Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง ..




นำมาฝาก .. จากห้องสวนลุม เวบพันทิป ...

L9350434 ตรวจประจำปี? สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? [สุขภาพกาย] CMV (45 - 11 มิ.ย. 53 13:47)

https://www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L9350434/L9350434.html

รู้ทั้งรู้ ว่า อาจจะกลายเป็นกระทู้ล่อเป้า
รู้ทั้งรู้ ว่า อาจจะทำให้แพทย์เฉพาะทางบางคนไม่พอใจ
รู้ทั้งรู้ ว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องไม่ชอบแน่ๆ

แต่

นี่คือมุมมองของคนที่ทำการ ตรวจรักษาคน 5 วันต่อสัปดาห์ ในรพ.ของรัฐแห่งหนึ่งในกทม.

นี่คือมุม มองของคนที่ผ่านการสอนนักศึกษาแพทย์ และ

นี่คือมุมมองของข้าพเจ้า ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป

หากสิ่งที่พิมพ์ไป ไปกระทบกระทั่งใครที่ทำให้ไม่พอใจหรือเสียผลประโยชน์ ก็ต้องขออภัยด้วย แต่นี่คือสิ่งที่เป็นความจริงที่ข้าพเจ้าพยายามกรั่นกรองออกมา เพื่อเป็นประโยชน์

หากบุคลากรเพื่อนร่วมวิชาชีพ มีข้อติชม หรือ ต้องการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ขอน้อมรับด้วยความยินดี

จาก แพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัว (วุฒิบัตร) คนเล็กๆคนหนึ่ง


ประเด็นคำถามคำตอบเกี่ยวกับ “การตรวจสุขภาพยุคประหยัด”


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนจะป่วย และนำมาสู่กระแสแห่งการตรวจสุขภาพ กระแสดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ กระแสโลกแห่งการบริโภคนิยม กระแสแห่งความหวาดกลัวโรค โดยเฉพาะชนิดที่เป็นข่าวความเจ็บป่วยของคนดังในสังคม ข่าวการเพิ่มขึ้นของ โรคบางโรคในสังคมไทย ข่าวโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีการตรวจเช็คสุขภาพก่อน ที่จะป่วย ข่าวผู้นำทางสังคมที่สบายดีก็ยังเช็คสุขภาพทุก 3 เดือน 6 เดือน

สิ่งต่างๆเหล่านี้หล่อหลอมให้เกิดกระแสแห่งการตรวจสุขภาพ จนเป็นที่นิยมแพร่หลายจนเป็นปกติในสังคมไทย




แท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพ คืออะไร?





1.นิยามการตรวจร่างกายแต่ละประเภท


เช่น การตรวจร่างกายประจำปี การตรวจร่างกายก่อนเข้าทำงาน การตรวจร่างกายก่อนทำประกัน

การตรวจสุขภาพมีหลายประเภทเพื่อ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

การตรวจร่างกายประจำปี

ความคิดนี้เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ช่วงหนึ่งเศรษฐกิจซบเซา คนเข้ารับการรักษาน้อย บริษัทประกันจึงหาทางเพิ่มรายได้ด้วยการโฆษณาชวนประชาชนมาตรวจสุขภาพ ตรวจร่างกายประจำปี

เกิดเป็นกระแสนิยมและก่อให้รายได้มหาศาลมานานหลายสิบปี

จนกระทั่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจร่างกายประจำปีมีประโยชน์ จริงหรือ
ในที่สุดมีการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประโยชน์ ทั้งยังเกิดโทษแก่ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพลักษณะดังกล่าว

ปัจจุบัน ในต่างประเทศจึง ไม่แนะนำให้ทำการตรวจร่างกายทุกปี (yearly checkup) แต่ แนะนำให้ตรวจเป็นระยะตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล (Periodic Health Exam)

ไม่มีการจัดชุดตรวจสุขภาพเป็นแพคเกจแบบเหมาโหลเหมือนบ้านเรา มีแค่คำแนะนำ กว้าง ๆ ว่า สำหรับประเทศของเขา คนวัยไหนเพศไหนมีอุบัติการณ์โรคอะไรมาก และ เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศ และถ้าหากตรวจพบก่อนจะรักษาอะไรได้

โรค บางโรคน่ากลัวก็จริง แต่ถึงหาก่อนก็ไม่พบ และถึงหาพบก็หยุดยั้งมันไม่ได้ เขาจึงไม่แนะให้ตรวจทุกโรค เพราะไม่มีเครื่องมือใดในโลกที่จะสแกนเจอทุกสิ่งที่ธรรมชาติซ่อนมาอย่างแนบเนียน

ดังนั้นการตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพประจำปีจึงไม่แนะนำเพราะ เป็นอันตราย แต่ควรตรวจเป็นระยะตามความเสี่ยงการเกิดโรคของแต่ละคน เหมือนตัดชุดเฉพาะตัว เพราะคนเรามีความแตกต่างทางปูมหลัง ลักษณะการใช้ชีวิต อาชีพการงาน และอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนกันสักคน
การตรวจสุขภาพจึงจัดชุดเหมาโหลให้ไม่ได้


การตรวจร่างกายก่อนการเข้าทำงาน

เป็นการตรวจประเมินสุขภาพก่อนทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทจ้างงาน
และเพื่อประโยชน์ของผู้เข้าทำงาน หากเกิดการเจ็บป่วยระหว่างการทำงาน และไม่เคยเป็นมาก่อนเข้างาน ทั้งยังเป็นโรคที่น่าจะเกิดจากการทำงานชนิด นั้นๆ บริษัทจะดูแลชดเชยค่าเสียหายทางสุขภาพให้

การตรวจลักษณะนี้ จึงจัดชุดแพคเกจได้ตามความเสี่ยงของลักษณะงานที่อาจจะก่อให้เกิดโรคบางโรค หรือ หากเกิดโรคบางโรคในคนงานแล้วจะเกิดการแพร่ระบาดต่อผู้อื่นได้

การตรวจสุขภาพชนิดนี้ จึงไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อให้ เจ้าของสุขภาพดูแลตนเองเป็น แต่ เพื่อเทียบเคียงกับเมื่อป่วยแล้ว จะได้เงินชดเชยให้ หรือให้เปลี่ยนชนิดงานที่เหมาะสมกว่า


การตรวจร่างกายก่อนการทำประกัน

การทำประกันเป็นการทำบนความซื่อสัตย์ระหว่างกัน ผู้ซื้อประกันต้องเปิดเผยความจริงต่อบริษัทว่ามีสุขภาพดีอยู่จริงขณะทำประกัน เมื่อเวลาผ่านไป เกิดความเจ็บป่วย บริษัทจึงชดเชยความเสี่ยงทางสุขภาพนั้นได้

ทางบริษัทประกันจึงมักเป็นผู้กำหนดรายละเอียดรายการตรวจสุขภาพมาให้อย่างละเอียดเพื่อ พิสูจน์ยืนยันว่าไม่มีโรคใดๆซ่อนอยู่ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเงินประกันที่ซื้อ

จึงเห็นได้ว่ายิ่งมีโรคประจำตัวมาก ค่าประกันก็จะสูงตามไปด้วย

การตรวจลักษณะก็ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อการ ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล แต่เป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง




2. เกณฑ์พิจารณาสุขภาพและความเสี่ยงแต่ละบุคคลว่าต้องตรวจสุขภาพแบบไหน เพิ่มเติมอะไร และ เมื่อไรต้องตรวจแบบเฉพาะมีอะไรบ้าง


การตรวจสุขภาพหลายคนเข้าใจว่า เหมือนการซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ
แค่เดินเข้ามา เลือกแพ็คเกจ ที่อยากได้ จ่ายเงิน เจาะเลือด แล้วก็รอรับผลเลือด

นั่นเป็นความคิดที่ ผิด!

การตรวจสุขภาพ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ว่าคุณอายุเท่านี้ ต้องตรวจแพ็คเกจ A อายุเท่านี้ต้องตรวจแพ็คเกจ B

การตรวจสุขภาพ ที่ดี คือการตัดเสื้อตามตัวคนใส่

แพทย์จะต้องพิจารณาความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่เดินเข้ามาตรวจ เริ่มจากการซักประวัติตั้งแต่ เพศ อายุ ความเสี่ยงหรือโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ตลอดไปจนถึง ลักษณะการทำงาน ลักษณะการดำรงชีวิต การออกกำลังกาย สารเสพย์ติด เหล้า บุหรี่ ประวัติเพศสัมพันธ์

หลังจากการซักประวัติก็ต้องมีการตรวจร่างกายโดย แพทย์ อย่างน้อยก็ควรจะได้รับการฟังปอด ฟังหัวใจ คลำดูว่าตับม้ามโตหรือไม่ ในผู้หญิงก็จะมีการตรวจภายในโดยพิจารณาตาม ความเสี่ยงเป็นคนๆไป

เมื่อเสร็จจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์ จะใช้ข้อมูลทั้งหมดในการประเมินว่า ท่านควรได้รับการตรวจเลือดหรือตรวจ ทางห้องปฏิบัติการใดบ้างที่จำเป็นหรือเหมาะสม ตามความเสี่ยงรายบุคคล

เป็น สิทธิของผู้มารับบริการทุกคนที่จะได้สอบถามหรือรับรู้ว่าแพทย์ได้สั่งการตรวจใดไปบ้าง การตรวจดังบางรายการมีความซับซ้อนสูง หากไม่เข้าใจใน วิธีการตรวจ หรือความเสี่ยงระหว่างการตรวจ ท่านมีสิทธิที่จะสอบถามแพทย์ เพื่อให้เข้าใจและช่วยในการตัดสินใจในการตรวจ

ผู้เขียนอยากให้ผู้มารับบริการเข้าใจว่า การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นหน้าที่ในการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้รับบริการ ไม่ใช่การ ตัดสินใจโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก

หลังการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ท่านควรได้รับการแจ้งหรืออธิบายสิ่งที่ส่งตรวจไปแล้วว่ามีความผิด ปกติหรือปกติอย่างใด

แต่ไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น หากผลมีความผิดปกติ ถึงขั้นต้องทำการตรวจเพิ่มวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือตรวจรักษา ทางโรงพยาบาล หรือสถานบริการที่ทำการตรวจควรมีแพทย์ที่รับรักษาหรือดูแลท่านอย่างต่อเนื่อง

หากผลตรวจปกติ หรือผิดปกติเล็กน้อย ท่านควรได้รับคำแนะ นำถึงวิธีการปฏิบัติตัวหรือป้องกันตัวจากความเสี่ยงต่างๆในอนาคต และ ความถี่ที่เหมาะสมสำหรับตัวท่านในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไป

ดังนั้นก่อนที่จะไปตรวจแพ็คเกจตรวจสุขภาพที่ไหน ควรจะสอบถามเจ้าหน้าที่ ก่อนเสมอว่าหลังได้รับผลตรวจแล้ว จะมีแพทย์ให้คำแนะนำสำหรับท่าน หรือ ดูแลรักษาท่านต่อหากมีความผิดปกติหรือไม่


3. แพคเกจตรวจสุขภาพมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ?


ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น การตรวจสุขภาพไม่มีแพคเกจตายตัว

แพทย์จะต้องตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง เฉพาะตัวของท่าน และ พิจารณาตามความเหมาะสมว่าสมควรตรวจบ่อยมากน้อยเพียง ใดหรือ ตรวจอะไรบ้าง


4. ตรวจสุขภาพบ่อยๆ โดยไม่จำเป็นเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?


เหรียญยังมีสองด้าน ดังนั้นการตรวจสุขภาพก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เริ่มต้นตั้งแต่ท่านก้าวมาสู่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยปริมาณมากมารับบริการ
ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทางเดินหายใจ

หัตถการเล็กๆน้อยๆ เช่น การเจาะเลือดก็อาจจะมีความเสี่ยงเช่น การฟกช้ำ
การตรวจบางอย่างก็มีความ เสี่ยงสูง ที่จะก่อให้เกิดอันตรายระหว่างการทำ
ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้ทะลุ หัวใจหยุดเต้น หรือ การติดเชื้อต่างๆ

ที่พูดมาไม่อยากให้ผู้อ่าน รู้สึกตกใจกลัวจนไม่อยากมาตรวจสุขภาพ
เพราะไม่ว่าหัตถการในการตรวจใดๆ แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ก็พยายามจะให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ น้อยที่สุดแล้ว แต่ ทุกอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆแพทย์จึงจำเป็นต้องประเมิน ความเสี่ยงต่อโรคที่ท่านอาจจะเป็น กับ ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการตรวจ ว่าสิ่งไหนมากกว่ากัน

นอกจากอุบัติเหตุระหว่างการตรวจ ก็ยังมี สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมานาน
ว่าการตรวจรักษาโรคบางอย่างตั้งแต่ เนิ่นๆ ทำให้ลดอัตราตายได้จริงหรือ?

เพราะโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง ชนิดที่มีความรุนแรงมากและแพร่กระจายได้เร็ว รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษาต่ำ ต่อให้พบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็ไม่อาจจะชะลอการดำเนินโรค หรือ ยืดอายุของผู้ป่วยได้

ยิ่งทราบเร็ว เท่าไร ก็ทำให้ผู้ป่วย ต้องใช้เวลาที่ “จม” อยู่กับ “โรค” และ “การรักษา” นานขึ้น ทั้งๆที่ อาจจะใช้ชีวิตได้ยาวไม่ต่างกับ ผู้ที่มาพบว่าตัวเองเป็น โรค “ระยะสุดท้าย” ที่ใช้ชีวิตอยู่กับ “โรค” เพียงไม่กี่เดือนก่อนเสียชีวิต


5. วิธีการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพที่เหมาะสมมีอะไรบ้าง



เมื่อแพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกายท่านโดย ละเอียดแล้วก็จะแจ้งว่า ท่านควรต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการใดบ้างเพื่อเป็นการคัดกรองหาโรคตามความเสี่ยง

โดยทั่วไปการตรวจที่พบได้บ่อย คือ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอ็กซเรย์

ส่วนการตรวจที่จำเพาะมากกว่านั้น เช่น การสวนแป้ง ส่องกล้อง หรือ วิ่งสายพาน จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ซึ่งหากแพทย์ได้ แจ้งว่าท่านมีความเสี่ยงสูง และจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะดังกล่าว ควรสอบถามถึงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงของการตรวจแต่ละรายการด้วยตัวท่านเอง


การตรวจเลือด

โดยส่วนมากจะเป็นการตรวจเพื่อหา เบาหวาน ไขมันในเลือด และความเข้มข้นเลือด สำหรับรายละเอียดรายการการส่งตรวจอาจมีมากหรือน้อย กว่านี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงรายบุคคล

โดยทั่วไปแล้วการตรวจเลือดไม่จำ เป็นต้องงดน้ำและอาหาร ยกเว้น การตรวจเบาหวานและไขมันในเลือดที่จำเป็นต้องงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชม.

หลายคนสงสัยว่า จำเป็นต้องงดน้ำหรือไม่?

ความจริงแล้ว “น้ำ” ไม่จำเป็นต้องงด เพียงแต่เพื่อป้องกันความสับสน เพราะ “กาแฟ” “ชา” “โอวันติน” ที่หลายคนนิยมบริโภคเป็นอาหารเช้า
มีส่วนประกอบของน้ำตาล หรือไขมัน ทำให้ผลที่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง และผู้รับบริการมักจะลืมนึกไป จึงทำให้กลายเป็นประโยคติดปากว่า “งดน้ำ งดอาหารก่อนมาตรวจ”

การตรวจปัสสาวะ

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดๆที่สนับสนุนการตรวจปัสสาวะเพื่อ “คัดกรอง” หาความเสี่ยงในประชากรปกติทั่วไป

คำถามคือแล้วทำไมประเทศไทย ถึงยังนิยมให้การตรวจปัสสาวะเป็นหนึ่ง ในรายการการตรวจสุขภาพ?

คำตอบก็คือ ในสมัยก่อน กระทรวงการคลังได้กำหนดรายการการตรวจสุขภาพที่สามารถเบิกได้ ได้แก่ การตรวจความเข้มข้นของเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเอ็กซเรย์ปอด เลยกลาย เป็นว่า เบิกได้แค่ไหน ตรวจให้หมดที่เบิกได้ ไปแทน!

ซึ่งแท้จริงแล้ว ยังไม่มีงานวิจัยไหน ที่สนับสนุนการตรวจ “ปัสสาวะ” เพื่อคัดกรองหาความเสี่ยงในประชากรปกติทั่วไป

แต่ถ้าไหนๆแล้วพูดถึง การตรวจปัสสาวะแล้ว ก็จะขอกล่าวถึงวิธีการเก็บปัสสาวะส่งตรวจที่ถูกต้อง เผื่อ ว่าผู้อ่านมีความจำเป็นต้องเก็บปัสสาวะส่งตรวจ จะได้ไม่ต้องเก็บซ้ำๆ เพราะว่าผลที่ได้ผิดพลาดหรือตีความไม่ได้

การเก็บปัสสาวะหากต้องการ จะตรวจว่าตั้งครรภ์ หรือไม่

ควรเก็บปัสสาวะตอนเช้าครั้งแรกหลังจากตื่นนอน เพราะจะได้ผลแม่นยำที่สุด

หากต้องการตรวจปัสสาวะธรรมดาว่าติดเชื้อ หรือไม่

วิธีการเก็บ ถ้าเป็นผู้หญิงควรล้างชำระก่อน หลังจากนั้น ซับให้แห้ง ก่อนที่จะเริ่มปัสสาวะไปเล็กน้อย แล้วเก็บปัสสาวะส่วนกลาง หลังจากปัสสาวะไปได้เล็กน้อย ไม่ต้องรอให้ปัสสาวะจนหมด เพียงแค่ 5-10 cc ก็เพียงพอแล้วสำหรับการตรวจปัสสาวะทั่วไป

ส่วนผู้ชายควรรูดหนัง หุ้มปลายขึ้นไปก่อนปัสสาวะ เพื่อลดการปนเปื้อนของเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ

ปัสสาวะอาจมีสีผิดปกติไปได้ หากท่านรับประทานอาหารหรือผักผลไม้ที่มีสี เช่น หัวบีทรูท แก้วมังกรสีม่วง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารผักผลไม้ที่มีสีจัดดังกล่าว ก่อนการมาตรวจปัสสาวะ


การตรวจเอ็กซเรย์ปอด

การตรวจเอ็กซเรย์ปอด สำหรับประเทศไทยในประชากรปกติเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรควัณโรค ไม่ใช่ โรคมะเร็งปอด อย่างที่หลายคนเข้าใจ

การตรวจเอ็กซเรย์ปอด เพื่อหามะเร็งปอด จะทำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด เช่น ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ทำงานเกี่ยวกับใยหินต่างๆเป็นต้น ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนในการตรวจคัดกรอง มะเร็งปอด ในประชากรปกติทั่วไป

สำหรับ ผู้ที่แพทย์แนะนำให้ตรวจเอ็กซเรย์ปอด ควรจะถอดเครื่องประดับต่างๆโดยเฉพาะสร้อยคอ ไว้ที่บ้าน เพราะเครื่อง ประดับเหล่านั้นจะทำให้ตีผลได้ผิดพลาด

ก่อนการตรวจเอ็กซเรย์ท่านจะต้อง เปลี่ยนเสื้อที่ทางรพ.จัดไว้ให้ โดยจำเป็นต้องถอดเสื้อใน หรือเสื้อกล้าม เสื้อเชิรต์ออกให้หมด เคยมีผู้ป่วยรายหนึ่งรพ.ต้องตาม ตัวกันให้วุ่น เพราะเอกซเรย์พบจุดขนาดใหญ่ในปอด ปรากฏว่า ผู้ป่วยลืมเอาเหรียญติดตัวที่กลัดไว้ตรงเสื้อกล้ามออก

ระหว่างที่จะ ถ่ายเอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่จะให้ท่านหายใจลึกๆแล้วกลั้นหายใจค้างไว้ก่อนถ่ายรูป เพราะ ณ จุดนั้น จะเป็นภาพที่ทำให้มองเห็นส่วนประกอบต่างๆในปอดได้ชัดเจนที่สุด


ก็มีเท่านี้แหละคะที่อยากเขียน

ไม่ได้คัด ค้านการตรวจสุขภาพ แต่อยากให้ทุกคน "เข้าใจ" กับการตรวจสุขภาพมากกว่า

ดังนั้นสมการ "การดูแลสุขภาพ" จึงไม่ใช่ = "การตรวจสุขภาพ"

แต่เป็นการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ+ ออกกำลังกาย+ ขับขี่อย่างปลอดภัย + รู้จักสุขภาพของตัวเองต่างหาก!

สำหรับผู้ที่ต้องการ comment ขอความเห็นใจช่วยอ่านให้ครบทั้ง 9 คห.ที่ข้าพเจ้าได้พิมพ์ด้วย ยินดีน้อมรับทุกความคิดเห็น

ขอบคุณคะ

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตัวเล็กๆคนหนึ่ง

จาก คุณ : CMV




โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตรวจหา marker มะเร็งคะ เพราะปกติแล้ว marker เหล่านี้ ไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อ "คัดกรอง" แต่เพื่อ "ช่วยยืนยัน" ต่างหาก

มีหลายตัว ที่ อาจขึ้นได้ในคนปกติ และ ก็ไม่ขึ้นก็ได้ในคนที่ผิดปกติ ดังนั้นการตรวจหา marker จึงต้องใช้ควบคู่กับการ ซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์คะ

ขอ ยกตัวอย่าง case แล้วกันนะคะ

มีผู้หญิงคนหนึ่งมาตรวจสุขภาพ โดยขอตรวจ CEA ซึ่งเป็น marker ในการช่วยวินิจฉัยและดูการดำเนินโรคของมะเร็งลำไส้ โดย เธอไม่ได้มีความเสี่ยง ประวัติ หรือ อาการแม้แต่น้อย

ปรากฏว่าผล ผิดปกติ ค่า CEA ของเธอสูงกว่าปกติ เธอก็ตกใจ แพทย์ก็ตกใจ โดนจับไปส่องกล้อง ทางทวาร (คงไม่ต้องอธิบายว่า ยาถ่ายที่ต้องกินก่อนส่องมันแย่แค่ไหน) ปรากฏ ตรวจไปก็ไม่เจอ....

เป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร??
ก็เลยโดนส่องบ่อยๆ งั้นหรือ??
แล้วทราบหรือไม่ว่า การส่องกล้อง หรือ colonoscope มันมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด ลำไส้แตกหรือทะลุได้?

...ปัจจุบัน เป็นเวลาประมาณ 10 ปี แล้ว ผู้หญิงท่านนั้น ยังไม่มีอาการอะไรและการส่องกล้องก็ยังไม่พบมะเร็งใดๆ แต่เธอ ประสาทกินไปแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะมีมะเร็งเมื่อไหร่??!!

ขอยืนยัน อีกครั้งว่า Tumor Marker (พวกค่า มะเร็งต่างๆ CEA,CA19-9,alpha fetoprotien) ไม่ได้ใช้ในการ "คัดกรอง (screening)" โรคในคนปกติ

แต่ ใช้ในการ "ช่วยวินิจฉัยโรค (diagnosis)" ในคนที่มีภาวะเสี่ยง หรือมีอาการที่คล้ายมะเร็ง ประกอบกับการ ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์

จาก คุณ : CMV


เรื่อง tumor marker นี่เซ็งมากๆ

โดยเฉพาะคนที่ รู้แบบครึ่งๆกลางๆ มาเจอคนที่รู้ครึ่งๆกลางๆเเหมือนกัน พูดง่ายๆ บุคลากรทางการแพทย์นั่นแหละค่ะ ส่วนมากเลยเป็นคนไปขอให้หมอเจาะให้ เพราะไปเสพข้อมูลมามากเกิน บางทีหมอก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไป แต่คนกันเองมาขอก็เจอให้ไปเถอะ

พอเสร็จแล้วมาให้เราแปลผล พากันงงกันไป

บางคนไม่มี indication ในการเจาะเลย หมออื่นๆ มาสั่ง marker ของสูติ ของศัลย์ เนี่ยค่ะ เช่น CA-125, CEA พอค่ามันขึ้นก็ พากันแตกตื่นไปอีก บางคนอธิบายไปแล้ว ยังไม่หายกลุ้มเลยค่ะ

เป็นเรื่องน่าเบื่อประจำปีเลย สำหรับ tumor marker


เพิ่มเติมในมุมของตัวเอง

CA-125 สำหรับมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

-ใช้ติดตามหลังการรักษาคือ คุณเป็นมะเร็งแล้ว,รักษาแล้ว ใช้ติดตามดูว่าเซลล์มะเร็งลดลงดีหรือเปล่า และกลับมาหรือเปล่า

-ใช้เพื่อบอกแนวโน้มการเป็นมะเร็ง กรณีที่คุณตรวจพบแล้วว่ามีก้อนที่รังไข่

-ไม่ใช้สำหรับการคัดกรองในคนที่ ไม่มีอาการและตรวจร่างกายปกติ

-มีความพยายามตลอดมาที่จะใช้ CA-125 เพื่อคัดกรอง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีงานวิจัยที่บอกว่ามีความน่าเชื่อถือในการใช้ CA125 เพื่อการนี้

CEA (อันนี้ต้องรอหมอศัลย์มาตรวจคำตอบ นี่เป็นความรู้สมัยเป็นนักศึกษา)

-ใช้เพื่อตรวจติดตามหลังการรักษาเช่นกัน

-ไม่ใช้เพื่อตรวจคัดกรอง ถ้าคุณ เป็นมะเร็งลำไส้จนค่า CEA ขึ้นแล้ว แสดงว่ามะเร็งมันหยั่งรากลึกไปแล้ว

-คือมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เหมือน กะหล่ำน่ะ ถ้าคุณส่องกล้องในลำไส้ ก็จะเห็นด้านที่เป็นตัวดอกกะหล่ำ ที่มันงอกงามอยู่ แต่ถ้าเจาะ CEA ก็คือพยายามหารากมัน ซึ่งบางทีรากมันตื้นๆ แต่ดอกมันใหญ่ไปแล้ว

- การคัดกรองโรคอะไรก็ตาม วัตถุประสงค์เพื่อพบโรคในระยะเริ่มต้น

-วิธีคัดกรองมะเร็งในลำไส้คือ ตรวจหาเลือดในอุจจาระ และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในคนที่มีความเสี่ยง

จาก คุณ : ฟ้าหมาดฝน






หลังจากนั้น ก็มีการถามตอบข้อสงสัย .. ผมเลือกบางข้อความที่น่าสนในเอามาลงไว้ เพื่อความต่อเนื่อง แต่ถ้าอยากอ่านเต็ม ๆ ก็แวะไปอ่านกระทู้ในห้องสวนลุม นะครับ ..




แถม ..

ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝากไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... bydrcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93

ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไรตรวจไปเพื่ออะไร

https://www.hitap.net/167211

ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

https://www.hitap.net/167233

ตอนที่ 1ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้หญิง

https://www.hitap.net/167411

ตอนที่ 2ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ชาย

https://www.hitap.net/167420

ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

https://www.hitap.net/167523

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทย

https://www.hitap.net/research/17560

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

https://www.hitap.net/research/17573

เว็บไซต์ตรวจสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

https://www.mycheckup.in.th/

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ

https://www.hitap.net/news/24143

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย

https://www.hitap.net/documents/18970

https://www.hitap.net/research/17573





Create Date : 11 มิถุนายน 2553
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:50:55 น. 7 comments
Counter : 21399 Pageviews.  

 


โดย: ริวคิ-mawin-maji-minic วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:15:59:25 น.  

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:16:40:23 น.  

 
เป็นมุมมองที่สะท้อนความจริงได้ดีมากเลยค่ะ สมัยนี้คนตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันเยอะ พูดกันแบบครึ่งๆกลางๆแบบปากต่อปาก ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเลยค่ะ


โดย: แม่ปุ้มปุ้ย วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:20:32:22 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: คนชอบอ่านผ่านมาทัก วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:1:23:19 น.  

 
//www.doctor.or.th/node/1183


การตรวจสุขภาพ ทำอะไรบ้าง

ข้อมูลสื่อ
File Name :347-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :347
เดือน-ปี :03/2551
คอลัมน์ :คุยกับหมอพินิจ
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.พินิจ กุลละวณิชย์


การตรวจสุขภาพทำอะไรบ้าง

การดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เพราะโรคต่างๆ ไม่คอยใคร บิดามารดา ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ต้องสอนลูกหลาน ลูกศิษย์ เกี่ยวกับการมีพฤติกรรมในทางที่ดี ใน การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่างๆ เพราะตั้งแต่มนุษย์เกิดมาหลอดเลือดทั่วร่างกาย เราจะเริ่มต้นตีบทีละเล็กละน้อย จนตีบร้อยละ ๗๐ จึงจะมีอาการ ซึ่งจะสายไปเสียแล้ว

คนไทย ๑๐ ล้านคนที่เป็นโรคความดันเลือดอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย ฉะนั้นแพทย์ บิดามารดา สังคม จึงต้องแนะนำเยาวชนให้กินอาหารเพิ่มสุขภาพ (ผัก ปลา ผลไม้ เป็นหลัก) ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ครั้งละ ๓๐ นาที อย่างน้อย ๓ ครั้ง/สัปดาห์) ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด เมื่อถึงเวลาต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิต ไม่เล่นการพนัน

ทั้งนี้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ควรดูแลให้ดัชนีมวลกาย (body mass index - BMI) อยู่ต่ำกว่า ๒๓ (BMI คือน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) และพุงชายเล็กกว่า ๙๐ เซนติเมตร พุงหญิงเล็กกว่า ๘๐ เซนติเมตร

ถ้าปฏิบัติได้ก็จะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย โดยไม่เสียงบประมาณอะไรมากมาย ถึงแม้ทำทุกอย่างแล้วตามนี้แล้วก็น่าจะไปพบแพทย์เมื่ออายุ ๓๐ ปี หรือเร็วกว่านี้ ถ้ามีกำลังทรัพย์ (หรือถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคต่างๆ เช่น ตับ มะเร็ง ฯลฯ) ถึงแม้จะสบายดี เพื่อคุยกับแพทย์ แพทย์จะได้มีประวัติข้อมูลเบื้องต้นไว้ เช่น ความสูง ความดันเลือด ชีพจร น้ำหนักตัว เป็นพื้นฐานไว้ เพราะคนไทย ๑๐ ล้านคนที่เป็นโรคความดันเลือดอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย แต่ถ้าไม่ไปตรวจอาจอยู่ดีๆ เป็นอัมพาตไปเลย จากหลอดเลือดในสมองแตก ถ้าสบายดี เมื่อไรจึงควรไปตรวจ แล้วแต่เศรษฐ-ฐานะ ความอ้วน ญาติพี่น้อง ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่

การตรวจร่างกายอาจพิจารณาเลือกตรวจดังนี้

๑. ปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะจะบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น การมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ อาจนึกถึงการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ การมีนิ่ว หรือการที่มีไข่ขาว (อัลบูมิน) อาจต้องคิดถึงโรคไต

๒. อุจจาระ

ดูลักษณะของอุจจาระ สี มูก ดูว่ามีเลือดสดหรือไม่ อุจจาระมีไขมันหรือไม่ ดูเม็ดเลือดแดง ขาว เชื้อโรค จากกล้องจุลทรรศน์ จะช่วยบอกว่ามีเลือดออกจากระบบทางเดินอาหารหรือไม่ ดูไข่พยาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบ กินปลาร้าดิบ ถึงแม้นานมาแล้ว เพราะอาจพบไข่ของพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งถ้าไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับได้

๓. เลือด

การตรวจดูเม็ดเลือดแดง ขาว เกล็ดเลือด (Complete blood count, CBC ดูว่าเลือดจางหรือไม่ เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำ มีการติดเชื้อโรคหรือไม่ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อโรคเม็ดเลือดขาวอาจสูง สำหรับผู้ที่มีเชื้อไวรัส เม็ดเลือดขาวอาจอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ถ้ามีเกล็ดเลือดน้อยไป อาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออก

น้ำตาลกลูโคสเพื่อดูโรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ ปกติค่าน้ำตาลระหว่างที่อดอาหารควรจะอยู่ ต่ำกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าน้ำตาลอยู่ระหว่าง ๑๐๑-๑๒๖ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็น "ว่าที่" เบาหวาน การตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือดควรทำหลังอดอาหารมาแล้ว ๑๒ ชั่วโมง เช่น กินอาหารค่ำ ๑๙.๐๐ น. แล้วไม่กินอะไรเลย ยกเว้นน้ำเปล่าและควรตรวจเลือดอย่างน้อย ๑๒ ชั่วโมงหลังจากนั้น คือ ๐๗.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น

ไขมันในเลือด แพทย์มักตรวจคอเลสเตอรอลไตรกลีเซอไรด์ และหาค่าเอชดีแอล (HDL - high density lipoprotein เป็นไขมันที่ดีช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) แอลดีแอล (LDL - low density lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากไป และต้องควรควบคุมให้ต่ำกว่า ๑๓๐ มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์สำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนธรรมดา แต่ในผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ต้องควบคุมให้ต่ำกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ดูโรคเกาต์ (กรดยูริก) ดูการทำงานของไต ตับ การแข็งตัวของเลือด

อาจตรวจหาเชื้อไวรัสตับเอ บี และซี ถ้าไม่มีเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี ถ้ามีเชื้อบีและซีแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อได้ จากการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยต่างๆ ที่ดิบ หรือดิบๆ สุกๆ ส่วนไวรัสตับอักเสบบี ซี ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และจากการใช้ยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีด ที่สกปรกร่วมกัน

สำหรับการตรวจต่างๆ ถึงแม้ท่านไม่มีอาการท่านอาจมีความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีตับอักเสบหรือ มีเชื้อไวรัสบี ซี ของตับได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งของตับได้

การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ร่วมกับการไปพบ แพทย์เป็นระยะๆ ถึงแม้จะสบายดีเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง




โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:15:45:26 น.  

 
การแปลผลการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... by drcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93


ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83


ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45


แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52


โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:16:25:11 น.  

 


โดย: kuk172 วันที่: 26 ธันวาคม 2560 เวลา:19:21:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]