bloggang.com mainmenu search
ให้อ่านบทกวีจีนอีกรอบ เป็นบทกวีที่มีชื่อเสียงของหลี่ไป๋ เขียนบรรยายถึงพระจันทร์ เข้ากั๊นเข้ากันกับวันลอยกระทง




"แลจันทร์"
ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพฯ ทรงวาดจากบทกวีนี้
ภาพจากหนังสือ "เทพรัตนบรรณศิลป์"














คิดคำนึงในคืนสงบ
หลี่ไป๋

หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง
ประดุจว่าน้ำค้างแข็งบนพื้นดิน
เงยหน้ามองดูจันทร์สว่าง
ก้มหน้านึกถึงบ้านเกิด










หมายเหตุ


นี่เป็นกลอนบทแรกที่ข้าพเจ้าเรียน และเป็นบทที่ท่องได้คล่องจนถึงทุกวันนี้ อารมณ์ของกวีเป็นเรื่องความอาลัยอาวรณ์และผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอน กวีพรรณนาถึงความงามของแสงจันทร์ที่สาดส่องเข้ามาในห้อง สำหรับผู้ที่จากถิ่นของตนไปอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า ดวงจันทร์หรือแสงจันทร์ดูจะเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยเพียงผู้เดียว เนื่องจากไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม ดวงจันทร์ที่ติดตามเราอยู่ตลอดเวลาก็เป็นดวงเดียวกัน อีกประการหนึ่ง วันที่พระจันทร์แต็มดวงที่กวีพรรณนานี้ อาจจะเป็นวันเพ็ญในเทศกาลอะไรบางอย่างของจีน ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องและญาติสนิทร่วมสังสรรค์พบปะกัน แต่ตัวกวีกลับต้องมาอ้างว้างอยู่ลำพังในต่างแดน

กวีผู้ประพันธ์กลอนที่ซาบซึ้งกินใจบทนี้คือ ท่านหลี่ไป๋ (ค.ศ.๗o๑-๗๖๒) กวีมีชื่อแห่งราชวงศ์ถัง เล่ากันว่าหลี่ไป๋เกิดในแถบดินแดนทางตะวันตกของจีน อาจจะมีเชื้อสายชนชาติกลุ่มน้อยตระกูลเตอร์กก็เป็นได้ แต่ไปเติบโตในบริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็นมณฑลเสฉวน เขาได้เดินทางไปตามแม่น้ำฉังเจียง และได้เข้ารับราชการในราชสำนักพระจักรพรรดิ์ถังเสวียนจงในค.ศ.๗๔๗ อยู่ได้สองปีก็ถูกไล่ออกจากวัง ใช้ชีวิตเป็นกวีขี้เมาพเนจรไปทางแถบตะวันออกและตะวันอกเฉียงใต้

เมื่อเกิดกบฏอานลู่ซาน (ค.ศ.๗๕๕) หลี่ไป๋เข้าไปพัวพันกับการเมืองอีก ถูกจับอยู่พักหนึ่ง ช่วงสุดท้ายของชีวิต หลี่ไป๋ต้องร่อนเร่ไปตามลุ่มแม่น้ำฉังเจียงจนตาย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า เขาประพันธ์บทกวีที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เมื่อไร เดาก็ไม่ถูก เพราะดูตามประวัติหลี่ไป๋ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ตลอดเวลา

ผลงานประพันธ์ที่กล่าวกันว่าเป็นของหลี่ไป๋มีอยู่พันกว่าบท สะท้อนให้เห็นบุคลิกและแนวคิดแปลก ๆ หลากหลายของเขา บางทีก็ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อ แต่บางทีก็จะแสดงปรัชญาแบบเต๋า เนื้อหามีทั้งเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว นิยายพื้นบ้าน เรื่องมหัศจรรย์ บางทีก็รู้สึกว่า จะแฝงเอาความคิดที่ค่อนข้างจะลึกลับชวนให้ตีความได้แปลก ๆ เช่น กลอนบทนี้มีผู้ตีความว่าแสดงให้เห็นถึง ไตรภาคแบบจีน ได้แก่ สวรรค์ หรือท้องฟ้า โลก หรือแผ่นดินและมนุษย์ ปรัชญาจีนอธิบายลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นสองลักษณะคือ หยัง หมายถึงความสว่างหรือความร้อน อิน หมายถึง ความมืด (เงา) หรือความเย็น ท้องฟ้าถือว่าเป็นหยัง และแผ่นดินเป็นอิน มนุษย์จะดำเนินชีวิตให้ราบรื่นเป็นปกติสุขก็ต้องรู้จักความสมดุลของ อิน กับ หยัง ในบทกวีใช้ดวงจันทร์เป็นสัญญลักษณ์ของท้องฟ้า

คำที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าสนใจคือคำว่า () และ () () แปลว่า มองดู อาจจะหมายถึงการมองดูอย่างมีความปรารถนาหรือความหวัง และอาจจะเป็นการเล่นคำด้วยก็ได้ เพราะคำว่า () นี้มีความหมายอีกอย่างว่า พระจันทร์เต็มดวง คำว่า () () และ () ในวรรคนี้จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะมีรากมาจากคำว่าดวงจันทร์ทั้งหมด และมีความหมายใกล้กัน ส่วนคำว่า () ที่แปลว่า คิดถึง นั้น บทกวีจีนหลายบทเล่นคำ ระหว่างคำว่า () คิดถึง กับ () (เขียนต่างกันแต่ออกเสียงเหมือนกัน) ที่แปลว่า เส้นไหม แสดงความคิดถึงที่เป็นสายใยยาวนานจนตายเหมือนไหมที่ชักใยจนตัวตาย คำว่า () และ () อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในวรรค ฉะนั้น จึงตีความได้ว่าเป็น การคิดถึงบ้านและมีความหวังจะได้กลับไปอีก

ฟังการตีความต่าง ๆ แปลก ๆ แล้วชวนให้คิดว่า กวีผู้แต่งตั้งใจแสดงความหมายเช่นนี้ หรือคนอ่านคิดเอาเอง เรื่องนี้คงจะพิสูจน์กันยาก แต่ก็ช่างเถอะ ผู้อ่านย่อมมีสิทธิ์คิด เพราะวรรณคดีก็เหมือนกับศิลปะทั้งหลาย ที่ต้องอาศัยศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชื่นชมศิลปะนั้น จินตนาการของบุคคลทั้งสองฝ่ายจะช่วยส่งเสริม "รส" ของวรรณคดีนั้นให้ปรากฏอย่างสมบูรณ์


ข้อความในบล๊อคนี้นำมาจากหนังสือ​ "หยกใสร่ายคำ"
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


บีจีและไลน์จากคุณญามี่



Create Date :12 พฤศจิกายน 2551 Last Update :1 กุมภาพันธ์ 2557 9:36:53 น. Counter : Pageviews. Comments :52