ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

ดอกไม้ผลิบานในเวลาที่ล่าช้า

เคยดูรายการทีวีในญี่ปุ่นแล้วประทับใจมาก เขียนเอาไว้ในสเปซจนตอนนี้สเปซกำลังจะถูกลบไปเลยเอาข้อความที่เขียนตอนที่ประทับใจสมัยนั้นมาแปะลงบนบล็อกนี้แทน

เนื่องจากเหตุการณ์ที่ประทับใจครั้งนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าปีฉลูจึงเอามาเขียนลงในกรุ๊ปตัวอย่าง แต่สำหรับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีฉลูจะไปเขียนในกรุ๊ปเหตุการณ์และกิจกรรมปีฉลู พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งประเดิมด้วยเหตุการณ์จอมบึงมาราธอน






คืนวันศุกร์ที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ตรงกับวันทานาบาตะของญี่ปุ่นพอดี โดยบังเอิญเรามีโอกาสได้ดูทีวีรายการ "金マス波乱万丈(คินมาสฮารันบันโจ)" มีอะไรน่าสนใจควรค่าแก่การบันทึกเอาไว้ เลยเขียนบันทึกลงในบล็อกเอาไว้อ่านเตือนใจ

เราเคยสงสัยว่าคำว่า ฮารันบันโจ (波乱万丈) แปลว่าอะไร ภายหลังจากได้ยินคำนี้จากรายการทีวีญี่ปุ่นบ่อยๆ เราเลยถามนักเรียนญี่ปุ่นที่เราสอนภาษาไทยให้ เขาอธิบายให้ฟังว่าเป็นคำอุปมาว่า "ชีวิตของผู้คนเปรียบเหมือนคลื่นที่มีขึ้นและลงไม่ได้ราบเรียบเสมอไป" เราถึงเข้าใจว่ารายการทีวีคืนวันศุกร์ "คินมาสฮารันบันโจ" ทางสถานีทีบีเอสต้องการสื่ออะไรกับคนดูรายการนี้

วันนี้เป็นรายการพิเศษที่ออกอากาศนานกว่าปกติถึงสองชั่วโมง ในขณะที่เวลาออกอากาศปกติของรายการนี้จะใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น วันนี้แขกของรายการเป็นดาราหญิงวัย ๘๖ ปีที่ชื่อ โมริ มิทสึโกะ (森 光子) กว่าเธอจะก้าวมาเป็นดาราที่ประสบความสำเร็จ...มีความลำบากหลายๆอย่างในชีวิตที่ไม่มีคนรู้มาก่อน เธอเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยอารมณ์ขันทีเดียว ทำให้ผู้คนรอบข้างอารมณ์ดีไปด้วย นอกจากนี้ยังหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพของเธอจึงยังแข็งแรงดีไม่เป็นอุปสรรคในการแสดงแม้เธอจะอยู่ในวัย ๘๐ แล้วก็ตาม


เธอเล่าถึงความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองที่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบ เธอในฐานะนักแสดงมีหน้าที่ไปขับกล่อมบทเพลงให้ทหารที่ไปรบ เธอไปร้องเพลงให้กับบรรดานักบินกามิกาเซ่...แม้เธอรู้ว่าภารกิจของพวกเขาคือการพลีชีพเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก เธอโบกมือส่งเหล่านักบินที่บินออกไปปฏิบัติภารกิจโดยไม่สามารถจะเอ่ยคำพูดอะไรออกไปได้มากนักเพราะรู้อยู่ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสกลับมาอีกแล้ว เธอเดินทางไปปลอบขวัญทหารแม้แต่ในสนามรบต่างประเทศอย่างอินโดนีเซียเธอก็ไปขับกล่อมบทเพลงให้ทหาร เธอรอดชีวิตมาได้จากลูกระเบิดที่ทหารพันธมิตรทิ้งลงมาเพียงเพราะเธอตัดสินใจที่จะหลบภัยที่บังเกอร์แทนที่จะไปที่คุกที่มีกำแพงที่คิดว่าปลอดภัย ปรากฏว่าคุกโดนระเบิดจนพินาศ ถ้าเพียงแต่เธอตัดสินใจผิดไปหลบในคุกที่มีกำแพงชีวิตของเธอคงโดยลูกระเบิดปลิดชีพไปแล้ว

พี่ชายและญาติของเธอถูกระเบิดที่สัมพันธมิตรทิ้งเสียชีวิต ชีวิตของคนญี่ปุ่นภายหลังแพ้สงครามดำเนินด้วยความยากลำบาก ไม่มีอาหารจะกิน ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม...เธอไม่มีงานทำ...เธอจำเป็นต้องไปร้องเพลงในคลับทหารอเมริกันเพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิต...แม้ในใจจะรู้สึกละอายที่ประเทศตนเองแพ้สงครามแต่ต้องมาร้องเพลงต่อหน้าศัตรูที่เอาชนะประเทศตัวเอง แต่เธอพูดไม่ได้ การได้เจอทหารอเมริกันลูกคนญี่ปุ่นที่ชื่อ ริชาร์ด มูรากามิ ทำให้เธอรู้จักความรักเป็นครั้งแรก...และความสุขที่เธอได้รับจากริชาร์ดทำให้เธอมั่นใจว่าเขาคือคนที่จะทำให้เธอมีความสุข เธอจึงตัดสินใจแต่งงาน แต่ความสุขอยู่กับเธอได้ไม่นานเพราะว่าริชาร์ดต้องเดินทางกลับอเมริกา ภายหลังอเมริกาถอนตัวจากญี่ปุ่น เธอไม่สามารถจะตามริชาร์ดไปอเมริกาได้เพราะมีภาระเรื่องงาน...และนั่นคือเหตุผลที่เธอรู้สึกเสียใจจนถึงทุกวันนี้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขามีอันสิ้นสุดลง...

เธอหาเลี้ยงชีพจากการร้องเพลงและเล่นละคร....แต่บทบาทของเธอไม่ได้เด่นมากนัก วันหนึ่งในขณะที่เธอไปแสดงบนเวทีตลกในโอซาก้าเพียงแค่ ๓ นาที การแสดงวันนั้นแม้บทที่เธอแสดงจะกินเวลาแค่ ๓ นาทีแต่กลับมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเธออย่างมาก เมื่อผู้เขียนบทละครเวทีดังอย่างคิขุตะ อิชิโอะพบความสามารถในตัวเธอ ชวนเธอไปแสดงละครเวทีด้วย แต่สิ่งที่เธอพบจากการแสดงละครเวทีในโตเกียวก็คือ ตัวแสดงที่เป็นคนโตเกียวมักได้เล่นบทเป็นตัวเอกเสมอ ในขณะที่เธอที่มาจากโอซาก้า..เธอเป็นได้แค่ตัวประกอบ

แล้ววันหนึ่งโอกาสในชีวิตก็มาเยือนเธอในยามที่เธอย่างเข้าสู่วัย ๔๑ ปีเมื่อผู้เขียนบทให้เธอแสดงบทนักเขียนชื่อดัง ฮายาชิ เอมิโกะ ในละครเรื่อง 放浪記 เธอตั้งใจเล่นบทนั้นอย่างดี ภายหลังการแสดงจบลง...ม่านปิดลง...เธอรอฟังเสียงปรบมือ...แต่ไม่ได้ยินเสียงปรบมือ ทำให้ทั้งเธอและผู้กำกับละครต่างเข้าใจว่าการแสดงบทบาทของเธอวันนั้นล้มเหลวสิ้นเชิงไม่ประทับใจคนดู แต่ปรากฏว่าคนดูคนหนึ่งลุกขึ้นปรบมือให้เธอก่อนที่คนดูคนอื่นที่ยังประทับใจในบทบาทที่เธอแสดงแต่ยังคงตะลึงอยู่ต่างลุกขึ้นปรบมือตาม เสียงปรบมือยังคงกึกก้องเป็นเวลานานมากๆ จากนั้นชื่อเสียงของเธอก็โด่งดังเป็นนักแสดงที่มีชื่อและได้รับการยอมรับและรักใคร่จากผู้ชมและคนที่อยู่ในวงการ


มีสุภาษิตฝรั่งกล่าวไว้ว่า "Life starts at 40 (ชีวิตเริ่มต้นที่วัย ๔๐)" ในวัย ๔๐ อาจจะดูเหมือนล่าช้าในสายตาของคนทั่วไปที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ชีวิตของผู้คนเป็นสิ่งบอกได้ยากว่า ชีวิตควรจะประสบความสำเร็จในวัยไหน? บางคนอาจจะโชคดีประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยเยาว์ บางคนอาจจะผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาตลอดทางจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จในชีวิตบั้นปลาย บางคนผ่านความยากลำบากมาตลอดกว่าจะมาพบความสำเร็จในชีวิตในวัยกลางคน คงไม่สำคัญว่าชีวิตของทุกคนจะต้องประสบความสำเร็จในวัยใกล้เคียงกัน หลายคนที่ประสบความสำเร็จในวัยเยาว์แต่มาล้มเหลวในบั้นปลายก็มากมาย

ชีวิตของผู้คนคงเหมือนดอกไม้ที่สวยงาม บางครั้งอาจใช้เวลานานกว่าที่คนทั่วไปจะได้ชื่นชมความงามที่ดอกไม้สวยงามนั้นจะแรกแย้มออกมาเบ่งบานความสวยงามให้ผู้คนได้ชื่นชมกัน ดอกไม้ที่สวยงามไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการออกดอกสวยงามในเวลาที่เท่ากันเสมอไป ขอเพียงแต่ดอกไม้นั้นเป็นดอกไม้ที่งดงามทรงไว้ซึ่งคุณค่าให้แก่ผู้คนได้ชื่นชมกัน สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่มีค่าและเพียงพอถึงแม้จะออกดอกล่าช้ากว่าดอกไม้พรรณอื่นๆก็ตาม




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2552 21:04:16 น.
Counter : 1304 Pageviews.  

วันเด็กที่เสถียรธรรมสถาน

ผมเคยได้ยินชื่อเสถียรธรรมสถานและคุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้แวะไปเสถียรธรรมสถาน

เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสได้ดูข่าวตอนหัวค่ำ ปีนี้ทางเสถียรธรรมจัดงานวันเด็กโดยให้เด็กๆมีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ โดยการฝึกสร้างศาลาจากดิน ดูรายการข่าวแล้วสนใจ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ไปเสถียรธรรมสถานด้วย

ตอนบ่ายวันเสาร์ขับรถออกจากบ้านมุ่งหน้าไปถนนวัชรพล ย่านรามอินทรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเสถียรธรรมสถาน รถในถนนวัชรพลมากทีเดียว บริเวณปากทางเข้าเสถียรธรรมสถานมีป้ายเขียนเเอาไว้ว่ารถจอดด้านนอกระหว่างเวลา ๙-๑๖ น. เห็นผู้คนที่มางานวันเด็กที่เสถียรธรรมสถานหลายคนเอารถจอดริมข้างทาง พอมีที่ว่างเหลืออยู่ผมจึงเอารถไปจอดบ้าง แล้วเดินเข้าไปภายในเสถียรธรรมสถาน

พอเดินเข้าไปภายในเสถียรธรรมสถาน ได้สัมผัสกับความร่มรื่นของธรรมชาติที่ทางเสถียรธรรมสร้างไว้ แม้ภายนอกจะดูหนวกหูจากเสียงรถราที่จอแจ แต่ภายในดูสงบ คงจะคล้ายๆกับวัดปทุมวนารามที่อยู่ใจกลางกรุงย่านปทุมวันที่ขนาบไปด้วยแหล่งศูนย์การค้าดังๆที่เสียงจอแจแต่พอย่างเข้าไปในวัดกลับพบความสงบอย่างประหลาด

วันนี้พบเห็นพ่อแม่พาลูกๆมาเรียนรู้และทำกิจกรรมที่น่าสนใจภายในเสถียรธรรมสถาน เด็กๆเบิกบานใจกับกิจกรรมที่ทำขึ้นภายในเสถียรธรรมสถาน

ผมเดินไปบริเวณที่มีการสร้างบล็อกจากดินเหนียว มีเด็กและผู้ใหญ่กำลังย่ำลงไปบนดินเหนียวที่แหยะๆ ธรรมชาติสอนอะไรมากมายให้แก่มนุษย์

คุณแม่ชีศันสนีย์กำลังสอนให้เด็กๆเรียนรู้ว่าการที่เราย่ำลงไปบนดินแล้วดินมีอาการต่อต้านเป็นอย่างไร การจะทำให้ดินเหนียวนุ่มนวลและพร้อมที่จะใช้งานเราควรทำด้วยสติ เห็นสีหน้าเด็กๆมีความสุขที่ได้เล่นดินเหนียวซึ่งปกติแล้วหาโอกาสแบบนี้ค่อนข้างยากในกรุงเทพฯ






จากดินเหนียวที่นิ่มอ่อนตัวได้ที่ ก็จะมีการหยิบดินเหนียวเหล่านั้นมาผสมกับทราย แกลบ ฟาง แล้วก็เอามาใส่ลงในบล็อก ตากให้แห้ง









น้องคนนี้เขามีความสุขกับการปาดแต่งบล็อกดินเหนียวด้วยเกรียง เขาทำอยู่นานๆอย่างมีความสุข





ธรรมชาติแบบนี้เด็กๆรุ่นใหม่ในเมืองหลวงไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกัน เด็กๆส่วนมากกลับใช้เวลาไปกับการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์มากกว่า จำได้ว่าลัทธิเต๋าบอกไว้ว่า

"มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ยิ่งมนุษย์เข้าใกล้ธรรมชาติมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุข"



ผมมาสัมผัสกับความหมายนี้ก็ตอนเรียนอยู่ปี ๓ ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปออกค่ายที่ชัยภูมิ บรรยากาศชนบท มีสีเขียวๆ อากาศสดชื่น ตอนกลางคืนมีดาวบนท้องฟ้าชัดๆในนับกันเป็นร้อยดวง ตอนนั้นเข้าใจว่าชีวิตที่สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติมันมีความสุขเป็นอย่างไร ยิ่งตอนได้ไปเรียนหนังสือในญี่ปุ่นแล้วเห็นว่าคนญี่ปุ่นเขาดึงธรรมชาติให้มาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ทุกชุมชนจะมีสวนหย่อมใกล้ๆให้ผู้คนไปเดินเล่น มีดอกไม้สวยๆในสวนให้ผู้คนได้ไปชื่นชม มีภูเขาทุกจังหวัดให้ผู้คนได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ ได้ออกกำลังกายด้วยการเดินขึ้นไปชมความงามของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้อยู่ไกลตัวของผู้คนเลย แม้แต่กรุงโตเกียว...เมืองหลวงของคนญี่ปุ่นก็มีภูเขาที่มีพรรณไม้ผลัดใบหลากสีสันให้ผู้คนได้ชื่นชมในฤดูใบไม้ร่วง

ถ้าเด็กๆได้รับการปลูกฝังให้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้เรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ เขาจะเกิดความรักธรรมชาติ และอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงไว้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป

กิจกรรมวันนี้ที่ทางเสถียรธรรมสถานจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆได้เรียนรู้ เข้าใจและสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง

เห็นศาลาที่เอาดินมาสร้างแต่ยังไม่เรียบร้อยมีหน้าตาเป็นแบบนี้






เคยอ่านเรื่องการสร้างบ้านจากดินในเว็บบุดเพจนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมตรงนั้น ดินเหนียวที่คิดว่าอาจจะหลอมละลายเมื่อฝนชะ ความจริงส่วนผสมจากแกลบ ฟาง ทราย และการตากแดดจนแข็งสามารถทำให้บ้านดินตรงนั้นอยู่ได้นาน และลดการตัดไม้ทำลายธรรมชาติไปได้มาก แนวคิดนี้น่าสนใจดี


เดินรอบๆภายในเสถียรธรรมสถาน เขาจัดสวนและปลูกต้นไม้ได้ร่มรื่น เหมาะกับเป็นที่ปฏิบัติธรรม ความจริงความสงบอยู่ที่ใจแม้สถานที่ภายนอกตัวเราดูวุ่นวายแต่เมื่อใจของเราวางสิ่งเหล่านั้นลง ปล่อยให้สิ่งภายนอกคงเป็นสิ่งภายนอก ใจเราไม่กระเพื่อนตามสิ่งที่มากระทบ แม้แต่สถานที่สงบ เยือกเย็น แต่ถ้าจิตใจเรากลับคิดฟุ้งซ่าน จิตของเราเองนั่นแหละที่เป็นทุกข์ ไม่สงบแม้สภาพภายนอกจะสงบเงียบเพียงใดก็ตาม


มีโอกาสได้ร่วมทำบุญสร้าง "สาวิกาสิกขาลัย" ด้วย ได้ยินเรื่อง "สาวิกาสิกขาลัย" จากรายการวิทยุคลื่นกรีนเวฟมานานแล้ว ตอนนี้คนเราเป็นทุกข์ทางใจกันมาก การมีสถานศึกษาทางใจเพิ่มขี้นมา ให้คนเข้าใจชีวิตว่าคืออะไร เข้าใจว่าธรรมชาติคืออะไร มันก็เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมไม่ใช่หรือ เสถียรธรรมสถานกำลังจัดสร้าง "สาวิกาสิกขาลัย" เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรมุ่งเน้นให้ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้เข้าใจว่า "การมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์เป็นอย่างไร" โดยนำเอาหลักการธรรมะมาใช้ได้ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกวัย คนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้จะได้ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

สำหรับผู้สนใจอยากบริจาคร่วมสร้าง "สาวิกาสิกขาลัย" สามารถร่วมบริจาคโดยโอนเงินเข้าบัญชี ชื่อบัญชี "เสถียรธรรมสถาน" ตามรายชื่อธนาคารต่อไปนี้

๑. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขารามอินทรา กม. ๔
เลขที่บัญชี ๑๗๔-๑-๑๑๗๖๕-๘

๒. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยเทสโก้ โลตัส วัชรพล
เลขที่บัญชี ๐๐๒-๐-๐๕๐๘๘-๖

๓. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารธนชาต สาขาย่อย วัชรพล
เลขที่บัญชี ๐๘๒-๒-๐๐๔๑๓-๓

๔. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาย่อย วัชรพล
เลขที่บัญชี ๗๙๖-๒-๐๐๐๕๕-๔

๕. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย วัชรพล
เลขที่บัญชี ๑๖๑-๒-๑๐๖๓๗-๙

สำหรับท่านที่อยู่ต่างประเทศ สามารถโอนเงินบริจาคได้ที่

Kasikornbank PCL.
Watcharapol Sub Branch
A/C: 796-2-00055-4
Name: Mae Chee Sansanee Sthirasuta For Sathira-Dhammasathan
Swift Code: KASITHBK

Bangkok Bank Public Company Limited
Tesco Lotus Watcharapol Sub Branch
A/C: 002-0-05088-6
Name: Mae Chee Sansanee Sthirasuta For Sathira-Dhammasathan
Swift Code: BKKBTHBK

ผมได้ปฏิทินของเสถียรธรรมสถานแจกมาเป็นของที่ระลึก มีข้อความดีๆที่อยากเอามาฝากไว้เตือนสติกันครับ











จิตใจเบิกบานที่ได้มาที่เสถียรธรรมสถาน แต่พอเดินออกมาข้างนอก เจอใบสั่งให้ไปเสียค่าเปรียบเทียบปรับของสน.คันนายาว เพราะจอดรถในช่วงเวลาห้ามจอด!!!!!! จิตตกไปนิดนึง เลยอยากฝากเตือนคนที่จะไปเสถียรธรรมสถาน หาที่จอดที่อื่นที่ไม่ใช่บริเวณริมถนนด้านหน้าเสถียรธรรมสถานจะดีกว่า

Do the right thing, not do the thing right!!!!


ผมโทรถามสน.คันนายาวเพื่อหาตำแหน่งของโรงพัก เพราะบ้านและที่ทำงานอยู่ฝั่งธนบุรี มันไม่สะดวกที่จะมาที่นี่อีกภายใน ๗ วันเพื่อจ่ายเงินค่าเปรียบเทียบปรับ ความจริงเขากำหนดให้จ่ายค่าปรับภายในวันจันทร์-เสาร์ระหว่าง ๘.๓๐-๑๗.๐๐ น. เรามารู้ว่าเราต้องเสียเงินค่าปรับตอนเกือบ ๕ โมงเย็นแล้ว ขอร้องอ้อนวอนขอให้พี่ตำรวจที่โรงพักรอหน่อยจะรีบไปเสียเงินค่าปรับ

มาถึงโรงพักก็เจรจาพาที ทิ้งความเป็นดร.ไป เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเวลามาคุยกับตำรวจที่โรงพัก สังคมเอเชียตะวันออกสอนให้ผู้คนนอบน้อมถ่อมตน ผู้คนเขาให้การต้อนรับมากกว่าคนที่ทำตัวกร่างและไม่รู้จักให้เกียรติคนอื่น

สุดท้ายพี่ตำรวจที่โรงพักสน.คันนายาว ปรับให้เป็นลหุโทษ เสียเงินค่าปรับน้อยลง ช่างมันเถอะถือว่าเงินเข้าหลวง...โรงพักยังต้องการเงินมาปรับปรุงการดำเนินงานอีกเยอะ

จบการรายงานคืนวันเด็กที่มีจันทร์เพ็ญเต็มดวงสวยๆแบบนี้ให้ผู้คนในกรุงเทพฯได้ชื่นชมกัน






ธรรมะสวัสดีครับ




 

Create Date : 11 มกราคม 2552    
Last Update : 11 มกราคม 2552 11:52:10 น.
Counter : 2133 Pageviews.  

ประสบการณ์ดีๆจากกิจกรรมค่ายโดสะโฮ(動作法)ของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม เพื่อนรุ่นน้องที่ทำงานรายหนึ่งส่งอีเมลมาให้ผมอ่าน เป็นเรื่องของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการต้องการรับสมัครอาสาสมัครล่ามภาษาญี่ปุ่นเพื่อไปร่วมทำกิจกรรมค่ายโดสะโฮปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากเพื่อนรายนี้เธอคิดว่ากิจกรรมนี้น่าสนใจแต่เธอไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ แต่เธอนึกถึงผมเลยส่งอีเมลฉบับนี้มาให้

วันนั้นที่ได้รับอีเมลฉบับนี้จากเธอ...ผมโทรศัพท์ติดต่อกับมูลนิธิทันทีเพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานอาสาสมัครล่ามภาษาญี่ปุ่นสำหรับโครงการนี้ ฟังเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอธิบายแล้วน่าสนใจมาก เลยขอสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครร่วมโครงการนี้ ความจริงมูลนิธิต้องการล่ามไปร่วมโครงการนี้เพียง ๕ คนแต่ว่ามีคนสมัครเข้ามาร่วมโครงการนี้ถึง ๒๐ กว่าคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีคนไทยที่สามารถใช้งานภาษาญี่ปุ่นได้ดีสนใจมาร่วมทำกิจกรรมดีๆแบบนี้จำนวนมาก

ตอนที่ไปเรียนหนังสือในญี่ปุ่น ผมได้รับทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเงินเหล่านั้นได้มาจากภาษีของคนญี่ปุ่น ผมมีความตั้งใจว่า...ถ้าผมกลับมาไทยและมีโอกาสได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น คงดีใจมากๆ แล้วก็จะถือว่าภาษีของคนญี่ปุ่นไม่สูญเปล่า


(日本で留学した時、文部科学省奨学金のおかげで日本での生活を大変支えてくれました。この奨学金は日本人の皆さんの税金からもらいました。もしタイに帰国したら、日本とタイの架け橋の役に立ってば、大変嬉しいと思っています。それなら、日本人の皆さんの税金が無駄にならないと考えています。)


เจ้าหน้าที่ของมูลนิธินัดพวกเราที่สมัครเป็นอาสาสมัครมาเจอกันที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการที่อยู่ภายในซอยลาดพร้าว ๔๗ ตอนบ่ายวันที่ ๘ พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปูพื้นฐานให้เราเข้าใจว่า โลกของเด็กพิการทางสมองเป็นอย่างไรด้วยการฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับ "เด็กพิการทางสมองและครอบครัว" ภาพที่เราเห็นจากวิดีทัศน์มันเป็นภาพที่สะเทือนใจมาก...เห็นหลายคนดูไปเช็ดน้ำตาไป มันทำให้เราเห็นภาพความหมายของคำว่า "ครอบครัว" อีกมุมที่เราอาจจะมองข้ามไป


สิ่งที่วิดีทัศน์นำเสนอคือ...

ไม่ว่าลูกที่เกิดมาจะเป็นเด็กปกติหรือว่าเด็กพิการ...พ่อแม่ก็ยังรักลูกเสมอ หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่ว่าทำให้เขาเกิดขึ้นมาแล้วก็หมดหน้าที่ แต่ความเป็นพ่อแม่มีความผูกพันกับลูกไปตลอด...จนกว่าอำลาจากโลกนี้ไปแล้ว

สำหรับคนที่มีลูกเกิดมาพิการ...ต่างมีความทุกข์ในใจไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่รู้จะระบายอย่างไร ไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี การที่ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิการได้มาพบปะกัน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครอบครัวอื่นที่มีลูกเป็นเด็กพิการเหมือนกัน...อย่างน้อยมันทำให้เขารับทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า...ไม่ใช่เขาคนเดียวที่อยู่ในโลกใบนี้ ไม่ใช่เขาคนเดียวที่เผชิญชะตากรรมแบบนี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เผชิญชะตากรรมใกล้เคียงกับเขา การได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน ทำให้เขาสร้างเครือข่ายขึ้นมาได้ ต่างปลอบโยนซึ่งกันและกัน ได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้และเทคนิคในการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจลูกของพวกเขาที่พิการ

เด็กพิการทางสมองจะต่างจากเด็กทั่วไปตรงที่สมองเกิดการพิการบางส่วน เนื่องจากสมองถูกทำลายภายหลังจากการคลอด ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ดี ยืนตัวตรงได้ลำบากมาก กล้ามเนื้อแขนขามีการเกร็ง มีการงอตัวของมือแขนขา สมองของเด็กพิการกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้มีการฝีกให้แยกแยะความแตกต่างของประสาทส่วนต่างๆที่ใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกาย



คุณฮิโร่ อาสาสมัครของมูลนิธิที่อยู่เมืองไทยมานานจนสามารถพูดภาษาไทยและเขียนภาษาไทยได้ มาให้ความรู้เบื้องต้นแก่พวกเราว่า คำว่า โดสะโฮ (動作法)หมายความว่าอะไร?


โดสะโฮเริ่มต้นในญี่ปุ่นโดยอาจารย์นารุเสะในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นวิธีการบำบัดสำหรับเด็กพิการทางสมอง โดยเป็นการฝึกการผ่อนคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อและเป็นการฝึกเพื่อให้กล้ามเนื่้อมีแรงเมื่อลำตัวอยู่ในแนวตั้ง โดยที่ผู้ฝึกกับคนพิการจะมีการสื่อสารระหว่างกันโดยผ่านทางร่างกายและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ประเด็นสำคัญคือต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กพิการว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ เมื่อใจของเด็กพิการมีความเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ก็จะสั่งงานให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหว แล้วตามมาด้วยการเคลื่อนไหวอย่างที่ใจเขาต้องการ

โดสะโฮยังสามารถเอาไปใช้บำบัดกับคนที่มีปัญหาด้านสติปัญญาช้า เด็กที่มีสมาธิสั้น เด็กออทิสติก



คุณฮิโร่สาธิตวิธีการทำโดสะโฮให้พวกเราดู ซึ่งถ้าทำการผ่อนคลายกล้ามเนื้อถูกต้องจะรู้สึกสบายมาก บังเอิญไม่ได้เป็นหุ่นไปลองสาธิต...เลยอธิบายให้ฟังไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร


พวกเราแยกย้ายกันไปหลังจากเข้ารับฟังการบรรยายบ่ายวันนั้น โดยที่มูลนิธิจะคัดเลือกคนที่จะไปเป็นอาสาสมัครเอง แล้วจะติดต่อให้ทราบภายหลังว่าใครบ้างที่จะได้ไปค่ายปลายเดือนธันวาคม ความจริงมูลนิธิก็เสียดายแล้วก็ไม่อยากให้เสียกำลังใจที่มีคนสมัครมาเยอะกว่าจำนวนอาสาสมัครที่ต้องการ ความจริงสำหรับคนที่ไม่ได้ไปเป็นล่ามของค่ายคราวนี้หรือว่าไม่สามารถใช้งานภาษาญี่ปุ่นได้ก็ยังสามารถช่วยเหลืองานของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการในรูปแบบต่างๆได้ เช่น เขียนบล็อก ทำประชาสัมพันธ์ เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเด็กในระหว่างที่อยู่ค่าย ฯลฯ

ผลการคัดเลือกถูกส่งผ่านอีเมลอีก ๒ อาทิตย์ต่อมา ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นล่ามอาสาสมัครคราวนี้ ทีมล่ามที่จะไปค่ายปลายปีนี้มี ๕ คน แต่ก็มีการคัดเลือกอาสาสมัครที่เหลืออีก ๕ คนที่จะไปค่ายกลางปีหน้า คนที่สมัครบางคนไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมของค่ายได้ตลอดทั้ง ๔ วันเพราะติดเรื่องงาน ทางมูลนิธิก็คัดเลือกจากคนที่สามารถไปร่วมกิจกรรมและอยู่ค่ายได้ตลอดทั้ง ๔ วันเป็นกลุ่มแรก

พอรู้ว่าได้รับการคัดเลือก...ก็รีบกรอกใบลาพักร้อนส่งให้เจ้านายอนุมัติ เพราะคาดว่าช่วงปลายปีมีคนลากันเยอะ โดยใส่เหตุผลว่าที่ลาพักร้อนไม่ได้ลาไปโอ้หลั่นล้าที่ไหนแต่จะไปทำงานล่ามอาสาสมัครให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เจ้านายอนุมัติให้ภายในวันนั้นแต่พี่เขาเข้ามาถามว่าทำไมไม่ลงเป็นลากิจแทน เพราะวันลากิจจะทำการตัดภายในปีแต่วันลาพักร้อนสะสมข้ามปีได้ ผมคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นกิจกรรมส่วนตัวมันควรเป็นลาพักร้อนมากกว่า แต่ปกติก็ไม่ค่อยชอบลางานอยู่แล้ว ไม่เป็นไรหรอกจะเป็นวันลาประเภทไหนก็ขอให้ลาไปกิจกรรมนี้ได้เป็นใช้ได้ ต้องขอบคุณเจ้านายที่เขาเข้าใจและสนับสนุนให้ไปทำกิจกรรมดีๆแบบนี้


เคลียร์งานที่ทำงานให้เหลือน้อยที่สุดก่อนจะลาไปทำกิจกรรมตรงนี้ แต่ปรากฏว่างานส่วนตัว (เขียนการ์ดอวยพรปีใหม่ให้ผู้คน) กลับไม่มีเวลาทำ มานั่งปั่นจ่าหน้าคนที่จะส่งการ์ดไปอวยพรมาเสร็จเอาตอนตีสองของคืนวันคริสต์มาส เข้านอนแค่สามชั่วโมง... ตื่นแต่เช้ามากๆเพราะว่าต้องขับรถไปมูลนิธิแล้วออกเดินทางจากมูลนิธิตอน ๗ โมงเช้าไปค่ายห้วยน้ำใสที่อยู่ฉะเชิงเทรา

มันมีอะไรผิดพลาดบางอย่างในการสื่อสารระหว่างมูลนิธิกับคนขับรถตู้ รถตู้มาล่าช้ากว่ากำหนดมาก สุดท้ายน้องที่เป็นล่ามอาสาสมัคร ๓ คนและคุณตุ่มเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิติดรถเราไปค่ายด้วยกัน น้องสามคนพอขึ้นรถได้ไม่นานก็หลับปุ๋ย ปล่อยให้เราเม้าท์กับคุณตุ่มจนถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา แล้วก็เกิดอาการขับรถผิดเส้นทาง...ก่อนจะตั้งลำใหม่จนหาทางไปอำเภอสนามชัยเขตสำเร็จ

ค่ายห้วยน้ำใสอยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บรรยากาศเหมือนค่ายผสมสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่นี่มีข้อห้ามเรื่องการละเว้นจากอบายมุข ดังนั้นจึงเป็นเขตปลอดบุหรี่และสุรา ภายในดูสงบร่มรื่นดี แต่รู้สึกว่ามีไม้ดอกน้อยไปซักหน่อย

พิธีเริ่มตอน ๑๑ โมง พอเข้ามาในห้องประชุมเขาก็เตี๊ยมให้เราเป็นคนแปลสดๆจากสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิพูดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดค่าย จำนวนคนที่เข้าร่วมค่ายเป็นภาษาญี่ปุ่น หรือตอนวิทยากรจากญี่ปุ่นแนะนำตัวให้เราแปลเป็นภาษาไทย เจอไฟท์บังคับโดยไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนก็เลยต้องทำ ตื่นเต้นดีตอนแปล มีการแนะนำตัวล่ามอาสาสมัคร ก่อนส่งไมค์ต่อให้อาจารย์รัตนชัยที่ชั่วโมงบินสูงในการทำค่ายโดสะโฮเพราะทำมาหลายปี ทำการแปลกำหนดการต่างๆเป็นภาษาญี่ปุ่นต่อไป

ภาคบ่ายมีการบรรยายความรู้เรื่องโดสะโฮโดยคุณหมอโคนิชิ (小西)คุณหมอวัย ๗๙ ปีแต่ยังดูแข็งแรงอยู่ คุณหมอเดินทางมาจัดกิจกรรมโดสะโฮในไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๓ พี่รัตนชัยเป็นคนแปลในสิ่งที่คุณหมอบรรยายเป็นภาษาไทย








วิทยากรที่มาให้ความรู้คราวนี้มาจาก Osaka Dousaho Society ส่วนมากอยู่ในเขตคันไซ (関西)มีอาจารย์ซากากิ (阪木)คนเดียวที่อยู่ฟูกูโอกะ (福岡)วิทยากรที่มาคราวนี้มีคุณหมอโคนิชิ(小西) อาจารย์ทานิ(谷)อาจารย์นาไค (中井)อาจารย์ชิบาตะ(柴田)อาจารย์มัตซุ่ย(松井)อาจารย์ซากากิ (阪木) ซึ่งอาจารย์เหล่านี้รับภาระเรื่องค่าเครื่องบินเดินทางไปกลับไทย-ญี่ปุ่นด้วยตนเอง ฟังแล้วซาบซึ้งมากที่เขาเสียสละและมุ่งมั่นเพื่อการฝึกโดสะโฮในไทย

 タイでの動作法活動のために、先生たち態々来てくれてそして飛行機代を自己負担しました。大変感謝します。)






มีการแบ่งกลุ่มกันซึ่งผมอยู่กลุ่ม ๕ อยู่กับอาจารย์ซากากิ โดยมีครอบครัวของเด็กพิการทางสมอง ๔ ครอบครัวอยู่ในกลุ่ม เขาเริ่มต้นให้แนะนำตัวกัน เราทำหน้าที่แปลในสิ่งที่อาจารย์พูดเป็นภาษาไทย มีการสอบถามครอบครัวต่างๆว่าอยากให้มีการฝึกการทรงตัวท่าไหนเป็นพิเศษในระหว่างที่เข้าค่าย ก่อนที่จะทำการถ่ายภาพน้องๆเก็บเอาไว้ โดยที่มีการถ่ายภาพท่านั่งหลังตรง ท่ายืน ท่ายืนด้วยเข่า ทั้งมุมตรง ด้านข้าง เพื่อเก็บเอาไว้เป็นประวัติและเปรียบเทียบกับภาพที่จะทำการถ่ายภายหลังจากที่ทำการฝึกว่าผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร






ความสามารถในการทรงตัวของน้องแต่ละคนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าสมองถูกทำลายมากน้อยแค่ไหน? บางคนนั่งตัวตรงได้แต่ยืนไม่ได้ บางคนนั่งตัวตรงไม่ได้ คอจะตกอยู่ตลอดเวลา แม่ต้องคอยประคองคอเอาไว้เวลาน้องเขาเชิดหัวขึ้นมา


กลุ่มที่ ๑ อาจารย์นาไคกำลังประคองลำคอน้องเอี่ยมอยู่ บ๊วยช่วยแปลให้แม่น้องเอี่ยมฟังว่าอาจารย์แนะนำให้ทำอย่างไร







มีการเริ่มต้นฝึกท่านอนตะแคงโดยพยายามยืดกล้ามเนื้อของเด็ก เด็กเกร็งมือกันมาก...ไม่ง่ายเลยที่จะค่อยๆผ่อนคลายอาการเกร็งของมือน้องๆเหล่านั้น แต่บรรดาคุณแม่ก็อดทน ได้เห็นภาพความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก เห็นภาพของความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ลองคิดมุมกลับว่าถ้าเราเกิดมาพิการแบบน้องๆเขา แม่เราคงจะดูแลแบบนี้เหมือนกัน หรือถ้าเรามีลูกที่เกิดมาพิการเราก็ต้องดูแลแบบนี้เช่นกัน เข้าใจและซาบซึ้งถึงความปรารถนาดีของบุพการีที่มีต่อลูก ทำให้เรารู้สึกรักแม่มากขึ้นกว่าที่เคยรักอยู่








ตอนกลางคืนภายหลังทานอาหารเสร็จมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อสรุปว่าวันนี้ที่มีการฝึกกันไปมีประเด็นอะไรที่สงสัย ยังไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง แล้วตัวแทนกลุ่มเป็นคนสรุปให้กลุ่มอื่นฟังในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ ภายหลังจากประชุมกลุ่มใหญ่เสร็จก็เข้านอน


ข้อดีของการนอนในเรือนพักรับรองซึ่งมีคนกลุ่มใหญ่นอนพักห้องใกล้ๆกันคือนาฬิกาปลุกกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น เนื่องจากมีคนตืนแต่เช้าหลายคนและพอมีเสียงเลยเป็นการปลุกเราไปในตัว ตื่นเช้ากันมากๆราวๆเกือบตี ๕ ก็ตื่นกันแล้ว



มีการออกกำลังกายตอนเช้าตอน ๖ โมงครึ่ง โดยเริ่มจากเด็กนำท่ากายบริหารก่อน






ตามมาด้วยผู้ใหญ่ออกท่ากายบริหารบ้าง






ทุกครั้งก่อนทานอาหารจะมีการร้องเพลง


"ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา
สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ"


 (動作法カンプで皆さんは食べる前にこの歌を歌ってました。下記はタイ語の歌の意味です。

 沢山貧しい人がいる、彼らを可愛そうに思っています。皆さんは食べる時よく考えて、捨てないで残らないで下さい



เพลงคุ้นหูนี้ได้ฟังมาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กๆ แล้วเห็นคุณค่าของอาหารที่เรากินมากๆตอนไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นที่ข้าวของราคาแพง ผู้คนที่นั่นถูกสอนให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ทาน เขาจะไม่พยายามทานอาหารจนเหลือเศษอาหารติดก้นจานหรือว่าชามเลย





วันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคมมีการฝึกท่าใหม่ที่เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาจารย์ซากากิพยายามให้บรรดาคุณแม่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก เพื่อให้การฝึกการทรงตัวมีการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น ผมเรียนรู้การขยับสะโพกขึ้น-ลงเพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนี้ สาธิตทำท่าขยับสะโพกให้แม่น้องไทเกอร์ดู





แม่ของน้องไทเกอร์มีคำถามเกี่ยวกับวิธีฝึกเพราะบางท่าเธอไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย หน้าที่ของล่ามคือทำการแปลและช่วยในการทำให้การสื่อสารเกิดความกระจ่างระหว่างอาจารย์ผู้ฝึกกับผู้ปกครองของน้องๆในระหว่างที่ทำการฝึก





มีการบรรยายและสาธิตการผ่อนคลายกล้ามเนื้อในท่านอนตะแคง น้องแอนที่เป็นล่ามคนหนึ่งเป็นแบบในการสาธิตโดยมีอาจารย์ชิบาตะเป้นผู้ทำการบรรยาย





คุณหมอประพจน์ เภตรากาศ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการเดินทางมาร่วมกิจกรรมกับพวกเราที่ค่ายในวันเสาร์





ช่วงบ่ายคุณหมอพาพวกเราไปชมสวนธาราบำบัดที่จะเปิดในวันที่ ๗ มกราคมปีหน้าด้วย


ตอนเย็นหลังอาหารมื้อเย็นเกิดเรื่องไม่คาดคิด น้อง"เจ้าของ" เกิดอาการเสมหะติดคอหายใจเองลำบาก คุณแม่เขารีบใช้เครื่องช่วยหายใจสวมครอบปากและจมูกเปิดเครื่องทำงาน เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น...ก็ทำการสอดเครื่องมือดูดเสมหะเข้าที่รูจมูกแล้วเปิดเครื่องทำงาน คุณแม่เขาพยายามให้น้องทำการไอเพื่อให้เครื่องดูดเสมหะทำงานได้ดีขึ้น.... ทุกคนต่างกังวลกับอาการของน้องเจ้าของ

เห็นภาพคุณแม่ของน้องเจ้าของใช้เครื่องมือช่วยน้องเขาแล้ว...เขาทำได้คล่องราวกับเป็นพยาบาลตัวจริง หัวอกพ่อแม่คงเหมือนกัน...ในยามที่ลูกอยู่ในภาวะที่ช่วยตนเองไม่ได้....คงไม่มีใครทอดทิ้งแต่กลับพยายามสู้สุดเฮือกเพื่อช่วยลูกตนเองให้หลุดพ้นจากภาวะนั้น

ในที่สุดเครื่องมือดูดเสมหะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ น้องเจ้าของกลับมาภาวะปกติ มีอาการตอบสนอง เราทุกคนต่างโล่งอก


หลังอาหารเย็นมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับทราบปัญหาในการฝึกโดสะโฮของแต่ละกลุ่ม แล้วตัวแทนแต่ละกลุ่มจะรายงานในที่ประชุมใหญ่ก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอน


วันอาทิตย์ผมมีธุระที่ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯช่วงเช้า น้องป๋อมที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กและเธอสามารถสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้เข้ามาทำหน้าที่ล่ามแทนผมในช่วงที่ผมไม่อยู่ ต้องขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง


ตอนบ่ายกลับมาถึงค่ายก็ทำหน้าที่ล่ามต่อ ช่วงเย็นมีโอกาสได้เดินเล่นภายในค่าย แล้วก็ถือโอกาสบันทึกภาพล่ามอาสาสมัครและสต๊าฟที่มาช่วยงานเก็บเอาไว้ เนื่องจากน้องบ๊วยมีธุระต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯเย็นนั้น พี่น้องทำหน้าที่ล่ามแทนน้องบ๊วยจนถึงตอนพิธีปิดค่าย บรรยากาศการช่วยเหลือกันภายในค่ายเพื่อให้กิจกรรมภายในค่ายดำเนินไปราบรื่นเป็นสิ่งที่วิทยากรญี่ปุ่นชื่นชม





ระหว่างที่พวกเราอยู่ภายในค่ายโดสะโฮ พวกเราเห็นภาพประทับใจ...เป็นภาพของเด็กชายที่มีน้องสาวพิการทางสมองแต่ไม่เคยรังเกียจน้อง เขาดูแลน้องสาวเป็นอย่างดีและยังดูแลเด็กคนอื่นแทนพ่อแม่ของน้องๆเหล่านั้นเวลาพ่อแม่ของน้องเหล่านั้นมีธุระต้องไปทำอย่างอื่น

น้องผู้ชายคนนั้นชื่อ แม็กซ์




แม็กซ์มีน้องสาวหน้าตาน่ารัก อารมณ์ดี ชื่อ "มุข" แม้ว่ามุขจะมีปัญหาพิการทางสมอง แต่เวลามุขยิ้มแย้มอารมณ์ดี มันทำให้ผู้ใหญ่ที่มองใบหน้าของเธอพลอยอารมณ์ดีไปด้วย






คืนสุดท้ายที่อยู่ในกิจกรรมค่ายโดสะโฮมีการประชุมกลุ่มใหญ่และสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการฝึกโดสะโฮ







ประเด็นสำคัญที่เรียนรู้จากการฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮก็คือ การพัฒนาของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเพราะว่าระดับของสมองที่เสียหายมันต่างกัน ถ้าเด็กคนนั้นสมองเสียหายไม่มากเขาก็สามารถพัฒนาไปได้เร็วกว่าเด็กที่สมองเสียหายมาก พ่อแม่ควรจะเข้าใจและไม่ควรคาดหวังว่าลูกตัวเองต้องมีระดับการพัฒนาการเหมือนเด็กคนอื่น พ่อแม่ควรจะใส่หัวใจและความรักลงไปในการฝึก การเป็นห่วงเป็นใยแล้วประคองลูกตลอดโดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลือตนเองมากที่สุด...สุดท้ายลูกจะเคยชินกับสภาพที่พ่อแม่ห่วงใยแบบนี้ แล้วก็ไม่เกิดการพัฒนาด้วยตนเองได้มากเท่าที่ควรจะเป็น ถ้าพ่อแม่เดินทางกลับไปบ้านแล้วยังคงฝึกลูกตนเองอย่างต่อเนื่องจนสมองของเด็กสามารถคุ้นเคยกับการเคลื่อนไหว...ก็จะเห็นพัฒนาการเคลื่อนไหวของเด็กดีขึ้นเป็นลำดับ พ่อแม่ควรจะนึกถึงความรู้สึกของเด็กระหว่างที่ฝึกการเคลื่อนไหว...การมีความตั้งใจมากเกินไปแล้วออกแรงกดแรงๆกับเด็ก เด็กเจ็บก็จะเกิดการต่อต้าน กล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวทำให้การฝึกไม่บรรลุวัตถุประสงค์ การฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮสิ่งสำคัญคือการสื่อสารระหว่างผู้ฝึก(ผู้ปกครอง) และเด็ก ต้องสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เด็กให้ความร่วมมือในการฝึก เขาคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อก็จะทำให้การฝึกสะดวกขึ้น


ภายหลังประชุมกลุ่มใหญ่เสร็จคืนนั้นก็ตามมาด้วยกิจกรรมสันทนาการของแต่ละกลุ่ม แต่ละกลุ่มคิดท่าทางการแสดงออกมา ลีลาเอาคนดูฮาเป็นอันใช้ได้



เคยได้ยินน้องที่ทำงานบอกว่าท่าเต้น "ไก่ย่างถูกเผา" ผมไม่รู้จักว่ามันเต้นท่าอย่างไร? แต่สำหรับค่ายโดสะโฮที่ค่ายห้วยน้ำใสคราวนี้..ถึงบางอ้อแล้วครับ อ๋อมันเป็นแบบนี้เองแหละ







กลุ่มนี้เลียนแบบท่าเต้นของวง "โปงลางสะออน" ดูรูปแล้วพอเดาออกไหมว่าใครเป็น "ลูลู่" คนไหนเป็น "ลาล่า"







กลุ่มนี้เปิดเพลงทำนอง "ช่า-ช่า-ช่า"





ภายหลังจากที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เต้นจนพอใจ เขาก็หาพรรคพวกเพื่อให้บรรยากาศครื้นเครง เลยเข้ามาโค้งสมาชิกกลุ่มอื่นให้ไปเริงระบำบนเวที คุณแม่ของน้องรายหนึ่งในกลุ่มนี้...เข้ามาเชื้อเชิญผมขึ้นไปบนเวที ผมไม่ขัดข้องหรอกเพราะว่า...ไม่ว่ากลุ่มนี้เขาจะเตรียมตัวมาดีขนาดไหนก็ตามแต่เวลาขอความร่วมมือ...กลับไม่มีใครให้ความร่วมมือเลย...การแสดงจะกร่อยลงทันที


ในเมื่อเพลงมันเป็นทำนอง "ช่า-ช่า-ช่า" ผมเลยเชิญชวนคุณแม่ของน้องกลุ่มนี้ขยับเท้าจังหวะช่า-ช่า-ช่า






คราวนี้มาถึงคิวกลุ่มเราบ้าง...พยายามคิดท่าเต้นง่ายๆ พี่ราตรีเขาอยากให้เต้นอะไรสไตล์ญี่ปุ๊น..ญี่ปุ่น ผมเลยปรึกษากับอาจารย์ซากากิว่าน่าจะลองเต้นบ้งโอโดริดู อาจาย์ซากากิค่อนข้างขี้อาย..ไม่ค่อยกล้าเต้น แต่ถ้าพวกเรากล้าเต้นกัน...แกก็เอาด้วย



อาศัยว่าตอนอยู่ญี่ปุ่นเคยไปมั่วเต้นรำแบบบ้งโอโดริ (盆踊り)สองสามครั้งในงานประจำปีหน้าร้อนบ้งโอโดริที่สวนสาธารณะใกล้อพาร์ทเมนท์ เลยพอจะ "ครูพักลักจำ" ได้ เขินมากตอนที่ออกไปเริงระบำแบบญี่ปุ่นในสวนแบบนั้น แม้ว่าจะเป็นการพยายามเต้นตามคนเต้นนำบนเวทีก็ตาม ท่าเต้นอาศัยการยกมือขยับเท้าและแขนตามจังหวะของเพลงบ้งแต่ผมก็จำท่าไม่ค่อยได้ ดูๆเขาเต้นบนเวทีขนาดเต้นตามก็ยังเต้นผิดอยู่บ่อยๆ กว่าจะเต้นถูกท่าก็ใกล้จะจบเพลงแล้ว








แล้วคราวนี้ประสบการณ์การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของผมก็ไม่สูญเปล่า เอามาใช้ได้แม้กับกิจกรรมนันทนาการในค่ายคืนนี้


เราแหกปากร้องทำนองบ้งโอโดริ แล้วเต้นนำท่าพรวนดินให้สมาชิกในกลุ่มเต้นตามกัน..





พอตบมือเป็นจังหวะตามทำนองเพลงเต้นรำสไตล์บ้ง....บรรดาอาจารย์ชาวญี่ปุ่นภายในห้องประชุมเขาก็ตบมือตามเป็นจังหวะเต้นรำแบบบ้ง ปกติคนญี่ปุ่นมักจะให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมเวลามีการแสดงอะไรหรือว่าแสดงที่ไหนก็ตาม มันเป็นวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นที่น่ายกย่อง







ที่สร้างความประหลาดใจก็ตรงที่คุณหมอโคนิชิแกขึ้นมาร่วมเต้นท่าบ้งกับพวกเราเองโดยที่พวกเรายังไม่ได้ลงไปเชิญแกด้วยซ้ำ ความจริงพวกเราเริ่มเต้นกันมั่วจนอดหัวเราะกันเองไม่ได้...แต่ The show must go on ดังนั้นพวกเราก็ด้นกันไปเต้นรำจนจบได้สำเร็จ







ตอนเช้าวันจันทร์ที่ ๒๙ ธันวาคม พวกเรามาออกกำลังกายตอนเช้า...วันนี้มีการนับเลขจำนวนครั้งในการทำกายบริหารทั้งภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนกลาง







ตอนเช้าหลังอาหารมีการฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮเป็นครั้งสุดท้าย เห็นพัฒนาการของน้องๆในกลุ่มหลายคน ท่านั่งตัวตรงของน้องไอซ์...น้องเขานั่งได้ตรงขึ้นด้วยตนเองโดยที่ผู้ใหญ่ช่วยเหลือน้อยมาก ภายหลังจากแม่ของน้องไอซ์เขาช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นอย่างดีจนไม่มีอาการเกร็ง มันมีผลทำให้การทรงตัวของเด็กทำได้ดี






มีการบันทึกภาพการทรงตัวของเด็กๆเอาไว้เพื่อทำการเปรียบเทียบกับตอนแรกก่อนอบรม....แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากบางครั้งเด็กก็ไม่อยู่ในอารมณ์ที่อยากให้ความร่วมมือ เด็กจะร้องไห้ ไม่ยอมเหยียดแขนขาออกให้สุด ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพการทรงตัวที่ถูกต้องของเด็กได้


ตัวอย่างเช่น น้องนิก ปกติอารมณ์ดีใบหน้ายิ้มแย้ม ให้ความร่วมมือในการฝึกมาตลอด แต่พอจะถ่ายรูปขึ้นมากลับแหกปากร้องไห้ไม่ยอมหยุด ไม่ยอมเหยียดแขนขาออกให้สุด




กรณีน้องโอ๊ก เขาคลอดออกมาตอนแรกก็ปกติ แต่เพราะน้ำหนักตัวน้อยและคลอดก่อนกำหนด หมอเอาเข้าตู้อบ...แต่ขาดออกซิเจน ผลลัพธ์คือสมองบางส่วนโดนทำลาย ทำให้การทรงตัวทำได้ไม่เหมือนเด็กปกติ แต่น้องโอ๊กเข้ารับการฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮจนมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ สำหรับภาพที่ทำการบันทึกการทรงตัวของน้องโอ๊กคราวนี้เราได้ภาพที่ค่อนข้างเกือบสมบูรณ์







ระหว่างที่พักก่อนจะเริ่มพิธีปิดกิจกรรมค่ายโดสะโฮ เห็นภาพน่ารักๆของเด็กๆเลยเก็บเอามาเป็นที่ระลึก

ผมให้ชื่อภาพนี้ว่า "เธอจับมือฉันทำไม?" ในรูปน้องเก่งจับมือน้องมุข แถมสบตาน้องมุขเสียอีก ทำเอาน้องมุขเกิดอาการสงสัยว่าจับมือเค้าทำไมตัวเอง!!!!!







พิธีปิดมีการกล่าวโดยคุณหมอประพจน์ คุณหมอโคนิชิ และตัวแทนผู้ปกครองแต่ละกลุ่มกล่าวความรู้สึกที่ได้มาเข้าค่ายอบรมการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮ แม่น้องเอี่ยมเป็นตัวแทนกลุ่ม ๑ กล่าวความรู้สึก





เขาให้ตัวแทนล่ามกล่าวความรู้สึก มีน้องแอน พี่รัตนชัย และผมเป็นตัวแทนกล่าวความรู้สึกที่มีต่อการมาค่ายคราวนี้





สิ่งหนึ่งที่เราคิดเหมือนกันและสัมผัสได้ตลอดเวลาที่เราทำกิจกรรมค่ายคราวนี้ก็คือ ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมันยิ่งใหญ่มากๆ พ่อแม่เสียสละเพื่อลูกได้

 (通訳者たちの一言を伝えた時、私たちの意見の共通点がありました。親孝行が大事なこと、そして親の愛情はすばらしいと思っています


สำหรับผมการได้มาทำกิจกรรมคราวนี้ถึงแม้มันจะเป็นงานอาสาสมัคร ทำให้ฟรี แต่ว่ามีความสุขที่ได้ทำ เพราะว่าคุณค่าที่ได้ทำตรงนี้มันสร้างคุณค่าต่อคนอื่น แล้วก็รู้สึกว่าได้ทำตัวเป็นประโยชน์..ทำตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่น

ผมมักได้ยินบางคนพยายามถามคำถามที่ตอบยากๆว่า

"คนเราเกิดมาเพื่ออะไร?"

หลายคนสรุปว่า

"คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม"

โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนั้น เพราะว่าถ้าเราคิดว่าเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม เท่ากับว่าเราก้มหน้าชดใช้กรรมโดยไม่คิดพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ไม่เคยคิดที่จะใช้ชีวิตเอาชนะกรรรมเลย

ผมเชื่อว่า

"มนุษย์เกิดมาเพื่อพัฒนาตนเอง แล้วก็ทำตัวเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อผู้คนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว สังคมก็จะน่าอยู่ และสังคมก็จะเกิดการพัฒนา โลกใบนี้ก็จะน่าอยู่ และยังประโยชน์ให้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังพัฒนาโลกให้ก้าวหน้าต่อไป"

 (人生は何のために生まれるのか?人生はすべて運命に任せると思いません。人は自分に何回も改善する、そして人と人の間にお互いに助け合う、それなら社会に支えてきます。社会に住みやすいならば、社会に発展して、世界に住みやすいと考えています。次代の人々は世界に支えてきて、前向きに努力します。この理由のため、人間を生まれると考えています。) 


เห็นความเหน็ดเหนื่อยของพ่อแม่ที่พยายามฝึกบรรดาน้องๆให้นั่ง ยืน นอน ด้วยท่าที่ถูกต้อง ความพยายามของพวกเขาคงไม่สูญเปล่า น้องๆคงมีพัฒนาการในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

 (動作法を訓練した時、親たち大変疲れたに見ましたが、この努力は無駄がないと思っています。子供たちは上々に正しい行動に変わると信じています。)


ส่วนหนึ่งของพิธีปิดมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่คนที่เข้าค่ายอบรมการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮเป็นครั้งแรก







มีการถ่ายภาพที่ระลึกแต่ละกลุ่ม โดยมีอาจารย์ที่ฝึกสอน ผู้ปกครองและเด็กๆ ล่ามอาสาสมัคร คุณหมอโคนิชิ คุณหมอประพจน์ และพี่จุ๋มที่เป็นผู้จัดการของค่ายโดสะโฮคราวนี้ร่วมถ่ายภาพด้วยกัน








และนี่คือบรรดาผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮ ระหว่างวันที่่ ๒๖-๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ค่ายห้วยน้ำใส อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา







ก่อนจะแยกย้ายกัน....เราทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยคราวนี้อาจารย์ที่มาให้การบรรยายการฝึกการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮร้องเพลง "ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างฯ" นำทุกคนร้องตามก่อนทานข้าวมื้อสุดท้ายของกิจกรรมค่ายคราวนี้ร่วมกัน







ตอนที่มีโอกาสได้ดูหนังโฆษณาของ "ไทยประกันชีวิต" ชุดปัจจุบัน
ผมชอบก็อปปี้ของหนังโฆษณาชุดนี้มาก ก็อปปี้ของหนังเขียนได้ดีมากตรงที่เขาพูดว่า

"ชีวิตมีความหมายเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่า และได้สร้างคุณค่าให้แก่คนอื่น"


ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหม? บางครั้งคุณค่าทางจิตใจในการทำอะไรดีๆ...เงินมากมายก็ไม่สามารถหาซื้อได้ ตอนที่เราได้ทำ...มันมีความสุข...เกิดคุณค่าในตัวเราและคุณค่ามันถูกถ่ายทอดไปสู่คนอื่น..เป็นคุณค่าที่พวกเขาสัมผัสได้....และมีความสุขเช่นกัน


ต้องขอบคุณน้องวรรณที่แนะนำกิจกรรมดีๆให้ผมได้มีโอกาสทำ ขอบคุณมูลนิธิเพื่อเด็กพิการที่จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้ขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองของเด็กพิการทางสมองและสังคมไทย



สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวแบบโดสะโฮหรือรายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสามารถติดต่อได้ที่ข้างล่างนี้ครับ

มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
๕๔๖ ซอยลาดพร้าว ๔๗ วังทองหลาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐
โทรศัพท์ ๐๒-๕๓๙-๒๙๑๖, ๐๒-๕๓๙-๙๗๐๖
//www.hoytakpoolom.org




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2551    
Last Update : 4 มกราคม 2552 10:21:25 น.
Counter : 3092 Pageviews.  

คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์

มีข่าวภายในองค์กรว่าเย็นนี้เชิญคุณ วิทิตนันท์ โรจนพานิช มาพูดให้ฟัง ผมมีประชุมตอนเย็น...ซึ่งเวลาคาบเกี่ยวกับการแสดงปาฐกถาของคุณวิทิตนันท์ ลุ้นในใจว่าจะได้ฟังไหม? เพราะอยากฟังมากๆ แต่เพราะว่าดวงคนเราจะได้ฟัง...ถึงแม้ว่าประชุมจะเลิกล่าช้ากว่ากำหนดเกือบครึ่งชั่วโมง แต่ผมก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะไปฟังคุณวิทิตนันท์พูดให้พวกเราฟัง

ผมเคยเขียนไว้ในบล็อกเรื่องปฏิบัติการพิชิตยอดเขาหิมาลัย หลังจากทีมTITV พยายามปีนยอดเขาหิมาลัยแต่ทำได้แค่ปีนถึงระดับความสูง ๘๐๐๐ เมตรแล้วต้องเลิกล้มความตั้งใจเพราะว่าธรรมชาติไม่เป็นใจ ตอนนั้น...ผมเสียดายแทนพวกเขา แต่ก็คิดว่าเรื่องราวของพวกเขาคงเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยคนอื่นพยายามพิชิตยอดเขาสำเร็จ

ตอนผมไปงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติปีนี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปเห็นภาพผู้ชายในชุดไต่เขาชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง มีข้อความข้างล่างเขียนเอาไว้ว่า คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาหิมาลัยและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมชูธงชาติไทยบนยอดเขาหิมาลัย ตอนนั้นถามพนักงานที่บูธ เขาเล่าเรื่องความสำเร็จของผู้ชายคนนี้ให้ฟัง เขาบอกว่าผู้ชายคนนี้เขาขอสปอนเซอร์จากเวียดนามในการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ดังนั้นตามข้อตกลงกัน...เขาไม่มีสิทธิ์จะเผยแพร่ข้อมูลหรือว่าโชว์รูปในไทยจนกว่าทางเวียดนามจะมีการแถลงข่าวเรียบร้อย จนถึงตอนนี้เวียดนามมีการแถลงข่าวเรียบร้อยแล้ว คุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยกลุ่มเล็กๆ

ความจริงคณวิทิตนันท์ (หนึ่ง) เคยเสนอขอสปอนเซอร์ในไทยไปปีนเขาหิมาลัยแต่ได้รับคำเย้ยหยัน สบประมาท ว่าสิ่งที่เป็นความฝันของเขาเพ้อเจ้อ เขาทำอะไรบ้าๆ จนคุณหนึ่งต้องหาสปอนเซอร์จากต่างแดนแทน



จุดมุ่งหมายของคุณหนึ่งไปพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์เพื่อในหลวง เพราะท่านเป็นคนที่คุณหนึ่งรักมากที่สุดคนหนึ่ง ยอมสละชีพเพื่อท่านได้



ด้วยความรักในตัวในหลวงและศรัทธาในการทำความฝันที่ตัวเองต้องการให้เป็นจริง....คุณหนึ่งก็เริ่มต้นทำในสิ่งที่อยู่ภายในใจเรียกร้อง

การจะไปถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์ไม่ได้ราบเรียบเสมอไป....ปัญหาเกิดขึ้นตลอดทาง ปัญหาเรื่องเงินที่จะจ่าย ปัญหาเรื่องไม่สบาย ธรรมชาติที่ไม่เป็นใจ ฯลฯ คุณหนึ่งเล่าให้ฟังว่าความฝันที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์เมื่อ ๔ ปีทีแล้ว...มันยังคงเป็นฝันแบบนั้นอยู่ที่ยังไม่มีทางทำให้เป็นจริง ถ้าคุณหนึ่งไม่กล้าที่จะทำฝันให้เป็นจริง ฝันก็ยังคงเป็นฝันตลอดไป

หลายคนทิ้งฝันไว้กลางคันเพียงเพราะอายที่คนอื่นดูถูกความฝันของเขา คนเราอยู่ได้เพราะอะไรกัน?

หลายคนที่ไม่มีความฝันเลย...คนเหล่านั้นก็ไม่ต่างกับคนตายที่มีลมหายใจ

หลายคนมีความฝันแต่ว่ากว่าจะถึงฝันต่างเผชิญกับอุปสรรคมากมาย หลายคนเลิกล้มความตั้งใจ ในขณะที่หลายคนอดทนเอาชนะอุปสรรค..คนเหล่านี้จึงเป็นคนไม่กี่คนที่สามารถทำฝันของตัวเองให้กลายเป็นจริง

คุณหนึ่งแชร์ประสบการณ์ว่า....ในระหว่างทางที่เกิดเรื่องเลวร้าย...เขามองในแง่ดี....ไม่ท้อแท้ ภายหลังจากที่รู้จักมองอะไรในแง่ดีๆให้กับชีวิต มันเปลี่ยนกลายเป็นพลังผลักดันให้เขาก้าวต่อไปข้างหน้า

หลายครั้งระหว่างที่เขาปีนเขาหิมาลัย เขาเหนื่อย เขาล้า แต่เขาถามตัวเองว่า

"เรามาเพื่อในหลวงไม่ใช่หรือ? ท่านทำอะไรเพื่อคนไทยทั้งชาติ แล้วจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จเพื่อท่านไม่ได้เลยหรือ"


ประโยคแบบนี้มันทำให้เขามีพลังและต่อสู้ต่อไปเพื่อบรรลุภารกิจ

ตอนที่คุณหนึ่งเขาถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จ...เขาร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมน้ำตาด้วยความปีติ โบกธงชาติไทยพร้อมชูภาพในหลวง มีนักปีนเขาต่างชาติถามว่าคนในภาพคือใคร คุณหนึ่งตอบไปว่า


"This is the King of Thailand."



บรรดานักปีนเขาต่างชาติที่อยู่บริเวณนั้นต่างตบมือและตะโกนพร้อมกัน ๓ ครั้งว่า



Long live the King

Long live the King

Long live the King





มันช่างน่าปลาบปลื้มใจที่คนไทยคนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิตทำอะไรที่ยากลำบากเพื่อถวายในหลวง ด้วยความศรัทธา และความรัก มันทำให้เขามีพลังเอาชนะอุปสรรคต่างๆจนมายืนตรงนี้สำเร็จ


มีคนถามคุณหนึ่งว่ารู้สึกอย่างไรตอนที่เขากำลังขอสปอนเซอร์จากเวียดนามแล้วรู้ว่า...แต่ทีมจากทีไอทีวีกำลังจะออกเดินทางไปพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์?

คุณหนึ่งตอบว่า....ไม่สำคัญว่าใครจะไปถึงยอดเขาก่อนหรือหลัง ขอให้เป็นคนไทยและพิชิตยอดนี้สำเร็จ ย่อมเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเหมือนกัน ไม่สำคัญว่าต้องเป็นคนแรกเท่านั้น

คุณหนึ่งทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยประโยคที่น่าสนใจมากๆว่า...


"ผมไม่กลัวความตายครับ แต่ว่ากลัวว่ายังไม่ได้ทำฝันที่ตั้งใจไว้ให้เป็นจริงต่างหาก"

ท่านผู้อ่านกระทู้นี้ลองคิดดูว่า...คนเรายังเหลือเวลาที่อยู่ในโลกนี้อีกนานแค่ไหน..เราบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีกรรมที่ต้องสร้างต้องรับมากน้อยแค่ไหน มีเรื่องมากมายที่คนเราฝันอยากจะทำ...แต่เราจะปล่อยมันเอาไว้แบบนั้นไม่มีโอกาสได้ทำจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตหรือว่าเราได้ทำมันสมดั่งที่เราตั้งใจก่อนที่เราจะเสียชีวิต





 

Create Date : 22 ธันวาคม 2551    
Last Update : 6 มกราคม 2552 21:35:01 น.
Counter : 752 Pageviews.  

บันทึกการเดินทางสู่ทุ่งทานตะวัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

เมื่อช่วงต้นเดือนมีโอกาสได้ฟังวิทยุในขณะที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับฟังรายการวิทยุคลื่นสถานีของจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเเลี้ยง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการประชาสัมพันธ์งานทุ่งทานตะวัน ภายในศูนย์เพาะเลี้ยงพันธุ์พืช ที่จะมีไปจนถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคมนี้ เขาสาธยายว่าที่นี่ปลูกทานตะวันถึง ๒๐๐ ไร่โดยมีดอกประเทืองสีเหลืองๆแซมด้วย

พอฟังแล้วก็อยากจะไปชมความงามของทุ่งทานตะวันและบันทึกภาพสวยๆตามสไตล์คนรักการถ่ายภาพ


แปลกดี...ตอนต้นปีมีโอกาสไปถ่ายภาพดอกทานตะวันที่ริมถนนเกษตร-นวมินทร์ (อ่านรายละเอียดได้ในบล็อกนี้ตอนต้นเดือนมกราคมปีนี้) ผ่านไป ๑๑ เดือนก็มีโอกาสได้มาชมทานตะวันอีก เพียงแต่ต่างที่ ต่างเวลากัน ดอกทานตะวันที่ไหนสวยกว่ากัน ที่ไหนประทับใจกว่ากัน? เป็นสิ่งที่ต้องไปสัมผัสถึงจะตอบได้


มีสุภาษิตหลายๆภาษาที่กล่าวว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น (Seeing is believing)"

กรณีนี้เช่นกัน...

คืนวันเสาร์ที่ผ่านมาแหงนหน้าดูฝนดาวหางเพราะได้ยินได้ฟังมาว่าจะมีปรากฏการณ์ฝนดาวหาง แต่ผิดหวังเล็กๆเพราะว่า...นานๆจะมีดาวหางแว๊บบนท้องฟ้าให้เห็น เคยเห็นปรากฏการณ์ฝนดาวหางในญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นขึ้นไปบนชั้นสูงๆของอพาร์ทเมนท์เอาผ้าคลุมหัวเพราะอากาศหนาวมากๆ ผมมองดูดาวหางส่งแสงสว่างแว๊บหายไปบนท้องฟ้าฝั่งตะวันออก ปรากฏการณ์คราวนั้นเห็นดาวหางถี่มาก..เกือบทุกๆ ๒ นาทีเป็นแสงแว๊บบนท้องฟ้า แต่คราวนี้ในกรุงเทพฯนานๆจะแสงแว๊บสว่างบนท้องฟ้าให้เห็น ดูจนเมื่อยคอ สุดท้ายก็ตัดใจไปนอนดีกว่าเพราะมันเลยเที่ยงคืนแล้ว


วันอาทิตย์ตื่นขึ้นมาแต่เช้าเองโดยไม่ต้องใช้เสียงนาฬิกาปลุก.. เหตุผลเพราะภาพสวยๆของธรรมชาติควรบันทึกภาพก่อน ๑๐ โมงเช้า ออกจากบ้านตอน ๗ โมง ๓๓ นาที ขับรถแบบสบายๆมุ่งหน้าไปทางสายสุพรรณ-บางบัวทอง


ระหว่างขับรถฟังรายการวิทยุซึ่งถ่ายทอดเสียงบรรยายธรรมะของท่านว.วชิรเมธี วันอาทิตย์ท่านว.วชิรเมธีบรรยายในหัวข้อ "ดำรงชีวิตอย่างมีสติ" นานมากแล้วที่ไม่ได้ฟังรายการบรรยายธรรมะทางวิทยุตอนเช้าวันอาทิตย์

เคยฟังเทปบรรยายธรรมของหลวงพ่อปัญญาที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ถึงแม้ว่าหลวงพ่อจะมรณภาพไปแล้ว แต่การได้ยินเสียงเทปเทศน์ของหลวงพ่อทำให้นึกถึงบรรยากาศสมัยบวชที่พวกเราพระนวกะฉันอาหารไปฟังเทปหลวงพ่อไปหรือบางทีก็ฟังหลวงพ่อเทศน์สดๆจากศาลา ฟังเทปหลวงพ่อที่วัดแล้วเหมือนกับหลวงพ่อปัญญากำลังเทศน์ให้พวกเราฟังอยู่ตรงหน้า

จากเส้นทางหลวงหมายเลข ๙ ผมขับรถไปตามถนนทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรี พอถึงปั๊มปตท.ใหญ่ก่อนถึงตัวเมืองสุพรรณบุรี ก็เห็นป้ายเลี้ยวซ้ายไปอำเภออู่ทอง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๑ มุ่งหน้าสู่อำเภออู่ทอง ระหว่างทางฟังวิทยุท้องถิ่น เพลงที่เขาจัดสะท้อนชีวิตในชนบท ฟังไปอารมณ์ดี ถึงแม้จะไม่ได้ร้องตามเพราะเพลงหล่านั้นผมไม่รู้จักเลย

ต้องยอมรับว่าผู้จัดงานเขาประชาสัมพันธ์ได้ดีมาก เพราะมีป้ายงานทุ่งทานตะวันบอกทางมาตลอด มันเหมาะกับคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักทางและขับตามมาได้ตลอดโดยไม่หลุดเส้นทาง งานเทศกาลที่ผ่านมาหลายๆงานที่ผมเคยไปมา ดูเหมือนคนจัดงานไม่ได้สนใจเรื่องรายละเอียดแบบนี้ ความจริงเรื่องเส้นทางไปงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ แล้วแขกที่จะมางาน...หลายคนเลยหลงและเสียเวลา






ผมขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๓๓ ออกจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตรก็จะเห็นป้ายบอกทางของศูนย์เพาะพันธุ์พืช และป้ายงานทุ่งทานตะวันด้านซ้ายมือ ซึ่งเลี้ยวซ้ายแล้วแล่นไปตามคลองส่งน้ำอีกราวๆ ๓ กิโลเมตร


มีคนมาเที่ยวงานกันมากพอสมควร ที่ตั้งใจว่าจะมาถึงก่อน ๑๐ โมง กลายเป็นว่ามาถึง ๑๐ โมงกว่าจนได้เพราะขับรถเลยป้ายบอกทางไปงาน ไปถึงอำเภอหนองหญ้าไซ ก่อนจะขับรถกลับมาจนถึงงานทุ่งทานตะวันสำเร็จตอน ๑๐ โมงกว่า


แดดแรงแต่อาจจะเป็นเพราะช่วงหน้าหนาวเลยทำให้ไม่รู้สึกว่าแดดแรงจนเกินไป



ทุ่งทานตะวันขนาด ๒๐๐ ไร่ กว้างขนาดไหนเอาภาพมาอวดกันครับ จะเสียดายก็ตรงที่ดอกทานตะวันส่วนมากคอพับแล้ว เห็นคนขายของในงานบอกว่าทานตะวันช่วงอาทิตย์ก่อนบานสวยทีเดียว น่าเสียดายจังเลยที่มาไม่ทันเห็นความงดงามของธรรมชาติแบบนั้น ดอกประเทืองสีเหลืองๆเขาปลูกแซมเอาไว้ในแปลงด้านหลัง






พยายามเล็งหาดอกทานตะวันที่สมบูรณ์ กลีบดอกอยู่ครบ ได้มุมนี้ที่มีดอกยังเหลือกลีบดอกครบ





บรรยากาศของดอกทานตะวันที่เขาปลูกแซมกับแนวต้นปาล์ม ต้นทานตะวันไม่สูงมากนักออกดอกเหลืองๆแซมกับต้นปาล์ม








พยายามสร้างภาพใหม่ๆด้วยแนวเส้นนำสายตา......







ตอนเดินดูดอกทานตะวันที่เขาปลูก ไปสะดุดตากับภาพดอกทานตะวันที่กลีบไม่สมบูรณ์ดอกนี้ พบว่าในความไม่สมบูรณ์ของกลีบดอกมันให้ความรู้สึกแปลกแต่สมบูรณ์ในองค์ประกอบของรูปภาพออกมา บันทึกภาพนี้ไว้เป็นของฝากของการเดินทางคราวนี้เพราะคงหาดอกทานตะวันที่มีลักษณะแบบนี้ได้ค่อนข้างยากนิดนึง คนที่เล่นกล้องมองภาพนี้แล้วอาจจะวิจารณ์ว่า จะดีกว่านี้ถ้าในภาพไม่มีรูปคนอยู่เลย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะรู้สึกว่า....การมีคนอยู่ในภาพก็ได้อีกบรรยากาศ







เดินเล่นภายในศูนย์เพาะพันธุ์พืช...เขาเอาพันธุ์พืชต่างๆมาเพาะขาย เห็นต้นดอกหน้าวัวพันธุ์ต่างๆ ความจริงดอกหน้าวัวมีความสวยในตัวเพียงแต่เขานิยมเอาไปใช้กับพวงหรีดงานศพ จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครเอาดอกหน้าวัวมามอบให้กัน เหมือนดอกเบญจมาศที่คนญี่ปุ่นนิยมเอาไปเคารพศพ


ดอกหน้าวัวข้างล่างเป็นพันธุ์เลดี้เจน









อันนี้เป็นพันธุ์ดวงสมร










ส่วนพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ภูเก็ต









แดดตอนบ่ายๆเริ่มแรงขึ้น ผมขับรถออกจากศูนย์เพาะพันธุ์พืชตอนบ่าย ๒ โมง มีดอกทานตะวันส่งสีเหลืองๆข้างทางอำลาระหว่างเดินทางกลับ

จบบันทึกการเดินทางชมทุ่งทานตะวัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วันนึงในอนาคตคงมีโอกาสได้แวะมาเยี่ยมเยียนอีก




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2551    
Last Update : 18 ธันวาคม 2551 1:15:27 น.
Counter : 1980 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.