Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ป้องกันแผลกดทับ




เป็นกระทู้ในเวบ ไทยคลินิก ซึ่งมีคุณหมอ doglover ตอบได้อย่างละเอียด จึงอยากจะนำมาให้อ่านกัน ...

หัวข้อ 10584: การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว (จำนวนคนอ่าน 25 ครั้ง)

« เมื่อ: Feb 9th, 2007, 11:09pm »

อยากทราบวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ปู่ดิฉันเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ท่านอายุ 80 ปี แต่ก่อนปู่ก็แข็งแรงดี แต่เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมาปู่มีอาการไม่มีแรง ไม่สามารถเดินได้ ต้องพยุงไปไหนมาไหน มีอาการไม่อยากอาหาร ทานข้าวได้น้อยมาก เมื่อ 1 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้นำปู่ไปโรงพยาบาล หมอได้ให้อาหารทางสายยาง จนเมื่อวานนี้ปู่ไม่รู้สึกตัว แต่สามารถขับถ่ายได้ปกติ(ค่อยโล่งใจหน่อย) เรียกก็ไม่ตื่น หมอได้ให้เครื่องช่วยหายใจ ตอนนี้อาการไม่ดีเลย อยากทราบว่าเราจะสามารถดูแลปู่ตอนนี้อย่างไรได้บ้าง อยากให้ปู่รู้สึกตัว(จะมีโอกาสไหมนะ) อือ

เกือบลืมถามแน่ะ แผลกดทับส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณไหนจะป้องกันอย่างไร (การพลิกผู้ป่วยจะพลิกอย่างไรไม่ให้เกิดแผลกดทับ) ถ้าพูดกับปู่ตอนไม่รู้สึกตัวปู่จะได้ยินรึเปล่านะ การช่วยบีบมือ แขน เท้า จะมีส่วนช่วยไหม มีคำถามเยอะแยะไปหมดเลย ช่วยตอบหน่อยนะคะ

ส่งโดย: หลานปู่



« ความเห็นที่ #2 เมื่อ: Feb 10th, 2007, 8:54pm »

ดีใจจังครับ ที่มีญาติของผู้ป่วยคิดจะดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวอย่างจริงๆจังๆ มีวิธีดูแล ไม่ยากครับที่จะเข้าใจ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เป็นปัญหาจุกจิก และ อาจทำให้เราท้อได้ครับ เพราะเราต้องดูแลแบบนี้ ทุกวัน ตลอดทั้งวัน ยิ่งคนไม่รู้ตัว หรือ ไม่ค่อยมีสติ อาจมีอาการวุ่นวาย สับสน ซึ่งจะยิ่งทำให้เราหงุดหงิด ก็ต้องอดทนนะครับ

ก่อนอื่น คำถามที่ว่า ผู้ป่วยจะหายได้หรือไม่ อันนี้ต้องขึ้นกับว่าการไม่รู้สึกตัวเป็นจากอะไร โดยทั่วไปมักเป็นจากปัญหาในสมอง เช่น เนื้อสมองขาดเลือด เลือดออกในสมอง หรือ สมองฝ่อมาก รวมถึงปัญหานอกสมอง ซึ่งมักเป็นจากเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หรือมีของเสียในเลือดคั่ง (มักเป็นในโรคไตวาย) ดังนั้นจะหายหรือไม่ แล้วแต่โรคที่เป็นครับ

ส่วนการให้การดูแลผู้ป่วย ผมจะให้หลักการโดยแบ่งตามระบบของร่างกายดังนี้ครับ

1. การหายใจ
- ถ้าผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก และแนวโน้มจะไม่สามารถเอาท่อออกได้ภายใน 2 สัปดาห์ แนะนำให้ผ่าตัดเจาะคอ ครับ เพราะทำให้ระยะทางในการหายใจสั้นลง ดูดเสมหะ และ การดูและเรื่องเสมหะทำได้ง่าย และภายหลังเอาเครื่องช่วยหายใจออกได้ ก็สามารถคาท่อนี้ไว้ต่อได้ โดยให้ผู้ป่วยหายใจทางท่อนี้ อีกทั้ง สามารถดูแลความสะอาดในปากได้ง่าย ถ้าผู้ป่วยสามารถกินทางปากได้ ก็ให้กินได้ (นี่คือประโยชน์ของการเจาะคอนะครับ)

- ถ้าได้เจาะคอแล้ว ก็ดีแล้วครับ การดูแลก็คือ ทำความสะอาดแผลรอบท่อ วันละครั้ง หรือ มากกว่านั้น ขึ้นกับว่า มีเสมหะเลอะมากแค่ไหน และ คอยดูดเสมหะให้เขาเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ต้องทำใจนะครับว่า คนที่มีท่อคาอยู่ และ ไม่สามารถเคลื่อนไหว จะมีเสมหะมากเป็นปกติอยู่แล้ว และก็มีความเสี่ยงต่อปอดอักเสบอยู่แล้วครับ

- ถ้าหายใจเองได้ แนะนำว่า ควรสังเกตว่า ผู้ป่วยมีเสมหะมากน้อยแค่ไหน พอจะไอออกได้หรือไม่ อาจจะลองดูดเสมหะทางปาก แต่โดยปกติมักจะไม่ค่อยได้ผลครับ เพราะสายดูดมักลงหลอดอาหารมากกว่า การจะดูดทางปากได้ ผู้ป่วยมักต้องไอได้พอสมควร ถ้าไม่สามารถไอได้ โดยมากมักต้องเจาะคอ

- ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรดูแลโดยการเคาะปอดบ่อยๆ (อย่างน้อย 3-4 รอบ ต่อวัน) เพื่อดันเสมหะให้ออกมาทางหลอดลมใหญ่ เพื่อดูดเสมหะได้ง่ายขึ้น ป้องกันปอดอักเสบ โดยทำร่วมกับการพลิกตัวไปมา และ ยกส่วนหัวขึ้น หรือ ลง แล้วเคาะปอด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดันเสมหะให้ง่ายยิ่งขึ้นครับ


2. เรื่องอาหารการกิน
- โดยมากคนกลุ่มนี้ มักกินทางปากไม่ได้ จึงให้อาหารทางสายจมูก โดยให้เป็นอาหารบด (Blenderized diet) หรือ ให้อาหารเหลวทางการแพทย์ การให้อาจให้ทางกระบอกแก้ว แล้วเทลงพรวดเดียว (เหมาะสำหรับคนที่รับอาหารได้ดี ไม่ท้องอืดไม่อาเจียน) แต่ถ้ามีปัญหาท้องอืด อาเจียน หรือ มีอาหารเหลือในการให้ครั้งต่อมา ก็ควรให้โดยการหยดผ่านสาย ความเร็วก็แล้วแต่ผู้ป่วยจะรับได้ครับ (แล้วแต่แพทย์นะครับ)
ดังนั้น ก่อนให้อาหารทุกครั้ง ต้องทำการดูดดูว่า มีอาหารเหลือแค่ไหน ถ้าไม่เกิน50 ซีซี (บางตำรา ไม่เกิน 100 ซีซี ) ก็สามารถให้ต่อได้ รวมถึงดูลักษณะน้ำที่เหลือเป็นยังไง ถ้าเป็นน้ำเขียว-เหลือง หรือ นมที่ย่อยบ้างแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนมที่ยังไม่ย่อย ควรยืดระยะเวลาในการให้ออกไปอีก 1-2 ชม. แล้วมาดูดซ้ำ ถ้าออกน้อยลงหรือไม่มี ก็ให้ต่อได้

- ดูแลเรื่องสายจมูก โดยเปลี่ยนทุกเดือน คอยทำความสะอาดบริเวณจมูก และรูจมูกทั้งสองข้าง และ สังเกตว่า สายกดบริเวณจมูกหรือไม่ และ คอยป้องกันสายเลื่อน หลุด หรือ ผู้ป่วยดึง

- ดูแลเรื่องการขับถ่าย โดยปกติ อาหารบด มักจะมีไฟเบอร์อยู่แล้ว แม้ไม่ได้กินผักผลไม้ ก็มักจะถ่ายได้ ถ่ายปกติควรเป็นโคลนๆ 1-2 ครั้ง ถ้าถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป บ่งว่าท้องเสีย ต้องดูว่า เราทำอาหารสะอาดดีหรือไม่ อาหารบูดหรือไม่ หรือความเข้มข้นมากเกินไป ก็ท้องเสียได้ครับ
ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูก (ไม่ถ่ายเกิน2 วัน) เพราะอุจจาระยิ่งแข็ง ก็ยิ่งออกยาก ท้องจะอืดง่าย และทำให้รับอาหารไม่ได้


3. เรื่องแผลกดทับ
- ถ้ายังไม่มี ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดครับ และบ่งว่า มีการดูแลผู้ป่วยที่ดีจริงๆ เพราะเป็นภาวะที่เกิดคู่กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
การป้องกันไม่ว่าจะยังไม่มีแผล หรือ มีแล้วก็ตาม ก็คือ
-- พลิกตะแคงผู้ป่วย เป็นประจำ ตามทฤษฎี คือ ทุก 2 ชม. ก็เพราะถ้านานกว่านั้น เนื้อบริเวณที่กดทับจะขาดเลือด จนไม่สามารถกลับคืนสภาพได้ การพลิกก็คือ สลับระหว่าง นอนหงาย พลิกซ้าย พลิกขวา โดยเอาหมอนมาวางพิงเพื่อป้องกันผู้ป่วยหงายหลัง ทำให้กลับมาเป็นท่านอนหงายอีก
โดยปกติการนอนหงายจะสบาย และ ง่ายที่สุด ผู้ป่วยจึงมักจะพยายามกลับมานอนหงาย ทำให้เกิดแผลที่กระเบนเหน็บได้ง่ายที่สุด

-- ตำแหน่งที่เป็นบ่อย คือ จุดที่มีกระดูกนูน คลำได้ชัด เช่น กระเบนเหน็บ (มักเป็นตรงกลาง) กระดูกสะโพก กระดูกตาตุ่ม (มักเป็นด้านนอก มากกว่าด้านใน) กระดูกสะบัก กระดูกสันหลัง ตรงกลางหลัง (กรณีคนที่หลังโกง)
แนะนำว่า ควรลงทุนซื้อ ที่นอนอัดลม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลูกระนาดเรียงกัน ประมาณ 18-22 ลูก โดยจะมีเครื่องอัดลมสลับกัน เพื่อถ่ายเทแรงกด ราคาประมาณ 7000 -8000 บาทครับ จะช่วยลดปัญหาแผลกดทับได้ดี
(กับคุณแม่ของผม ผมก็ลงทุนครับ ใช้ได้ดีมาก พอท่านเสีย ผมก็บริจาคให้โรงพยาบาลไป ได้บุญอีกต่างหาก)
ส่วนบริเวณตาตุ่ม แนะนำว่า ใช้ถุงมือยาง หรือ ถุงยางอนามัย ใส่น้ำแล้วนำมารองที่ตาตุ่ม จะช่วยได้ดีครับ

- ถ้ากรณีมีแผลกดทับแล้ว ก็ลำบากหน่อยละครับ แผลพวกนี้ หายยาก โดยเฉพาะถ้าเป็นลึก แม้จะตื้นขึ้นมา ก็จะหายยากอยู่ดี ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน เลือดจะมาเลี้ยงได้ไม่ดีเท่าคนปกติ จะยิ่งหายยากเข้าไปอีก
-- ต้องทำความสะอาดแผล อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ถ้าเลอะอุจจาระ ก็ต้องทำเพิ่มอีกครับ
-- คอยป้องกันอย่าให้อุจจาระ ปัสสาวะเลอะแผล ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรใช้ แพมเพอร์สครับ เพราะมันจะเป็นระบบปิด พอมีอึ หรือ ฉี่ออกมาเราก็อาจยังไม่รู้ จึงหมักหมม กว่าจะรู้ แผลก็แช่อึ ฉี่นานแล้ว ผมแนะนำให้ใช้ ผ้ารองเปื้อน (blue /white pad) จะดีกว่า พออึออกมา ก็รู้ทันที หรือ ถ้าจะใช้แพมเพอร์ส ก็ควรเปิดแผ่ออก ไม่ควรปิดพลาสเตอร์


4. ช่วงระหว่างที่นอนป่วย แม้ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว แต่อย่าเพิ่งเหมาว่าเขาจะไม่รู้เรื่องเลยนะครับ ฉะนั้น การพูดจากับเขาบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ถ้าคุณนับถือพุทธ ผมขอแนะนำว่า ควรพูดถึงบุญกุศลที่เขาเคยทำมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงบุญที่เราไปทำมาด้วยนะครับ พูดย้ำบ่อยๆ อย่าได้เบื่อ หรือ อายนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะรู้ตัวช่วงไหน ถ้าเขาลืมตา ก็เอารูปพระพุทธ พระสงฆ์ให้เขาดู (เห็นหรือไม่เห็นอีกเรื่องนึง) เอาเทปธรรมะ เทปสวดมนต์มาเปิดให้เขาฟังบ่อย บางคนเอาเทปเพลงเปิดให้ฟัง ก็จะเอามาแทรกคั่นรายการบ้างก็ได้

ที่ผมปฏิบัติกับคุณแม่ของผม คือ ผมจะสวดมนต์ให้ท่านฟังครับ สวดบทเดิมๆนี่แหละ เช่น อะระหัง สัมมา ฯ นะโมตัสสะ ฯ อิติปิโสฯ พาหุง มหากาฯ ชินบัญชร ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นต้น สวดวันนึงก็หลายสิบรอบ เอาให้อย่างน้อย ก็เข้าหูท่านบ้าง

และก็ควรนิมนต์พระมา เพื่อถวายสังฆทานบ้างครับ โดยคอยบอกผู้ป่วยเรื่อยๆ เผื่อเขาจะได้ยินบ้าง ถ้าจะทำบุญอะไร แนะนำให้เอาเงิน หรือ ทรัพย์สินของผู้ป่วยไปใช้ทำบุญนะครับ บุญจะได้เป็นของเขาเป็นหลัก

นวดมือ นวดเท้า ก็เอาเลยครับ เอ้อ...อย่าลืม ทาโลชั่น ทาน้ำมันให้ด้วยนะครับ เพราะมักจะผิวแห้งแตก อีกทั้งการนวดก็ช่วยให้เขาผ่อนคลายด้วยครับ

เท่าที่ผมนึกได้ก็ประมาณนี้นะครับ ผมไม่ได้ลงในแง่วิชาการมากนัก เพราะจะยิ่งงง ผมเน้นแง่ปฏิบัติมากกว่า เพราะผมก็มีประสบการณ์ทั้งของคุณแม่ของผม และ ผู้ป่วยของผมด้วย

ขอให้โชคดีครับ


________________________________________
คนเป็นหมอ ได้เปรียบกว่าอาชีพอื่นตรงที่เรามีโอกาสเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นักโทษ สมณะ คนเมา คนบ้า

ฉะนั้นเราน่าจะอาศัยความได้เปรียบนี้เร่งศึกษาธรรมะเถิด อย่าได้ประมาทในชีวิตเลย เพราะถ้าเราประมาท เราอาจต้องวนเวียนในสังสารวัฏอีกนานไม่รู้จบ

ส่งโดย: doglover
สถานะ: Newbie
จำนวนความเห็น: 44

.......................................................................

นวัตกรรม สสจ.กาญจนบุรี ‘เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับ’ ราคาถูก ใช้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 ณ โรงแรมพีลูส อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ในการประชุมวิชาการสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2560 “สานพลัง สร้างการเรียนรู้ คู่สุขภาพดียุค 4.0”

นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านบริหาร วิชาการ บริการ และมีการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการ การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดกาญจนบุรี ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ การพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนผู้รับบริการ ของจังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมใหม่ “เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับ” เป็นเตียงที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ ลดภาระการดูแลผู้ป่วยของพยาบาลและญาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วย เนื่องจาก‘แผลกดทับ’ เป็นความทุกข์สาหัสของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้าน – ติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาการติดเชื้อและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

เตียงไดนามิคพิชิตแผลกดทับเป็นเตียงที่มีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตรและความสูง 65 เซนติเมตร ใช้มอเตอร์เป็นกลไกการขับเคลื่อนแม่แรงในการยกเตียง มีอุปกรณ์สำหรับตั้งเวลา และควบคุมการทำงานรองรับน้ำหนักได้ตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่ใช้ได้เป็นอย่างดี และเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีความสะดวกในการใช้งานและการเก็บรักษา ประดิษฐ์ง่าย กลไกการทำงานไม่ซับซ้อน ราคาถูก เนื่องจากนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำเตียงเก่ามาปรับปรุงเป็นเตียงป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยนอนติดเตียงได้ พร้อมจะขยายให้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดนำไปปรับใช้

https://www.hfocus.org/content/2017/09/14628

................................................................



[ Infographic ] 4 วิธีพื้นฐาน การจัดท่าผู้ป่วยติดเตียง
https://www.facebook.com/CreativeCitizen/photos/a.528783353940268/1178985728920024/?type=3&theater
ผลงานโดย: อาสาสมัคร Creative Citizen
กิจกรรม: Infographic Design for Health (Physical Theory Guideline)
รายละเอียด: www.facebook.com/pg/CreativeCitizen/photos/?tab=album&album_id=925670730918193


การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวป้องกันแผลกดทับ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=51

โรคเส้นเลือดสมองตีบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-03-2008&group=4&gblog=21

อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-05-2008&group=4&gblog=39




Create Date : 01 กรกฎาคม 2551
Last Update : 18 กันยายน 2561 21:12:57 น. 3 comments
Counter : 24182 Pageviews.  

 

รวบรวมบทความเกี่ยวกับเรื่องสมอง ..


โรคเส้นเลือดสมองตีบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-03-2008&group=4&gblog=21


อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-05-2008&group=4&gblog=39


โรคหลอดเลือดสมองที่รักษาได้ด้วยการผ่าตัด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-05-2008&group=4&gblog=37


การดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ป้องกันแผลกดทับ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=51


โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease )

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-06-2008&group=4&gblog=46


ภาวะสมองตาย : ระยะสุดท้ายของชีวิตที่จะต่อชีวิตผู้อื่นได้

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-07-2008&group=4&gblog=53


โดย: หมอหมู วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:16:26:18 น.  

 

//www.thailabonline.com/bedsore.htm

แผลกดทับ มักพบในผู้ป่วยที่ผอมหรืออ้วนมาก ๆ และพบบ่อย ในรายที่กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่

การป้องกันอยู่ที่การหมั่นดูแลรักษาผิวหนังให้สะอาด อย่าให้เสียดสี หรือมีแรงกดทับ พลิกตัวบ่อย ๆ ให้อาหารเพียงพอ และให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวโดยเร็ว





แผลกดทับ

แผลกดทับก็คือบริเวณที่มีการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อจากการขาดเลือดอันเป็นผลจาการถูกกดทับเป็นเวลานาน ๆ แผลกดทับมักจะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณกระดูกก้นกบ กระดูกสะโพก ตาตุ่ม เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ

1. การกดทับ โดยมีข้อสังเกตุดังนี้
1.1 บริเวณที่มีกล้ามเนื้อมากจะทนต่อแรงกดทับได้ดี
1.2 มีรายงานว่า แรงกดประมาณ 70 มม.ปรอท กดทับเป็นเวลา 1 - 2 ชั่วโมง ติดต่อกันจะทำให้เกิดการขาดเลือดขึ้น
1.3 แรงกดจำนวนมากแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้ เท่ากับแรงกดน้อยๆ แต่ระยะเวลานาน
1.4 แผลกดทับมักพบในผู้ป่วยอัมพาตแบบ flaccid มากกว่าอัมพาตแบบ spastic

2. แรงไถและความเสียดทาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปริแตกของเนื้อเยื่อได้ง่าย และมักจะพบในผู้ป่วยอัมพาตที่นั่งรถเข็น โดยเฉพาะเวลามีการเคลื่อนตัวบนรถเข็น
3. อุณหภูมิ ผลของการเพิ่มอุณหภูมิ จะทำให้มีการเพิ่มของเมตาบอลิสซึมของเซลล์ ส่งเสริมให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและตายได้ง่ายขึ้น
4. ความมีอายุ
5. ภาวะทางโภชนาการ การขาดโปรตีนจะทำให้การเสริมสร้างเนื้อเยื่อช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้า พบว่าผู้ป่วยที่มีแผลควรได้รับโปรตีน 80 - 100 กรัม/วัน นอกจกนี้ภาวะความไม่สมดุลของไนโตรเจน แคลเซียม การขาดวิตามิน เหล่านี้ทำให้แผลหายช้าลง
6. การบวมน้ำ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางการส่งผ่านอาหาร และออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น และหายช้าลงด้วย
7. ภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
8. ปัจจัยอื่นๆ เช่นความชื้นจากเหงื่อ อุจจาระ ภาวะติดเชื้อเป็นต้น


ความรุนแรงของแผลกดทับ

เกรด 1
ลักษณะที่สำคัญและเป็นอาการเริ่มแรกสุดทคอ การอักเสบเฉียบพลันของผิวหนังและเนี้อเยื่อชั้นต่างๆ ที่อยู่เหนือ
ปุ่มกระดูกอันได้แก่ การขยายตัวของหลอดเลือดและการบวม (Edema) จากการขาดเลือด

อาการทางคลินิกที่ตรวจพบคือ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะบวมแดง ร้อน และแข็งตัวขึ้นกว่าปกติ และถ้าผู้ป่วยไม่ได้สูญเสียการรับความรู้สึกไป ก็จะรู้สึกเจ็บบริเวณนั้นด้วย ระดับที่รุนแรงที่สุดของเกรดที่ 1 คือแผลจะแฉะๆ มีการหลุดลอกของหนัง กำพร้าจนมองเห็นหนังแท้

การรู้จักสังเกตแผลกดทับมีความสำคัญมาก เพราะเกรดที่ 1 นี้ ถ้าได้ดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการกดทับซ้ำอีกแผลจะหายเป็นปกติได้ภายใน 5-10 วัน

เกรด 2
ถ้าแรงกดทับยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การอักเสบของเนื้อเยื้อจะเป็นมากขึ้นจนทำให้เกิดปฏิกิริยา fibroelastic ขึ้นใน เนื้อเยื่อทุกชั้น ต่อมาจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับความเปียกชื้นจากอุจจาระ ปัสสาวะ ทำให้แผลขยายกว้างขึ้น และกิน ลึกเลยชั้นหนังแท้ (dermis) ไปถึงรอยต่อกับขั้นไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat)

ลักษณะที่ปรากฏให้เห็นทางคลินิกคือเป็นแผลขอบชัด เนื่องจากเริ่มมี fibrosis และ pigmentation ส่วนรอบ ๆ จะมี ลักษณะบวมแดง ร้อน

แผลกดทับเกรดที่ 2 นี้ แม้ว่าจะกินลึกขึ้นและมีการอักเสบมากขึ้น แต่ก็ยังหายได้ถ้าดูแลรักษาแผลอย่างดี ร่วมกับ
การป้องกันและหลีกเลี่ยงการกดทับต่อไป

เกรด 3
เกรด 3 นี้แผลจะกินลึกถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างกว้างขวาง และรวดเร็วมีการติดเชื้อและการเน่าตายของไขมัน(fat necrosis) ผิวหนังรอบ ๆ จะบวมแดงและเป็นขอบแข็งม้วนเข้าใน การอักเสบจะลามถึงชั้นพังผืด (deep fascia) ส่วนชั้นกล้ามเนื้อแม้ว่าแผลจะลามไปไม่ถึงชั้นนี้ แต่ก็มีการอักเสบบวมแดง ซึ่งอาจทำให้เกิด การยึดติด (contracture) ของกล้ามเนื้อ และการผิดรูปของข้ออันเป็นผลจากการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ ส่วนกระดูกอาจมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการอักเสบ เช่น มี subperiosteal new bone และ local
osteoporosis

ลักษณะอาการทางคลินิกคือ เห็นเป็นแผลลึกถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีกลิ่นเหม็นมีการอักเสบติดเชื้อ และการตายของเนื้อเยื่อที่ฐานของแผล ขอบแผลจะคล้ำแยกจากผิวหนังดีได้ชัดเจน ข้อบริเวณใกล้เคียงจะเริ่มติดแข็ง ผู้ป่วยอาจมีไข้ อาการ ขาดน้ำ ซีด และเม็ดเลือดขาวในเลือดเพิ่มขั้น จากการสูญเสียของเหลวและโปรตีนออกจากแผลนี้มาก ๆ เกรดนี้ถือว่าเป็น 'classical decubitus ulcer'

การรักษาแผลกดทับเกรดนี้จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้จากการติดเชื้ออย่างรุนแรง และการ เสียโปรตีน และน้ำ และการรักษาต้องอาศัยการผ่าตัดร่วมด้วย

เกรด 4
จากภาวะติดเชื้อและเน่าตายของเนื้อเยื่ออย่างมาก ทำให้แผลกินลึกผ่านชั้น deep fascia เข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ และกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระดูก (osteomyelitis) และข้อ (septic joint) จนอาจทำไห้ข้อเคลื่อนหรือหลุดได้

ลักษณะอาการทางคลินิกคล้ายเกรดที่ 3 ต่างกันเพียงว่าเกรดนี้จะกินลึกจนเห็นกระดูกที่ฐานของแผล และถ้าเป็นบริเวณ pelvis อาจเห็นว่าที่ฐานของแผลอาจโป่งออกมาเวลาความดันในช่องท้องสูงขึ้น ภาพทางรังสีจะพบลักษณะของการอักเสบติดเชื้อของกระดูกและมีการเสียเนื้อกระดูกไป

การรักษาในเกรดนี้ก็เช่นเดียวกับเกรดที่ 3 คือต้องดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องแผล ซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดช่วยด้วย ต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างแรง แก้ไขภาวะความไม่สมดุลของเกลือแร่ (electrolyte imbalance) ให้เลือดในน้ำให้เพียงพอ


ตำแหน่งที่แผลกดทับ
ดังที่กล่าวแล้วว่าแผลกดทับมักเกิดบริเวณเนื้อเยื่อเหนือปุ่มกระดูก (bony prominence) สำหรับตำแหน่งที่พบบ่อยขึ้นกับผู้ป่วยว่ามักอยู่ในท่าใดมาก เช่น นอนบนเตียง (นอนคว่ำหรือนอนหงาย) หรือนั่งบนรถเข็น ผู้ป่วยอัมพาตแบบ flaccid หรือ spastic เป็นต้น


การป้องกันการเกิดแผลกดทับ
แผลกดทับเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และการป้องกันก็ทำได้ง่ายกว่าการรักษาอย่างมาก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การขาดเลือดของเนื้อเยื่อเพียง 30-60 นาที ก็ทำให้เกิดการบกพร่องของเมตาบอลิสม และเกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อได้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก (bony prominence) ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จึงควรทราบถึงสาเหตุของการเกิดแผลกดทับ รู้ว่าผู้ป่วยกลุ่มใดมีโอกาสเกิดแผลกดทับ ได้ง่าย ตลอดจนรู้จักวิธีป้องกัน ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดแผลกดทับได้ง่าย กล่าวโดยกว้าง ๆ คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัว หรือช่วยเหลือตนเองได้ และผู้ป่วยที่เสียการรับรู้ความรู้สึก ได้แก่
1.1 ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังเป็นอัมพาตครึ่งท่อน หรืออัมพาตทั้งตัวและที่เกิดจาก severe spina bifida
1.2 ผู้ป่วยโรคทางสมอง ได้แก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัว และผู้ป่วยสมองพิการ (cerebral palsy)
1.3 ผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการผิดปกติ คนอ้วน ขาดสารอาหาร
1.4 ผู้ป่วยที่มีภาวะทางอายุรศาสตร์ เช่น เบาหวาน โรคข้ออักเสบ
1.5 ผู้ป่วยทางภาวะกระดูก เช่น ผู้ป่วยใส่เฝือกไม่เหมาะสม
1.6 ผู้ป่วยทางจิตเวช
1.7 ผู้ป่วยทางหลอดเลือด
1.8 ผู้ป่วยหลังผ่าตัด

2. หมั่นเปลี่ยนผ้าหรือผลิกตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนหรือเสี่ยงต่อการเกิดแผลต้องพลิกตัว มากกว่านั้น

3. ถ้าผู้ป่วยนั่งรถเข็นต้องสอนให้นู้จักยกก้นหรือเอียงตัวถ่ายน้ำหนักบ่อย ๆ และหารถเข็นที่เหมาะสม
4. มีความระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วย
5. เลือกใช้อุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม เช่น ที่นอนเบาะรองนั้น


การรักษาแผลกดทับ
แบ่งการรักษาเป็น 2 ส่วนคือ
1. Ssytemic treatment
2. Local treatment

1. Systemic treatment คือ การแก้ไขสภาวะของผู้ป่วยที่ส่งเสริมให้เกิดแผลกดทับและทำให้แผลหายยาก ได้แก่
1.1 การให้มีภาวะโภชนาการที่ดี ผู้ป่วยเรื้อรัง(Chronic illness) และผู้ป่วยอัมพาต มีภาวะขาดสารอาหาร
ทำให้การเสริมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ไม่ดีเท่าที่ควร จึงควรให้สารอาหารให้เพียงพอ
1.2 แก้ไขภาวะโลหิตจาง
1.3 ลดภาวะเกร็งของกล้ามเนื้อ
2. Local Treament
2.1 การรักษาแผลกดทับโดยไม่ผ่าตัด
2.1.1 หลีกเลี่ยงการถูกกดทับอีก
2.1.2 ทำความสะอาดแผลโดยน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดแผล หรือถ้ามีแผลหลายแห่ง อาจรักษาแผลโดยให้ผู้ป่วยแช่อ่างน้ำวน โดยผสมน้ำยาฆ่าเชื้อลงไป
2.1.3 การควบคุมการติดเชื้อ ถ้ามีการอักเสบติดเชื้ออย่างรุ่นแรงจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
นอกจากนี้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด คือ อัลตราไวโอเล็ต มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้จึงอาจนำมาช่วยในการ รักษาแผลกดทับได้โดยนำมาอบแผล
2.2 การรักษาแผลกดทับโดยการผ่าตัด จะใช้เมื่อแผลกดทับมีขนาดใหญ่ เกรด 3 และเกรด 4 ขึ้นไป
การเลือกใช้ วิธีผ่าตัดแบบไหนขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์ จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และหลังผ่าตัดจะต้องดูแล ผู้ป่วยอย่างดีด้วย

ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ
1. Malignant Degeneration เกิดในรายแผลกดทับเรื้อรังเป็นเวลานานๆ ส่วนมากนานกว่า 10-15 ปี
2. ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดรักษา ได้แก่
2.1 Flap Necrosis
2.2 Hematoma พบบ่อยที่สุด
2.3 Seroma
2.4 แผลติดเชื้อ
2.5 แผลเย็บปลิแตก

จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 312 กุมภาพันธ์ 2542]



แผลกดทับ
ชลลดา คิดประเสริฐ
--------------------------------------------------------------------------------
แผล เป็นธรรมดาที่ทุกคนก็คงจะรู้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ คงจะได้รับกันอย่างทั่วหน้าแล้วแต่การชนหรืออุบัติเหตุ แต่จะมีผลอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่า แผลกดทับ ทำไมถึงต้องเรียกอย่างนี้ เพราะว่าบริเวณที่มีการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อ จากการขาดเลือดอันเป็นผลจากการถูกกดทับเป็นเวลานานๆ แผลกดทับ ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูกเช่น บริเวณก้นกบ ปุ่มกระดูกตรงบริเวณด้านข้างของสะโพก ส้นเท้า ตาตุ่ม (โดยเฉพาะด้านนอก)

การที่เกิดแผลกดทับ จะเกิดขึ้นได้ในรายที่มีการบาดเจ็บสาหัส หรือในคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ในเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ ของสมอง กระดูกสันหลังบริเวณต้นคอ หรือบริเวณหลังต่ำกว่าคอ ก็จะทำให้ไม่สามารถส่งกระแสประสาท มาให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปกติ หรือในรายของผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในเรื่องสมอง หรือมีปัญหาในเรื่อง อัมพาตของกล้ามเนื้อ ในรายที่มีปัญหาของกระดูกหัก ที่ต้องดึงขาหรือใส่เฝือกอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ในรายหลังผ่าตัด จะพูดอย่างเข้าใจง่ายๆ คือ จะเกิดในผู้ที่ไม่สามารถขยับตัว หรือช่วยเหลือตนเองได้ หรือผู้ป่วยที่เสียการรับรู้ความรู้สึก

มีแพทย์หลายท่านที่มีความสนใจในเรื่องของการเกิดแผลกดทับ ซึ่งการเกิดแผลกดทับสร้างความยากลำบากให้แพทย์ หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วย มาเป็นเวลานานกว่า 400 ปี ทำให้เรารู้ได้ว่า เป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข แล้วทำไมถึงต้องเกิดแผลกดทับด้วย

โดยปกติแล้วเส้นเลือดจะมีแรงดันของหลอดเลือดฝอยเหมือนท่อน้ำประปา ถ้ามีอะไรพับไว้น้ำก็จะไหลได้เพียงเล็กน้อย ลักษณะเดียวกันกับเส้นเลือดเมื่อถูกทับจนเลือดไม่สามารถ ไหลมาเลี้ยงกล้ามเนื้อได้จะทำให้บริเวณที่ถูกกดทับ มีการตายของเนื้อเยื่อซึ่งแรงกดมากกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท เป็นเวลา 2-4 ชม.ทำให้เกิดแผลกดทับ ในบริเวณที่มีกล้ามเนื้อมาก จะทนต่อแรงกดทับได้ดี กรณีของแรงกดที่มากแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เกิดอันตราย ต่อเนื้อเยื่อได้เท่ากับแรงกดบ่อยๆ แต่เป็นระยะเวลานาน

ขณะที่มีการนอนบนเตียงหรือนั่งบนรถเข็น ก็จะต้องมีการ เคลื่อนตัวของคนไข้ไม่ว่าจะเคลื่อนตัวเพื่อเปลี่ยนผ้าปูที่นอน หรือทำความสะอาด เมื่อมีการถ่ายออกมาไม่ว่าจะเป็น อุจจาระ ปัสสาวะ หรือแม้แต่เรื่องการอาบน้ำ การลุกจากรถเข็นมานั่งบนเตียง เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดการเสียดสีกับที่นอนหรือที่นั่ง ซึ่งการเสียดสี หรือการไถไปกับพื้น (ที่นอน, รถเข็น ฯลฯ) การไถหรือถู ทำให้เกิดแรงกระทำโดยตรงต่อชั้นหนังกำพร้า จะทำให้เกิด การปริแตกของเนื้อเยื่อได้เร็วขึ้น

ในสภาพอากาศเมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เกือบจะมีแต่หน้าร้อนกับฝนเท่านั้น แล้วเดี๋ยวนี้ ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนนี้จะทำให้เกิดขบวนการเมตาบอลิซึ่มของเซลล์ ทำให้เซลล์ขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะตายได้ในภาวะที่ร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส คุณรู้ไหมว่าเมตาบอลิซึ่มของร่างกายเรา จะเพิ่มมากขึ้นถึง 10% ทีเดียว รถเข็นที่คนไข้ใช้นั่งนั้น ทำให้เกิดการเพิ่มของอุณหภูมิบริเวณกระดูกที่ก้น ที่เราใช้ลงน้ำหนัก เวลานั่งหรือบริเวณต้นขามีอุณหภูมิมากได้ 0-10 องศาเซลเซียส น่าตกใจไม่ใช่เล่นเลย

ถ้าบ้านของท่านมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ท่านจะพบว่า ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะเคลื่อนไหวช้าและน้อยลง ไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน การทานจะน้อยลง บางท่านก็มีโรคแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้เกิด การเสริมสร้างเนื้อเยื่อได้น้อยลง ซึ่งเราจะพบว่าผู้ที่มีวัยสูงขึ้นเรื่อยๆ เวลาเป็นแผลแล้วจะหายได้ค่อนข้างช้ามาก นอกจากนั้น ความยืดหยุ่นของผิวหนังในผู้สูงอายุก็มีน้อย ซึ่งเราจะพบว่า ในวัยที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีการลดลงของความยืดหยุ่นของผิวหนัง ถ้าอายุมากกว่า 40 ปีไปแล้ว จะมีการลดลงอย่างรวดเร็วของเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนัง ถ้าในรายที่มีการกินอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะพวกแคลเซียม ไนโตรเจนก็จะยิ่งทำให้การหายของแผลช้าลง

ส่วนรายที่มีการบวมน้ำ จะทำให้เกิดการขัดขวางทางเดินอาหาร และออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดแผลกดทับ ง่ายมากขึ้นไปอีก ในคนที่เป็นโลหิตจางการขาดเลือดไปเลี้ยงแผล เนื่องจากขาดฮีโมโกลบินที่จะเป็นตัวพาออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์น้อยลงไปอีก แผลจะหายช้า ในภาวะที่มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดแผลกดทับอีกด้วย

อาการของการเกิดแผลกดทับ คือ ผิวหนังบริเวณนั้น เป็นสีแดงขึ้น ต่อมามีการบวมอันเกิดจากสภาวะขาดเลือด ทำให้มีการปล่อยสาร ฮีสตามีน (Hisramine) ออกมา และสารนี้ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวมีเลือดมาคั่ง ถ้าสังเกตให้ดีในช่วงนี้ เรายังพอรักษาให้หายขาดได้ ต่อมาจะมีการพองและการเน่าของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นสีคล้ำ

แผลกดทับที่ผิวหนังที่เราเห็นเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วลึกลงไปใต้ผิวหนังจะมีการทำลายมากกว่าที่เห็นเสมอ เพราะผิวหนังมีความทนทานต่อการขาดเลือดได้ดีกว่าชั้นไขมันและกล้ามเนื้อ

การรู้จักสังเกตแผลกดทับมีความสำคัญมาก ถ้าเป็นในระยะแรกแล้วมีการรักษาแผลให้สะอาด หลีกเลี่ยงการกดทับซ้ำอีก แผลจะหายเป็นปกติได้ภายใน 5-10 วัน ถ้าเป็นมากจะทำให้ถึงตายได้ จากการติดเชื้ออย่างรุนแรง และการเสียโปรตีนและน้ำจะต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัดเข้าช่วยเพื่อตัดเอาเนื้อส่วนที่ตายออก

- วิธีดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ คือ ต้องหมั่นดูแลผู้ป่วย อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง
- สังเกตว่ามีลักษณะของการเกิดการอักเสบหรือไม่ ถ้าในรายที่จำเป็นต้องนั่งรถเข็น
- ต้องสอนให้รู้จักยกก้นหรือเอียงตัว ให้ด้านหนึ่งพ้นจากที่นั่งบ่อยๆ เช่นยก 30 วินาทีต่อทุกครึ่งชั่วโมง
- ต้องเลือกรถเข็นที่เหมาะสมด้วย ความกว้างของที่นั่ง
- ต้องไม่แคบควรจะกว้างพอจนไม่ทำให้เกิดมีการเสียดสีกับด้านข้างของขา
- ความสูงของที่นั่งต้องสูงพอที่จะร้องรับต้นขาได้ โดยความสูงวัดจากส้นเท้าถึงข้อพับที่เข่าบวกอีก 3 นิ้วฟุต
- ความลึกของที่นั่งต้องลึกพอที่จะพยุงต้นขาได้แต่ไม่ยาวจนชนข้อพับ ที่พิงหลังสูงเพียงพอ และเอียงทำมุม ประมาณ 5-10 องศากับแนวดิ่ง และนอกจากนี้ต้องมีที่วางเท้า


มีผู้สนใจไม่น้อยว่าเตียงที่เป็นเตียงน้ำ (Water Bed) หรือเตียงลมมีประโยชน์แน่หรือ ?

คำตอบคือ มีประโยชน์เพราะเตียงเหล่านี้ลดการกดทับ ของแผลได้ เป็นการช่วยเฉลี่ยเวลาที่รับน้ำหนัก

แต่อะไรก็ตามไม่ดีเท่ากับการหมั่นสนใจดูแลผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆ หมั่นพลิกตะแคงตัวบ่อยๆ สังเกตว่า เกิดการกดทับบริเวณที่มักจะเป็นบ่อยๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือเปล่า ถ้าเกิดแผล ต้องรู้จักวิธีทำความสะอาดที่ดีและถูกต้อง โดยน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดแผล จะใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ผสมกับน้ำเกลือในอัตรา 1:1 ถ้าในผู้ป่วยแผลใหญ่ มักจะใช้การแช่ผู้ป่วยในอ่างน้ำวน ซึ่งผสมยาฆ่าเชื้อโรคลงไป ถ้ามีการติดเชื้อต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะ (แพทย์จะแนะนำ) ร่วมด้วย ในด้านกายภาพบำบัด
จะใช้อุลตร้าไวโอเลต อินฟาเรด ในการช่วยฆ่าเชื้อโรค

ในกรณีที่ต้องมีการผ่าตัดตกแต่งแผล (Flap) จะต้องเอาผิวหนัง (ส่วนใหญ่บริเวณหน้าขา) มาปิดแต่งบริเวณแผลที่เป็น ถ้าสุดวิสัย ที่จะรักษาได้วิธีสุดท้ายคือ การตัดอวัยวะที่เป็นแผลกดทับ ส่วนใหญ่จะเป็นแผลบริเวณขา



โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:22:18 น.  

 


ผมลองค้นใช้คำว่า bed sore

https://www.google.co.th/search?q=bed+sore&ie=utf-8&oe=utf-8&aq=t&rls=org.mozilla:th:official&client=firefox-a


มีที่น่าสนใจ นำมาฝาก

//www.mayoclinic.com/health/bedsores/DS00570

//www.nlm.nih.gov/medlineplus/pressuresores.html

//jama.jamanetwork.com/article.aspx?volume=296&issue=8&page=1020

//familydoctor.org/familydoctor/en/healthcare-management/end-of-life-issues/pressure-sores.html

//www.bedsores.org/




โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:33:00 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]