ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

In Remembrance of King Bhumibol Part 9 (ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๙)



  ก่อนเดินทางไปธรรมยาตราที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้ยินคนที่เคยไปธรรมยาตรามาแล้วเล่าให้ฟัง....ฟังแล้วรู้สึกหวาดหวั่น ที่นั่นยังมีสัตว์ป่า ได้รับคำแนะนำว่าถ้าหลงทางให้รออยู่กับที่ เดี๋ยวพรานจะตามมาหาตัวเอง


   วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ รถปิคอัพ ๕-๖ คันบรรทุกพระภิกษุ, โยมที่สนใจเดินทางไปธรรมยาตราและทีมพรานป่าจำนวน ๒๓ คนพร้อมด้วยสัมภาระและเสบียงที่ใช้ในการเดินป่าครั้งนี้ รถออกจากวัดวังหินตอนประมาณ ๙ โมงเช้า  ผมนั่งรถคันเดียวกับพระอาจารย์วิเชียร  เส้นทางไปทางวังทองแล้วเข้าไปเส้นทางเขาค้อ ก่อนจะจอดรถภายในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง  






    รถพาเข้าไปในป่าแล้วก็ลำเลียงเอาสัมภาระลง ฉันเพลก่อนจะเริ่มต้นเดินป่าของจริง ทุกคนกลัวเห็บป่า....เลยเอาแป้งทากันเห็บทาบนถุงเท้า ถอดจีวรออกเหลือแต่อังสะ ผมใช้ผ้าอาบน้ำฝนคลุมไหล่และเอาผ้าคลุมแขนไว้เพื่อป้องกันเห็บป่าลง

    พวกเราเดินผ่านทุ่งหญ้าโล่งๆ มีต้นสนสองใบเห็นเป็นระยะๆ เป้ขนาด ๑๐ กิโลถูกสะพายบนไหล่และเดินไปเรื่อยๆในป่า เหนื่อยก็พักแล้วก็เดินต่อ




   มีลมพัดเป็นระยะๆ แต่ว่าเหงื่อแตกเปียกบนอังสะ เพราะเราเดินป่ากันตอนบ่าย




  ถุงเท้าลูกเสือถูกสวมเท้าเพื่อป้องกันทากและมันทนกับการเดินป่าได้ดี.... เดินๆไปเริ่มรู้สึกเมื่อยล้าเพราะสะพายเป้บนไหล่ที่หนักพอสมควร ไหล่แดงเพราะสายสะพายกดทับบนไหล่ในระหว่างเดินป่า

  จากทางเรียบๆ...เริ่มเป็นป่าที่รกชัฏขึ้น  ไม่สะดวกสบายนักในการเดินป่าเพราะเป็นพระ สวมสบงที่ไม่ได้ใส่กางเกงในข้างใน เวลาปีนป่ายต้นไม้ที่ขวางทางมันต้องระมัดระวังมากกว่าตอนเป็นฆราวาสเยอะ สายรัดสบงต้องรัดให้แน่น...ไม่งั้นหลุดขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่เลย  การปีนป่ายทางเดินที่เป็นเนินและทางลงที่ชัน...อันตรายต่อข้อเท้ามากๆถ้าเกิดข้อเท้าพลิกขึ้นมา  ท่านมีนเริ่มหมดแรงและเท้ามีปัญหา เพื่อนพระนวกะเลยต้องช่วยกันประคองเวลาเดิน





   เดินกันแบบนี้จนตะวันเริ่มจะลับฟ้า แต่ว่าเรายังไม่ถึงลำธารเลยพักไม่ได้  เราต้องเดินกันอย่างนั้นจนตะวันลับฟ้า ไฟฉายเป็นสิ่งจำเป็น เดินส่องทางกันจนได้ที่พักริมลำธาร  ใช้เป็นที่อาบน้ำทำความสะอาดชำระล้าง  กางเต็นท์ใกล้ๆกับที่พักของพวกพราน  ตอนกลางคืนพวกเขาคุยกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยนอนกันเท่าไหร่


    วันที่สองตอนเช้า ตื่นขึ้นมามีอาการท้องปั่นป่วน อาจจะเป็นเพราะอากาศเย็น ใช้ป่าเป็นที่ถ่ายอุจจาระ ไม่คุ้นเคยกับบรรยากาศการขับถ่ายโล่งๆในป่าแบบนี้ และการทำความสะอาดภายหลังเสร็จภารกิจ...เอาน้ำมาราดก้นไม่ได้  ใหม่จัดหากระดาษชำระแบบเปียกมาถวายก่อนมาธรรมยาตรา....นึกขอบคุณใหม่ที่คิดเผื่อให้ผม ถ้าไม่ได้กระดาษชำระแบบเปียกชีวิตคงลำบากกว่านี้ 

   ทำวัตรเช้าแล้วฉันอาหารก่อนจะเก็บเต็นท์และเตรียมเดินทางต่อ  ท่านเหน่งตัดสินใจจ้างพรานแบกเป้ให้แทนจะแบกเป้เองต่อไป  แต่ผมอยากลองวัดกำลังตัวเองว่าตลอดระยะเวลาธรรมยาตรานี้เราจะแบกเป้ด้วยตัวเองได้ไหม ถ้าไม่ไหวจริงๆจะจ้างแต่อยากลองดูก่อน  

   การเดินไม่สะดวกสบายนัก ทางไม่ได้เรียบ เป็นป่าและรองเท้ารัดส้นบางครั้งก็เสียบเข้ากับกิ่งไม้ เดินไม่ถนัด บางครั้งก็โดนกิ่งไม้บาดตามตัวหรือ เดินชนกับหินหรือไม้

  พักเป็นระยะๆ บางช่วงผมก๋็หอบและต้องพักและปล่อยให้คนที่ตามมาทีหลังเดินนำหน้า  ลุงจรัสที่พวกเราเรียกว่าหลวงตา...อายุไม่ใช่ปัญหา....เขาเดินตัวปลิวนำพวกเรา  ลุงจรัสเป็นเกษตรกร ลุงเดินทำไร่ทำนาเป็นปกติ ในขณะที่พวกเราอยู่ในเมือง ผมกับเหน่งใช้เวลากับการสอนลูกศิษย์...เมื่อมาเดินป่า...ย่อมถนัดสู้ลุงจรัสไม่ได้






   เริ่มคุ้นเคยกับการสังเกตรอยตัดต้นไม้ของพรานป่า.....รอยบากใหม่บนกิ่งไม้เป็นตัวบอกให้ทราบว่าควรจะเดินทางไหน


    เนื่องจากในป่าไม่มีสัญลักษณ์ใดๆบอกทางดังนั้นพรานป่าใช้สัญชาติญาณและการสังเกตรอยบากไม้ในการเดินป่า ระหว่างทางเจอปลอกกระสุนปืนลูกซองหลายสีตามพื้น  เดาว่ามีพรานป่าบางกลุ่มเข้ามาลอบล่าสัตว์ในอุทยานแห่งนี้


    เดินๆหยุดๆแบบนี้ทั้งวัน มารู้ทีหลังจากแอพของซัมซุงที่วัดระยะทางว่า...วันที่สองเดินได้ระยะทางทั้งวันกว่า ๒๘ กิโลเมตร!!!  บางช่วงที่เดินรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมธรรมยาตราเพราะไม่รู้สึกว่าจะมาลำบากเพื่ออะไร  วัตถุประสงค์ของการเดินธรรมยาตราคืออะไร? 


   วันที่สองหนักกว่าวันแรก เพราะพระอาจารย์วิเชียรเห็นท่านมีนเดินลำบากเลยจะหาเส้นทางลัดซึ่งพรานไม่คุ้นเคย ไม่เคยเดินมาก่อน แทนที่จะใช้เวลาน้อยกลับกลายเป็นว่าใช้เวลามากกว่าที่คิด  เดินขึ้นลงเขาหลายรอบ  บางช่วงที่เดิน...กลุ่มที่เดินข้างหน้าเขาเดินไว จนผมกับเหน่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และกลุ่มข้างหลังเราก็ไม่มี  ลองตะโกนเรียกกลุ่มข้างหน้าแต่ไม่มีเสียงตอบกลับ....ความรู้สึกตอนนั้นคิดถึงตอนหลงอยู่ในป่าคนเดียวตามลำพังที่ภูผาเทิบในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เหตุการณ์คงไม่ซ้ำรอยแบบนั้นอีก  ในใจกังวล  ถ้าหลงป่าคราวนี้...จะใช้เวลานานไหมกว่าจะได้ออกไป  มีชั้นเรียนที่ผมต้องไปสอนวันรุ่งขึ้นภายหลังจากลาสิกขา  ถ้ามันเกิดหลงป่าจริงๆหรือเกิดอะไรขึ้นกับดร.สองคนในการมาธรรมยาตราคราวนี้่มันคุ้มค่าไหม?  กว่าจะเรียนจบได้ดร.ก๋็ยาก...แต่มาเสียชีวิตหรือเป็นอะไรไปเพียงเพื่อธรรมยาตราสี่วันสามคืนครั้งนี้.....คุ้มหรือเปล่า?


    ความรู้สึกตอนนั้น....ผมคิดว่าเหน่งกับผมคงรู้สึกแบบเดียวกัน  เราเดินตามรอยบากต้นไม้ แต่เราไม่ได้ชำนาญป่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรามาเดินป่ากันแบบนี้ ถ้าหลงป่าขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ  การบอกก่อนมาธรรมยาตราแบบติดตลกว่า "ห้ามเจ็บ ห้ามตาย" แล้วถ้ามีใครเจ็บ ใครตาย จะรับผิดชอบอย่างไรกัน ชีวิตคนเรากว่าจะเกิด จะโต จะเรียนจบ ใช้เวลาและมีต้นทุนทั้งนั้น  ถ้าดร.สองคนมีชีวิตอยู่ต่อไป...พวกเขาจะช่วยสร้างคนให้กับสังคมได้อีกมาก  แต่ถ้ามาตายในระหว่างที่ธรรมยาตรา...สังคมอาจจะตำหนิและรู้สึกเสียดายมาก  ตอนนั้นเหน่งและผมเริ่มรู้สึกกลัวว่าเราอาจจะหลงป่าจริงๆ  เหน่งปลอบใจตัวเองว่าถ้าหลงป่าก็เดินต่อไป


    หลังจากเราเริ่มกังวลกัน.....กลุ่มที่เดินไปก่อนหน้าเริ่มเอะใจว่าทำไมเราไม่ตามไป   เณรจี๊ปเดินมาตามหาพวกเรา  ตอนนั้นอาจจะมีอารมณ์ไม่พอใจที่ถูกทิ้ง เลยพูดเสียงดังว่า มาด้วยกันน่าจะเดินรอกันบ้าง ถ้าหลงในป่าขึ้นมาแล้วเรื่องใหญ่นะ


    เดินกันมาถึงใกล้แนวลำธารแต่ก็มืดจนมองเห็นดาวบนฟ้าชัดเจน  และทีมงานพรานก็พาเดินหลงทาง  กว่าจะถึงลำธารก็เกือบสองทุ่ม  เหนื่อยล้าเต็มที ผมเลือกโขดหินเป็นที่กางเต็นท์ เพราะว่าถ้ากางเต็นท์บนพื้นอาจจะมีเห็บป่าเข้ามาได้ง่าย สรงน้ำเสร็จก็เข้านอนเลย ปรากฏว่าคนอื่นกลัวหินจะหนาวเย็นกลางคืนเลยไม่มีใครกางเต็นท์บนหินนอกจากผม  อากาศตอนกลางคืนไม่หนาวอย่างที่คิดเอาไว้ อากาศเริ่มอุ่นๆ อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ตีนเขาแล้ว  มาทราบจากเพื่อนพระนวกะว่าท่านมีนไม่มีแรง อาการเสียเกลือแร่มาก  ลงมาจากเขาไม่ได้  พระอาจารย์เลยให้พรานอยู่กับท่านมีนนอนค้างอยู่บนเขา คอยหุงข้าวถวายพรุ่งนี้


   ตอนเช้า...เขาใช้บริเวณโขดหินทำวัตรเช้า



    ตอนเช้าทำอะไรไม่ได้ต้องรอท่านมีนลงจากเขาจึงจะเดินทางต่อไปได้  ผมพบว่าเต็นท์ที่ยืมมาจากวัดเป็นรอยปริ  นึกขึ้นมาได้ว่ามีด้ายกับเข๋็ม....เลยจัดการชุนรอยปริในระหว่างที่รอท่านมีน






    สมาธิที่คนส่วนมากต้องหลับตาจึงจะเกิด....แต่ผมคิดว่าสมาธิสามารถเกิดได้ทุกที่แม้แต่เราลืมตา  ที่สำคัญการเจริญภาวนาให้จิตสงบ...ต้องเลือกวิธีที่ถูกจริตกับเรา  สมาธิที่เป็นธรรมชาติมีพลังที่สามารถนำไปใช้งานได้

    ผมเพ่งมองไปที่น้ำตกลงบนก้อนหิน....เสียงสายน้ำและภาพที่ปรากฏต่อหน้า เมื่อมองโดยที่จิตว่างไม่คิดถึงเรื่องอื่นใดเลย...แล้วสมาธิก็เกิดขึ้นแม้จะเป็นช่วงสั้นๆในขณะที่ผมจ้องมองลงบนน้ำที่ตกลงบนหิน








      เกิดปีติขึ้นมาเล็กน้อยตอนที่เกิดสมาธิในระหว่างที่เพ่งมองที่น้ำตก...


      กว่าท่านมีนจะลงมาจากเขาก็เป็นเวลาเกือบเท่ี่ยง....พวกเราเดินทางต่อไป  แต่ระยะทางวันที่สามของการเดินธรรมยาตราไม่มากเหมือนวันที่สอง  แต่ขาผมไปชนกับโขดหินจนช้ำ และนิ้วเท้ามีอาการห้อเลือด ในคณะธรรมยาตราชุดนี้มีอาจารย์เบสซึ่งอยู่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมาด้วย  เขาจึงให้คำแนะนำในการใช้ยารักษาแก่เราได้  จำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อ  เหน่งจัดการเป็นธุระให้เพราะเขามีอาการที่ต้องใช้ยาพวกนี้อยู่เลยพกพาเอายาแรงๆแบบนี้มาด้วย  เป็นอีกครั้งที่เหน่งและผมต่างดูแลกัน

      ที่พักคืนที่สามเป็นบริเวณที่สวยงาม เห็นภูเขาด้านหลังและมีลำธารไหลมาเรื่อยๆ  เพียงแต่ผมเลือกทีพักบริเวณโขดหินฝั่งตรงข้ามในขณะที่คนอื่นเลือกพื้นใกล้ต้นไม้อีกฝั่งเป็นที่กางเต็นท์





   แต่ว่าที่สวดมนต์...จะเดินทางไปลำบากหน่อยเนื่องจากอยู่เกาะกลางน้ำ  ต้องเดินข้ามลำธาร

   คืนนั้นทำวัตรเย็นกันที่โขดหินกลางน้ำ  หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ พระอาจารย์มหาวิเชียรให้ทุกคนเปิดใจกับการมาธรรมยาตราครั้งนี้  ผมตั้งข้อสงสัยว่าวัตถุประสงค์ในการธรรมยาตราครั้งนี้เพื่ออะไร  ถ้าต้องการเจริญสติ อยู่ที่วัดก็ทำได้สบายๆ ไม่จำเป็นต้องหาเรื่องมาเดินชนหิน ชนไม้ โดนไม้ขีดข่วนเป็นรอย  ที่กล่าวว่ามาป่าถ้าไม่ได้รอยขีดข่วนก็ไม่มาถึงป่า ผมกลับคิดตรงข้าม...ถ้าเราไม่หาเรื่องเข้ามาในป่า...เราก็ไม่มีรอยขีดข่วนกลับไป  ผมรู้สึกว่าการเดินธรรมยาตราครั้งนี้อาจจะลำบากน้อยกว่าที่ผมคาดเอาไว้ก่อนจะมา...แม้ว่าการมาป่าครั้งนี้จะทำให้ผมหลงทางชั่วขณะก็ตาม  อาจารย์วิเชียรให้ข้อสรุปว่าการมาธรรมยาตราก็เพื่อมาเดินป่า ไม่ได้ต้องการสร้างสมาธิอะไร  โอกาสจะมาสัมผัสธรรมชาติแบบนี้คงยากถ้าอยู่ในเมือง  

     ท่านเหน่งสะท้อนว่า....ความจริงก็ไม่เห็นด้วยที่จะมาธรรมยาตรา แต่มันเป็นแพคเก็จที่ใครบวชกับโครงการของวัดก็ต้องมาธรรมยาตราแบบยกเว้นไม่ได้  แต่สิ่งที่ท่านเหน่งพูดวิจารณ์ออกไปตรงๆคือการบริหารจัดการทำได้ไม่ดี  ใครจะรับผิดชอบถ้าเกิดอะไรขึ้นกับท่านมีน

     ในระหว่างที่มีการแสดงความเห็น....มีโยมแมวที่เขาขัดแย้งกับโยมท่านอื่น เขาระบายอารมณ์ไม่พอใจออกมาแบบไม่ไว้หน้าใคร จนพระนวกะต้องคอยห้ามปราม  เห็นบรรยากาศความแตกแยกของโยมที่เกิดขึ้นจากการมาธรรมยาตราครั้งนี้

     ทำวัตรเย็นเสร็จก็กลับไปที่เต็นท์...แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือเหลือไม่มาก ตั้งโหมดประหยัดพลังงานตลอดเวลา จะใช้เฉพาะตอนถ่ายภาพเท่านั้น ทำให้ใช้แบตเตอรี่ได้กว่า ๓ วัน  การมาธรรมยาตราครั้งนี้เป็นการฝึกให้ใช้ชีวิตห่างหายจากเทคโนโลยีการสื่อสาร เพราะสัญญาณโทรศัพท์ไม่มี  ไม่ต้องไปรับรู้เรื่องของคนอื่น ไม่มีการเชื่อมต่อเฟซบุ๊ค ไม่ต้องคอยเปิดดูไลน์  ทำการชาร์จแบตเตอรี่ในขณะที่จำวัดในเต็นท์


    ตอนประมาณตีสองในขณะที่นอน....เหมือนมีสัตว์ป่ามาดมๆข้างเต็นท์ ลมพัดแรงจนเต็นท์มีอาการโยกไหว  ได้ยินเสียงเก้งร้องเป็นระยะๆ

แล้วอยู่ๆในขณะที่นอนก็มีอาการเหมือนโดนผีอำ เป็นความรู้สึกชัดเจน เหมือนมีคนมาจับแขนเอาไว้ทั้งสองข้าง  อาการหวาดกลัวเกิดขึ้น เริ่มบทสวดแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ไม่ได้ผล ไม่มีวี่แววว่าจะปล่อยแขนทั้งสองข้าง  ใช้บทสวดอื่นก็ไม่สามารถไล่เอามือออกจากแขนทั้งสองข้าง  นึกถึงสมเด็จโตพรหมรังษี...มันก็ไม่ยอมปล่อยแขนเรา  สุดท้ายใจก็นึกไปถึงบทสวดของหลวงพ่อฤาษีลิงดำขึ้นมา แล้วก็เริ่มท่องบทสวดนั้น....ในไม่ช้ามือที่จับแขนทั้งสองข้างก็ปล่อยออก

    ข้อสรุปที่ได้จากปรากฏการณ์นี้ก็คือ.....อะไรที่มีอยู่มากมายในหัวเรา ขอเพียงหยิบจับสิ่งที่เรารู้ดีที่สุดขึ้นมาและใช้ประโยชน์ได้แค่นั้นก็พอแล้ว

ตอนเช้าเล่าเรื่องนี้ให้อาจารย์มหาวิเชียรฟัง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านปราบที่เจออาการผีอำเหมือนกันเมื่อคืน  และคุยกับท่านมีนที่ไปนอนค้างบนเขาเมื่อคืนก่อน  เขาเล่าว่าตัวเขาภายหลังสวดบทสวดมหาจักรพรรดิจบแล้วมองไปเห็นเจ้าป่าในชุดคนโบราณตัวสูงเกือบเท่าต้นตาล จิตสื่อสารกับเจ้าป่าว่า "เจ้าป่าจะมาเจอพระบวชใหม่"  เรื่องที่เล่าเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล ผมไม่สรุปว่าท่านผู้อ่านต้องเชื่อตาม  แต่สิ่งที่ผมสัมผัสเมื่อคืนเป็นความรู้สึกที่ผมคงไม่ลืม...ไม่คิดว่าจะเจอกับตนเอง  มีคนบอกว่าบทสวดแผ่เมตตาใช้ไม่ได้ผลกับการขับไล่ภูตผีปีศาจ....เพราะยิ่งสวด พวกนั้นยิ่งเข้าใกล้เราเพราะอยากรับผลบุญที่เราแผ่ให้พวกเขา  กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนกับตัวผม....อาจจะจริง


    เราทำวัตรเช้าที่โขดหินกลางน้ำ....




    เริ่มเก็บสัมภาระเตรียมเดินทางต่อเพื่อไปจุดนัดหมายให้รถมารับที่อำเภอเนินมะปรางค์  

     ถ่ายภาพกับเต็นท์ที่นอนพักเมื่อคืนและเกิดปรากฏการณ์ผีอำ





   เดินตามแนวลำธาร...เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะทางเดินไม่เรียบ มีหลายช่วงต้องปีนป่ายโขดหิน และเท้าผมก็ชนโขดหินจนซ้น มีอาการช้ำบวม  เดินตามกลุ่มข้างหน้าไป และไม่เห็นรอยเท้าเพราะพื้นเป็นหญ้า  พยายามเดินหารอยเท้าของกลุ่มหน้า  โชคดีที่มีคนสวมรองเท้า Onitsuka ทำให้สะกดรอยตามได้ไม่ยากเพราะว่าลายบนพื้นรองเท้าแตกต่างและง่ายต่อการจดจำ  เดินตามๆกันมาจนในที่สุดก็มาถึงจุดนัดหมายซึ่งมีรถอีแต๊กมารอพวกเราอยู่

    ตลอดระยะเวลาที่เดินธรรมยาตราครั้งนี้ผมได้ลองวัดกำลังตัวเองแล้ว....และในที่สุดผมก็ทำได้ ผมไม่ได้ให้พรานช่วยแบกสัมภาระให้เลยแม้แต่วันเดียว เงินที่เตรียมมาเผื่อสำหรับจ้างพรานในการแบกสัมภาระถ้าเราสะพายกระเป๋าไม่ไหวจริงๆ   เงินจำนวนดังกล่าวผมมอบให้ทีมพรานในฐานะที่พวกเขาช่วยนำทางพวกเรามาถึงที่หมายครบทุกคนอย่างปลอดภัย  





    อาการอิดโรยมากจากการเดินธรรมยาตรา....กระหายน้ำกันทุกคน  เราขึ้นรถอีแต๊กผ่านป่าข้างทางและต้นไม้ของบ้านเรือนข้างทางออกมาที่วัดถ้าแห่งหนึ่งในเขตเนินมะปรางค์ ซึ่งมีรถของโยมพ่อของพระนวกะมารอรับ



   ใช้เวลาร่วมสี่สิบนาทีก็มาถึงวัดวังหิน สภาพแผลจากการไปธรรมยาตราครั้งนี้





   เอาสบง จีวร ไปซักล้างตาก ทำความสะอาดกุฏิ เพราะพรุ่งนี้ลาสิกขา  แต่อยู่ร่วมพิธีบวชพระใหม่สองรูปก่อนจะลาสิิกขา

   หลังทำวัตรเย็นเสร็จกลับมาที่กุฏิเขียนเล่าประสบการณ์จากการไปธรรมยาตราครั้งนี้ก่อนเข้านอนตอนเกือบเที่ยงคืน









 

Create Date : 25 ตุลาคม 2560    
Last Update : 25 ตุลาคม 2560 23:37:06 น.
Counter : 1373 Pageviews.  

In Remembrance of King Bhumibol Part 8 (ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๘)



ผมใช้ชีวิตเพศบรรพชิตในวัดวังหินก่อนไปธรรมยาตราที่ทุ่งแสลงหลวง กิจกรรมที่ทำในระหว่างที่บวช


    ตอนเช้าเสียงระฆังตอนตีสามปลุกให้ทุกคนตื่นเตรียมตัวไปทำวัตรเช้าที่ศาลา นั่งสมาธิตอนเช้าก่อนเริ่มต้นสวดมนต์เช้า  พระอาจารย์มหาวิเชียรจะเทศนาให้ข้อคิดต่างๆในระหว่างที่เรานั่งเจริญภาวนา บทสวดวัดนี้มีคำแปลแต่บางบทผู้นำสวดก็เลือกที่จะไม่แปลเป็นภาษาไทย  ผู้นำสวดจะมีการเวียนไป 


   ทำวัตรเช้าเสร็จก็พอมีเวลากลับไปเตรียมตัวที่กุฏิ พระในวัดวังหินใช้สัญญาณเสียงรายการตอนหกโมงเช้าของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พิษณุโลกที่มีคุณนุกูล นาคคชฤทธิ์ที่เป็นผู้อำนวยการของสถานีจัดรายการข่าวตอนเช้าๆ...ถ้าได้ยินเสียงจัดรายการดังขึ้นแสดงว่าหกโมงเช้าแล้ว การก้าวออกจากวัดเพื่อไปบิณฑบาตรไม่อาบัติ  มีวินัยสงฆ์ที่ระบุว่าสงฆ์จะออกบิณฑบาตรได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นเส้นลายมือตัวเอง

   มีอยู่วันหนึ่งที่ไฟฟ้าในเขตอบต.พลายชุมพลดับ....พระที่ออกไปบิณฑบาตรต้องคลำทางไป ไม่ได้เอาไฟฉายส่องทางไประหว่างบิณฑบาตร แต่ถึงแม้ว่าไฟฟ้าดับแต่โยมยังรอใส่บาตรตอนเช้า หลายครอบครัวเอาไฟฉายส่องตอนใส่อาหารในบาตร  พระดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะอาหารที่ชาวบ้านถวายตอนเช้า ถ้าไม่มีโยมศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว...ไม่มีใครใส่อาหารให้พระ..พระภิกษุจะดำรงเพศบรรพชิตด้วยความยากลำบาก

   ใช้เวลาเดินบิณฑบาตรประมาณ ๑ ชั่วโมง  ในระหว่างที่บวชมีโยมเปิ้ลเพื่อนสมัยเรียนบัญชีจุฬาฯ แวะเข้ามาใส่บาตรตอนเช้าก่อนเดินทางพร้อมครอบครัวไปสุโขทัยต่อไป

   พระที่วัดนี้มีวัตรปฏิบัติที่ฉันอาหารในบาตรวันละมื้อเดียว  ที่มามาจากสมัยก่อนพระฉันอาหาร ๒ มื้อแล้วมีอยู่วันหนึ่งมีการสอบถามพระบางรูปเรียกลงมาฉันเพล พระบางรูปบอกว่ายังอิ่มอยู่  ดังนั้นจึงไม่ลงไปฉัน  เลยมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นมาตกลงกติกาใหม่ว่าพวกเรามาฉันแค่มื้อเดียวดีไหม?  ทุกคนเห็นพ้องกัน  เลยถือวัตรปฏิบัติฉันอาหารมื้อเดียวเป็นต้นมา

   ฝึกสมาธิในการทานอาหาร คุมจังหวะในการเคี้ยวอาหาร ค่อยๆเคี้ยว ไม่คุยกับคนอื่นเพราะการคุยในระหว่างทานอาหารหรือตักอาหารเข้าปากในระหว่างที่ยังเคี้ยวไม่หมดเป็นการทำวินัยให้ด่างพร้อยอาบัติในขั้นปาจิิตรีย์  ลุกจากที่นั่งแล้วจะไม่ขบฉันอะไรอีกเป็นธุดงวัตรข้อหนึ่งที่ผมถือในระหว่างที่บวช

   หลังฉันอาหารเสร็จก็ทำการล้างบาตรเอาเศษอาหารออกแล้วตากบาตรให้แห้ง ก่อนจะมาเก็บบาตรภายหลังตอนสายๆ  บาตรเป็นเครื่องมือในการทำให้ชีวิตของพระภิกษุดำรงตนอยู่ได้ ดังนั้นหน้าที่ของพระภิกษุจึงควรดูแลบาตรเป็นอย่างดี





    ผมเคยสงสัยว่าทำไมวัดวังหินถึงถูกจริตกับผมจนผมตัดสินใจที่จะบวชที่วัดนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙  วันนึงมีโอกาสได้สนทนากับป้าพรทิพย์ที่เป็นคนดูแลห้องสมุดของวัด  จึงทราบว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยอยุธยา....นับว่าเป็นวัดที่มีอายุกว่า ๓๐๐ ปี  บางทีอดีตชาติผมอาจจะเคยทำบุญและเกี่ยวข้องกับวัดนี้มาก่อนจึงมีเหตุนำให้ผมมาบวชที่วัดนี้  กุฏิแค่รู้หมายเลข ๑๖ อยู่ติดกับโบสถ์เก่า มีเสมาเก่าและพระพุทธรูปโบราณอยู่ใกล้ๆ มีต้นไทรที่เวลาลมพัดที...เสียงดังซู่ๆๆ....บรรยากาศมีความผสมผสานระหว่างความเก่ากับความใหม่








   พระอาจารย์มหาวิเชียรให้พระอาจารย์สุรเดชเป็นพระพี่เลี้ยงแก่พวกเรา  พระที่บวชรุ่นเดียวกันหลายรูปเคยบวชมาก่อนแล้ว  เหตุผลในการบวชครั้งนี้หลายรูปอาจจะไม่ได้ตั้งใจบวชเพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ บางคนอาจจะเคยบนบานสานกล่าวเอาไว้เพราะญาติพี่น้องพ่อแม่ไม่สบาย...เลยใช้โอกาสนี้บวชตามที่บนไว้....หลายรูปแชร์ประสบการณ์ในการบวชครั้งแรกว่าไม่ได้เรียนรู้เข้าใจธรรมะอะไรเลย การมาบวชครั้งนี้ได้มาเข้าใจธรรมะมากขึ้น แต่หลายรูปไม่ได้แม้แต่อ่านวินัยมาก่อนว่าวินัย ๒๒๗ ข้อมีอะไรบ้าง  ออกจะตกใจที่พระหลายรูปทำผิดวินัยเรื่องที่พระควรทราบเช่น พระห้ามยืนฉี่ แต่พวกเขาไม่ทราบมาก่อนเลย  ผมเลยขอให้ใหม่ช่วยถ่ายเอกสารนวโกวาทมาแจกให้พระนวกะที่บวชพร้อมกันเป็นธรรมทาน

    ความจริงแล้วหนังสือนวโกวาท...ผู้ที่จะบวชควรอ่านก่อนจะบวชมากกว่ามาอ่านตอนที่บวชไปแล้ว เพื่อจะได้เตรียมตัวและไม่ทำให้ศีลด่างพร้อย  การรักษาศีลให้ครบ ๒๒๗ ข้อเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากในขณะที่เป็นฆราวาส  ดังนั้นการมาบวชในพระพุทธศาสนาได้มีโอกาสสืบทอดพระพุทธศาสนาแม้จะระยะเวลาไม่นานก็ตามควรใช้เวลาช่วงนี้ให้ดีที่สุดเพราะนอกวัดหาโอกาสยากมากที่จะรักษาศึลให้ครบ ๒๒๗ ข้อเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมนอกวัดไม่เอื้อให้รักษาศีลได้ครบถ้วน

   การเสพข่าวที่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต...ความจริงแล้วไม่ผิดสำหรับภิกษุ แต่การไม่ควบคุมใจตนเองจะทำให้ภิกษุพลั้งเผลอและลืมไปว่าตอนนี้เป็นเพศบรรพชิต  ความคิดและความเคยชินแบบฆราวาสจะทำให้จิตใจของภิกษุเพลิดเพลินติดในสิ่งที่เสพ ใจไม่สงบ เพราะส่งใจออกไปตามสิ่งที่มากระทบ  การโพสท์ภาพหรือข้อความบ่อยๆตามความเคยชิน....ได้รับการเตือนจากคนรอบข้าง ซึ่งทำให้ผมต้องมาสะท้อนตัวเอง  ใจไม่สงบก็ไม่มีประโยชน์สำหรับการมาบวช ต้องถามตนเองว่ามาบวชเพื่ออะไร? หลังจากพิจารณาตนเองแล้วว่าการใช้อินเทอร์เน็ต การโพสท์ข้อความ การลงรูป มันสร้างใจของเราไม่สงบ ผมเลยตัดสินใจหยุดโพสท์  เลือกอ่านข้อความที่เหมาะสมถือเป็นการติดตามข่าวของโลกภายนอกแต่ไม่เอาใจใส่ลงไปในข่าวเหล่านั้นและไม่เขียนข้อความใดๆ เห็นข้อความที่เพื่อนๆโพสท์ลง....สามารถวิเคราะห์อารมณ์ของคนโพสท์ได้ทันทีว่าแท้จริงเขาคิด เขาเชื่ออะไรอยู่ และกำลังติดอยู่กับอารมณ์แบบไหน รัก โลภ โกรธ หลง  เห็นข้อความเหล่านั้นแล้วก็วางอุเบกขา ไม่เก็บเอามาคิดปรุงแต่งต่อไป


   ตอนบ่ายมีการกวาดลานวัด.....การกวาดลานวัดเป็นกิจกรรมที่ช่วยทำให้เราฝึกจิตจดจ่อกับสิ่งที่ทำ  ความสะอาดของลานที่กวาดบ่งบอกถึงความตั้งใจในการทำงาน การกวาดลานวัดช่วยลดความคิดฟุ้งซ่าน


   ตอนเย็นทำวัตรเย็น มีการนั่งสมาธิก่อนสวดมนต์ และภายหลังจากสวดมนต์เย็นเสร็จ จะมีการถวายความรู้เรื่องวินัย เรื่องธรรมะแก่พระบวชใหม่  คำว่าปาราชิกพึ่งเข้าใจว่าเหตุที่ทำให้พระปาราชิกนอกจากจะอวดอุตริมนุษธรรม, เอาของคนอื่นมากกว่า ๑ บาท, ทำให้สงฆ์แตกแยกแล้ว การฆ่าคน...ยังครอบคลุมถึงการพูดเล่นแล้วเป็นเหตุให้คนอื่นเกิดความคิดจะฆ่าตัวตายหรือชักจูงให้ฆ่าคนอื่นด้วย...แบบนี้ก็เข้าข่ายปาราชิก คือ ต้องสละความเป็นภิกษุและไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ได้

  มีโอกาสฟังพระอาจารย์มหาวิเชียรบรรยายธรรมเรื่องปฏิจจสมุทปบาท....เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก  แม้จะเคยอ่านมาบ้างสมัยบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จดจ่อสนใจนัก  ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน เพราะมีเหตุแบบนี้...แบบนี้จึงเกิด..และเหตุที่เกี่ยวเนื่องยังไปทำให้เรื่องอื่นเกิดขึ้นตามมา  การบรรยายเรื่องนี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆไม่ใช่เรื่องง่ายเลย   ผมมีโอกาสถามพระอาจารย์มหาวิเชียรเรื่องเทพในพระพุทธศาสนา.....เพราะที่อ่านมาดูเหมือนขัดแย้งกัน  พุทธที่เป็นพุทธจริงปฏิเสธการมีเทพ แต่บทสวดมนต์กลับมีข้อความเรื่องเทพเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมโยงความเชื่อของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่พยายามโยงเอาบุรพกษัตริย์ผู้ทรงสร้างคุณูปการให้แผ่นดินไทยอย่างเช่น รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่าเป็นเทพที่คอยปกปักรักษาบ้านเมือง เวลาเดือดร้อนใจก็ไปกราบ บนบานสานกล่าวขอร้องให้ท่านช่วย  ข้อสงสัยคือท่านเหล่านั้นสวรรคตไปนานแล้ว กว่าร้อยปี ท่านไม่ไปเกิดใหม่แล้วหรือ ทำไมคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ต้องการให้ท่านไปเกิดใหม่ แต่กลับต้องการให้ท่านยังคงอยู่และช่วยเหลือพวกเขาต่อไป?

  คำตอบที่ได้รับจากพระอาจารย์มหาวิเชียรสอดคล้องกับความคิดในใจของผมก่อนที่จะถาม  แต่ท่านอาจารย์ก็ให้ข้อคิดว่า....กษัตริย์ที่เคยนำผู้คนไปรบพุ่งในสงครามในอดีตล้มตายจำนวนมาก....ท่านเหล่านั้นมักประชวรด้วยพระโรคที่เกี่ยวข้องกับกรรมที่ทำให้ท่านต้องฆ่าผู้คนจำนวนมากในสงคราม

  นึกถึงบทสวดมนต์ที่กล่าวว่า  "มนุษย์ทุกคนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์...มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย...ใครทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลกรรมนั้น"

การบวชครั้งนี้แตกต่างจากการบวชในพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์....ครั้งนี้ครอบครัวของใหม่ตั้งใจจะทำบุญเลี้ยงเพลพระ  การบวชครั้งนี้ผมจึงมีโอกาสได้ฉันเพลที่ญาติโยมนำมาถวาย ถึงแม้ว่าวัดจะมีวัตรปฏิบัติว่าพระที่วัดนี้ฉันมื้อเดียว แต่วันที่มีญาติโยมเลี้ยงเพล....พระในวัดจะทราบว่าพยายามฉันอาหารมื้อเช้าแต่น้อย เพราะไม่อย่างนั้นจะฉันเพลไม่ได้

  การบวชครั้งนี้....โดยบังเอิญที่ได้รับกิจนิมนต์ให้ไปร่วมงานทำบุญของกิจการธุรกิจขายตรงที่เป็นลูกศิษย์วัดวังหิน  เป็นครั้งแรกที่สวดบทสวดมนต์พิธีให้กับโยม
สมัยบวชที่วัดชลประทานฯ หลวงพ่อปัญญาไม่เคยให้พระนวกะรับกิจนิมนต์ และเราไม่เคยได้รับการสอนบทสวดที่ใช้ในกิจนิมนต์  มีแต่บทสวดสัพพโรโค...ที่เราสวดจนเคยชินมากกว่า  สำหรับบทสวด ยถา วลีวะหา ปุราปะริปุเรน ติสาคารัง เอนะเตนะ อิโตทินนัง เปตานัง อุปะกัมปะติ...เป็นบทสวดที่คุ้นหูเพราะฟังพระสวดให้พรบ่อยๆจนท่องตามได้

  หลังจากบวชอยู่ที่วัดครบ ๑ สัปดาห์....ก็ได้เวลาเตรียมตัวเดินทางไปธรรมยาตราที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง


  ไปเตรียมอุปกรณ์เดินป่า.....


   มีคนที่เคยไปธรรมยาตราเล่าเรื่องประสบการณ์ว่าเจออะไรบ้าง....บางคนก็เตือนให้เตรียมของไปน้อยที่สุดเพราะยิ่งของมากก็เป็นภาระมาก


   อากาศที่เย็นช่วงปลายเดือนมกราคม....ทำให้ผมไม่อาจลืมเตรียมผ้าห่มไปด้วย แม้ว่าผ้าจีวรอาจจะช่วยกันลมได้ระดับหนึ่งแต่เคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าเวลาลมพัดจนหนาว จีวรก็เอาไม่อยู่  เต็นท์พับ แผ่นปูรองเต็นท์ ยารักษาโรค ไฟฉาย ชามและช้อนส้อม สบง จีวร อังสะ ผ้าคลุมศีรษะ ผ้าคลุมแขน....ของจำเป็นสำหรับการเดินทางคราวนี้ที่มีเห็บป่าคอยรอคณะธรรมยาตราชุดนี้อยู่

   ทำไปทำมา...เอาของเท่าที่จำเป็นไป ก็ได้เป้บรรจุของเตรียมไปธรรมยาตราประมาณนี้....ดูแล้วน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๑๐ กิโลกรัมที่ผมต้องแบกไปตลอด ๓ วันของการเดินทางธรรมยาตราที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง







ในป่ามียุงและมีเห็บป่า  เห็บป่าน่ากลัวขนาดไหน......คนที่เคยไปธรรมยาตรามาแล้วเล่าให้ฟังถึงอันตรายของเห็บป่า  มันจะฝังตัวและดูดเลือดของคนที่มันฝัง ปล่อยเชื่้อโรคเข้าไปในกระแสเลือดของเหยื่อที่มันฝังตัว  พระบางรูปที่ไปธรรมยาตรามา...พึ่งตระหนักว่ามีเห็บป่าฝังบนใบหน้าเมื่อกลับจากธรรมยาตราไปแล้วเป็นเดือน  บางคนมีอาการเป็นไข้ภายหลังจากเห็บป่าฝังตัวในผิวหนัง


  สำหรับผมที่เคยเดินป่าแต่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ธรรมยาตราแบบนี้ย่อมหวาดกลัวการถูกเห็บป่าฝังตามผิวหนัง  พระในวัดแนะนำให้ใช้แป้งทากันเห็บหมามาทาตัวเพื่อป้องกันเห็บป่า  แต่ผมอ่านฉลากข้างขวดพบว่าเขาเขียนเตือนว่าห้ามโดนผิวหนังและใช้สำหรับสุนัขเท่านั้น  ผมสงสัยว่าจะใช้แป้งทากันเห็บหมากับคนได้หรือ  มีพระบางรูปใช้ตรรกง่ายๆคิดว่าขนาดหมายังทาตัวได้...ทาคนก็ไม่เป็นไร ป้องกันเห็บป่าดีกว่าให้เห็บฝังผิวหนัง ดูดเลือดและปล่อยเชื่้อโรคเข้าร่างกาย


   คนที่เป็นกังวลกับการเดินทางธรรมยาตราของผมครั้งนี้มากกว่าตัวผมเองคือใหม่  เธอเป็นห่วงแทนผม กลัวจะเป็นอันตราย เพราะในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และเดินทางในป่าร่วม ๔ วัน ๓ คืน ในป่านั้นมีสัตว์ป่า ไม่มีส้วมสาธารณะ มียุงและมีเห็บป่า  พอเล่าเรื่องเห็บป่าให้ฟัง เธอไปจัดหาครีมทากันเห็บและแมลงที่มีคุณภาพสูง ไม่เป็นอันตรายต่อคน มาถวายผมเพื่อเอาไปใช้ในระหว่างธรรมยาตราครั้งนี้  เธอไม่แน่ใจและไม่ไว้วางใจแป้งฝุ่นทาเห็บหมาที่พระในวัดส่วนใหญ่กล้าใช้กัน เพราะฉลากข้างขวดเตือนว่าห้ามทาโดนผิวหนังคน  ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพของผมในระยะยาวเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมากกว่า  เธอใส่ใจเรื่องนี้มากจนเธอต้องไปค้นหาครีมที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนมาให้ผมใช้ แม้จะมีราคาแพงกว่าแป้งทาเห็บหมามากแต่เธอยินดีซื้อมาถวายดีกว่าให้ผมใช้แป้งทาเห็บหมาเหมือนพระรูปอื่น  ผมบอกใหม่ว่าซอฟเฟลที่ทาผิวไล่ยุง...มันช่วยกันยุงที่บินกวนในกุฏิได้ดีกว่าสเปรย์ตะไคร้แต่กลิ่นหอมที่ทาผิวหนังอาจจะไม่เหมาะกับพระ เพราะวินัยห้ามพระลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอม  ใหม่ไปหาซอฟเฟลกลิ่นธรรมชาติมาถวายให้เพื่อไม่ให้ผมทำศีลด่างพร้อย

    การมีคนที่คอยห่วงใยและหวังดีต่อตัวเราถือเป็นความโชคดี ไม่ทุกคนเสมอไปจะเจอเรื่องราวแบบผม  การมาบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครั้งนี้ทำให้ผมมองเห็นความดีงามในตัวใหม่  แล้วก็ซาบซึ้งในความห่วงใยที่เขามีให้ผม และทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นกับคำพูดที่ว่า "มนุษย์ไม่ได้อยู่ตามลำพังคนเดียวในโลกใบนี้"






 

Create Date : 14 ตุลาคม 2560    
Last Update : 15 ตุลาคม 2560 1:50:44 น.
Counter : 800 Pageviews.  

In Remembrance of King Bhumibol Part 7 (ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๗)



วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตื่นตีสามครึ่งตามเสียงนาฬิกาปลุก มีอาการอยากนอนต่อแม้ว่าเมื่อคืนจะหลับสนิททั้งคืนก็ตาม  เดินไปศาลาเมตตาธรรม นั่งสมาธิ จิตไม่สงบเพราะกังวลเรื่องบางเรื่องไม่อยากให้ติดค้างก่อนจะบวช  


       ทำวัตรเช้าวันนี้อาจารย์พระมหาวิเชียรแสดงธรรมว่า ทุกอย่างมีเหตุทำให้เกิดขึ้น เรื่องต่างๆไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ถ้าไม่มีสาเหตุ  คนส่วนมากเชื่อว่าหนทางแห่งการดับทุกข์คือ การให้ทานและรักษาศีล คนจำนวนมากจึงพากันบริจาคข้าวของเงินทองให้วัดเพราะคิดว่านั่นคือหนทางที่จะช่วยดับทุกข์ หรือบางคนพยายามทำตัวให้ดูเคร่งด้วยการถือศีลอย่างเคร่งครัดหรือถือศีลที่มากกว่าคนทั่วไป  แต่ความจริงแล้ว.....การเจริญภาวนาช่วยทำให้เราเท่าทันอารมณ์....เมื่อเท่าทันอารมณ์ก๋็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะจิตรู้ทัน  เมื่อเราไม่สร้างเหตุให้เกิดทุกข์  ทุกข์จึงไม่มี  

       จิตใจที่ยังโหยหา เติมอย่างไรก็ไม่เต็ม ย่อมไม่มีความสุขอย่างแท้จริง  บางคนไม่รู้จักพอ...มีเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ...ยังอยากจะได้เพิ่มขึ้น...จิตแบบนี้แท้จริงเป็นทุกข์


วันนี้ตามพระภิกษุออกไปบิณฑบาตเส้นถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒๖ ข้ามสะพานไปหมู่บ้านแม่พระธรณีทอง  มีคนมาใส่บาตรไม่มาก พอกลับมาที่วัดก็เอาน้ำผลไม้ถวายหมู่สงฆ์เป็นของกองกลาง  ความจริงวัดไม่ได้เคร่งขนาดห้ามดื่มนมเหมือนวัดสายป่า แต่ผมคิดว่าน้ำนมถือเป็นอาหารแบบหนึ่งไม่น่าจะจัดอยู่ในประเภทน้ำปานะ  ดังนั้นจึงยึดวัตรปฏิบัติที่จะไม่ฉันนมสดหลังยามวิกาล(เที่ยงวัน) 

    ตอนเช้ามีการซ้อมครองจีวรและซ้อมขานนาค หลวงตาที่เป็นพระอาคันตุกะมาจากวัดแถววังทอง...ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการสอนครองจีวรมากนัก  คุณลุงจรัสในวัยใกล้เกษียณมาร่วมโครงการอุปสมบทหมู่ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยวัยที่มาก การจะจดจำเนื้อหาที่ต้องสวดขอบรรพชาอุปสมบทในเวลาอันสั้นเป็นเรื่องยาก  คุณลุงจรัสจะถอดใจไม่อุปสมบทจะขอแค่บรรพชาเป็นเณรเท่านั้น! เนื่องจา่กกลัวว่าจะท่องขานนาคไม่ได้  หลวงตาที่เป็นพระอาคันตุกะก็ถือท้ายให้ลุงจรัสบวชแค่เณรก็พอ

   โดยส่วนตัวแล้วผมฟังคำแนะนำของหลวงตารูปนั้นแล้วรู้สึกไม่ดีนัก และเชื่อว่าลุงจรัสท่องขานนาคได้ เพียงแต่ต้องซ้อมบ่อยๆและได้รับการชี้นำ ให้กำลังใจ ผมไม่อยากให้ลุงจรัสทิ้งความตั้งใจของตนเองที่คิดจะบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วเลิกล้มความตั้งใจที่จะบวชถวายเพียงเพราะคิดเอาเองว่าท่องไม่ได้


ผมยังอยากพิสูจน์สุภาษิตประจำตัวผมที่ว่า "ความพยายามของผู้คนไม่เคยจบลงด้วยความสูญเปล่า" เป็นจริงเสมอ แม้แต่กรณีลุงจรัสก็ตาม


  หลายคนเลี่ยงบาลีว่าตอนนี้ถือแค่ศีล ๘ จึงไม่ผิดถ้าจะทานมาม่าก่อนเที่ยง แต่ผมคิดว่าพวกเขาจะบวชเป็นภิกษุอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เขาควรฝึกข่มใจตนเอง เอาชนะกิเลสตนเองให้ได้  ความจริงมีวินัยที่ระบุไว้ว่าห้ามภิกษุหุงต้มอาหาร ดังนั้นการต้มมาม่าต่อให้ต้มเวลาไหนก็ถือว่าทำให้วินัยด่างพร้อย


    ในระหว่างที่คนส่วนมากกินมาม่า...ผมแวะไปพูดให้กำลังใจลุงจรัสและช่วยซ้อมขานนาคให้ลุงจรัสที่กุฏิเหน่งอยู่   วันนี้ผมซ้อมท่องขานนาคคล่องกว่าหลายวันที่เคยซ้อมมา...อาจจะเป็นเพราะตอนนี้ใจสงบพอและมีสมาธิมากกว่าวันที่ผ่านๆมา 

    แวะไปดูชุดนาคที่จะสวมวันพรุ่งนี้ที่ห้องสมุดของวัด ความสับสนเรื่องเวลาปลงผมนาคเกิดขึ้นเพราะขาดการประสานงานที่ดีภายในวัด  ป้าพรทิพย์ยืนยันว่าปลงผมนาคเวลา ๔ โมงเย็นวันนี้  บรรดานาคเลยโทรแจ้งเวลาใหม่แก่ญาติพี่น้องเพราะตอนแรกเข้าใจว่าเป็นพรุ่งนี้ ผมปลงผมมาอยู่วัดตั้งแต่ต้นแล้วจึงไม่เดือดร้อนอะไรถ้าทางวัดจะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาปลงผมนาค


    ตอนบ่ายซ้อมขานนาคกับลุงจรัสและเหน่ง พยายามช่วยลุงจรัส ให้กำลังใจลุงจรัส  พอท่องขานนาคพร้อมกันจริงๆ...ลุงจรัสก็ท่องได้จนจบแม้จะผิดบางท่อนก็ตาม  





  ตอนสี่โมงเย็น....เริ่มทำพิธีปลงผมนาคบริเวณริมโบสถ์ เป็นอย่างที่ผมคิดเอาไว้...ใบมีดโกนที่พระนิยมปลงผมนาคที่ว่าโกนได้ไว....บาดศีรษะลุงจรัสเข้าเต็มๆและแผลลึกด้วย พยายามช่วยกันห้ามเลือด พระที่โกนผมให้ก็ใจเสีย การที่รูปร่างศีรษะของนาคบิดเบี้ยวจนเป็นเหตุให้ใบมีดบาดลึกขนาดนั้นคงไม่สามารถอธิบายลบความรู้สึกของคนถูดมีดโกนบาดเลือดซิบๆได้  บาดแผลบนศีรษะของลุงจรัสลึกมาก  เลือดไหลไม่หยุด.... ผมให้ลุงจรัสใช้ NSC Cleansing Gel ล้างศีรษะและใบหน้าเพราะเจลตัวนี้ไม่ทำให้แสบตาและไม่แสบแผล  เอาขมิ้นโรยที่ศีรษะ เลือดมาหยุดไหลตอนนี้ปลงผมเกือบเสร็จ

  ขู่เหน่งเอาไว้ว่าใบมีดโกนที่พระโกนกันส่วนมากบาด แนะนำให้ใช้ปัตตาเลียนไถดีกว่าแล้วค่อยๆโกนผมทิ้งทีหลัง  เหน่งกำชับช่างให้เอาปัตตาเลียนมาแต่ช่างก็ดื้อและมั่นใจในฝีมือตัวเองมาก....เชื่อว่าฝีมือโกนของตัวเองไม่บาดศีรษะนาค เห็นอาการมั่นใจของช่างตัดผมแบบนี้ก็ไม่พูดอะไร ลุ้นกันต่อไปว่าจะบาดศีรษะเหน่งมากน้อยแค่ไหน  บริเวณที่เป็นหัวสิว....ให้โกนระวังอย่างไรก็บาด....แน่นอนเมื่อหัวสิวหลุดก็ตามมาด้วยเลือดไหลออกมาซิบๆ



   ภายหลังจากช่างตัดผมโกนผมเหน่งแล้วผมช่วยโกนเศษผมที่ยาวบนศีรษะให้เหน่ง และจัดการโกนหนวดและเคราให้นาคเหน่ง....ถือเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่นี้ให้อาจารย์เหน่ง


   คืนนั้นภายหลังจากทำวัตรเย็นแล้ว  ผู้เข้าร่วมอบรมมีคำถามสอบถามพระอาจารย์มหาวิเชียรต่อแนวทางปฏิบัติมากมาย  แนวคิดหนึ่งที่พระอาจารย์มหาวิเชียรกล่าวไว้น่าสนใจทีเดียว

"การแก้กรรม....เราสามารถแก้ไขได้โดยการไม่กลับไปทำกรรมนั้นซ้ำอีก  ไม่ใช่ย้ำคิดย้ำทำต่อสิ่งผิดพลาดที่ตนเองเคยธรรม โทษตัวเอง ถ้าเป็นแบบนั้นย่อมไม่สามารถหลุดออกไปจากกรรมเก่าได้ เหมือนการสะกดจิตตัวเองและสุดท้ายก็จะกลับไปทำสิ่งผิิดพลาดอีก"


ผมมองว่า ถ้ามนุษย์สามารถให้อภัยคนอื่นได้....เขาควรรู้จักให้อภัยตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน  ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง...บางครั้งก็ไม่ใช่เจตนา แต่ถ้าเราเฝ้าตอกย้ำความผิดของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นได้ไหม

ผมมีคำถามสอบถามพระอาจารย์เช่นกัน เพราะสงสัยในคำถามนี้ภายหลังจากได้ยินหัวข้อบรรยายคืนนี้เกี่ยวกับภพภูมิภายหลังความตาย ผมเลยสอบถามไปว่า

  "ถ้าการฆ่าคนเป็นบาป ทหารที่ไปรบในสงคราม หลายคนไม่ได้ต้องการฆ่าคนอื่น แต่มันเป็นหน้าที่และเขาไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ในการฆ่าคนอื่นได้ในสงคราม ในสงครามไม่มีความถูกต้อง มีแต่คำสั่งที่ทหารทุกคนต้องทำ  ดังนั้นการฆ่าคนอื่นในสงครามเพราะเป็นหน้าที่ ทหารเหล่านั้นที่ตายไปแล้วเขาจะไปเกิดในภพภูมิใด?"

   พระอาจารย์ตอบคำถามนี้ว่า

    "อยู่ที่เจตนาตอนนั้น  การไปฆ่าคนในสงครามเป็นเพราะกระทำตามหน้าที่ มันจึงไม่ผิด  แต่สุดท้ายจะไปเกิดในภพภูมิิไหน ยากที่จะหยั่งรู้"


   ใหม่และหลายคนสอบถามว่าพรุ่งนี้จะเริ่มบวชเวลากี่โมง ทางวัดไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้นาคแต่ละคนทราบ รู้แต่ว่าจะมีพิธีเทศน์สอนนาคตอนบ่ายโมงและจะทำพิธีบรรพชาเป็นเณรก่อนจะอุปสมบทเป็นพระต่อไป...น่าจะตอนบ่ายสองโมง

   มีการแจ้งทางระบบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีผมเรียบร้อยแล้ว...เป็นอันว่าความกังวลเรื่องหนี้สินที่ติดค้างก็เคลียร์เรียบร้อยก่อนบวช  ก่อนบวชไม่ควรมีหนี้สินค้างระหว่างกัน


วันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๒ ซึ่งวันนี้ครบรอบ ๑๐๐ วันที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต


วันนี้ที่วัดมีกิจกรรมตักบาตรภายในวัดตอนเช้า และวันนี้มีกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ เห็นบรรดาคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณใส่ชุดนักเรียนมาเรียนที่วัด เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจที่ทางอบต.พลายชุมพลจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

   จนถึงตอนเที่ยงนาคทุกคนที่จะบวชยังไม่ทราบฉายาที่จะบวชเลย....เป็นความกังวล เพราะตอนกล่าวบรรพชาต้องพูดถึงฉายาตัวเอง  ปกติก่อนบวชนาคจะทราบฉายาตัวเอง  การบวชจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อตนเองเป็นชื่อในภาษาบาลีเพื่อสะดวกในการเรียกและสวดขอบวชเป็นบาลี

   พิธีสอนนาคก่อนบวชเริ่มในโบสถ์ชั้นล่างที่ออกแบบมาเหมือนเป็นศาลาวัด พระอาจารย์มหาวิเชียรให้ข้อคิดว่า "บวชทำไม" คำว่า "นาค" แปลว่า ประเสริฐ และการบวชเพียงเพื่อพัฒนาตนเอง สืบทอดพระพุทธศาสนา แม้การบวชอาจจะทดแทนบุญคุณบิดามารดาได้ไม่มากก็ตามที  พระอาจารย์พูดถึงพิธีบวชที่วัดวังหินจัดทุกเดือน และรุ่นที่เราบวชเป็นรุ่นหน่อพุทธางกูร รุ่นที่ ๑ 

   หลังจากเทศนาสอนนาคเสร็จ เขาก็ให้พ่อแม่ของนาคมานั่งให้พ่อนาคกล่าวขอขมา





   เขาให้ผมเป็นตัวแทนนาคกล่าวตามคำขอขมาอโหสิกรรม....ในระหว่างที่กล่าวเกิดอาการตื่้นตันใจ นึกถึงบุญคุณของบุพการี...เสียงสั่นเครือบางช่วงแต่ก็ควบคุมอารมณ์ตัวเองเอาไว้ได้  แม่อาจารย์เหน่งดูท่าทางดีอกดีใจแม้ว่าจะสื่อสารไม่รู้เรื่อง  แล้วพ่อนาคก๋็ทำการกราบที่เท้าของบุพการี












   หลังจากนั้นพ่อนาควนรอบโบสถ์สามรอบ ในอดีตตอนบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์  ไม่มีพิธีส่งเสียงโห่ตอนเดินวนรอบโบสถ์ ไม่มีการโปรยเหรียญทาน อุบายในอดีตที่มีพิธีโปรยเหรียญทานเพราะไม่ต้องการให้นาคมีหนี้สินติดตัวก่อนจะบวชจึงโปรยเหรียญทานให้ก่อนจะเข้าโบสถ์










   หลังจากเดินวนรอบโบสถ์สามรอบแล้ว พ่อนาคคุกเข่าพนมมือขอขมาต่อหน้าเสมาโบสถ์ก่อนเดินขึ้นไปโปรยทานแล้วเดินก้าวเข้าสู่อุโบสถ


   พวกเราพึ่งจะทราบฉายาตอนก่อนจะบวชว่าใช้ฉายาตอนบวชว่าอะไร


   ตอนกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวส่งให้เจ้าคณะจังหวัด ผมขอใช้ฉายาเดิมว่า "ชาคโร" ที่แปลว่า "ตื่นตัว, ตื่นแล้วจากอวิชชา, ตื่น"   ทางเจ้าคณะจังหวัดจะให้ฉายาแก่นาคที่จะบวชโดยดูจากวันเดือนปีเกิด ชื่อทางโลก แล้วก็จะตั้งฉายาให้แก่นาค  ปรากฏว่าเจ้าคณะจังหวัดให้ผมใช้ฉายาเดิมว่า "ชาคโร"

   ดังนั้นสำหรับผมจึงไม่ยากในการสวดขานนาคเพราะคุ้นเคยกับฉายาที่เคยใช้สมัยบวชในอดีต  ความจริงพระที่บวชพร้อมกันหลายรูปเคยบวชมาแล้วแต่ฉายาคราวนี้แตกต่างไปจากเดิมเพราะพวกเขาจำฉายาเดิมไม่ได้แล้ว


   คุณลุงจรัสซึ่งอายุมากแล้ว พึ่งมาได้ฉายาตอนอยู่ในโบสถ์...ทำให้ยากแก่การจดจำ  ฉายาของลุงคือ อาทโร  แปลว่า ผู้มีความเอื้อเฟื้อ  ต้องช่วยบอกให้ลุงทราบ  ส่วนท่านเหน่งได้ฉายาว่า อุตตโร แปลว่า ผู้เป็นเลิศ 

  ในการบวชจะเรียงลำดับการบวชตามอายุ ผู้เกิดก่อนจะได้กล่าวคำขอบวชก่อนคนที่เกิดทีหลังแม้จะต่างกันเป็นวันหรือเดือนก็ตาม

   ผมได้ทำพิธีสวดขอบรรพชาและอุปสมบทพร้อมกับลุงจรัสและเหน่ง





    พิธีสวดขอบรรพชาและอุปสมบทไม่ยากอย่างที่คิดเพราะมีการกล่าวกำกับบทในโบสถ์ให้เพียงแต่ว่าทำนองและจังหวะที่เขากำกับแตกต่างไปจากที่พวกเราซ้อมขานนาคกันมา




   พระอุปัชฌาย์ในการบวชครั้งนี้คือ พระครูประภากร วัดเขื่อนขันธ์  พระคู่สวดรูปหนึ่งเป็นโปลิโอ ตอนที่ท่านเดินลากขามาสวดทานกับนาคได้ยินเสียงอุทานของญาติโยมเมื่อเห็นท่านเดินลากขามา  ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพระคู่สวดประหม่าหรือไม่ ทำให้การสวดของพระคู่สวดไม่พร้อมกันในหลายๆครั้ง มาทราบภายหลังว่าพระคู่สวดมาจากคนละวัดกัน จังหวะในการสวดบางท่อนจึงไม่ลงตัว


   ในฉายาบัตรระบุว่าผมได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเวลา ๑๕ นาฬิกา ๓๔ นาที โดยใช้ฉายาว่า "ชาคโร"






    ในขณะที่พระใหม่ส่วนมากรีบเดินลงมารับปัจจัยที่ญาติโยมรอถวายพระบวชใหม่ที่เชื่อว่าการได้ใส่บาตรกับพระที่พึ่งบวชใหม่(ที่ยังไม่เคยมีโอกาสทำบาปเลยภายหลังครองเพศบรรพชิต)มีอานิสงส์มาก  ผมมีโอกาสได้บันทึกภาพในโบสถ์ร่วมกับพ่อแม่ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานดูงดงามมาก (ถามภายหลังว่าพระประธานมีชื่อว่าหลวงพ่ออะไร ก็ไม่มีใครตอบได้)

    มีเพื่อนคณาจารย์ที่คณะฯหลายคนมาร่วมงานบวชครั้งนี้ของผมและเหน่ง  บางคนอาจจะไม่ทันสังเกตเพราะระหว่างที่เดินก็สำรวมอยู่ มีลูกศิษย์บางคน เพื่อนที่สนิทกันบางคนมาร่วมอนุโมทนา  อาจารย์วรเดชตั้งใจมาร่วมงานโดยเฉพาะถึงกับทำเรื่องลากิจที่คณะฯไว้  อาจารย์อาร์มาร่วมอนุโมทนาด้วย



    ภายหลังจากเสร็จพิธีบวชแล้ว ครอบครัวใหม่เอาของมาถวาย เขากลัวว่าผมจะบวชให้พรไม่เป็น สุดท้ายก็ทำให้เห็นว่ายังจำบทสวดให้พรข้างล่างนี้ได้

     "อภิวาทนะสี ลิสสะนิจจัง วุฒาปัจจายิโน จัตตาโร ธัมมาวะทันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง"  ที่แปลว่า พรสี่ประการจะบังเกิดแก่คนที่มีกริยาอ่อนน้อม


    พี่ณัฐมาเยี่ยมแล้วเอาของมาถวายเป็๋นพวกเภสัชที่จำเป็นสำหรับไปธรรมยาตรา และฝากให้ท่านเหน่งด้วยเพราะไม่ได้เจอ  เขาพูดถึงอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาที่ลงชื่อแล้วแต่ไม่มาบวชที่นี่พร้อมพวกเราเพราะใจเขายังไม่พร้อม  ก็ดีแล้วเพราะว่าถ้าเขาไม่พร้อมแล้วมาบวชจะเป็นทุกข์มากกว่า ให้พรโยมณัฐ เขาเข้าใจว่าพระบวชใหม่ยังไม่น่าจะให้พรได้แต่เขาอาจจะลืมไปว่าผมเคยบวชมาแล้วในอดีต

   กวาดลานวัดตอนบ่าย  อาบน้ำแล้วไปทำวัตรเย็น  พระอาจารย์มหาวิเชียรให้พระบวชใหม่ทำพินทุผ้าทุกผืนเพื่อไม่ให้อาบัติในการใช้  บาตรที่ได้มาฝาครอบสลกบาตรไม่พอดีต้องเปลี่ยน และเอาลิควิดเขียนที่บาตรเพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างบาตรของแต่ละคน ทำอธิษฐานบาตร  พระอาจารย์เตือนเรื่องปาราชิกทั้ง ๔ ข้อและเรื่องกำหนัดที่อาจจะเกิดขึ้น  เพศชายเมื่อมีอารมณ์มากระทบถ้าไม่ควบคุมก็อาจจะเกิดความต้องการและสุดท้ายความคิดจะนำไปสู่การระบายปลดปล่อยทางเพศซึ่งต้องห้ามในเพศบรรพชิต  ถ้าเกิดมีความกำหนัดขึ้นมา อย่าอยู่คนเดียวตามลำพัง ต้องหาอุบายทำให้ลืมเรื่องนี้ไปให้ได้  เพราะการระบายความใคร่ด้วยตนเองในทางโลกอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาแต่สำหรับพระแล้วผิดวินัยขั้นสังฆาทิเสส พระที่ทำผิดวินัยข้อนี้ต้องไปสารภาพและต้องกรรมตามระยะเวลาที่ทำความผิด


    กลับมาที่กุฏิ เปิดดูข้อความที่มีเพื่อนโพสท์เหตุการณ์พิธีบวชวันนี้ และมีข้อความจากคนที่อาจจะเคยทำให้เราเสียใจ เขาคงรู้สึกผิดและอยากจะมาขออโหสิกรรมแต่ไม่มีโอกาสในวันนี้ เลยใช้ช่องทางนี้กล่าวขออโหสิกรรม  ผมไม่ติดใจเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว  และการบวชครั้งนี้เป็นการบวชถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ความจริงผมได้ขออโหสิกรรมแต่บุคคลทั้งหลายที่เคยล่วงเกินในอดีตทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก่อนจะปลงผมและมาอยู่ที่วัดแล้ว  ขอให้สิ่งที่ล่วงเกินในอดีตจงแล้วต่อกันเพื่อให้อานิสงส์ในการบวชครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด  กรณีเพื่อนรายนี้ผมให้อภัยเขา  ตัวเขาเองก็สบายใจที่ผมให้อภัยแก่เขา

    ชีวิตเพศบรรพชิตแม้จะช่วงเวลาสั้นๆเพียง ๑๒ วันที่ได้มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา เริ่มต้นแล้วณ.วัดวังหิน
























 

Create Date : 07 ตุลาคม 2560    
Last Update : 7 ตุลาคม 2560 12:32:45 น.
Counter : 1198 Pageviews.  

In Remembrance of King Bhumibhol Part 6 (ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๖)



  วันอังคารที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ พยายามเคลียร์งานบ้านให้เรียบร้อยก่อนทืี่ครอบครัวจะมาร่วมพิธีปลงผมนาคที่บ้าน มีหลายเรื่องได้ทำแต่อีกหลายเรื่องก็ไม่เสร็จอย่างที่ตั้งใจไว้  เวลาผ่านไปเร็วมาก...แป๊บเดียวก็ถึงเวลานัดหมายคือ ๑๑ โมง



      ตั้งแต่ย้ายมาอยู่หมู่บ้านนี้...ยังไม่เคยจัดพิธีอะไรเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีพิธีภายในบ้าน  ครอบครัวผมเดินทางมาร่วมงานและครอบครัวของใหม่ก็มาร่วมพิธีปลงผมนาคที่บ้าน  ผมเชิญเพื่อนบ้านในหมู่บ้านที่สนิทกันรวมทั้งยามเสรีที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมาร่วมพิธีปลงผมนาคด้วย  ตอนกล่าวขอขมาอโหสิกรรม...เสียงสั่นเครือแต่ก็คุมอารมณ์จนกล่าวจนจบ  ทุกคนเข้าใจว่าการบวชครั้งนี้ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสสตมวาร ครบ ๑๐๐ วันที่เสด็จสวรรคต

       พ่อผมเป็นคนขลิปผมคนแรก..ตามมาด้วยแม่ และครอบครัวของใหม่ น้าเหน่งและน้าอ๋าตั้งใจมาร่วมงานปลงผมนาควันนี้  เพื่อนบ้านที่เชิญมาปลงผมนาคมาพร้อมเพรียงกันและขลิบผม ยามเสรีร่วมทำพิธีปลงผมนาคด้วย







เส้นผมในวัย ๔๐ ตอนปลาย...เปลี่ยนสภาพไปตามวัย การทำงานหนักและความเครียดทำให้เส้นผมหงอกมีจำนวนมาก




 ความตั้งใจที่จะโกนผมเองเพราะสมัยบวชในพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ทุกวันโกนจะทำการโกนผมเองทุกครั้ง  แต่ครั้งนี้น้าเหน่งรับทำหน้าที่ช่วยโกนผมให้นอกจากจะไวแล้วมีดโกนไม่บาดหนังศีรษะด้วย  มีดโกนหนวดของยิลเลตต์รุ่น Sensitive ซึ่งพระที่ทำหน้าที่ปลงผมนาคจะไม่ค่อยชอบเพราะโกนแล้วช้าเนื่องจากเศษผมไปติดบนร่องใบมีด แต่ใบมีดแบบนี้จะไม่บาดหนังศีรษะง่ายเหมือนแบบใบมีดสองคมที่พระมักใช้โกนผมวันโกนกัน

ใช้ NSC Cleansing Gel ล้างเศษผมที่ติดบนใบหน้าและศีรษะ ไม่มีอาการแสบตาเลย บ่งบอกว่าเนื้อเจลที่คิดค้นสูตรกันมามีสภาพเป็นกลาง ปกติล้างเศษผมด้วยแชมพูสระผมหรือเจลล้างหน้าแบรนด์ไหนๆก็แสบตา
พอใจกับผลลัพธ์ของสินค้าที่ได้ทดลองกับตัวเอง  แล้วก็เอา NSC Cleansing Gel ไปใช้ที่วัดแทนสบู่ด้วยเพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพราะวัตรปฏิบัติจริงๆของคนที่ถือศึลแปดขึ้นไปห้ามลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอม

     เป็นอีกครั้งที่ถอดแหวนรุ่นออกจากนิ้ว  แหวนรุ่นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ วงนี้ปกติจะสวมติดนิ้วตลอดเวลา  แต่คราวนี้ไปบวชจึงต้องถอดเก็บไว้ที่บ้าน









   หลังจากเสร็จพิธีปลงผมนาคแล้ว สองครอบครัวไปทานอาหารกลางวันร่วมกันโดยผมนั่งดูเขาทานกันเนื่องจากวันนั้นผมทานมื้อเดียวอย่างที่เคยฝึกมาตั้งแต่ต้นเดือน  ความอยากทานอาหารมันไม่มีแม้ว่าอาหารจะอร่อยขนาดไหนก็ตาม หลายคนเป็นห่วงว่าน้ำหนักน่าจะลดช่วงที่ไปบวช


   ครอบครัวผมพามาส่งที่วัดวังหิน ได้กุฏิหมายเลข ๑๖ ซึ่งสร้างเสร็จปีที่แล้ว 





 ความคิดที่ว่ามาบวชเป็นพระ ไม่มีเรื่องต้องใช้เงิน เลยไม่พกเงินมามาก ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น พอมาถึงกุฏิก็พบเรื่องเสียเงินเลย เพราะเครื่องทำน้ำอุ่นในกุฏินอกจากจะเสียแล้ว ฝักบัวก็แตกใช้ไม่ได้  เลยต้องนั่งรถออกไปซื้อฝักบัวอันใหม่มาเปลี่ยนซ่อมให้วัดเลย แล้วก็ซื้อไม้กวาด ถังน้ำ ผงโรยกันมดขึ้นกุฏิ ช่วยกันทำความสะอาดกุฏิ ของบางอย่างที่ไม่จำเป็นฝากให้ใหม่เอากลับไปไว้ที่บ้าน

  ตอนห้าโมงเย็นไปที่ศาลาเมตตาธรรม นั่งสมาธิ ๓๐ นาที ก่อนจะเริ่มทำวัตรเย็น ช่วงนี้มีกลุ่มสาธารณสุขมาเข้าคอร์สอบรม  บทสวดมนต์แปลหลายบทคุ้นเคยเป็นอย่างดีสมัยบวชในพรรษาปี พ.ศ.๒๕๓๙  ฟังบรรยายธรรมะหลังทำวัตรเย็นเป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง วันนี้ยังทำสมาธิได้ไม่สงบนัก หัวยังคิดเรื่องอื่นๆเป็นระยะๆ เดินกลับกุฏิตอนสามทุ่ม กว่าจะเข้านอนตอนสี่ทุ่ม

  นอนไม่หลับดีนัก ตื่นหลายรอบ  ตอนตีสามครึ่งเสียงระฆังตอนเช้ามืดปลุกให้ตื่นเพื่อไปทำวัตรเช้า วันนี้อ่านเนื่้อหาที่มาของคาถาชินบัญชรพบว่าคนเขียนเป็นภิกษุชาวเหนือ แต่สามเณรโตธุดงค์ไปกำแพงเพชรและพบใบลานใต้เจดีย์เก่า สนใจเลยคัดลอกออกมาแต่ไม่ได้ระบุที่มาอ้างอิงเพราะไม่ทราบ  คนทั่วไปเลยเข้าใจว่าเป็นของสมเด็จโต พรหมรังษี วัดระฆังโฆสิตาราม

  กิจกรรมวันนี้เดินตามพระออกไปบิณฑบาตรย่านพลายชุมพลตอนเช้า กลับมาวัดก็เตรียมสำรับสำหรับพระ  ฉันอาหารมื้อเดียวในจานตอนเช้า  หลังจากนั้นมีการซ้อมท่องขานนาคและซ้อมห่มจีวร  หลวงพี่สุรเดชที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพระบวชใหม่แต่งตั้งให้เราเป็นผู้นำพระใหม่ในการกราบและสวดมนต์  ทางวัดยังไม่ได้กำหนดว่าพระรูปใดจะเป็นพระอุปัชฌาย์และฉายาพระบวชใหม่ก็ต้องให้ทางเจ้าคณะจังหวัดเป็นคนกำหนด

  ตอนค่ำภายหลังทำวัตรเย็นแล้วมีสไลด์ธรรมะชวนให้นึกถึงสมัยบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ที่พระอาจารย์มานพเป็นคนฉายสไลด์ธรรมะให้พวกเราดูกัน







 

Create Date : 06 ตุลาคม 2560    
Last Update : 6 ตุลาคม 2560 2:06:17 น.
Counter : 1035 Pageviews.  

In Remembrance of King Bhumibhol Part 5 (ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๕)



ภายหลังจากตัดสินใจว่าจะบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผมทำบันทึกข้อความขอลาอุปสมบท เนื่องจากกรณีนี้เป็นกรณีที่แตกต่างจากลาบวชทั่วไปและการลาบวชถวายในหลวงเป็นกรณีพิเศษที่ทางราชการพึ่งกำหนดขึ้นมา  กองบริหารงานบุคคลเลยต้องเอาระเบียบที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากกำหนดการที่วัดวังหินกำหนดแตกต่างไปจากที่ทางราชการกำหนด


   ผมต้องทำเรื่องเป็นการลากิจคร่อมหัวและท้ายเพื่อให้การบวชครั้งนี้อยู่ร่วมโครงการจนจบ

   สิ่งต่อไปคือวางแผนการสอนชดเชยในช่วงเวลาที่ลาบวช...ซึ่งก็เอาเรื่องเพราะกินเวลาถึง ๑๕ วัน จริงอยู่อาจจะตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ชั้นเรียนพึ่งเปิดภาคเรียนได้ไม่นาน

   ครูที่ดีถ้างดชั้นเรียนควรสอนชดเชย...นิสิตเสียเงินค่าหน่วยกิตครบถ้วน พวกเขาควรจะได้เรียนเนื้อหาครบตามเงินที่พวกเขาเสียไป


   ผมต้องวางแผนการสอนชดเชยกลุ่มเรียนที่รับผิดชอบสอนซึ่งมีสามกลุ่ม สลับชั้นเรียนที่สอนก่อนและหลังสอบกลางภาคกับอาจารย์อีกคนเพื่อให้วันลาบวชไม่กระทบกับการสอน  การนัดนิสิตมาเรียนชดเชย....อาจจะไม่สนุกทั้งผู้สอนและผู้เรียน แต่ไม่มีทางเลือกอื่น  ผมจัดตารางสอนชดเชยลงตัวและแจ้งให้นิสิตทราบก่อน

   เริ่มส่งข่าวการบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสครบรอบสตมวาร ๑๐๐ วัน โดยแจ้งคนที่เกี่ยวข้อง ขออโหสิกรรมกับคนที่อาจจะเคยล่วงเกินด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจในอดีต  เมื่อคิดจะบวชไม่ควรมีความรู้สึกไม่ดีค้างคาในใจก่อนบวช คนเหล่านั้นอาจจะไม่รู้ว่าเราเคยล่วงเกินอะไรเขาในอดีตบ้าง หรือคนบางคนอาจจะเคยล่วงเกินเราในอดีต  สังคมชาวพุทธสอนให้รู้จักอภัยแก่กัน  การให้อภัยกัน...ทำให้เวรระงับด้วยการไม่จองเวร

  เมื่อรู้ว่าจะครองเพศบรรพชิตและวัดนี้พระภิกษุฉันอาหารเพียงมื้อเดียว การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ ฝึกการทานอาหารเพียงมื้อเดียวตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐  ความจริงการทานอาหารเพียงมื้อเดียวและใช้พลังอย่างมากในการสอนในชั้นเรียนแต่ละวัน...ผมไม่น่าจะทนได้  โดยเฉพาะวันที่ผมสอนชดเชยทีี่มีชั้นเรียนสอนต่อเนื่องตั้งแต่คาบ ๙ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น  ลูกศิษย์เห็นภาพที่เคยชินว่าผมสอนไปและจิบน้ำชาเขียวขวดใหญ่ไปโดยไม่ได้ลงไปทานมื้อกลางวันที่โรงอาหาร  พวกเขาเข้าใจว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ และรับรู้ถึงความตั้งใจของผม  ถ้าเรามีความตั้งใจและมีวินัยกับตัวเองสุดท้ายเราจะผ่านเรื่องต่างๆไปได้ในที่สุด

   มีบางวันที่ร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ของคณะฯ วันนั้นเป็นวันที่ยกเว้นยอมทานอาหารสองมืื้อ  ช่วงนั้นงดเว้นที่จะคิดนึกสนทนาเรื่องอาหารอร่อยเพราะไม่ต้องการสร้างกิเลสรบกวนใจของตนเอง


   ในคณะบริหารธุรกิจฯ มีการตั้งชมรมนักชิมแบบไม่เป็นทางการขึ้น วัตถุประสงค์ของชมรมนี้คือการแนะนำของอร่อย ร้านอร่อยที่เคยไปกินมา ถือเป็นการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง ในฐานะประธานชมรมนักชิมผมจำเป็นต้องวางมือจากตำแหน่งชั่วคราวและยกให้ดร.วรเดช ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมนักชิมหมายเลข ๒ รักษาการในตำแหน่งประํธานชมรมนักชิมช่วงนี้ไปก่อน

    การสรรหาของอร่อยทาน....ดูเหมือนอาจารย์วรเดชจะไม่น้อยหน้าผม และอาจารย์วรเดชไม่ปฏิเสธที่จะดูแลชมรมในช่วงที่ผมบวชถวายในหลวง




   ตอนผมทำเรื่องขอลาบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ อาจารย์เหน่งในฐานะหัวหน้าภาคเป็นคนเซ็นอนุมัติ...แต่จากนั้นไม่นาน อาจารย์เหน่งขอข้อมูลการอุปสมบทหมู่ที่วัดวังหินก่อนจะตัดสินใจร่วมอุปสมบทหมู่ด้วย




   หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าวันอุปสมบท ถ่ายภาพกับดร.อดิศักดิ์เป็นที่ระลึกว่าผมยาวประมาณนี้ อาจารย์ผู้ชายสองคนนี้ในภาพตัดสินใจอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยจำวัดเดียวกันที่วัดวังหิน ดูเหมือนการบวชถวายเนื่องในโอกาสสตมวารตครบ ๑๐๐ วันเที่ยวนี้มีพวกผมสองคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำเรื่องบวช

   พอเล่าให้เพื่อนอาจารย์ท่านอื่นฟังว่ามีธรรมยาตราด้วย ต้องเดินป่าหลายสิบกิโลเมตร.....อาจารย์หลายคนพูดกับผมว่า "ฝากดูแลอาจารย์เหน่งด้วยนะ" ผมฟังแล้วงงๆว่าเหน่งตัวใหญ่กว่าผมมาก แต่คนส่วนมากเป็นห่วงเหน่งมากกว่าผม การที่เหน่งบวชด้วยกันอย่างน้อยก็ทำให้ใหม่อุ่นใจว่าถ้าผมเป็นอะไรไปในระหว่างที่ธรรมยาตรา...เหน่งน่าจะช่วยเหลือผมได้ แต่ถ้าเหน่งเป็นอะไรไปในระหว่างธรรมยาตรา...ใหม่สงสัยว่าผมจะแบกพาร่างเหน่งออกมาจากป่าได้ไหม?

   เหน่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งในคณะฯ เหน่งอัธยาศัยดี เหน่งอาจจะเป็นคนพูดตรงๆ แต่เหน่งก็ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คณาจารย์ในสาขาเป็นอย่างดี การที่เหน่งเสียสละมาเป็นหัวหน้าภาคบริหารธุรกิจเหน่งได้ช่วยเหลือเพื่อนๆเป็นอย่างดี เดินทางไปดูงานในต่างประเทศกับเหน่งหลายที่....และแต่ละที่มักมีตำนานเรื่องตลกๆที่เกิดขึ้นกับเหน่งที่เก็บมาเล่าขำๆได้ไปอีกนาน นับแต่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ คราวนี้เหน่งตัดสินใจบวชที่วัดเดียวกัน....แน่นอนเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหน่งย่อมต้องมี


   พอผมตัดสินใจว่าจะบวชที่วัดวังหิน....ใหม่และครอบครัวช่วยเตรียมของที่จำเป็นในการครองเพศบรรพชิตที่วัดวังหิน ใหม่คิดแทนเรื่องความปลอดภัย เรื่องแมลงและยุงที่อาจจะมารบกวนในขณะที่ไปธรรมยาตรา  พอเขารู้ว่าต้องไปเป็นผ้าขาวถือศีล ๘ ที่วัดก่อนจะบวช และชุดขาวเป็นสิ่งจำเป็น เขาไปหาชุดขาวมาให้ รวมทั้งผ้าขาวม้าที่จะใช้สำหรับอาบน้ำในวัด  ผมไม่มีโอกาสได้เห็นสภาพภายในกุฏิ แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลวัด ภายในกุฏิมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมแก่ผู้มาปฏิบัติพักอาศัย

  แม่ผมอยู่ที่นครสวรรค์ไม่สะดวกในการเตรียมข้าวของให้  แม่ผมฝากให้แม่หนุ่ยช่วยดูแลเรื่องต่างๆให้ผมในช่วงที่ผมบวช  แม่ถึงกับออกปากว่า "ฝากดูแลลูกชายด้วย ยกให้เป็นลูกอีกคนนะ" ความจริงครอบครัวใหม่ โดยเฉพาะแม่หนุ่ยปฏิบัติต่อผมเหมือนเป็นลูกชายอยู่แล้วที่ดูเหมือนจะใส่ใจมากกว่าลูกสาวตนเองเสียอีก

  วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ใหม่ชวนไปทานไอศกรีมตอนเย็น ปกติแล้วผมไม่ทานมื้อเย็นนับตั้งแต่เริ่มฝึกการทานอาหารมื้อเดียวเพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชินก่อนจะไปใช้ชีวิตเพศบรรพชิตที่วัดวังหิน  แต่ทุกอย่างก็มีข้อยกเว้น วันนั้นไปทานไอศกรีมกับใหม่ที่ร้านสเวนเซ่น  ไม่ได้ทานเพราะเน้นความอร่อย แต่ทานเพราะทำตามสัญญา ไม่ได้ทานให้อิ่มจนแน่น  แต่ทานแค่พอดี ก็จบและไม่ทานอะไรต่อ




   ตอนไปตัดผมก่อนจะบวชไม่นาน แจ้งช่างให้ตัดเกรียนด้านข้างตอนโกนผมจะได้โกนง่ายๆ....


   ผมสอนชดเชยชั้นเรียนล่วงหน้าจนกระทั่งถึงวันจันทร์ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งวันนั้นเป็นวันครูแห่งชาติของไทย วันนั้นมีชั้นเรียนที่ต้องสอนสองวิชา ผมสอนชั้นเรียนเสร็จและพูดอะไรกับลูกศิษย์ที่สอนซักเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวขออโหสิกรรมกับเหล่าลูกศิษย์ก่อนจะไปบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครั้งนี้  บรรยากาศชั้นเรียนวันนั้น...ดูศักดิ์สิทธิและลูกศิษย์เงียบกันหมดและอโหสิกรรม
แก่กัน

  คนที่ต้องการบวช...วินัยกำหนดว่าห้ามมีหนี้สินติดตัวมา  ห้ามหนีราชการมาบวช ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่มา

  ผมจัดการเคลียร์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้เรียบร้อยไม่ติดค้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจสอบบัญชี เงินเดือนพนักงานและค่าสอนของครู ยื่นเสียภาษีประจำปีรอบไม่ปกติ ค่าบริการซอฟท์แวร์ต่างๆ

  ชีวิตของคฤหัสถ์กำลังจะก้าวไปใช้ชีวิตของบรรพชิตในช่วงเวลาหนึ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้.......







 

Create Date : 05 ตุลาคม 2560    
Last Update : 6 ตุลาคม 2560 1:08:50 น.
Counter : 687 Pageviews.  

1  2  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.