bloggang.com mainmenu search


ภาพวาดของ Suo Shan จากเวบ //www.the-gallery-of-china.com/


เร็วจริง ๆ แป๊บ ๆ ก็ตรุษจีนอีกแล้ว อัพบล๊อคเกี่ยวกับจีนๆฉลองปีใหม่จีน เลยได้ฤกษ์เอาบทกวีบทที่สองมาให้อ่านกัน อัพช้าไปหน่อยเพราะยุ่งอยู่ เพิ่งจะคัดบทกวีเสร็จ สแกนแล้วก็เอาลงบล๊อคสด ๆ ร้อน ๆ เลย


































กลับสู่นาสวน บทที่ ๑
เถาหยวนหมิง



เมื่อเป็นเด็ก ข้าไม่ตามกระแสสังคม

มีนิสัยรักภูผาป่าดอย

แต่ได้หลงผิดอยู่ในบ่วงราชการ

เสียเวลาไปถึงสามปี

นกในกรงปรารถนาป่าดั้งเดิม

ปลาในบ่อคิดถึงหนองบึงเก่า

จึงกลับไปถางพงป่าทางใต้

มักน้อยกลับสู่นาสวน

บ้านข้ามีที่ดินสิบโหม่วเศษ

กระท่อมหญ้าแปดเก้าหลัง

อวี๋และหลิงให้ร่มเงาชายคาหลังบ้าน

ท้อสาลี่เรียงรายอยู่หน้าบ้าน

ในที่ไกลมีหมู่บ้านสิบๆรำไร

ควันจากหมู่บ้านลอยอ้อยอิ่ง

สุนัขเห่าในซอกซอยลึก

ไก่ขันบนยอดต้นหม่อน

บริเวณบ้านไม่วุ่นวาย

เรือนว่าง มีเวลาว่าง

อยู่ในกรงมาช้านาน

ได้กลับสู่ธรรมชาติอีกครั้ง






หมายเหตุ


เถาหยวนหมิง แต่งบทกวีชื่อ “กลับสู่นาสวน” ไว้เป็นชุด บทนี้เป็นบทที่ ๑ เถาหยวนหมิง (ค.ศ. ๓๖๕ - ๔๒๗) เป็นกวียิ่งใหญ่ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. ๓๑๗ – ๔๒o) มีอีกชื่อหนึ่งว่า เถาเฉียน เป็นชาวไฉซัง เมืองเสวินหยัง ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี เมื่ออายุ ๒๙ ปีเข้ารับราชการ อยู่ไม่นานก็ลาออก ต่อมาเข้ารับราชการอีกถึงอายุ ๔๑ ปี ในตำแหน่งไม่สูงและลาออกไปทำงานนาสวน เป็นเกษตรกร รวมรับราชการสองครั้งเป็นเวลา ๑๓ ปี

เหตุที่เถาหยวนหมิงเข้ารับราชการนั้นเพราะฐานะยากจน มีบุตรเล็กๆหลายคน และมารดาก็อายุมาก ในยุ้งข้าวไม่ค่อยมีข้าวจึงจำเป็นต้องรับราชการหาเลี้ยงชีพ การรับราชการครั้งหลังซึ่งทำอยู่ ๑๒ ปีกว่านั้น ก่อนลาออกไม่นานได้เป็นนายอำเภอ อยู่ในตำแหน่งได้ ๘o วัน พอดีมีผู้ตรวจราชการระดับเมืองมาตรวจงาน เถาหยวนหมิงไม่เห็นด้วย พูดว่าเพื่อข้าวสาร ๕ ถัง (ตามมาตราน้ำหนักสมัยนั้น ๑ ถังเท่ากับประมาณ ๑o ลิตรในปัจจุบัน) ต้องทำถึงขนาดโค้งคำนับเชียวหรือ จึงลาออกไปอยู่ชนบทเป็นเกษตรกร อีกไม่กี่ปีต่อมา ทางราชสำนักเรียกไปรับราชการอีก ให้ตำแหน่งสูงขึ้นแต่ปฏิเสธ อยู่ชนบททำนาทำสวนไปอีก ๒๑ ปี จนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๔๒๗ ในช่วงนี้ได้ประพันธ์บทกวีไว้เป็นจำนวนมากเกี่ยวกับชีวิตชนบทและสัจธรรมแห่งชีวิต

นักวรรณคดีวิจารณ์ยกย่องเถาหยวนหมิงว่าเป็นกวียิ่งใหญ่ของจีน ในบรรดากวีที่ประพันธ์บทกวีที่สะท้อนสัจธรรม ความจริงแห่งชีวิตนั้น เถาหยวนหมิงประพันธ์ได้ดีที่สุด บทกวีของเขาสะท้อนปรัชญาความคิดของลัทธิเต๋า ใช้ถ้อยคำที่สั้นกระชับแต่สื่อความหมายได้ลึกซึ้ง ซินชึ่จี้ กวีในสมัยราชวงศ์ซ่งกล่าวว่า บทกวีทั้งหมดของเถาหยวนหมิงจะสืบทอดยั่งยืนไปตลอดชั่วกาลนาน ส่วนเยี่ยเจียอิ๋ง นักวรรณคดีวิจารณ์ยุคปัจจุบันยกย่องว่า ในบรรดากวีจีนทั้งหมด เถาหยวนหมิงเด่นที่สุด

บทกวีชุด กลับสู่นาสวน มี ๕ บท เถาหยวนหมิงแต่งใน ค.ศ. ๔o๖ หลังออกจากราชการได้ไม่นาน ได้รับการยกย่องว่า ในบรรดากวีเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาของเถาหยวนหมิงนั้น ชุดนี้แต่งได้ดีที่สุด เถาหยวนหมิงสื่อความว่าเมื่อพ้นจากวงราชการกลับไปสู่นาสวนในชนบท ได้พบกับความสุขสงบกลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง

บาท ๑ สื่อความว่า ตั้งแต่เป็นเด็กไม่ทำตามที่คนอื่นๆเขานิยมทำกันในสังคม เป็นคนขวางโลก

บาท ๓ แปลตามศัพท์ว่า แต่ได้หลงผิดอยู่ในตาข่ายกิเลส หมายความว่า หลงผิดไปรับราชการ

บาท ๔ บางฉบับพิมพ์ว่า ๓o ปี บางฉบับ ๑๒ ปี ตรวจสอบต้นฉบับเดิมเขียนว่า ๓o ปี เถาหยวนหมิงรับราชการ ๒ ครั้งรวม ๑๓ ปี การที่เขียน ๓o ปีนั้นคงเป็นเพราะต้องการเน้นว่า รู้สึกนานเหลือเกิน ในฉบับนี้ใช้ว่า ๑๓ ปี

บาท ๙ ๑โหม่ว เท่ากับ o.๓๓ ไร่

บาท ๑o คำว่า jian (เจียน) แปลว่า ห้อง บ้านหลังหนึ่ง ในที่นี้ใช้ความหมายบ้านเป็นหลัง กระท่อมของขาวนามีขนาดเล็ก ไม่มีมากห้องแต่จะมีกระท่อมหลายหลัง

บาท ๑๗ และ ๑๘ สื่อความว่า ในบ้านที่เงียบสงบ จิตว่าง ปล่อยวาง สบายใจ


ข้อความในบล๊อคนี้นำมาจากหนังสือ​ "หยกใสร่ายคำ"
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


บีจีและไลน์จากคุณญามี่



Create Date :05 กุมภาพันธ์ 2551 Last Update :20 มิถุนายน 2556 20:58:08 น. Counter : Pageviews. Comments :77