<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
14 สิงหาคม 2556

คุยมือถือขณะชาร์จเสี่ยงไฟช็อตรู้สาเหตุ ป้องกันได้...ไม่ประมาท

























ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง




จากกรณีแอร์โฮสเตสสาวชาวจีนเสียชีวิตจากการถูกไฟช็อตขณะรับโทรศัพท์มือถือที่กำลังชาร์จแบตฯ ซึ่งยังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่าเกิดจากการใช้อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ ล่าสุดก็มีหนุ่มชาวจีนถูกไฟฟ้าช็อตขณะหยิบโทรศัพท์มือถือที่กำลังชาร์จแบตเตอรี่ขึ้นมาดูจนอาการโคม่า ซึ่งกรณีหนุ่มชาวจีนนี้ตรวจสอบแล้วพบว่าใช้อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่ปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องมีการค้นหาข้อเท็จจริงกันต่อไป



แต่ในทางกลับกันถ้าเราหันมาทำความรู้จักระบบวงจรไฟฟ้าและไม่ประมาทในเรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งศึกษาวิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยเชื่อว่าปัญหาลักษณะดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า โดย หลักการไฟฟ้ามีอยู่ 2 แบบ คือ ไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ ส่วนใหญ่แล้วโทรศัพท์มือถือจะใช้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงทั้งหมด ซึ่งจะมีขั้วบวก ขั้วลบ เหมือนถ่านไฟฉายที่เราใช้กันอยู่ โดยก้อนหนึ่งมีขนาด 1.5 โวลต์ ส่วนโทรศัพท์มือถือใช้กระแสไฟ 5 โวลต์ ดังนั้นโทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อไม่มีอันตราย เหมือนเอาถ่านไฟฉายหลาย ๆ ก้อนมาจับรวมกัน



แต่ที่มีปัญหาเกิดขึ้นคือไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นไฟฟ้าที่ใช้ทั่วไปตามบ้าน มีเป็นลูกคลื่นไซน์เวฟ (Sine Wave) มีกระแสบวกและลบอยู่ในตัว ระบบไฟฟ้าในบ้านเราจะแบ่งเป็น 1 เฟส หรือ 3 เฟส ซึ่งระบบ 1 เฟส จะมี 2 สาย ประกอบด้วย “สาย” หรือ “LINE” มีไฟ 1 เส้น และ “สายนิวตรอน” (Neutral) ไม่มีไฟ 1 เส้น มีแรงดันไฟฟ้า 220–230 โวลต์ มีความถี่ 50 เฮิรตซ์ (Hz) ปกตินิวตรอนต่อลงพื้นดิน หมายความว่าทุกวันนี้เราเหยียบพื้นดินก็เหมือนเหยียบสายหนึ่งของไฟฟ้าเสมอ ฉะนั้นถ้ามือหนึ่งไปโดนสายอีกสายหนึ่งและเท้าเหยียบพื้นดินอยู่ กระแสจะไหลจากสายมาสู่ตัวเราเพื่อกลับให้ครบวงจร เป็นหลักธรรมชาติของไฟฟ้าที่พยายามจะวิ่งให้ครบวงจร



ดังนั้นประเด็นที่เกิดไฟฟ้าช็อตขึ้นคือเกิดจากไฟฟ้ากระแสสลับที่เราใช้อยู่ในบ้านที่ใช้ไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ หมายความว่าในเวลา 1 วินาทีมีความเสี่ยงอยู่ 50 เฮิรตซ์ ซึ่งความถี่ในที่นี้ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ต้องกะพริบ 50 เฮิรตซ์แต่ว่าตาเรากะพริบไม่ทันจึงมองไม่เห็น หากลองเอาพัดลมมาหมุนจึงจะเห็นเพราะความถี่พัดลมเท่ากันกับหลอดไฟ แสดงให้เห็นว่าไฟฟ้าที่เราใช้อยู่เป็นกระแสสลับ ส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป เป็นไฟฟ้ากระแสตรง เวลาใช้จะมีอะแดปเตอร์เปลี่ยนให้เป็นกระแสตรง ซึ่งอันตรายน้อยเพราะใช้ไฟประมาณ 19.5 โวลต์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือใช้แค่ 5-10 โวลต์ ยิ่งถือว่าน้อยมาก



อย่างไรก็ตามความอันตรายอยู่ที่ไฟฟ้ากระแสสลับ คือ 1. แรงดันที่มีหน่วยเป็นโวลต์ (Volt) กับกระแสไฟฟ้าที่ไหลลงวงจรเรียกว่า I ซึ่ง I คือกระแสที่เกิดในวงจรไฟฟ้า มีหน่วยเป็นแอมป์เพื่อจะไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าเป็นคนก็ไหลผ่านคนทำให้เสียชีวิตในเวลาที่กำหนด ซึ่งแรงดันเหมือนส่วนที่พยายามผลักให้กระแสไหล เช่น สมมุติเรานำแท็งก์น้ำขึ้นที่สูงความดันก็สูง เวลาเจาะรูน้ำก็จะไหลแรง ซึ่งสมมุติน้ำที่ไหลอยู่ในสายยางคือกระแสไฟฟ้า ถ้าแท็งก์ต่ำ ๆ น้ำก็ไหลเบา กระแสไม่อยากเข้ามาที่เรา และถ้าสมมุติคนเป็นท่อน้ำ หมายความว่าแรงดันยิ่งสูงการที่ไฟฟ้าจะวิ่งมาหาเรายิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น เช่น ไฟฟ้าแรงสูง 500 KV คือ 500,000 โวลต์ ถ้าไปอยู่ใกล้ไฟฟ้าพร้อมที่จะวิ่งมาหาเราผ่านฉนวนที่เป็นอากาศ



จึงสังเกตได้ว่าคนที่โดนไฟช็อตบางคนตายบางคนไม่ตาย แต่มือไหม้ หมายความว่า ถ้าเอามือไปจับไฟฟ้าแรงสูงแล้วเอาออกทันก็เท่ากับตัดวงจรไฟฟ้าไป แต่ที่โดนไฟฟ้าไปแล้วก็จะไหม้ ส่วนคนที่ตายเพราะกระแสไฟฟ้าผ่านหัวใจภายในเวลา 1 วินาที จึงทำให้ตาย ดังนั้นเวลาสอนนักศึกษาจะสอนว่าถ้าอยากรู้ว่ามีไฟฟ้ารั่วหรือไม่ ให้ใช้หลังมือแตะ เพราะเมื่อไหร่ที่กระแสไฟฟ้าวิ่งมาโดนเราจะได้ดึงมือออกทัน หากใช้หน้ามือแตะตามธรรมชาติของมือเราจะกำหากถูกไฟฟ้าช็อต ซึ่งการใช้โทรศัพท์ก็เช่นกัน โดยเฉพาะหลาย ๆ รุ่นโครงมีโลหะ พอใช้สายที่เราเสียบชาร์จที่เรียกว่า ’อะแดปเตอร์“ เป็นตัวแปลงจากไฟฟ้ากระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรงแรงต่ำ หากมันเกิดการทำงานผิดพลาด เช่น ช็อตหรือหลอมละลาย แล้วไฟฟ้าแรงดันกระแสสลับทะลุมาสู่แรงดันกระแสตรง ลองคิดง่าย ๆ ว่าไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์มารอจ่ออยู่พอเราเสียบแน่นอนว่ามือถือไม่เป็นอะไรเพราะปกติจะมีระบบป้องกันอยู่แล้ว ทำให้กระแสไฟไหลเข้าสู่โพรงซึ่งเป็นโลหะ เมื่อเราเอามือมาแตะกระแสไฟฟ้าจะผ่านเข้าตัวเราและไหลลงพื้นดิน ทำให้เราเสียชีวิตได้ เพราะไฟไหลครบวงจร



การชาร์จแบตเตอรี่บางครั้งอาจจะชาร์จอยู่แต่อะแดปเตอร์ทำงานผิดพลาดไปแล้วและวางชาร์จอยู่โดยไม่ได้มาดูตลอด เมื่อภายในเกิดการพังทลายขณะที่เราเอามือมาจับพอดีก็จะถูกช็อตได้ นอกจากนี้เวลาจับดูแล้วรู้สึกว่าตัวอะแดปเตอร์มีความร้อนมากเกินไปหรือเสียบแล้วไฟไม่เข้าอย่าไปฝืน ถ้าเรามั่นใจว่าเสียบปลั๊กแน่นแล้วไฟไม่เข้าก็แนะนำให้ทิ้งเลย อย่านำไปซ่อมเพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถ้าเสียแล้วถามว่าซ่อมได้หรือไม่ ก็ตอบว่าซ่อมได้แต่ถ้าแกะออกมาซ่อมแล้วจะไม่เหมือนเดิม อีกทั้งราคาไม่แพงซื้อใหม่ได้ก็จะดี



ที่สำคัญที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จะไม่มีหม้อแปลงไฟฟ้าเหมือนสมัยก่อน ที่การทำงานแยกกันอย่างชัดเจนมีอันตรายน้อยกว่าแต่จะใหญ่เทอะทะ ส่วนปัญหาไฟฟ้ารั่วเข้าโพรงซึ่งเป็นโลหะของโทรศัพท์ขณะกำลังชาร์จไฟ ถ้าจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์จริง ๆ ควรใส่เคสหรือกรอบเป็นพลาสติกสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะปกติถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่อยู่แล้วคุยโทรศัพท์ไปด้วยจะกินกระแสไฟมากกว่าปกติ ส่งผลให้ตัวชาร์จพังได้เร็วกว่าปกติ ฉะนั้นบางครั้งเมื่อเสียบชาร์จแล้วคุยโทรศัพท์ไปด้วยอาจจะยังไม่รั่ว แต่เมื่อใช้มาก ๆ เข้าอาจจะรั่วได้ กรณีของสาวชาวจีนน่าจะเป็นเหมือนเคสนี้ที่คุยตอนแรกน่าจะยังไม่เสีย ยังคงชาร์จได้ปกติ แต่พอโทรศัพท์ไปได้ระยะหนึ่งอาจจะไหม้จากภายในและละลายออกมาข้างนอก จึงทำให้เสียชีวิตช่วงคุยโทรศัพท์



ลักษณะการถูกไฟฟ้าช็อตแบบนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เพราะตามธรรมชาติของร่างกายเราเวลาถูกไฟช็อตจะกำมือ ลักษณะที่เราถือโทรศัพท์มือถืออยู่เหมือนกำ บางคนอาจแค่จับหรือแตะก็ดึงมือออกมาทันเหมือนกรณีหนุ่มชาวจีนที่หยิบโทรศัพท์ขณะชาร์จมาดูและดึงมือออกทันจึงไม่เสียชีวิตแต่อาการสาหัส ดังนั้นไฟฟ้าเหมือนงูพิษ ตอนนี้เราทุกคนมีงูพิษอยู่ในบ้านตลอดพร้อมที่จะฉกเมื่อไหร่ก็ได้ หากเราไม่ระมัดระวัง ประมาท และไม่มีความรู้.



ใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือปลอมอันตรายถึงชีวิต


ดร.ไพฑูรย์ รักเหลือ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แนะนำว่า ปัญหาแรกที่ทำให้เราเสียชีวิตกันมากเพราะโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ เพราะหลายคนชอบใช้ของปลอม โดยโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องแต่ละรุ่นเหมาะสำหรับแบตเตอรี่ของตัวมันเองหรือบริษัทเจ้าของ ถ้าใช้ตัวอื่นที่ไม่ใช่เวลาชาร์จเข้าไปแบตจะค่อย ๆ บวมไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่งก็ระเบิด ซึ่งไม่ใช่แค่แบตอย่างเดียวแต่มีตัวเครื่องที่ระเบิดด้วย เหมือนกับตัวลูกระเบิดที่มีสะเก็ดมีแรงดันสูงทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น เมื่อ 5 ปีก่อน ชาวเกาหลีถูกแบตเตอรี่ระเบิดใส่ขณะใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อบริเวณหน้าอก คาดว่าแบตเตอรี่คงใกล้เสื่อมสภาพ ซึ่งหมอวินิจฉัยว่าแรงระเบิดทำให้อัดปอดจนฉีกขาดและเสียชีวิต



อีกกรณีคือเด็กวัยรุ่นส่วนมากจะคุยโทรศัพท์มือถือนาน เมื่อคุยนานแบตเตอรี่ก็หมดเร็ว จึงต้องชาร์จและคุยไปด้วย สังเกตหรือไม่ว่าเวลาคุยโทรศัพท์ตอนชาร์จเครื่องจะร้อน หรือถ้าคุยเฉย ๆ ไม่ต้องชาร์จแต่คุยนานก็ร้อนแล้ว ฉะนั้นเมื่อเครื่องร้อน ตัววงจรยิ่งทำงานหนักมากขึ้น เหมือนร่างกายออกกำลังกายเกินกำลัง ทำให้หัวใจล้มเหลว เครื่องโทรศัพท์ก็เช่นกันสามารถระเบิดได้ เพราะตัวแบตเตอรี่เป็นตัวเชื่อมกับวงจรอยู่ ยิ่งใช้มากยิ่งกินกระแสไฟมาก และยิ่งเสียบชาร์จไปด้วยคุยไปด้วยยิ่งเร่งเพิ่มแรงดันเข้าไปใหญ่และอาจจะมีไฟฟ้ารั่วออกมาช็อตจนเสียชีวิตได้



ดังนั้นเวลาชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือพยายามอย่ารับสาย ถ้าจำเป็นจริง ๆ ควรถอดที่ชาร์จออกมาก่อน และเวลาชาร์จแบตควรชาร์จในที่ที่เหมาะสม ไม่ควรชาร์จในห้องน้ำ เพราะพื้นห้องน้ำชื้น หรือบางครั้งมือเปียกก็จะเหมือนถูกไฟช็อตทั่วไป ซึ่งกระแสไฟฟ้าจำกัดไว้อยู่แล้วว่าแต่ละรุ่นจำกัดไว้เท่าไหร่ แต่ปัญหาอยู่ที่นอกจากจะใช้แบตเตอรี่ปลอมกันแล้วเรายังใช้อะแดปเตอร์หรือที่ชาร์จปลอมอีกด้วย



การใช้อะแดปเตอร์ปลอมซึ่งแรงดันได้แต่กระแสไม่ได้ ซึ่งกระแสอาจจะเยอะกว่าก็ทำให้พังเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กระแสไฟฟ้าเหมือนรถวิ่งบนท้องถนน ถ้ามีรถวิ่ง 4 เลนมาพร้อมกันกับรถวิ่ง 1 เลน แน่นอนว่ารถที่วิ่งมา 4 เลนกระแสเยอะกว่า ดังนั้นก็เหมือนกันกระแสไฟมาเยอะแต่รับได้นิดเดียวก็ทำให้เป็นคอขวดเก็บประจุเอาไว้และเป็นอันตรายทำให้การชาร์จแบตเตอรี่เกิดการระเบิดขึ้น ถ้าจะให้ปลอดภัยจริง ๆ ควรใช้ที่ชาร์จของโทรศัพท์ยี่ห้อนั้นหรือบริษัทนั้นจริง ๆ เพราะออกแบบมาเพื่อป้องกันไว้อยู่แล้ว ถ้าจะให้ชัวร์สุดอาจจะใช้สมอลทอล์กหรือบลูทูธให้โทรศัพท์อยู่ห่างตัวเราเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันตัวเอง



อย่างไรก็ตามจากสถิติคนเป็นพันล้านคน แต่เสียชีวิตเพราะการใช้โทรศัพท์อยู่ประมาณ 5-6 คน ดังนั้นจึงเกิดจากความประมาทของผู้ใช้เองด้วยถึงแม้ว่าระบบป้องกันทุกบริษัทจะออกแบบไว้ป้องกันอยู่แล้ว แต่ต้องรู้จักเซฟตัวเองด้วยการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของแท้จะดีกว่า และแบตเตอรี่ก็มีอายุการใช้งาน ถ้าเมื่อไหร่ที่ชาร์ตไฟไม่ค่อยเข้า บางคนก็จะหาวิธีทำให้มันชาร์จเข้าด้วยการไปหาซื้อที่ชาร์จปลอมที่มีกระแสไฟแรง ๆ มาชาร์จ ยิ่งทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้นและระเบิดในที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ก็ควรจะเปลี่ยน ที่สำคัญการคุยโทรศัพท์นาน ๆ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้สมองมีปัญหาด้วยแต่เราไม่รู้สึก อาการส่วนมากจะรู้สึกมึนหัว เพราะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ค่อย ๆ สะสมทำลายสมอง ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นก็อย่าโทรศัพท์มือถือนาน พยายามใช้โทรศัพท์เท่าที่เป็นประโยชน์จริง ๆ



สุดท้ายการชาร์จโทรศัพท์มือถือแล้วดึงโทรศัพท์ออกไป ปล่อยปลั๊กเสียบทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนเป็นสาเหตุที่ทำให้อะแดปเตอร์ทำงานหนักตลอด สามารถทำให้พังเร็ว นอกจากนี้บางครั้งอาจจะเสียจนไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดไฟไหม้บ้านได้ ถึงแม้ว่าส่วนมากแต่ละบ้านก็จะมีเซฟตี้คัทป้องกันอยู่แล้วแต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะถ้าประมาทก็หมายถึงชีวิต!



ทีมวาไรตี้






ข้อมูลโดย เดลินิวส์















Create Date : 14 สิงหาคม 2556
Last Update : 14 สิงหาคม 2556 12:05:00 น. 3 comments
Counter : 3016 Pageviews.  

 



โดย: ญามี่ วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:12:08:20 น.  

 
น่ากลัวมากเลย
แต่ยังดีนะเนี่ย! พี่ไม่เคยคุยโทรศัพท์ตอนกำลังชาร์ตแบต
ทุกครั้งถ้ามีโทรฯเข้าตอนกำลังชาร์ตแบตอยู่
ก็จะดึงสายชาร์ตออกก่อนค่อยคุย

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆที่นำมาฝากค่ะ


โดย: ฝากเธอ วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:20:36:17 น.  

 
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ญามี่ Education Blog ดู Blog
Sweety-around-the-world Travel Blog ดู Blog
Don't try this at home. Funniest Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 3 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
-----------------------
ราตรีสวัสดิ์ค่ะน้องมี่


โดย: เกศสุริยง วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:23:21:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]