Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดสมอง ตีบ-แตก-ตัน Fast Track Stroke






โรคเส้นเลือดสมองตีบ


ดัดแปลงจากบทความ ของ นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ( https://www.siammedic.com )

อัมพฤกษ์อัมพาต หมายถึงการที่แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง และมักจะไม่ค่อยหาย หรือ หายแต่ไม่หายสนิท ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนานและมีความพิการหลงเหลืออยู่

คำว่า "อัมพาต" เรามักจะหมายถึงอาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย ซึ่งอาจจะอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรือครึ่งท่อนล่างของร่างกายก็ได้

ส่วนคำว่า "อัมพฤกษ์" เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง

โดยทั่วไป เรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีเพียงแค่ อาการชา หรือ มีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ก็อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งสิ้น

อาการโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในทันทีทันใด ในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ แค่เป็นนาที หรือเป็น ชั่วโมง แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ อาการนี้แสดงให้เห็นว่ามีสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยงในช่วงนั้น ๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดถาวร หรืออัมพาตครึ่งซีกได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ก็จะมีประโยชน์ในการป้องกัน การเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ได้



เส้นเลือดสมองตีบหมายถึงอะไร

เส้นเลือดสมองตีบเป็นโรคหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งประกอบ ไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดแตก และ เส้นเลือดอุดตัน โดยที่ เส้นเลือดสมองตีบ พบได้มากที่สุด (80-85%)

เส้นเลือดที่ตีบเกิดจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีเกล็ดเลือด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเลือด มาสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และเกิดความเสียหายต่อเซลสมองได้



มีอาการอย่างไรได้บ้าง

เนื่องจากสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาการในผู้ป่วย ขึ้นกับบริเวณของสมองที่มีเส้นเลือดตีบ อาการที่พบได้แก่

 แขนขาอ่อนแรง หรือชาซีกใดซีกหนึ่ง (บางกรณีอาจเป็น ทั้ง2ซีก)

 ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หรือ สำลัก

 พูดไม่ได้ หรือฟังไม่รู้เรื่อง (มีปัญหาด้านความเข้าใจภาษา)

 เวียนศีรษะมาก เดินเซ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการมึนงง ทรงตัวไม่อยู่ หรือ ล้ม โดยไม่ทราบสาเหตุ

 มองไม่เห็นซีกใดซีกหนึ่ง ตามองไม่เห็น หรือพร่า โดยเฉพาะถ้าเป็นเพียงข้างเดียว

 อาการสับสน หรือ ไม่รู้สติ ในทันทีทันใด หรือปวดศรีษะอย่างมาก

 โดยลักษณะสำคัญของอาการที่เกิดคือ เป็นค่อนข้างเร็ว ภายในเวลาเป็นนาที หรืออาจเป็นหลังตื่นนอน โดยที่ก่อนเข้านอนยังปกติอยู่



ใครมีโอกาสเป็นบ้าง

อายุที่มากขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ที่ไม่สามารถป้องกันได้ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นโอกาสเสี่ยงก็มากขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราคุมได้ดีก็จะสามารถลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้มากแม้จะไม่100% ก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่

ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนที่ไม่เป็นประมาณ 2-4 เท่า

โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า

เบาหวาน

ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน

การสูบบุหรี่



อัมพาตพบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน

จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาตจะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น

อายุ 45-54ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1000 ราย
อายุ 56-64ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย
อายุ 75-84 ปีพบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50 ราย
อายุ มากกว่า 85 ปีพบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย


จะวินิจฉัยอย่างไร

อาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไปและการตรวจทางทางระบบประสาท และการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ในบางรายหากสงสัยว่าอาจเป็นอย่างอื่น แพทย์ที่ตรวจอาจให้ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) แทนการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ของสมอง จะช่วยให้แยกได้ระหว่างเส้นเลือดตีบหรือแตก ซึ่งการรักษาจะต่างกันไป



รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาอาการที่เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีโอกาสที่จะดีขึ้นได้เอง โดยเน้นการทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องของการฟื้นตัวว่าจะดีขึ้นได้ถึงระดับใด โดยอาจพอบอกแนวโน้มได้คร่าว ๆ หลังเกิดอาการ2-4 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้ทำนายได้ถูกต้องแน่นอนเสมอไป เช่น ถ้าผ่านไป 2 สัปดาห์ อาการอ่อนแรงดีขึ้นมากพอสมควร ก็อาจบอกได้ว่ามีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้มาก แต่ถ้าผ่านไป 3 - 6 เดือนก็ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าที่ควร ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก



การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แล้ว หลักสำคัญๆ ได้แก่

ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ห้ามขาดยา และ มาพบแพทย์ ตามนัด

ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยอาจทำเองที่บ้าน การทำกายภาพบำบัด มีส่วนสำคัญที่สุดในการเพิ่มโอกาสที่ทำให้ส่วนที่อ่อนแรง กลับมามีแรงมากขึ้นได้ ส่วนยา จะป้องกันเส้นเลือดสมองตีบซ้ำ ดังนั้นถ้าไม่ค่อยทำกายภาพบำบัด อาการก็จะไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ให้กำลังใจผู้ป่วย เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมักจะมีโรคซึมเศร้า หรือเครียดร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการที่เคยทำอะไรได้ แล้วมาทำไม่ได้

ในผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับเตียง จะต้องพลิกตัว จับนั่งบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบเป็นต้น ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะสอนการดูแลเหล่านี้ รวมทั้งการให้อาหารทางสายยาง(ถ้าต้องใส่) ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน



ยาที่ใช้รักษามีอะไรบ้าง

ยาที่ใช้ในโรคนี้ ใช้เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ เนื่องจากถ้าเป็นครั้งหนึ่งแล้ว จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำได้ ยาที่สำคัญคือยาป้องกันเส้นเลือดตีบ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ไม่ควรซื้อทานเองเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้

ยาที่มีความสำคัญมากอีกกลุ่มหนึ่ง คือยาที่ใช้คุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ยาเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องโดยเฉพาะการควบคุมอาหารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้



ทำไมบางคนหาหมอพระ หรือทานยาหม้อแล้วหายดี กลับมาเดินได้

อย่างที่กล่าวในตอนต้น คือโรคนี้เป็นโรคที่ในระยะแรกๆ ทำนายได้ยาก ว่าแต่ละคนจะดีขึ้นได้แค่ไหน หรือใช้เวลาเท่าใด บางรายอาจดีขึ้นเองโดยไม่ได้ทานยาอะไรเลย บางรายทานยาทุกอย่าง ทำกายภาพบำบัดเต็มที่ ก็อาจจะ ไม่ค่อยดีขึ้นมากนัก

ดังนั้นในรายที่ทานยาหม้อหรือรักษาแบบอื่นๆแล้วดีขึ้น มักเกิดจากการที่คนนั้นจะดีขึ้นเองอยู่แล้ว แต่บังเอิญไปทานยาหม้อด้วย จึงเข้าใจว่าขึ้นจากยาหม้อ แล้วบอกต่อกัน แต่ในรายที่ไม่ดีขึ้นหรือเกิดผลข้างเคียงจากยาหม้อ คนทั่วไปก็จะไม่ค่อยพูดถึง หรือโทษว่า แย่ลงเป็นจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ


ยาบำรุงสมองช่วยได้หรือไม่

มีคนพูดถึงยาบำรุงสมอง แปะก๊วย อาหารเสริม ฯลฯ ว่าจะช่วยให้อัมพาตหายได้หรือไม่ รวมทั้งการรักษาอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ รวมทั้งยาฉีดบางชนิดที่ราคาแพง ซึ่งทุกอย่างดังกล่าว ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ทางการแพทย์ว่า ได้ผล และการรักษาบางอย่างอาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัวได้ ถ้าไม่แน่ใจ จึงไม่ควรทานหรือฉีด

ยาหม้อ เป็นยาที่นิยมมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ แต่คนนิยมทาน เนื่องจากในยาหม้อ มักมีสารสเตียรอยด์ ที่ทำให้ทานแล้วรู้สึกสบาย เหมือนจะดีขึ้น แต่เป็นเพียงความรู้สึก และเป็นชั่วคราว และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายอย่าง เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โรคกระเพาะ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย หน้าบวม ฯลฯ บางรายที่ทานนานๆ เมื่อหยุดทานก็จะเกิดอาการไม่สบายได้หลายรูปแบบ ยาหม้อจึงเป็นยาที่ไม่ควรทานโดยเด็ดขาด


ทำไมแพทย์มักมีอคติ หรือปิดกั้นการรักษาแบบอื่นๆที่ไม่ใช่แผนปัจจุบัน

แพทย์ไม่ได้ปิดกั้นหรือมีอคติใด ๆ เนื่องจากแพทย์ทุกคนทราบว่าในขณะนี้ แผนปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ทุกราย ถ้าญาติผู้ป่วยก็อยากลองพึ่งการรักษาทางอื่นดูบ้าง เผื่อว่าอาจได้ผล แพทย์ส่วนมากก็ให้ลองได้ แต่ต้องเป็นการรักษาหรือเป็นยาที่ไม่เกิดอันตรายใด ๆ กับผู้ป่วย แต่การรักษาหลายอย่าง อาจเกิดอันตรายได้ เช่น ยาหม้อ การนวดโดยการเหยียบ การนอนในทรายดำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเภทที่ต้องชี้แจง แม้อาจไม่มีอันตรายนัก แต่เกิดจากการหวังผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม โดยฉวยโอกาสบนความเดือดร้อนของผู้ป่วยและญาติ เช่น อาหารเสริม เตียงแม่เหล็ก วิตามินบางชนิด ยาฉีดแพง ๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากเมืองนอก เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เกินความเป็นจริง ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการเอาผิดทางกฎหมายกับคนกลุ่มนี้แล้ว



ผลที่เกิดกับผู้ป่วยอัมพาต

ในช่วงเดือนแรก หลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตราตายถึง 40%

โอกาสที่จะเป็นอัมพาตซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิดอัมพาตพบได้ถึง 3-5 % และ 10% ใน 1 ปี

เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25% ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30 %ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา


ทำอย่างไรจึงจะป้องกันอัมพาตได้

การป้องกันในระยะที่ยังไม่มีอัมพาตเป็นสิ่งที่แพทย์ สามารถให้คำแนะนำได้ ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตลอดจนการตรวจหาเชื้อ ซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะทำให้การควบคุมและป้องกัน ผลแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคอัมพาตอยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น

 ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ควรควบคุม อาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ

 ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรงดอาหาร เช่น ไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึก หอยนางรม กุ้ง เป็นต้น ควรรับประทานยาและออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์ เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ




**************************************



กรมการแพทย์เตือนประชาชนตื่นตัว ป้องกันตนเองจาก โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนให้ตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ตามองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดความพิการหรือเสียชีวิต

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) จึงรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็งและโรคหัวใจตามลำดับ และยังพบว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ หากประชาชนรู้จักดูแลตนเองและ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และภาวะน้ำหนักเกิน

แพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลัก FAST คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก A = Arm อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และ T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลันในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้าอาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและมีความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และตลอดจน อาการเบื้องต้นของโรค หากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ
************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก
ขอขอบคุณ
29 ตุลาคม 2563

https://www.facebook.com/643148052494633/photos/a.644390729037032/1936607003148725/


........................................




โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke, Cerebrovascular Disease) คือ ภาวะที่สมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยง เนื่องจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย เลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่ได้หรือไม่สะดวก โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความรุนแรง ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ปัจจุบัน เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มที่สมองขาดเลือด ประมาณ 80-90% เป็นภาวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือภาวะหลอดเลือดตีบ

2.กลุ่มที่มีเลือดออกในสมอง
ประมาณ 15-20% เป็นภาวะที่มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หลายคนเรียกว่า หลอดเลือดฝอยฉีกขาด

และอีกประมาณ 5% เป็นลักษณะของหลอดเลือดโป่งพองแล้วมันแตก อันนี้ อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

สาเหตุของภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการ เกิดโรคหลอดเลือดสมองในวัยผู้ใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุรี่ ภาวะอ้วน การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

โดยหลักการคัดกรองตามหลัก BEFAST จะมีลักษณะอาการสำคัญ ดังนี้
B = Balance การทรงตัวผิดปกติ เดินทรงตัวไม่ได้ บ้านหมุนทันทีทันใด
E = Eyes การมองเห็นไม่ชัดทันทีทันใด โดยเฉพาะตาข้างเดียว เห็นภาพซ้อน ตาเหล่
F = Face ชาที่ใบหน้า หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
A = Arms แขน ขาอ่อนแรงทันทีทันใด
S = Speech พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดจาสับสนทันทีทันใด
T = Time ระยะเวลาที่เกิดอาการ

ถ้ามีอาการ 1 ใน 3 อย่าง มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 72%
แต่ถ้ามีอาการแสดงทั้ง 3 อย่าง จะมีโอกาสเป็น โรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 85%

ให้รีบ โทร 1669 เพื่อรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติของระบบ ประสาทแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้น อาการของโรคหลอดเลือดสมองขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด หากเกิดอาการหลอดเลือดแตกจะแสดงอาการทันที ร่วมกับอาการปวดหัวรุนแรง อาเจียน หมดสติหรือมีอาการชัก สำหรับอาการฉุกเฉินจะตรวจพบได้ ในขั้นต้นของการประเมินสภาวะของผู้ป่วย เช่น มีกล้ามเนื้อใบหน้าและแขนขาอ่อนแรง การรักษาที่รวดเร็วถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาภายในระยะเวลา 4.5 ชั่วโมง เพราะยิ่งปล่อยไว้จะทำให้สมองเกิดความเสียหายมากขึ้น เสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิต

#stroke #cerebrovascular #โรคหลอดเลือดสมอง #BEFAST #สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ #เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร1669

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669
https://www.facebook.com/niem1669/posts/pfbid0CEaikD9tBttcju7uYG3W5tUeRCRFuJBwsqcUWmfkV5pgFSnp6UV3nzi3HioTdKERl

...........................................................


Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 1 พฤษภาคม 2566 16:10:14 น. 4 comments
Counter : 30650 Pageviews.  

 
ขอบคุณคะ ตามมาจากกระทู้หลอดเลือด
ของคุณเเม่เป็นมาจากความดันอย่างเดียวคุณหมอบอก
เเต่จากอ่านๆๆดูเสี่ยงที่สุดเลย กลัวจัง
นี่ก้ดูเเลคุณเเม่อยู่ที่บ้าน เพิ่งมีอาการหนักเมื่อเสาร์ 12 /07ที่ผ่านมา เพิ่งออกจากรพ เมื่อวันอังคารเนื่องจากคุณเเม่ไม่ยอมอยู่ หนูละกลัวเเทนเลย กลัวจะเป็นหนักเเล้วไปหาหมอไม่ทัน

ขออนุญาตถามนะคะ อยากทราบว่าถ้ารักษาเเล้วไม่มีอาการหรือดีขี้น ตรงจุดที่ตีบก้ยังอยู่หรือหายไป คะ เเม่มีตีบสองจุด เเบบนี้หนูต้องเฝ้าดู ระวังตลอดเวลาเลยรึป่าวจะได้เฝ้าอย่างหนักเพราะเห้นพยาบาลบอกว่าคุณเเม่ชอบลุกพรวด เร็ว กลัวล้ม ท่าล้มเเล้วจะหนักเลย ยิ่งเครียดเเล้วกลัวเเทนเลย ส่วนคุณเเม่ก้เป็นคนชอบทำอะไร ท่านมองว่าดีขึ้นพอพูดได้เเล้วเเต่ไม่ชัด คือตอนนี้ก้ไม่เหมือนเดิมนะหนูว่า เเต่ท่านบอกว่าดีกว่าตอนเข้ารพ เลยจะทำนู่นนี่ต่อ หนูเลยยิ่งกลัวนะคะ

ถ้ายังไง ขอรบกวนตอบผ่านอีเมลได้มั้ยค่ะเพราะ ไม่ค่อยเข้าบล้อกแก็ง zecat13@hotmail.com ขอบคุณมากคะ


โดย: cat (ZECAT13 ) วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:57:24 น.  

 
รวบรวมบทความเกี่ยวกับเรื่องสมอง ..


โรคเส้นเลือดสมองตีบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-03-2008&group=4&gblog=21


อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-05-2008&group=4&gblog=39


โรคหลอดเลือดสมองที่รักษาได้ด้วยการผ่าตัด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-05-2008&group=4&gblog=37


การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ป้องกันแผลกดทับ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=51


โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease )

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-06-2008&group=4&gblog=46


ภาวะสมองตาย : ระยะสุดท้ายของชีวิตที่จะต่อชีวิตผู้อื่นได้

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-07-2008&group=4&gblog=53






โดย: หมอหมู วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:16:19:18 น.  

 

//www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-15-03/1217-2009-01-22-05-58-57


การใช้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ค้นพบวิธีรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดเช่น เดียวกับการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจ เนื่องจากเส้นเลือดสมองที่ตีบตัน จะทำให้สมองขาดเลือดทันทีทันใด ผลก็คือ ผู้ป่วยเกิดอาการอัมพาต หรืออัมพฤกษ์อย่างกระทันหัน

ปัจจุบันถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตันการ รักษาก็มีได้หลายแนวทางขึ้นกับตำแหน่งของโรคและระยะเวลาก่อนที่จะมาพบแพทย์ ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นยาใหม่ๆ หลายชนิด โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ แต่มีข้อจำกัด คือ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทันท่วงที



การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด

การรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือด เรียกว่า thrombolytic therapy เป็น แนวทางการรักษาชนิดใหม่ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีมากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน บางกลุ่ม

ผลการศึกษาวิจัยใหญ่ๆ จำนวนมากพบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง โดยใช้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด ได้ทดลองใช้ยาหลายชนิด ในขนาดที่ต่างๆ กัน ในช่วงระยะเวลาหลังจากเกิดอาการที่แตกต่างกัน พบว่าสามารถนำมาใช้ในเวชปฏิบัติได้ผลดี

การรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นวิธีที่ได้ผลดีเมื่อ ใช้อย่างถูกต้องและทันท่วงที และได้ผลดีที่สุด เมื่อให้ยาภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ในขณะที่ยาจะไม่ได้ผลหากผู้ป่วยมีอาการมานานเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้ว

ความสำคัญจึงอยู่ที่การวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ และอยู่ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วน ถือได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในการรักษาโรคนี้



ผลที่เกิดจากอัมพาตหรืออัมพฤกษ์

อัมพาตหรืออัมพฤกษ์เป็น ผลที่เกิดขึ้นภายหลัง จากที่สมองเกิดภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดกับเนื้อสมอง ทำให้สมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ อาจเป็นอย่างชั่วคราวหรือถาวร อาการที่มักจะพบได้ทั่วไป ก็คือ พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกความหมาย ลิ้นแข็ง แขนขาไม่มีแรง หรือชา

ซึ่งอาการอาจเกิดได้แบบทันทีทันใด และค่อยๆ เป็นมากขึ้นในช่วง 2-3 วัน หรือเป็นๆ หายๆ

กลุ่มหลอดเลือดสมองตีบตันพบมากประมาณร้อยละ 70 ของทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้นพบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต อีกร้อยละ 30 ต้องทุพพลภาพหรือทำงานไม่ได้และมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่หายจากโรค แต่ก็ต้องทานยาควบคุมไปตลอดชีวิต

ปัจจุบัน นี้ แพทย์ต้องตระหนัก และเข้าใจในความสำคัญ ของระยะเวลาหลังมีอาการซึ่งถือเป็นโอกาสทอง เมื่อมีคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง มาถึงโรงพยาบาล เพื่อจะได้ปกป้องเนื้อสมองไม่ให้เสียหายถาวร



ระยะเวลาที่ให้ยา

การรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ ด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ผลดีมากโดย เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อให้ยาภายใน 3 ชั่วโมงแรกหลังผู้ป่วยมีอาการ และจะไม่ได้ผลถ้าผู้ป่วยรายนั้นมีอาการเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้ว

แต่พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น จากการที่ยาทำให้เลือดออกในสมอง ซึ่งพบในผู้ป่วยบางราย แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยไม่ใช่ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดที่สำคัญและต้องระมัดระวัง เนื่องจากเมื่อมีเลือดออกในสมองแล้ว จะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยรายนั้นค่อนข้างมาก ทำให้ผลการรักษาโดยรวมไม่ดีเท่าที่ควร

ยาละลายลิ่มเลือด จะไปช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากภาวะขาดเลือด ภาวะเลือดออก และจากภาวะสมองบวม


ความก้าวหน้าทางยารักษานี้ นับเป็นเครื่องมือใหม่ ที่เข้ามาช่วยประชาชนผู้สูงอายุ ในปี 1995 งานวิจัยของ National Institutes of Neurological Disorders and Stroke (NINDS) ใช้ยาละลายลิ่มเลือดชนิด tissue plasminogen activator (tPA) ศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วย 624 ราย ให้ยาฉีดภายใน 3 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ ให้ยาฉีดในขนาด 0.9 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้ยาฉีด เมื่อติดตามไปนานถึง 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด ไม่มีความพิการเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 12 มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลการจากวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนั้นทำ ให้สำนักงานอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบและตัน ในปี 1996 และได้รับการอนุมัติในประเทศต่างๆ ได้แก่ แคนาดา ยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย



ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง

จากข้อมูลสาธารณสุขพบว่า ผลกระทบจากโรคอัมพาต หรืออัมพฤกษ์นับว่าสูงมาก เมื่อพิจารณาถึงการเสียชีวิต และความพิการที่เกิดขึ้นจัด เป็นสาเหตุนำของความพิการ ที่เกิดในผู้ใหญ่ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการรักษา และความเสียหายจากการตกงานรวมกันแล้ว จะสูงมากอย่างน่าตกใจ

แนวทางในปัจจุบัน ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน คือ ต้องให้การรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ หลังจากเกิดภาวะนี้ ผลการรักษาจึงจะดี

ความสามารถในการป้องกันความเสียหายของวิธีการนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องรับรู้และประเมินผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดภาวะสมองขาดเลือดเสียแต่เนิ่นๆ และด้วยความรวดเร็วแม่นยำ


ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ




โดย: หมอหมู วันที่: 24 ตุลาคม 2553 เวลา:9:54:42 น.  

 
กรมการแพทย์เตือนประชาชนตื่นตัว ป้องกันตนเองจาก โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนให้ตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ตามองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดความพิการหรือเสียชีวิต

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) จึงรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็งและโรคหัวใจตามลำดับ และยังพบว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ หากประชาชนรู้จักดูแลตนเองและ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และภาวะน้ำหนักเกิน

แพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลัก FAST คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก A = Arm อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และ T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลันในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้าอาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและมีความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และตลอดจน อาการเบื้องต้นของโรค หากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ
************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก
ขอขอบคุณ
29 ตุลาคม 2563

https://www.facebook.com/643148052494633/photos/a.644390729037032/1936607003148725/


โดย: หมอหมู วันที่: 30 ตุลาคม 2563 เวลา:20:49:48 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]