bloggang.com mainmenu search
จิตวิทยาการเล่นสมมติ

คอลัมน์ สดจากจิตวิทยา

สมศรี กิตติพงศ์พิศาล/กรมสุขภาพจิต



เด็กทุกชาติทุกภาษารู้จักการเล่นสมมติโดยไม่มีการสอน เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นภายในตัวเด็กเองเหมือนเรื่องของภาษา และเป็นความสามารถเฉพาะที่พบได้ในวัย 1-3 ขวบ การเล่นสมมติแสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มรู้จักการอุปมาอุปไมย มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงแต่งเรื่องราวและยังเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะทางสังคมในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

แม้ว่าเด็กๆ จะเลิกหรือเล่นสมมติน้อยลงเมื่อมีอายุเกิน 6 ขวบ แต่ในทางจิตวิทยาการสมมติกลับช่วยให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนได้เกิดจินตนาการต่อเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เผชิญในมุมมองใหม่ๆ ได้เสมอ เหมาะจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวชีวิตบางช่วงบางตอนของตนเอง ซึ่งยังคงค้างคาใจ กับใครบางคนที่เป็นคู่กรณี ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่พี่น้อง คนรัก เพื่อน สนิทหรือศัตรู

แม้ว่าการสมมติจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ และการสมมติเป็นคนอื่นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น แต่ใครที่ได้เข้าใจสมมติว่าเป็นฉัน จะยิ่งเข้าใจโลกและอยู่กับโลกได้มากขึ้น การสมมตินี้ทำได้โดยถอยตัวเองออกมาจากการเป็นตัวเอง คิดเสียว่าคนๆ นี้ไม่ใช่ฉันเป็นเพียงใครคนหนึ่งที่ฉันมีหน้าที่สังเกตการณ์ คอยเฝ้ามองดูว่า ขณะนี้ คนๆ นี้ กำลังคิดอะไรอยู่รู้สึกอย่างไร ทำอะไร สภาพร่างกายเป็นเช่นใด การเฝ้ามองนี้จะช่วยเตือนสติให้เกิดความรู้เรื่องรู้ตัวได้ชัดเจนขึ้น มีสติมากขึ้น สังเกตได้จากเวลาที่เป็นเรื่องของคนอื่น คนเรามักมองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของเรื่องราวและช่องโหว่ของปัญหาได้ดี แต่เวลาเป็นเรื่องของตัวเองมักเข้าตำราเส้นผมบังภูเขา

การสมมติว่าเป็นฉันในบางครั้งจึงช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้มากทีเดียว และยิ่งฝึกทักษะนี้มากเท่าไรความเป็นตัวตนที่จะยึดมั่นถือมั่นในตนเองก็จะลดลงเท่านั้น

//www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROamIyd3hNREkzTURNMU1RPT0=§ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09DMHdNeTB5Tnc9PQ==
Create Date :27 มีนาคม 2551 Last Update :13 พฤษภาคม 2557 13:25:34 น. Counter : Pageviews. Comments :0