ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 

กี่เพ้า คืออะไร



กี่เพ้า ในภาษาจีนเรียกว่า "ฉีผาว" (旗袍) เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับสตรีชาวจีน มีลักษณะเหมือนเสื้อ มีชายเสื้อยาวปกคลุมท่อนขา ขนาดพอดีตัว ด้านข้างมีตะเข็บผ่าเพื่อให้ก้าวขาได้สะดวก รูปแบบของฉีผาวในปัจจุบัน ได้รับการปรับปรุงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ให้มีรูปทรงแนบกับสรีระ เพื่อเน้นทรวดทรงของผู้สวมใส่ เป็นแฟชั่นที่นิยมในสังคมคนชั้นสูงของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการดัดแปลงให้ชายฉีผาวสั้นลง ปรับปรุงแบบคอปก และเนื้อผ้าแบบต่างๆ

ฉีผาว เป็นเครื่องแต่งกายของหญิงแมนจูในยุคราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มาจากคำว่า ฉี (旗, ธง) และ ผาว (袍, เสื้อ) ในปี ค.ศ. 1636 ผู้ปกครองจีนในขณะนั้นได้ออกกฎหมายบังคับให้ทุกคน รวมทั้งชาวฮั่นให้แต่งกายและตัดผมแบบแมนจู ในภาษาอังกฤษเรียกเครื่องแต่งกายแบบนี้ว่า Cheongsam มาจากเสียงอ่าน chèuhngsàam ในสำเนียงกวางตุ้ง ของศัพท์เซี่ยงไฮ้คำว่า zǎnze (長衫, 'long shirt/dress') และเรียกเครื่องแต่งกายในลักษณะเดียวกัน สำหรับเพศชายว่า Changshan (長衫; Chángshān)

ซาน จี้ฟาง เขียนบทความถึงกี่เพ้าในนิตยสารข่าวเป่ยจิงรีวิว ว่า ในทศวรรษ 1980-1990 ชุดกี่เพ้าปรากฏโฉมใหม่ที่ใส่กันเฉพาะในหมู่สาวๆ ที่เป็นพนักงานต้อนรับตามโรงแรมและภัตตาคาร ชุดกี่เพ้าแบบนี้ตัดเย็บลวกๆ เน้นแต่สีสันฉูดฉาดและกระโปรงสั้นเกินไป ทำลายภาพเดิมของกี่เพ้าไปโดยปริยาย เจ้า จินหลี่ สาวพนักงานบริษัทโฆษณา กล่าวว่า ในตู้เสื้อผ้าของตน ไม่มีชุดกี่เพ้าแม้แต่ตัวเดียว ตนไม่อยากใส่ เพราะกลัวคนคิดว่าทำงานเป็นสาวต้อนรับหน้าร้านอาหาร หรือแม้แต่โชว์เกิร์ล อย่างไรก็ตาม หวัง จินเฉียว เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท เป่ยจิง เก๋อเก๋อ ฉีเพ้า ผู้นำการผลิตชุดกี่เพ้าในจีน กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มิควรลืมหรือเมินชุดกี่เพ้า เพราะชุดนี้แสดงถึงบางสิ่งที่ถ่ายทอดจากอดีตและเข้ากับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี "ชุดของจีนเป็นความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมประเพณีที่ผสมผสานกับชีวิตยุคใหม่ได้ เราควรจะใส่ชุดกี่เพ้าในงานต่างๆ รวมถึงปรับให้ใส่สบายในชีวิตประจำวันได้" จิน ไท่จุน กล่าวเสริม


ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , ข่าวสด




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2555    
Last Update : 19 ตุลาคม 2555 8:05:47 น.
Counter : 4527 Pageviews.  

ทำไมจึงรู้สึกจั๊กจี้ฝ่าเท้า


ทำไมหนอเราจึงรู้สึกจั๊กจี้ หรือต้องยกเท้าหนี้เมื่อมีคนมาจั๊กจี้ที่ฝ่าเท้า

หากใครมาจี้ฝ่าเท้าเรา ก็มักจั๊กจี้จนต้องยกเท้าหนี เหตุผลก็คือ การรู้สึกจั๊กจี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เพราะอาจเป็นงูก็ได้ที่เท้าเราอาจเหยียบเจอ นั่นเพราะคนในสมัยโบราณเดินเปลือย เท้าเปล่า และที่เท้าเราก็มีเส้นประสาทมากมายจึงทำให้เท้าไวต่อความรู้สึก

              นอกจากเท้าที่จั๊กจี้แล้ว ก็ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ที่ไวต่อความรู้สึก เช่น ท้อง รักแร้ และปลายนิ้ว และเราจะรู้สึกจั๊กจี้สุด ๆ เมื่อมันถูกสัมผัสโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราจี้เองกลับไม่รู้สึกจั๊กจี้นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก Lisa




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2555    
Last Update : 15 ตุลาคม 2555 8:45:30 น.
Counter : 2514 Pageviews.  

สงครามครูเสด สงครามศาสนาแห่งมวลมนุษยชาติ

สงครามครูเสด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก johnbatchelorshow.com, blogspot.com

ปมร้อนหนังหมิ่นศาสนาเรื่อง "อินโนเซ้นส์ ออฟ มุสลิม" ได้กลายเป็นตัวจุดชนวนการประท้วงรุนแรงในอียิปต์และลิเบีย ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ถึงกับประกาศส่งเรือรบ 2 ลำ ประชิดลิเบียในทันที ...ไม่เพียงเท่านั้น เหตุประท้วงยังลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก พร้อม ๆ กับภาพความรุนแรงและความโกรธแค้น...

            จากเหตุดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายนึกถึงสงครามศาสนาครั้งยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง "สงครามครูเสด" ซึ่งเป็นสงครามระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลาม ที่เกิดขึ้นถึง 8 ครั้ง กินระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7,000,000 คน และทรัพย์สินอีกมากมายมหาศาล... ในวันนี้ กระปุกดอทคอม จะขอพาทุกท่านย้อนอดีตเล่าเรื่องราวของสงครามครูเสดที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์กันค่ะ


สงครามครูเสด


           สงครามครูเสด สงครามที่ยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติในครั้งอดีตคือ สงครามระหว่างศาสนา ซึ่งอาจหมายถึงสงครามระหว่างชาวคริสต์ต่างนิกายด้วยกันเอง หรือชาวคริสต์กับผู้นับถือศาสนาอื่นก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักหมายถึงสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ ในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 13 ส่วนมุสลิมเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามฟีสะบีลิ้ลลาฮ์ และดินแดนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญของสามศาสนาได้แก่ อิสลาม ยูได และ คริสต์ ในปัจจุบันดินแดนแห่งนี้คือ ประเทศอิสราเอล หรือ ปาเลสไตน์

ความหมายของสงครามครูเสด

สงครามครูเสด มีความหมายว่า เป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม เป็นความถูกต้องชอบธรรมตามหลักศรัทธาทางศาสนา เป็นสงครามที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งชาวมุสลิมใช้คำว่า จิฮัด ในภายหลังคำว่า สงครามครูเสดถูกนำไปใช้ในทำนองการรณรงค์ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมด้านต่าง ๆ เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ฆ่าคนนอกรีต-คนต่างศาสนา ไม่บาป แล้วยังได้ขึ้นสวรรค์

สงครามครูเสดในมุมมองศาสนาคริสต์

           คือ สงครามไม้กางเขน เดิมมาจากคำว่า "ครอส" (Cross) และเดิมทีดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เยรูซาเล็ม (Jerusalem) นั้นเป็นของชาวคริสต์อยู่แล้ว แต่ถูกชาวมุสลิมรุกราน ฝ่ายคริสต์มีการประกาศความชอบธรรมในการทำสงคราม และยังยกหนี้สินให้กับคนที่เข้าร่วมสงคราม และผู้นำศาสนายังประกาศว่าผู้ใดที่ร่วมรบจะได้ขึ้นสวรรค์

สงครามครูเสดในมุมมองศาสนาอิสลาม

           คือ การรุกรานของชาวคริสต์ที่กระทำต่อมุสลิม สาเหตุสงครามเกิดจากการที่ชาวคริสต์ไม่พอใจชาวมุสลิมที่ไม่ต้อนรับพวกตนในการเข้าไปแสวงบุญที่เยรูซาเล็ม เป็นต้น


สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดสงครามครูเสด สรุปได้ดังนี้

1. สงครามครูเสดเป็นผลของความขัดแย้งกันเป็นเวลาช้านาน ระหว่างคริสตจักรทางภาคตะวันตกกับทางภาคตะวันออก ต่างฝ่ายต่างก็พยายามที่จะมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง โดยนำเสนอความเป็นผู้นำในการรบเพื่อทวงคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และหยุดยั้งการแพร่ขยายของศาสนาอิสลามที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นทั่วไปในหมู่ชาวคริสเตียนในยุโรป ด้วยเหตุดังกล่าว ในศตวรรษที่ 11 ชาวคริสเตียนจึงได้ส่งกองกำลังมาปะทะกับมุสลิม

           2. ความกระตือรือร้นในการแสวงบุญของชาวคริสเตียนยังนครเยรูซาเล็มมีมากกว่าที่เคยเป็นมา ในช่วงนั้น เยรูซาเล็มตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม ผู้แสวงบุญชาวคริสเตียนจึงมีความต้องการดินแดนเยรูซาเล็มเป็นของตนเอง เพื่อความสะดวกในการแสวงบุญมากยิ่งขึ้น

3. ช่วงเวลาระหว่างนั้น เป็นระยะเวลาที่ระส่ำระสายอยู่ทั่วไปในยุโรป พวกเจ้าเมืองต่าง ๆ ต่างก็ต่อสู้ทำสงครามซึ่งกันและกัน พระสันตะปาปามีความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ จะทำให้ชาวคริสเตียนในยุโรปต้องอ่อนแอลง เขาจึงยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนหันมาต่อสู้กับชาวมุสลิมแทนโดยอ้างว่าจะได้รับกุศลผลบุญ และเพื่อเอานครอันศักดิ์สิทธิ์ "เยรูซาเล็ม" กลับคืนมา

           4. มุสลิมได้กลายเป็นมหาอำนาจทางการค้าแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา การค้าพาณิชย์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงตกอยู่ในความควบคุมของมุสลิมอย่างเต็มที่ ดังนั้น ชาวคริสเตียนในยุโรปจึงต้องทำสงครามกับมุสลิมเพื่อหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของมุสลิม

5. สันตะปาปา เออร์แบนที่ 2 ประสงค์จะรวมคริสตจักรของกรีกมาไว้ใต้อิทธิพลของท่านด้วย จึงได้เรียกประชุมชาวคริสเตียนที่เมืองเลอมองส์ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1095 และรบเร้าให้ชาวคริสเตียน ทำสงครามกับชาวมุสลิม ท่านได้สัญญาว่าผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้จะได้รับการยกเว้นจากบาปที่เคยทำมา และผู้ที่ตายในสงครามก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ภายในเวลาไม่นานก็รวบรวมคนได้ถึง 150,000 คน ส่วนมากเป็นชาวแฟรงค์ (Frank) และนอร์แมน (Norman) คนเหล่านี้ได้มาชุมนุมกันที่เมืองเยรูซาเล็ม


สงครามครูเสด

ประวัติสงครามครูเสดโดยย่อ

จุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด หลังจากที่พระเยซูคริสต์เสียชีวิตแล้ว แผ่นดินที่พระเยซูคริสต์มีชีวิตอยู่ ก็คือเมืองเบธเลเฮม เมืองนาซาเร็ธ และเมืองเยรูซาเล็ม ถูกเรียกว่าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ชาวคริสเตียนจะเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมืองเหล่านี้บางเมืองก็เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน เมื่อพวกซัลจู๊ค (มุสลิม) เข้ามามีอำนาจ ได้ครอบครองซีเรียและเอเชียไมเนอร์ของไบแซนไทน์ ชัยชนะของซัลจู๊คในการยุทธที่มานซิเคอร์ท ในปี ค.ศ. 1071 นั้น เป็นการขับไล่อำนาจของไบแซนไทน์ออกจากเอเชียไมเนอร์ และอีกไม่กี่ปีต่อมาคือ ในปี ค.ศ. 1092 ซัลจู๊คก็ตีเมืองนิคาเอจากไบแซนไทน์ได้อีก ซึ่งทำให้จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ตื่นตระหนัก เพราะอิสลามกำลังเข้าใกล้กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลเข้าไปทุกที

เมื่อเห็นดังนั้น จักรพรรดิอเล็กซิอุส คอนเนนุส แห่งไบแซนไทน์ ได้ขอความช่วยเหลือไปยังโป๊ปเกรกอรีที่ 7 แห่งกรุงโรม ให้ชาวคริสเตียนปราบเติร์ก ซึ่งสันตะปาปาก็ตอบรับการขอความช่วยเหลือ เพราะนั่นเท่ากับว่าจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์เป็นผู้นำของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ยอมรับอำนาจของสันตะปาปา ซึ่งเป็นผู้นำของนิกายโรมันคาทอลิกโดยสิ้นเชิง พระสันตะปาปาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด

หากเราพิจารณาในวงแคบลงมาแล้ว ในความรู้สึกของชาวยุโรปนั้น ถูกรุกรานจากพวกตะวันออก คือ โลกมุสลิมมาโดยตลอด นับตั้งแต่ ค.ศ. 632 เป็นต้นมา อิสลามได้ขยายอำนาจเข้าไปในเขตแดนที่ตะวันตกเคยมีอำนาจ เช่น ซีเรีย อียิปต์ แอฟริกาเหนือ ตลอดจนคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) ซ้ำยังคุกคามจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ในโลกตะวันตกคือไบแซนไทน์ และสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่สถาบันที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมตะวันตกและคริสต์ศาสนา นั่นก็คือกรุงโรม โดยมุสลิมสามารถยึดครอบครองบางส่วนของอิตาลี ตลอดสมัยนี้การค้ากับตะวันออก ตกอยู่ในมือของอิสลาม สงครามครูเสดจึงเป็นความพยายามของชาวตะวันตกที่จะล้มอำนาจของตะวันออกที่เป็นมุสลิมหลังจากที่แพ้มาโดยตลอด

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปเดินทางฝ่าอันตรายไปยังโลกอิสลาม คือ กษัตริย์ฝรั่งเศสและเยอรมันต้องการดินแดนเพิ่ม บรรดาอัศวินและขุนนางต้องการผจญภัยแสดงความกล้าหาญตามอุดมคติของอัศวินที่ดี พวกทาสต้องการเป็นอิสระ เสรีชนต้องการความร่ำรวยและแสดงความศรัทธาต่อศาสนารวมทั้งความพยายามของ พระสันตะปาปาในอันที่จะรวมคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์ให้เข้ากับนิกายโรมันคาทอลิก ภายใต้การบังคับบัญชาของตนแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับสมัยนั้นอำนาจของอิสลามเองก็ได้อ่อนแอลงเนื่องจากความแตกแยกภายใน คือ ภายหลังที่ซัลจู๊คเสื่อมอำนาจลง โลกอิสลามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ปราศจากศูนย์กลางอีกครั้ง คอลีฟะฮฺแห่งฟาฏีมียะฮฺเองก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและพยายามจำกัดอำนาจของตนอยู่เฉพาะในอียิปต์เท่านั้น

พระสันตะปาปาได้ทำการเรียกร้องให้ทำสงครามครูเสด กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องทำเพราะเป็นคำสั่งของพระเจ้า แต่ทว่าเกรกกอรีที่ 7 ได้เสียชีวิตลงเสียก่อนที่จะปฏิบัติตามสัญญาในปี ค.ศ. 1095 จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ได้ขอร้องทำนองเดียวไปยังพระสันตะปาปาคนใหม่ คือ เออร์บานที่ 2 ซึ่งพระสันตะปาปาคนนี้ก็ได้ตอบรับการเรียกร้องทันที พระสันตะปาปาได้จัดประชุมกันที่เคลมองต์ (Clermont) ในประเทศฝรั่งเศส เรียกร้องให้ประชาชนทำสงครามครูเสดเพื่อกอบกู้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ คือ กรุงเยรูซาเล็มคืนจากอิสลาม..คำปราศรัยของพระสันตะปาปามีใจความว่า

"ด้วยบัญชาของพระเจ้า ให้เจ้าหยุดยั้งการทำสงครามกันเอง และให้เขาเหล่านั้นหันมาถืออาวุธมุ่งหน้าไปทำลายผู้ปฏิเสธ (มุสลิม)"

ปรากฏว่าพระสันตะปาปารวบรวมคนได้ถึง 150,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสไปร่วมทำสงครามครูเสด จะเห็นว่าในบรรดาชายชาวยุโรปที่ต้องการทำสงครามครูเสดมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ ชาวฝรั่งเศส ดังนั้น การจัดตั้งรัฐต่าง ๆ ในตะวันออกกลางภายหลังที่พวกครูเสดสามารถปกครองดินแดนนี้จึงเป็นรัฐของฝรั่งเศส บาทหลวง บรรดาเจ้าชาย อัศวิน และนักรบล้วนแต่เป็นชาวฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่

ในขณะที่ทัพครูเสดกำลังจะยกมารบกับอิสลาม ก็ได้มีกองทัพของประชาชนผู้มีศรัทธาแรงกล้าเดินทัพมาก่อนแล้วในปี ค.ศ. 1094 ตามคำชักชวนของ ปีเตอร์ นักพรต (Peter of Amines) เขาผู้นี้ได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป เพื่อป่าวประกาศเรื่องราวการกดขี่ของชาวเติร์กต่อชาวคริสเตียนในปาเลสไตน์ ซึ่งหาได้เป็นความจริงไม่ กล่าวได้ว่ากองทัพนี้เป็นกองทัพของประชาชนมากกว่ากองทัพของทหารที่จะไปทำสงคราม เพราะมีผู้นำที่เป็นบาทหลวงและสามัญชนธรรมดาปราศจากความรู้ในการรบ และมิได้มีอาวุธที่ครบครัน ปรากฏว่ากองทัพนี้ส่วนใหญ่มาถึงเพียงฮังการี เพราะเมื่อขาดอาหารลงก็จะทำการปล้นสะดม จึงถูกประชาชนแถบนั้นต่อต้าน และส่วนใหญ่จะตายเสียตามทาง ที่เหลือรอดมาซึ่งมีจำนวนเล็กน้อย เมื่อเผชิญกับพวกซัลจู๊คจึงถูกตีแตกพ่ายกลับไป สงครามครั้งนี้มิได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนใด ๆ นอกจากจะกระตุ้นให้ชาวยุโรปมีความเกลียดชังมุสลิมมากขึ้นไปอีก

สงครามครูเสดเพื่อยึดครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1096 โดยมีอัศวินประมาณ 50,000 คนเข้าร่วม ส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส เส้นทางที่ทหารครูเสดจะต้องเดินทางมานั้นมีระยะทาง 2,000 ไมล์ ทหารครูเสดที่มาในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต แห่งนอร์มังดี ทหารบางคนเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนา บางคนเข้าร่วมเพราะต้องการผจญภัยหรือแสวงโชค ใน ค.ศ.1099 ทหารครูเสดได้มาถึงด้านนอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม ฝ่ายมุสลิม (ซึ่งพวกทหารครูเสดเรียกว่า ซาราเซ็น) ได้ต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทหารครูเสดปิดล้อมเมืองอยู่เดือนกว่าจึงฝ่ากำแพงเข้าไปได้และเมื่อเข้าเมืองได้ ทหารคริสเตียนก็ฆ่ามุสลิมทุกคนที่พวกเขาพบ เพราะทหารคริสเตียนถือว่า ชาวมุสลิมทุกคนคือผู้ไม่ศรัทธาในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

ใน ค.ศ. 1144 มุสลิมยึดเมืองอีเดสซากลับคืนมาได้ สงครามครูเสดครั้งที่สองเกิดขึ้นเพราะพวกยุโรปต้องการที่จะยึดเยรูซาเล็มกลับคืนมา แต่ต้องประสบความล้มเหลว ต่อมาใน ค.ศ.1187 ผู้นำมุสลิมคนใหม่คือ เศาะลาฮุดดีน (ซาลาดิน) ได้โจมตีอาณาจักรของคริสเตียนโดยเริ่มจากสงครามฮิตตินก่อน หลังจากนั้นก็เข้าไปยึดเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนมาได้ ทหารมุสลิมต้องการที่จะประหารชาวคริสเตียนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง แต่ซาลาดินไม่อนุญาต สงครามครูเสดครั้งที่สามเกิดขึ้น เพราะคริสตจักรมีความต้องการที่จะขับไล่ซาลาดินออกจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ 

หนึ่งในบรรดาแม่ทัพที่นำทหารครูเสดมาในครั้งนั้นคือ กษัตริย์ริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษหรือที่รู้จักกันดีว่า "ริชาร์ดใจสิงห์" (Richard the Lionheart) ได้ทำสงครามกับซาลาดินสงครามนองเลือดจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ทหารของซาลาดินเข้มแข็งกว่า ดังนั้น สิ่งที่กษัตริย์ริชาร์ดทำได้ ก็คือการทำสัญญากับ ซาลาดินใน ค.ศ.1192 สัญญานี้ระบุว่าทำพวกคริสเตียนอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ได้ เช่น เมืองอัครา บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และไปเยี่ยมแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ได้ หลังจากนั้นอีกหนึ่งศตวรรษ มุสลิมก็สามารถยึดเมืองคริสเตียนต่าง ๆ กลับคืนมาได้ กองทหารครูเสดได้ถูกส่งมาช่วยเมืองเหล่านี้หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ


สงครามครูเสด

บทสรุปสงครามครูเสด

สงครามครูเสด มีการทำสงครามกัน 10 ครั้ง กินระยะเวลานานกว่า 200 ปี มีผู้คนล้มตายกว่า 7,000,000 คน และสุดท้ายดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตกเป็นของมุสลิม บทสรุปการทำสงครามแต่ละครั้งมีดังนี้

ครั้งที่ 1 ตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 1092 ถึง ค.ศ. 1099 เป็นครั้งที่ครึกครื้นที่สุด พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ไปในครั้งนี้ และเป็นครั้งเดียวที่เอาชนะพวกเติร์กเปิดทางให้คริสต์ศาสนิกชนไปนมัสการที่ฝังศพพระเยซูได้สะดวก

ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ ค.ศ. 1147 ถึง ค.ศ. 1149 พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ของฝรั่งเศส กับ พระเจ้าคอนราดที่ 3 ของเยอรมัน ได้ไปในครั้งนี้ แต่ต้องแพ้ย่อยยับกลับมา

ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ ค.ศ. 1189 ถึง ค.ศ. 1192 พระเจ้าเฟรเดริกที่ 1 (เยอรมัน) ฟิลิปป์ออกุสต์ (ฝรั่งเศส) และริชาร์ด ไลออนอาร์ท (อังกฤษ) ได้ไปในครั้งนี้ พากันแพ้กลับมา และพระเจ้าเฟรเดริกจมน้ำตาย

ครั้งที่ 4 ตั้งแต่ ค.ศ. 1202 ถึง ค.ศ. 1204 ไม่ได้ผลอะไรเลย และแทนที่กองทัพครูเสดจะไปรบพวก เติร์กกลับไปรบพวกคริสเตียนด้วยกันเอง

ครั้งที่ 5 ตั้งแต่ ค.ศ. 1217 ถึง ค.ศ. 1221 เซนเญอร์ของฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ยองเลอเบรียน กับพระเจ้าแผ่นดินฮังการี ไปรบพวกเติร์กในประเทศอียิปต์ และไม่ได้ผลทางชัยชนะ

ครั้งที่ 6 ตั้งแต่ ค.ศ. 1228 ถึง ค.ศ. 1229 พระเจ้าเฟรเดริกที่ 2 (เยอรมัน) เป็นหัวหน้าไป แต่แทนที่จะไปรบ กลับไปทำไมตรีกับพวกอาหรับ ซึ่งมีผลดีกว่าไปรบ เพราะทำให้พวกอาหรับยอมให้พวกคริสเตียนเดินทางเข้าเมืองเยรูซาเล็มได้อีก

ครั้งที่ 7 ตั้งแต่ ค.ศ. 1248 ถึง ค.ศ. 1249

ครั้งที่ 8 ใน ค.ศ. 1270 นั้น สงครามครูเสดได้ทำกันในประเทศอียิปต์ เพราะพวกหัวหน้าเติร์กมีถิ่นสำคัญตั้งอยู่ที่นั่น และแซงต์หลุยส์ (ฝรั่งเศส) เป็นตัวตั้งในสงครามครูเสดทั้งสองครั้งนี้ จนแซงหลุยส์สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1270 และสงครามครูเสดก็สุดสิ้นลงในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี การนับจำนวนครั้งของสงครามครูเสดนั้น ยังคงเป็นปัญหา เนื่องจาก แต่ละสำนัก แต่ละตำรา นับจำนวนครั้งที่เกิดสงครามครูเสดแตกต่างกันออกไป บ้างนับสงครามครูเสดครั้งที่ 8 เป็นส่วนหนึ่งของสงครามครั้งที่ 7 หากสงครามครูเสดครั้งที่ 5 และ 6 ถูกนับแยกกัน นอกจากนี้ บางตำรานับสงครามครูเสดครั้งที่ 9 เป็นส่วนหนึ่งของครั้งที่ 8


ผลของสงครามครูเสดต่อโลกตะวันตก

หลังจากนั้น พวกคริสเตียนได้ครองแผ่นดินที่พวกตนยึดครองได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม บางเมืองมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี การเข้ามาอยู่ในดินแดนที่มีมุสลิมอาศัยอยู่โดยรอบทำให้พวกคริสเตียนและมุสลิมเกิดการรวมวัฒนธรรมกัน

            พวกคริสเตียนประทับใจในศิลปะการตกแต่งของมุสลิม เช่น พรม เครื่องใช้และกระเบื้องเคลือบ และพวกเขายังได้กินอาหารรสชาติใหม่ ๆ เช่น ผลแอปริคอท มะเดื่อ น้ำตาลและมะนาว ทางด้านเครื่องแต่งกายชาวคริสเตียนได้เรียนรู้การใช้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมทำเสื้อผ้า ทางด้านสถาปัตยกรรม พวกคริสเตียนได้เรียนรู้เรื่องการใช้เสาและคานรูปโค้งแบกรับน้ำหนักจากสิ่งที่ปลูกสร้างของมุสลิม นอกจากนี้แล้ว พวกคริสเตียนยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันปราสาทโดยการใช้หอคอยทรงกลม และช่องทางเดินบนกำแพงที่ทำให้คนที่อยู่ข้างบนสามารถยิงธนูหรือโยนหินเข้าใส่ผู้เข้ามาโจมตีได้ ส่วนพวกมุสลิมนั้นไม่ได้อะไรจากพวกคริสเตียนมากนักนอกจากการค้าที่เพิ่มขึ้นกับอิตาลี อาวุธที่ดีขึ้น และการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสงคราม

นอกจากนี้ สงครามครูเสดทำให้พวกตะวันตกได้รับความรู้ใหม่ ๆ หลายอย่างจากพวกมุสลิม เช่น เรื่องโรงสีลม การใช้เข็มทิศในการเดินทางเรือ ทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นหลายอย่าง พวกมุสลิมได้รับความรู้จากพวกคริสต์มากมายเช่นกัน อันเป็นธรรมดาที่มีการรบติดพันกันยืนนานเช่นนี้




            เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับเนื้อหาสาระเกี่ยวกับครูเสดที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หลัก ๆ แล้วทำให้เราได้ทราบว่าสงครามครูเสดมีสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างทางความเชื่อในศาสนาแต่ละศาสนา จนทำให้ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนปัญหาทางการเมืองที่ทำให้ถึงขั้นต้องทำสงครามเพื่อแย่งกันครอบครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นสงครามแล้ว คงไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะสงครามในครั้งนี้ก็ได้คร่าชีวิตและทรัพย์สินของมนุษยชาติอย่างมากมายมหาศาลและบางส่วนของความขัดแย้งเหล่านั้นยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
thaigoodview.com, baanjomyut.com




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2555    
Last Update : 7 ตุลาคม 2555 10:46:39 น.
Counter : 3850 Pageviews.  

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

          ปิดฉากมหกรรมกีฬาคนพิการ "พาราลิมปิกเกมส์ 2012" ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยความชื่นมื่น เมื่อทัพนักกีฬาไทยสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้ามาได้ถึง 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทอง จากความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของเหล่านักกีฬาที่มีธงชาติไทยประดับอยู่บนหน้าอก เมื่อลงสนามแข่งขัน

หลายคนตั้งคำถามว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ ชีวิตนักกีฬาคนพิการเหล่านี้เป็นอย่างไร ต้องซ้อมหนักขนาดไหน ต้องฝ่าฝันอุปสรรค หรือข้อจำกัดทั้งร่างกายอย่างไรบ้าง ถึงจะก้าวขึ้นมายังจุดสูงสุดนี้ได้ เพราะต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ที่คนเราจะเอาชนะขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง และสามารถมีพลังกาย พลังใจที่แข็งแกร่งที่แม้แต่คนที่อวัยวะครบ 32 ก็อาจจะมีไม่เทียบเท่า

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

  รายการคนค้นฅน ได้เข้าไปร่วมหาคำตอบ โดยเข้าไปเฝ้ามองการฝึกซ้อมของนักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง ตั้งแต่ 8 เดือน ก่อนลงสนามแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ และได้พบกับภาพที่น่าทึ่ง เมื่อเหล่านักกีฬาผู้ที่มีร่างกายพิการ กลับมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทนต่อการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงได้สารพัด แม้พวกเขาต้องซ้อมหนักกว่าคนปกติหลายเท่าตัว ทั้งการปั่นวีลแชร์เป็นระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร ฝึกยกลูกเหล็กขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบาก

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

อุปกรณ์ทางด้านเทคนิคหลาย ๆ ชิ้น ถูกออกแบบและประดิษฐ์ขึ้น เพื่อนำมาช่วยนักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง ฝึกซ้อม ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเหล็กที่ถูกทับลงด้วยก้อนเหล็ก เพื่อเพิ่มน้ำหนักและแรงต้าน ร้อยเข้ากับเชือก และผูกติดกับสลัก เพื่อให้นักกีฬาฝึกเทคนิคการออกตัว รวมทั้งวีลแชร์ที่ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายครั้งแล้วถูกนำมาปรับแต่งใหม่ให้นักกีฬาแต่ละรุ่นได้ใช้ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะไม่ทันสมัย หรือเป็นของเก่า แต่นักกีฬาวีลแชร์ทุกคนก็เต็มใจที่จะใช้มัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะมีโอกาสได้เข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่ทุกคนภาคภูมิใจ หากแต่ทุกคนต้องตระเวนแข่งขันในต่างประเทศ เพื่อเก็บสถิติให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่จะเข้าร่วมมหกรรมพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

ตามติดชีวิตมนุษย์ล้อหัวใจแกร่ง แห่งพาราลิมปิกเกมส์

  อย่างไรก็ตาม ในบรรดานักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง ที่มาร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมนั้น จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ทำสถิติได้ดีที่สุด ที่จะได้ก้าวเข้าสู่สนามแข่งขัน ในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยไปสู้ศึกพาราลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ แต่ถึงกระนั้น ทุกคนก็ยังคงมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพราะเป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่แค่การเป็นตัวแทนเข้าไปชิงชัยเหรียญรางวัล แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือเพื่อเอาชนะใจตัวเอง

          ติดตามเรื่องราวของการฝึกซ้อมบนความมุ่งมั่น และความพยายามกว่าคนปกติ ทั้งชีวิตในสนามซ้อม และเรื่องราวในสนามชีวิตของ "มนุษย์ล้อ หัวใจสิงห์" ได้ในรายการคนค้นฅน วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม และ 13 ตุลาคม 2555 เวลา 12.05 น. ทางโมเดินน์ไนน์ทีวี  




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2555    
Last Update : 5 ตุลาคม 2555 8:07:30 น.
Counter : 3000 Pageviews.  

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ปลัดขิก



ปลัดขิก เป็นรูปจำลองอวัยวะเพศชาย มักทำด้วยไม้ ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เรียกอีกอย่างว่า อ้ายขิก ไอ้ขิก หรือ ขุนเพ็ด

ลักษณะของปลัดขิก
ปลัดขิกหรือขุนเพ็ดจัดเป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมอีกอย่างหนึ่งของคนไทย ปลัดขิกส่วนมากแกะสลักมาจากไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล หรือบางทีอาจทำจาก หิน ทองเหลือง ทองแดง กัลปังหา เขา งา เขี้ยว ของสัตว์ แกะสลักเป็นรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชายแต่ไม่มีหนังหุ้มปลายอวัยวะ มีขนาดต่าง ๆ กันและยาวพอเหมาะกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เมื่อทำการแกะสลักแล้วก่อนนำมาบูชาเป็นเครื่องรางของขลังจะต้องทำการปลุกเสกโดยผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์ หรือพระภิกษุ ซึ่งหากทำการปลุกเสกด้วยพระภิกษุเชื่อกันว่าจะได้รับพระพุทธคุณมาด้วย ในปัจจุบันจึงพบว่าปลัดขิกส่วนใหญ่มาจากการปลุกเสกของพระภิกษุ คนไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าให้คุณแก่ผู้บูชา ส่วนชาวต่างชาติก็ทำเป็นของสะสม

ส่วนชื่อเรียก ปลัดขิก ไม่มีที่มาปรากฏชัดว่าเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น ส่วนคำว่า ปลัด หมายถึง ตำแหน่งรองจากตำแหน่งที่เหนือกว่าหรือสันนิษฐานว่าพ้องเสียงมาจากคำว่า ปราศวะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่าเคียงข้าง เนื่องจากผู้บูชาปลัดขิกนิยมแขวนไว้ที่เอวหรือหากเป็นเด็กจะแขวนที่คอ เมื่อมีผู้พบเห็นแล้วเกิดหัวเราะเสียงดังคล้าย คิกๆคักๆ จึงอาจเพี้ยนมาเป็นปลัดขิก

ประวัติของปลัดขิก
ตามความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมานั้น สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียในแถบตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 2000 ปีก่อน โดยอาจเกี่ยวข้องกับชาวฮินดูที่นับถือพระอิศวร และบูชาแท่งหินแกะสลักคล้ายอวัยวะเพศชาย เรียกว่า ศิวลึงค์

การเริ่มบูชาปลัดขิกนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการบูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งได้มีการสร้างเสาหินที่ผสมผสานระหว่างรูปร่างของพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าด้วยกัน หากดูผิวเผินจะคล้ายกับอวัยวะเพศชาย จึงเรียกว่า ลึงค์ เมื่อมีความเชื่อเกี่ยวกับพระอิศวรหรือพระศิวะกับพระอุมา ศิวะลึงค์จึงได้สร้างขึ้นมาให้มีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกในการพกพา

บางตำนาน กล่าวว่าเกิดจากบรรดาเทพและมนุษย์ร่วมกันสร้างเพื่อบูชาพระศิวะ แต่การจะสร้างพระศิวะเพื่อบูชานั้นอาจดูว่าเป็นเรื่องธรรมดามากเกินไป จึงได้สร้างศิวะลึงค์ขึ้นบูชาซึ่งอาจสื่อถึงความมีราคะของพระศิวะ

ส่วนอีกตำนานหนึ่งนั้นกล่าวว่า วันหนึ่งพระศิวะร่วมเสพสังวาสกับพระอุมาในท้องพระโรง ทำให้บรรดาเหล่าเทพที่มาเข้าเฝ้าเห็นเข้า และแสดงความไม่นับถือต่อพระศิวะ ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงบันดาลโทสะและประกาศในท้องพระโรงนั้นว่า อวัยวะของพระองค์นี่แหละจักปกป้องคุ้มครองแก่ผู้เคารพบูชา หากเทพหรือมนุษย์ผู้ต้องการประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิตจะต้องเคารพบูชาให้กราบไหว้บูชาอวัยวะของพระองค์

มีบางตำนานกล่าวว่า วันหนึ่งเกิดโรคระบาดจนมีผู้คนล้มตายลงเป็นอันมากและเชื่อกันว่าเกิดจากพระอุมา อัครมเหสีของพระศิวะเกิดบันดาลโทสะโดยไม่ทราบสาเหตุ เหล่าพราหมณ์จึงแก้ด้วยการทำสิ่งบูชาคล้ายอวัยวะเพศชายเพื่อเป็นตัวแทนพระอิศวรและทำให้โรคระบาดหายไปในที่สุด

ตำนานที่เชื่อกันว่าน่าเชื่อถือที่สุดคือตำนานเกี่ยวกับการบูชา ตรีมูรติ มีการบูชาเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสามได้แก่ พระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ และเทพทั้งสามได้มาปรากฏกายให้ผู้บูชาได้ชื่นชมพระบารมี โดยพระพรหมปรากฏเป็น สี่หน้า สี่กร พระวิษณุ เป็นเทพธรรมดา ส่วนพระศิวะปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเป้นเพศชาย หลักจากนั้นจึงได้มีการสร้างสิ่งเคารพที่แสดงถึงเทพทั้งสามตามที่ปรากฏให้เห็น

ในประเทศไทยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมีมาในสมัยใด และมีความแแตกต่างจากศิวลึงค์ของชาวฮินดู เนื่องจากปลัดขิกที่คนไทยนำมาบูชานั้นทำขึ้นจากผู้มีวิชาความรู้ด้านไสยศาสตร์และทำการปลุกเสกเพื่อให้เป็นเครื่องรางของขลัง โดยในสมัยโบราณคนไทยนิยมห้อยปลัดขิกไว้กับเอวหรือห้อยคอสำหรับเด็กผู้ชาย ซึ่งการทำเช่นนี้เพราะมีความเชื่อว่าหากมีปลัดขิกติดตัวจะช่วยป้องกันอันตรายต่างๆได้ หรือบางคนนำมาบูชาไว้กับสถานประกอบการค้าขายเพราะเชื่อว่าจะทำให้ค้าขายมีกำไรมีคนอุดหนุนกิจการมากขึ้น


ความเชื่อเรื่องปลัดขิกในปัจจุบัน
ปลัดขิกในปัจจุบันนอกจากทำขึ้นโดยผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์แล้ว ยังพบว่าถูกสร้างโดยพระภิกษุและได้รับความนิยมมากอาจเพราะมีความเชื่อทางด้านพุทธคุณประกอบกัน หรือ บางครั้งถูกสร้างโดยผู้มีความศรัทธาในพระภิกษุนั้นแล้วทำการแกะสลักปลัดขิกจากนั้นจึงนำไปให้พระภิกษุที่ตนเองนับถือทำการปลุกเสก

นอกจากนี้ปลัดขิกยังถูกมองว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะมีการแกะสลักเป็นรูปลิง หรือรูปร่างหญิงเปลือยกาย ซึ่งล้วนแต่มีความเชื่อผสมอยู่เสมอ เช่น ลิงอาจหมายถึงความคล่องแคล่ว หญิง หมายถึง มีเสน่ห์ หรือทำขึ้นเพื่อให้ชาวต่างชาตินำไปเป็นของสะสม

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





 

Create Date : 04 ตุลาคม 2555    
Last Update : 4 ตุลาคม 2555 7:51:16 น.
Counter : 5479 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.