กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
29 ตุลาคม 2566
space
space
space

สติปัฏฐาน เป็นอาหารของโพชฌงค์


สติปัฏฐาน เป็นอาหารของโพชฌงค์


     ความจริงนั้น สติไม่ใช่ตัววิปัสสนา ปัญญาหรือการใช้ปัญญาต่างหาก เป็นวิปัสสนา แต่ปัญญาจะได้โอกาส และจะทำงานได้อย่างปลอดโปร่งเต็มที่ ก็ต่อเมื่อมีสติคอยช่วยกำกับหนุนอยู่ด้วย เหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น การฝึกสติจึงมีความสำคัญมากในวิปัสสนา

     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การฝึกสติ ก็เพื่อจะใช้ปัญญาได้เต็มที่ หรือเป็นการฝึกปัญญาไปด้วยนั่นเอง ในภาษาของการปฏิบัติธรรม เมื่อพูดถึงสติ ก็มักเล็งและรวมถึงสัมปชัญญะ คือ ปัญญา  ที่ควบอยู่ด้วย และสติจะมีกำลังกล้าแข็ง หรือชำนาญคล่องแคล่วขึ้นได้ ก็เพราะมีปัญญาร่วมทำงาน*

     ปัญญาที่ทำงานร่วมอยู่กับสติในกิจทั่วๆไป มักมีลักษณะอาการที่เรียกว่าสัมปชัญญะ ในขั้นนี้ ปัญญายังดูคล้ายเป็นตัวประกอบ  คอยร่วมมือและประสานงานอยู่กับสติ การพูดจากล่าวขานมักเพ่งเล็งไปที่สติ  เอาสติเป็นตัวหลักหรือตัวเด่น  แต่ในขั้นที่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาอย่างจริงจัง ความเด่นจะไปอยู่ที่ปัญญา  สติจะเป็นเหมือนตัวที่คอยรับใช้ปัญญา ปัญญาที่ทำงานในระดับนี้ เช่นที่เรียกว่า ธรรมวิจัย ในโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น


     ถึงตรงนี้ เห็นควรทบทวนหลักซึ่งได้แสดงไว้ตั้งแต่เริ่มเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงโพชฌงค์ ๗ และโพชฌงค์ ๗ นั้น ก็หล่อเลี้ยงวิชชาและวิมุตติ โดยยกพุทธพจน์มาย้ำ ดังนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิใช่ไร้อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ พึงกล่าวว่า คือ โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิใช่ไร้อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ พึงกล่าวว่า คือ สติปัฏฐาน ๔ "

        "สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้" (องฺ.ทสก.24/61/122 ฯลฯ)

     ตามพุทธพจน์นี้ ชัดว่า โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่ส่งผลแก่วิชชาวิมุตติ เท่ากับเป็นตัวที่ให้สำเร็จมรรคผล ส่วนสติปัฏฐานก็ช่วยโดยหล่อเลี้ยงโพชฌงค์ ๗ นั้น

     พุทธพจน์นี้ ช่วยให้มองวิปัสสนาได้ชัดขึ้น  ในสติปัฏฐานนั้น สติทำงานเป็นพื้นยืนโรงอยู่ ปัญญาในชื่อว่าสัมปชัญญะก็ได้โอกาสทำงานไปด้วย โดยรู้เข้าใจทุกอย่างที่สติจับดึงตรึงไว้ หรือเข้าไปถึง สติจับอันใดให้ สัมปชัญญะก็รู้เข้าใจอันนั้น เหมือนว่ามือจับอะไรเสนอมา ตาก็ได้ดูเห็นสิ่งนั้น

     ส่วนโพชฌงค์ ก็คือ บนพื้นของสติปัฏฐานนี่แหละ คราวนี้สติจับเรื่องส่งให้ปัญญา ที่ชื่อว่าธรรมวิจัย แล้วคราวนี้ปัญญาเป็นเจ้าบทบาทรับเรื่องไปวิจัย เหมือนตาได้ดูต่อเนื่องไปทั่วตลอด ตอนนี้ก็เป็นกระบวนธรรมของปัญญา ที่เรียกว่าโพชฌงค์ ซึ่งแปลว่า "องค์แห่งการตรัสรู้"

     สัมปชัญญะ ก็ดี ธรรมวิจัย ก็ดีหรือปัญญาในชื่ออื่นๆก็ดี  ที่ทำงานให้เกิดความเห็นแจ้งรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามสภาวะที่มันเป็น  เพื่อให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ นี่แหละคือ วิปัสสนา (ดู อภิ.วิ.35/621/337 ฯลฯ)


     สติ ทำกิจสำคัญทั้งในสมถะ และในวิปัสสนา หากพูดเปรียบเทียบ ระหว่างบทบาทของสติในสมถะ กับ ในวิปัสสนา อาจช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวมานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

     ในสมถะ  สติกุมจิตไว้กับอารมณ์ หรือดึงอารมณ์ไว้กับจิต เพียงเพื่อให้จิตเพ่งแน่วแน่หรือจับแนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น นิ่งสงบไม่ส่าย ไม่ซ่านไปที่อื่น เมื่อจิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น เป็นหนึ่งเดียวต่อเนื่องไปสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิ และเพียงเท่านั้น สมถะก็สำเร็จ

     ส่วนในวิปัสสนา สติกำหนดอารมณ์ให้แก่จิต หรือดึงจิตไว้กับอารมณ์เหมือนกัน แต่มุ่งใช้จิตเป็นที่วางอารมณ์ เพื่อเสนออารมณ์นั้นให้ปัญญาตรวจสอบพิจารณา คือจับอารมณ์ไว้ให้ปัญญาตรวจดู และวิเคราะห์วิจัยโดยใช้จิตที่ตั้งมั่น เป็นที่ทำงาน *  (สติใช้กำหนด ปัญญาใช้ตรวจตรอง วิเคราะห์ วินิจจฉัย; วิสุทธิ.ฎีกา.1/301)

     หากให้อุปมา  ในกรณีของสมถเหมือนเอาเชือกผูกลูกวัวพยศไว้กับหลัก ลูกวัวจะออกไปไหนๆ ก็ไปไม่ได้ คงวนเวียนอยู่กับหลัก ในที่สุด  เมื่อหายพยศ ก็หมอบนิ่งอยู่กับหลักนั้นเอง จิตเปรียบเหมือนลูกวัวพยศ อารมณ์เหมือนหลัก สติเหมือนเชือก

     ส่วนในกรณีของวิปัสสนา เปรียบเหมือนเอาเชือกหรือเครื่องมือ ผูกตรึงคน สัตว์ หรือวัตถุบางอย่าง ไว้กับแท่นหรือเตียง แล้วตรวจดู หรือทำกิจอื่น เช่น ผ่าตัด เป็นต้น ได้ถนัดชัดเจน เชือกหรือเครื่องยึดคือ สติ คนสัตว์หรือวัตถุที่เกี่ยวข้อง คือ อารมณ์  แท่นหรือเตียงคือ จิตที่เป็นสมาธิ การตรวจหรือผ่าตัด เป็นต้นคือ ปัญญา


     ที่กล่าวมานั้น เป็นการพูดถึงหลักทั่วไป ยังมีข้อสังเกตปลีกย่อยที่ควรกล่าวถึงอีกบ้าง อีกอย่างหนึ่ง คือ ในสมถะ ความมุ่งหมายอยู่ที่ทำจิตให้สงบ ดังนั้น เมื่อให้สติกำหนดอารมณ์ใดแล้ว สติก็ยึดตรึงดึงจิตกุมไว้กับอารมณ์นั้น ที่ส่วนนั้นอย่างเดียว ให้จิตจดจ่อแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้นเท่านั้น ไม่ให้คลาดไปเลย จนในที่สุด จิตน้อมดิ่งแน่วแน่อยู่กับนิมิต หรือมโนภาพของสิ่งที่กำหนด ซึ่งเป็นเพียงสัญญาที่อยู่ในใจของผู้กำหนดเอง

     ส่วนในวิปัสสนา ความมุ่งหมายอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจสภาวธรรม ดังนั้น สติจึงตามกำหนดตามจับตามถึงอารมณ์เฉพาะตัวจริงของมันตามสภาวะเท่านั้น และเพื่อให้ปัญญารู้เท่าทันครบถ้วนชัดเจนเกี่ยวกับสภาวะของมัน สติจึงตามกำหนดกำกับจับอารมณ์นั้นๆ ให้ทันความเป็นไปของมัน เพื่อปัญญาจะได้รู้อารมณ์นั้นโดยตลอด เช่น ดูมันตั้งแต่มันเกิดขึ้น คลี่คลายตัว จนกระทั่งดับสลายไป

     นอกจากนั้น จะต้องให้ปัญญาดูรู้อารมณ์ทุกอย่างที่เข้ามา หรือเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งปัญญาจะต้องรู้เข้าใจ เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง สติจึงเปลี่ยนอารมณ์ที่กำหนด หรือที่จับให้ดูไปได้เรื่อยๆ

     อีกทั้งเพื่อให้ปัญญาดูรู้เท่าทันตรงตามที่สิ่งนั้นเป็นอยู่เป็นไปแท้ๆ สติจึงต้องตามจับให้ทันความเป็นไปในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ ไม่หยุดติดค้างอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอารมณ์ใดๆ

     ข้อสังเกตปลีกย่อยอื่นๆ ยังมีอีก เช่น ในสมถะ สติกำหนดอารมณ์ที่นิ่งอยู่กับที่ (เช่น กสิณ) หรือเคลื่อนไหวเป็นรูปแบบเฉพาะซ้ำไปซ้ำมาภายในขอบเขตจำกัด ส่วนในวิปัสสนา สติกำหนดอารมณ์ที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเป็นไปในสภาพใดๆก็ได้ ไม่จำกัดขอบเขต

     ในสมถะ นิยมให้เลือกกำหนดอารมณ์บางอย่าง ในบรรดาอารมณ์ที่สรรแล้ว ซึ่งจะเป็นอุบายช่วยให้จิตใจสงบแน่วแน่ได้ง่าย    ส่วนในวิปัสสนา ใช้อารมณ์ได้ทุกอย่างไม่จำกัด สุดแต่อะไรปรากฏขึ้นให้พิจารณาและอะไรก็ตามที่จะให้เห็นความจริง (สรุปลงได้ทั้งหมดใน ร่างกาย เวทนา จิต ธรรม หรือในนามและรูป)

     ส่วนประกอบที่สำคัญที่พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ภายในหลักทั่วไปแห่งการปฏิบัตินั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะพิเศษของวิปัสสนา ที่แตกต่างจากสมถะชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือ โยนิโสมนสิการ

     โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ธรรมที่จะช่วยให้เกิดปัญญา จึงมีความสำคัญมากสำหรับวิปัสสนา ส่วนในฝ่ายสมถะ โยนิโสมนสิการแม้จะช่วยเกื้อกูลได้ในหลายกรณี  แต่มีความจำเป็นน้อยลง บางครั้งอาจไม่ต้องใช้เลย หรือเพียงมนสิการเฉยๆ ก็เพียงพอ

     ขยายความว่า ในการเจริญสมถะ สาระสำคัญมีเพียงให้ใช้สติกำกับจิตไว้กับอารมณ์ หรือคอยนึกถึงอารมณ์นั้นไว้ และเพ่งความสนใจไปที่อารมณ์ ให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่วแน่

     ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผลเกิดขึ้นตามขั้นตอน ก็ไม่ต้องใช้โยนิโสมนสิการเลย แต่ในบางกรณีที่จิตไม่ยอมสนใจอารมณ์นั้น ดึงไม่อยู่ คอยจะฟุ้งไป หรือในกรรมฐานบางอย่างที่จะต้องใช้ความคิดพิจารณาบ้าง เช่น การเจริญเมตตา เป็นต้น อาจต้องใช้อุบายช่วยนำจิตเข้าสู้เป้าหมาย ในกรณีเช่นนั้น จึงอาจต้องใช้โยนิโสมนสิการช่วย คือ มนสิการโดยอุบาย หรือทำในใจโดยแยบคาย หรือรู้จักเดินความคิด นำจิตไปให้ถูกทางสู่เป้าหมาย เช่น รู้จักคิดด้วยอุบายวิธีที่จะทำให้โทสะระงับ และเกิดเมตตาขึ้นมาแทน เป็นต้น

     แต่จะอย่างไรก็ตาม ในฝ่ายสมถะนี้ โยนิโสมนสิการที่อาจต้องใช้ ก็เฉพาะประเภทปลุกเร้ากุศลธรรมเท่านั้น ไม่ต้องใช้โยนิโสมนสิการประเภทปลุกเร้าความรู้แจ้งสภาวะ

     ส่วนในฝ่ายวิปัสสนา  โยนิโสมนสิการเป็นขั้นตอนสำคัญทีเดียว ที่จะให้เกิดปัญญา จึงเป็นองค์ธรรมที่จำเป็น โยนิโสมนสิการอยู่ต่อเนื่องกับปัญญา เป็นตัวการทำทางให้ปัญญาเดิน* หรือเปิดขยายช่องให้ปัญญาเจริญงอกงาม มีลักษณะและการทำงานใกล้เคียง กับ ปัญญา มาก จนมักพูดคลุมกันไป คือ พูดถึงอย่างหนึ่ง ก็หมายถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย จึงเป็นเหตุให้ผู้ศึกษาแยกไม่ค่อยออกว่าอะไรเป็นอย่างไหน


     อาจกล่าวได้ว่า โยนิโสมนสิการทำงานเชื่อมต่ออยู่ระหว่าง สติ กับ ปัญญา เป็นตัวนำทาง หรือเดินกระแสความคิด ในลักษณะที่จะทำให้ปัญญาได้ทำงาน และทำงานได้ผล พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นตัวให้วิธีการแก่ปัญญา หรือเป็นอุบายวิธีของการใช้ปัญญาให้ได้ผล

     แต่ที่นักศึกษามักสับสนก็เพราะว่า ในการพูดทั่วไป เมื่อใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ ก็หมายรวมทั้งการเสนออุบาย หรือวิธีแห่งการคิดที่เป็นตัว โยนิโสมนสิการเอง และการใช้ปัญญาตามแนวทาง หรือวิธีการนั้นด้วย หรือเมื่อพูดถึงปัญญาภาคปฏิบัติการสักอย่างหนึ่ง เช่น คำว่า ธรรมวิจัย ก็มักละไว้ให้เข้าใจเองว่า เป็นการใช้ปัญญาเฟ้นธรรมให้สำเร็จ ด้วยวิธี โยนิโสมนสิการอย่างใดอย่างหนึ่ง

     ถ้าจะพูดให้เห็นเหมือนเป็นลำดับ ก็จะเป็นดังนี้ เมื่อสติระลึกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องใช้ต้องทำ และเอาจิตกำกับไว้ที่สิ่งนั้นด้วย โยนิโสมนสิการก็จับสิ่งนั้นหมุนหันเอียงตะแคง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ปัญญาพิจาณาจัดการ ซึ่งเป็นการกำหนดจุดแง่มุมท่าทางและทิศทางให้แก่การทำงานของปัญญา แล้วปัญญาก็ทำงานพิจารณาจัดการไปตามแง่มุมด้านข้างและทิศทางนั้นๆ ถ้าโยนิโสมนสิการจัดท่าทำทางให้เหมาะดี ปัญญาก็ทำงานได้ผล

     อุปมาเหมือนคนพายเรือเก็บดอกไม้ใบผัก ในแม่น้ำไหล มีคลื่น เขาเอาอะไรผูก หรือยึดเหนี่ยวตรึงเรือให้หยุดอยู่กับที่ จ่อตรงกับตำแหน่งของดอกไม้หรือใบผักนั้นดีแล้ว มือหนึ่งจับกิ่งก้านกอ หรือกระจุกพืชนั้น รวบขึ้นไป รั้งออกมา หรือพลิกตะแคง โก่งหรืองออย่างใดอย่างหนึ่ง สุดแต่เหมาะกับเครื่องมือทำงาน อีกมือหนึ่งเอาเครื่องมือที่เตรียมไว้เกี่ยว ตัด หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จกิจได้ดังประสงค์

     สติเปรียบเหมือนเครื่องยึดตรึงเรือและคน ให้อยู่ตรงที่กับต้นไม้ เรือหรือคนที่หยุดอยู่ตรงที่ เปรียบเหมือนจิต มือที่จับกิ่งก้านต้นไม้ให้อยู่ในอาการที่จะทำงานได้เหมาะเปรียบเหมือนโยนิโสมนสิการ อีกมือหนึ่งที่เอามีดหรือเครื่องมืออื่นทำงานเกี่ยวตัด เปรียบได้ กับ ปัญญา (อุปมานี้ พึงเทียบกับความใน มิลินฺท. ๔๗)

     อย่างไรก็ตาม ในที่ทั่วไป พึงจับเอาง่ายๆ เพียงว่า โยนิโสมนสิการหมายคลุมถึงปัญญา คือ มนสิการด้วยปัญญานั่นเอง

     อนึ่ง เมื่อโยนิโสมนสิการกำลังทำงานอยู่ สติก็จะยังอยู่ด้วย ไม่หลงลอยหลุดไป ดังนั้น สติ กับ โยนิโสมนสิการ จึงเกื้อกูลแก่กันและกันในวิปัสสนา.




สติเกิดร่วมกับปัญญา จึงจะมีกำลัง ขาดปัญญา ย่อมอ่อนกำลัง   (ม.อ.3/28 ฯลฯ)

- ปัญญาปราศจากสติ ไม่มีเลย   (วิสุทฺธิ.ฎีกา 1/320)

- ผู้ปราศจากสติ ย่อมไม่มีอนุปัสสนา   (เช่น ที.อ.2/474 ฯลฯ)

- พูดถึงสติอย่างเดียวเล็งถึงปัญญาด้วย   (องฺ.อ.3/127 ฯลฯ)


* ณ ที่นี้ พึงสังเกตผลในทางปัญญา   ที่แตกต่างกันระหว่างศรัทธา กับ โยนิโสมนสิการ   ศรัทธาเหมือนขุดร่องที่ตายตัวไว้แล้ว   สำหรับให้ความคิดเดิน ส่วนโยนิโสมนสิการทำทางที่เหมาะให้ปัญญาเดินได้ผลในแต่ละครั้ง

   
ในทางพุทธศาสนา   ท่านสนับสนุนให้มีศรัทธาชนิดที่เชื่อมต่อ กับ ปัญญาได้ คือ ศรัทธาที่เปิดโอกาสแก่โยนิโสมนสิการ

   ตัวอย่างเปรียบเทียบ ศรัทธาแบบขุดร่องที่ตายตัวเชื่อว่า อะไรๆจะเป็นอย่างไร ก็สุดแต่พรหมลิขิตบันดาล ความคิดหยุดตันอยู่แค่นั้น ส่วนศรัทธาแบบนำไปสู่โยนิโสมนสิการ เช่น ชาวพุทธแม้จะยังไม่รู้ประจักษ์ แต่มีศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น เมื่อประสบเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ศรัทธานั้นก็ทำให้ใช้โยนิโสมนสิการ สืบสาวต่อไปว่า เหตุปัจจัยนั้นคืออะไร

 


Create Date : 29 ตุลาคม 2566
Last Update : 24 ธันวาคม 2566 14:15:01 น. 0 comments
Counter : 133 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space