ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 
ปีที่ ๒ ของการสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนที่ ๑



บรรยากาศวันสอบปลายภาค วิชากลยุทธ์ทางธุรกิจที่ห้องสอบ QS3302 วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553


ผมสัญญากับลูกศิษย์ปริญญาตรี ซึ่งเป็นนิสิตรุ่นแรกที่ผมสอนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรว่า

"ผมจะรักษาคุณภาพในการสอนให้แก่นิสิตรุ่นน้องเหมือนกับที่ผมสอนลูกศิษย์รุ่นแรก"







คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูกศิษย์...คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ


ตอนที่ทราบว่าต้องรับผิดชอบในการสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจ ในภาคการศึกษาที่ 1/2554 โดยสอนต่อเนื่องกันในวันอังคารสำหรับนิสิตปริญญาตรีภาคปกติ 4 กลุ่ม และภาคพิเศษอีก 1 กลุ่ม ความรู้สึกตอนนั้นคือทำไมตารางสอนออกมาเป็นแบบนี้ มันเป็นการทารุณผู้สอนอย่างมาก



เหตุและผลคือการที่นิสิตบางคนที่ตกแผนการศึกษาและต้องการจะลงวิชาในตัวที่ตนเองติดอยู่...ผลลัพธ์คือทำการขยับตารางสอนเพื่อเอื้อต่อการลงทะเบียนในรายวิชาที่ต้องการตามเก็บ แต่มันไม่เป็นผลดีต่อผู้สอนที่ต้องสอนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม โดยมีเวลาพักระหว่างเวลาสอนแค่ 1 คาบและมีเวลาเผื่อทานข้าวเย็นอีก 1 ชั่วโมงก่อนจะสอนต่อเวลา 6 โมงเย็น



ผมไม่สามารถรับสอนให้กับกลุ่มภาคพิเศษอีก 1 กลุ่มได้ เพราะสภาพร่างกายไม่ไหวแล้ว อีกกลุ่มจึงเป็นภาระการสอนให้แก่อาจารย์ท่านอื่นไป



แล้วพอสอนจริงๆ...วันแรกที่สอนวิชานี้คือ วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ผมสอนได้ 3 กลุ่ม เริ่มมีอาการเจ็บคอ แต่ต้องทนสอนอีกสองกลุ่มที่เหลือ ความรู้สึกที่มีต่อกลุ่ม 3 ซึ่งเป็นนิสิตเอกการบัญชีและการเงินการธนาคาร ผมพยายามถ่ายทอดความรู้ให้เหมือนกับ 3 กลุ่มที่สอนมาแต่ สภาพร่างกายไม่ไหวแล้ว ยังมีกลุ่มภาคพิเศษที่ผมต้องสอนต่อ คราวนี้ร่างกายไม่ไหวจริง เจ็บคอมาก เสียงแห้ง แล้วไมโครโฟนมีปัญหาอีก จะตะเบ็งเสียงพูดมากก็ยิ่งเจ็บคอ สงสารนิสิตกลุ่มสุดท้ายมากที่ผมไม่สามารถใช้พลังเสียงเหมือน 4 กลุ่มที่สอนมา



กลับมาถึงบ้านด้วยอาการเจ็บคอ เสียงแห้ง และเหนื่อยมากๆ



แฟนผมเธอเป็นห่วงใยในสุขภาพผม เธอรู้ว่าผมมีความสุขในการสอนและตั้งใจถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ แต่สุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เธอจึงเอากระติกน้ำร้อนมาให้ ซื้อมะนาวมาให้เพื่อให้ผมได้จิบน้ำอุ่นๆระหว่างที่สอนต่อเนื่องหลายชั่วโมง กลับมาบ้านผมจิบน้ำผึ่งผสมมะนาวเพื่อถนอมเสียง



ผมจะต้องเผชิญสภาพแบบนี้ไปตลอด ๑ ภาคการศึกษา



นับจากเหตุการณ์เสียงแหบและเจ็บคอจากการสอน ทุกครั้งที่ไปสอน ผมพกกระติกน้ำร้อนไปด้วยเสมอ คนอื่นคงไม่เข้าใจความหมายของกระติกน้ำร้อนใบนั้นนอกจากตัวผมและคนที่ให้กระติกน้ำร้อน ผมจิบน้ำอุ่นบ่อยๆระหว่างที่สอนซึ่งช่วยทำให้เสียงไม่แหบแห้งและมียาอมที่คอยอมอยู่บ่อยๆ


ชั้นเรียนในสัปดาห์แรกนิสิตทุกคนได้รับทราบกฎเกณฑ์เงื่อนไขของการเรียนวิชานี้ที่เหมือนกันทุกกลุ่ม เงื่อนไขในการตัดเกรด คะแนนจากกิจกรรมต่างๆที่ทำในระหว่างที่เรียน สิ่งที่ตอกย้ำเสมอคือพยายามกระตุ้นให้นิสิตกล้าแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน เพราะพฤติกรรมที่กล้าแสดงความคิดเห็นจะกลายเป็นส่วนสำคัญและเปลี่ยนแปลงชีวิตในการทำงานของลูกศิษย์ในอนาคต


ผมให้นิสิตแต่ละคนแนะนำตัวและให้พวกเขาพูดถึงความฝันในอนาคตที่พวกเขาอยากจะเป็น











สิ่งที่พยายามปลูกฝังกับลูกศิษย์คือ

ถ้าพวกเขามีความฝัน ก็ต้องไม่อายที่จะบอกความฝันที่เราอยากจะไปให้ถึงด้วยเสียงดังๆให้คนอื่นรับรู้ แล้ววันนึงเราจะทำฝันให้เป็นจริงให้ได้



ป้ายชื่อถูกออกแบบโดยนิสิตแต่ละคนเพื่อให้ผมสามารถเรียกชื่อนิสิตได้ถูกต้องและเพื่อนๆในชั้นเรียนได้รู้จักกัน บรรยากาศในชั้นเรียนนิสิตควรจะรู้จักกันไม่ใช่แค่รู้จักเฉพาะเพื่อนกลุ่มที่สนิท เพื่อนต่างสาขา เพื่อนต่างคณะ ไม่สนใจ ไม่อยากรู้จักกัน สิ่งสำคัญของการมาเรียนที่นี่คือการมีเพื่อน และเพื่อนที่จะภาคภูมิใจไปด้วยกันในอนาคตว่าเคยเรียนที่นี่ด้วยกัน



การเปิดพื้นที่ให้นิสิตทุกคนที่เรียนแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการตำหนิหรือต่อว่ากับคนที่แสดงความคิดเห็น แต่ส่งเสริมให้ทุกคนกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงความเห็นออกมา คนที่ไม่กล้าพูดตลอดระยะเวลาที่เรียนเริ่มเปลี่ยนไปเริ่มกล้าที่จะยกมือแสดงความคิดเห็น สีสันของการแสดงความคิดเห็นในวิชานี้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สมาชิกทุกคนรับรู้รับทราบและปฏิบัติเหมือนกัน












เมื่อเรียนเรื่องทรัพยากรซึ่งมีคุณค่าต่อองค์กร แล้วให้นิสิตพูดถึงทรัพยากรที่มีคุณค่าของจังหวัดบ้านเกิดตนเอง หลายๆคนที่ไม่กล้าที่จะแสดงความเห็น ก็ยกมือเล่าของดีของจังหวัดตนเองอย่างภาคภูมิใจ ไม่อายใครที่จะบอกว่ามาจากจังหวัดนี้


















ตอนท้ายชั่วโมงนิสิตจะตั้งใจเขียนคีย์เวิร์ดเพื่อสรุปว่าวันนี้เรียนอะไรกันบ้าง ผมสามารถเช็กได้ว่าวันนี้ผมสอนไปแล้วลูกศิษย์เข้าใจตรงกับที่ผมสอนไหม มีอะไรที่เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนในชั้นเรียนไหม















คีย์เวิร์ดที่นิสิตเขียนออกมาสะท้อนว่านิสิตเรียนรู้อะไรจากชั้นเรียนไปบ้าง
เขาจับประเด็นสำคัญอะไรบ้าง













ตอนเรียนเรื่องความสามารถหลัก (Core Competency) ผมอธิบายความหมายของคำว่า Core Competency เหมือนกับว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" ซึ่งช่วยทำให้คนฟังเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าคำๆนี้หมายความว่าอย่างไร


พิชญาภัคย์ นิสิตกลุ่ม 4 ถามผมว่า ถ้าคนที่ยังไม่มีแฟนจะรู้ได้อย่างไรว่าใช้ความสามารถหลักแล้วจะมัดใจแฟนได้



ผมเลยให้การบ้านเธอไป ถ้าเธอสามารถสร้างความแตกต่างที่มีคุณค่าและสามารถมีแฟนได้ภายในระยะเวลาก่อนจบวิชานี้ เธอจะได้แต้มเพิ่มทันที 5 แต้ม เพื่อนๆในห้องต่างฮาและลุ้นว่าเธอจะทำการบ้านมาส่งผมได้ไหมก่อนปิดคอร์สวิชานี้







Create Date : 31 ตุลาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 16:12:26 น. 0 comments
Counter : 1216 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.