ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

ชีพจรลงเท้าเดือนธันวาคม ๒๕๕๔


ปีที่แล้วมีเหตุผลให้เดินทางในช่วงต้นเดือนธันวาคม ปีนี้ก็มีเหตุให้ต้องเดินทางอีกครั้งในเดือนธันวาคมในระยะเวลาใกล้เคียงกัน....


เช้าวันพฤหัสบดี....มีโอกาสใส่บาตรเป็นครั้งแรกตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ ๒ มาหลายอาทิตย์ บรรยากาศการใส่บาตรเช้าที่ลานสมเด็จพระนเรศวร วันนี้มีนิสิตมาใส่บาตรน้อยกว่าทุกที พระเดินรับบาตรแค่ ๒ แถวเท่านั้น อากาศเย็นสบายๆ แดดไม่แรง




ออกเดินทางไปเส้นทางอำเภอทุ่งเสลี่ยง จังหวัดสุโขทัย แล้วก็หลงทางอยู่สักพัก เนื่องจากดูจากแผนที่คิดว่าเป็นเส้นทางสั้นสุด แต่ของจริงป้ายบอกทางไม่ชัดเจนจนเข้าไปในเขตอำเภอศรีสำโรง ในเขตชนบทที่ไม่มีป้ายบอกทางเมื่อมาถึงทางแยก คลำหาทางจนไปโผล่วัดเทพพนม ก่อนจะกลับมาเข้าเส้นทางหลวงจากทุ่งเสลี่ยงมุ่งหน้าไปอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ดูจากเวลา...รักษาเวลาได้ตามที่วางแผนเอาไว้แม้ว่าจะหลงเข้าไปเขตบ้านด่านลานหอยก็ตาม


ผมค้นพบว่าการหลงทาง....ช่วยทำให้เรารู้จักเส้นทางมากขึ้น



แวะไปหาญาติที่ลำปาง.....ปีทีแล้วตอนไปไหว้พระธาตุลำปางหลวง ตอนนั้นคิดในใจว่าไม่ถ่ายภาพเดี่ยวกับพระธาตุเก็บไว้ก็ได้ เชื่อว่าคราวหน้าคงมีคนถ่ายภาพด้วยกันกับองค์พระธาตุลำปางหลวง ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่คิดเอาไว้เมื่อปีที่แล้วอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นเพราะอธิษฐานจิต....แต่สุดท้ายก็มีรูปถ่ายกับพระธาตุลำปางหลวงที่ไม่ได้ถ่ายตามลำพังเหมือนอย่างที่ผมเคยคิดเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว








ได้ยินเขาบอกกันว่าส้มตำลำปางอร่อย ได้ยินคนลำปางบอกว่าส้มตำแยกน้ำมีชื่อ คนนิยมซื้อเอาไปเป็นของฝากกัน.....พอเจ๊เขารู้ว่าเราอยากกิน เขาเลยซื้อมาให้ลองกินดู สุดท้ายก็ได้ทานส้มตำแยกน้ำของลำปางสมใจ หน้าตาเป็นแบบนี้แหละ





วิหารหลวงในเขตวัดพระธาตุลำปางหลวงกำลังซ่อมแซม เลยไม่มีภาพพระธาตุผ่านกล้องรูเข็มให้ดู แต่มีโอกาสได้ไปนมัสการองค์พระแก้วมรกตที่อยู่วัดพระธาตุลำปางหลวง มาคราวที่แล้วไม่ได้แวะเข้ามา คราวนี้เจ้าถิ่นเขาพาเราไปเยี่ยมชมกัน องค์พระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมีขนาดเล็กกว่าองค์พระแก้วมรกตที่ประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม





เดินออกมานอกเขตกำแพงวัด....เขาเอารถม้าสัญลักษณ์ของลำปางมาจอดหน้าวัดพอดี เลยได้ภาพสัญลักษณ์ของลำปางโดยไม่ได้วางแผนเอาไว้







จากลำปางมุ่งหน้าสู่จังหวัดลำพูน.....ผมผ่านลำพูนหลายครั้ง เห็นป้ายวัดพระธาตุหริภุญชัย แต่ไม่เคยมีโอกาสได้แวะไปนมัสการเลย คราวนี้เลยตั้งใจแวะไปกราบนมัสการองค์พระธาตุหริภุญชัย พอไปถึงวัด ภาพที่เห็นด้านหน้าคือองค์พระธาตุหริภุญชัยที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ไม่เพียงแต่กราบองค์พระธาตุอย่างที่ตั้งใจแต่มีโอกาสได้เดินเวียนรอบองค์พระธาตุสามรอบ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ






มีโอกาสได้ไปอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีผู้สร้างเมืองหริภุญชัยให้เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในเขตล้านนา อาหารเย็นจบลงที่ในตลาดใกล้กับอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ลำพูนที่เห็นเป็นเมืองเล็กๆแต่คึกคักกว่าลำปางที่ไปสัมผัสมา


ตะวันลับฟ้าแล้ว.....ขับรถมุ่งหน้าไปเขตอำเภอสันกำแพง พักในเขตนั้นซึ่งมีพี่ชายและพ่อเดินทางมาพักก่อนหน้านั้น อากาศในเขตสันกำแพงคืนนั้นเย็นสบายๆ


ตอนเช้าหาอาหารเช้าในเขตบ่อสร้างทาน....บรรยากาศในเขตบ่อสร้างดูเป็นชนบทในเขตเมืองที่ไม่พลุกพล่านเหมือนอย่างในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ วิถีชีวิตของผู้คนในบ่อสร้างดูมีเสน่ห์กว่าชีวิตคนเมือง นี่เป็นครั้งแรกที่สัมผัสชีวิตของผู้คนนอกเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพราะหลายครั้งที่เดินทางมาเชียงใหม่ก็มาแต่อำเภอเมือง


มีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของโรงเรียนสอนทำอาหารให้กับนักท่องเที่ยวในเขตสันกำแพง ได้เห็นถึงชีวิตที่เรียบง่าย ความหมายของคำว่าครอบครัว ธุรกิจในครอบครัว การเกิดเป็นธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหาร ที่มาที่ไป


มีโอกาสได้แวะไปพระตำหนักดารารัศมีในเขตแม่ริม วันที่ ๙ ธันวาคมตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าดารารัศมี พระชายาในรัชกาลที่ ๕ ทางพระตำหนักดารารัศมีจึงทำการจัดงานรำลึกขึ้นและเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาชมภายในพระตำหนักฟรี ดอกกุหลาบพันธุ์ "จุฬาลงกรณ์" ที่เจ้าดารารัศมีทรงเพาะพันธุ์กำลังบานออกกลีบดอกสีชมพูท้่าทายให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาได้ชื่นชมกัน


ธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารอีกที่ในเขตแม่ริม เจ้าของเป็นคนมีอัธยาศัยดี เขาไม่ได้เน้นทำเพื่อธุรกิจ แต่ทำเพราะสนุก อยากมีเพื่อนเพิ่ม แนวคิดจึงต่างไปจากโรงเรียนสอนทำอาหารทั่วๆไป


มีโอกาสได้แวะไปวัดอุโมงค์ คราวที่แล้วมาตรงกับช่วงวันหยุดหลายวัน มีสาธุชนเข้ามาในวัดเป็นจำนวนมาก หาที่จอดรถลำบาก ตอนนั้นคิดในใจว่าถ้ามีโอกาสจะแวะมาที่นี่อีก วันนี้มีโอกาสได้แวะเข้ามาในเขตวัดอุโมงค์ ใช้เวลาสบายๆเดินสำรวจสถานที่ต่างๆภายในวัด เดินภายในอุโมงค์ของวัด ได้บรรยากาศดี โรงมหรสพทางวิญญาณซึ่งมีภาพวาดเช่นเดียวกับที่เคยเห็นในสวนโมกขพลาราม เพียงแต่หาภาพโปรดปราน "จงอยู่ให้ได้เหมือนกับลิ้นงูในปากงู" ของเอ็มมานูเอล เชอร์มานไม่เจอ

ความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้
เหมือนเขี้ยวพิษในปากงู
แม้จะอยู่ใกล้กับเขี้ยวพิษอย่างไร
ลิ้นก็ไม่เคยถูกเขี้ยวขบกัดเอา
ดังนั้นจะอยู่อย่างไรกับทุกข์โดยไม่เป็นทุกข์
เหมือนลิ้นในปากงูที่ไม่เคยถูกเขี้ยวพิษขบกัดเอาเลย




มีโอกาสขึ้นไปบนเนินเหนืออุโมงค์ เห็นองค์เจดีย์เก่าแก่ เลยทำการเดินเวียนประทักษิณสามรอบองค์พระเจดีย์ พร้อมกับกล่าวสรรเสริญองค์พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ







วันรุ่งขึ้นมีโอกาสไปสัมภาษณ์เจ้าของโรงเรียน A Lot of Thai กิจการไม่ใหญ่โตที่ทำโดยสามี-ภรรยา (คุณยุ้ยและคุณขวัญ) ได้เห็นธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารที่เจ้าของทำเพราะใจรัก ชอบทำอาหาร รักการชิมอาหารอร่อย ชอบเดินทาง แล้วอยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้สัมผัสถึงรสชาติดั้งเดิมของอาหารไทยว่าเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่ถ่ายทอดออกมา...มันสะท้อนถึงความสุขของคนสอน โชคดีที่คุณยุ้ยเธอค้นพบตัวเธอเองเจอว่า..เธอรักการสอน...จึงถือกำเนิดโรงเรียนสอนทำอาหารภายในพื้นที่บ้านของตนเอง


คุณยุ้ยพูดอธิบายเรื่องราวต่างๆด้วยภาษาอังกฤษได้ดีมากๆ รู้ถึงรากเหง้าและประโยชน์ของพืชผักสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของอาหารเมนูต่างๆ ตอนไปทัวร์ตลาดสด...ได้บรรยากาศสีสันของวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมการจับจ่ายของฝรั่ง





ตอนเตรียมอาหาร....ทั้งครูและลูกศิษย์ต่างคนต่างได้ลองทำ และลองชิมฝีมือตัวเอง มีนักเรียนบางคนพาลูกมาเรียนคอร์สในการทำอาหารไทยด้วย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่นักท่องเที่ยวเด็กๆเหล่านั้นจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมที่ต่างไปจากวัฒนธรรมของตนเองผ่านการทำและได้ชิมอาหารที่ตนเองทำ




มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของโรงเรียนสอนทำอาหารในเขตสารภี เจ้าของคุณอัมพร เธอใจดีมาก ให็โอกาสผมลองสัมผัสประสบการณ์ในฐานะผู้เรียนคือลองทำอาหารพร้อมๆกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คู่สามี-ภรรยาจากแคนาดาคู่นี้ ปกติชอบทำอาหารแต่ว่าสูตรในการทำผัดไทยของโรงเรียนนี้ต่างไปจากที่ผมชอบทำ รสชาติที่ทำเสร็จเลยต้องเติมน้ำตาลและน้ำปลาเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป







ภาระเรื่องการสอนที่มหาวิทยาลัยทำให้ต้องรีบเดินทางกลับมาสอนให้ทันภายในเย็นวันจันทร์....ก่อนกลับมีโอกาสได้แวะทานโจ๊กสมเพชร ใกล้ประตูช้างเผือก ลืมถ่ายภาพเก็บเอาไว้ ได้ยินคนพูดถึงโจ๊กร้านนี้กันมาก...มาคราวนี้มีโอกาสได้มาลองทาน ความอร่อยสะท้อนจากจำนวนลูกค้าที่มาทาน เท่าที่สอบถามจากคนงานในร้าน...ร้านเขาเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่จำนวนลูกค้ามากจนหาที่จอดรถลำบาก ผมเลือกที่จะเดินไปทานมากกว่าขับรถแล้ววนหาที่จอดไม่ได้


ออกจากเชียงใหม่...มีโอกาสทานอาหารกลางวันก็บ่ายโมงกว่าๆ ในเขตอุตรดิตถ์ พ่อผมพูดถึงร้านปลาที่อร่อยของอุตรดิตถ์ แต่ผมผ่านเส้นนี้หลายครั้งไม่เคยเห็นร้านทีว่าเลย คราวนี้พ่อตั้งใจพาผมไปทาน....พอเข้าเขตอุตรดิตถ์ก็เฝ้ามองร้านข้างทางไม่ให้คลาดสายตา สุดท้ายลาภปากจะได้ทานของอร่อย หาป้ายร้านลุงแจ้งเจอ









ร้านลุงแจ้งอยู่เลยสี่แยกเข้าในเขตตัวอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ก่อนถึงร้านลมเย็น ร้านลุงแจ้งมีชื่อเรื่องปลาหมอเทศ ขนาดตัวใหญ่มาก ผมเจอยังตกใจเพราะไม่เคยทานปลาหมอขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน





แต่ที่ประทับใจมากเห็นจะเป็นน้องเฟียต ซึ่งเป็นหลานเจ้าของร้าน อายุเพียง ๖ ขวบแต่คอยกล่าวต้อนรับลูกค้า คอยเสิร์ฟน้ำ คอยทักทายลูกค้า เอาบิลมาจดออเดอร์ลูกค้า แล้วยิ้มทักทายลูกค้า ยังไม่เคยเห็นลูกหลานร้านอาหารร้านไหนที่อายุขนาดนี้และทำได้เยี่ยมขนาดน้องเฟียตมาก่อน





น้องเฟียตจะคอยเข้ามาพูดที่โต๊ะผมบ่อยๆว่า

"รอสักครู่นะคะ ตอนนี้คนงานลาออกกันหมด ลูกค้ามากหน่อย แม่ครัวกำลังทำอาหารเสิร์ฟลูกค้าอยู่ค่ะ รอสักครู่นะคะ"


"รอสักครู่นะคะ กำลังทำอาหารให้ค่ะ รอได้ไหมคะ"


พ่อและผมเห็นเด็กคนนี้ทำการเสิร์ฟน้ำ คอยทักทายลูกค้า ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม อดชื่นชมครอบครัวของน้องเฟียตไม่ได้ที่อบรมจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ดีของร้านอาหารควรมีในตัวน้องเฟียตที่น้องเขาแสดงออกมาเป็นธรรมชาติได้น่ารักและลงตัว สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า


เห็นรูปลุงแจ้งถ่ายกับอดีตรัฐมนตรีหลายท่านที่มีโอกาสมาทานร้านนี้ รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็เคยทรงเสวยอาหารที่ลุงแจ้งทำทูลเกล้าถวายด้วย เหลือบไปเห็นรูปลุงแจ้งอีกรูปภายในห้องแต่เขียนว่า ชาตะ และมรณะซึ่งลงปีว่า ปีพ.ศ.๒๕๕๓ สอบถามเฟียตว่าลุงแจ้งเป็นอะไรตายไป เฟียตตอบว่าลุงแจ้งเป็นมะเร็ง ตายไปเมื่อปีที่แล้ว


ถ้าลุงแจ้งจะมีอายุนานขึ้นและมีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของเฟียตในอนาคต...ลุงแจ้งคงมีความสุข กิจการที่ลุงแจ้งสร้างขึ้นมาจนเป็นร้านที่มีชื่อเสียงของอุตรดิตถ์จะไม่สูญหายไปแต่จะกลายเป็นตำนานต่อไปถ้ายังมีหลานอย่างน้องเฟียตรักษาและสืบทอดเอาไว้


ผมเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยก่อนเวลาสอนพอดี....


การเดินทางสำหรับทริปนี้สิ้นสุดลงแล้ว.....แต่การเดินทางครั้งหน้าจะมีเมื่อไหร่...ขึ้นกับจังหวะและโอกาสที่กรรมจะจัดสรรให้


โปรดติดตามเรื่องราวของชีพจรลงเท้าตอนต่อไป....เมื่อกรรมได้จัดสรรให้เกิดเหตุการณ์ชีพจรลงเท้าอีก







 

Create Date : 17 ธันวาคม 2554    
Last Update : 17 ธันวาคม 2554 0:14:06 น.
Counter : 1934 Pageviews.  

ข้อคิดดีๆเรื่องชีวิตคู่จากรายการครอบครัวเดียวกัน ตอน คุณ โจน จันได ปราชญ์บ้านดิน

โดยบังเอิญในระหว่างที่รอตรวจสายตาที่โรงพยาบาลรัตนิน ทางโรงพยาบาลเปิดทีวีช่องไทยพีบีเอสให้คนไข้ฟังแทนที่จะเป็นละครน้ำเน่า รายการวาไรตี้ตลกเบาสมองแต่ขาดสาระ เหมือนอย่างโรงพยาบาลอื่นที่เคยไปใช้บริการ

ผมมีโอกาสได้ฟังแนวคิดจากคุณ โจน จันได เรื่องชีวิตคู่ ในรายการ "ครอบครัวเดียวกัน" ที่มาออกอากาศใหม่วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง ผมฟังแล้วชอบมาก เลยอยากเอามาแชร์

"ความรักที่ทำให้คนเราอกหัก เพราะเราอยากได้ครอบครอง เราเห็นคนสวยเพราะเราอยากได้เขามาครอบครอง แต่เราลืมไปว่าสิ่งที่เราอยากได้ เขาอาจจะไม่ได้ต้องการเรา เราถึงเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรารักเขาเพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเป็น แบบนี้จะไม่เป็นทุกข์


รักแล้วไม่ใช่การครอบครอง รักแล้วต้องเคารพซึ่งกันและกัน


รักแล้วต้องมีอิสระ ไม่ใช่ครอบครอง ไม่ใช่แต่งงานไปแล้วต้องคอยโทรตามเช็ก ไม่ไว้ใจกัน แต่งไปแบบนั้นแล้วกลายเป็นว่าเสียอิสรภาพ ถ้าเป็นแบบนั้นไม่น่าแต่งงาน การเป็นโสดดีกว่า


ชีวิตคู่ต้องอยู่ด้วยความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน เคารพซึ่งกันและกัน คนทุกคนมีใจของตัวเอง แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ถ้าเขาเจอคนที่ดีกว่าเขามีอิสระในการแสวงหา......การที่คุณโจนให้เกียรติกับเบคกี้ว่าถ้าเบคกี้เจอใครที่ดีกว่า มีสิทธิ์ไปได้ ทำให้คุณเบคกี้เกรงใจคุณโจนมากขึ้น เพราะเขาให้เกียรติมากขนาดนี้ เมื่อเป็นแบบนี้ยิ่งรักคุณโจนมากขึ้น


ถ้าเรารักเขา....เราต้องให้เขาเป็นแบบนี้ เติบโตในแนวทางของเขา



ความไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ทำให้ต่างคนต่างเกรงใจกัน ไม่มีการหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไม่มีอาการหึงหวงและไม่เป็นทุกข์



ผู้หญิงแต่งงานแล้วยังมีอิสระ ไม่ใช่แต่งแล้วกลายเป็นทาส ไม่ใช่เกิดมาแล้วต้องมาอดทนกับพฤติกรรมคนที่เรารัก ถ้าเราไม่มีความสุข...ทำไมต้องอดทนเพียงเพราะรักอย่างนั้นหรือ? ถ้าสามีขี้เมา ทุบตี มีนิสัยเจ้าชู้ ทำไมผู้หญิงต้องยอมอดทนกับพฤติกรรมแบบนี้ ผู้หญิงควรมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่อทน


ชีวิตคู่คือการร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่ใช่แสวงหาเอาสิ่งตัวเองต้องการอย่างเดียว ความรักคือความเข้าใจกัน



สิ่งสำคัญในชีวิตคู่ต้องเข้าใจกัน ไม่ว่าจะมีทุกข์เข้ามาอย่างไรก็เล่นกับความทุกข์ทำให้สนุก ไม่ว่าความทุกข์หรือความสุข ในไม่ช้าต่างก็อยู่กับเราได้ไม่นาน สุดท้ายก็ผ่านไป"




ลองฟังจากคลิปนี้แล้วผมเชื่อว่าเราจะได้สติและเข้าใจมากขึ้นว่าคนเรามีชีวิตคู่ไปเพื่ออะไร



https://www.youtube.com/watch?v=zv-BQC9WqN8




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2554 23:47:04 น.
Counter : 3173 Pageviews.  

กรรมจัดสรรให้พบเจอเหตุการณ์และผู้คนในเชียงใหม่



ตอนแรกผมปฏิเสธที่จะไปร่วมงานประชุมวิชาการที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้นในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เนื่องจากโดยส่วนตัวไม่ได้สนใจงานนี้ประกอบกับมีชั้นเรียนที่ต้องสอน...แต่ก็มีเหตุผลที่ทำให้ต้องร่วมเดินทางไปกับกลุ่มลูกศิษย์นิสิตปริญญาเอก DBA รุ่น ๓-๔ ไปร่วมงานที่ทางคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นที่โรงแรม Le Meridian Chiengmai


ผมจัดการสอนเนื้อหาในชั้นเรียนที่พึ่งเปิดเทอมมาได้สัปดาห์แรกของภาคการศึกษานี้ให้เรียบร้อยเพื่อไม่ต้องเป็นภาระทั้งผู้เรียนและผู้สอนในการเรียนชดเชยซึ่งตามโปรแกรมเซ็ทเอาไว้ว่าจะต้องมีการสอนชดเชย ๒ สัปดาห์ทดแทนระยะเวลาที่เปิดเทอมล่าช้าเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม.....


ระยะทาง ๕ ชั่วโมงจากพิษณุโลกไปถึงเชียงใหม่ผ่านเส้นทางโค้งขึ้นและลงเขา.....ในที่สุดก็มาถึงเชียงใหม่ตอนเย็นๆของวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน มีโอกาสแวะไปทานอาหารเย็นร่วมกันกับอาจารย์ที่มาด้วยกันและลูกศิษย์ปริญญาเอกที่ร้านอาหารริมน้ำตกห้วยแก้ว บรรยากาศดีทีเดียวเป็นธรรมชาติ....


ในขณะที่นิสิตจำนวนหนึ่งเดินทางไปฟังการบรรยายเกี่ยวกับธรรมะในสายของพระศรีอาริยเมตไตรที่มีประธานรุ่น ๓ เป็นคนพาไป ผมขอตัวไปอ่านหนังสือที่โรงแรมและอยากพักผ่อนมากกว่า... บอยซึ่งเป็นลูกศิษย์อาสาขับรถพาผมไปส่งที่โรงแรม บอยเล่าให้ฟังว่าช่วงนี้คนกรุงเทพฯหนีน้ำท่วมมาพักในเชียงใหม่จำนวนมาก เท่ากับว่าช่วยเพิ่มปริมาณรถบนท้องถนนในตัวเมืองเชียงใหม่....และคนกรุงเทพฯบางคนก็นำเอานิสัยการขับรถแบบคนกรุงเทพฯมาใช้บนท้องถนนในเชียงใหม่---อยากจะเปลี่ยนเลนก็เปลี่ยนทันที โดยไม่สนใจเพื่อนร่วมท้องถนนทันที------บรรยากาศในเมืองเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยรถยนต์ทะเบียนกรุงเทพมหานคร และพฤติกรรมการขับรถแบบเปลี่ยนช่องทางการขับขี่ตามใจฉัน ขับปาดไปปาดมา



ความรู้สึกที่มีต่อเชียงใหม่.....ผมรู้สึกว่ารถติดมากขึ้นในเชียงใหม่ หาที่จอดรถยนต์ลำบาก ในขณะที่สภาพตึกรามบ้านช่องยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้ต่างไปจากเชียงใหม่ในอดีตที่เคยแวะเวียนมาเยือน



วันรุ่งขึ้นมีโอกาสทานอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน ในขณะที่นั่งทานอาหารอยู่ เกิดมีข้อสงสัยบางอย่างเลยสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงแรมในห้องอาหารว่า

"ปกติ เขาเสิร์ฟ ชา กับ กาแฟ ให้แก่แขกในห้องอาหาร
ที่นี่มีชาเขียว เสิร์ฟให้แขกไหมครับ?"


เจ้าหน้าที่ในห้องอาหารเธอตอบว่า

"ปกติไม่ได้เสิร์ฟชาเขียวค่ะ แต่ถ้าต้องการจะจัดหาชาเขียวมาให้ค่ะ"

เธอเดินไปไม่นาน และกลับมาพร้อมซองชาเขียวกลิ่นมะลิของ Twining ผมขอบคุณเธอที่เป็นธุระให้ แต่ความจริงเพียงแต่สงสัยและอยากรู้ว่าในห้องอาหารเช้าของโรงแรมจะมีชาเขียวไว้คอยบริการลูกค้าไหมเท่านั้น วันนี้ผมสั่งชาฝรั่งมาดื่มแล้ว ดังนั้นจึงไม่รู้สึกอยากดื่มชาเขียวตอนนี้ แต่ก็ขอบใจในน้ำใจของพนักงานรายนั้น

พนักงานต้อนรับรายนี้ เธอพูดต่อไปว่า พรุ่งนี้ให้ผมมานั่งทานอาหารที่ห้องอาหารบริเวณนี้ แล้วเธอจะนำชาเขียวมาเสิร์ฟให้ แล้วกล่าวต่อไปว่าพบกันพรุ่งนี้ค่ะ



บรรยากาศงานประชุมวิชาการที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น เขาทำธีมแบบบรรยากาศชาวเหนือ เจ้าหน้าที่หลายคนสวมชุดที่ตัดเย็บแบบชาวเหนือ ได้ไปอีกบรรยากาศ


เขาเปิดงานโดยคณบดี รองศาสตราจารย์บุญสวาท พฤกษิกานนท์ แล้วมี Professor Dr. Paul Patterson จาก มหาวิทยาลัย New South Wales ใน ออสเตรเลียเป็น Keynote Speaker ได้ทบทวนแนวคิดเรื่องการบริการและบทบาทที่ขัดแย้งกันนำไปสู่ผลการปฏิบัติการที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น มีโอกาสได้ซักถามศาสตราจารย์ พอล แพตเทอร์สันเรื่องงานวิจัยของเขาที่ทำเชิงเปรียบเทียบระหว่างพนักงานธนาคารในไทยกับออสเตรเลีย


มีโอกาสถ่ายภาพร่วมกับนิสิตและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรบริเวณหน้าห้องประชุม






ได้มีโอกาสฟังการนำเสนอผลการวิจัยจากอาจารย์หลายๆท่านทั้งภาคเช้าและบ่าย.....วิธีในการทำวิจัยยังเป็นประเด็นที่ผมฟังแล้วไม่แน่ใจนักว่าวิธีวิจัยมันเหมาะสมไหม? หลายๆคนที่นำเสนอผมซักถามแต่คำตอบที่ได้ไม่ช่วยทำให้ผมคลายความสงสัยได้มากนัก


มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่นำเสนอ....แวบแรกที่เห็น มีความรู้สึกว่าหน้าตาคุ้นๆมาก อาจารย์ดร.ศรัญญา กันตะบุตร ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ในประเทศลาว เรื่องทัศนคติของนักศึกษาลาวต่อการทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผลการวิจัยที่ได้ออกมาชวนให้เกิดคำถาม ผมเลยสอบถามแต่ก็ยังคำตอบจากการวิจัยที่ทำให้รู้สึกแปลกๆ ที่คำตอบออกมาว่านักศึกษาลาวให้เหตุผลในการชอบ/ความสนใจงานมาเป็นอันดับสุดท้ายในการเลือกสถานที่ทำงาน แต่ให้เหตุผลเรื่องผลตอบแทนมาอันดับต้น


ภายหลังจบการนำเสนอ ช่วงเบรคพักดื่มกาแฟ ผมนึกขึ่นมาได้ว่า ดร.ศรัญญา น่าจะเป็นรุ่นน้องที่ภาคสถิติ คณะเดียวกัน และเคยอยู่ชมรม CU Chorus และเป็นนักร้องกลุ่มเสียงโซปราโนซึ่งเธอยืนข้างล่างใกล้ๆผมตอนซ้อมร้องเพลงที่ชมรม เลยถามว่า อาจารย์เคยอยู่ชมรมซียูคอรัสใช่ไหม? พอเธอบอกว่าใช่ เลยตามมาด้วยคำถามอีกหลายๆคำถามแล้วทำให้ดร.ศรัญญาจำได้ว่า ผมเป็นรุ่นพี่เธอ เธอจำชื่อเล่นผมได้....ไม่น่าเชื่อว่าจะมาเจอกันที่นี่ ภายหลังจากไม่ได้เจอกันร่วม ๒๐ กว่าปี


แล้วมีโอกาสได้คุยกับพี่ชัชพงศ์ ที่เป็นอาจารย์จากจุฬาฯ ซึ่งมานำเสนองานที่นี่ด้วย ผศ. ดร. ชัชพงศ์เป็นพี่ชายของพี่ขนบพันธุ์ซึ่งพี่ขนบพันธุ์เป็นคนเรียนเก่ง และทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชนของคณะฯ รู้จักกันตอนสมัยไปค่ายของคณะฯ

นอกจากนี้ยังคุ้นๆกับชื่อ-นามสกุลของอาจารย์มช.รายหนึ่ง เลยถามนักศึกษาว่าอาจารย์เรนัสคนไหน? พอไปเจอตัว...ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า เร เพื่อนสมัยอยู่หอจุฬาฯ เขาเป็นคนเชียงใหม่แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ นอกจากนี้ก็ไปเจอกับรุ่นน้องที่โต๊ะ ก. ๓ ที่เขาแนะนำตัวว่าชื่อ กบ หน้าตาเขาไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม








ตอนนี้ผมเลยเข้าใจแล้วว่า...อะไรเป็นเหตุให้ผมต้องมาร่วมงานประชุมวิชาการที่มช.เป็นคนจัดขึ้นมา แม้ว่าความตั้งใจตอนต้นจะไม่มีความคิดอยากจะมาร่วมก็ตาม



ต่างคน ต่างกรรม ต่างวาระ แต่ด้วยเหตุผลของกรรมที่เคยกระทำร่วมกันในอดีตส่งผลให้เกิดแรงดึงดูดให้คนที่เคยกระทำกรรมร่วมกัน แม้จะอยู่ต่างถิ่น...เดินทางมาพบกันในช่วงเวลาที่กรรมได้จัดสรร



การได้พบเพื่อนเก่าเป็นความรู้สึกที่ดี......เหตุการณ์ในอดีตหลายๆเรื่องเป็นความทรงจำที่ดีร่วมกันของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา



เย็นวันนั้นภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง...ผมมีโอกาสเดินดูสถานที่ต่างๆเป็นการฆ่าเวลา ก่อนจะไปพบกับลูกศิษย์ซึ่งช่วยทำนัดให้ผมไปพบกับอาจารย์ที่เป็นกรรมการปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอ ผมเดินจากโรงแรมที่พักไปตลาดวโรรส ผ่านวัดลอยเคราะห์ วัดอุปคต บรรยากาศตลาดวโรรสวันนี้ และรสชาติกาละแมเสวย....ที่ไม่ได้ทานนานมากแต่ยังคงอร่อยเหมือนเดิม



ลูกศิษย์มารับผมไปพบกับผศ. ดร. พิชาภพ และ ดร. ทัดพงศ์ อาหารเย็นที่เรานั่งทานกันในบรรยากาศแบบสบายๆ พอได้คุยกับ ผศ. ดร.พิชาภพ ผมกลับพบว่ามีอะไรคล้ายๆกันหลายอย่าง เหตุการณ์ในอดีตเรื่องความผิดพลาดในเรื่องเรียนทำให้ผศ. ดร. พิชาภพ มีชีวิตที่พลิกผันแล้วสุดท้ายก็มาสู่สายอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย มันคงคล้ายๆกับที่ผมถอนวิชาบัญชีขั้นต้น ๑ เพราะคะแนนกลางภาคได้น้อยเนื่องจากผมคำนวณผิด ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจในคอนเซ็ปท์ของการลงบัญชี แม้ผมจะตามเก็บวิชาบัญชีตัวตามและได้ A ไปหลายตัวก็ตาม แต่มันก็มีผลต่อชีวิตนิสิตจุฬาฯที่เหลือ ถ้าสมมติว่าผมจบมาพร้อมเกียรตินิยม....ชีวิตผมคงไม่ได้มาเรียนหนังสือในญี่ปุ่น ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ในทำงานหลายที่แบบนี้ หรืออาจจะไม่ได้เจอผู้คนอย่างที่ผมเจอ รวมทั้งมุมมองโลก ชีวิต อาจจะแตกต่างไปจากที่ผมเป็นอยู่


ผมพูดเรื่องการวิ่งมาราธอน ปรากฏว่าอาจารย์พิชาภพเองก็สนใจวิ่งมาราธอนเหมือนกัน อาจารย์พิชาภพซ้อมแบบตัวจริงมากกว่าผม ซ้อมทุกวันๆละ ๑๐ กิโลเมตร อาจารย์สนใจจะลงรายการฟูลมาราธอน ผมเลยให้ข้อมูลที่ต้องระมัดระวังบางประการให้อาจารย์ฟังสำหรับการลงรายการฟูลมาราธอนที่ผมลงมาหลายครั้งในอดีต


ยิ่งคุย ยิ่งพบว่า อาจารย์พิชาภพ คิดเชื่ออะไรคล้ายๆกัน อาจารย์พิชาภพเชื่อเหมือนผมว่า คนที่ทำกรรมเหมือนกันจะมีแรงดึงดูดให้เจอคนคล้ายๆกัน บางทีการที่มาเจออาจารย์พิชาภพวันนี้คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของกรรมจัดสรรมากกว่า


บรรยากาศในมหาวิทยาลัย....เท่าที่ฟังจากเพื่อนหลายๆคนที่เป็นอาจารย์ และวันนี้ที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ทัดพงศ์และอาจารย์พิชาภพ ผมว่าไม่ต่างกันมากนัก


เราเพลินกับการสนทนา แม้ว่าจะเป็นการเจอกันครั้งแรกก็ตาม...ปรากฏว่าคุยติดลมกันจนพนักงานเสิร์ฟเขาต้องเข้ามาเตือนที่ห้องว่าร้านเขาจะปิดแล้ว ลูกศิษย์พาผมไปส่งที่โรงแรมที่พัก พบว่าพนักงานต้อนรับไม่สนใจจะเปิดประตูรถให้ ในขณะที่ถ้าเป็นแขกชาวต่างชาติ นอกจากพนักงานต้อนรับจะยกมือไหว้แล้วยังเปิดประตูรถให้ทุกคัน....นี่แหละวัฒนธรรมการให้บริการที่คนไทยรับรู้กัน ไม่น่าเชื่อว่ามาถึงที่พักเกือบ ๕ ทุ่ม


รุ่งขึ้นเช้าไปทานอาหารก่อนเช็กเอาท์จากโรงแรม พนักงานในห้องอาหารที่ทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อ คุณสุวพี ชัยอินทร์ ที่เจอในห้องอาหารเมื่อวานนี้เข้ามาทักทาย และไม่ลืมจะนำชาเขียวกลิ่นมะลิมาเสิร์ฟให้







มีโอกาสได้สนทนากับคุณสุวพี เธอเป็นคนเชียงใหม่และทำงานที่นี่ ๘ ปีแล้ว ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะผู้ใช้บริการว่า พบว่าพนักงานต้อนรับของโรงแรม จะเป็นคนเปิดประตู หรือว่าคนยกกระเป๋า มักปฏิบัติต่อแขกคนต่างชาติดีกว่าแขกคนไทย อาจจะมองว่าแขกต่างชาติให้ทิปมากกว่า แต่เป็นความเชื่อที่ไม่ดีนัก ส่งผลต่อบริการที่ไม่ดีและลูกค้าไม่ประทับใจ


คุณสุวพี....เธอเข้าใจ แต่สำหรับเธอ เธอไม่สนเรื่องทิป แต่เธออยากให้ลูกค้าทุกคนรู้สึกมีความสุขที่ได้มาใช้บริการ และกลับมาใช้บริการใหม่ แขกหลายคนที่มาพักซ้ำที่โรงแรมนี้ออกปากชมว่า....เธอเป็นพนักงานคนเดียวที่เห็นยิ้มแย้มตลอดเวลาที่ให้บริการแขก การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยของลูกค้าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่คุณสุวพีมี







ยอมรับว่าตั้งแต่ไปใช้บริการในโรงแรมต่างๆในประเทศไทย ยังไม่เคยเจอพนักงานโรงแรมคนไหนที่ใส่ใจบริการของลูกค้าจริงจังเท่ากับคุณสุวพี โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน โชคดีที่มีพนักงานอย่างคุณสุวพีมาร่วมงานด้วย และหวังว่าโรงแรมจะตระหนักในคุณค่าของพนักงานอย่างคุณสุวพีและรักษาคุณสุวพีให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของโรงแรมไว้นานๆ


เนื่องจากผมซื้อของฝากที่ตลาดวโรรสตั้งแต่เมื่อวานแล้ว.....ผมเลยไม่ได้ลงไปซื้อของวันนี้อีก นั่งรอรถตู้อีกคันที่ไปรับลูกศิษย์อยู่ในรถตู้ จะโดยบังเอิญรึเปล่าผมไม่ทราบที่ผมรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ ผมสะดุดตากับลวดลายวิหารในวัดแห่งหนึ่งในขณะที่รถจอดรออยู่ ผมเลยขอแวะเข้าไปใช้ห้องน้ำที่วัดแสนฝาง พอได้เข้าไปในวัด...ผมถึงตระหนักว่าวัดนี้เป็นวัดเก่ามาก ย้อนไปสมัยพญาแสนภู กษัตริย์สมัยราชวงส์มังรายเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ฝังสมบัติที่ถวายให้แก่วัดซึ่งอยู่ใกล้ริมปิง วัดเดิมจึงชื่อ "วัดแสนฝัง" แต่เรียกเพี้ยนเป็นวัดแสนฝาง ในเวลาต่อมา






สำหรับวิหารลวดลายงดงามที่เห็นมาสร้างในสมัยเจ้าวิชยานนท์ เจ้านายที่ครองนครเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ ๕







ถ้าจะประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น....คงสรุปสั้นๆว่าทริปไปเชียงใหม่คราวนีัมีเหตุชักนำไป เหตุเกิดเพราะกรรมได้จัดสรรให้ผมได้มาเจอผู้คนและสถานที่ซึ่งผมไม่เคยคาดการณ์มาก่อนล่วงหน้าว่าจะได้มาเจอในช่วงเวลาที่เหมาะสม กรรมได้จัดสรรให้คนที่เคยทำกรรมร่วมกันได้มาพบกัน กรรมได้จัดสรรให้คนที่ทำกรรมคล้ายๆกัน สนใจเรื่องคล้ายๆกัน ได้มาพบกัน กรรมได้จัดสรรให้เราไปยังสถานที่ซึ่งเราอาจจะเคยเกี่ยวข้องในอดีต


ต่างคน

ต่างกรรม

ต่างวาระ

กรรมจัดสรรให้

คนเหล่านั้นได้พบกัน

ในเวลาที่เหมาะสม










 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2554 16:00:42 น.
Counter : 1285 Pageviews.  

มุมมองวิกฤตภัยพิบัติธรรมชาติเปรียบเทียบระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น

เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ มีโอกาสได้ดูรายการทันโลก ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่วงเวลา ๒๐.๓๐-๒๑.๑๕ น.

คุณชัยรัตน์ ถมยา พิธีกรรายการทันโลกเอาเหตุการณ์สัมภาษณ์คนญี่ปุ่นในช่วงภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีจุดศูนย์กลางที่จังหวัดมิยากิ (宮城県)มานำเสนอใหม่

มุมมองของคนญี่ปุ่นที่มีต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ คนญี่ปุ่นมีวินัย ไม่ยื้อแย่งข้าวของที่มีการแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย แต่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ และเชื่อฟังคำขอร้องของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลขอร้องให้ปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งแบ่งแจกจ่ายน้ำมันให้แต่ละรถยนต์แต่ละคันไม่เกิน ๒๔ ลิตร ทุกคนก็เชื่อฟัง ไม่มีใครแสดงอภิสิทธิ์ขอน้ำมันมากกว่าคนอื่น


เมื่อคุณชัยรัตน์สอบถามคุณป้าชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแบบนี้ ทำไมคนญี่ปุ่นไม่แย่งชิงข้าวของแต่กลับเข้าคิวกันเป็นระเบียบ เธอตอบว่า

"คนญี่ปุ่นคิดถึงคนอื่นก่อนตนเอง ทุกคนเดือดร้อนเหมือนกัน และเชื่อมั่นว่าในที่สุดรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องไปแย่งชิงข้าวของกัน"


และเมื่อคุณชัยรัตน์ถามคนขับรถแท็กซี่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถวไปรับของบริจาคอย่างเป็นระเบียบโดยไม่มีการยื้อแย่งข้าวของกัน เป็นเพราะโรงเรียนสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า คุณลุงขับรถแท็กซี่ตอบกลับมาว่า


"มันเป็นเรื่องปกติที่คนญี่ปุ่นกระทำจนเป็นนิสัย ในการเข้าแถวและเคารพในเรื่องของสิทธิของการเข้าคิว"


ผมจำได้ว่าตอนไปเที่ยวเกียวโต ผมเข้าคิวรอขึ้นรถเมล์แต่เพราะไม่แน่ใจว่าผมขึ้นคันถูกต้องไหม? เลยเดินออกจากแถวไปดูที่ขึ้นรถเมล์อีกช่องหนึ่ง แต่พอรู้ว่าแถวเดิมถูกต้องแล้ว...ผมเดินกลับไปต่อท้ายแถวใหม่ ปรากฏว่าคุณป้ารายหนึ่งเธอดึงผมมายืนหน้าเธอแล้วก็พูดยืนยันว่า ผมควรจะยืนด้านหน้าเธอโดยไม่จำเป็นต้องไปต่อท้ายแถว มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่น่าชื่นชมมาก ที่ทุกคนเคารพกติกาที่สังคมกำหนด โดยเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของคนอื่นด้วยเช่นกัน


คืนนั้นคุณชัยรัตน์เอาเทปสัมภาษณ์คุณ คิมิโอะ ทาเคย่า ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการระบายน้ำ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) มาออกอากาศ คุณทาเคย่าให้สัมภาษณ์แสดงแนวคิดของคนญี่ปุ่นต่อกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติว่า


คนญี่ปุ่นจะมีแนวทางในการปฎิบัติเวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติดังนี้

๑. พยายามช่วยเหลือตัวเองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ได้ก่อน
๒. ช่วยเหลือคนอื่น
๓. รัฐบาลให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย


ในสถานการณ์ยามภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถ้ารัฐบาลประกาศให้คนอพยพจากพื้นที่ซึ่งเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้คนควรอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย การจัดการกับปัญหาจะกระทำได้ง่ายกว่าการที่ผู้ประสบภัยไม่ยอมอพยพออกจากบ้านแต่กลับรอคอยขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว


จากการสัมภาษณ์คนไทยที่ประสบภัยในหลายๆพื้นที่จะพบว่าคนไทยจำนวนมากไม่ยอมอพยพออกจากบ้านเพราะเป็นห่วงบ้าน...กลัวขโมยจะมาลักข้าวของ ยอมลำบาก อยู่ในบ้านแม้ว่าจะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้ หลายคนคิดแต่ว่าให้ลำบากอย่างไรก็จะมีคนมาช่วย เมื่อนักข่าวถามว่าแล้วถ้าไม่มีคนมาช่วยจะทำอย่างไร โดยมากคนเหล่านั้นยังไม่เคยคิด แต่เชื่อว่าจะมีคนมาช่วย ไม่ใช่ญาติพี่น้องก็ต้องเป็นคนอื่นที่จะเข้ามาช่วยตนที่ติดค้างอยู่ในบ้าน หรือแม้แต่สถานสงเคราะห์ของรัฐบาลบางแห่งก็เชื่อว่าถ้าเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจริงๆคงมีคนมาช่วย


แนวคิดแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามที่จะช่วยเหลือตนเอง อยู่ให้ได้ด้วยตนเองของคนญี่ปุ่นก่อนที่จะรอคอยความช่วยเหลือของรัฐบาล ในขณะที่คนไทยรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่าจะพยายามอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง


ความคิดที่แตกต่างกันทำให้การรับมือกับวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงมีความแตกต่างกันระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น


นอกจากนี้คุณคิมิโอะ ทาเคย่ายังพูดถึงแนวคิดขององค์กรญี่ปุ่นในไทยที่สะท้อนความคิดเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นว่า


"ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมจากการถูกน้ำท่วมในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้ที่อยู่อาศัยของพนักงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้นเกิดภาวะน้ำท่วมด้วย เพราะไม่ว่านิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้นจะปลอดภัยจากน้ำท่วมอย่างไรก็ตามถ้าพนักงานได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ก็จะไม่สามารถมาทำงานได้ บริษัทเหล่านั้นก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน


นี่คือแนวคิดขององค์กรญี่ปุ่นที่มองว่าพนักงานเป็นสมาชิกคนหนึ่งขององค์กรที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ"



ความแตกต่างในการรับมือกับวิกฤตคราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและความรู้ความเข้าใจของประชาชนในประเทศไทยกับในญี่ปุ่น


ในญี่ปุ่นผู้นำในชุมชนจะทราบว่าในเขตที่ตนอยู่อาศัยมีใครอยู่บ้าง และประชาชนจะรับรู้รับทราบว่าถ้าเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติจะต้องอพยพไปอยู่ที่ไหน และโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงหรือสถานที่ราชการใหญ่จะพร้อมที่จะรองรับประชาชนผู้ประสบภัยเวลาเกิดเหตุ และศูนย์รองรับผู้ประสบภัยจะทำการแจกจ่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้แก่ผู้ประสบภัย การจัดการจะเป็นระบบ มีการเตือนภัยก่อนจะเกิดเหตุการณ์วิกฤต และประชาชนจะอพยพหนีภัยธรรมชาติไปอยู่ยังที่ปลอดภัยตามศูนย์รองรับผู้ประสบภัย และการแก้ปัญหาจะมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน


ในขณะที่ประเทศไทยประชาชนไม่ทราบเบื้องต้นว่าถ้าเกิดภัยพิบัติจะต้องอพยพไปอยู่ที่ไหน จนกระทั่งหน่วยงานของรัฐประกาศตอนเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้นว่าจะให้บริเวณไหนเป็นสถานที่หลบภัยตอนนั้นผู้ประสบภัยถึงทราบ ประชาชนไม่ยอมอพยพออกจากบ้านเรือนตัวเองแต่รอคอยและหวังว่าจะมีคนมาช่วย นอกจากนั้นการแก้ปัญหาในเมืองไทยสำหรับเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมคราวนี้บ่งบอกถึงการขาดเอกภาพอย่างมาก



เมื่อวันเสาร์มีโอกาสเดินทางกลับไปนครสวรรค์อีกครั้ง มีภาพเหตุการณ์หลังน้ำลดมาแชร์






ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงไปมากแล้วแต่แนวหินคลุกกันน้ำทะลักเข้ามาท่วมในตลาดเทศบาลนคร นครสวรรค์ยังคงหลงเหลือเอาไว้เพราะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ลดต่ำกว่าตลิ่ง







สิ่งที่ตกค้างภายหลังน้ำลดคือปริมาณขยะที่ลอยมากับน้ำซึ่งแต่ละบ้านต่างพยายามกำจัดโดยการเอามาทิ้งกองไว้หน้าบ้าน เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะช่วยจัดเก็บขยะที่ชาวบ้านเอาออกมาทิ้งหน้าบ้าน


ฝุ่นคลุ้งให้เห็นได้ทั่วไปในเขตตลาดเทศบาลนคร นครสวรรค์ และร้านค้าต่างๆหลายร้านยังคงปิดร้านแม้ว่าน้ำจะลดจนไม่เหลือตกค้างให้เห็นในเขตตลาดเทศบาลนคร นครสวรรค์ แล้วก็ตาม



ในเขตอุทยานสวรรค์.....เดินออกกำลังกายตอนเช้าดูหดหู่ เพราะไม่ค่อยเห็นใครมาออกกำลังกายในอุทยาสวรรค์ ต่างจากตอนปกติทั่วไปที่มีคนจำนวนมากมาออกกำลังกายที่นี่ทั้งเช้าและตอนเย็น วันนี้เห็นแต่ต้นไม้ตายเพราะแช่น้ำ บางต้นใบเหี่ยวเฉาเพราะแช่น้ำเป็นเวลานาน คราบรอยน้ำที่ตกค้างตามอาคารและสิ่งก่อสร้างภายในอุทยานสวรรค์....บ่งบอกให้ทราบว่าระดับน้ำตอนน้ำท่วมสูงไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร


บริเวณลานเรียนลีลาศภายในอุทยานสวรรค์....สภาพภายหลังน้ำท่วม มีหนังสือเสียหายจำนวนมากเพราะน้ำท่วม น่าเสียดายมาก







วันนี้เขตเทศบาลนคร นครสวรรค์น้ำลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ แต่สำหรับในเขตกรุงเทพฯ เหตุการณ์น้ำท่วมกำลังเริ่มต้น ระดับความรุนแรงของน้ำท่วมคราวนี้ต่อเมืองหลวงของประเทศจะเป็นอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหนก่อนจะเข้าสู่สภาวะปกติ....ไม่มีใครบอกได้แน่ชัด








 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2554 7:34:24 น.
Counter : 1033 Pageviews.  

ปีที่ 2 ของการสอนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนที่ ๕

ภายหลังจากเรียนครบ 15 สัปดาห์....ก็มาถึงเทศกาลสอบปลายภาค นิสิตปริญญาตรีรุ่นนี้ที่ลงทะเบียนเรียนวิชากลยุทธ์ทางธุรกิจในกลุ่มที่ผมสอนมีจำนวนมากกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วนิสิตปริญญาตรีภาคปกติมีจำนวน 231 คน แต่สำหรับปีนี้มีนิสิตปริญญาตรีภาคปกติที่ลงทะเบียนวิชานี้กลุ่มที่ผมสอน 257 คน และเป็นนิสิตภาคพิเศษจำนวน 53 คน ข้อสอบที่ออกก็เป็นอัตนัยให้นิสิตเขียนอธิบายจากความเข้าใจไม่ใช่จากความจำและไม่มีตัวเลือกให้นิสิตวงกลม เป็นการวัดผลว่านิสิตเข้าใจมากน้อยแค่ไหนในบทเรียนที่สอนไป





ข้อสอบจำนวนมากขนาดนี้....เวลาที่ใช้ในการตรวจกว่าจะเสร็จนานทีเดียวและต้องใช้สมาธิในระหว่างที่ตรวจ


สำหรับนิสิตภาคปกติวันสอบปลายภาคตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ห้องสอบ QS4401 เป็นห้องสอบใหญ่ที่นิสิตทุกกลุ่มสอบห้องเดียวกันจำนวน ๒๕๗ คน



ก่อนสอบมีโอกาสได้พูดอะไรกับลูกศิษย์ทั้งหมดก่อนเริ่มต้นสอบ...





ผมขอบคุณสำหรับข้อความที่ลูกศิษย์เขียนไว้ในคีย์เวิร์ดคาบสุดท้ายซึ่งข้อความที่แต่ละคนเขียนให้ มันเป็นกำลังใจในการทำงานให้แก่ผมในฐานะผู้สอนให้ทำงานมีคุณภาพต่อไป


แล้วก็หยิบเอาคำพูดของลูกศิษย์บางคนที่พูดในชั้นเรียนคาบสุดท้ายและคีย์เวิร์ดที่พวกเขาเหล่านั้นเขียนไว้ด้วยความชื่นชมและศรัทธาอาจารย์ในดวงใจของลูกศิษย์เหล่านั้น







อาจารย์โยเป็นคนหนึ่งที่ลูกศิษย์ศรัทธาแต่เจ้าตัวไม่มีโอกาสรับรู้ อาจจะเป็นเพราะอาจารย์โยไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ลูกศิษย์พูดความรู้สึกที่มีต่อวิชาและอาจารย์ผู้สอน อาจารย์โยอาจจะคิดเอาเองว่าเข้มงวดและโหดกับลูกศิษย์มาก จนลูกศิษย์ส่วนมากขยาดและไม่ปลื้มนัก แต่ข้อเท็จจริงที่ควรจะบอกให้อาจารย์โยรู้คือ....ยังมีลูกศิษย์ที่ศรัทธาและชื่นชมในความเป็นครูในตัวอาจารย์โย


เมื่อหยิบเอาประเด็นนี้พูดขึ้นมา ลูกศิษย์ที่ชื่นชอบในตัวอาจารย์โยตบมือและส่งเสียงเฮ มุขที่เล่นสดๆบนเวทีแบบนี้เล่นเอาอาจารย์โยงงและพูดอะไรไม่ถูก






หลังจากนั้นก็ทำการเฉลยคำถามที่มีนิสิตหลายคนสงสัยว่าตอนที่ผมหน้ามืดต้องไปนอนพักที่โรงพยาบาล มีผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยห่วงใยผม ผู้หญิงคนนั้นเธอเป็นใคร? คราวนี้นิสิตกลุ่มที่นั่งสอบด้านหน้าก็เลยทำเสียงร้องดังๆว่า "อ๋อ........"







มุขสดที่ใช้ในห้องสอบวันนั้นก็ทำให้ผู้ช่วยคุมสอบหน้าแดงเพราะเขินอีกเหมือนกัน









นิสิตเริ่มอารมณ์ดี มีรอยยิ้ม ไม่เครียดกับการจะเริ่มต้นทำสอบวันนี้ แต่กลับส่งเสียงฮาลั่นเมื่อผมหยอดมุขเรียกเสียงฮา






บรรยากาศการสอบวันนี้จึงเต็มไปด้วยเสียงฮา ครึกครื้น ผิดไปจากบรรยากาศการสอบวิชาอื่นๆ ความรู้สึกตอนนั้นไม่เหมือนเป็นห้องสอบ แต่เป็นเหมือนทอล์คโชว์คลายเครียดมากกว่า บรรยากาศแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและผมเองก็ไม่คิดมาก่อนว่าบรรยากาศวันสอบจะเป็นแบบนี้....เหตุการณ์พาไปมากกว่า


พอจะเริ่มต้นทำสอบจริง....นิสิตบางคนฮามากไปจนในหัวลืมไปเลยกับสิ่งที่อ่านหนังสือเตรียมสอบสำหรับวิชานี้





































เนื่องจากเป็นข้อสอบเขียนอธิบายและใช้เวลาทำถึง 3 ชั่วโมง แน่นอนผู้เข้าสอบย่อมมีอาการเมื่อยล้า เมื่อครบทุกๆ 1 ชั่วโมงจะทำการบอกให้นิสิตพักแป๊บนึง รีแล็กซ์ ก่อนจะกลับไปเขียนอธิบายต่อ










นิสิตหลายคนตั้งใจทำสอบมาก มีหลายคนที่นั่งเขียนจนหมดเวลาครบ 3 ชั่วโมง














มุทิตามาสอบในสภาพถือไม้ค้ำยันมาด้วย ตอนคุมสอบเข้าใจว่าเขาอยากถ่ายภาพด้วยและรออยู่นอกห้องภายหลังจากสอบเสร็จ ผมเลยแวะเข้าไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเอาไว้หน้าห้องสอบ






เมื่อสอบเสร็จก็เป็นช่วงเวลาของการตรวจข้อสอบ จำนวนนิสิตภาคพิเศษที่สอบไปก่อนหน้านั้น 53 คน เมื่อรวมกับนิสิตภาคปกติ 257 คน เท่ากับว่าผมต้องตรวจข้อสอบทั้งหมด 310 คน!!!!! งานนี้ใช้สมาธิอย่างมากและพยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้ผันแปรไปตามลายมือของนิสิตที่เขียน


การตรวจข้อสอบต่อเนื่อง...เมื่อยล้ามาก ถ้าอารมณ์ไม่ดีจะหยุดตรวจข้อสอบทันทีเพราะไม่อย่างนั้นอารมณ์ที่ผันแปรจะมีผลต่อความผันแปรของคะแนนนิสิตที่ออกมา


ในระหว่างที่ตรวจข้อสอบ ไม่คาดหมายว่าจะได้อ่านข้อความที่นิสิตเขียนถึงในกระดาษคำตอบ แต่สำหรับข้อความที่นิสิตบางคนเขียนในกระดาษคำตอบทำให้ผมในฐานะครูของพวกเขาเกิดอาการอึ้งและปีติ อึ้งและปีติที่บรรยากาศในชั้นเรียนที่เราตั้งใจสร้างขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเวลาดีๆที่อยู่ในความทรงจำของลูกศิษย์









คะแนนถูกกรอกลงในระบบ เกรดถูกตัดสินอย่างยุติธรรมตามคะแนนรวมทั้งหมดที่นิสิตแต่ละคนทำได้ ผมไม่สามารถทำให้นิสิตทุกคนสมหวังในเกรดได้ แต่อยากให้นิสิตทุกคนรับรู้ว่า...


"A B+ B C+ C ที่แต่ละคนได้จากวิชานี้
ไม่สำคัญเท่ากับการหยิบเอาเนื้อหาที่สอนไปในวิชานี้
ไปใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์ในชีวิตจริง
เพราะการได้ A ในชีวิตจริงมีความหมายมากกว่า
และผมในฐานะคนสอนจะดีใจมากที่เห็นว่า..
ลูกศิษย์ที่ผมสอนหยิบเอาสิ่งที่เคยสอนในชั้นเรียน
ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้"







 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 17:32:16 น.
Counter : 1201 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.