<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
1 สิงหาคม 2556

‘พจนานุกรมฯ พ.ศ.2554’ ฉบับใหม่สมบูรณ์แบบ ทันสมัยเพิ่มคำภาษาไทย









กนกวลี ชูชัยยะ












เหตุเพราะภาษามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พจนานุกรม อันเปรียบเสมือนแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านภาษาที่สำคัญจึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์แบบและทันต่อยุคสมัย ซึ่งล่าสุด พจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระ เกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ได้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนหนึ่งแสนเล่มและพร้อมแจกจ่ายให้แก่สถาบันการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา หน่วยงานราชการ ตลอดจนคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ



กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราช บัณฑิตยสถาน กล่าวว่า พจนานุกรมภาษาไทยที่เป็นฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ผ่านมาจัดพิมพ์ทั้งสิ้น 4 ฉบับโดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 เป็นพจนานุกรมเล่มแรก นอกจากนั้นเป็นพจนานุกรมเฉพาะสาขาวิชา อย่างเช่น พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา พจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แยกสาขาวิชาออกไป



พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ฉบับนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตเป็นประธานคณะกรรมการชำระพจนานุกรม โดยในเล่มได้มีการเพิ่มจำนวนคำศัพท์ขึ้นนับพันคำ



พจนานุกรมฉบับนี้ได้รวบรวมคำศัพท์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ อย่างเช่น คำว่า แกล้งดิน แก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการส่วนพระองค์ต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมคำภาษาไทยที่ยังไม่ได้บรรจุในพจนานุกรมเล่มใดแต่มีใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างคำว่า สปา เครื่องดื่ม วัตถุมงคล ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เข้ามาด้วย เพื่อให้ครบถ้วนมากขึ้นและมีความชัดเจนถูกต้องยิ่งขึ้น



“พจนานุกรมฯฉบับนี้แม้จะมีความหนาขึ้นแต่มีน้ำหนักเบากว่าเล่มก่อน ๆ ออกแบบจัดวางรูปเล่มสวยงามมีความเป็นสากลและในจำนวนคำจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีคำประมาณ 37,000 คำ ฉบับนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 คำ อย่างไรก็ตามในเรื่องของภาษามีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลามีวิวัฒนาการของภาษา การชำระพจนานุกรมจึงยังคงต้องชำระอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจทานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยพจนานุกรมฉบับนี้จะเป็นฉบับหลักที่จะทำให้การใช้ การสะกดคำเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากการเปิดเล่มพจนานุกรมยังเตรียมจัดทำให้ได้ใช้ค้นหาคำในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานร่วมด้วย”



ขณะที่พจนานุกรมเป็นแหล่งรวมความรู้ทุกสาขาวิชา กระลำภักษ์ แพรกทอง นักวรรณศิลป์ชำนาญการ และเลขานุการคณะกรรมการชำระพจนานุกรมราชบัณฑิตย สถาน กล่าวเพิ่มอีกว่าพจนานุกรมแบ่งได้หลายประเภท มองได้หลายมุม หากใช้เกณฑ์ทางด้าน ภาษา มาแบ่งประเภทของพจนานุกรมจะแบ่งได้เป็น พจนานุกรมภาษาเดียวใช้ภาษาเดียวกันตลอดทั้งเล่ม อย่างเช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นพจนานุกรมไทย-ไทย ทั้งคำศัพท์และบทนิยามเป็นภาษาไทย พจนานุกรมสองภาษา ได้แก่ พจนานุกรมภาษาอังกฤษเป็นไทย



หากแบ่งเกณฑ์จาก ผู้จัดทำ แบ่งได้เป็น พจนานุกรมเพื่อการศึกษาของชาติหรือพจนานุกรมฉบับหลวงซึ่งรัฐบาลเป็นผู้มอบหมายและจัดสรรงบประมาณดำเนินการ พจนานุกรมประเภทนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านภาษาและเพื่อวางบรรทัดฐานให้ทุกคนพูดและเขียนภาษาประจำชาติได้อย่างถูกต้องเป็นที่ยอมรับซึ่งก็ได้แก่ พจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถานเป็นพจนานุกรมฉบับหลัก อีกทั้งมีพจนานุกรมเพื่อการค้าหรือพจนานุ กรมฉบับเอกชนเป็นผู้จัดทำ ในการแบ่งประเภทของพจนานุกรมจึงมีได้กว้างซึ่งก็แล้วแต่จะนำเกณฑ์ใดมาจัดประเภทพจนานุกรม



“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถานที่จัดพิมพ์ทั้ง 4 ครั้งแต่ในการดำเนินงานคณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้ทำการชำระเรื่อยมา ทั้งนี้เพราะภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและไม่ใช่ว่าทุกคำจะเก็บไว้ทั้งหมด คณะกรรมการฯจะมีหลักเกณฑ์ในการเก็บคำ



อย่างไรก็ตาม คำที่เพิ่มใหม่ในพจนา นุกรมต้องมีความเข้าใจกันก่อนว่าไม่ใช่คำที่เกิดใหม่ในภาษา คำที่เพิ่มใหม่ในพจนานุ กรมคือคำที่มีใช้อยู่ในภาษาใช้ความหมายได้เป็นที่เข้าใจและยอมรับกันแล้ว เมื่อมีอยู่ 5 ปีและยังไม่ได้เก็บอยู่ในพจนานุกรมก็จะเก็บเพิ่มไว้ต่างจากคำที่เกิดใหม่ในภาษาไทย โดยคำที่เกิดใหม่ในภาษาไทย ณ วันนี้อาจจะยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะในหมู่วัยรุ่น คำสแลงจะไม่นำมาเก็บไว้ในพจนานุกรม”



ภาษาปากก็มีการเก็บคำ อย่างคำว่า เด็ดสะระตี่ ก่อนหน้านี้อาจจะใช้กันเฉพาะกลุ่มแต่เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี คำนี้มีความเข้าใจความหมายได้ตรงกันและเป็นที่ยอมรับแพร่หลายก็ได้มีการเก็บไว้ในพจนานุกรม ในที่นี้รวมถึงภาษาถิ่นด้วยอย่างคำว่า แซบ หมายถึง อร่อย มีการนำมาใช้และรับรู้ทั่วกันก็จัดเก็บไว้ในพจนานุกรม เป็นต้น



คำที่เพิ่มใหม่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำที่เป็นภาษาปาก อย่างเช่น ขี้ตู่ (ปาก) ก.กล่าวอ้างหรือทึกทักว่าของผู้อื่นเป็นของตัว เช่น นี่ปากกาของฉันนะอย่ามาขี้ตู่ คู่ซี้ (ปาก) น.เพื่อนสนิท.(จ.ซี้ ว่าตาย).เป็นต้น



“เกณฑ์หลัก ๆ ของการเก็บคำคือเป็นคำที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายและทุกกลุ่มเข้าใจความหมายตรงกันก็จะรวบรวมไว้ในพจนานุกรม อย่างคำว่า “บ่องตง ฝุด ฝุด” ถือว่าเป็นคำใหม่ยังไม่มีการนำมาเก็บไว้ แต่จะมีเก็บคำไว้ในพจนานุกรมที่แยกย่อยออกไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีพจนานุกรมเล่มใหม่เกิดขึ้น แต่พจนานุกรมเล่มเก่ายังคงมีความหมายในการศึกษาประวัติที่มา พัฒนาการของคำซึ่งก็จะนำมาศึกษาเปรียบเทียบกันได้”



เนื่องด้วยภาษามีการเปลี่ยนแปลง และมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา คำบางคำเมื่อเวลาผ่านไปความหมายอาจแคบเข้า แต่บางคำความหมายกว้างออกจากเดิมที่มีอยู่ในพจนานุกรม การทำงานชำระพจนานุกรมจึงยังคงต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่องไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบ ชัดเจนและถูกต้องของคำทุกคำในภาษาไทยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าสืบไป.



ความหมายของ ‘พจนานุกรม’



พจนานุกรม หมายถึง หนังสือว่าด้วยถ้อยคำในภาษาใดภาษาหนึ่งเรียงตามลำดับตัวอักษร โดยทั่วไปจะบอกความหมายและที่มาของคำ พจนานุกรม มาจากคำว่า พจน (คำ, คำพูด, ถ้อยคำ) สนธิกับคำ อนุกรม (ลำดับ) แปลตามศัพท์ว่า ลำดับคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dictionary โดยทั่วไปพจนานุกรมมักประกอบด้วย ศัพท์หลัก ศัพท์ตั้ง คำตั้งหรือแม่คำ,บทนิยามศัพท์และศัพท์รอง ลูกศัพท์หรือลูกคำ โดยรายละเอียดเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องปรากฏในพจนานุกรมทุกฉบับ



หลักใหญ่ ๆ จะต้องมี ศัพท์และบทนิยาม ซึ่งในการจัดทำพจนานุกรมข้อมูลในส่วนต่าง ๆ จะให้รายละเอียดมากน้อยเพียงใดก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำและประเภทของพจนานุกรม เป็นต้น และก่อนหน้าที่จะมีคำพจนานุกรมขึ้นใช้ มิชชันนารีที่เข้ามาเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ได้เคยจัดทำหนังสือชนิดนี้ขึ้นและใช้ชื่อต่าง ๆ กันอย่างเช่น ฉบับหมอบรัดเลย์ เรียกว่า อักขราภิธานศรับท์ ฉบับสังฆราชปาเลกัว เรียกว่า สัพะ พะจะนะ พาสาไท ส่วนฉบับของบาทหลวงเวย์ซึ่งนำฉบับของสังฆราชปาเลกัวแก้ไขเพิ่มเติมชื่อว่า ศริพจน์ภาษาไทย์



อีกทั้งหนังสืออ้างอิงประเภทพจนานุกรมมีคำไทยเรียกชื่อหนังสือประเภทนี้ต่างกันไป อาทิ นามานุกรม ศัพทานุกรม วจนานุกรม และในปีพ.ศ.2470 กระทรวงธรรมการได้พิมพ์หนังสือปทานุกรมออกเผยแพร่และใช้ในราชการ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่น ๆ ที่เรียกคล้ายกันแต่มีลักษณะต่างกัน คือ สารานุกรม หมายถึง หนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกสาขาวิชาและจัดเรียงตามลำดับอักษรหรืออาจใช้วิธีอื่นใดที่จะค้นหาได้สะดวกรวดเร็ว มีคำอธิบายเรื่องราวนั้น ๆอย่างละเอียดสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพจนานุกรมคืออาจเป็นเรื่องเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้



อักขรานุกรม หนังสืออ้างอิงอีกประเภทหนึ่งคล้ายคลึงกับพจนานุกรมหรือสารานุกรม อย่างเช่น อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ซึ่งไม่ใช่หนังสือตำราภูมิศาสตร์แต่เป็นคู่มือประเภทพจนานุกรมที่จะค้นว่าสถานที่ทางภูมิศาสตร์โดยไม่ต้องเสียเวลาสอบหาจากหนังสือภูมิศาสตร์หลาย ๆ เล่ม เป็นต้น



อนุกรมวิธาน หนังสือที่เกี่ยวกับการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสัตว์และพืชออกเป็นหมวด ชั้น อันดับ วงศ์ สกุล ชนิด ฯลฯ ตามกฎและหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์โดยพรรณนาลักษณะของสัตว์และพืชนั้น ๆ เป็นต้น



(ข้อมูลจากหนังสือวิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย)


ทีมวาไรตี้





ข้อมูลโดย เดลินิวส์















Create Date : 01 สิงหาคม 2556
Last Update : 1 สิงหาคม 2556 11:15:17 น. 1 comments
Counter : 5041 Pageviews.  

 



โดย: ญามี่ วันที่: 1 สิงหาคม 2556 เวลา:11:17:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]