bloggang.com mainmenu search



"สงบเหงา"
ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ สมเด็จพระเทพฯ ทรงวาดจากบทกวีนี้
ภาพจากหนังสือ "เทพรัตนบรรณศิลป์"


ที่จริงว่าจะอัพบล๊อคตั้งแต่เมื่อวาน แต่เกิดอุบัติเหตุจนข้อมือหักมาตัดหน้าซะก่อน งานนี้สาวสวยซุ่มซ่าม ลื่นล้มเพราะไม่ระวังตัว ล้มคว่ำอย่างแรง (และเร็ว) จนคางกระแทกพื้น ลุกขึ้นนั่งแล้วงงอยู่เป็นพัก เห็นข้อมือตัวเองผิดรูป คิดว่ากระดูกอาจจะเคลื่อน แต่พอไปรพ.เอ็กซ์เรย์แล้วคุณหมอบอกว่าข้อมือหักเรียบโร้ย ไม่ต้องผ่าตัดแต่ต้องดึงยืดกระดูกให้เข้าที่ ได้เห็นวิธีจัดกระดูกตัวเองแบบจะ ๆ คาตาก็หนนี้แหละ มีบุรุษพยาบาลกะนางพยาบาลมาตรึงไหล่ไว้ จากนั้นคุณหมอจับมือคนไข้ไว้แน่นแล้วดึงอย่างแรง หนแรกไม่สำเร็จ ต้องดึงอีกหนจนได้ยินเสียงกระดูกลั่น จากนั้นก็ดัดมือต่ออีกสองสามที แล้วก็เข้าเฝือกแข็งไว้ ใช้เวลาเกือบสิบนาทีถึงเรียบร้อย คุณหมอชมว่าเก่ง ไม่ร้องสักเอะ แต่ที่ไหนได้ เจ็บจนน้ำตาไหลเลยฮ่ะ

ทีแรกจะแช่บล๊อคที่แล้วทิ้งไว้ ให้เห็นหน้านายชงกะสาวการบูรไปจนกว่าจะหายเปื่อย แต่เดี๋ยวโดนแซวว่าดองบล๊อค (ก็ดองจริง ๆ แหละ อิ อิ) โชคดีก่อนมือหักเขียนบล๊อคใหม่ไว้เกือบเสร็จแล้ว ตอนนี้เหลือมือซ้ายข้างเดียวใช้จิ้มดีด กว่าจะกระดึ๊บ ๆ เขียนเสร็จก็เป็นวัน สุดท้ายอัพเสร็จ รอดข้อหาดองบล๊อคไปได้ ไหน ๆ ก็ต้องหยุดยาวเลยอัพไว้ให้อ่านรวดเดียวสามบล๊อค เป็นบทกวีของท่านหลี่ไป๋ทั้งหมด ไม่ได้อัพบล๊อคนี้ซะนาน ยังเหลือบทกวีอีกตั้งยี่สิบกว่าบท หลังมือหายแล้วจะเขียนพู่กันจีน อัพให้อ่านกันอีกค่ะ เสร็จสรรพแล้วก็เลยขอลาพักยาว ช่วงนี้คงต้องทำตัวสงบเสงี่ยม เพราะคุณหมอให้ใส่เฝือกไว้หกอาทิตย์ แต่คงอดใจแว่บเข้าเล่นบล๊อคก่อนแหงม ๆ ใว้ให้มือทุเลาปวดแล้วค่อยแวะไปเยี่ยมเพื่อน ๆ นะจ๊ะ












ส่งเมิ่งเฮ่าหรานไปก่วงหลิง
หลี่ไป๋

เพื่อนเก่าอำลาหอกระเรียนเหลืองจากทิศตะวันตก
ล่องไปเมืองหยังโจว เดือนสาม กลางหมอก ดอกไม้
ใบเรือโดดเดี่ยวไกลลิบหายไปสุดฟ้าคราม
เห็นแต่แม่น้ำฉังเจียงที่ไหลไปสู่ขอบฟ้า





หมายเหตุ


บทกวีของหลี่ไป๋บทนี้บรรยายความรู้สึกเศร้าเมื่อต้องลาจากเพื่อน เป็นบทกวีที่กล่าวถึงหอนกกระเรียนเหลือง ซึ่งเป็นสถานที่มีอยู่จริงในมณฑลหูเป่ย ส่วนเมืองหยังโจวนั้นปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู เมื่ออ่านบทกวีนี้ จะทำให้รู้สึกถึงความงามตระการยิ่งใหญ่ของภูมิประเทศแม่นำ้ฉังเจียงในฤดูใบไม้ผลิ ในขณะเดียวกันจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกขึ้นหลายอย่างคือ แม่น้ำที่ไหลไปไม่ขาดสาย เปรียบประดุจมิตรภาพที่แม้จะอยู่ห่างไกลก็ยังมีเช่นนี้ นอกจากนั้น ในแม่น้ำไม่น่าจะมีเรือเพียงลำเดียว เราอาจจะตีความว่า เมื่อคนมีใจจดจ่อกับใครหรืออะไร (ในที่นี้คือ เรือของเพื่อน) ก็จะเห็นสิ่งนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ศัพท์ที่ใช้ เช่น () เดียวดาย () ไกล () เงา ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่ เงียบเหงา

บทกวีนี้ หลี่ไป๋ กวีเอกในสมัยราชวงศ์ถังแต่งให้เพื่อนชื่อ เมิ่งเฮ่าหร่าน ในรัชศกไคหยวนปีที่ ๑๖ ตรงกับ ค.ศ.๗๒๘ เมิ่งเฮ่าหราน (ค.ศ.๖๗๘ - ๗๔o) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถัง มีความสามารถและความเด่นในการประพันธ์บทกวี ที่พรรณนาความงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก่วงหลิง ปัจจุบันคือ เมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู

หอนกกระเรียนเหลือง ภาษาจีนเรียกว่า หวงเฮ่อโหลว มีประวัติว่าสร้างในสมัยสามก๊กเมื่อประมาณ ค.ศ.๒๒๓ ซุนกวนเป็นผู้สร้างเพื่อเป็นหอดูข้าศึก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฉังเจียงในเมืองอู่ชังทางด้านตะวันตก หอนี้ได้ดำรงความสำคัญต่อเนื่องมาทุกราชวงศ์ ได้บูรณะปรับปรุง รวมทั้งก่อสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง หอที่เห็นในปัจจุบันสูง ๕ ชั้น สร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ.๑๙๘๑ ตามข้อมูลที่มีอยู่ แล้วเสร็จใน ค.ศ.๑๘๘๕

หอกระเรียนเหลืองซึ่งก่อสร้างขึ้นเบื้องต้นเพื่อเป็นหอดูข้าศึกนั้น ในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก และใช้ในการอื่น กวีหลายคนได้มาเยือนที่นี่และประพันธ์บทกวีไว้ ปัจจุับันเมืองฮั่นโข่ว (ฮันเค้า) เมืองฮั่นหยัง และเมืองอู่ชังได้รวมกันเป็นนครอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย

หวงเฮ่อ แปลตามศัพท์ภาษาไทยว่า นกกระเรียนเหลือง (หวง แปลว่า เหลือง เฮ่อ แปลว่า นกกระเรียน) เป็นนกในตำนาน ไม่มีจริง นกกระเรียนมีเฉพาะขาวและเทา มีตำนานเรื่องเซียนขี่นกกระเรียนเหลืองต่างกันโดยสรุปดังนี้ ตำนานหนึ่งเชื่อว่า เซียนชื่อ จื่ออาน ขี่นกกระเรียนเหลือง อีกตำนานเล่าว่า เฟ่ยเหวินอี เป็นชาวเมืองอู่ชัง ทำความดี ตายแล้วได้เป็นเซียน ขี่นกกระเรียนเหลืองมายังบริเวณที่ต่อมาเป็นหอนกกระเรียนเหลือง ชาวเมืองอู่ชังจึงสร้่างหอขึ้นที่นั่นและเรียกว่า หอนกกระเรียนเหลือง

ส่่วนเฮ่อ หรือนกกระเรียนนั้นเป็นนกที่มีศีรษะเล็ก คอยาว ขายาวลีบ ปากยาวเป็นเส้นตรง ขนเป็นสีขาวหรือสีเทา ชอบอยู่เป็นฝูง ๆ หรือเป็นคู่ มักจะหาปลาและแมลงกินตามชายฝั่งแม่น้ำหรือชายหาด

แม่นำ้ฉังเจียง (แม่น้ำแยงซี) เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน และเป็นที่ ๓ ของโลก ต้นธารน้ำอยู่ที่มณฑลชิงไห่ ไหลผ่านมณฑล นคร และภูมิภาคปกครองตนเอง ๑o แห่งคือ ชิงไห่ ทิเบต อวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ซื่อชวน (เสฉวน) หูเป่ย หูหนาน เจียงซี อานฮุย เจียงซู และซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) แล้วไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก นครสำคัญที่อยู่ริมฝั่งแม่นำ้ฉังเจียง ได้แก่ ฉงชิ่ง (จุงกิง) วั่นเซียน อู่ฮั่น หนานจิง (นานจิง) และซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) แม่นำ้ฉังเจียงยาวประมาณ ๖,๓oo กิโลเมตร

เมื่อไหลเข้าสู่แอ่งซื่อชวนบรรจบกับแควใหญ่หลายสายคือ หมินเจียง ถัวเจียง จยาหลิงเจียง และอูเจียง ลำแม่น้ำขยายกว้างขึ้นพุ่งเข้าสู่โตรกเขา ๓ โตรก (ภาษาจีนเรียกว่า ซานสยา) คือ ฉูถังสยา อูสยา และซีหลิงสยา โตรกเขา ๓​ โตรกเริ่มจากไป๋ตี้เฉิงในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครวั่นเซียน มณฑลเสฉวนถึงหนานจินกวนในเมืองอี๋ซัง มณฑลหูเป่ย รวมความยาวของ ๓ โตรก ๒o๔ กิโลเมตร บริเวณโตรกเขา ๓ โตรกนั้น ภูมิประเทศสวยงามมากทั้งขุนเขาและลำน้ำ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณกาล

แม่นำ้ฉังเจียงช่วงตอนปลายแม่น้ำ จากเมืองหยังโจวไปจนถึงปากน้ำที่ออกสู่ทะเลจีนตะวันออกนั้นเรียกว่า แม่นำ้หยังจื่อเจียง ชาวตะวันตกได้เรียกชื่อแม่น้ำฉังเจียงตามชื่อนี้ (Yangtze River) ภาษาไทยได้ถอดเสียงเคลื่อนไปเป็นแม่นำ้แยงซี ลุ่มแม่น้ำฉังเจียงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน ทั้งในด้านการเป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ การคมนาคมขนส่งทางเรือ ทรัพยากรแร่ธาตุ และทรัพยากรพลังน้ำ

จากหอนกกระเรียนเหลือง ริมฝั่งแม่น้ำฉังเจียงในเมืองอู่ชัง มณฑลหูเป่ยไปเมืองหยังโจว มณฑลเจียงซูนั้น ต้องล่องเรือไปทางตะวันออก (จากทิศตะวันตกมุ่งไปทางตะวันออก)


ข้อความจากหนังสือ​ "หยกใสร่ายคำ"
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี











หลี่ไป๋ “เซียนแห่งกวี”


หลี่ไป๋เป็นกวีมีชื่อเสียงโด่งดังสมัยราชวงศ์ถังของจีน มีอุปนิสัยอวดดีลำพองตัว มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ใจนักเลงและเปิดเผย มีความคิดอิสระ ทั้งนี้ สะท้อนถึงคุณลักษณะแห่งยุคสมัย และสภาพจิตใจของปัญญาชนในช่วงเวลาที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ถัง

หลี่ไป๋มีบ้านเกิดอยู่ที่มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน จนกระทั่งบัดนี้ สภาพครอบครัวและแหล่งกำเนิดที่แน่นอนของหลี่ไป๋ยังคงเป็นปริศนาอยู่ บทกวีของหลี่ไป๋กล่าวว่า ครอบครัวของเขาร่ำรวยและมีการศึกษา หลี่ไป๋อ่านหนังสือมากมาตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากอ่านหนังสือแล้ว เขายังฝึกมวยรำกระบี่ได้ดีด้วย เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม หลี่ไป๋ออกท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ ๒o ปีเศษ เพราะเขามีความรอบรู้ มีความสามารถเฉลียวฉลาดเหนือคนทั่วไป จึงประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยมในด้านกวีนิพนธ์ แม้ว่าสมัยนั้น เทคโนโลยีการพิมพ์และการคมนาคมยังไม่เจริญนัก แต่หลังจากการแลกบทกวีกันระหว่างปัญญาชน ทำให้หลี่ไป๋มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม

การศึกษาหาความรู้และการเข้าร่วมการสอบคัดเลือกขุนนาง เป็นทางเลือกของผู้เรียนหนังสือในสมัยโบราณของจีนมาแต่ไหนแต่ไร ในวัยเยาว์หลี่ไป๋ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับผลสำเร็จในวิถีชีวิตขุนนาง เขาจึงเดินทางไปถึงกรุงฉางอาน ราชธานีของราชวงศ์ถัง เนื่องจากเขาเป็นกวีชื่อดัง รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจากบุคคลที่มีชื่อเสียง หลี่ไป๋จึงมีโอกาสได้เป็นอาลักษณ์วรรณคดีของจักรพรรดิในราชวัง ระยะนี้นับเป็นช่วงเวลาที่หลี่ไป๋มีความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

หลี่ไป๋มีอุปนิสัยถือดี เขาไม่พอใจต่อสภาพเหลวแหลกเน่าเฟะในเวทีการเมืองเป็นอย่างมาก เขาเคยหวังไว้ว่า จะได้รับโปรดเกล้าฯ จากจักรพรรดิแต่งตั้งให้มีโอกาสแสดงความสามารถทางการเมือง แต่จักรพรรดิในขณะนั้นทรงมองหลี่ไป๋เป็นเพียงกวีส่วนพระองค์เท่านั้น ประกอบกับเจ้าขุนมูลนายบางคนในราชสำนักใส่ร้ายป้ายสีเขา ในที่สุดก็ทำให้จักรพรรดิทรงขาดความเชื่อถือหลี่ไป๋ ด้วยเหตุนี้ หลี่ไป๋จึงจำต้องอำลาจากจากกรุงฉางอานด้วยความผิดหวังต่อราชสำนัก และหันไปใช้ชีวิตแบบนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

หลี่ไป๋ใช้เวลาส่วนใหญ่ออกท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ระหว่างนั้น เขาได้แต่งบทกวีพรรณนาถึงทัศนียภาพธรรมชาติเป็นจำนวนมาก บทกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนปัจจุบันของหลี่ไป๋มีมากมาย เช่น “สู่เต้าจือหนัน หนันอวีซ่างชิงเทียน” ซึ่งหมายความว่า “ทางขึ้นภูเขาในมณฑลเฉสวน ยากยิ่งกว่าการปีนขึ้นท้องฟ้า” “จวินปู๋เจี้ยนหวงเหอจือสุ่ยเทียนซ่างไหล เปินหลิวเต้าไห่ปู้ฟู่หุย” แปลเป็นไทยว่า “ท่านไม่เห็นแม่น้ำเหลืองไหลจากฟ้า ธาราไหลเชี่ยวสู่ทะเลไม่หวนกลับ ” “เฟยหลิวจื๋อเซี่ยซันเชียนฉื่อ อวี๋ซื่ออิ๋นเหอลั่วจิ่วเทียน” แปลเป็นไทยว่า “ไหลละลิ่วพุ่งพาดลงสามร้อยวา สงสัยว่าเป็นคงคาเงินจากเมืองแมน” เป็นต้น บทกวีของหลี่ไป๋มักนิยมเขียนเชิงขยายความและใช้อุปมาอุปมาย

บทกวีของหลี่ไป๋ที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีกว่า ๙oo บท นอกจากนี้ยังมีบทร้อยแก้วกว่า ๖o บท บทกวีของหลี่ไป๋ดึงดูดใจผู้คนทั้งหลายด้วยภาพจินตนาการอันมหัศจรรย์ และให้ภาพที่สง่างาม มีอิทธิพลลึกซึ้งและยืนยาวต่อชนรุ่นหลัง ได้รับการยกย่องจากชนรุ่นหลังว่าเป็น “เซียนแห่งกวี”



ภาพและข้อมูลจากเวบ chinaabc












หลี่ไป๋เป็นลูกพ่อค้าที่ร่ำรวย สถานที่เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด จากการสันนิษฐานน่าจะอยู่ใน Suiye ในเอเชียกลาง (ปัจจุบันอยู่ที่ Tokmak, คีร์กีซสถาน) เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ ครอบครัวของเขาย้ายมาที่เจียงหยู ใกล้กับเมืองเฉิงตูในมณฑลเสฉวน เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญาจีนขงจื้อและเต๋า แต่เนื่องจากมรดกที่มากมายของครอบครัวของเขา ไม่ได้ช่วยให้เขาได้รับโอกาสเหมาะในการเป็นขุนนางในราชวงศ์ถัง แม้ว่าเขาจะเคยคิดจะเป็นขุนนางแต่ก็ไม่เคยไปสอบเข้ารับตำแหน่ง เขากลับเริ่มเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วจีนเมื่ออายุ ๒๕ ปี่ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนรักอิสระ ไม่เหมือนสุภาพบุรุษในลัทธิขงจื้อทั่วไป ด้วยบุคคลิกนี้ทำให้เขาเป็นที่เลื่อมใสจากทั้งขุนนางและคนทั่วไป กระทั่งได้รับการแนะนำถึงจักรพรรรดิถังสวนจงในราวปี ค.ศ. ๗๔๒ เขาได้เข้าสู่ Hanlin Academy ซึ่งขึ้นตรงปราชญ์ผู้รับใช้จักรพรรรดิ หลี่ไป๋อยู่ในฐานะกวีในราชสำนักได้ไม่ถึง ๒ ปีก็ถูกไล่ออกโดยเหตุอันไม่ควร หลังจากนั้น หลี่ไป๋ก็เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วแผ่นดินจีน โดยมิได้ตั้งรกรากที่ไหนอีกเลยตลอดชั่วชีวิต

เขาได้พบกับตู้ฝู่ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. ๗๔๔ และอีกครั้งในปีถัดมา พวกเขาไม่ได้พบกันอีกเลยหลังจากนั้น แต่ตู้ฝู่ก็ยังให้ความสำคัญต่อมิตรภาพของพวกเขาเสมอ (บทกวีของตู้ฝู่หลายบทได้เกี่ยวข้องกับหลี่ไป๋ ในขณะที่หลี่ไป๋เขียนถึงตู้ฝู่เพียงบทเดียว) ในช่วงของ Lushan Rebellion เขาได้ให้เงินช่วยเหลือกบฎต่อจักรพรรดิ (ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าทำไปเพื่อสาเหตุใด) ความล้มเหลวในการก่อกบฎส่งผลให้เขาถูกเนรเทศเป็นครั้งที่สองไปสู่ Yelang แต่เขาได้รับการให้อภัยโทษก่อนสิ้นสุดการเนรเทศ

หลี่ไป๋เสียชีวิตใน Dangtu (ปัจจุบันคือ Anhui) ส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาเสียชีวิตเพราะไล่จับเงาจันทร์ในแม่น้ำ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเพราะพิษตะกั่วเนื่องจากการดื่มยาอายุวัฒนะ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะพิษสุรา


ภาพและข้อมูลจากเวบ Wikipedia



บีจีและไลน์จากคุณญามี่



Create Date :26 กุมภาพันธ์ 2552 Last Update :1 กุมภาพันธ์ 2557 9:10:12 น. Counter : Pageviews. Comments :119