะมานั่งอ่านหนังสือ อ่านบทความทางวิชาการ นั่งเขียนงาน  บ่อยครั้งที่ผมนั่งอ่านที่โต๊ะตัวนี้ตั้งแต่ ๙ โมงเช้า ไปจนถึงเวลาที่หอสมุดปิดคือประมาณ ๓ ทุ่ม  นั่งอ่านที่โต๊ะตัวนี้ตั้งแต่ต้นฤดูหนาวทีมีหิมะปกคลุมต้นสนที่อยู่ข้างๆหอสมุด  ผ่านฤดูใบไม้ผลิที่ใบของต้นแปะก๊วยเริ่มงอกออกมาจากก้านเป็นสีเขียวสดๆ เป็นสัญญาณบอกว่าภาคการศึกษาใหม่เริ่มต้นแล้ว  ฤดูร้อนที่แสนจะอบอ้าวในญี่ปุ่น นั่งอ่านหนังสือโดยมีเสียงจั๊กจั่นส่งเสียงระงมจากด้านนอกเพื่อบอกให้รู้ว่าอากาศร้อนในญี่ปุ่นมาถึงแล้ว  แล้วใบไม้ก็เริ่มเปลี่ยนสีสัน อากาศกลับมาเย็นอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง นั่งอ่านหนังสือไปดูสภาพการเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติทั้ง ๔ ฤดูในญี่ปุ่น

   It's nostalgic to come back to Keio University.

   Desk No. 4022 in New Library was the one which I often sit down here and spent my time reading Textbooks, Academic articles, writing my thesis.  I often sit on this desk and read books from 9:00 hrs - 21:00 hrs....From Early Winter through Spring and from Summer to Fall, I spent my time reading books in this library whereas I saw beautiful seasons change in Japan. 

 มาคราวนี้ผมมีโอกาได้แวะไปอาคารหอสมุดเก่า  บนชั้นที่วางวิทยานิพนธ์ของเหล่าบัณฑิตวิทยาลัย ผมค่อยๆค้นหาวิทยานิพนธ์ของผมจนเจอ

 (I visited the Old Library and searched dissertations of Graduate students on shelf. Finally, I found my dissertation.) 

   วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต ในหัวข้อ "การจัดการวิกฤตเชิงเปรียบเทียบระหว่างองค์กรธุรกิจไทยและองค์กรธุรกิจญี่ปุ่น" ของ ชาตรี  ปรีดาอนันทสุข ยังคงอยู่บนชั้นหนังสือในอาคารหอสมุดเก่า  มหาวิทยาลัยเคโอ    เนื้อหา ๓๔๓ หน้าของวิทยานิพนธ์เล่มนี้กว่าจะออกมาเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์...มันผ่านเรื่องราวอะไรมามากมาย  ถ้าเพียงแต่เลิกล้มความตั้งใจเพราะคิดว่าเนื้อหามันยากเกินไป อาจารย์เขาไม่ยอมให้เราจบ  หรือคิดว่าเสียเวลาเปล่าที่จะพยายามเรียนให้จบหลักสูตรปริญญาเอกเพราะไม่ค่อยมีใครจบกัน  เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นวิทยานิพนธ์เล่มนี้วางอยู่บนชั้นหนังสือในอาคารหอสมุดเก่า มหาวิทยาลัยเคโอ

  Doctoral Dissertation Topic "Comparative Crisis Management between Business Organizations in Thailand and Japan" by Chatree Preedaananthasuk is still on the book shelf in the Old Library of Keio University.

  Before this 343-page Doctoral Dissertation was completed, there were many storied behind it.  If only I quitted from Doctoral course because it's too hard or I thought that my advisor would never approve my dissertation or it was waste my time to complete my doctoral course because few could graduate, we might not have seen my dissertation on the bookshelf in the Old Library of Keio Uinversity.

 ปริญญาเอกที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเคโอ...จึงเป็นมากกว่าแค่กระดาษแห่งความภาคภูิใจ  ปริญญาบัตรใบนี้เป็นเครื่องหมายของการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อพิสูจน์ว่า "ความพยายามของผู้คนไม่เคยจบลงด้วยความสูญเปล่า" มันเป็นจริงเสมอ  และคุณค่าของความรู้ที่ผมได้รับจากการเป็นนักเรียนปริญญาเอกในญี่ปุ่นควรจะถูกถ่ายทอดให้แก่บรรดาลูกศิษย์ของผมเพื่อคนเหล่านี้จะได้มีส่วนในการพัฒนาประเทศต่อไป

Doctoral Degree from Keio University becomes more than a proud piece of paper. This degree is the symbol of long-term fighting to prove that "Attempt of human being never go waste" is always true.  Value of knowledge which I gained from my study life in Japan should be transfered to my students who will help to push Thailand in the future.

   ทุกวันนี้ผมยังมีความสุขกับการสอนหนังสือ...เมื่อวันใดที่ผมตัดสินใจว่าจะหยุดสอนหนังสือ บรรยากาศของการเล็คเชอร์ให้แก่ลูกศิษย์เป็นครั้งสุดท้ายคงเกิดขึ้น จะมีลูกศิษย์กี่คนที่ยังสนใจจะเข้ามาฟังการเล็คเชอร์ครั้งสุดท้ายเป็นเรื่องที่อยากจะรู้เหมือนกัน  แต่หัวข้อที่จะเล็คเชอร์จะเป็นหัวข้ออะไร  ห้องเรียนหมายเลขอะไร วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่...ยังไม่มีใครรู้

   Now I am still happy with teaching.  When I decide to stop teaching, my Last Lecture to my students may be held. I am keen to know how many students who are interesting in  my last lectutre attendance.  What topic will I lecture? What lecture hall number will be held? When it will come,  it has been unknown yet.




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 27 ตุลาคม 2556 19:08:45 น.
Counter : 1347 Pageviews.  

เมื่อผมไปศาลคดีครอบครัวและเยาวชน พิษณุโลก

   ผมมีโอกาสดูรายการทีวีหรือละครเกี่ยวคดีในศาลยุติธรรม....บรรยากาศการตัดสินคดีความ  แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปศาลแต่วันนี้มีโอกาสได้มาศาลคดีเยาวชนและครอบครัว พิษณุโลกในฐานะล่ามภาษาญี่ปุ่นให้กับฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นที่บางครั้งไม่ค่อยเข้าใจในภาษาไทยเวลามีการสืบพยานในศาล

   บทบาทที่ผมมาศาลในวันนี้ในฐานะ...

   -อดีตนักเรียนเก่าในญี่ปุ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาทั้งของไทยและญี่ปุ่น...ช่วยทำให้โจทก์เข้าใจมากขึ้นในการสืบพยาน

   -อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนในฐานะล่ามภาษาญี่ปุ่น โดยไม่นับเป็นภาระงาน

   -โรงเรียนสอนภาษาซีพีเอส ที่ให้บริการด้านล่ามภาษาญี่ปุ่นในพิษณุโลกแก่โจทก์ที่ขอความช่วยเหลือ

 

 

 มีโอกาสได้พูดคุยกับทนาย โจทก์และครอบครัวของโจทก์เพื่อทราบรายละเอียดของคดีเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคดีนี้  เวลาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือแปลกลับให้ผู้พิพากษาฟังตอนสืบพยานจะได้คล่องตัวขึ้น

 

ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับคดีมีหลายคำที่ต้องทำความเข้าใจ....เพราะบางคำไม่ค่อยคุ้นเนื่องจากเราไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลSmiley

 

 ดูเหมือนโจทก์จะตื่นเต้นมากก่อนจะเริ่มต้นนัดสืบพยาน  ผมพยายามบอกโจทก์ที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไทยรายนี้ให้คลายความกังวล

 

  แล้วผู้พิพากษาสำหรับคดีนี้ก็เข้ามาที่ห้องของโจทก์เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกับโจทก์แทนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการสืบพยานภายหลังจากที่พยายามไกล่เกลี่ยกับจำเลยซึ่งเป็นสามีของจำเลยมาก่อนหน้านั้น...พอเจอหน้าผู้พิพากษา ผมตกใจเพราะผู้พิพากษารายนี้คือเพื่อนเก่าสมัยเรียนที่จุฬาฯเหมือนกัน อยู่หอพักมหาวิทยาลัยด้วยกัน  พอเจอหน้ากันก็กลายเป็นความคุ้นเคยที่ไม่มีโอกาสเจอกันมานานกว่า 20 ปี

  ผู้พิพากษาเริ่มอารัมภบทว่า....

 

   "การตัดสินของศาลให้ผลเป็นอย่างไรมันง่ายมาก.....แต่ความจริงคดีเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องของคนสองคน ซึ่งคนสองคนน่าจะคุยตกลงกัน ไกล่เกลี่ยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบศาล  ถ้าศาลตัดสินให้คู่กรณีหย่ากัน มันไม่จบเพราะฝ่ายหนึ่งพอใจที่ได้หย่าสมใจ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่พอใจที่ไม่ต้องการขอหย่าแต่ผลการตัดสินออกมาเป็นแบบนี้  ตามมาด้วยการอุทธรณ์ในชั้นศาลต่อ

    การที่คนสองคนตัดสินใจมีลูกด้วยกัน....ตอนนั้นไม่ได้ทำไปเพราะความรักหรือ?  แต่ตอนนี้พอมีปัญหากลับลืมเหตุการณ์วันหวานในอดีต  ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองถูกแล้วคิดว่าอีกฝ่ายผิด ค้นหาแต่สิ่้งที่ผิดของอีกฝ่าย

    ผมถามคุณว่า....ตอนนี้คุณยังรักกันไหม?  ถ้าคุณรักเขา คุณต้องรู้จักและสามารถให้อภัยเขาได้ ให้โอกาสถ้าเขาคิดจะปรับพฤติกรรมเป็นคนดีในอนาคต  ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาจากการที่เขาทำหน้าที่ของพ่อที่ไม่ดี ขาดความรับผิดชอบ เป็นเพราะเขาไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตคนตั้งแต่แรก เหตุการณ์มันผ่านมาถึงขนาดนี้ คุณยอมมีลูกด้วยกันหลายคน  ถ้าเขาทำตัวดีคงไม่เกิดเหตุการณ์วันนี้ขึ้นมา   เขาจะมาบอกว่า รักคุณ อย่างเดียวมันไม่พอ  เขาต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเขาเป็นพ่อที่ดีด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าทำลูกให้เกิดขึ้นมาแต่ขาดความรับผิดชอบ

 

   ลูก....อย่างไรก็ควรมีพ่อแม่  ทุกปีวันแม่และวันพ่อ  เขาควรจะมีพ่อและแม่เหมือนลูกคนอื่นให้นึกถึง   ในฐานะของแม่ที่เลี้ยงดูลูกแค่นี้ก็เป็นหน้าที่อันหนักอึ้งของภรรยาแล้ว สามีไม่ควรจะทำให้ภรรยาหนักใจเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเองอีก  ทำอะไรให้นึกถึงลูกเพราะว่า....จะอธิบายให้ลูกฟังอย่างไรให้เขาเข้าใจว่าทำไมไม่มีพ่ออยู่ด้วย ทำไมพ่อกับแม่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้  คุณจะต้องเลี้ยงดูลูกในสภาพแบบนี้ไปตลอด

 

   การคิดจะเอาชนะกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  การพยายามเอาชนะคนๆหนึ่งด้วยคำพูดหรือกำลัง สุดท้ายคุณจะไม่มีทางเอาชนะได้  แต่ให้เขาสำนึกด้วยตัวเขาเอง....ให้เขายอมแพ้ด้วยตัวเขาเอง อันนั้นจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าและเขาจะยอมเปลี่ยนแปลงเมื่อเขายอมรับว่าเขาพ่ายแพ้แล้ว

   ดูแล้ว....ตอนนี้คงลำบากที่คุณทั้งสองจะอยู่ด้วยกันตอนนี้  แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้เข้าสู่ขั้นตอนของศาล  ทางเลือกที่เป็นไปได้คือ

   1.  อยู่ในสภาพแบบนี้โดยไม่ต้องหย่าร้างกัน ลูกอยู่กับคุณต่อไป ให้โอกาสเขาปรับปรุงตัวพิสูจน์ว่าเป็นพ่อที่ดี แสดงความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก มีสิทธิจะมาพบลูกตามสมควร แต่ห้ามมายุ่งเกี่ยวหรือข่มขู่ฝ่ายหญิง  ถ้าเขาปรับปรุงตัว....คุณให้โอกาสเขา ให้อภัยเขา เป็นไปได้ที่อาจจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าทั้งพ่อแม่ลูกอีก

   2.  หย่าร้างกัน  ไม่ได้เรียกร้องค่าเลี้ยงดูว่าต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ให้ฝ่ายชายแสดงความรับผิดชอบว่าควรจะให้ค่าเลี้ยงดูเท่าที่เขาสามารถทำได้  เขามีสิทธิมาพบลูกในเวลาสมควร แต่ห้ามมาข่มขู่ฝ่ายหญิง  ให้โอกาสเขาปรับตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง  คุณอาจจะกลับมาคืนดีกับเขาก็ได้ในอนาคตถ้าเขาพิสูจน์ว่าเขาเป็นพ่อที่ดี"

 

   ทางเลือกที่ท่านผู้พิพากษาเสนอให้แก่โจทก์ดูมีเหตุผล....โจทก์ไม่เข้าใจในสิ่งทีท่านผู้พิพากษาเสนอ  ผมช่วยอธิบายให้เธอเข้าใจเป็นภาษาญี่ปุ่น  และทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของเธอ  ทั้งผู้พิพากษา คุณแม่และคุณน้า รวมทั้งผมที่ทำหน้าที่ล่ามในวันนี้ต่างเป็นคนนอกของครอบครัวเธอ ครอบครัวเธอแท้จริงประกอบไปด้วย  ตัวเธอ  สามี และลูกที่เกิดจากสามี

 

   ครอบครัวในความหมายที่เข้าใจกระจ่างชัดจากเหตุการณ์นี้ก็คือ.....

   ความผูกพันและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง พ่อแม่ลูก

   ความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวก็เกิดจากความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก

   คนอื่นก็คือคนนอกหมด  ครอบครัวจะมีรูปโฉมหน้าตาอย่างไรก็ขึ้นกับว่า พ่อ แม่ และลูกได้ทำหน้าที่และบทบาทครบถ้วนหรือไม่  มีโอกาสได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันแล้วหรือยัง

 

    ผู้พิพากษาเปิดโอกาสให้เธอได้พูดคุยกับสามีต่อตอนบ่ายเพื่อตกลงกันให้ได้ทางออกที่พอใจทั้งสองฝ่าย  เพราะนั่นคือทางออกที่คิดว่าน่าจะดีกว่าก้าวเข้าสู่ขบวนการของศาล  แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลคือทางออกของกรณีนี้

 

    คุณแม่และคุณน้าไม่ได้บังคับเธอให้คิดอย่างไร.....แต่ให้อิสระแก่เธอในการตัดสินใจ เพราะครอบครัวเป็นเรื่องที่เธอต้องเลือกเอง  คนอื่นเป็นคนนอก

 

    ถึงแม้ว่าบทบาทในวันนี้ผมจะไม่ได้ทำหน้าที่สืบพยานอย่างที่คาดเอาไว้แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้และมีคุณค่ามากๆจากการมาศาลคดีครอบครัวและเยาวชนพิษณุโลกก็คือ

 

    มนุษย์สมรสเพิ่ออะไรกันแน่ มันไม่ใช่สมรสเพื่อจะมีลูกไว้สืบเผ่าพันธุ์ตามที่หลายๆคนคิดกันแบบนั้น  เพราะการมีลูกด้วยกันก็ไม่ได้หมายความว่า....ชีวิตสมรสจะมีความสุขแท้จริง

    ความรักของคนสองคน เริ่มต้นอย่างแสนหวาน แต่จะทะนุถนอม ดูแลห่วงใย เป็นกำลังใจ เข้าใจและให้อภัยกันได้เสมอไหม  การที่เรารักใครซักคน....เรารักเขาเพราะในความเป็นตัวตนที่้เขาเป็นต่างหาก เพราะความเป็นตัวตนของเขา...มันไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นสิ่งที่เรายอมรับ  ถ้าคิดจะรักใครเพราะหน้าตา.....ผมเชื่อว่าไม่นานความรักจะเสื่อมคลายเพราะความดูดีจะเปลี่ยนไปตามวัย สิ่งที่คงเหลือคือความเป็นตัวตนของเขาที่เราเคยรับรู้ว่าเขาเป็นและยังคงเป็นแบบนี้ตลอดไป

   ในความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก.....ไม่ว่าพ่อหรือแม่จะไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้จะด้วยเหตุผลอะไร  ลูกคือผลผลิตอันยิ่งใหญ่ที่พ่อแม่ไม่สามารถตัดขาดออกไปได้

     ชีวิตโสดสำหรับหลายคนยังหวงแหนเพราะยังไม่พร้อมจะรับผิดชอบชีวิตของคนอื่น เพราะบางคนรักความเป็นอิสระ ความเป็นโลกส่วนตัว  แต่เมื่อตัดสินใจจะเริ่มต้นชีวิตคู่...นั่นหมายความว่าชีวิตคู่ตามมาด้วยความรับผิดชอบร่วมกันในชีวิตที่ไม่ใช่ของคนๆเดียวอีกต่อไปแต่เป็นการแชร์ชีวิตส่วนที่เหลือร่วมกัน

     ดังนั้นชีวิตสมรสจึงยิ่งใหญ่มากกว่าแค่....อยู่เพื่อที่จะมีลูกด้วยกัน

 




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2556 22:06:45 น.
Counter : 1658 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.