ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

บรรยายหัวข้อ "กลยุทธ์ดีมีชัย" ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔

บริษัทโชคอนันต์อินเตอร์ออยล์และบริษัทเอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดเสวนาให้กับบรรดาอู่รถยนต์ที่เป็นลูกค้าของน้ำมันเครื่องโมบิล 1 ฟังในหัวข้อ "ช่างเครื่องควรรู้" ขึ้นที่โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔


ทางบริษัทโชคอนันต์อินเตอร์ออยล์ได้เชิญให้ผมไปบรรยายในหัวข้อ "กลยุทธ์ดีมีชัย" ให้แก่บรรดาเจ้าของอู่รถยนต์ที่เป็นลูกค้าของบริษัทโชคอนันต์อินเตอร์ออยล์



ก่อนไปบรรยาย....จำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟัง ลักษณะธุรกิจของอู่ ลูกค้าที่มาใช้บริการของอู่ สภาพการแข่งขันของธุรกิจนี้ และ ปัญหาที่เกิดขึ้น



มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการหลายแห่งที่เป็นลูกค้าของบริษัทโชคอนันต์อินเตอร์ออยล์ในเขตพิษณุโลก ได้ข้อคิดดีๆในการบริหารจัดการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจากเจ้าของกิจการเหล่านั้น พบปัญหาที่เจอเหมือนๆกันคือการส่งต่อกิจการจากเจ้าของกิจการให้แก่ทายาท การบริหารกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เตรียมพร้อมจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น



เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็มาเรียบเรียงเนื้อหาเตรียมทำสไลด์เพื่อบรรยาย...



สิ่งที่พบบ่อยๆในการบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายๆแห่งให้แก่ผู้ประกอบการคือ.....อาจารย์บางคนมองจากมุมมองของนักวิชาการ โดยยังคงใช้ศัพท์เทคนิคที่ยากต่อความเข้าใจสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ศึกษาสูงมากนัก ดังนั้นผู้ฟังเมื่อฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ สไลด์ก็ใช้ภาษาอังกฤษในการอธิบาย การสื่อสาร...บางช่วงขณะจึงไม่สามารถสัมฤทธิ์ผล เพราะผู้ฟังไม่เข้าใจความหมายที่วิทยากรกำลังอธิบาย



ถึงแม้เนื้อหาด้านกลยุทธ์จะเป็นเนื้อหาที่ผมสอนในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยทั้งระดับชั้นปริญญาตรี-ปริญญาเอก แต่สำหรับผู้ฟังที่เป็นผู้ประกอบการ ผมก็จำเป็นต้องปรับเนื้อหาที่จะบรรยายให้สอดคล้องกับความสนใจและความเข้าใจของผู้ฟังเช่นกัน


ถ้าผู้ฟังมารับฟังแล้วไม่เข้าใจก็คือการสูญเปล่า สิ่งที่อยากให้เกิดกับการรับฟังการบรรยายวันนี้คือ เขาได้แนวคิดดีๆกลับไปแล้วไปต่อยอดในการบริหารจัดการกิจการของพวกเขาให้มีประสิทธิภาพขึ้น



ใช้เวลาเตรียมสไลด์นานกว่าที่คิด เนื่องจากต้องแปลงเนื้อหาเป็นภาษาไทย ด้วยถ้อยคำที่ง่ายต่อความเข้าใจของผู้ฟัง และมองความเชื่อมโยงของเนื้อหาให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ในขณะที่เตรียมสไลด์ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมทะลักเข้าไปในเขตนครสวรรค์ ผมเป็นห่วงบ้านผมในนครสวรรค์ยิ่งพ่อแม่ไม่ยอมอพยพออกมาจากบ้านยิ่งกังวล



ใช้พลังงานและความตั้งใจกับการเตรียมสไลด์อย่างมาก แต่สุดท้ายผมก็เตรียมสไลด์เสร็จตามกำหนด....



ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมบรรยาย.... ถึงแม้เวลาในการบรรยายที่ทางผู้จัดกำหนดให้เพียง ๑ ชั่วโมง หน้าที่ของผู้บรรยายคือรักษาเวลาในการบรรยาย และบรรยายเนื้อหาให้ครบถ้วนแก่ผู้ฟัง



ปกติเวลาเล็คเชอร์หัวข้อต่างๆในชั้นเรียนใช้เวลา ๓ คาบ แค่คราวนี้มาบรรยายให้แก่ผู้ประกอบการฟัง จะต้องเลือกที่จะเน้นประเด็นสำคัญ อะไรบ้างเป็นความรู้ใหม่ แนวคิดใหม่ที่เขาอาจจะไม่เคยมองทราบมาก่อนแม้ว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวก็ตาม




การซ้อมการบรรยายเป็นเรื่องสำคัญ....แม้ว่าชั่วโมงบินในการบรรยายจะสูงขนาดไหนก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่พลาดต่อหน้าผู้ฟัง



ผมซ้อมบรรยายหลายรอบจนแฟนผมตกใจว่าทำไมซ้อมจริงจังขนาดนั้น


ไม่สำคัญว่าเวทีในการบรรยายจะเป็นเวทีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญคือคุณภาพในการบรรยายควรจะคุ้มกับที่เขาเชิญเราไปบรรยาย และตัวผู้เข้าฟังการบรรยายได้คุณค่าและแนวคิดสำคัญกลับไป ไม่ใช่มานั่งฟังฆ่าเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ



มีบรรดาเจ้าของอู่และช่างที่เป็นลูกค้าของบริษัทโชคอนันต์อินเตอร์ออยล์มาฟังราวๆ ๓๐-๕๐ คน เมื่อเห็นบรรยากาศในการบรรยายและผู้ฟังแล้วก็ทำการปรับลักษณะการบรรยายให้สอดคล้องมากขึ้น เนื่องจากเขาจัดให้เราบรรยายช่วงท้ายซึ่งตอนนั้นเวลาล่วงเลยไป ๑ ทุ่มแล้ว ลองนึกถึงตอนที่คนฟังเกิดอาการหิว...ความสนใจจะเป็นอย่างไร




กลยุทธ์ในการบรรยายจึงต้องเลือกเนื้อหาที่จะบรรยายให้กระชับ...และเน้นประเด็นที่พวกเขาสนใจจริงๆ




เริ่มต้นการบรรยายด้วยความหมายของคำว่า "กลยุทธ์" คืออะไร เพื่อให้คนฟังมองว่าแท้จริงกลยุทธ์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ก่อนจะปูความเข้าใจว่าการบริหารเชิงกลยุทธ์มีกี่ขั้นตอน การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก เขาควรมองที่จุดไหนบ้าง และในอีก ๓ ปีกับ ๒ เดือนที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) มันจะเกิดผลกระทบตามมาอย่างไร โอกาสและอุปสรรคที่ต้องเตรียมพร้อมมีอะไรบ้าง ธุรกิจในต่างจังหวัดย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน




ผมเสนอแนะมุมมองในเรื่องกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรอง.....ความเชื่อเรื่องผลลัพธ์การเจรจาต่อรองที่ต้องจบแบบ Zero Sum Game กล่าวคือมีคนได้ในขณะที่อีกคนเสีย มันไม่ถูกต้อง และแท้จริงแล้วเราสามารถเจรจาต่อรองแบบจบลงโดยที่ทุกฝ่ายพึงพอใจได้อย่างไร โดยที่ไม่ไปแย่งผลประโยชน์ของคนอื่น คนฟังสามารถเห็นภาพชัดเจนและคล้อยตามได้เพราะมีตัวอย่างแสดงให้เห็น




เรื่องการบริหารจัดการกับวิกฤตการณ์ (Crisis Management) ที่เราไม่ควรมองกันแค่ว่า เป็นการจัดการเมื่อความเสียหายจากวิกฤตเกิดขึ้น แต่ควรจะมองการจัดการกับวิกฤตการณ์แบบบูรณาการ (Integrated Crisis Management) หาวิธีหลีกเลี่ยงก่อนวิกฤตเกิด หาทางลดความเสียหายที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด และเรียนรู้จากประสบการณ์วิกฤตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤตกลับมาเกิดขึ้นใหม่




การบริหารกิจการขนาดกลางขนาดย่อม (SME Management) ปัญหาที่เหมือนๆกันอยู่ตรงไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร จะรักษาคนงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับเรานานๆได้อย่างไร คนงานเป็นทรัพยากรที่มีค่ามีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร และกิจการครอบครัวจะมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างไรให้ทายาทรับช่วงต่อโดยมีปัญหาน้อยที่สุด




เป้าหมายในการทำธุรกิจปัจจุบันไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจเจริญเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว เพราะมีคนงานและครอบครัวของคนงาน ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของเรา เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราทำ ถ้าธุรกิจมันล้ม...คนเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบทันที


สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการคือ....รักษาสปิริตของการเป็นนักสู้ที่จะไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคและความล้มเหลวไม่ว่าจะเกิดขึ้นกี่ครั้งก็ตาม



ความล้มเหลวแท้ที่จริงคือ บันไดขั้นต้นของเส้นทางสู่ความสำเร็จ

มนุษย์เราควรเรียนรู้จากความล้มเหลวเพื่อพัฒนาตนเอง และพยายามต่อไป เพราะความสำเร็จจะตอบแทนให้กับคนที่อดทนและคอยรอความสำเร็จได้ เพราะผมเชื่อเสมอว่า


"ความพยายามของผู้คนไม่เคยจบลงด้วยความสูญเปล่า"




ภายหลังจากบรรยายเสร็จก็มีคำถามจากผู้ฟังประเด็นเรื่องการบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นระบบจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งผมให้คำแนะนำไป สิ่งสำคัญคือเจ้าของต้องเปลี่ยนแนวคิดในการบริหาร แยกการบริหารออกจากความเป็นเจ้าของถ้าต้องการให้กิจการก้าวไปไกล ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของกิจการ


ผู้ฟังหลายๆรายสนใจสไลด์ที่นำเสนอวันนี้เพราะหลายๆประเด็นมันเกี่ยวข้องกับกิจการที่ดำเนินอยู่ หลายๆแนวคิดมีประโยชน์และเอาไปใช้กับการบริหารจัดการได้จริง ผมยินดีถ้าความรู้ที่บรรยายวันนี้จะมีส่วนผลักดันในความสำเร็จของกิจการพวกเขาเพราะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นสัดส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ



ภายหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นลงก็ทำการถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน
































 

Create Date : 30 ตุลาคม 2554    
Last Update : 30 ตุลาคม 2554 10:51:15 น.
Counter : 833 Pageviews.  

สภาพน้ำท่วมในนครสวรรค์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2554 (Flood in Nakhonsawan, 15 October 2011)

ผมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่นครสวรรค์อยู่ตลอดเวลานับจากวันที่คันดินกั้นน้ำบริเวณตลาดบ่อนไก่พัง (วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔) กระทั่งน้ำทะลักเข้าไปในบ้านซึ่งเราถมจนสูงแล้วก็ตาม ไฟฟ้าและน้ำประปาถูกตัด คนจำนวนมากอพยพออกจากบ้านในละแวกบ้านที่ผมอยู่ แต่พ่อแม่ผมยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านต่อไป


หลังจากที่พยายามเกลี้ยกล่อมหลายรอบให้พ่อแม่อพยพหนีน้ำท่วมออกมาอยู่ด้วยกันในย่านที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย แต่ผลออกมาว่าไม่สำเร็จ พ่อและแม่ยังคงยืนยันจะใช้ชีวิตลำบากในบ้านต่อไป ด้วยความเป็นห่วง...จึงเตรียมเสบียงและของที่จำเป็นส่งไปให้ครอบครัว


วันเสาร์ตอนเที่ยงออกเดินทางจากพิษณุโลก ใช้เส้นทางแยกปลวกสูงลัดเลาะเส้นทางหนีน่้ำเข้าไปในเขตท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง ไปโผล่ถนนสายเอเชีย


สภาพถนนตอนที่รถผ่านบริเวณโรงเรียนพลตำรวจนครสวรรค์ ภาพสายน้ำที่ไหลล้นจากแม่น้ำปิงเข้ามาท่วมพื้นผิวถนนไหลลงไปอีกฝั่งที่เป็นด้านข้างโรงเรียนพลตำรวจ นครสวรรค์ ดูน่ากลัว เพราะกระแสน้ำแรงเหมือนเป็นระลอกคลื่นในทะเล และมีพลังกัดเซาะทางที่ข้ามมาถนนสายเอเชียขาดออก






เนื่องจากมีการปิดถนนที่จะมุ่งหน้าไปสู่อุทยานสวรรค์เพราะมีน้ำท่วมขังในบริเวณที่กว้าง เราเลยตัดสินใจขับไปบริเวณวัดคีรีวงศ์แล้วเข้าไปบริจาคของกันที่วิทยาลัยอาชีวะศึกษา นครสวรรค์ มีคนอพยพหนีภัยมาอยู่ที่ศูนย์ผู้ประสบภัย วิทยาลัยอาชีวะศึกษา นครสวรรค์ กันจำนวนมาก วิทยาลัยถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักชั่วคราว มีการกั้นทำเป็นห้องอาบน้ำรองรับผู้ประสบภัย มีการตั้งครัวเพื่อปรุงอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย







หลังจากนั้นเราหาทางมาลงเรือเพื่อนำเสบียงไปส่งให้ที่บ้านผมซึ่งพ่อแม่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้าน


เรือรับจ้างมารอรับผู้โดยสารบริเวณด้านหน้าอู่ถาวรฟาร์มถนนดาวดึงส์ คนแจวเรือรับพวกเราไม่ใช่คนในตลาด แต่เป็นคนในเขตวัดเกรียงไกรที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำน่าน บ้านเขาถูกน้ำท่วมจนเหลือแต่หลังคา ข้าวของเสียหายหมด นาที่ปลูกก็เสียหายหมด ตอนนี้เหลือแต่ตัวกับเรือ เลยมารับจ้างพายเรือส่งผู้โดยสารในตลาดที่ตอนนี้น้ำท่วมเสียหายหนัก





ก่อนหน้านี้เรือรับจ้างบางลำขูดรีดผู้โดยสารมาก เพราะว่าคนในตลาดต้องพึ่งพิงเรือจะไปไหนมาไหน แต่ตอนนี้ภายหลังข่าวออก มีเสียงวิจารณ์ มีการจัดระเบียบในการให้บริการ ถ้าแล่นไปไม่ไกลนัก อัตราค่าโดยสารคนละ 20 บาท ไกลหน่อยอัตราค่าบริการก็แล้วแต่ระยะทาง


คนขับเรือไม่ทราบตำแหน่งโรงพยาบาลรวมแพทย์เพราะเขาไม่ใช่คนในพื่้นที่ เป็นหน้าที่ของผู้โดยสารอย่างผมต้องบอกทางเขาไปแทน ถามว่าค่าโดยสารเท่าไหร่? คนขับเรือบอกว่า "แล้วแต่จะให้จ้ะ"


สภาพสองข้างทางที่เรือผ่าน...เห็นภาพแล้วตกใจที่ระดับน้ำสูงจนน่ากลัว ประมาณคร่าวๆก็ราวๆ ๒ เมตรน่าจะได้





บริเวณนี้เป็นปากซอยมาตุลี 18 ที่ทะลุมาถนนดาวดึงส์ บางบ้านยังมีคนพักอาศัยกันอยู่


บริเวณ ส.ล.โฮลส์เซลส์ ที่น้ำท่วมสูงจนเกือบถึงด้านบนของชั้น 1





เลยตรอกโรงลิเกมาหน่อยเจอพี่คนนี้แกยังคงอยู่อาศัยในบ้าน โบกมือโบกไม้ให้ทักทายกัน ข้อความที่แกเขียนเอาไว้ ไม่แน่ใจว่าเขียนตอนที่น้ำท่วมหรือยังว่า Yes, we can.





ก่อนจะมานครสวรรค์ดูรายงานข่าวช่องไทยพีบีเอสว่าน้ำบริเวณหนองสมบุญสูงท่วมหัว เพื่อความปลอดภัยเลยต้องหาเสื้อชูชีพใส่มาด้วย เสื้อชูชีพตอนนี้ขาดตลาดมากและราคาแพง ด้วยความช่วยเหลือของแฟนผม เธอช่วยตัดเย็บเสื่อชูชีพที่ทำขึ้นจากขวดปล่าพลาสติก PET จำนวน 8 ขวดที่ช่วยพยุงตัวได้เวลาอยู่ในน้ำ





บริเวณศูนย์สาธารณสุขด้านหน้าหนองสมบุญในวันนี้





สภาพโรงเรียน พ่อ แม่ ลูก ของครูณา (อังคณา มาศรังสรรค์) เพื่อนสมัยมัธยมปลาย ที่ตอนนี้ครูณาอพยพไปยังศูนย์ประชาชนเพื่อผู้ประสพภัย





เรือพายเข้าไปในซอย สังเกตดูสองข้างทาง ผู้คนอพยพหนีน่้ำออกจากบ้านกันเกือบหมดซอยแล้ว เพราะอยู่ไม่ได้เนื่องจากน้ำสูงจนจะมิดหลังคาบ้านชั้นเดียว





น้ำท่วมสูงระดับรั้วหน้าบ้านขนาดนี้.... น้ำที่เคยท่วมในปี พ.ศ. 2538 ยังไม่สูงเท่านี้มาก่อน






ระดับน้ำสูงมาก จนเอาเรือเข้าไปในบ้าน คนงานออกมาช่วยเปิดปืดประตูให้เรือเข้าไปในบ้าน จะเห็นว่าะดับน้ำสูงมากทีเดียว





ตอนที่คุยกับทางบ้าน แล้วเขาบอกว่าน้ำเข้าบ้านแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นนึกถึงรูปถ่ายตอนรับปริญญาที่อยู่ภายในบ้าน ทำใจว่าอาจจะเสียหายจากน้ำท่วมคราวนี้ แต่ก็พยายามเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา...


พอเรือพายเข้าไปในบ้าน แวบแรกที่เห็นคือ ภาพตอนรับปริญญาจากสมเด็จพระราชินีตอนเรียนจบปริญญาโทจากศศินทร์ยังคงปลอดภัยจากน้ำท่วมคราวนี้ แม่รู้ว่าภาพนี้มีความหมายและมีความสำคัญแม่เลยยกรูปในตำแหน่งพ้นน้ำ เช่นเดียวกับรูปวันรับวุฒิบัตรเรียนดีสมัยประถมที่เพื่อนสนืทรายหนึ่งอุตส่าห์ไปขุดคุ้ย ขยาย ใส่กรอบรูป แล้วนำมาให้ รูปภาพในอดีตจึงยังคงปลอดภัยจากน้ำท่วมคราวนี้





พ่อแม่และญาติผมที่อยู่ภายในบ้านปลอดภัย แต่ใช้ชีวิตลำบากพอสมควร ตอนนี้ประปาเริ่มจ่ายน้ำแล้ว แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่


จากมุมสูงที่มองลงมา ระดับน้ำในซอยและสภาพบ้านเรือนที่ส่วนมากสละบ้านกันเกือบหมด เหมือนเป็นซอยร้าง






ระดับน้ำจะใช้เวลานานแค่ไหนจะลดจนเข้าสู่สภาวะปกติ....ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่น่าจะใช้เวลาร่วมเดือน


ความเสียหายคราวนี้....ทุกคนในตลาดเทศบาลนคร นครสวรรค์ได้รับกันถ้วนหน้า รอให้น้ำลดลงเมื่อไหร่ก็ค่อยมาบูรณะกันต่อไป







 

Create Date : 17 ตุลาคม 2554    
Last Update : 17 ตุลาคม 2554 15:27:00 น.
Counter : 2377 Pageviews.  

กิจกรรมเสวนาและStudy Tour ของนิสิตปริญญาเอกหลักสูตร DBA มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในชั้นเรียนวิชา "การจัดการทรัพยากรมนุษย์และพฤติกรรมองค์กร" ของนิสิตปริญญาเอกหลักสูตร DBA มหาวิทยาลัยนเรศวร ผมมีโอกาสได้เข้าชั้นเรียนร่วมกับลูกศิษย์เหล่านั้นหลายครั้ง

ผมเชิญศาสตราจารย์ ดร. จีระ หงส์ลดารมภ์ มาเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดแนวคิดเรื่องทุนมนุษย์ให้แก่นิสิตหลักสูตร DBA รุ่นที่ ๔ ตามที่มีนิสิตร้องขอมา




บรรยากาศชั้นเรียนวิชา "การจัดการทรัพยากรมนุษย์และพฤติกรรมองค์กร" ที่หลายๆครั้งก็ได้แนวคิดเรื่อง ความรู้ของมนุษย์ที่มีการเรียนรู้ไม่จบสิ้น คนเราสามารถพัฒนาตนเองตลอดชีวิตผ่านขบวนการเรียนรู้ ผมเหมือนกับไปนั่งเรียนในชั้นเรียนปริญญาเอกใหม่อีกครั้ง





ศาสตราจารย์ ดร. จีระ จัดโปรแกรมให้นิสิตปริญญาเอกหลักสูตร DBA ทำ Public Seminar ในหัวข้อ "ทุนมนุษย์ 2015 ก้าวข้ามจากการแข่งขันท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน"


การเตรียมงานเสวนาในหัวข้อนี้เป็นการพิสูจน์การทำงานเป็นทีมของนิสิต การประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก นิสิตเข้ามาปรึกษาผมเป็นระยะๆในฐานะของอาจารย์ที่ปรึกษา การเตรียมงานใช้เวลาหลายเดือน ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จนมาลงตัวในการจัดงานวันศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยใช้สถานที่เป็นอาคารเอกาทศรถ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก


ในวันงานทุกอย่างลงตัวหมด...แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อเกิดความผิดพลาดเรื่องเที่ยวบินของศาสตราจารย์ ดร.จีระ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาร่วมเสวนาได้ทันตามกำหนดการ เรามาทราบตอนเช้าของวันจัดงาน


ลูกศิษย์นิสิตหลักสูตร DBA รุ่นที่ ๔ ได้พิสูจน์ว่าในสถานการณ์ที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด พวกเขาสามารถเอาเรื่องการจัดการวิกฤตการณ์ (Crisis Management) ที่ผมเคยสอนในวิชากลยุทธ์แบบบูรณาการ มาใช้ในเหตุการณ์จริง โดยไม่มีอาการตื่นตระหนก แต่ควบคุมสถานการณ์และแบ่งหน้าที่ในการทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งต้องยกย่องลูกศิษย์ทุกคนที่ประสานงานกันได้ดี และดำเนินรายการไปได้อย่างราบรื่น






สมพงษ์ที่ถูกกำหนดให้เป็นพิธีกรในการดำเนินรายการ ต้องมาสลับเป็นคนให้ความรู้แก่คนที่เข้ามาฟังเสวนาในความหมายของคำว่า "ทุนมนุษย์" ดังนั้นหน้าที่ของพิธีกรกลับตกเป็นของปกรณ์ ซึ่งปกรณ์เองยังไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเมื่อต้องรับภาระพิธีกร....ปกรณ์ก็ทำหน้าที่พิธีกรทันที ในที่สุดอาการประหม่าตอนต้นๆก็ถูกขจัดไป...อาจจะเป็นเพราะปกรณ์เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอยู่แล้วก็เป็นได้


วิทยากรที่ทางเราเชิญมาให้ความรู้ มีผู้อำนวยการกองอาเซียน จากกรมส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ดร. สมไทย วงศ์เจริญ ประธานบริษัทวงษ์พาณิชย์ ธุรกิจแฟรนไชส์รีไซเคิลที่ประสบความสำเร็จ







แขกที่มาร่วมงานเสวนาวันนั้นมีจำนวนมากถึง ๒๕๐ ราย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้














เบื้องหลังความสำเร็จในการจัดงานเสวนาครั้งนี้คงต้องยกให้นิสิตหลักสูตร DBA รุ่น ๔ ทุกคนที่ร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ประสานงานกับทุกหน่วยงาน งานจบลงด้วยดี





วันรุ่งขึ้นผมร่วมเดินทางไปพร้อมกับนิสิต DBA รุ่นที่ ๔ และศาสตราจารย์ ดร. จีระ พร้อมด้วยทีมงาน เพื่อ Study Tour พบปะชาวบ้านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคุณบุศย์เป็นผู้ช่วยติดต่อประสานงานให้


น้ำท่วมในบางเขตที่เราขับรถผ่าน....ด้านหน้าสนามกีฬาจังหวัดพิษณุโลกน้ำท่วม









สถานที่แรกที่เราไปถึง.....คือสหกรณ์ในเขตตำบลนาอิน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เรามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกร ใช่ว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกเราจะรู้ไปทุกอย่าง เราสามารถเรียนรู้จากพี่ๆชาวนาที่เขามีความชำนาญในเรื่องการทำนามากกว่าพวกเรา ปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหา ความจริงชาวนาเขามีวิธีการจัดการที่เหมาะกับสภาพและเงื่อนไขแบบเขา ลูกศิษย์แลกเปลี่ยนแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้มูลค่าของพืชผลจะเพิ่มขึ้น ข้อดีของเกษตรกรที่นี่คือเขาหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กัน เพราะปุ๋ยเคมีราคาแพงและมีสารตกค้างมาก รวมถึงยาฆ่าแมลงที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย


คุณจีระพงษ์ สจ.ที่เป็นประธานกลุ่มสหกรณ์ เขาชี้ให้เห็นข้อเสียของนโนบาย "ประชานิยม" ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้มแข็งได้ เพราะคอยแต่แบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐ และเป็นหนี้สินไปเรื่อยๆ เพราะรัฐดีแต่เอาเงินกู้มาให้ แต่ไม่สอนวิธีทำมาหากินให้แก่เกษตกร


คุณจีระพงษ์ กล่าวว่าถ้านิสิตไม่เข้าใจปัญหาแท้จริง...จะไปวางแผนก็ไม่มีประโยชน์ การได้มาสัมผัสชีวิตและปัญหาของชาวนาอย่างแท้จริงเป็นประสบการณ์ที่ดี


แนวคิดของคุณจีระพงษ์น่าสนใจตรงที่เขาเสนอแนะว่า น่าจะมีการวิจัยพื้นดินแต่ละท้องที่ซึ่งมีสภาพความเป็นกรด-ด่างแตกต่างกัน ดังนั้นพันธุ์ข้าวทีมาปลูกในแต่ละพื้นที่จึงควรมีความสอดคล้องกับสภาพดิน มากกว่าที่ทำกันอย่างทุกวันนี้ ชาวนาในอุตรดิตถ์ต้องไปเอาพันธุ์ข้าวสุพรรณมาปลูกทั้งๆที่พื้นดินในแถบอุตรดิตถ์ไม่เหมาะกับข้าวสุพรรณเท่าไหร่ ทำไมไม่มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับดินในเขตอุตรดิตถ์




ผมมีคำถามสำหรับสมาชิกสหกรณ์ว่า


"มีกี่รายที่อยากให้ลูกหลานสืบทอดการเป็นชาวนาต่อไป?"


คำถามผมอาจจะทำให้หลายๆคนตอบลำบากเพราะมองหน้ากัน...ก่อนจะตอบว่า


"เด็กรุ่นใหม่ น้อยรายที่อยากจะเป็นชาวนาต่อไป ชาวนาเป็นอาชีพที่ยากจน ทำแล้วจนก็ทำกันต่อไปแบบนี้ เพราะไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรต่อ"


ผมเคยได้ยินท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา คุณ วิทยา ผิวผ่อง พูดเอาไว้ว่า...มันน่าเสียดายที่ทุนสูญเปล่าเกิดขึ้นกับครอบครัวชาวนา บรรดาชาวนามีความรู้ด้านการทำนา เป็นทุนที่ไม่ต้องไปลงทุนลงแรงเพิ่มเติม สามารถสอน สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลานได้ แต่ชาวนากลับสนับสนุนให้ลูกไปทำงานเป็นลูกจ้าง หรือ ทำการค้า ซึ่งพ่อแม่กลับไม่มีความรู้เลย ต้องมีตุ้นทุนในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นจากการไปเรียนรู้ใหม่ โดยเริ่มต้นจากศูนย์


วันนี้สังคมไทยกำลังเป็นแบบนั้น


พ่อแม่ที่ถนัดในวิชาชีพใด กลับไม่มีโอกาสถ่ายทอดควมรู้ให้แก่ลูก แต่กลับผลักไสให้ลูกไปเริ่มต้นในอาชีพอื่นที่ตัวเองไม่มีความรู้ ทำให้ต้นทุนในการเรียนรู้สูง เพราะลูกต้องไปลองถูกลองผิด.....กว่าจะคลำหาทางที่ถูกต้องเจอ


มีโอกาสถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกสหกรณ์ในเขตนาอินเป็นที่ระลึกด้านหน้าสหกรณ์







ตอนบ่ายพวกเราไปในเขตอำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรเขาทำปุ๋ยอินทรีย์กันเอง ไปถึงกำลังผสมปุ๋ยอินทรีย์กันอยู่







อาร์ทรับบทพิธีกร....เชิญเพื่อนในรุ่นแต่ละคนออกมาให้ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก่เกษตรกร







พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตรงนี้ผ่านกิจกรรม Study Tour ทำให้นิสิตมีโอกาสได้ไปสัมผัสชีวิตเกษตรกร ได้เข้าใจแนวคิดวิสาหกิจชุมชน






แม้จะเป็นเวลาสั้นๆเพียง ๑ วันแต่กิจกรรมนี้ก็ทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากการสัมผัสประสบการณ์โดยตรงของวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น





 

Create Date : 01 ตุลาคม 2554    
Last Update : 2 ตุลาคม 2554 10:58:25 น.
Counter : 1152 Pageviews.  

Switzerland Trip Part 4

จากลูเซิร์นก็มีโอกาสได้เดินทางต่อไปเมือง Strein um Rhine เป็นเมืองที่แม่น้ำไรน์ไหลผ่าน





มีเครื่องทำการบดเหรียญ ๒ ฟรังก์สวิสแปลงกายออกมาเป็นเหรียญที่ระลึกเมืองนี้ด้วย....แต่เสียดายเหรียญฟรังก์สวิสที่อยากเก็บไว้เป็น Lucky Coin ที่เชื่อว่ามันจะนำเรากลับมาเยือนประเทศนี้อีก เลยไม่ได้ลองทำเหรียญที่ระลึก






มีโอกาสได้แวะร้านกาแฟร้านหนึ่งที่อยู่ในเมืองนี้ ไกด์เขาบอกเป็นนัยๆว่าห้องน้ำที่นี่มีอะไรแปลกๆ ผมเลยลองเข้าไปบ้าง พอใช้เสร็จแล้วเลยเห็นนวัตกรรมที่น่าสนใจของคนสวิส






พอคนใช้ห้องน้ำเสร็จ...บางคนมักทิ้งอะไรเรี่ยราดไว้ที่โถส้วม กลายเป็นกรรมของคนที่มาใช้ต่อ แต่เครื่องมือในความสะอาดบนฝาโถส้วมชักโครกของสวิสตอบโจทย์ได้ เพราะฝาครอบโถส้วมจะมีเครื่องมือในการช่วยทำความสะอาด โดยฝาครอบจะหมุนไปเรื่อยๆจะถูกชะล้างจนสะอาดก่อนเครื่องมือทำความสะอาดจะถูกเก็บไว้ตามเดิม น่าชื่นชมนวัตกรรมของสวิสจริงๆ แม้แต่เรื่องของส้วมก็ยังใส่ใจ


เดินทางต่อไปยังน้ำตกไรน์ (Rhine Fall) เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ความแรงของน้ำตกบ่งบอกถึงพลังงานที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้






มีโอกาสแวะไปกรุงเบิร์นอีกที มารู้ความหมายของคำว่า "เบิร์น" มาจากคำว่า "หมี" นี่เอง เขายังคงเลี้ยงหมีเอาไว้ในกรง เพราะเชื่อว่า หมี เป็นสัตว์ที่คู่กับกรุงเบิร์น






ทางเดินภายในกรุงเบิร์นพบน้ำพุกับรูปปั้นต่างๆตลอดทางเดินที่มุ่งหน้าไปหอนาฬิกาสัญลักษณ์ของกรุงเบิร์น จำไม่ได้ว่าตำนานของฝรั่งที่เล่าเรื่องหนุ่มจอมพลังที่แหกปากสิงโตชื่อว่าอะไร???? ใครทราบช่วยบอกที





หอนาฬิกาเรือนใหญ่ข้างหน้าคือสัญลักษณ์ของกรุงเบิร์น


จากกรุงเบิร์นเรารีบเดินทางมุ่งหน้าไปสนามบินเจนีวาเพื่อขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย ระหว่างทางมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง...ฝากท้องเอาไว้กับร้านแมคโดนัลด์ ราคาอาหารชุดมันแพงมากๆตกตั้ง ๑๗ ฟรังก์สวิส






สวิสมีอะไรน่าสนใจหลายๆอย่าง อากาศดี คุณภาพชีวิตดี คนเป็นมิตร ปลอดภัย แต่ว่าค่าครองชีพแพงมาก


ระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปสนามบิน....รถติดเหมือนกัน แต่สภาพรถติดในสวิตเซอร์แลนด์แตกต่างจากในกรุงเทพฯสิ้นเชิง เขาติดเพราะมีจำนวนรถบนท้องถนนมากแต่ว่ารถแล่นไปได้เรื่อยๆ แต่ในกรุงเทพฯรถติดจนคนกรุงเทพเห็นความสำคัญของ BB หรือว่า IPhone เพราะติดนานจนแชทกับเพื่อนหรือส่งข้อความได้สบายๆจนกว่ารถจะเคลื่อนตัวได้






ที่เจนีวาได้ยินผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาเยอรมัน... ได้ยินไกด์บอกว่าในสวิสพูดกันหลายภาษา ดินแดนที่ติดกับอิตาลีก็จะพูดภาษาอิตาเลียน


ของที่ระลึกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่มีโอกาสได้ซื้อคือ แสตมป์ที่ระลึก และเก็บเหรียญที่ระลึกเอากลับเมืองไทย.....มันเป็นความเชื่อว่าเหรียญของประเทศที่เราประทับใจ ถ้าเราติดตัวกลับไป มันจะมีอิทธิพลทำให้ในที่สุดเราได้กลับมาเยือนอีกครั้ง




ความเชื่อนี้จะเป็นจริงไหม? เวลาเท่านั้นจะพิสูจน์ แต่หลายๆประเทศที่ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเยือน และมีเหรียญที่ระลึกกลับมาเมืองไทย สุดท้ายก็มีเหตุให้เดินทางไปเยือนประเทศเหล่านั้นอีกครั้ง


ความทรงจำดีๆกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถูกถ่ายทอดจนถึงตอนสุดท้ายของเรื่องราวทริปสวิตเซอร์แลนด์ในปีคศ. ๒๐๑๑ ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับมาเยือนสวิตเซอร์แลนด์ใหม่....






 

Create Date : 01 ตุลาคม 2554    
Last Update : 1 ตุลาคม 2554 21:44:51 น.
Counter : 1223 Pageviews.  

Switzerland Trip Part 3

ลูเซิร์นเป็นอีกเมืองที่มีโอกาสไปเยือนสำหรับการเดินทางคราวนี้ ไกด์อธิบายให้ฟังว่า ในอดีตทหารสวิสถูกจ้างไปรบโดยกองทัพฝรั่งเศสแต่ทหารหลายร้อยคนเหล่านั้นตายในสมรภูมิไม่มีโอกาสได้กลับมามาตุภูมิ เลยมีการสร้างรูปปั้นสิงโตเศร้าเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ทหารเหล่านั้นที่เสียชีวิตและไม่มีโอกาสกลับสวิตเซอร์แลนด์








มีโอกาสได้นั่งเรือล่องในทะเลสาบลูเซิร์น.....ทิวทัศน์สองข้างทางดูสะอาด น้ำในทะเลสาบดูสะอาด ไม่มีคราบเศษขยะ บ่งบอกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้คนในประเทศนี้






ช่วงที่พักรอบนฝั่งเพื่อลงเรือนั่งกลับไปที่ลูเซิร์น มีโอกาสเดินเล่นตัวเมือง ผมไปเจอดอกอาจิไซโดยบังเอิญ....ทำให้นึกถึงตำนานดอกอาจิไซที่เคยเขียนเอาไว้ในอดีต





//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cheevaprapha&date=16-06-2010&group=3&gblog=27


ตำนานความสัมพันธ์ระหว่างดร.นพ.ซีโบลด์และโอทากิ ที่เกี่ยวข้องกับดอกอาจิไซ


มุมมองทะเลสาบลูเซิร์น (Luzern Lake) ในสายตาที่แปลกตาไป





ในระหว่างที่รอขึ้นเรือมีเด็กส่งเสียงดัง....เห็นความน่ารักของเด็กสวิส เลยเก็บภาพเอาไว้เป็นที่ระลึก เด็กก็คือเด็ก....มีความไร้เดียงสา





มีตู้เย็นแช่เครื่องดื่มในจุดรอ....เหลือบเห็นราคาแล้วหยุดคิดที่จะดื่มเพราะอะไรหรอครับ? ลองเอา ๓๗.๕๕ บาทคูณกับราคาที่ปรากฏก็จะทราบว่า ๑ ขวดราคาเท่าไหร่






เรือแล่นกลับมาที่เมืองลูเซิร์น...ในระหว่างที่นั่งในเรือ มีโอกาสได้สนทนากับคนแปลกหน้า ผู้ชายสูงวัยรายนั้นเป็นครูโรงเรียนประถม เขาอารมณ์ดีมาก...ร้องเพลงให้ฟัง เป็นมิตร เลยทำให้ผมอารมณ์ดีตามไปด้วย



สัญลักษณ์ของเมืองลูเซิร์นคือสะพานไม้...ซึ่งมีตำนานว่าเป็นบริเวณที่มีการสู้รบในอดีต ระหว่างทางเดินไม้ในสะพานไม้มีภาพวาดสงครามสู้รบในอดีต มีป้อมที่เห็นอยู่กลางน้ำซึ่งไกด์เล่าว่าในอดีตเป็นคุกที่เอาไว้ขังเชลยที่แพ้สงคราม





น้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านในเมืองลูเซิร์นใสมากจนน่าชื่นชมและอยากให้เมืองไทยเราอนุรักษ์สภาพแวดล้อม...มีน้ำใสๆให้คนรุ่นต่อไปได้ชื่นชมกันบ้าง ความอยากที่จะให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในไทย...คงเป็นสิ่งที่คล้ายคนไทยอีกหลายๆคน ใช่ไหม?









 

Create Date : 01 ตุลาคม 2554    
Last Update : 1 ตุลาคม 2554 21:08:36 น.
Counter : 1238 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.