bloggang.com mainmenu search
ได้ฤกษ์อัพบล๊อคนี้ต่อซะที ทิ้งค้างไว้ซะนานเลย ช่วงที่หยุดไปหลายวัน มีเวลาเลยลุยเขียนพู่กันจีนจนเกือบจะครบทุกบท เหลือก็แต่พิมพ์ข้อความ ถ้ามีเวลาพิมพ์ก็คงให้อ่านบล๊อค "หยกใสร่ายคำ" ต่อไปเรื่อย ๆ ยังไงก็อย่าเพิ่งเบื่อแล้วกันน้า























คืนจันทร์แจ่ม
ตู้ฝู่

คืนนี้พระจันทร์เมืองฟูโจว
นางเฝ้าชมเพียงลำพัง
สงสารลูกน้อยที่อยู่ห่างไกล
ยังไม่เข้าใจที่จะคิดถึงเมืองฉังอาน

หมอกหอมต้องมวยผมจนเปียกชุ่ม
แสงสว่างต้องแขนประดุจหยกจนเย็นเยียบ
เมื่อใดหนอจะได้อิงม่านบางเบา
ชมจันทร์อยู่คู่กัน รอยนำ้ตาแห้งเหือดไป




หมายเหตุ


ในค.ศ.๗๕๕ ตรงกับปลายรัชสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ.๗๑๒ - ๗๕๖) อานลู่ซาน ขุนนางฝ่ายทหารเชื้อสายเตอร์ก ซึ่งมีอำนาจในมณฑลชายแดน ๓ มณฑล ได้ก่อกบฏและยึดเมืองฉังอาน (ซีอาน) ไว้ได้ จักรพรรดิหนีไปเมืองเฉิงตู ในฤดูร้อน ค.ศ.๗๔๖ ตู้ฝู่ได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายรัชทายาทได้ขึ้นครองราชย์ที่หลิงอู่เป็นจักรพรรดิ์ซู่จง ตู้ฝู่จึงให้ครอบครัวไปอยู่ที่เมืองฟูโจว แล้วเดินทางไปหลิงอู่เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิ์ซู่จง ระหว่างทางถูกทหารของอ่านลู่ซานจับไปเป็นเชลย ถูกส่งมาที่ฉังอาน แต่เนื่องจากมิได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่จึงไม่ถูกคุมขัง ตู้ฝู่คิดถึงภรรยาและลูกที่อยู่เมืองฟูโจว ในฤดูใบไมร่วงได้เขียนบทกวี คืนจันทร์แจ่ม พรรณนาความคิดคำนึงของตนถึงภาพภรรยาและลูกน้อยที่เมืองฟูโจว

ในค.ศ.๗๕๗ อานลู่ซานถูกบุตรชายฆ่าตาย ขณะเดียวกันกองทัพหลวงด้วยความช่วยเหลือของพวกอุยกูร์ (พวกอุยกูร์หรือพวกเหวยอู่เอ่อร์เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเตอร์กในซินเกียง นับถือศาสนาอิสลาม) สามารถปราบกบฏอานลู่ซานได้ แต่กว่าที่บ้านเมืองจะเข้าระเบียบและมีความมั่นคงเหมือนเดิมนั้น ล่วงมาถึง ค.ศ.๗๖๒

เมืองฟูโจว ปัจจุบันคือ อำเภอฟูเซี่ยน (เซี่ยน แปลว่า อำเภอ) มณฑลส่านซี

คืนจันทร์แจ่ม เป็นบทกวีไพเราะ พรรณนาความได้ดี คำว่า กุยจง (gui zhong) ในบาทที่ ๒ แปลตามศัพท์หมายถึง ห้องน้อยส่วนตัวของผู้หญิง แต่กวีใช้ในความหมายถึง นางผู้เป็นภรรยา ส่วนบาทที่ ๓ และ ๔ รำพันถึงลูกน้อยน่่ารักที่อยู่ห่างไกล ไม่รู้ว่าพ่อตกระกำลำบากอยู่ที่ฉังอาน

บาทที่ ๕ สร้างภาพหมอกที่มีกลิ่นหอม เพราะลอยผ่านดอกไม้นานามาต้องมวยผมของนางจนเปียกชุ่ม กวีใช้คำสั้น ๆ แต่สื่อทั้ง "รูป" และ "กลิ่น" ได้แจ่มชัด


ข้อมูลจากหนังสือ​ "หยกใสร่ายคำ"
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี




ภาพจาก Wikipedia


ตู้ฝู่ “ปราชญ์แห่งกวี”


ในประวัติวรรณคดีจีน ผู้คนมักจะใช้คำว่า “หลี่ตู้” เป็นตัวแทนความสำเร็จสูงสุดของบทกวีสมัยราชวงศ์ถังของจีน “หลี่” หมายถึงหลี่ไป๋ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกว่าเป็น “เซียนแห่งกวี”ของจีน “ตู้” หมายถึงตู้ฝู่ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์แห่งกวี” ของจีน

ตู้ฝู่เกิดในปีค.ศ. ๗๑๒ เป็นหลานชายของตู้เสินหยวน กวีผู้มีชื่อเสียง ตู้ฝู่เป็นคนเฉลียวฉลาดตั้งแต่เยาว์วัย เป็นคนขยัน ชอบศึกษา มีความรอบรู้ ตู้ฝู่สามารถแต่งบทกลอนได้ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบ เมื่อเติบใหญ่ นอกจากเป็นกวีชื่อดังแล้ว เขายังเชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ ศิลปะการเขียนตัวอักษรและภาพด้วยพู่กันจีน เล่นดนตรี ขี่ม้าและรำกระบี่

ตั้งแต่เป็นเยาวชน ตู้ฝู่ก็เป็นคนมีอุดมการณ์ เมื่ออายุได้ ๑๙ ปีก็เริ่มออกท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ใช้ชีวิตตามสบาย ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองที่สุด ตู้ฝู่ได้ท่องเที่ยวไปตามภูเขาและแม่น้ำที่มีชื่อเสียงหลายแห่งของจีน ช่วยให้เขาเปิดโลกทัศน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และได้แต่งบทกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีถ้อยคำเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ นั่นก็คือ “ฮุ่ยตังหลิงเจวี๋ยติ่ง อี้หล่านจ้งซานเสี่ย” หมายความว่า “ยืนอยู่บนยอดภูเขาสูง แลเห็นทิวเขาเป็นเทือกเล็กอยู่เบื้องล่าง”

ตู้ฝู่ก็เหมือนปัญญาชนอื่น ๆ ส่วนมาก มุ่งหวังจะก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และเคยใช้ความสามารถในการแต่งบทกวีไปคบหาสมาคมกับพวกเจ้าขุนมูลนาย เขาเคยเข้าร่วมการสอบคัดเลือกขุนนางระดับชาติ แต่ก็ประสบความล้มเหลวทุกครั้ง

ในวัยกลางคน ตู้ฝู่อาศัยอยู่ในกรุงฉางอาน ราชธานีของราชวงศ์ถัง มีชีวิตยากจนข้นแค้นมาก เขาเห็นความหรูหราและสุรุ่ยสุร่ายของพวกเจ้าขุนมูลนายผู้ทรงอำนาจ และสภาพที่คนจนต้องอดตายในท้องถนนเพราะขาดเครื่องนุ่งห่มและอาหารซึ่งเป็นภาพที่แสนเศร้า น่าเวทนา เขาจึงแต่งบทกวีบทหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์สภาพดังกล่าว ซึ่งก็คือ “จูเหมินจิ่วโร่วโช่ว ลู่โหย่วต้งสื่อกู่” แปลเป็นไทยว่า “ทวารแดงพะแนงเหล้าบูด ตามท้องถนนมีแต่โครงกระดูกของผู้ตายด้วยความหนาวและอด” ความล้มเหลวในวิถีชีวิตขุนนางและความทุกข์ยากของชีวิต ทำให้ตู้ฝู่ตระหนักถึงความเหลวแหลกเน่าเฟะของชนชั้นปกครองและความทุกข์ทรมานของประชาชน เขาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นกวีที่เป็นห่วงชาติบ้านเมืองและประชาชน




ลายมือของตู้ฝู่
ภาพจาก Wikipedia


ในปีค.ศ.๗๕๕ ตู้ฝู่มีอายุ ๔๓ ปี เขามีโอกาสเป็นขุนนางตำแหน่งหนึ่ง แต่เป็นขุนนางอยู่ได้เพียงเดือนเดียว ราชวงศ์ถังก็เกิดภาวะปั่นป่วนเพราะสงคราม หลังจากนั้น ภัยสงครามก็ยืดเยื้อลุกลามต่อเนื่องไป ทำให้ตู้ฝู่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ลำบากจนโชกโชน ทำให้เขายิ่งตื่นตัวและเข้าใจความเป็นจริงของสังคมได้ลึกซึ้งขึ้น ในช่วงเวลานี้ ตู้ฝู่ได้แต่งบทกวีที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายบท อาทิ บท “สือหาวลี่” “ถงกวนลี่” “ซินอันลี่” “ซินฮุนเปี๋ย” “ฉุยเหล่าเปี๋ย” และ “อู๋เจียเปี๋ย” บทกวีเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้งของกวีที่มีต่อประชาชนและความเคียดแค้นของเขาที่มีต่อสงคราม

ค.ศ.๗๕๙ ตู้ฝู่ผิดหวังอย่างสิ้นเชิงต่อการเมืองอย่างแท้จริง จึงลาออกจากการเป็นขุนนาง เวลานั้นกรุงฉางอานกำลังเกิดภัยแล้ง ตู้ฝู่ยากจนจนไม่สามารถเลี้ยงชีวิตครอบครัวต่อไปได้ เขาจึงพาครอบครัวลี้ภัยไปถึงเมืองเฉิงตูในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง ตู้ฝู่กับครอบครัวใช้ชีวิตในเมืองเฉิงตูอย่างเงียบสงบเป็นเวลา ๔ ปี ในยามตกทุกข์ได้ยาก ตู้ฝู่ได้แต่งบทกวี “เหมาอูเหวยชิวเฟิงสั่วพั่วเกอ” เล่าถึงสภาพตกทุกข์ได้ยากของครอบครัวตน จากประสบการณ์ชีวิตของเขา ทำให้ตู้ฝู่นึกถึงประชาชนทั่วไปที่มีชีวิตยากลำบากเช่นกัน เกิดความใฝ่ฝันอยากจะมีบ้านพักอาศัยเป็นเรือนพันเรือนหมื่นห้อง เพื่อขจัดความทุกข์ของประชาชนผู้ยากจนที่ไร้ที่พักอาศัย จนกระทั่งเกิดความคิดยินดีจะอุทิศตน ถ้าแลกรอยยิ้มของประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากมาได้ บทกวีของตู้ฝู่บทนี้เปี่ยมไปด้วยความจริงใจสุดซึ้ง สะท้อนให้เห็นจิตใจสูงส่งของกวีผู้นี้

ค.ศ.๗๗o ตู้ฝู่เสียชีวิตระหว่างทางเร่ร่อนลี้ภัย ผลงานบทกวีของท่านที่เหลือไว้แก่ชนรุ่นหลังมีกว่า ๑,๔oo บท บทกวีของท่านสะท้อนถึงภาพรวมของสังคมในช่วงเวลากว่า ๒o ปีที่ราชวงศ์ถังเกิดภัยสงคราม จากประเทศเข้มแข็งกลายเป็นประเทศอ่อนแอในที่สุด เป็นบทกวีเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหากว้างขวาง บทกลอนของตู้ฝู่มีรูปแบบหลากหลาย รับเอาจุดเด่นของกวีผู้อื่นมาปรับใช้เป็นของตน บทกวีของท่านมีเนื้อหากว้างขวางและลึกซึ้ง เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจริงใจสุดซึ้ง ตู้ฝู่ยังได้ริเริ่มพัฒนาศิลปะการแต่งบทกลอนใหม่ ๆ และได้ขยายขอบเขตเนื้อหาและรูปแบบในการแต่งบทกลอนให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย จนมีอิทธิพลอย่างมากต่อชนรุ่นหลัง


ข้อมูลจากเวบ chinaabc


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor
Create Date :17 มิถุนายน 2552 Last Update :1 กุมภาพันธ์ 2557 23:30:05 น. Counter : Pageviews. Comments :44