space
space
space
space

การตั้งครรภ์ VS. เลือดจาง...อันตรายแค่ไหน ?



รศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา


“คุณเพิ่งท้องได้ 12 สัปดาห์นะครับ เอายานี้ไปรับประทาน ต้องรับประทานให้ต่อเนื่องและตลอดการตั้งครรภ์นะครับ ไม่อย่างนั้นคุณอาจมีปัญหา...”

คำถามที่เกิดขึ้นในใจของคนที่กำลังจะเป็นแม่ คือ มันยาอะไร? ทำไมชั้นต้องกินด้วย? ไม่กินแล้วจะเป็นอย่างไร? อยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะครับว่าคำตอบคืออะไร?

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เม็ดเลือดแดงของคนเรามีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้ก็ด้วยสารตัวหนึ่งที่อยู่ภายในเม็ดเลือดที่เรียกกันว่า “เฮโมโกลบิน” และสิ่งสำคัญที่อยู่ในเฮโมโกลบินก็คือ “ธาตุเหล็ก” ดังนั้นจึงมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ขาดธาตุเหล็ก ทำให้เฮโมโกลบินต่ำ ส่งผลทำให้เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดลง ทำให้ออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ส่งผลต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะของเรา
ยาเม็ดสีน้ำตาล หรือสีดำก็คือ วิตามินที่มีธาตุเหล็กอยู่ด้วย แพทย์ก็จะให้คนท้องรับประทานตลอดการตั้งครรภ์ คุณผู้อ่านอาจจะงงต่อ...แล้วทำไมต้องรับประทาน ก็ขอบอกว่า จะได้เอาธาตุเหล็กไปสร้างเป็นเม็ดเลือดแดงในตัวของทารกที่อยู่ระหว่างการสร้างอวัยวะต่างๆ รวมทั้งเม็ดเลือดแดงด้วย

ภาวะเลือดจาง คือการที่มีเม็ดเลือดแดงน้อย หรือที่คนทั่วไปบอกว่าโรคซีดนั่นเอง โดยปกติแล้วคนตั้งครรภ์จะมีการตรวจพบโลหิตจางเล็กน้อยได้ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งเกิดจากภาวะที่มีปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาเพิ่มมากขึ้น (โดยที่จริงๆ แล้วปริมาณเม็ดเลือดไม่ได้ต่ำลง) แล้วเราจะบอกอย่างไร?ว่าเลือดเราไม่พอ ก็ต้องแบ่งเป็นช่วงๆ นะครับ ในช่วง 3 เดือนแรกของการท้องควรต้องมีระดับเฮโมโกลบินไม่ต่ำกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร และในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ควรจะมีระดับไม่ต่ำกว่า 10 กรัมต่อเดซิลิตร
โดยทั่วไปโลหิตจางในคนท้องมีสาเหตุหลักคือ การขาดธาตุเหล็ก รองลงมาคือ การสูญเสียเลือดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ริดสีดวงทวาร โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล เป็นต้น มีรายงานทางการแพทย์หนึ่งบ่งชี้ว่า หากโลหิตจางในคนท้องไม่ได้เกิดจากภาวะการณ์ขาดเหล็ก ก็ควรต้องมองหาการติดเชื้อไวรัส 2 ตัวคือ พาโวไวรัส และไวรัสเริม หากพบว่าการที่มีโลหิตจางที่ไม่รุนแรงในแม่ จะไม่ส่งผลให้ลูกเกิดโลหิตจางตามไปด้วย แต่อย่าเพิ่งดีใจนะครับมีข้อมูลอื่นๆ อีกที่จะกล่าวเพิ่มเติมต่อไป
ในประเทศญี่ปุ่นเองมีรายงานการวิจัยออกมาว่าพบภาวะซีดในคนท้องได้ถึง 52% โดยมีความสัมพันธ์กับภาวะ 3 อย่างคือ หนึ่ง การที่ก่อนตั้งครรภ์มีประวัติของประจำเดือนที่ค่อนข้างมากกว่าปกติ สอง เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร พบว่าคนที่รับประทานอาหารไม่ครบมื้อมีโอกาสโลหิตจางเกิดมากขึ้น และสาม เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์เป็นส่วนประกอบทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ นำมาซึ่งคำแนะนำ คือ ควรดูแลเรื่องประจำเดือนก่อนที่จะตั้งครรภ์ ให้มีการเสียเลือดในปริมาณที่เหมาะสมและมีการรับประทานธาตุเหล็กอย่างเหมาะสม ควรต้องรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อและงดดื่มเหล้าช่วงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ น่าจะเป็นสิ่งที่ป้องกันภาวะโลหิตจางในคนท้องได้
ข้อมูลในคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง? คงมีบางอย่างที่แตกต่างกันพอสมควร มีการทำการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ ในคนท้อง 648 คน พบมีอุบัติการณ์โลหิตจาง 20.1% โดยพบว่าเกิดในช่วง 3 เดือนแรก 17.3% เกิดใน 3 เดือนที่สอง 23.8% และเกิดใน 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ถึง 50% ที่น่าประหลาดใจ (สำหรับคนยุโรปหรืออเมริกา) คือ สาเหตุของโลหิตจางของคนไทยเราไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเป็นอันดับหนึ่ง แต่เกิดจากการที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย (โลหิตจางที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ มีความผิดปกติของการสร้างฮีเฮโมโกลบิน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย) ไม่ว่าจะเป็นโรคจริงๆ หรือเป็นพาหะสูงถึง 54.9% โดยที่เป็นโลหิตจางจากการขาดเหล็ก 43.1% (8.7% ในนี้เกิดจากการที่มีพยาธิ) และอีก 2.7% เกิดจากการสร้างเม็ดเลือดที่ไม่สมบูรณ์เป็นปกติจากการที่มีโรคอื่นๆ ของร่างกายรบกวน
โลหิตจางที่เกิดขึ้นทำให้เหนื่อยง่าย ซึ่งปกติในคนท้องก็มักจะเหนื่อยง่ายอยู่แล้ว ต้องอุ้มลูกอุ้มรกที่อยู่ในท้อง เป็นน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัม หน้ามืด วิงเวียนง่าย และหากเป็นรุนแรง ตามรายงานมีอาการทางสายตา อาจมองภาพไม่เห็นได้ จากการที่เส้นประสาทตาบวมได้
โลหิตจางส่งผลต่อการตั้งครรภ์พอสมควร หากเป็นปานกลางถึงรุนแรง การท้องก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดของทารก เช่น เด็กอาจมีการเจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์ อาจเกิดการแท้งบุตรได้ อาจทำให้น้ำหนักแรกคลอดของทารกต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้เด็กเสียชีวิตตอนคลอดได้ ซึ่งอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเลือดน้อย ในอัฟริกาพบ 6.73% เอเชียพบ 7.26% และในละตินอเมริกาพบ 3% โดยในกลุ่มที่มีระดับเฮโมโกลบิน 4-8 กรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยง 1.35 เท่าของคนตั้งครรภ์ปกติ แต่หากมีเฮโมโกลบินต่ำกว่า 4 กรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยงสูงถึง 3.51 เท่า

รู้ถึงอุบัติการณ์และปัญหาของโรคซีดในคนท้องกันแล้ว คงพอจะใช้เป็นข้อตระหนักได้นะครับว่า คนท้องควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? หาสาเหตุให้พบก่อน แล้วให้ยาอย่างเหมาะสม หากพบว่าเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ควรจะรับประทานให้ครบถ้วนและจริงจังเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งกับตัวมารดาและทารกเอง ผมขอให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีทารกที่คลอดออกมาปกติน่ารัก และคุณแม่ปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อนนะครับ.....พบกับเรื่องราวของ “ธาลัสซีเมีย กับการตั้งครรภ์ในฉบับหน้าครับ อย่าพลาด



ข้อมูลจาก Health today thailand.com


Create Date : 17 มีนาคม 2552
Last Update : 17 มีนาคม 2552 7:26:07 น. 3 comments
Counter : 1845 Pageviews.

 
ขอบคุณครับ


โดย: buck IP: 192.109.140.33 วันที่: 4 มีนาคม 2553 เวลา:20:20:53 น.  

 
ขอบพระคุณอย่างมากครับผม
ขอให้มีความสุขนะครบผม
**ขอบคุณครับ**


โดย: เพชร IP: 113.53.27.223 วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:19:56:07 น.  

 
ขอบคุณมากเลยน่ะค่ะ


โดย: นริศรา IP: 125.25.140.249 วันที่: 12 มกราคม 2554 เวลา:17:39:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

tanas251235
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space