ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

อำลาเครื่องยนต์ AE-111 รับขวัญเครื่องยนต์ 2ZR-FE Dual VVTi

ภายหลังจากที่เครื่องยนต์ AE-111 ของโตโยต้าโคโรล่าทำงานอย่างซื่อสัตย์มาตลอด 15 ปี ก็ถึงเวลาปลดระวาง

ตลอดเวลาที่ขับขี่โตโยต้าโคโรล่ารุ่นปี 1996 มาตลอด 15 ปี เครื่องยนต์ไม่เคยรวน ผมดูแลรักษารถเป็นอย่างดี ทำการตรวจเช็กระยะและเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนดเอาไว้

ตอนส่งรถให้พนักงานขายตีราคา....เธออุทานว่า รถสภาพสวยมากๆ..ไม่เหมือนรถที่ขับมาร่วม 15 ปี


เคยจับอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์รุ่นนี้.....ถ้าขับแบบประหยัดน้ำมันจะกินน้ำมันสูงสุดราวๆ 15 กม./ลิตร


ตอนที่อยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกรุ่นของรถคันใหม่ ผมไปทดลองขับที่ศูนย์บริการโตโยต้า พบว่าเครื่องยนต์ 2ZR-FE ของโตโยต้ารุ่น Altis 1.8 ตอบโจทย์มากกว่า Prius ในแง่จังหวะเบรค ความนิ่มนวลในการเร่งความเร็ว ความหนักของที่ปัดน้ำฝน


ตัดสินใจเลือกรถคันใหม่เป็นรุ่น Altis 1.8 ตอนที่สอบถามพนักงานขายเรื่องความประหยัดของเครื่องยนต์ 2ZE-FE Dual VVTi ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นเกียร์ 7 สปีด พนักงานขายแต่ละศูนย์ให้ข้อมูลแตกต่างกัน บางคนตอบว่ากินน้ำมันที่ 15 กม./ลิตร หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้เพราะว่าเป็นเครื่องยนต์ 1800 ซีซี ซึ่งน่าจะกินน้ำมันมากกว่ารุ่น 1600 ซีซี


อ่านจากแผ่นพับ....เขาเขียนระบุว่าเกียร์ 7-Speed Super CVT-i จะช่วยในการขับขี่ทำให้เกิดการประหยัดน้ำมัน โดยเฉพาะขับขี่ใน Zone Economy


จะสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงขนาดไหน...ผมไม่มีทางทราบข้อเท็จจริงจนกว่าจะได้ลองขับรถคันใหม่..


ตกลงกับพนักงานขายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม...ว่าจะออกรถใหม่เดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสีนามิในญี่ปุ่นพอดี...ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อแผนการผลิตรถยนต์ที่ผมสั่งจองเพราะให้เวลาในการรับรถนานถึง ๒ เดือน และพนักงานขายเองก็เชื่อว่าใบจองของผมไม่น่าจะได้รับผลกระทบ


จนช่วงเวลาใกล้จะไปรับรถใหม่.....ผมโทรถามพนักงานขาย ซึ่งได้รับคำตอบว่าเขาไม่ได้รับคำอธิบายจากโตโยต้ามอเตอร์ว่าจะได้รถทันหรือไม่ เพราะระบบยังไม่เข้ามา จำเป็นต้องมีการโทรตามผลเพราะมันกระทบต่อวันลา ในที่สุดได้คำตอบว่าเป็นไปได้ยากที่จะได้รถภายในเดือนพฤษภาคม เลยต้องเลื่อนวันออกรถซึ่งมาลงตัววันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน


เวลาออกรถช่วงไหนดีที่สุด..... เป็นคำถามที่คนออกรถใหม่อยากรู้

ช่วงเวลามหัทธโนฤกษ์คือช่วงเวลา 10.20-11.10 น.


รถที่ติดบนทางด่วนในเช้าวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายนทำให้มาถึงศูนย์บริการโตโยต้าทีบีเอ็นล่าช้ากว่าที่ตั้งใจไว้


ส่งมอบรถเก่าให้กับศูนย์ฯเพื่อรับรถใหม่....อำลาเครื่องยนต์ AE-111 หมายเลขตัวถังที่เขียนชัดเจนบนแชสซี AE-111





รถเก่าในสภาพการใช้งานมา 15 ปี









เคลียร์เอกสารกับทางศูนย์ก่อนรับรถใหม่ เหลือเวลาแค่ ๑๒ นาทีพนักงานก็ยังจะมาสอบถามความคิดเห็นต่อการให้บริการ....ซึ่งผมนั่งดูนาฬิกาตลอดกลัวว่าจะเลยช่วงเวลาฤกษ์ที่กำหนดเอาไว้ ลุ้นกันอยู่และขอร้องให้พนักงานรายนั้นเธอรีบทำการสอบถามด่วน


สุดท้ายก็ออกรถในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๑ นาที



ตอนขับรถออกจากศูนย์บริการยังไม่ได้เร่งความเร็ว ดูหน้าปัทม์....กังวลเพราะอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงอยู่ที่ 10 กม./ลิตร ไม่ขยับขึ้นมาเท่าไหร่แม้ว่าจะเร่งความเร็ว อัตราการเผาผลาญเริ่มขยับจาก 10.2 กม./ลิตร เป็น 12.5 กม./ลิตร เป็น 14.5 กม./ลิตร ในโหมด Eco การประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ 2000 รอบ/นาที ขยับมาที่ 15 กม./ลิตรสำเร็จ

มีโอกาสได้ทดลองขยับเป็นเกียร์ M โดยเร่งเป็นเกียร์ 5-6-7 การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ไม่อยู่ในภาวะประหยัดพลังงาน การขับขี่โดยระบบ D ขับขี่ได้นุ่มนวลกว่า


แวะพักทานอาหารกลางงวันที่ปทุมธานี โฉมหน้าโตโยต้าอัลติส 1.8 G






คราวนี้ขับขี่ตามลำพังไม่เหงาเพราะมีตุ๊กตาหน้ารถ น้องหมีเจนนี่ (Jenny) ที่นั่งบนเบาะข้างๆคนขับ คนทำน้องหมีเจนนี่ให้อารมณ์ดีเป็นพิเศษเมื่อรู้ว่ามีน้องหมีเจนนี่นั่งมาด้วยตลอด





หลังจากออกตัวอีกครั้งและทำความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 110 กม./ชั่วโมง โหมด Eco ความเร็วของเครื่องยนต์อยู่ที่ประมาณ 2200 รอบ/นาที คราวนี้อัตราการเผาผลาญน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 15.7 กม./ลิตร ใกล้เคียงกับรถยนต์โตโยต้ารุ่น Vios ที่เคยขับซึ่งกินน้ำมันเฉลี่ยสูงสุดที่ 16 กม./ลิตร






กระจกมองหลังของรุ่นนี้ถูกออกแบบมาทำให้รู้สึกว่ามองได้มุมกว้างกว่า ไม่บดบังทัศนวิสัยด้านหลังเมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นวีออสที่เคยขับ


สำหรับรถรุ่นนี้จะมีปัญหาก็คงเป็นเรื่องแอร์ที่เวลาเปิดในยามฝนตกตอนดึกแล้วมีฝ้าจับที่กระจกข้างที่ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง


ขับรถถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย เช็กดูระยะทางที่ใช้ทั้งหมด น้ำมันหมดไปครึ่งถังแต่เดินทางได้ร่วม 420 กม. ถือว่ารถยนต์รุ่นนี้ประหยัดน้ำมันและคุ้มค่ามากแม้จะเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1800 ซีซีก็ตาม








 

Create Date : 19 มิถุนายน 2554    
Last Update : 21 มิถุนายน 2554 0:07:37 น.
Counter : 7875 Pageviews.  

เยือนภูเก็ต ชิมอาหารพื้นเมือง แข่งมาราธอน ตอนที่ ๓

เดินทางถึงเขตโรงแรมดุสิตลากูนาตอนบ่าย ไปรับเบอร์นักวิ่งและแชมเปี้ยนชิพที่ใช้จับเวลาในการแข่งขัน พอออกมาจากเต๊นท์ก็พบสองพิธีกรรายการ English Breakfast กำลังสัมภาษณ์พระเอกวัยรุ่น มาริโอ้ เมาเล่อร์





มาริโอ้ มาร่วมเดินการกุศล ๕ กิโลเมตรเพื่อสมทบทุนช่วยโรงเรียนที่ได้รับอุทกภัยในเขตสุราษฎร์ธานี





วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ตื่นแต่เช้ามาก ราวๆ ตี ๕ เพราะเขาปล่อยตัวนักวิ่งตอน ๖ โมง ๓๐ นาที


นักวิ่งเอาสัมภาระมาฝากไว้ที่จัดรับฝาก






มาเข้าแถวเตรียมปล่อยตัว มีนักวิ่งที่ร่วมวิ่งระยะทาง ๑๐.๕ กม.ราวๆ ๖๐๐ กว่าคน










พอเสียงแตรที่เขาบีบดังขึ้น.....นักวิ่งก็กรูกันวิ่งออกจากจุดปล่อยตัว เสียงร้องวี๊ดๆๆๆๆๆ ของชิพที่ติดกับเชือกผูกรองเท้าดังขึ้น เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นจับเวลาของนักวิ่งที่วิ่งผ่านจุดปล่อยตัว


บริเวณภายในเขตลากูนาที่นักวิ่งวิ่งผ่าน ระยะทาง ๕๐๐ เมตรแรก หลายๆคนยังทำความเร็วได้ดี







อากาศวันนี้สบายๆไม่อบอ้าว มีลมพัดเป็นระยๆ ทำให้การวิ่งไม่เหนื่อยมากจนเกินไป แดดไม่แรงเพราะมีเมฆ


มีช่วงขึ้นเนินบางจุด แต่ไม่โหดเหมือนระยะทางฟูลมาราธอน (42.195 Km.) ที่เคยวิ่งสำหรับรายการนี้ ใช้ความเร็วในการวิ่งค่อนข้างคงที่ไม่ตกลงนัก แต่เวลาดีกว่าตอนซ้อม ทางชันช่วงนี้ทำให้นักวิ่งหลายคนถอดใจเดินแทนที่จะวิ่ง






ดูจากนาฬิกาข้อมือแล้วรู้ว่า....การแข่งขันวันนี้ทำเวลาดีกว่าตอนซ้อมแน่ แต่ประมาทไม่ได้ ถ้ามัวแต่เดิน ชะลอความเร็วในการวิ่ง หรือเกิดอาการบาดเจ็บ...ก็มีสิทธิจะไปถึงเส้นชัยช้ากว่าที่คาดเอาไว้


วิ่งเข้าเส้นชัยแบบไม่เหนื่อยมากนัก....เสียงวี๊ดดังๆของเซ็นเซอร์ดังขึ้นเมื่อแชมเปี้ยนชิพที่ผูกกับสายรองเท้าผ่านเส้นชัย ระยะ 10.5 กม.ทำเวลาสำหรับการแข่งขันวันนี้ที่ 1 ชั่วโมง 23 นาที 15 วินาที 08 เสี้ยววินาที ทำเวลาดีกว่าตอนซ้อม 6 นาที






ที่ผ่านมามักจะลงวิ่งมาราธอนตามลำพัง....แต่สำหรับคราวนี้แตกต่างจากการแข่งขันทุกทีที่ผ่านมา การมีคนวิ่งด้วยกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือวิ่งครบระยะ 10.5 กม.และถึงเส้นชัยพร้อมกัน....จึงมีความหมายอย่างมาก


ในอดีตอาจจะวิ่งเพื่อเวลาที่ดีที่สุดของตนเอง แต่คราวนี้กลับมีเป้าหมายเพื่อเวลาที่ดีที่สุดร่วมกัน โดยในระหว่างที่วิ่งไม่มีใครทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะรอและรักษาจังหวะในการวิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน ความสำเร็จที่เข้าถึงเส้นชัยพร้อมกันในการแข่งขันมาราธอนครั้งแรกสำคัญกว่าการจะคิดถึงเป้าหมายของตัวเอง นี่คือประสบการณ์ครั้งแรกที่สำคัญสำหรับการวิ่งมาราธอนคราวนี้


และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ร่วมกันก็ไปถึงจนได้ ด้วยเวลาที่ดีกว่าตอนซ้อม..คุ้มค่ากับความพยายามที่ทุ่มเทมาหลายเดือน






ในขณะที่เสร็จสิ้นการแข่งขันระยะทาง ๑๐.๕ กม. แต่รายการเดินการกุศล ๕ กม.ที่มีมาริโอ้ ร่วมเดินด้วยกลับพึงเริ่มต้น มีคนร่วมเดินการกุศลจำนวนมาก






เขามีบริการนวดร่างกายให้แก่นักวิ่งฟรี...






แต่กว่าจะได้ถึงคิวนวด.....ต้องรอแถวยาวขนาดนี้






นวดแล้วอาการปวดเมื่อยล้าทุเลาขึ้น....นั่งรถบริการของโรงแรมกลับที่พัก ไปอาบน้ำและแต่งตัวเตรียมเดินทางกลับ


การแข่งขันมาราธอนรายการลากูนาภูเก็ตอินเตอร์เนชั่นแนล 2011 ระยะ 10.5 กม. เสร็จสิ้นลงแล้ว....รายการมาราธอนรายการต่อไปกำลังท้าทายให้ไปสัมผัส







 

Create Date : 19 มิถุนายน 2554    
Last Update : 19 มิถุนายน 2554 19:53:11 น.
Counter : 1292 Pageviews.  

เยือนภูเก็ต ชิมอาหารพื้นเมือง แข่งมาราธอน ตอนที่ ๒

อาหารพื้นเมืองที่อยากลองทานเป็น หมี่หุ้นป้าฉ่าง อ่านจากหนังสือเกี่ยวกับภูเก็ต ดูเหมือนคนคิดสูตรในการผัดหมี่คือ ป้าฉ่าง เขาเอาเส้นหมี่ขาว ที่ภาษาจีนเรียกว่า "บี่ฝุ้น" หรือภาษาจีนแต้จิ๋วหรือเฉาโจวออกเสียงว่า "หมี่หุ้ง" เอามาผัดกับซอสซีอิ๊วดำ แล้วคนอื่นเอาสูตรนี้ไปผัดบ้างแล้วให้เครดิตแก่ป้าฉ่าง เลยเรียกเส้นหมี่ที่ผัดซีอิ๊วดำนี้ว่า "หมี่หุ้นป้าฉ่าง"


เดินจากโรงแรมที่พักไปตามถนนระนอง ข้ามสามแยกศาลเจ้าที่เขาใช้เป็นสถานที่ในการทำพิธีเทศกาลกินเจ เดินข้ามสี่แยกถนนปฏิพัทธ์ก็ถึงย่านตลาดหล่อโรง มีร้านขายอาหารพื้นเมืองหลายอย่าง ร้านเขียนป้ายชัดเจนว่า "หมี่ไทย หมี่หุ้นป้าฉ่าง"


ลองสั่งหมี่หุ้นป้าฉ่างมาทาน เขาผัดออกมาหน้าตาแบบนี้ พร้อมน้ำซุป






รสชาติไม่เหมือนเส้นหมี่ผัดซีอิ๊วแม้จะสีดำคล้ำเพราะซอสซีอิ๊วดำเหมือนกัน เหมือนเส้นหมี่เหนียวที่เคยทานแต่รสชาติไม่หวาน


จากร้านหมี่หุ้นป้าฉ่างก็เดินหาร้านขนมจีนภูเก็ตลองทานดู อาจจะสงสัยว่าทำไมกินจุจัง แหมก็ขนาดหมี่หุ้นป้าฉ่างมันนิดเดียวเอง...อาหารเช้าปริมาณขนาดนี้ไม่อยู่ท้องหรอกครับ ไหนๆก็มาภูเก็ตแล้ว...ไม่ลองลิ้มชิมรสขนมจีนภูเก็ตร้านที่เขาแนะนำกัน...ก็ไม่ถึงภูเก็ตสิ ก็มันเป็นเป้าหมายของการมาภูเก็ตคราวนี้นี่นาว่าชิมอาหารพื้นเมือง


เดินตามแนวถนนปฏิพัทธ์มุ่งหน้าไปยังถนนสตูล ร้านขนมจีนป้ามัยอยู่บนถนนสตูล ร้านนี้มีดารามาทานกันหลายคนสังเกตจากภาพถ่ายดาราที่ติดข้างฝาผนังเป็นการประชาสัมพันธ์และโฆษณาร้านไปในตัว สั่งขนมจีนน้ำยามาลองทานดู

การที่คนทางปักษ์ใต้นิยมใช้ขมิ้นในการประกอบอาหาร แกงทางใต้หรือน้ำยาก็พลอยมีสีเหลืองที่เป็นสีของขมิ้นตามไปด้วย





ร้านข้าวแกง ร้านขนมจีน ทางภาคใต้มีเครื่องเคียงเยอะมาก ลองใส่เครื่องเคียงทีปกติไม่เจอในร้านขายขนมจีนในภาคกลาง รสชาติขนมจีนน้ำยาภูเก็ตร้านป้ามัยกลมกล่อมลงตัว ไม่เผ็ดจนเกินไป


เดินลงมาจนถึงถนนกระบี่ เดินผ่านบ้านเลขที่ ๙๖ ด้านหน้าเป็นรั้วยาวมีสนามหญ้าที่ดูแลไม่ดีนักแต่มีอาคารเก่าที่ทาสีใหม่ดูสะดุดตา ทราบจากป้ายด้านหน้าทางเข้าว่าเป็นร้านอาหารไทยชื่อ Blue Elephant ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาในกรุงเทพฯย่านสาธร


ตอนนี้ร้านอาหารไทย Blue Elephant เช่าอาคารหลังดังกล่าวทำเป็นร้านอาหาร ทราบชื่อภายหลังว่าอาคารดังกล่าวอดีตเป็นคฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา อดใจเข้าไปถ่ายภาพอาคารดังกล่าวเป็นที่ระลึกเก็บเอาไว้ไม่ได้







ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทยด้วย มีฝรั่งสามีภรรยาชาวออสเตรเลียมานั่งเรียนทำอาหารที่นี่ ในคอร์สเรียนทำอาหาร...นักเรียนต้องไปจ่ายตลาดเองด้วย เมนูง่ายๆที่เขาทำมี ๓-๔ เมนูและขนมหวานอีกหนึ่งเมนู


เดินมาตามถนนถลาง....วันนี้ทางจังหวัดภูเก็ตจัดงาน "วิวาห์หวานบาบ๊า ปลายฟ้าอันดามัน"


เรื่องราวของคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับคนมาเลย์พื้นเมือง ซึ่งพวกนี้เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า "บาบ๊า" สำหรับผู้ชาย และ "ยาย๋า" สำหรับผู้หญิง ในภาษาจีนกลางเรียกว่า เนียงยาง (Nyonyan) และในภาษามาเลย์จะเรียกกลุ่มคนพวกนี้ว่า "เพอร์รานากัน"


ละครซีรี่ย์สิงคโปร์(ซึ่งน้ำเน่าพอๆกับละครไทย) ที่ชื่อว่า "บาบ๊า ย่าหยา รักจากดวงใจ" (Little Nyonyan) ที่ออกอากาศไปทางช่องไทยพีบีเอสเมื่อปีที่แล้วทำให้เกิดกระแสตื่นตัวของวัฒนธรรมของพวกเพอร์รานากันหรือบาบ๊า ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมของตนเองสะท้อนออกมาในรูปแบบการแต่งกาย อาหาร ประเพณีต่างๆ


ที่ภูเก็ตมีกลุ่มชนเผ่าเพอร์รานากันจำนวนมาก ทางจังหวัดเลยถือโอกาสส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นและโปรโมทให้ภูเก็ตเป็นทางเลือกในการจัดงานแต่งงาน ทางจังหวัดภูเก็ตเลยจัดงานประเพณีแต่งงานแบบบาบ๊าขึ้น ซึ่งปีนี้มีคู่สมรสที่ต้องการแต่งงานแบบบาบ๊าจำนวน ๕ คู่ ในจำนวนนั้นมีชาวต่างชาติมาจากมาเลเซียและไต้หวันด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดและคุณนายร่วมเป็นเกียรติในการเดินพาเหรดร่วมพิธีแต่งงานแบบบาบ๊า และแขกผู้มีเกียรติของจังหวัดอีก ๓ คู่ร่วมเดินขบวนพาเหรดในงานที่จัดขึ้นครั้งนี้ด้วย





ภูเก็ตแดดแรงแต่มีลมพัด...เลยอธิบายได้ว่าทำไมคนใต้ผิวถึงคล้ำ
ขบวนแห่มีสามล้อถีบสมัยโบราณถีบพาลูกหลานของคนเผ่าเพอร์รานากัน ผู้ว่าราชการจังหวัดและคุณนาย มุ่งหน้าไปพิพิธฑภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว







เด็กนักเรียนถูกเกณฑ์มาร่วมงานพาเหรดวันนี้ ชุดพื้นเมืองของพวกเพอร์รานากันที่เด็กหญิงเหล่านั้นดูมีสีสัน นอกจากนี้ยังมีการโปรยดอกไม้อวยพรให้แก่คู่สมรสอีกด้วย







คู่ข้างล่างนี้เป็นชาวไต้หวันเพราะเขาตอบคนที่ถามว่ามาจากไหนเป็นภาษาจีนกลางชัดเจนว่า ไต้หวัน คู่นี้มีสื่อมวลชนเข้าไปสัมภาษณ์มากที่สุด รวมทั้งมีคนเชียร์ให้จูบกันด้วย...ซึ่งคู่นี้ก็ยืนดีจูบกันกลางถนนให้ช่างภาพบันทึกภาพกัน







ที่บริเวณพิพิธฑภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวมีการเชิญถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน โดยเริ่มจากแขกผู้ใหญ่ของภูเก็ต เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและคุณนาย





แล้วก็คู่สมรสตัวจริงและคู่สมรสที่อยากร่วมในขบวนพาเหรดแม้จะสมรสไปนานแล้วก็ตาม






แล้วก็มีการเชิญคุณแม่หรือผู้ปกครองที่เคยเลี้ยงดูเจ้าสาวมาถ่ายภาพร่วมกัน







รถสามล้อถีบที่ใช้เป็นพาหนะที่นำตัวเจ้าสาวและเจ้าบ่าวมาร่วมพิธีที่อาคารพิพิธฑภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว





ชอบคู่นี้มาก อาเจ็กและอาซิ่มคู่นี้สามีเขาลองขี่สามล้อในขณะที่ภรรยาลองนั่งสามล้อ ลูกสาวยุให้พ่อแม่โบกมือเพื่อถ่ายภาพ เห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขของสามีภรรยา--อาเจ็กและอาซิ่มคู่นี้--พลอยอารมณ์ดีตามไปด้วย





คนสองคนจะครองรักกันได้ยาวนาน นอกเหนือจากความอดทนต่อสื่งต่างๆที่เข้ามากระทบซึ่งกันและกัน ยังต้องรู้จักให้อภัย ไม่เก็บเอาเรื่องไม่สบายใจเอาไว้นานๆ ค่อยทีค่อยอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นอกเห็นใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน รู้จักปล่อยวางเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่เช่นนั้นการพกพาเอาแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยมาต่อร้อยเรียงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายความรู้สึกดีๆต่อกัน


เที่ยงพอดี....ได้เวลาหาอาหารพื้นเมืองทานแล้ว


ตั้งใจว่าจะทานยี่หู้เอ๊งฉ่ายให้ได้ เพราะเขาเขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ว่าเหมือนเย็นตาโฟแห้ง เป็นอาหารของคนกวางตุ้ง



เดินตามแผนที่ไล่ล่าจนเจอร้านบะหมี่แป๊ะเถวที่อยู่ถนนสตูลถัดจากร้านขนมจีนป้ามัยไปไม่ไกล แป๊ะเถวตายไป ๓๐ กว่าปีแล้ว ลูกสาวคนที่ ๔ ที่ชื่อ จี๊เกี่ย หรือ เจ๊เกี่ย เป็นคนสานต่อความอร่อยของยี่หู้เอ๊งฉ่ายของแป๊ะเถว


ลองสั่งยี่หู้เอ๊งฉ่ายมาทาน....พอเดาได้ว่าเครื่องมันต้องใส่เต้าหู้กับผักบุ้ง จากคำว่า "ยี่หู้" ที่แปลว่า "เต้าหู้" และคำว่า "เอ๊งฉ่าย" ที่แปลว่า "ผักบุ้ง"





เจ๊เกี่ยเขาสาธยายว่าน้ำซอสที่ใส่เขาทำเอง ไม่ใช่ซอสสีแดงขายเป็นกิโลกรัมตามตลาดที่ราดทีชามแดงเถือก เขาพิถีพิถันในการปรุงซอสที่ใส่ โดยทำจากกระเจี๊ยบ ซอสถั่วเหลือง เต้าหู้ หน้าตายี่หู้เอ๊งฉ่ายที่ทานเหมือนหมี่กรอบ ใส่ผักบุ้ง ปลาหมึก และราสซอส มันเป็นหมี่กรอบแห้งๆ


เจ๊เกี่ยแนะนำว่าบะหมี่เขาทำเอง รสชาติอร่อย ลูกชิ้นก็ทำเอง ซอสเย็นตาโฟก็ทำเอง ลองสั่งมาทานดูตามคำโฆษณา หน้าตาเย็นตาโฟร้านบะหมี่แป๊ะเถวหน้าตาแบบนี้





เจ๊เกี่ยเขาอัธยาศัยดีมาก คอยชวนลูกค้าคุย แถมเป็นธุระเติมพริกน้ำส้มที่เขาบอกว่าทำเอง เติมพริกและน้ำตาลลงในชามให้ผม จนรสชาติอร่อยลงตัว


ไม่เคยเจอเจ้าของร้านเย็นตาโฟร้านไหนใส่ใจลูกค้ามากแบบนี้ ขออนุญาตถ่ายภาพเจ๊เกี่ยเป็นที่ระลึก






เจ๊เกี่ยบอกว่าตอนนี้ลูกหลานของแป๊ะเถวแยกย้ายกันไปเปิดสามสาขาในเขตภูเก็ต ลูกชายเขากลับไปทำงานให้ซีพีแต่เป็นคนช่วยในการจดสิทธิบัตรในการทำบะหมี่สูตรของร้านแป๊ะเถว รสชาติบะหมี่เหนียวนุ่มอร่อยดี


ก่อนเดินทางไปโรงแรมลากูนา ภูเก็ต ฮอลิเดย์คลับ เพื่อนที่อยู่ภูเก็ตพาไปลองทานขนมพื้นเมืองของภูเก็ต "โอ๊ะเอ๋ว" เป็นน้ำแข็งไส ใส่วุ้นกับถั่วแดง





ตกลง....ทริปภูเก็ตคราวนี้...เรื่องชิมอาหารพื้นเมืองเต็มสิบครับ








 

Create Date : 19 มิถุนายน 2554    
Last Update : 18 ตุลาคม 2554 12:04:02 น.
Counter : 3105 Pageviews.  

เยือนภูเก็ต ชิมอาหารพื้นเมือง แข่งมาราธอน ตอนที่ ๑

ค่อนข้างหงุดหงิดกับระบบของโฟโต้บัคเก็ตที่ไม่สามารถอัพโหลดรูปได้ในช่วงที่ผ่านมาและระบบชอบล่มบ่อย ทำให้หลายครั้งเสียเวลาในการอัพโหลดรูปประกอบการเขียนเรื่องราวในบล็อก นี่เป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมเรื่องราวคราวนี้ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะได้เริ่มต้นเขียน....จนเหตุการณ์ผ่านมาร่วมอาทิตย์


การเยือนภูเก็ตคราวนี้แตกต่างจากทุกทีเพราะมีการได้ลองลิ้มอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต..... ทุกทีที่ได้มาเยือนก็จะทานแต่อาหารทะเล เมื่อสองปีที่แล้วมีโอกาสได้อ่านเจอบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเขาเขียนถึงอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต ผมสนใจอยากรู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร คราวนี้เลยตั้งใจว่าจะลองชิมอาหารพื้นเมืองของภูเก็ตดู


คราวนี้เลือกที่พักใจกลางเมือง ย่านเมืองเก่าของภูเก็ตเนื่องจากอาหารพื้นเมืองร้านที่มีชื่ออยู่ไม่ไกลจากที่พัก และมีอาคารเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีสอยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากไม่ได้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว...ดังนั้นที่พักถนนระนองดูจะตอบโจทย์มากที่สุดในการเดินค้นหาร้านอาหารพื้นเมือง ถ่ายภาพอาคารเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส


หลังจากค้นหาจากเน็ต...คำตอบของที่พักก็คือ โรงแรมชิโนเท็ล (Chinotel) เพื่อนที่ภูเก็ตติงเรื่องกลิ่นและเสียงดังจากตลาดที่อยู่ใกล้โรงแรมก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกที่พักตรงนี้... แต่อ่านจากรีวิวของคนที่เคยมาพัก พวกเขาให้คะแนนความพึงพอใจระดับที่สูงมาก มีคนเขียนรีวิวเกี่ยวกับโรงแรมนี้ว่า.....เสียงดังรบกวนน้อยมากผิดคาด ผมเลยตัดสินใจลองวัดดวงดู


เมื่อเข้าไปพักในโรงแรม พบว่าโรงแรมสะอาดมาก ทราบจากพนักงานต้อนรับของโรงแรมว่าโรงแรมพึ่งเปิดได้ ๕ เดือน ห้องพักอาจจะดูแคบไปแต่เขาออกแบบภายในให้มีการใช้สอยพื้นที่ได้อย่างลงตัวจนไม่รู้สึกว่าแคบ






ในห้องสามารถใช้อินเทอร์เน็ต Wireless ได้ฟรี คราวนี้ไม่คิดจะใช้เน็ตเลยไม่ได้หิ้วโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ไปด้วยให้เป็นภาระ..





ห้องน้ำในส่วนโถส้วมอาจจะดูชิดกับเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าไปหน่อย แต่ส่วนฝักบัวอาบน้ำจัดสรรพื้นที่ได้ลงตัวเป็นสัดเป็นส่วน ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป





โดยรวมถือว่าห้องพักลงตัวสำหรับการเดินทางเข้าพักในห้องที่อยู่คนเดียวแบบนี้ สำหรับเสียงรบกวนยามเช้าที่พ่อค้าแม่ค้าเอาของเตรียมมาขายในตลาดอย่างที่หลายๆคนเตือน.....ผมพบว่าไม่ได้ยินเสียงดังมากจนรบกวนการพักผ่อนอย่างที่หลายคนกังวลล่วงหน้า ถ้าให้คะแนนความพึงพอใจสำหรับโรงแรมชิโนเท็ล...คงให้คะแนนอยู่ราวๆ ๘.๘ จากเต็ม ๑๐


จากถนนระนองเดินย้อนไปวงเวียนน้ำพุถนนเยาวราชที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก ผมเดินไปตามถนนเยาวราชแล้วเลี้ยวตรงสี่แยกถนนถลาง เดินดูอาคารเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส ถนนเส้นนี้เขาเอาสายไฟฟ้าลงดินแล้วทำให้ทัศนียภาพดูดีมาก ไม่มีสายไฟฟ้าบดบังอาคารเก่าที่อยู่สองข้างทาง ชื่นชมชุมชนและเทศบาลภูเก็ตที่เขาช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานที่มีคุณค่าเหล่านี้เอาไว้


ซอยรมณีย์ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนถลางกับถนนดีบุกมีอาคารเก่าตลอดสองข้างทาง














เจออาคารเก่าที่เขาทำเป็นออฟฟิศสำนักงานที่ออกแบบได้ลงตัว......ชื่นชมในความคลาสสิคของอาคารที่สามารถดัดแปลงให้มีคุณค่าทางศิลปะได้






การมาเยือนภูเก็ตคราวนี้ผมมีโอกาสได้แวะไปวัดฉลองด้วย เคยได้ยินตำนานหลวงพ่อแช่มวัดฉลองครั้งแรกสมัยเรียนวิชาทักษะสัมพันธ์ตอนม.ต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกิดกบฏอั้งยี่....คนจีนกลุ่มหนึ่งในภูเก็ตก่อกบฏเรียกตัวเองว่า "อั้งยี่" เพราะโพกหัวเขียนด้วยตัวอักษรสีแดง ชาวบ้านที่ไปสู้รบกับกบฏอั้งยี่ได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มไปปราบอั้งยี่แล้วมีชัย คนทั่วไปเลยศรัทธาในหลวงพ่อแช่ม มีเรื่องเล่าต่อมาว่ามีเด็กหญิงคนนึงไม่สบายแล้วอุตริดันไปบนเอาไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะขอปิดทองที่ของลับของหลวงพ่อ พอหายป่วยจริงก็จะขอแก้บนโดยขอปิดทองที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อแช่มปฏิเสธที่จะให้เด็กหญิงคนนั้นมาปิดทองที่ของลับ....แต่เพราะครอบครัวของเด็กหญิงคนนั้นกลัวลูกจะมีอันเป็นไปถ้าไม่ทำการแก้บน หลวงพ่อเลยทำอุบายด้วยการเอาไม้เท้าสอดเข้าที่ใต้จีวรแล้วให้เด็กหญิงคนนั้นทำการปิดทองที่ไม้เท้าแทน แค่นี้ก็ดูเหมือนสิ้นเรื่อง แต่การที่ปิดทองที่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มแทน...นำไปสู่การขอปิดทองที่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มจากชาวบ้านคนอื่นๆ จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวบ้านที่เวลาบนอะไรไว้แล้วมาขอแก้บนโดยการปิดทองที่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม


ผมเคยมาวัดฉลองครั้งแรกตอนจะขึ้นปีที่ ๒ สมัยเรียนที่จุฬาฯ สมัยนั้นยังมีโอกาสได้เห็นไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มที่ผู้คนในอดีตเขาปิดทองกัน แต่วันนี้ที่ไปเยือนวัดฉลองมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก





วันนี้มีพระบรมสารีริกธาตุที่รูปทรงใกล้เคียงกับพระธาตุพนม





มีโอกาสเดินขึ้นไปชั้นบนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ไปกราบสักการะองค์พระธาตุ ได้มุมที่แปลกตา





แวะไปกุฏิจำลองที่ประดิษฐานรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง คราวนี้ได้เห็นไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มที่เป็นหุ่นขี้ผึ้ง













ขนาดไม้เท้าหุ่นขี้ผึ้งยังมีการเอาทองคำเปลวไปแปะเลย สอบถามจากคนขายของในวัดได้ความว่าไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มอันจริงเก็บรักษาไว้ที่กุฏิของเจ้าอาวาส ซึ่งปกติจะนำเอาไม้เท้ามาโชว์ต่อหน้าผู้คนช่วงงานประจำปีของวัดเท่านั้น




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2554    
Last Update : 19 มิถุนายน 2554 17:46:22 น.
Counter : 1507 Pageviews.  

เดินทางไปบรรยายโครงการ "การวิจัยเชิงคุณภาพ" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยปิดเทอมแต่สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย...คำว่าปิดเทอมมีความหมายแค่ไม่ได้สอนชั้นเรียนภาคปกติ แต่มีงานที่ต้องสะสางอีกมากมาย


พอปิดเทอมภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๓ สำหรับผมนอกจากจะตรวจข้อสอบปลายภาคและส่งเกรดให้ทันแล้ว ยังมีงานการศึกษาค้นคว้าอิสระของนิสิตปริญญาโทภาคพิเศษจำนวน ๑๕ รายที่ต้องอ่านและชี้แนะให้นิสิตในความดูแลแก้ไขเนื้อหาก่อนจะอนุญาตให้เข้าเล่มเพื่อเก็บรักษางานของนิสิตเหล่านั้นเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยนเรศวรสืบไป


ดูเหมือนการอ่านงานการศึกษาค้นคว้าอิสระ (Individual Study or IS) กินเวลาและใช้พลังงานน่าดู ผลงานที่นิสิตปริญญาโทที่นำเสนอมา...คุณภาพยังไม่ดีพอ ถ้าหลับตาให้ผ่านไปสภาพแบบนั้น....ใครมาอ่านงานที่ผ่านการอนุมัติปริญญาไปแล้ว...คงตั้งคำถามสะท้อนว่าอาจารย์ที่ปรึกษาคนนี้เป็นคนอย่างไร ปล่อยให้งานคุณภาพห่วยแตกแบบนี้ผ่านไปได้ง่ายๆและให้คนทำผลงานค้นคว้าอิสระทุเรศๆแบบนี้ไปรับปริญญาอันทรงเกียรติกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เท่ากับเป็นการประจานอาจารย์ที่ปรึกษาเต็มๆ

หน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาคือกลั่นกรองงานให้มีคุณภาพดีพอที่จะสมควรได้รับปริญญาบัตรและพวกลูกศิษย์เหล่านั้นภูมิใจในผลงานของตนเองในอนาคต


ในระหว่างที่ตรวจงานค้นคว้าอิสระของเหล่าลูกศิษย์ปริญญาโท...ผมก็ได้รับการติดต่อมาจากอาจารย์ณัฐกันย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ช่วยมาบรรยายในหัวข้อ "การวิจัยเชิงคุณภาพ" ให้กับบรรดานิสิตปริญญาเอกและคณาจารย์ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อาจารย์ณัฐกันย์ไปสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพแล้วเจอข้อความที่ผมเขียนเกี่ยวกับการบรรยาย "การวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้กรณีศึกษา" ในบล็อกที่เขียนลงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว


//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cheevaprapha&date=05-05-2010&group=3&gblog=21


เลยสนใจติดต่อให้เป็นวิทยากรแก่โครงการ "การวิจัยเชิงคุณภาพ" ของภาคการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เนื่องจากเดือนพฤษภาคมมีโปรแกรมงานที่ต้องทำหลายอย่างมาก พยายามจัดสรรเวลาที่เหลืออยู่จนมาลงตัวเอาวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ที่สะดวกสามารถมาบรรยายให้ได้


พยายามเคลียร์งานทุกอย่างให้เรียบร้อยตามตารางที่กำหนดเอาไว้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีเวลาเตรียมตัวไปบรรยายที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เตรียมสไลด์สำหรับการบรรยายท่ามกลางยุงกัดในห้องทำงานยามดึกต่อเนื่องหลายคืน... มาเตรียมสไลด์เสร็จเอาตอนเช้าของวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ก่อนเข้าประชุมตอนเช้า รีบส่งสไลด์ไปให้อาจารย์ณัฐกันย์แบบลงตัวทันเวลา อาการนอนแค่ ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างไรคงไม่ต้องสาธยาย....เพราะมันมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของวันรุ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ผมชดเชยด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในคืนวันศุกร์


เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคมออกเดินทางจากพิษณุโลกไปกรุงเทพฯ มาถึงกรุงเทพฯตามเวลาคาดหมาย อาจารย์ณัฐกันย์มาต้อนรับณ.ที่พักซึ่งติดต่อจองห้องพักให้เรียบร้อย


ภายหลังจากเปิดกระเป๋าเดินทางออกพบว่ากางเกงมีรอยยับ....หลังจากติดต่อกับฝ่ายห้องพักและฝ่ายแม่บ้านของโรงแรมแล้วพบว่าไม่มีบริการซักรีดแล้ว แต่เขาแนะนำให้ลองไปใช้บริการของร้านซักรีดที่อยู่ใกล้ๆโรงแรม เดินออกไปไม่ไกลนักก็เจอร้านซักรีด เขาบริการดีเกินคาด.....โดยเฉพาะเขารีดผ้าได้เรียบกว่าผมมากๆ เกิดอาการหนาวสั่นขึ้นมาก็อาศัยบริการของร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่เขามียาบรรเทาปวดลดไข้ติดไว้ขายลูกค้าในยามฉุกเฉิน เป็นอันว่าปัญหาระหว่างทางก่อนจะไปบรรยายถูกแก้ไขเรียบร้อย


นั่งเช็กลำดับของสไลด์และลองซ้อมการบรรยาย ตลอดจนเช็กคอนเซ็ปท์ของสไลด์ให้มั่นใจเพื่อถ่ายทอดให้ผู้ฟังติดตามตลอดและได้ข้อมูลถูกต้องนำไปใช้ต่อไป


การจราจรเช้าวันจันทร์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขนไม่รุนแรงนักเมื่อเปรียบเทียบกับย่านอื่นๆในกรุงเทพฯที่เคยสัมผัสสมัยทำงานและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯในอดีต




ที่ผ่านมา...ผมเคยแต่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่ไม่เคยเข้ามาภายในวิทยาเขตบางเขน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาสัมผัสบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพลักษณ์ในอดีตที่ได้ยินได้ฟังมาก็คือ....บรรยากาศของการขี่จักรยานภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้เป็นบรรยากาศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น แต่วันนี้นับจำนวนจักรยานที่ใช้ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เลย เพราะจำนวนจักรยานที่นิสิตใช้กันมีน้อยมาก เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บรรยากาศดีๆแบบเก่าๆไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยพยายามส่งเสริมให้มีการกลับมาใช้จักรยานกันก็ตามทีแต่วันนี้ยังเห็นจำนวนคนใช้จักรยานน้อยกว่าที่คิดเอาไว้

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ตอนเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็คือ...สภาพความร่มรื่น สีเขียวของต้นไม้นานาพรรณ ที่สะท้อนความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หลายๆมหาวิทยาลัยมองข้ามเรื่องของธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ไป ต่างพยายามใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยการสร้างอาคารเรียนจำนวนหลายหลังจนหาพื้นที่สีเขียวให้กับนิสิตนักศึกษาแทบไม่ได้เลย


สถานที่ใช้ในการบรรยายอยู่ภายในอาคารของคณะบริหารธุรกิจ





อาคารของคณะบริหารธุรกิจหลังใหม่สร้างเสร็จมาประมาณ ๑ ปีได้แล้ว ดูทันสมัยและมีการใช้พื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัวมากทีเดียว






ห้องเรียนที่ใช้ในการบรรยายห้อง 406 มีผู้สนใจลงชื่อเข้าฟังที่เป็นนิสิตปริญญาโท นิสิตปริญญาเอกทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งบรรดานิสิตปริญญาเอกเหล่านี้เป็นเพื่อนหรือลูกศิษย์ของอาจารย์ภาคการตลาด พวกเขามีความสงสัยและสนใจในการวิจัยเชิงคุณภาพเลยเข้าฟังการบรรยายครั้งนี้ นอกจากนี้ก็มีอาจารย์ภาคต่างๆของคณะบริหารธุรกิจที่สนใจในหัวข้อ "การวิจัยเชิงคุณภาพ"


ก่อนจะเริ่มบรรยาย ผมให้ผู้เข้าฟังการอบรมแนะนำตัว อย่างน้อยจะได้ทราบประวัติคร่าวๆของคนเข้าอบรมว่ามาจากที่ไหนและทำอะไรอยู่ในขณะนี้










ผมเกริ่นนำก่อนจะเริ่มบรรยายว่า

"การวิจัยเชิงคุณภาพช่วยตอบโจทย์ตอนผมทำวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอก แต่เรื่องนี้คนส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจกัน ถือว่าการบรรยายครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะความรู้ถ้ามันอยู่กับเราโดยไม่มีการเผยแพร่ออกไปให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย ก็ถือว่าความรู้ที่ได้เป็นการสูญเปล่า


ตอนผมสัมภาษณ์เข้าไปทำงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รองอธิการบดี อาจารย์อนุชา สอบถามผมว่า ผมจะมีวิธีจัดการอย่างไรถ้าสมมติว่าลูกศิษย์ไม่เชื่อในสิ่งที่ผมพูด ผมตอบไปว่า ดร.หรืออาจารย์ ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เราไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง และบางครั้งลูกศิษย์เขาอาจจะถูกก็ได้ ครูที่ดีควรจะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน


การบรรยายวันนี้ บางประเด็นผมอาจจะไม่ถูกต้อง พวกคุณมีสิทธิ์แย้งและอธิบายในมุมมองของคุณได้ถ้าคิดว่าไม่เห็นด้วย เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ถือเป็นการต่อยอดความคิด ในกรณีมีคำถามเกิดขึ้นถ้าผมไม่สามารถตอบได้ จะไปค้นคว้าและกลับมาตอบให้ภายหลัง

อยากให้บรรยากาศในการเรียนวันนี้เป็นไปแบบสบายๆ ให้พื้นที่ตรงนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการต่อไป"










ก่อนจะมาบรรยายมีคนถามว่า "ผมตื่นเต้นไหม?"


คำตอบคือ อาจจะมีบ้างแต่ไม่มาก แล้วหน้าที่ของผู้บรรยายคือทำอย่างไรให้คนฟังเขาติดตามสิ่งที่เราบรรยายไปตลอด ไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ ถ่ายทอดเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง








ผู้เข้าฟังการบรรยายหลายท่านมีตำแหน่งวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หลายท่านเป็นด็อกเตอร์ ถือเป็นเกียรติที่บรรดาอาจารย์เหล่านั้นสนใจฟังในเรื่องที่ผมนำเสนอ

หน้าที่ของผู้บรรยายคือ ไม่ทำให้ผู้เข้าฟังการบรรยายผิดหวังกลับไป


ผมปูพื้นความรู้แนวคิดเรื่องการวิจัย และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพก้บการวิจัยเชิงปริมาณว่ามันต่างกันอย่างไร


พยายามหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาอธิบายเพื่อให้คนฟังเห็นภาพตาม การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าภายใน ๒๐ นาทีแรกของการบรรยายสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เรียนได้ ผู้สอนจะสามารถคุมชั้นเรียนและทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนสนุกสนานได้ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ผู้เรียนเกิดความเคลือบแคลงในความสามารถของผู้สอน...ชั้นเรียนอาจจะเกิดปัญหาได้ง่าย และตัวผู้สอนเองจะเกิดอาการประหม่าจนคุมสถานการณ์ไม่อยู่


มีเหมือนกันที่บางครั้งเตรียมตัวมาเป้นอย่างดี....แต่ไปตกม้าตายตอนเริ่มต้นพูดเพราะความประหม่า


วิธีการทำลายความประหม่าในการสอนคือ....ทำอย่างไรให้ผู้เรียนอารมณ์ดี หัวเราะออกมาได้ ถ้าเพียงแต่บรรยากาศสนุกสนานตัวผู้สอนเองก็จะทำลายความประหม่าทิ้งไปได้ด้วยเหมือนกัน





ผู้เข้าฟังการบรรยายครั้งนี้ตั้งใจเรียนมาก มีการซักถามเป็นระยะๆ หน้าที่ของผู้สอนต้องตอบคำถามเหล่านั้นให้กระจ่าง เพื่อให้การบรรยายดำเนินต่อเนื่องไปได้ราบรื่นและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้เรียนและผู้สอน บางทีอาจจะเป็นเพราะคนที่เข้ามาฟังการบรรยายมีความสนใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงจดจ่อกับเรื่องที่บรรยาย






การบรรยายผ่านไปจนเข้าช่วงเบรคดื่มกาแฟทานของว่าง...ผมถึงตระหนักว่า...เราจริงจังกับการบรรยายคราวนี้มากจนเสียงเริ่มแหบแห้ง


ช่วงเบรคมีโอกาสได้พูดคุยกับนิสิตปริญญาเอกของ AIT พวกนี้เขาสนใจการทำวิจัยเชิงคุณภาพมาก เพราะงานวิจัยของพวกเขาจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพ


การบรรยายช่วงบ่าย ผมหยิบเอาการเขียนโครงการวิจัยขึ้นมาพูด ยกตัวอย่างการเขียนทบทวนวรรณกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร เรื่องของจริยธรรมของนักวิจัยควรเป็นอย่างไร





การบรรยายวันแรกจบลง ผมขอให้ผู้เข้าฟังช่วยเขียนคีย์เวิร์ดเพื่อเช็กว่าสิ่งที่เขารับรู้ตรงกับที่ผมถ่ายทอดไหม เป็นการประเมินทั้งผู้สอนและผู้เรียน ในกรณีที่ผู้เรียนเข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นหน้าที่ของผู้สอนต้องมาอธิบายชี้แจงสิ่งที่ถูกต้องให้ผู้เรียนในชั้นเรียนถัดไป


กลับไปที่พักแล้วหาซื้อยาอมแก้อาการระคายคอมาอม เพราะเสียงแห้งอย่างมาก พยายามดื่มน้ำอุ่นๆรักษาเสียงเอาไว้เพราะวันรุ่งขึ้นยังมีการบรรยายตลอดทั้งวันเรื่อง "การใช้กรณีศึกษาสำหรับการทำวิจัยเชิงคุณภาพ"


ฟังข่าวตอนค่ำในระหว่างเตรียมการสอน ข่าวเด่นที่รายงานช่วงนี้คือ กรณีไทยและกัมพูชาชี้แจงต่อศาลโลกกรณีพิพาทเขาพระวิหาร นอกจากนี้กรณีแตงกวาจากสเปนที่คาดว่าเป็นต้นเหตุให้มีผู้ป่วยและเสียชีวืตในเยอรมันเนื่องจากเชื้อโรค E.Coli


วันที่สองของการบรรยาย....หัวข้อการบรรยายเป็นเรื่อง ความเข้าใจเรื่องของแนวคิดกรณีศึกษา การสร้างความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของเครื่องมือในการทำกรณีศึกษา รวมทั้งมีการหยิบยกเอากรณีศึกษาที่ผมไปทำวิจัยมา ๕๐ รายมาอธิบายประกอบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า วิธีการนำเสนอกรณีศึกษาจะทำอย่างไรให้มีความน่าสนใจในผลลัพธ์จากการวิเคราะห์


ในระหว่างที่มีการบรรยายมีคำถามหลายๆคำถามจากผู้เข้าฟัง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน หลายๆคำถามผมเป็นคนตอบอธิบาย บางคำถามคนที่เข้าฟังช่วยอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้บรรยากาศในการอบรมมีสีสันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการนั่งฟังอย่างเดียว


มีคำถามจากคุณสุจินดา นิสิตปริญญาเอก AIT เรื่องแนวคิด Discourse Analysis ที่ผมยังไม่สามารถตอบได้ภายในชั้นเรียนวันนั้น แต่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมและใช้พื้นที่ในบล็อกนี้อธิบายความหมายของแนวคิดเรื่อง Discourse Analysis ไว้ดังนี้


Discourse Analysis ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำว่า "วิเคราะห์วาทกรรม" เป็นการศึกษาสืบค้นถึง ขั้นตอน ขบวนการ ลำดับเหตุการณ์ องค์ประกอบย่อยต่างๆ ในพฤติกรรมมนุษย์ที่ใช้โต้ตอบสื่อสารระหว่างกัน เพื่อให้ได้รูปแบบของความสัมพันธ์ของข้อมูลที่สามารถอธิบายวิธีคิดและเหตุผลของปรากฏการณ์ที่ศึกษานั้น โดยใช้หลักการวิเคราะห์ทางภาษาและบริบทที่เกี่ยวข้องทางสังคม

โดยอาจจะมีการเก็บข้อมูลในรูปของการสังเกต สัมภาษณ์ บันทึกพฤติกรรมด้วยเครื่องมือต่างๆเช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วิดีโอ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นว่าข้อมูลมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีที่เราศึกษามากน้อยแค่ไหน


(ที่มา: วีระพงษ์ วรวัฒน์, 2550, วาทกรรมและการวิเคราะห์วาทกรรม; ศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ว่องวาณิช, จิรวรรณ นาคพัฒน์ม 2553, Discourse Analysis; Norman K. Denzen and Yvonna S. Lincoln, 2005, Qualitative Research (3rd Ed.) )




ถือเป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้เพิ่มเติมซึ่งได้มาจากคำถามของผู้เรียนในชั้นเรียนอีกที



การบรรยายเสร็จสิ้นลง ผมให้ผู้ฟังเขาเขียนคีย์เวิร์ดแต่วันนี้ขอคำขยายความด้วย เพราะวันแรกเขียนแต่คีย์เวิร์ดจริงๆจนผู้สอนจับประเด็นไม่ได้ว่าตกลงผู้เรียนเข้าใจคอนเซ็ปท์ถูกต้องไหม อาจารย์บางท่านขอส่งคีย์เวิร์ดทางอีเมลเป็นการบ้านให้ผมแทนการเขียนใส่กระดาษ






เสร็จสิ้นจากการบรรยายก็กลับที่พัก มีหลายคนถามว่าชีวิตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นอย่างไร? ผมคิดว่าคุณภาพชีวิตในต่างจังหวัดดีกว่าชีวิตในกรุงเทพฯมากๆ มีเวลาจัดการชีวิตและทำกิจกรรมได้มากกว่าในเวลาเท่ากัน มลพืษทางอากาศน้อยกว่าในกรุงเทพฯ สัมผัสกับธรรมชาติได้มากกว่า แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ในพิษณุโลกหาร้านอาหารอร่อยได้ไม่ค่อยมากนัก


ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในพิษณุโลกด้วยการไปลองทานอาหารที่ร้านนนทรี ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อยู่ใกล้กับโรงแรมที่พักเห็นป้ายชื่อร้านเขามีสัญลักษณ์ "เชลส์ชวนชิม" ลองไปทานดูไม่เห็นเสียหายอะไร


อ่านในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ที่เขาใส่กรอบในร้านเพื่อโปรโมทอาหารมีชื่อของร้าน ในเมนูแนะนำมี "หลนปูทะเล" แต่พอสอบถามพนักงานเสิร์ฟ เขาบอกว่าปริมาณเกินกว่าคนเดียวจะทานได้ พนักงานเสืร์ฟแนะนำเมนูจานเดียวหลายเมนู แต่สุดท้ายผมเลือก ข้าวน้ำพริกลงเรือ





พอทานจริงๆ รสชาติใช้ได้ ไม่เผ็ดจนเกินไป รสชาติลงตัว


แต่ยังรู้สึกไม่อิ่ม เลยสั่งบะหมี่ผัดฮกเกี้ยนมาลองทานดู





เขาผัดออกมาหน้าตาน่าทานดี และรสชาติใช้ได้ สมกับราคาที่แพงอยู่สักหน่อย เมนูแบบนี้ไม่ค่อยเจอร้านอาหารในพิษณุโลกทำขายนัก เคยทานบะหมี่ฮ่องกงในร้านอาหารบางร้านในพิษณุโลกแต่รสชาติไม่อร่อยเท่าไหร่


มีธุระไปติตต่อกับเขตเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนกลับพิษณุโลก หาโอกาสแวะไปร้านนายเป็ด ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นชื่อดังที่อยู่ในซอยบางขุนนท์ 29 โชคไม่ดีที่เขาปิดวันพุธ เลยเปลี่ยนใจไปทานก๋วยเต๊ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ สาขาพุทธมณฑล แทน ความจริงสาขาแรกของร้านนายเงี๊ยบเขาอยู่บางขุนนนท์และตอนนี้ก็ยังอยู่ แต่หาที่จอดรถลำบากเพราะติดถนนบางขุนนนท์เลย ตัดสินใจไปทานที่สาขาพุทธมณฑลเพราะที่จอดรถสะดวกกว่าและเป็นเส้นทางกลับบ้านด้วย





มื้อกลางวัน ดร.เงี้ยบ เลยต้องฝากท้องไว้กับร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบแทน ความจริงคำว่า เงี๊ยบ นี่ ถ้าสะกดให้ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ภาษาไทยควรใช้ไม้โท เพราะ อักษร ง เป็น อักษรต่ำ จึงควรใช้ไม้โทสะกด แต่ออกเสียงเป็นเสียงตรี

เงี้ยบ (業) ตัวนี้ในภาษาจีนแต้จิ๋วหรือเฉาโจว แปลว่า ธุรกิจ เวลาเขาพูดถึงธุรกิจก็จะใช้คำนี้ 「企業」หรือคำว่า สำเร็จการศึกษา ก็ใช้คำประสมว่า (卒業)

 ไม่ได้ทานร้านนายเงี๊ยบนานมากแล้ว....วันนี้สั่งเส้นปลามาทาน หน้าตาแบบนี้ภายหลังเติมเครื่องลงไป




  กินอิ่มแล้วก็เดินทางต่อ ใช้เวลาขับรถร่วม 5 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯมาถึงพิษณุโลก


เช้าวันที่ ๑ มิถุนายน มีโอกาสได้ดูทีวีรายการ "กิน อยู่ คือ" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขาแนะนำวิธีเลือกมังคุด ถึงเข้าใจว่าที่ผ่านมาเราเข้าใจผิด คิดว่าการเอามือไปบีบผิวมังคุดว่านิ่มหรือเปล่าเป็นการเลือกที่ถูกต้อง แต่ที่แท้จริงสีผิวของเปลือกมังคุดต่างหากที่เป็นตัววัดความอร่อยและผลที่สมบูรณ์ เจ้าของสวนมังคุดแนะวิธีเลือกมังคุดที่ถูกต้องว่า

๑. ให้เลือกสีผิวมังคุดที่เป็นสีม่วงอ่อน เพราะผลใกล้สุก ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันจะกำลังพอดี อีกอย่างความเต่งและอวบอิ่มของเมล็ดมังคุดภายในจะสมบูรณ์กว่า เปลือกสีผิวมังคุดเป็นสีดำคล้ำ เพราะนั่นบ่งบอกว่าสุกเต็มที่จนงอมแล้ว โอกาสจะได้ผลเน่ามีความเป็นไปได้สูง

๒. สีจุกของผลมังคุดควรจะเป็นสีเขียวสด เพราะบ่งบอกความสดและสมบูรณ์ของผลมังคุด

๓. ผลมังคุดที่สมบูรณ์ควรจะมีรอยกลีบเกสรใต้เปลือก ๗ แฉก ปกติจะมีแค่ ๖ แฉกเท่านั้น


เอาเทคนิคนี้มาใช้เลือกมังคุดบ้าง ได้ผลลัพธ์เป็นดังภาพ





ยามดึกหลังจากกลับถึงที่พักที่พิษณุโลก เหนื่อยมาจากการขับรถตลอดทั้งวัน ผมลองปอกเปลือกมังคุดที่ซื้อมาตามคำแนะนำที่ดูจากรายการทีวีตอนเช้า พบว่ามังคุดที่เลือกคราวนี้ไม่มีผลไหนเน่าเลย ผมเลยสนุกสนานกับการทานมังคุดแสนอร่อยเป็นของว่าง....


การเดินทางระยะทาง 830 กิโลเมตรสำหรับการไปบรรยายในโครงการ "การวิจัยเชิงคุณภาพ" เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่มีภารกิจใหม่ๆที่อยู่ข้างหน้ากำลังรอให้ผมปฏิบัติให้ลุล่วงอยู่






 

Create Date : 03 มิถุนายน 2554    
Last Update : 4 มิถุนายน 2554 17:06:00 น.
Counter : 2599 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.