space
space
space
space

กิน อย่างผู้มั่งมี(สติ)





มนุษย์เกิดมาก็ต้องกิน เพราะถ้าไม่กินก็ต้องตาย แต่เมื่อใกล้ตายก็ไม่ค่อยอยากกิน ผู้มีอันจะกินทั้งหลายควรต้องใส่ใจในการกินให้มากๆ ศึกษาให้แน่ก่อนว่าควรจะต้องกินอะไร อย่างไร แค่ไหน และอะไรคือความเหมาะสม อย่ากินไปตามกิเลส คือจิตอยากกินจิตก็สั่งให้กายกินเพื่อสนองตัณหาของจิต คุณควรระลึกไว้เสมอว่า “ความอร่อยเป็นเพียงอุปาทาน” น่าจะช่วยเตือนตนเองให้ลดความอยากลงได้บ้าง หากคุณไม่ทำความเข้าใจให้ดีแล้วการกินตามใจปากจะก่อให้เกิดพิษ ก่อโทษ ภัยได้ง่ายมาก เรื่องของความอ้วนจึงเป็นกันมากในปัจจุบัน ทางแก้ต้องแก้ที่จิตของคนคนนั้นก่อนอื่นใด

ต้องเพิ่มกำลังของสติ เวลากินอาหาร ไม่ใช่ปล่อยตามใจปากแล้วไปแก้ด้วยการใช้ยาลดความอ้วน ความจริงก็คือถ้าไม่กินมากก็ไม่อ้วน แต่ถ้ายังอ้วนแสดงว่ายังกินมากไป อาหารมี 2 ประเภทคือ...

อาหารของกาย หมายถึงอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อบำรุงร่างกาย ส่วนอาหารของจิต คือ ความคิด ถ้าจิตคิดดีจิตจะได้อาหารดี ถ้าจิตคิดมาก จิตฟุ้งซ่าน จิตก็จะอ้วนไม่คล่องตัว แต่ตรงกันข้ามถ้าไม่คิดอะไรจิตก็จะไร้ปัญญา ดังนั้นต้องฝึกจิตคิดให้พอเหมาะพอดี คิดให้ถูกต้อง ทำให้จิตมีปัญญา ซึ่งจะทำให้ควบคุมกายและวาจาได้ดี การแสดงออกก็จะดีด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการจะเลี้ยงร่างกายให้อยู่ได้นานๆ ก็ต้องบำรุงให้พอดี ที่จริงแล้วความอยากกิน หรือกินมากไป เป็นพฤติกรรมของจิต

อาหารของกายที่สมควรกิน ควรเป็นอาหารชั้นหนึ่ง คืองอกออกมาจากดินโดยตรง ได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ธัญญาหาร และสมุนไพรต่างๆ

สำหรับเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารชั้นสอง เพราะสัตว์ต้องกินพืช หรือสัตว์ด้วยกัน ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นเนื้อสัตว์ ไม่ได้มาจากดินโดยตรง

การกินอาหารก็เพื่อให้ได้พลังงาน และซ่อมแซมบ้าน (กาย คือบ้าน) อุปกรณ์ที่ใช้ซ่อมบ้านก็จึงควรเป็นอุปกรณ์ใหม่ คืออาหารชั้นหนึ่ง ถ้ากินเนื้อสัตว์การย่อยสลายของร่างกายต้องสลับซับซ้อนกว่า ต้องเผาผลาญมากกว่าจะได้โมเลกุลเล็กๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็จะมีขยะหรือของเสียจากการเผาผลาญจำนวนมากเกิดขึ้นในร่างกาย ร่างกายก็ต้องกำจัดออกไปโดยตับและไต ทำให้ตับและไตต้องทำงานหนัก ที่สำคัญเราคงเลี่ยงไขมันที่มากับเนื้อสัตว์ยาก หากเมื่อสะสมไปนานๆ ก็อาจมีผลของโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด และโรคหัวใจได้ง่าย ทำให้ร่างกายของคนที่กินเนื้อสัตว์ต้องทำงานหนักกว่าคนที่กินพืช ผัก แต่การกินพืชผัก ผลไม้ ก็ต้องกินหลายๆ ชนิดอย่ากินซ้ำซาก เพื่อให้ได้สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการครบ


ดังนั้นการกินจึงมีความสำคัญมาก ควรมีสติกำกับตลอด รู้จักสำรวมการกินเป็นส่วนหนึ่งของการระวังปาก ระวังลิ้น ซึ่งปากมีหน้าที่กินและพูดให้ถูกต้อง ดังนั้นต้องใช้สติหรือจิตในการกระทำทุกๆ อย่าง การปฏิบัติธรรมก็เป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยคุณได้ในการป้องกันไม่ให้กิเลส เข้ามาในลักษณะของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความนึกคิด และการพูด


ลองมองดูตัวคุณเองว่ายังอ้วนมีพุงพลุ้ยอยู่หรือไม่ หากว่าใช่แสดงว่าคุณยังสำรวมการกินได้ไม่ดีพอ การปล่อยให้มีน้ำหนักมากเกินไปนั้นจะทำให้โรคต่างๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นคุณควรจะเอาชนะความอยาก เพื่อควบคุมการกินให้ลดลง



การสำรวมการกิน ถือเป็นระดับอนุบาลของการปฏิบัติธรรม หลักการกินอย่างมีสติ ทำได้ดังนี้

1. ก่อนกินอาหารให้มองจ้องดูอาหารประมาณ 15 นาที ก่อนทุกครั้ง และพิจารณาดูว่าอะไรเป็นพิษเป็นภัย อะไรกินแล้วเป็นประโยชน์อะไรกินแล้วเกิดโทษ จะกินขนาดไหนถึงจะพอดี จะเลือกอาหารอย่างไรดี

2. ขณะจ้องอาหาร ให้พิจารณาว่าจะกินสารอาหารเหล่านี้เพื่อบำรุงร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีพลังทำประโยชน์ต่อไป

3. ให้ใช้ช้อนเล็กๆ ตักเข้าปาก โดยกินคำเล็กๆ เคี้ยวช้าๆ ประมาณ 20-30 ครั้งก่อนกลืน เคี้ยวจนกว่าอาหารในปากจะหมดรสชาติ แล้วค่อยกลืน อย่าคิดว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่เคี้ยวเพื่อให้รู้รสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เป็นต้น คิดเสียว่าสารอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ ถ้ากินพอดีก็จะดี กินมากไปก็ไม่ดี

4. พยายามเลือกกิน พืช ผัก เมล็ดพันธุ์ ธัญญาหาร สมุนไพรต่างๆ และผลไม้เป็นหลัก กินเนื้อสัตว์แต่น้อยๆ การกินผัก ผลไม้ จะทำให้ย่อยง่ายและสารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้าๆ กากใยของพืชจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในลำไส้ และค่อยๆ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้า จะทำให้ไม่กระหายน้ำบ่อย นอกจากนี้กากใยจากพืชจะช่วยดูดซับสารพิษให้เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง และขับออกไปทางการขับถ่าย ขณะเดียวกันกากใยก็จะทำให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย

5. กินเนื้อสัตว์แต่น้อยๆ และทุกครั้งที่กินให้เคี้ยวช้าๆ ละเอียดๆ เพื่อให้ย่อยง่าย แล้วอย่าลืมแผ่เมตตาด้วยนะครับ

หากว่าคุณมีสติในการกิน รู้ว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน จะกินเท่าไหร่ รู้จักหักห้ามใจไม่ให้เพลิดเพลินหลงใหลไปกับการกิน จงใช้สติบังคับจิตให้กินอย่างถูกต้อง อย่าหลงใหลในรสชาติ คุณก็น่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพดีทั้งจิตและกายคนหนึ่งเลยทีเดียว

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:44:40 น.   
Counter : 950 Pageviews.  
space
space
Do & Do not กินอาหารเพื่อสุขภาพฟัน



อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่อีกด้านหนึ่งการกินไม่เลือก ไม่ระมัดระวังก็มีโทษสำหรับร่างกายเช่นกัน ตอนนี้เรารณรงค์ในการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่รับประทานแล้วน้ำหนักไม่เพิ่ม ไม่อ้วน อาหารที่กินแล้วไม่ก่อให้เกิดโรค เช่น ไขมันอุดตันในเลือด โรคหัวใจ ทางทันตกรรมก็เช่นกัน เราให้ความสำคัญในเรื่องอาหารอย่างมากในการป้องกันโรคฟันผุ โรคเหงือก

เมื่อเรารับประทานอาหารผ่านเข้าไปในช่องปาก แบคทีเรีย ซึ่งอยู่ในรูปของแผ่นบางๆ เหนียว ที่เรียกว่า Plaque (แผ่นคราบ) จะเปลี่ยนอาหารเหล่านั้นให้เป็นกรดทำลายฟันและเหงือก แบคทีเรียเหล่านี้ชอบอาหารหวาน อาหารที่เป็นแป้งมาก หลังรับประทานอาหารหากยังไม่แปรงฟันทันที แบคทีเรียเหล่านี้ก็ทำหน้าที่สร้างกรดไปเรื่อยๆ ดังนั้นยิ่งรับประทานอาหารบ่อยๆ 3 มื้อหลักแล้วยังมีแทรกระหว่างมื้อ อาหารก็สัมผัสกับฟันมากขึ้นโอกาสที่ฟันและเหงือกก็ถูกทำลายมากขึ้น

อะไรบ้างที่ ควร หรือ ไม่ควร ในการดูแลรักษาสุขภาพฟัน

DO (ควรปฏิบัติ)

* ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ให้เกิดความสมดุล
- ขนมปัง ข้าว Cereal อาหารที่มีกากใย
- ผลไม้
- ผัก
- เนื้อปลา ถั่ว
- นม ชีส โยเกิต
* ถ้าหากจะทานอาหารว่างลดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล ให้ทาน ผัก ผลไม้แทน

* แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

* ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน Dental Floss

* พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

DON’T (ไม่ควร)

* ไม่ควรให้น้ำตาลสัมผัสฟันนานๆ
- ลดการอมลูกอม
- ขนมกรอบๆ เหนียวๆ ติดฟัน

* น้ำ อัดลม (Soft drink) มีน้ำตาลเยอะมาก 1 กระป๋อง บางยี่ห้อมีน้ำตาล 11 ช้อนกาแฟ ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม อย่าดื่มน้ำอัดลมทุกมื้ออาหาร

* ไม่สูบบุหรี่ เพราะมีผลต่อ
- ฟันเปลี่ยนสี
- เสี่ยงต่อโรคเหงือก
- เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปาก ลำคอ

กุญแจสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาดไม่ใช่จะไม่กินพวกแป้ง น้ำตาลเลย แต่ต้องระวังในการกินและคิดก่อนกินทุกครั้ง เพราะอาหารมีผลต่อสุขภาพของเรา ถ้าเราสามารถควบคุมและผักให้เป็นนิสัยก็จะส่งให้สุขภาพของเราดี และยิ้มได้อย่างสวยงาม

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 30 กันยายน 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:44:20 น.   
Counter : 1295 Pageviews.  
space
space
บุหรี่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ




จากรายงาน การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาส หรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบ บุหรี่ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงหรือมีไขมันในเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 เท่า แต่หากผู้สูบบุหรี่นั้น เป็นทั้งความดันเลือดและไขมันในเลือดสูง จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่า ของคนทั่วไป

โดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดบุหรี่ จะทำให้เส้นเลือดเสื่อม และเกิดความตีบตันเร็ว มากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 - 15 ปี

องค์การอนามัยได้ระบุว่า 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 25 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นผลจากการสูบบุหรี่


ในสตรีสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าสตรีทั่วไปถึง 40 เท่า และยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ และระบบหลอดเลือดสูงกว่าสตรีทั่วไปด้วย

นอกจากนี้มีความเสี่ยงต่อการ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มจากจำนวนบุหรี่ที่สูบ และในกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันนั้น ครึ่งหนึ่ง (ร้อยละห้าสิบ) จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเลย และอีกร้อยละ 25 จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นั่นคือ หากเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันขึ้นแล้ว โอกาสจะมีชีวิตอยู่จะน้อยลงและมีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตต่อไปด้วย



ผลจากการสูบบุหรี่ต่อการทำงานของหัวใจ

นิโคติน
เมื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไต ก่อให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟริน (Epinephrine) ทำให้

1. ความดันโลหิตสูงขึ้น
2. หัวใจเต้นเร็วขึ้น
3. หลอดเลือดแดงหดตีบตัน
4. เพิ่มไขมันในเลือด

ผล ของนิโคตินทำให้เกิดการทำลายของเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจขาดเลือด

# คาร์บอนมอนน๊อกไซด์
การ หายใจเอาคาร์บอนมอนน๊อกไซด์เข้าไปเป็นจำนวนมาก จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย เป็นผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำงานมากขึ้น เพื่อจะสูบฉีดโลหิตนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ

# ไฮโดรเจนไซยาไนด์
เป็น ก๊าชพิษในควันบุหรี่ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ปรกอบกับสารพิษอื่นๆ ได้แก่ นิโคตินเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุชั้นในของหลอดเลือด เมื่อกลไกนี้เกิดซ้ำอีก ร่วมกับการขาดออกซิเจนจากก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ ยิ่งจะทำลายเซลล์ชั้นในของหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้ไขมันที่มีอยู่ในเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น เกล็ดเลือดอายุสั้นลง เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น เลือดข้นขึ้น ทั้งนี้ ทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่าย เป็นสาเหตุทำให้เส้นแดงที่มีไขมันเกาะอยู่ชั้นในของหลอดเลือด หรือ หลอดแดงที่ตีบอยู่แล้ว เกิดการอุดตันได้ในทีทันใด ทำกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจเสียชีวิตทันทีทันใดได้




การสูบบุหรี่กับโรคหัวใจและหลอดเลือด

ในประเทศที่พัฒนาแล้วคนที่สูบบุหรี่ตาย จากโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบเกือบ 3 เท่า และการสูบบุหรี่นั้น มีความสัมพันธ์กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ ยิ่งสูบมากเกินกว่าวันละ 1 ซอง ก็ยิ่งทำให้อัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น

ในประเทศเรา ได้มีการศึกษาในจำนวนประชากรที่เกิดโรคหัวใจขาดเลือด พบปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เรียงตามลำดับ คือ

1. การสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนขึ้นไป ยิ่งสูบเกิน 20 มวน ต่อวันขึ้นไป ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมากขึ้น
2. ผู้ป่วยเบาหวาน
3. ความดันโลหิตสูง
4. อ้วน
5. ไขมันในเลือด
6. ความเครียด
7. การไม่ออกกำลังกาย

สรุปข้อมูลที่ได้จากศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

และถ้าสูบบุหรี่ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อัตราการเกิดโรคนั้นสูงมากขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลจาก : คู่มือบุหรี่และสุขภาพ สถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข




 

Create Date : 28 กันยายน 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:44:03 น.   
Counter : 924 Pageviews.  
space
space
สารอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวันนี้มีทั้งให้คุณและให้โทษ เป็นได้ทั้งตัวก่อโรคและเป็นยารักษา มีสุภาษิตจีนประโยคหนึ่งที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เขียนไว้ว่า " Whatsoever was the father of a disease, an ill diet was the mother" และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บางท่านถึงกับเชื่อว่า " ขบวนการแก่ " (aging) แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนเราขาดสารอาหารต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เราเริ่มสู่วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา…ผมเห็นด้วยแต่ รู้สึกว่าจะเว่อร์ไปหน่อยครับ



เนื่องจากเรายังไม่ทราบถึงกลไกที่แท้จริงของความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและ สุขภาพจึงมีทฤษฎีเกิดขึ้นมากมาย (สิ่งใดถ้านักวิทยาศาสตร์รู้แล้ว ก็มักจะมีทฤษฎีหรือคำตอบเพียงอย่างเดียว) แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับสุขภาพที่เป็นหลักใหญ่ๆ มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ

* Antioxidants ในอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้
* Fat ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์และเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย เพราะฉะนั้นชนิดของไขมันที่เรารับประทานก็มีผลต่อสุขภาพของเราแน่นอน
* Food sensitivities ซึ่งมีทั้งทฤษฎีเก่าและใหม่ ในทฤษฎีใหม่ เชื่อกันว่าการแพ้อาหารบางอย่างอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด และอาจมีอาการได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดศีรษะหรือ อ่อนเพลีย เป็นต้น

Antioxidant (สารต้านอนุมูลอิสระ)

ในปี 2497 Denham Harman, M.D, Ph.D. จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของ University of Nebraska เป็นผู้เสนอเรื่อง”สารอนุมูลอิสระ” (free radicals) ขึ้น ซึ่งในเวลานั้นมีคนสนใจน้อยมากแต่นายแพทย์ Harman ก็ไม่ย่อท้อ พยายามทำการทดลองหลายครั้งจนในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางใน ปัจจุบัน

แล้วเจ้าอนุมูลอิสระมันคืออะไรมาจากไหนและเกี่ยวกับ antioxidant ได้อย่างไร ถ้าจะให้เขียนกันจริงๆ สามารถเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ได้หนึ่งเล่มเลยครับ ซึ่งมีคนเขียนไว้มากมายพอควร ผมเลยขออนุญาตย่อสั้นๆ นะครับ

เริ่มกันเลยนะ…สูดหายใจเข้าลึกๆ…. เวลาเราสูดหายใจเข้าออกซิเจนก็จะเข้าไปในปอดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายโดยอาศัยเส้นเลือดต่างๆ แล้วเนื้อเยื่อก็นำออกซิเจนไปใช้ในขบวนการต่างๆ (oxidation) เพื่อทำให้เกิดพลังงาน การสังเคราะห์สารต่างๆ เช่น โปรตีน ไขมัน นอกจากนี้จะเกิดอนุมูลอิสระ (free radical)ขึ้น ซึ่งเป็นสารที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ จึงไม่มีเสถียรภาพ (stable) มันจึงต้องพยายามหาคู่ของมันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ฟังดูเป็นศัพท์เทคนิคนะครับแต่ในความเป็นจริงอนุมูลอิสระก็มีกลไกเช่นว่านี้ ตอนที่มันวิ่งหาคู่นี้ซิมันไม่วิ่งเปล่าๆ แต่มันจะทำลายเซลล์และสิ่งต่างๆ ด้วย รวมทั้ง DNA ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญของขบวนการแก่ (aging) และโรคต่างๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งมะเร็งด้วย…หายใจออกได้แล้วครับ

ซึ่งตอนนี้ก็ถึงพระเอกขี่ม้าขาว คือ สารต้านอนุมูลอิสระหรือ antioxidant มา ช่วยให้อิเล็กตรอนของสารอนุมูลอิสระมีคู่และมีความเสถียรภาพขึ้น จึงไม่ต้องวิ่งไปทำลายใครอีก Antioxidants มีหลายชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3-4 ชนิด ซึ่งส่วนมากจะเรียกกันว่า antioxidant cocktail คือ Vitamin A, C, E และ selenium (เซลิเนียม) ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคสรุปอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้ครับ

Vitamin A (Beta carotene)

ประโยชน์

* เป็นสาร antioxidant ต้านอนุมูลอิสระ
* ช่วยการมองเห็น, ผิวหนังแข็งแรง
* ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กันเชื้อโรค

แหล่งอาหาร

* เบต้า แคโรทีนมีมากในผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม แครอท, ฟักทอง, มะเขือเทศ, ผักใบเขียว
* RDA (Recommened Dietary Allowance) หมายถึงปริมาณที่แนะนำต่อวัน
* ผู้ชาย 5000 IU (3 mg beta carotene)
* ผู้หญิง 4000 IU (2.4 mg beta carotene)
* ปริมาณสำหรับ Antioxidant 25,000 IU หรือ15 mg beta carotene(น้ำแครอท 1 แก้ว มี 24.2 mg beta carotene)

ข้อแนะนำ

* ควรรับประทานพร้อมอาหาร เพราะเป็นวิตามินที่ละลายในไข มัน
* ควรรับประทานเบต้า แคโรทีนจากธรรมชาติ คือผักผลไม้หลายๆ ชนิด
* ถ้าได้รับปริมาณมากไปอาจทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองได้ ซึ่งจะหายไปเมื่อลดหรือหยุดรับประทาน
* เบต้า แคโรทีนจะได้จากพืช ส่วน Vitamin A ชนิด retinol จะได้มาจากสัตว์ เพราะวิตามินชนิดนี้อาจทำให้เกิดโทษต่อตับได้

ในปี 1994 มีการศึกษาที่น่าฉงนจาก Finland พบว่าคนที่สูบบุหรี่อย่างหนักที่รับประทานเบต้า แคโรทีนเสริม(20 มก.) มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่า กลุ่มสูบบุหรี่หนักที่ไม่ได้รับเบต้า แคโรทีนเสมอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากไม่เชื่อผลการศึกษานี้ แต่บางท่านก็แนะนำคนที่สูบบุหรี่ว่าไม่ควรรับประทานเบต้า แคโรทีน เสริมจนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนมากกว่านี้


Vitamin C (Ascorbic acid)

ประโยชน์

* เป็นสาร antioxidant
* ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและการรักษาแผล
* ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค
* ช่วยการสร้างสารสื่อประสาท (neurotransmitter) เช่น นอร์อะดรีนาลีนและซีโรโทนิน

แหล่งอาหาร

* ผลไม้สดจำพวกส้ม ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ฯลฯ
* RDA ผู้ใหญ่ 60 มก. (ส้มขนาดกลาง 2 ผล หรือฝรั่ง 4-5 ชิ้น)
* สตรีตั้งครรภ์ 70 มก.
* คนสูบบุหรี่ >80 มก.
* ปริมาณ สำหรับ antioxidant 250-500 มก. แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เพราะถ้ามากกว่านี้เซลล์ในร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ ก็จำเป็นต้องขับทิ้งออกทางปัสสาวะ

ข้อแนะนำ

* ถ้าไม่สบาย หรือเป็นหวัดควรเพิ่มปริมาณให้มากกว่านี้ได้
* วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำเพราะฉะนั้นการรับประทานมากเกินไปเล็กน้อยก็จะถูกขับออกได้ง่าย
* ยังมีข้อถกเถียงกันว่าวิตามินซีสามารถทำให้เกิดนิ่วในไตได้หรือไม่

Vitamin E (Tocopherols)

หน้าที่

* เป็นสาร antioxidant
* บำรุงให้เซลล์ในร่างกายดีและแข็งแรงอยู่เสมอ
* ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกายจากมลภาวะต่างๆ

แหล่งอาหาร

* น้ำมันพืช ถั่ว ผักใบเขียว ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ
* RDA ผู้ชายและสตรีตั้งครรภ์ 15 IU (10 มก.)
* ผู้หญิง 12 IU (8 มก.)
* ปริมาณสำหรับ antioxidant อายุ < 40 ปี = 400 IU
* อายุ > 40 ปี = 800 IU

ข้อแนะนำ

* ควรเลือกชนิดธรรมชาติ (d-alpha tocopherol รวมถึง Mixed tocopherols)
* รับประทานพร้อมอาหาร เพราะเป็นวิตามินที่ะลายในไขมัน
* นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าขนาด 400-800 IU ต่อวันค่อนข้างปลอดภัย (ขนาดที่มากกว่า 1000 IU อาจเป็นพิษได้)
* ขนาดที่มากกว่า 400 IU จะทำหน้าที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ (anticlotting)เช่นเดียวกับ แอสไพริน
* ท่านที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดหรือได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดควรสอบถามแพทย์ก่อนที่จะรับประทาน Vitamin E

Selenium (ซิลิเนียม)

ประโยชน์

* สาร antioxidant
* ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
* แหล่งอาหาร ธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) กระเทียม ไข่ อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ฯลฯ
* RDA ผู้ชาย 70 mcg
* ผู้หญิง 55 mcg
* สตรีตั้งครรภ์ 65 mcg

ปริมาณสำหรับ antioxidant

* 200 mcg
* ไม่ควรใช้ขนาดเกิน 400 mcg เพราะอาจเป็นพิษได้
* ควรใช้อยู่ในรูป yeast-bound

จะเห็นได้ว่าวิตามินและแร่ธาตุ ในปริมาณที่เหมาะกับantioxidant ส่วนมากจะต้องเพิ่มปริมาณมากกว่า RDA ซึ่งบางอย่างก็ไม่สามารถรับประทานได้อย่างเพียงพอ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องเสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมเองไม่ได้ต่อต้านผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แต่อยากให้ข้อคิดสะกิดกันสักนิดว่า ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นทางเลือกหนึ่งก็ยิ่งต้องศึกษาให้ดีก่อนถึง โทษของสารแต่ละอย่างหากได้รับมากเกินไป ควรรู้ข้อดี ข้อเสีย ข้อควรระวัง ผมเห็นบางคนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในแต่ละมื้อจำนวนมากแทบจะอิ่มแทน อาหารได้เลยครับ อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็คืออาหารเสริมไม่สามารถแทนอาหารหลักได้ครับ ควรระมัดระวังในกรณีที่รับประทานมากเกินไปด้วยครับ เพราะอาจเกิดโทษขึ้นกับร่างกายได้

สุดท้ายนี้ผมจบด้วยหลัก "ล" ที่ผมอ่านเจอจากจดหมายข่าวฉบับหนึ่ง เข้าท่าดีครับเลยหยิบมาฝากกัน

ลด อาหารไขมันจากสัตว์
เลิก อาหารกระป๋องที่ใส่สีสังเคราะห์ และสารเคมี เช่น สารกันบูด หรือสีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร
เลี่ยง อาหารปิ้ง ย่าง เผา อบ รมควัน
ลุ้น อาหารสด ผัก ผลไม้ อาหารสมุนไพรปลอดสารพิษ



ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 25 กันยายน 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:43:46 น.   
Counter : 1649 Pageviews.  
space
space
เกร็ดน่ารู้ถนอมสายตา
เกร็ดน่ารู้ถนอมสายตา

เชื่อ ว่าคนทำงานต้องหนีไม่พ้นการใช้สายตาจับจ้องจอคอมพิวเตอร์จนกลายเป็นกิจวัตร ประจำวันกันเลยทีเดียว ต่างกันก็แค่ใครจะใช้คอมพิวเตอร์นานกว่าเท่านั้นเอง บางคนยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เนื่องจากต้องตรวจเอกสารซึ่งบางฉบับตัวหนังสือก็เล็กนิดเดียว จึงไม่แปลกเลยที่สายตาของหลายๆ คนจะเริ่มมีปัญหา บ้างสายตาก็สั้นขึ้น บ้างก็ยาวขึ้น นอกจากนี้ บางคนทำงานแล้วเครียดมากๆ ยิ่งส่งผลให้ประสาทตาทำงานหนักเข้าไปอีก ทำให้เกิดอาการปวดหัว แถมปวดเมื่อยตามตัว อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงงานที่จะต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นการพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสายตาทุก 1-2 ปีจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก แต่กว่าคุณจะมีเวลาไปพบแพทย์ เรามีคำแนะนำเล็กน้อยมาฝาก เพื่อช่วยถนอมสายตาคุณให้ดีไปนานๆ ดังนี้



* รับประทานผัก ผลไม้มากๆ โดยเฉพาะผักพวกที่มีใบสีเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักโขม
* หากจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ อ่านหนังสือ หรือใช้สายตาทำงานหนัก ให้หมั่นพักสายตาเป็นระยะๆ
* ควร สวมแว่นตากันแดดที่สามารถกรองแสงจ้าได้ 75-90% และป้องกันรังสี UV-A หรือUV-B ได้ 99-100% จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นต้อกระจก แต่ไม่ควรสวมแว่นตาตอนค่ำๆ หรือในที่ร่ม เพราะจะทำให้ตาต้องทำงานหนักกว่าปกติในการปรับให้รับแสง
* หาก ใส่คอนแทคเลนส์ แล้วเกิดอาการคัน ระคายเคืองตา ให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา หรืออาจเปลี่ยนมาใช้คอนแทคเลนส์ชนิดรายวัน เพื่อลดอาการแพ้ที่จะเกิด
* หาก คุณเคืองตาบ่อยๆ จากการมองแสงสะท้อน ก็ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อแนะนำเลนส์แว่นที่สามารถลดแสงสะท้อนเหล่านี้ไม่ให้แยงตามากไป หรืออาจติดตั้งโคมไฟในบ้านให้มากขึ้น หรือหลอดไฟที่มีกำลังวัตต์สูงๆ เพื่อช่วยกำจัดลำแสงสะท้อนที่มาจากไฟดวงอื่น
* ผู้ สูงอายุมักมองเห็นจุดเล็กๆ ลอยหรือแสงวาบ จากประสาทตาที่เสื่อมไปตามอายุ แต่ในบางกรณีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จอตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน อาการเริ่มแรกของความผิดปกติของเรตินา เป็นต้น ดังนั้นไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบปรึกษาแพทย์ทันที



ตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะหากเรามองไม่เห็นก็คงทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลำบาก ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราควรไปตรวจเช็คสายตาเป็นประจำทุกปี เพื่อตาคู่สวยจะได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีไปตลอดชีวิตของคุณ

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 24 กันยายน 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:43:24 น.   
Counter : 1262 Pageviews.  
space
space
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  

tanas251235
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space