<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
21 ธันวาคม 2557

“มนุษย์ล้อกล้ามบึ้ก” คนแรกของไทย “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้!!”








ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “P.Theerayu Wheelchair Bodybuliding Thailand”




เคยกรอกยาพาราฯ เป็นกำๆ ป้อนใส่ปากตัวเองเพราะรับไม่ได้กับชะตาชีวิต เคยมืดมิดถึงขั้นทำร้ายตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เคยแม้แต่คิดจะปลิดชีวิตด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ เพราะรับไม่ได้กับสภาพครึ่งตัวล่างที่ไร้ความรู้สึก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แม้แต่จะเข้าห้องน้ำ ได้แต่นอนดูเพดานปาดคราบน้ำตาไปวันๆ แต่แล้วถ้อยคำของผู้เป็นแม่ก็ปลุกให้เขาลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง

และครั้งนี้เขาสัญญาว่าจะทำให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ ให้โลกจารึกให้ได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่นั่งวีลแชร์แข่งเพาะกาย เพื่อส่งแรงบันดาลใจนี้ถึงพี่น้องมนุษย์ล้อและคนที่กำลังย่อท้อต่อชะตาชีวิตว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ขอแค่ต้องลงมือทำ!!

“ผมโชคดีที่ผมได้นั่งวีลแชร์แล้วครับ” คือบทสรุปสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงเย็นๆ ของ “เต้ย-ธีรยุ พวงผล” ที่บอกผู้สัมภาษณ์เอาไว้ผ่านปลายสาย ด้วยระยะทางที่ห่างกันทำให้ “โทรศัพท์” ถูกหยิบมาเป็นตัวกลางเชื่อมต่อความห่างไกลในครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พบหน้าค่าตากันจริงๆ แต่กลับไม่ได้ทำให้บทสนทนาระหว่างเราจืดชืดลงไปเลย

ทุกถ้อยคำที่บอกเล่าผ่านน้ำเสียงซื่อๆ ของเขา ยังคงทำให้ผู้รับฟังสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งในทุกความเจ็บปวด, ตื่นเต้น, ดีใจ, และความประทับใจ ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดใครต่อใครจึงยกให้เขาเป็นเน็ตไอดอลสำหรับผู้พิการ

และบรรทัดต่อจากนี้คือถ้อยคำที่กลั่นมาจากใจ เก็บมาจากประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ล้อวัย 32 นายหนึ่งที่ยอมเปิดทุกมุมให้เห็นอย่างที่ไม่เคยให้ที่ไหนมาก่อน


ไม่อยากอยู่แล้ว อยากตาย...





(คุณแม่ผู้อยู่เคียงข้างเมื่อครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต)





จริงๆ แล้ว ผมไม่คิดว่าจะมาเจอกีฬาเพาะกายด้วยซ้ำครับ แต่ผมเป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว เป็นนักกีฬายูโดตั้งแต่อายุ 18 เริ่มเล่นมาตั้งแต่อายุ 16 ตอนนั้นได้เป็นตัวแทนของ จ.ปทุมธานี ไปแข่งสนามเยาวชนแห่งชาติด้วย แต่ดันมาเกิดอุบัติเหตุตอนเก็บตัวซะก่อน วันนั้น ผมนั่งอยู่บนอาคารที่พักนักกีฬาประจำ จ.แพร่ วางมือค้ำไปข้างหลังแล้วมือดันลื่น เลยหงายหลังหล่นลงมาจากตึก 4 ชั้น หลังกระแทกพื้นหมดสติไปเลย

พอตื่นขึ้นมา รู้ว่าขยับไม่ได้ก็รู้แล้วครับ เพราะผมเรียนเกี่ยวกับเรื่องสรีระ Anatomy มาอยู่แล้ว บอกตรงๆ ว่าผมช็อก! คนที่เข้ามาเยี่ยมจะพูดกับเราอยู่แล้วว่าเดี๋ยวก็ขยับได้ เดี๋ยวก็เดินได้ แต่เรารู้ครับว่าถ้าหลังหักแบบนี้อาจจะมีสิทธิ์ขยับได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง แต่นี่ผมไม่รู้สึกอะไรเลยครึ่งตัว รู้เลยว่าต้องเดินไม่ได้แน่ๆ ตอนนั้นรู้สึกอย่างเดียวเลยคือไม่อยากจะอยู่แล้ว...

ในแผ่นฟิล์มเอกซเรย์และใบรับรองแพทย์เขียนไว้ว่า กระดูก L5 ซึ่งเป็นกระดูกช่วงเอวหักครับ หมอนรองกระดูกไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ช่วงใต้สะดือลงไปไม่มีความรู้สึกเลย ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระได้ ผมต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลแพร่ 1 อาทิตย์ แล้วก็ส่งตัวกลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลปทุมฯ อีก 2 เดือน ตอนนั้นก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือตอนกลับมาพักที่บ้านครับ มันหดหู่มาก

มาอยู่ในห้องคนเดียวไม่ได้เจอใคร จากเคยเป็นคนชอบแต่งตัวใส่รองเท้าสวยๆ พอเป็นแบบนี้ ผมก็ไม่สนใจอีกเลย ใครอยากได้เสื้อผ้าอะไรเอาไปให้หมด แล้วตัวเองก็นอนใส่กางเกงในอยู่ที่บ้าน นอนใส่สายฉี่อยู่บนเตียงตามประสาคนป่วย ขาก็ขยับไม่ได้ จะลุกก็ต้องให้คนดันหลัง ให้คุณแม่คอยเช็ดคอยสวนปัสสาวะ-อุจจาระให้ มันเป็นอะไรที่อนาถามากๆ ครับ วันๆ ก็นอนแล้วก็ไม่ทำอะไรเลย แค่ให้ลงมานั่งสูดอากาศปลอดโปร่งหน้าบ้านผมก็ไม่เอา ผมอยากอยู่แต่ในห้อง ตอนนั้นผอมแห้งไปเลย ไม่มีเนื้อเลย




(พ่อและแม่ กำลังใจสำคัญตลอดมาและตลอดไป)




คิดวนๆ แค่ว่า “ไม่อยากอยู่ อยากตาย” แล้วก็เริ่มทำร้ายตัวเอง เคยกินยาพาราฯ ฆ่าตัวตาย เคยนอนถือน้ำยาล้างห้องน้ำแล้วก็คิดๆๆ ว่าจะ กิน-ไม่กิน กิน-ไม่กิน อยู่อย่างนี้ ไม่กล้าทำแต่ก็ไม่อยากอยู่แล้ว คือเราพิการน่ะครับ คำสั้นๆ แค่คำว่า “พิการ” สำหรับเรามันแย่สุดๆ แล้วตอนนั้น เราเคยเดินได้ เราเคยวิ่งได้ ทำไมต้องมานอนอย่างนี้ เราเคยขับถ่ายได้เองตามปกติ ทำไมเราทำไม่ได้แล้ว ต้องให้แม่มาคอยดูแลตลอดชีวิตเหรอ แม้แต่จะเข้าห้องน้ำยังเข้าเองไม่ได้เลย (ย้อนความหลังด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ) แต่มันก็มีจุดเปลี่ยนทำให้ผมลุกขึ้นมานะครับ สิ่งนั้นคือคำพูดของคุณแม่

ตอนนั้น เท้าผมเริ่มตกแล้ว พอเราไม่ได้ใช้เท้านานๆ นอนนานๆ นิ้วเท้ามันจะเริ่มงอลง และหมอก็เคยบอกไว้ว่าอย่าให้นิ้วเท้ามันตกลง แม่ก็เลยต้องซื้อรองเท้าให้ผมครับ แต่ที่ผ่านมาใช้เงินรักษาผมเยอะมากเลย แม่เองก็ไม่ไหวแล้วเหมือนกัน วันนั้น แม่ก็ไปนั่งที่สะพาน ท้อมาก แม่กลับมาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนั้น แม่คิดจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แม่คิดว่าขนาดรองเท้าคู่นึง แม่ยังไม่มีปัญญาซื้อให้ลูกเลย แต่แม่ก็ไม่ทำ แล้วแม่ก็กลับมาหาผม มาถามผมว่า “จะสู้ต่อไปมั้ย?” (ฟังจากน้ำเสียงก็รู้ได้ทันทีว่าคนปลายสายกำลังมีน้ำตารื้นอยู่เต็มสองตา) ผมก็เลยบอกว่า ผมสู้!! แม่เลยบอกว่า ถ้าลูกสู้ แม่ก็สู้ต่อ!! มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า ผมอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้วล่ะครับ ผมต้องทำอะไรซักอย่างนึงแล้ว


จากนั้นผมก็พยายามหาข้อมูลสถานสงเคราะห์จังหวัดว่าที่ไหนเขามีที่ที่ฟื้นฟูคนพิการได้บ้าง หาข้อมูลแล้วก็เจอที่ “ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” ครั้งแรกที่ผมไปที่นั่นมันเหมือนเป็นโลกใบใหม่ของผมเลยครับ ได้เห็นเพื่อนที่พิการเหมือนกันเป็นเด็กผู้หญิงคนนึง เขาปั่นรถวีลแชร์แล้วดูยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขมากๆ เหมือนกับเขาไม่ได้พิการเลย ผมก็เลย เอ้อ... มันไม่ได้มีแค่เราที่เป็นแบบนี้นี่หว่า รู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ได้มีแค่เราที่เคยนอนมองดูเพดานคนเดียวอยู่ที่บ้านอีกแล้ว รู้สึกมีความหวัง แล้วก็เริ่มหัดกายภาพอย่างจริงจัง





(อีกหนึ่งไออุ่นจากคุณพ่อ กำลังใจสำคัญของเต้ย)



(ผลจากกายภาพบำบัด ยืนได้ด้วยขาขวาแต่ยังต้องใช้แขนช่วยพยุงตัวไว้)



อย่างแรก ผมต้องเรียนเรื่องกายภาพบำบัด อย่างที่สอง เรียนเรื่องการใช้ชีวิตบนวีลแชร์ให้ได้ ฝึกการใส่เสื้อผ้า-ติดกระดุมเสื้อ เข็นรถเข้าห้องน้ำทำยังไง ต้องฝึกใหม่หมดเลยครับ แต่พอทำได้ปุ๊บก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น บอกพ่อไม่ต้องช่วยละ เริ่มสนุกกับชีวิตบนวีลแชร์ละ เขาก็สอนให้ผมใช้ชีวิตแบบ Independent Living (IL) น่ะครับ คือใช้ชีวิตด้วยการพึ่งตัวเอง อย่าไปฝันว่าเราจะหาย แต่ต้องคิดว่าจะใช้ชีวิตยังไงให้อยู่บนวีลแชร์ให้ได้โดยไม่ลำบากคนอื่น พอทำได้มันก็เริ่มทำให้ผมมีรอยยิ้มขึ้นมา

หลังจากนั้น ผมก็รับได้ในเรื่องของความพิการหมดเลย ผมรู้เลยว่าผมสามารถจะใช้ชีวิตอยู่บนวีลแชร์ได้ ผมไม่ใช่คนพิการสมัยเก่าที่ต้องนอนอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไปแล้วครับ เป็นคนพิการที่สามารถออกสู่โลกภายนอกได้ เขาสอนผมแบบนั้นเลย สอนให้ผมใช้ชีวิตบนวีลแชร์และทำได้แบบไม่อาย ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องนั่งวีลแชร์

ทุกวันนี้ คำว่า “พิการ” สำหรับผมมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากคนอื่นเลย เราแค่เดินไม่ได้ ขยับขาไม่ได้ เราแค่เป็น “มนุษย์ล้อ” คนนึง เราแค่เป็นคนพิเศษเท่านั้นเอง

พร้อมสร้างประวัติศาสตร์ที่ชาติไทยต้องจารึก!







พอหลังจากที่ผมออกมาจากศูนย์สิรินธรฯ ก็เรียกว่าผมเป็นคนพิการขั้น Advanced แล้วครับ กลับมากายภาพบำบัด ทำนู่นนี่ที่บ้านเองได้ พอวันนึง คุณแม่ได้ย้ายมาภูเก็ต ผมก็ย้ายตามมา แล้วก็ได้มาเจอครอบครัวชาวฝรั่งที่เขามาอุปถัมภ์เราครับ เพราะเมืองภูเก็ตจะมีฝรั่งเยอะ และเขาก็สอนให้ผมรู้สึกคิดในแง่บวก อย่าไปมองว่าขาคุณใช้ไม่ได้ แต่ให้คุณคิดว่าสมองกับแขนคุณยังมี คุณยังทำได้อีกหลายอย่าง

อันนั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมลุกขึ้นมาเรียนรู้คอมพิวเตอร์, การทำเว็บไซต์ และการออกแบบกราฟิกดีไซน์ โดยที่ผมไม่เคยได้เรียนมาก่อน มันเลยทำให้ผมเปลี่ยนนิสัยไปเลย กลายเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง ถ้าเกิดผมจะทำอะไร ผมคิดว่าผมทำได้ ผมจะไม่ยอม ถึงแม้ผมจะไม่มีคนมาสอนให้ทำตามหลักสูตรเป๊ะๆ แต่ผมก็จะหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

หลังจากนั้น ผมก็เริ่มกลับมาเล่นกีฬาอีกครั้ง ซึ่งจุดเปลี่ยนมันมาจากความอ้วนของผมนี่แหละครับ (น้ำเสียงของคนปลายสายบ่งบอกว่าเขากำลังยิ้มอยู่) ด้วยความที่ผมไม่ได้ออกกำลังกายมานานแล้ว ผมก็เลยอ้วนมาก (เน้นเสียง) อ้วนจนแบบ... ขอโทษนะครับ นั่งแล้วมองลงไปไม่เห็นอวัยวะเพศของตัวเอง พุงมันปิดหมดเลย เวลายกตัวก็ลำบาก มีฉี่ซึมบ้างเพราะปกติแล้วคนพิการจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหูรูดอยู่แล้ว จากจุดนั้นเลยตัดสินใจว่าต้องหาทางเล่นกีฬาซักอย่างละ



(เปลี่ยน “อ้วน” เป็น “ล่ำ” ได้เพราะใจสู้)


(การโชว์ตัวครั้งแรกของเต้ยในฐานะ Wheelchair Bodybuilder)



บวกกับช่วงนั้นมีแฟนด้วย มีแฟนเป็นคนปกตินะครับ เราก็อายแทนที่เขาต้องมาเดินกับคนพิการอ้วนๆ ก็เลยตัดสินใจหากีฬาเล่น ลองเข้ายิมแล้วก็ยกเวทดูครับ ยกไปยกมาไปเจอพี่ที่เคยเป็นแชมป์โลกเพาะกายทีมชาติประเภทหญิงคนนึงชื่อ “พี่จุ๋ม” เขาแนะนำให้ผมเล่นจนเล่นไปเรื่อยๆ แล้วมันได้ผล น้ำหนักตัวผมลดลง พอผอมลงปุ๊บ เราดูมั่นใจมากขึ้น แล้วมันก็เลยเถิดกลายเป็นเพาะกายได้ยังไงก็ไม่รู้ครับ (หัวเราะเบาๆ)

ผมเริ่มค้นพบว่า เอ๊ะ! ทำไมในเมืองไทยไม่มีคนที่นั่งวีลแชร์เล่นแบบนี้ เลยคิดว่าเราน่าจะทำได้นะ เราน่าจะเป็นที่หนึ่งในประเทศไทยได้นะ!! ผมเลยบอกพี่จุ๋มว่า เวที “Phuket Classic 2014” (เวทีแข่งขันสำหรับนักกีฬาเพาะกายรายการใหญ่ในไทย) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเนี่ย ถ้าผมสามารถสร้างตัวเองให้ใหญ่ขึ้นได้ พี่จะให้ผมขึ้นเวทีมั้ย ผมพยายามเข้ายิม ควบคุมอาหาร แล้วก็ฟิตซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สุดท้าย พี่เขาเห็นว่าหุ่นเราใช้ได้ก็เลยอนุญาตให้ขึ้นเวทีได้ แล้วก็กลายเป็นว่าผมได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เห็นในวันนั้น ชีวิตมันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยแหละครับ (น้ำเสียงของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ)


ถึงตอนนี้ ผมก็ผันตัวมาเป็นนักกีฬาแบบเต็มตัวแล้วครับ ตอนนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เล่นกีฬาอย่างเดียว ซ้อมเยอะๆ แล้วก็จะมีคนจ่ายเงินเดือนให้ผม ผมก็แค่ออกกำลังกาย ฟิตหุ่นเป็นนักกีฬาอาชีพไปเลย เส้นทางความฝันของผมมันยิ่งใหญ่มากครับ ถ้าเกิดคนฟังแล้วอาจจะหัวเราะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นไปได้!

ผมฝันว่าจะได้เป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่นั่งวีลแชร์แล้วไปถึงเวทีระดับโลก IFBB (International Federation of Bodybuilding and Fitness) เป็นโปรวีลแชร์ไทยคนแรกที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยครับ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครทำแบบผมมาก่อน นั่งวีลแชร์แล้วมาเล่นเพาะกายแบบนี้ ฉะนั้น ผมคิดว่าผมน่าจะทำได้ดีเพราะตอนนี้ตัวผมก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ละ และทีมฝรั่งที่ดูแลผมอยู่เขาก็พร้อมจะผลักดันผมให้ขึ้นไปสู่ระดับนั้นให้ได้







(ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง!!)


(วีลแชร์เพาะกายในหมู่นักเพาะกายชาย ความเหมือนในความต่าง)



ผมคิดว่าถ้าผมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ผมก็อาจจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์อีกอย่างนึงคือ ให้ทางสมาคมหันมาสนใจและผลักดันด้านนี้ ถึงจะไม่ได้ส่งพวกเราไปแข่ง แต่อาจจะสนับสนุนให้มีเวทีสำหรับคนวีลแชร์เพาะกายแบบนี้บ่อยๆ ให้คนเห็นมากขึ้น คนพิการด้วยกันมาเห็นจะได้อยากมาเรียนรู้ มาเพาะกายเหมือนกัน ก็อยากให้กีฬาเพาะกายเป็นกีฬาที่คนพิการหันมาเล่นกันบ้าง


ที่ผมตัดสินใจขึ้นไปโชว์ตัวบนเวทีแบบนี้ เป็นเพราะผมอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนพิการด้วยกันเป็นอันดับแรกเลยครับ อยากให้เขามองเห็นผมแล้วคิดว่า เขาก็ทำได้เหมือนกัน อยากให้เขาลุกขึ้นมาออกกำลังกายหรือทำอะไรก็ได้ ไม่อยากให้นอนอยู่แต่ที่บ้าน อยากให้เขาเข้ามาคุยกับผม เข้ามาหาผม ผมพร้อมจะแนะนำทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องออกกำลังกายอย่างเดียว ผมผ่านอะไรมาเยอะครับ แต่พอได้ขึ้นไปโชว์บนเวที ผมกลับรู้เพิ่มอีกว่า ผมสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนปกติได้ด้วย คนที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่ชอบอ้างว่า ติดนู่นนี่นั่น เหตุผลอะไรที่ผมคิดว่าไม่สมควรจะอ้าง ก็อยากให้เขามามองที่ผมว่า ผมต้องติดกับวีลแชร์ขนาดนี้ ผมยังไม่ต้องอ้างเลย (หัวเราะ) ผมยังทำได้เลย ผมยังก้าวข้ามผ่านมันไปได้เลย


ตอนนี้ ผมอยู่ในช่วงเก็บตัวซ้อม ถ้าถึงเวลาไปแข่ง ถึงผมจะไม่ได้ถูกส่งไปในนามทีมชาติไทย แต่ผมจะมีธงชาติไทยติดตรงหน้าอกครับ และจะไปในนามประเทศไทย ผมอยากให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับในตัวผม ยอมรับในคนพิการว่า เราทำได้ดีกว่าคำว่า “พิการ” ผมอยากสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง สร้างชื่อเสียงให้ครอบครัวแล้วก็ประเทศไทยครับ!


ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด-อุปสรรคในชีวิต!



(ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด แม้ร่างกายครึ่งล่างใช้ไม่ได้)


(ทำได้เกินกว่าคนร่างกายปกติทั่วไปเสียอีก)






(ออกไปปั่นวีลแชร์รอบสนามเด็กเล่นทุกเช้า วันละ 45 นาทีเพื่อเบิร์นไขมัน)



ปกติแล้ว จะเพาะกายให้กล้ามใหญ่ขึ้นได้ก็ยากอยู่แล้วนะ ยิ่งเราเป็นแบบนี้มันยิ่งยากกว่าคนปกติมากเข้าไปอีก อุปสรรคอย่างแรกเลยคือ เรื่องการย้ายตัวเข้าไปในเครื่องเล่นบางชนิด หรือการเล่นบางท่าที่ทำไม่ได้เหมือนคนทั่วๆ ไป อย่างผมจะเล่นท้องลำบากเพราะผมจะทำท่าซิตอัพลำบาก ก็ต้องดัดแปลงหาท่าที่เหมาะสมกับเรา


ผมใช้วิธีเคลื่อนตัวลงมาจากวีลแชร์ ลงมาที่พื้นด้านล่าง หาอะไรปู เพื่อไม่ให้เจ็บหลัง นอนลงพื้น แล้วก็จับขาตัวเองทั้งสองข้างขึ้นมาชันเข่า แล้วก็ซิตอัพขึ้นมาเท่าที่เราทำได้ แค่ยกคอขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าบางคนก็อาจจะจำเป็นต้องหาผู้ช่วยครับ มาช่วยจับขาไว้ด้วย แต่สำหรับผมค่อนข้างจะชำนาญแล้ว ค่อนข้างรู้จังหวะและน้ำหนักว่าแบบไหนได้-ไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเป็นคนพิการใหม่ๆ แล้วมาเล่นหรือคนที่ไม่ค่อยมีแรงหน้าท้อง อาจจะต้องมีคนจับขาให้ก่อนครับ


อุปสรรคอย่างที่สองคือ เรื่องการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนล่าง ปกติแล้วร่างกายจะแบ่งการรับน้ำหนักออกเป็นส่วนบนกับส่วนล่างอยู่แล้วครับ ถ้าคนทั่วไปยกของหนัก เขาจะสามารถทรงตัวได้เพราะมีร่างกายส่วนล่างช่วยผ่อนแรง เปรียบเทียบง่ายๆ เวลาเรานั่งยกของหนักๆ จะยกได้ไม่มากเท่าเวลายืนยก เพราะการกระจายน้ำหนักมันไปถึงร่างกายครึ่งล่างด้วย แต่ถ้าพิการครึ่งตัวแบบนี้ เวลายกอะไรหนักๆ ปุ๊บ ร่างกายก็จะตะแครงล้มได้ง่ายๆ ผมเองก็ยืนไม่ได้และการทรงตัวช่วงล่างก็ไม่มี มันก็เลยค่อนข้างลำบากมากกว่าคนปกติที่เล่นเพาะกาย


อุปสรรคอย่างที่สามคือ เรื่องแผลกดทับ พอยกหนักๆ มากๆ เข้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจจะมีผลต่อน้ำหนักที่กดลงที่ตัวเรา ทำให้เกิดแผลกดทับบริเวณก้น ซึ่งตอนนี้ผมก็เป็นอยู่และมันค่อนข้างลำบากมาก คนพิการอย่างผม ครึ่งตัวล่างเราไม่รู้สึกเลย นั่นแปลว่าเราไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ และการจะเล่นให้ร่างกายใหญ่ๆ มันก็ต้องใช้น้ำหนักเยอะขึ้น มันลำบากมากครับที่จะเล่น


การฝึกบางท่า แรกๆ ผมก็ทำไม่ได้เหมือนกันครับ ก็ต้องเริ่มดูจากคนปกติก่อนว่าเขาทำยังไง ดูว่าเราพอจะทำได้มั้ย แล้วค่อยๆ ลองทำดู พอติดขัดตรงไหนก็ค่อยๆ ซ่อมตรงนั้น หรือบางทีอยากได้ท่าใหม่ๆ ผมก็จะเข้าไปเสิร์ช Youtube เห็นว่าวีลแชร์เพาะกายอเมริกาเขาหน้าท้องสวยจัง เขาทำยังไง เราก็ไปดูวิธีการเล่นของเขาแล้วก็มาดัดแปลงเป็นของเรา


ถ้าอยากมี Six-Pack มันเป็นเรื่องของไขมันสะสมด้วย เวลาเราเล่นหน้าท้อง หน้าท้องจะไม่โผล่มาเป็นลูกๆ นะครับเพราะมันมีชั้นไขมันบังอยู่ แต่ถ้าเกิดอยากให้มันชัดขึ้น เราก็ต้องเบิร์นไขมันออก ผมเลยต้องใช้วิธีเบิร์นด้วยการปั่นวีลแชร์ครับ ปั่นรอบสนามเด็กเล่นไปเรื่อยๆ ทุกเช้าประมาณ 45 นาที หรือถ้าวันไหนฝนตก ผมก็จะไปที่ยิม นั่งลงกับพื้น แล้วก็เอามือปั่นที่ปั่นล้อจักรยานออกกำลังกาย 45 นาที


ที่ผ่านมาก็เคยมีน้องๆ ที่ต้องนั่งรถเข็นเหมือนกันโทรศัพท์เข้ามาบ้าง มี Inbox เข้ามาทางเฟซบุ๊กบ้างว่า สนใจจะเล่นเพาะกายแต่มันลำบากสำหรับร่างกายแบบนี้ มีมาถามๆ แล้วซักพักก็หายไป เหมือนกับเขาขาดคนแนะนำและขาดการเล่นที่ถูกต้องก็เลยทำไม่สำเร็จ ตอนนี้ผมก็เลยพยายามจะรวมกลุ่มพวกเรากันเองตรงนี้อยู่ แต่ก็ยังหายากมากครับ แล้วก็มีอีกหลายคนที่ปกติดีแต่มองว่าผมเป็นเน็ตไอดอล มองว่าผมยังทำได้เลย แล้วทำไมเขาเป็นปกติดี ทำไมเขาจะทำไม่ได้ เขาต้องเริ่มต้นใหม่ละ เขาต้องสู้ละ (ยิ้ม) อันนี้ผมดีใจมากเลย เพราะที่ทำอยู่มันเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดหลายๆ อย่างของผมเหมือนกันนะ


ต้องบอกว่า “ผมโชคดีที่ผมได้นั่งวีลแชร์แล้วครับ” การนั่งวีลแชร์มันทำให้ผมรู้จักการวางแผนมากขึ้น ถึงมันจะมีลิมิตบางสิ่งบางอย่างขวางเราอยู่ แต่ผมก็จะชอบก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ ถ้าเป็นแต่ก่อน พอคิดจะทำโปรเจกต์อะไรขึ้นมาแล้วอาจจะเหลวเป๋ว ทำได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วก็ล้มเลิก ไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย ขี้เบื่อ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต แต่ตอนนี้ เจออะไรผมก็จะไม่ยอมแพ้!




(ใส่กางเกงขาสั้นออกไปที่ไหนๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องอายใคร)




ถ้าให้มองกลับไปตอนที่ท้อแท้กับชีวิตถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย รู้สึกเลยว่า เรียกว่าหน้ามือกับหลังมือยังน้อยไป นรกกับเหวเลยครับ ผมจำความรู้สึกวันนั้นไม่ได้แล้วว่ามันเป็นยังไง (ยิ้มไปพูดไป) ผมนั่งยิ้มมากกว่าที่จะมานั่งเสียใจ ผมใช้เวลามีความสุขกับการเทรน มีความสุขกับการพูดคุยกับทุกคนที่เข้ามาหาผม มากกว่าที่ผมต้องมานั่งเครียดว่าผมจะอยู่ยังไง มันแทบจะกลืนหายไปหมดแล้วความรู้สึกนั้น


ตอนนี้ผมถูกความสุขกลืนความรู้สึกตอนนั้นไปหมดแล้ว ผมแทบจะไม่คิดถึงช่วงนั้นแล้ว ถ้าจะให้ผมพูดถึงความรู้สึก คงเปรียบเทียบได้ไม่เยอะ ผมรู้แค่ว่าตอนนี้ผมมีหน้าที่ต้องอยู่ต่อไป อยู่ต่อเพื่อจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี ทำตัวเองให้ดีเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวผมเป็นอย่างแรกเลย และอย่างที่สองก็คือแบ่งปันความสุขความสามารถของเราให้แก่คนรอบข้าง ผมคิดว่าผมทำตรงนี้ได้ดีและจะทำต่อไป


สำหรับคนที่ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ในชีวิต ผมก็อยากเป็นกำลังใจให้ครับ อยากบอกว่าผมเคยสัมผัสอารมณ์นั้นมาก่อน ผมรู้ว่ามันยิ่งใหญ่มากแค่ไหน ผมไม่เคยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของใครเป็นเรื่องไร้สาระ หรือคิดว่า เฮ้ย! มันแค่นิดเดียวเอง แบบนั้นผมไม่เคยคิดเลย เพราะผมเคยรู้มาก่อนว่าความรู้สึกสิ้นหวังถึงขนาดที่ว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เนี่ย มันทรมานแค่ไหน แต่ถ้าเกิดเราจมอยู่แค่นั้น คิดแค่ว่าเราไม่สามารถทำนู่นนี่นั่นได้ เราก็จะไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาได้


เมื่อไหร่ก็ตามที่เราก้าวข้ามคำว่า “ทำไม่ได้” แล้วทดลอง “ลงมือทำ” เราจะรู้ว่า “เราทำได้” คือตอนแรกอาจจะทำได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำก่อน มันก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย และพอได้ลงมือทำปุ๊บ เราจะรู้เลยว่าจุดไหนที่เราจะต้องปรับปรุงแก้ไข และกำลังใจมันก็จะเริ่มมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นเอง


แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเริ่มดีขึ้นครับพอเราได้เริ่มลงมือทำ ไม่ว่ากับเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกิดวันนี้เรายังเขียนหนังสือไม่เป็น แต่แขนเรายังใช้ได้ เราก็ต้องหัดเขียนหนังสือจนเขียนได้ ถ้าเกิดสมองเรายังใช้ได้ แต่เรายังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ ยังเรียนรู้เรื่องต่างๆ ไม่สำเร็จ แต่วันนึงถ้าเราตั้งใจลุกขึ้นมาอยากจะเรียนรู้มัน ถ้าเราตั้งใจทำมันจริงๆ เราทำได้แน่นอน! และไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามา ทุกวันนี้ผมไม่มองว่ามันเป็นอุปสรรคเลย ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด อยู่ที่ว่าจะเป็นไปได้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง


ความรักมาแน่ แค่ดูแลตัวเองให้ได้

ใครจะมารักคนพิการ? หลายๆ คนคงคิดแบบนี้ แต่บทพิสูจน์ที่เกิดขึ้นกับเต้ยจะทำให้คุณมองโลกในแง่บวกมากขึ้น รวมถึงคนที่พิการ บอกได้เลยว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะภรรยาคนปัจจุบันของเขาก็คือผู้หญิงที่มีร่างกายครบ 32 คนหนึ่ง และชีวิตรักของเต้ยก็ไม่มีอะไรผิดแผกไปจากผู้คนบนท้องถนนเลย


“ตอนแรกผมก็คิดว่าคงไม่มีใครจะมารักคนที่พิการหรอก แต่พอผมได้เจอ ผมถึงรู้ครับว่า ในโลกนี้ยังมีคนหลายประเภทนะ คนที่เขามองข้ามสิ่งที่เราเป็นและมองเข้าไปข้างในหัวใจเราก็มีเหมือนกัน ผมก็ไม่สามารถบอกได้ครับว่าเขารักผมตรงไหน แต่ผมก็ทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เวลาผมจะเข้าไปจีบใคร ผมประเมินตัวผมเองก่อนว่า เราจะทำให้ชีวิตเขาลำบากมั้ย ถ้าดึงเขามาในชีวิตแล้วทำให้เขาลำบาก ผมไม่เอา (น้ำเสียงเด็ดขาด)




(ความรักอยู่ไม่ไกล เมื่อรู้จักรักตัวเอง)



(ไปไหนมาไหนกับภรรยาได้อย่างคนปกติ)




ผมมีเพื่อนในเฟซบุ๊กหรือเพื่อนในโลกปกติที่เป็นคนพิการ หลายคนชอบคร่ำครวญเรื่องของความรัก อันนี้ผมไม่ได้ซ้ำเติมนะครับ แต่ผมอยากจะบอกว่าก่อนที่เราจะรักใคร เราต้องดูก่อนว่าตัวเราเองน่ะรักตัวเองแค่ไหน ถ้าเกิดเราเอาเขามาลำบาก ตัวเรายังเป็นภาระอยู่ ผมอยากให้แก้ไขในจุดนี้ก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อน มันจะเป็นไปตามสเต็ปของมันเอง เราดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เราทำตัวเองให้พร้อม มีเงินเดือน มีงาน ไม่ทำให้คนอื่นเขาลำบากไปกับเรา ทำได้ปุ๊บ ถ้าเกิดจะชอบใครก็เข้าไปจีบเขาได้เลยครับ ถ้าจีบเขามาแล้วมั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระให้เขามาดูแลคุณ ก็สมควรที่จะกล้าจีบ แต่ถ้าเกิดว่าคุณยังไม่สามารถที่จะทำตัวเองให้ดีให้พร้อมได้ ก็ขอให้มันเป็นไปตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนดีกว่า


คนพิการบางคนคร่ำครวญอยากมีความรักว่า ไม่มีใครเอาฉันเลย ไม่มีใครรักฉันเลย ผมว่าจริงๆ แล้วมันแก้ไขได้ง่ายนิดเดียวคือ คุณต้องมองตัวเองก่อนว่าเราพร้อมแค่ไหนที่จะดูแลคนอื่น ไม่ใช่คนอื่นมาดูแลเรา


เรื่องของความรักเนี่ย เราอย่ารักแค่ตัวเราเอง เราต้องรักคนที่เขามารักเราด้วย ถ้าเกิดว่าเขาอยู่กับเราแล้วลำบาก อยู่กับเราแล้วเหนื่อย เราอย่าเพิ่งมีดีกว่า แต่ถ้าเกิดเขาอยู่กับเราแล้วมีความสุข เขาสามารถไปไหนมาไหนกับเราด้วยรอยยิ้มได้ ก็มีเถอะครับ ทุกคนมันมีได้อยู่แล้วความรัก แล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีใครรักเรา ทุกคนเกิดมามีคู่พร้อมอยู่แล้วครับ ตะเกียบยังมีคู่ เมื่อถึงเวลาเดี๋ยวจะเจอกันเองครับ


ผมไม่เคยมองว่าความพิการจะทำให้เราสูญเสียความรักเลยครับ ช่วงแรกๆ อาจจะมีเหมารวมบ้าง อันนั้นเป็นเพราะเรายังอยู่ในช่วงหมดศรัทธา หมดความหวังอยู่ แต่พอเราได้เรียนรู้ชีวิตที่เป็นจริงแล้ว จะรู้เลยว่าคำว่า “พิการ” มันคือคำที่ล้าสมัยไปแล้ว คำนี้สำหรับผมตอนนี้ มันแทบไม่มีผลกระทบอะไรในชีวิตเลยครับ แทบไม่แตกต่างอะไรจากคนปกติเลย งานการอะไรๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ โลกของอินเทอร์เน็ตยังมีให้เราเรียนรู้ได้อีกเยอะ แต่คนพิการบางคนเล่นแต่เฟซบุ๊ก ไม่เรียนรู้อะไรเลย มันก็จะอยู่แค่นั้นแหละครับ”


เราไม่ต้องการความสงสาร แค่ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐาน!


แค่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนคนทั่วไปยังหาที่ดีๆ ได้ยากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมแบบนี้เลย เต้ยจึงมีอีกหนึ่งเรื่องที่รู้สึกอึดอัดและอยากฝากเอาไว้ในฐานะ "มนุษย์ล้อ" คนหนึ่ง


"จริงๆ แล้วมีคนที่พิการที่มีประสิทธิภาพเหมือนผมอีกเยอะแยะมากมาย แต่เขาไม่มีโอกาสเหมือนผม อย่างโอกาสเรื่องพื้นฐานเลยคือเรื่องสาธารณูปโภคที่มันขัดความก้าวหน้าของเขา มันกีดขวางทำให้เขาก้าวข้ามคำว่า “พิการ” ไปได้ยากมาก อีกเรื่องคือการสนับสนุนเรื่องการศึกษาหรือทางการแพทย์ ในบ้านเรามีตรงนี้น้อยมาก เทียบกับเมืองนอกแทบจะไม่ติดขี้ฝุ่นเลย เรื่องรถเมล์สาธารณะสำหรับคนพิการก็ไม่มี การรักษาของคนพิการก็ลำบาก ถ้าติดเชื้อก็ตาย


หรือเวลาอยากออกไปนอกบ้าน ไปบางที่ก็ทำให้ท้อได้เหมือนกันนะครับ แต่เป็นช่วงสั้นๆ นะ ประมาณว่าไม่อยากไปแล้ว บางทีไปเดินเที่ยวห้างฯ เวลาจะเข้าห้องน้ำคนพิการแล้วมีคนมาเข้า หรือที่จอดรถคนพิการ ไปแล้วไม่มีที่จอด ก็รู้สึกว่าไม่ไปดีกว่า บางทีก็เบื่อนะครับที่ต้องรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เพราะที่อยู่ทุกวันนี้ก็รู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบอยู่แล้ว (หัวเราะ)

เวลาคนพิการปวดท้อง ห้องน้ำที่เขาเข้าได้อย่างเดียวคือห้องน้ำคนพิการ แล้วพอจะเข้าดันมาเจอ มนุษยป้า, มนุษย์ลุง, มนุษย์พี่ ฯลฯ อะไรไม่รู้เต็มไปหมด เคยเจอคุณป้าคนนึงบอกว่าฉันแก่แล้ว ฉันจะเข้าตรงนี้ อะไรแบบนี้ ก็คงต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับคนพิการกันใหม่ครับ


และมันก็ยังมีเรื่องที่สังคมยังไม่เข้าใจว่าคำว่า “พิการ” ว่าคืออะไร คนส่วนใหญ่ยังมองว่าผู้พิการคือผู้ทุพลภาพ แต่ยังไม่มองว่าเราคือผู้ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน มองไม่เหมือนกับฝรั่งครับ อยากให้รู้ว่าคนพิการอย่างเราไม่ได้ทำได้แค่ขายลอตตารีนะครับ เราทำได้มากกว่านั้น เพียงแต่ว่าคุณจะสามารถดึงความสามารถตรงนั้นออกมาได้มากน้อยแค่ไหน พวกเราพร้อมที่จะโชว์ความสามารถอยู่แล้ว ต้องบอกว่าเวลาอยู่กับฝรั่งเหมือนอยู่คนละโลกกับคนไทยเลย อยู่กับฝรั่งผมแทบจะเป็นคนปกติเลยครับ



คือว่าคนไทยเป็นคนมีเมตตา เป็นคนชอบช่วยเหลือคน แต่บางทีสายตาที่มองเข้ามามันทำให้เรารู้สึกอึดอัด พูดกันตรงๆ คือถ้าคนพิการอย่างพวกเราต้องการความช่วยเหลือ เราจะเข้าไปขอเองครับ เพราะเราถูกฝึกมาให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด คนพิการที่ออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้วคือคนพิการที่ถูกฝึกมาให้เชื่อมั่นในการช่วยเหลือตัวเอง ถ้าเกิดเราจะทำอะไรซักอย่างแล้วมีคนวิ่งกรูกันเข้ามาช่วย หรือมองอย่างพะวงๆ ซึ่งเรารู้ว่าเขาห่วงเรานะ แต่บางทีมันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! อะไรวะ ทำได้น่า บางทีมันยิ่งทำให้เรารู้สึกอายเข้าไปใหญ่ อย่ามามุงได้มั้ย อะไรประมาณนี้น่ะครับ" เขาหัวเราะเบาๆ ปิดประโยค





(ร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่ชีวิตก็เพียบพร้อมได้ ไม่ยากเกินใจจะทำ!!)



(น้องน้ำอิง ลูกสาว อีกหนึ่งน้ำหล่อเลี้ยงทางใจให้มีแรงสู้ต่อไป)




สัมภาษณ์โดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: แฟนเพจ “P.Theerayu Wheelchair Bodybuliding Thailand”, เฟซบุ๊ก “Theerayu Pungpol”








ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการรายวัน













Create Date : 21 ธันวาคม 2557
Last Update : 21 ธันวาคม 2557 12:05:16 น. 1 comments
Counter : 4498 Pageviews.  

 



โดย: ญามี่ วันที่: 21 ธันวาคม 2557 เวลา:12:08:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]