Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

มะเร็งตับ มะเร็งขั้วตับ เป็นยังไง มายังไง (โรคที่สังคมและคนสนใจในช่วงนี้ ?)

มีสมาชิก ให้ห้องสวนลุม นำมาลงไว้ ผมก็ขอนำมาลงต่ออีกที ...




มะเร็งขั้วตับ เป็นยังไง มายังไง (โรคที่สังคมและคนสนใจในช่วงนี้ ?)

โดย นายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ศัลยแพทย์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี

มะเร็งขั้วตับ กำลังเป็นที่สนใจของสังคม
หลายคนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามถึงเจ้ามะเร็งชนิดนี้กันมากว่า
มีที่มาที่ไปอย่างไร
ไม่ค่อยคุ้นหูกับโรคมะเร็งชนิดนี้ ส่วนใหญ่มักได้ยินแต่มะเร็งตับ

จึงถือโอกาสนี้เอาเรื่องมะเร็งขั้วตับมาเล่าสู่กันฟัง

มะเร็งขั้วตับ ไม่ได้เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด
เพียงแต่บอกตำแหน่งของก้อนมะเร็งให้ชัดเจนลงไปมากขึ้นว่า
มันอยู่บริเวณขั้วตับ

คำถามที่ตามมาของคนอยากรู้อยากเห็นก็คือว่า
แล้วตรงตำแหน่งขั้วตับกับตำแหน่งอื่นๆ ในตับ
มันแตกต่างกันอย่างไร
ส่งผลอย่างไรต่อการรักษา
รักษายากง่ายอย่างไร

ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะมีผลต่อเวลาที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตเหลืออยู่โดยตรง

ถ้าจะแบ่งตำแหน่งของก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นที่ตับ
ให้เข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น อาจแบ่งเป็น 3 ตำแหน่งหลัก คือ
ที่ผิวตับ
ในเนื้อตับ
และตำแหน่งที่เรากำลังสนใจอยู่ตอนนี้คือ ที่ขั้วตับ

คำถามที่ตามมาก็คือ
ตำแหน่งไหนรักษายากที่สุด
ตำแหน่งไหนอันตรายที่สุด
ตำแหน่งไหนส่งผลที่ตามมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงเร็วที่สุด

ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบ
โดยให้ตัวแปรอื่นๆ ที่สำคัญเหมือนกัน อาทิ
ขนาดของก้อน คุณภาพตับในส่วนที่ไม่เป็นมะเร็ง ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า

บริเวณขั้วตับเป็นตำแหน่งที่อันตรายที่สุด
และส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ
และระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยมากที่สุดเช่นกัน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น น่าจะเป็นคำถามที่ตามมาติดๆ

ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านลองหลับตานึกภาพตับ
ที่อยู่ใต้ชายโครงขวาทอดตัวขวางมาถึงตรงกลางใต้ลิ้นปี่

บริเวณพื้นผิวด้านล่างช่วงกึ่งกลางระหว่างลิ้นปี่กับชายโครงขวา
เป็นจุดที่เรียกว่าขั้วตับ

ขนาดของพื้นที่บริเวณขั้วตับประมาณได้กับขนาดของไข่ไก่
เป็นบริเวณที่มีความสำคัญมาก
เนื่องจากเป็นที่รวมของโครงสร้างสำคัญ 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หลอดเลือดแดง
ที่นำเลือดดีมาเลี้ยงตับเช่นเดียวกับอวัยวะทั่วไป

ส่วนที่ 2 หลอดเลือดดำ
ที่นำเลือดดำจากอวัยวะส่วนใหญ่ในช่องท้องผ่านเข้าสู่ตับ
ก่อนกลับเข้าสู่หัวใจ

และส่วนที่ 3 คือท่อน้ำดี
ที่รับน้ำดีที่ถูกสร้างภายในตับลงสู่ลำไส้เล็ก

โดยโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนั้นมีพังผืดหุ้มล้อมรอบ
จึงอยู่เคียงข้างกันตลอดเส้นทาง นับตั้งแต่บริเวณขั้วตับ
จนเข้าสู่ภายในเนื้อตับ

เจ้าสามเกลอที่ว่านี้จะอยู่แนบสนิท
รักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ไปไหนไปด้วยกันตลอดทาง
จนถึงระดับเซลล์ตับ

จากการอยู่ใกล้ชิดกันของ 3 โครงสร้างบริเวณขั้วตับเช่นนี้
ส่งผลเสียทำให้การลุกลามของโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
และมีผลต่อการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดที่จะกล่าวต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนชอบถาม
(เผื่อจะได้รีบสังเกตตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ)
คืออาการแรกเริ่มของมะเร็งขั้วตับ

ก่อนจะกล่าวถึงอาการ
จำเป็นต้องกล่าวถึงประเภท
หรือชนิดของมะเร็งที่มักเกิดที่ตำแหน่งขั้วตับเสียก่อน
เนื่องจากอาการจะเป็นอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่มักขึ้นกับชนิดของมะเร็ง

ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นความรู้เบื้องต้นก่อนว่า
มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ตับ
หาได้เกิดขึ้นจากเซลล์ที่อยู่ในตับเพียงอย่างเดียวไม่
ยังเกิดจากเซลล์มะเร็งของอวัยวะอื่นที่กระจายมาที่ตับ

โดยส่วนใหญ่มาทางกระแสเลือด เช่น
มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ ฯลฯ


เรียกได้ว่า มะเร็งของทุกอวัยวะในร่างกาย
สามารถแวะมาพำนักพักพิงที่ตับได้ทั้งสิ้น

จากการที่ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
และมีเลือดมาเลี้ยงมากที่สุด
ไฉนเลยเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ จะไม่หลุดมาติดที่ตับได้บ้าง

แต่มะเร็งขั้วตับส่วนใหญ่
ไม่ได้เกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแพร่กระจายมา
มะเร็งขั้วตับส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ในเนื้อตับ

ซึ่งแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 ประเภทหลัก คือ
มะเร็งเซลล์ตับ และมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี

มะเร็งขั้วตับส่วนใหญ่มักเป็นมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี
มากกว่ามะเร็งเซลล์ตับ

อาการที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์
ส่วนใหญ่เป็นอาการตัวเหลืองตาเหลือง อาการปวดท้อง
ซึ่งเป็นอาการหลักของมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี

มากกว่าอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ซึ่งเป็นอาหารหลักของมะเร็งเซลล์ตับ

โดยมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับเมื่อผู้ป่วยมีอาการ
ก้อนเนื้อที่พบมักมีขนาดเล็ก เนื่องจากเกิดขึ้นภายในท่อน้ำดีโดยตรง
ก้อนเนื้อขนาดไม่ต้องใหญ่โตมากก็ทำให้เกิดท่อน้ำดีอุดตัน

ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
และมักมีอาการคันตามตัวร่วมด้วย

อาการปวดท้อง
อาจเกิดจากภาวะน้ำดีคั่งในตับ
หรือจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง

นอกจากนั้น
จากการที่ท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับ
หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
ทำให้ส่วนใหญ่มักมีการลุกลามของมะเร็ง
ไปสู่หลอดเลือดทั้งสองไม่มากก็น้อย
ส่งผลให้เกิดการกระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่น
โดยผ่านทางกระแสเลือด
และแน่นอนที่สุด
ทำให้การผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาดมีโอกาสน้อยลง

ในขณะที่มะเร็งเซลล์ตับบริเวณขั้วตับนั้น
โอกาสเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลืองมักมีน้อยกว่า
ส่วนใหญ่มักพบในก้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า
และกดเบียดท่อน้ำดีบริเวณขั้วตับ

การรักษามะเร็งขั้วตับที่เป็นที่ยอมรับว่าให้ผลการรักษาดีที่สุดคือ
การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อปกติโดยรอบออก

เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน
มะเร็งขั้วตับถูกจัดเป็นโรคที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้

เนื่องจากผู้ป่วยมักเสียชีวิตบนเตียงผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดไม่นาน
เนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก

ในระยะหลัง เมื่อความรู้ทางกายวิภาคของบริเวณขั้วตับดีขึ้น
และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการพัฒนามากขึ้น
ทำให้การผ่าตัดบริเวณขั้วตับมีความปลอดภัยมากขึ้น
แต่ก็ยังอันตรายกว่าตำแหน่งอื่นๆ ในตับอยู่ดี

ในขณะที่การฉายรังสี
การใช้ยาเคมีบำบัด ได้ผลการรักษาไม่ค่อยดี
เมื่อเทียบกับมะเร็งของอวัยวะอื่น

ประเด็นสำคัญในเรื่องการรักษาอยู่ที่
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 8 ใน 10 รายเมื่อมาพบแพทย์
ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถให้การผ่าตัดเพื่อการหวังผลหายขาดได้

อาจเนื่องจากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปมาก
หรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนการผ่าตัดที่ยาวนานได้

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
มีเพียง 2 รายที่เหลือที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้
ทั้งนี้ ขึ้นกับหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ในการผ่าตัดมะเร็งตับ

เนื่องจากการผ่าตัดตับมีอันตรายมากกว่าอวัยวะอื่น
จากการที่ตับเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมากที่สุด

และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง
ในการผ่าตัดตับที่แตกต่างจากอวัยวะอื่น คือ

การตัดอวัยวะอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็ง
หลายอวัยวะสามารถตัดออกได้เกือบหมดหรือทั้งหมดอวัยวะนั้น

ในขณะที่การตัดเนื้อตับออกมีความพิถีพิถันมากกว่า
เพราะการตัดเนื้อตับออกมากเกินไปเพียงเล็กน้อย
ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะตับวายหลังผ่าตัด
จากการที่เนื้อตับส่วนที่เหลือไม่เพียงพอในการทำงานปกติของร่างกาย

นอกจากนั้น
หากเนื้อตับส่วนที่เหลือมีความผิดปกติจาก
ไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือชนิดซีเรื้อรัง
หรือมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย
ยิ่งทำให้โอกาสตัดก้อนมะเร็งออกเพื่อหวังผลหายขาดน้อยลงโดยลำดับ

คำถามที่เกี่ยวกับพยากรณ์โรคหรือผู้ป่วยจะอยู่ได้นานแค่ไหน
เป็นคำถามยอดฮิตอีกคำถามหนึ่ง
ที่แพทย์ผู้ไม่ได้รักษาผู้ป่วยโดยตรงไม่อาจฟันธงได้

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการข้อมูลอีกหลายด้าน อาทิ
ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง คุณภาพเนื้อตับที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง
และสภาพร่างกายโดยรวม
เช่น โรคประจำตัวอื่นๆ ของผู้ป่วย

มะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชาย
และสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในเพศชายของประเทศไทย
ติดต่อกันมาหลายปี

ก่อนจาก
อยากกล่าวถึงศักยภาพด้านการรักษามะเร็งตับของประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย
ความรู้ความสามารถของแพทย์และทีมงาน การฉายรังสี
การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ การผ่าตัดมะเร็ง
การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ผู้ป่วยคงไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศ
เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุผลอื่นร่วมด้วย

จาก นสพ. มติชนรายวัน
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11185


จากคุณ : Learn and Live



ความคิดเห็นที่ 1

ถือว่าเป็นความรู้ด้านโรคภัยที่อันตรายมากโรคหนึ่งที่ควรรู้

จะได้ระวังและดูแลร่างกายให้ดี
เพราะการป้องกันน่าจะดีกว่าการรักษา


พี่ชายผมก็เป็นโรคมะเร็งตับ เสียชีวิตหลายปีแล้ว
แต่ไม่ได้สอบถามแพทย์ที่รักษาว่าเกิดที่ส่วนไหน

ตั้งแต่รู้ว่าเป็นโรค ระยะ 3-4
เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน
ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ก็เสียชีวิต

-------------------------------------------------------------------------

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็ง

ความเครียด ที่สะสมทุกวัน ไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น
ควรปล่อย-วางสิ่งที่ต้องการ คาดหวังลงบ้าง ทำจิตใจให้สบาย ๆ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะได้หลั่งสารเอนโดฟิน นั่งสมาธิ ฯลฯ

จะช่วยให้ความเครียดลดลงทุกวัน
และไม่เพิ่มความเครียดในสิ่งที่ไม่จำเป็นลงได้

ทานอาหารที่มีสารพิษ เช่น ทานปลาน้ำจีดแบบดิบ
โดยเฉพาะทางภาคอีสาน เป็นมะเร็งตับมากที่สุดในประเทศไทย
จึงควรเลือกทานอาหารที่สุกใหม่ ๆ จะดีที่สุด

ทานอาหารที่มีเชื้อราอัลฟาท๊อกซินบ่อย ๆ เช่น
ทานถั่วป่น พริกป่น อยู่เป็นประจำ
คนที่มีโอกาสเป็น เช่น ทานก๋วยเตี๋ยวแห้ง ผัดไทย เพราะต้องใส่
ถั่วป่น เพื่อชูรส
(เชื้อราอัลฟาท๊อกซิน ทำลายไม่ได้ที่อุณหภูมิที่ 100 C ต้องสูงกว่านั้น
มากว่า 200 C )

ผมเลิกใส่ถั่วป่น พริกป่น ในอาหาร ก้วยเตี๋ยว ผัดไทย
มานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันทานก๋วยเตี๋ยว โดยไม่ใส่เครื่องปรุงเลย


ทานอาหารที่มีสารพิษเป็นประจำ เช่น ล้างผักไม่สะอาด
ทานผักชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ กัน ควรเปลี่ยนชนิดของผักที่ทานบ่อย ๆ

มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ทานเหล้า เป็นประจำ
เช่น เมื่อก่อนผมก็สูบบุหรี่ วันละ 1 ซองเป็นอย่างต่ำ
แต่เลิกสูบมาหลายปีแล้ว และหันมาทานอาหารแนวชีวจิต
แมคโครไบโอติก เพื่อช่วยให้ร่างกายรับอาหารดี ๆ ทดแทน
สารพิษที่รับเมื่ออดีต อาจช่วยลดให้การเกิดมะเร็งลดน้อยลง
ผมหวังว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ?

ฯลฯ

ขอให้โชคดี มีสุขภาพแข็งแรงทุกคน และตลอดไปนะครับ

จากคุณ : Learn and Live









Create Date : 05 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 12 มิถุนายน 2563 21:23:06 น. 2 comments
Counter : 3069 Pageviews.  

 
น่ากลัวอะ


โดย: OFFBASS วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:0:24:18 น.  

 
น่ากลัวมากมาย


โดย: otto วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:16:49:08 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]