<<
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
2 กรกฏาคม 2557

หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!








วิธีการผสมคำแบบพิสดาร เฉพาะหลักสูตรในบางโรงเรียนเท่านั้น!!


ตะลึง!! เมื่อผู้ปกครองเปิดบทเรียน “การอ่านภาษาไทย” ของเด็กชั้นประถมขึ้นมาแล้วต้องถึงกับอึ้ง! เพราะอ่านไม่ออก!! มานั่งเพ่งพินิจดูยิ่งงงหนักว่า ภาษาไทยที่เคยเข้าใจหายไปไหน... แปด อ่านว่า “ปอ-แอ-ดอ”, โต อ่านว่า “ตอ-โอ”, จำ อ่านว่า “จอ-อำ” การผสมคำแบบเดิมๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว

เพราะที่อยู่บนหน้ากระดาษกลับสอนรูปแบบพิสดารให้เด็ก... แปด อ่านว่า “แอ-ปอ-ดอ”, โต อ่านว่า “โอ-ตอ” และ จำ อ่านว่า “จอ-อำ-อา”!! เกิดปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่แตก ผู้ใหญ่อ่านแบบเรียนเด็กไม่รู้เรื่อง กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ดุเดือดอยู่บนโลกออนไลน์ในขณะนี้!!







หลักสูตรพิเรนทร์? ต้องฟ้องถึงครูใหญ่!!


เมื่อคำว่า “เก” ไม่ได้อ่านว่า “กอ-เอ” แต่อ่านว่า “เอ-กอ”
เมื่อคำว่า “จำ” ไม่ได้อ่านว่า “จอ-อำ” แต่อ่านว่า “จอ-อำ-อา”
เมื่อคำว่า “มือ” ไม่ได้อ่านว่า “มอ-อือ” แต่อ่านว่า “มอ-อือ-ออ”
เมื่อคำว่า “เสื่อ” ไม่ได้อ่านว่า “สอ-เอือ-เสือ-ไม้เอก-เสื่อ” แต่อ่านว่า “เอ-สอ-อือ-ไม้เอก-ออ”!!!

ทั้งหมดนี้คือวิธีการสอนที่เขียนลงไปในแบบเรียนของเด็กชั้นประถมของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งจริงๆ โดยให้เหตุผลที่ต้องสอนให้แตกต่างจากความคุ้นชินของคนทั่วๆ ไปเอาไว้ว่า

“สะกดอ่านเรียงไปตามตัวอักษร เพื่อให้เด็กเขียนได้เร็วและถูกต้อง สามารถวางตำแหน่งของสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และตัวสะกด ได้ถูกที่”

มองเผินๆ แล้วอาจจะเป็นวิธีการสอนที่ดูสร้างสรรค์และน่าจะช่วยให้เด็กๆ เขียนหนังสือได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะการสอนด้วยวิธีเดิมๆ อาจทำให้เด็กเขียนผิดได้ง่ายๆ เช่น ถ้าอ่านคำว่า “เก” เป็น “กอ-เอ” ตามวิธีการสอนที่หลายคนร่ำเรียนกันมา อาจทำให้เด็กเขียนตามคำอ่านจนกลายเป็น “กเ” หรือ คำว่า “แปด” ถ้าอ่านว่า “ปอ-แอ-ดอ” จะก็เป็น “ปแด”

แต่หารู้ไม่ว่า วิธีการสอนแบบใหม่นี้แหละที่น่าจะ “สร้างปัญหา” มากกว่าจะ “แก้ปัญหา” เพราะการสอนให้เด็กอ่านแยกชิ้นส่วนตามตำแหน่งการวางของพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ และตัวสะกด ทำให้เด็กเขียนถูกก็จริง แต่กลับทำให้พวกเขา “เขียนถูกแต่อ่านไม่ออก” และอีกสารพันปัญหาที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยโวยว่อนเน็ตว่า จะไม่ยอมให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนที่สอนแบบนี้เด็ดขาด!!

“แทนที่จะแก้ปัญหา คิดว่าน่าจะสร้างปัญหามากกว่านะคะ เพราะแทนที่จะให้เด็กรู้จักสระของภาษาไทยให้ครบ ให้ถูกต้อง แต่นี่มาใช้วิธีให้เด็กท่องเป็นส่วนๆ ทีนี้เด็กก็จะงงว่า เอ๊ะ! สระภาษาไทยมีกี่ตัวกันแน่ เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นการสอนที่ไม่มององค์รวมของคำน่ะค่ะ เรารู้สึกว่าเขาไปโฟกัสแก้ปัญหาเรื่องเขียนผิดมากเกินไป แต่สิ่งที่ควรจะทำคือต้องสอนให้เด็กรู้จัก พยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ ในภาษาไทยให้ครบต่างหาก

เราทำงานแปล อยู่กับตัวอักษร เห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกว่าเสียดายภูมิปัญญาของบรรพบุรุษค่ะ สมมติว่าโรงเรียนอื่นเห็นว่าวิธีสอนแบบนี้ดีและทำตามกัน มันไม่ใช่แน่ๆ ค่ะ อย่างเรามี “สระเออ” เวลามาอ่านสะกดคำแบบนี้ก็จะกลายเป็นแค่ “สระเอ+อ อ่าง” เพราะเขาอ่านแยก เด็กก็จะจำไม่ได้ว่ามันมาจากสระเออ และทำให้เด็กไม่ได้รู้จักภาษาไทยที่ถูกต้อง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความลึกซึ้งในตัวเองค่ะ ไม่ใช่จะเอาสัญลักษณ์มาใส่รวมกันแล้วมองแค่นั้น

เพื่อนๆ ที่เป็นแม่เหมือนกันก็ตกใจเหมือนกันค่ะที่เห็นแบบเรียนนี้แชร์กัน ทุกคนคิดเหมือนกันว่า ฉันคงสอนลูกฉันไม่ได้แน่ๆ และเราจะไม่ส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่สอนแบบนี้ บอกเลยค่ะ (น้ำเสียงเด็ดเดี่ยว) ถ้าอยากจะให้ลูกเราเรียนแบบนี้ อย่าเรียกมันว่าภาษาไทยค่ะ เรียกว่าการสะกดคำ คือถ้าจะให้เรียน คุณต้องมีหลักภาษาที่ถูกต้องสอนเด็กด้วย สมมติว่าถ้าลูกเราเรียนโรงเรียนที่มีหลักสูตรสอนแบบนี้ เราคงเอาปัญหานี้ยื่นร้องเรียนไปถึงอาจารย์ใหญ่เลยค่ะ

ส่วนตัวแล้วก็โตมากับโรงเรียนที่ไม่ได้สอนหลักสูตรสามัญเหมือนกันค่ะ คือมันขึ้นอยู่กับโรงเรียนมากกว่า ถ้าจะสอนให้แตกต่างแล้วสามารถพัฒนาให้เด็กเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นมันก็ดีค่ะ แต่ทำแล้วมันไปผิดทางแบบนี้ก็อยากให้กลับไปพิจารณากันใหม่ด้วยว่ามันใช่หรือไม่ใช่กันแน่ ถ้ามีคน เอ๊ะ! เยอะขนาดนี้ มันไม่ใช่แล้วล่ะ

คิดดูสิคะเวลาลูกมาให้เราสอนการบ้าน เราจะสอนเขายังไง คือเราอาจจะสอนลูกได้แหละค่ะ แต่เป็นแบบผิดๆ ถูกๆ ก็อาจจะต้องบอกลูกว่า หนูไปถามครูแล้วกัน แม่สอนการบ้านหนูไม่ได้แล้วล่ะ เพราะแม่ก็มึนกับแบบเรียนของหนูเหมือนกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่คำตอบที่เราควรให้ลูกนะ” จิ-ปติมา รัชตวรรณ คุณแม่ลูกหนึ่ง นักแปลผู้คร่ำหวอดในวงการตัวอักษรขอแสดงความคิดเห็นแบบจัดเต็ม!!



สงครามเพื่อลูก เผยโรงเรียนหลักสูตรพิสดาร!!



ตัวอย่าง เด็กเขียนผิด เพราะวิธีการสอนแบบเก่า "ปอ-แอ-ดอ = แปด"



แน่นอน! หลายคนคงอยากรู้ว่าโรงเรียนประเภทไหนกันแน่ที่มีหลักสูตรการสะกดคำออกมาแบบนี้ จากข้อมูลที่เหล่าผู้ปกครองเข้ามาโต้เถียงกันบนโลกออนไลน์ ได้ความว่า “โรงเรียนสารสาสน์” และโรงเรียนในเครือคือต้อตอแบบเรียนเจ้าปัญหาที่ว่านี้ และนี่คือข้อดีและข้อเสียของการสอนด้วยวิธีนี้จากปากคำของผู้ผ่านประสบการณ์มาด้วยตัวเอง

“การสอนอ่านแบบสารสาสน์ฯ ไม่ใช่หลักสูตรใหม่อะไรเลยค่ะ ตัวเราเองก็จบจากสารสาสน์ ก็เรียนการสะกดและเขียนอ่านแบบนี้มา ตอนนี้ลูกสาวคนเล็กก็เรียนสารสาสน์ฯ อยู่ชั้น KG3 ก็เขียนอ่านได้ อ่านนิทานได้เองแล้ว”

“กำลังจะพาลูกย้ายโรงเรียนไปที่โรงเรียนสารสาสน์ฯ สายไหมค่ะ ซึ่งได้พาลูกไปทดสอบ เพื่อนเข้าเรียนต่อ แต่มีปัญหานิดหนึ่งค่ะ อย่างโรงเรียนเดิมลูก ก็จะสอนภาษาไทย แบบว่า สระเ-า (เอา) เวลาเอาตัวพยัญชนะไปผสม เช่น ก+เ-า = เกา... แต่ที่โรงเรียนสารสาสน์ฯ บอกว่าที่โรงเรียนมีหลักการสอน การอ่านและเขียน เช่น คำว่า “เกา” จะอ่านว่า เอ+กอ+อา = เกา

ผลที่จากที่ลองสอน ลูกสาวจะอ่านว่า “กา” ค่ะ ไม่เป็น “เกา” เหตุผลที่คุณครูให้ในหลักการสอนวิธีนี้คือ น้องจะได้เขียนได้ถูกต้อง ไม่ต้องจำสระเป็นชุดๆ ตอนแรกก็เห็นด้วยค่ะ เลยกลับมาลองสอน แต่ลูกสาวออกเสียง พยัญชนะ+สระ ไม่ได้เลยค่ะ เหมือนเขางง ส่วนตัวแม่เองก็งงค่ะ คือสอนแบบใหม่ก็ดีในแง่เขียน แต่ในแง่เสียงอ่านนี่ มันยากมากเลยค่ะ”

“ลูกเรียนที่สุราษฎร์ธานี ร.ร.ธิดาแม่พระ ก็สอนให้เด็กสะกดแบบ เอ-กอ-อา = เกา เหมือนกันค่ะ ข้อดีคือ เด็กจะเขียนหนังสือได้เร็ว ส่วนข้อเสียคือ เด็กไม่รู้จักสระที่ถูกต้อง สระเอือ, เอือะ, เอีย, เอียะ ฯลฯ พวกนี้ถ้าเราอ่านออกเสียง แรกๆ ลูกเขียนคำนั้นไม่ถูกเลย

เทอมที่ผ่านมา อนุบาล 3 ลูกมีการบ้านเขียนตามคำบอกทุกวัน วันละ 20 คำ ปัญหาที่เจอคือ เราบอกให้เขียนคำว่า "เลอะเทอะ" ลูกจะสะกดว่า เอ-ลอ-ออ-อะ = เลอะ, เอ-ทอ-ออ-อะ = เทอะ แต่ถ้าวันไหนเขาเหนื่อย ไม่ค่อยจะยอมทำ เขาจะถามว่ามันสะกดยังงัย พอเราสะกดให้ฟังว่า "ลอ-เออะ = เลอะ" ลูกทำหน้างงเลย เพราะเขาจำสระเออะไม่ได้ ไม่ชินกับการสะกดแบบนี้

ที่ทราบมาคือ พอขึ้น ป.1 ร.ร.จะสอนการอ่านเหมือนแบบที่เราเคยเรียนมาสมัยเด็กๆ จึงไม่เข้าใจว่าการให้เด็กสะกดแบบตามตัว เพื่อผลที่จะให้เด็กเขียนได้เร็วนั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่า เพราะพอ ป.1 เด็กคงงงน่าดู เพราะต้องสะกดอีกแบบแล้ว”

“ร.ร.ในเครือสารสาสน์สอนแบบนี้ทั้งเครือค่ะ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนแบบนี้นะคะ เพราะเด็กจะไม่รู้จักสระที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องแล้วแต่พ่อแม่พิจารณาแหละค่ะว่าชอบแนวการสอนของ ร.ร. มั้ย”

“สอนแบบนี้ มันไม่ถูกหลักภาษานะคะ สอนให้จำ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ เช่น ถ้าเราสอนแบบปกติ คำว่า “เดา” เด็กก็จะอ่าน “ดอ-เอา-เดา” พอคำว่า “เบา” เด็กก็จะอ่าน “บอ-เอา-เบา” แค่รู้จักสระเอาก็จะนำไปใช้สะกดตัวอื่นๆ ได้ แต่ถ้าอ่านแบบแยกว่า “เอ-กอ-อา = เกา” มันเป็นการปูพื้นภาษาที่ผิดมากๆ ตอนแรก คิดว่าจะให้ลูกเรียนที่นี่เพราะใกล้ เจอหลักสูตรพังๆ แบบนี้ คิดหนักเลยค่ะ!!”

“โรงเรียนเอาง่าย ให้เด็กเขียนได้ไวๆ จะได้ดูเหมือนกับว่าเด็กเก่ง ผมว่าน่าสงสารนะครับ เพราะต่อๆ ไปเด็กจะอ่านหนังสือไม่ออก ถามว่าทำไมเขาถึงสอนมาได้หลายรุ่นแล้ว ก็หลายรุ่นแล้วที่เด็กอ่านไม่ออก สมัยรุ่น หลักสูตร แม่ กอ-กา เด็ก ป.4 ยังอ่านหนังสือคล่องกว่าเด็ก ม.1 สมัยนี้อีก”

“ผมว่าเป็นการสอนภาษาไทยที่งี่เง่ามากครับ รุ่นพี่ผมก็เอาลูกจาก รร.นี้ เพราะเรื่องนี้เช่นกันครับ มีที่ไหน ภาษาไทยแต่ให้ฝรั่งเป็นคนแต่งหนังสือ”


หลักสูตรอะไร ถ้าไม่ “ใส่ใจ” ก็จบ!


หลายหลายความคิดเห็นช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์วิธีการสอนที่หลายคนเรียกว่าทำให้ภาษาไทย “พิสดาร” และหลักสูตร “พัง” ลองมาฟังความคิดเห็นของ ศ.ดร.อารี สัณหฉวี อาจารย์ประจำโรงเรียนสาธิตบางนา ผู้ศึกษาเรื่องการเรียนการสอนเด็กอนุบาล-ประถมวัยกันดูบ้าง เรื่องนี้อาจารย์ไม่ขอยำเละอะไรมากมายนัก บอกได้คำเดียวว่า สาเหตุที่เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ อยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะครูผู้สอน-ผู้ระบุหลักสูตรนี่แหละที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขเรื่องที่ไม่ควรแก้ และละเลยเรื่องที่ควรใส่ใจ จึงทำให้ “เละ” กันอยู่แบบนี้

“ไปดูที่เกาหลี ตามบ้านชาวนา เขามีห้องสมุดทุกบ้านนะคะ เพราะเขาปลูกฝังการรักการอ่านมาตั้งแต่เล็กๆ ให้มี “หนังสือเล่มแรก” ที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับสอนเด็กก่อนวัยเรียนเลย ซึ่งคิดว่าถ้าเมืองไทยเราอยากจะแก้ปัญหาเรื่องการอ่าน เราต้องมาจริงจังกับเรื่องนี้ และน่าจะได้ผลตอบรับเรื่องทำให้พ่อแม่กับลูกมีความสนิทสนมกันไปด้วยเลยทีเดียว ถ้าพ่อแม่ให้ลูกนั่งตัก อ่านหนังสือให้ฟัง เด็กจะได้ความอบอุ่น มีความสุข ทำให้เขาชอบหนังสือ

แต่ทุกวันนี้ เด็กของเราส่วนใหญ่ไม่เคยได้ทำความคุ้นเคยกับหนังสือเลย ไม่ค่อยได้ฟังพ่อแม่หรือครูเล่านิทานให้ฟัง พอมาถึงตอนเรียนหลักสูตรสะกด-ผสมคำ ก็เริ่มมาอ่าน กอ-อา = กา กันเลย มันก็เลยไม่ค่อยไปไหน จริงๆ แล้วมันต้องเริ่มมาจากพื้นฐานเลยค่ะ มันเริ่มช้าไปแล้ว เด็กก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและจำไม่ได้ เพราะยิ่งถ้าให้เด็กเริ่มอ่านจากหลักสูตร บังคับให้เด็กสะกดเป็นตัวๆ มันก็แอบทารุณเหมือนกันนะ เด็กบางคนไม่ได้ถูกสอนมาตั้งแต่อนุบาล ไม่มีใครคุยด้วย พอมาสอนตามหลักสูตรแบบนี้ปั๊บ เด็กก็เลยจำไม่ได้สักที

ส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรจะให้เน้นเรื่องการอ่านออกเป็นหลักก่อน ส่วนเรื่องการเขียนมันสอนที่หลังได้ค่ะ เปรียบเทียบง่ายๆ จากเด็กอายุ 3 ขวบนะคะ ถ้าบังคับให้เขาเขียนตั้งแต่เล็กๆ เขาจะเขียนไม่ค่อยถูก จับดินสอไม่เป็น กำดินสอแน่นเลย ส่วนเด็กที่เริ่มโตแล้วอย่างเด็กประถม ที่เห็นว่ายังเขียนผิดกันอยู่ อาจจะเพราะเขาอ่านน้อยหรือไม่เข้าใจหลักการสอน เราต้องให้เขาเห็นตัวหนังสือบ่อยๆ ค่ะ เขาก็จะจำได้ เรื่องความจำของมนุษย์เรา ต้องฝึกบ่อยๆ ค่ะ แล้วจะจำได้เอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็นก็คืออยากให้ครูผู้สอนสนใจสอนเด็กแบบตัวต่อตัวมากขึ้นค่ะ เพราะอย่างสมัยก่อนสอนแบบ “เลข-คัด-เลิก” คือครูเขียนโจทย์ไว้บนกระดาน แล้วให้เด็กมาตอบทีละคน เด็กก็อ่านออกเขียนได้กัน เพราะครูคอยจี้ แต่สมัยนี้ การฝึกหัดครูของเราแย่หน่อย โดยเฉพาะครูประถม เราไปเน้นทฤษฎีมากเกินไป ไม่ได้ฝึกภาคปฏิบัติ ครูเลยไม่ชินกับการสอนเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเรียกเด็กมาอ่านทีละคุณเหมือนสมัยก่อนแล้ว จะสอนรวมๆ กัน ทำให้เด็กไม่ค่อยได้ ทำให้เกิดปัญหาเด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ อันนี้ไม่ได้โทษครูนะคะ แต่โทษหลักสูตรการฝึกหัดครู มันไม่มีภาคปฏิบัติที่ดีพอ

ถ้าอยากให้เด็กอ่านออก-เขียนได้ เราก็ต้องปลูกฝังเขามาตั้งแต่แรกๆ และช่วยกันสนับสนุนให้มีหนังสือเด็กมากขึ้น ให้เด็กได้อ่านเยอะๆ อย่างน้อยๆ ตอนเย็นก่อนกลับบ้าน อยากให้ครูเล่านิทานให้เด็กฟัง เพราะเวลาเขาฟัง ใจเขาจะคิดตาม เขาจะมองเห็นภาพ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อ่านหนังสือตอนเช้าๆ ให้เด็กฟังก็ได้ ให้เขาได้อ่านได้ฟังได้พูดมากๆ แต่ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้ให้อะไรแบบนั้นกับเด็ก แต่ให้เด็กมานั่งเรียงกัน 40-50 คน ครูสอนด้วยไมโครโฟน น่าสงสารเด็กนะ เพราะถึงจะสอนด้วยวิธีใหม่แค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ใส่ใจนักเรียน เด็กก็อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้อยู่ดี”

ก็ได้แต่หวังว่าคำแนะนำจากอาจารย์และคำติชมจากผู้ปกครองครั้งใหญ่ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ขยันสร้างหลักสูตรพิสดารหันกลับมาฉุกคิดอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะทำให้หายนะเกิดขึ้นกับภาษาไทยและสมองน้อยๆ ของเด็กๆ แม้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม...



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูล: กระทู้พันทิป Pantip.com













ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์














Create Date : 02 กรกฎาคม 2557
Last Update : 2 กรกฎาคม 2557 9:13:38 น. 7 comments
Counter : 4200 Pageviews.  

 


โดย: ญามี่ วันที่: 2 กรกฎาคม 2557 เวลา:9:16:21 น.  

 
เจอวิธีสะกดแบบนี้งงเหมือนกันค่ะ

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ญามี่ Education Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: ร่มไม้เย็น วันที่: 3 กรกฎาคม 2557 เวลา:19:00:05 น.  

 
อ่านแล้วเหนื่อยใจกับเยาวชนเลยค่ะ
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Close To Heaven Food Blog ดู Blog
พรไม้หอม Health Blog ดู Blog
ร่มไม้เย็น Book Blog ดู Blog
ญามี่ Education Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: เฉลิมลาภ ทราบแล้วเปลี่ยน วันที่: 4 กรกฎาคม 2557 เวลา:14:15:48 น.  

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Close To Heaven Food Blog ดู Blog
ดอยสะเก็ด Literature Blog ดู Blog

ญามี่ Education Blog ดู Blog

newyorknurse


โดย: newyorknurse วันที่: 5 กรกฎาคม 2557 เวลา:0:39:50 น.  

 
โหวตให้เลยค่ะ เพราะเป้นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ


โดย: cyberlifenlearn วันที่: 5 กรกฎาคม 2557 เวลา:14:04:52 น.  

 
เห็นแล้วกลุ้มค่ะ


โดย: paning IP: 58.10.244.165 วันที่: 5 กรกฎาคม 2557 เวลา:20:40:23 น.  

 
สวัสดีค่า คุณมี่ ^^
เพิ่งเห็นบล็อคนี้ค่ะ
อ่านตามแล้วถึงกับปาดเหงื่อกันเลย
เพิ่งรู้ว่าวิธีสะกดเดี๋ยวนี้พิศดารพันลึกดีนะคะ
นุ่นอ่านตามทุกคำแล้วก็ อืมม
สมควรร้องเรียนค่ะ

ขอบคุณมากๆนะคะ
ไม่รู้จะมึนหรือขำดีเจอแบบนี้
ที่แน่ๆเด็กๆแย่เลยค่ะ



โดย: lovereason วันที่: 6 กรกฎาคม 2557 เวลา:19:14:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]