Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์


ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

ดัดแปลงจากบทความของ นพ.รุ่งโรจน์ ตรีนิติ www.clinicrak.com


การติดเชื้อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) เริ่มด้วย การรับเชื้อปริมาณที่พอเพียงเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ

1. เชื้อเข้ากระแสเลือดโดยตรง เช่น การฉีดยาเข้าเส้นเลือดโดยใช้เข็มร่วมกัน อุบัติเหตุเข็มตำ การรับเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อ

2. เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีรอยฉีกขาดหรือแผลเปิดหรือเยื่อบุช่องปาก ช่องทวาร อวัยวะเพศ โดยเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวจากร่างกาย เช่น การมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ติดเชื้อ บุคลากรสัมผัสกับน้ำคัดหลั่งที่มีเชื้อของผู้ป่วย

3. การถ่ายทอดจากแม่ที่ติดเชื้อไปสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือ การดื่มนมแม่ ช่วงระยะเวลาจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเชื้อไวรัสออกสู่กระแสเลือด ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์

ช่วงนี้ถ้าจะตรวจหาว่ามีเชื้อเอดส์หรือไม่ก็สามารถตรวจได้โดยตรวจ แอนติเจน ( ตัวเชื้อ ) กว่าร่างกายจะสร้างแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) ก็ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

ดังนั้นถ้าจะตรวจแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ได้ อย่างเร็วที่สุดก็ 3 สัปดาห์ (ก็ไม่ได้ หมายความว่าทุกคนจะมีแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ขึ้นเร็วอย่างนี้เสมอไป และผู้ป่วยทุกรายที่ติดเชื้อ( 99%) จะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ต้องตรวจพบแอนติบอดีได้แน่นอน


ตรวจเลือดเอดส์มีกี่แบบ

1. การตรวจหาแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ต่อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) (Anti-เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) antibody)

1.1 ELISA : เป็นการ "ตรวจคัดกรอง" (screening test) ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ทำได้ง่าย ไม่แพง มีความไวมาก ความแม่นยำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจแล้วให้ผลบวกสองครั้ง จากน้ำยาของต่างบริษัท ก็ค่อนข้างมั่นใจได้

1.2 Western blot assay : เป็นการ "ตรวจยืนยัน" การติดเชื้อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) ที่นิยมมากที่สุด เพราะมีความไว และความแม่นยำสูงกว่าวิธี ELISA แต่ราคาแพงกว่า ใช้เวลามากกว่า ทำยากกว่า

1.3 Indirect immunofluorescent assay (IFA) : คล้าย Western blot มีความไวและความแม่นยำพอๆกัน

1.4 Radioimmunoprecipitation assay (RIPA) :ให้ผลไวกว่า Western blot แต่ทำยากมักใช้ในงานวิจัยเท่านั้น

2. การตรวจหาแอนติเจน(ตัวเชื้อ) ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหา p24 antigen ในเลือดด้วยวิธี ELISA สามารถตรวจหาตัวเชื้อ ในช่วงที่แอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ยังไม่ขึ้น ( window period ) แต่ก็มีข้อเสียคือความไวยังน้อย (คือตรวจไม่ค่อยพบ )

3. การเพาะเชื้อไวรัส ทำยาก ราคาแพง ความไวน้อย แต่ถ้าให้ผลบวก ก็ถือว่าแม่นยำที่สุด

4. การตรวจหา DNA ของไวรัส วิธีนี้คือการหาโดยอาศัยการเพิ่มปริมาณ DNA เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ตรวจได้แม้จะมีปริมาณ DNA เพียงน้อยนิด (มีความไวสูง) ถือเป็นวิธีการ "ตรวจยืนยัน" ที่แน่นอนที่สุด



การตรวจเลือดมีขั้นตอนอย่างไร

ปกติเมื่อไปตรวจเลือดเอดส์ เขาก็จะตรวจแบบ "ตรวจขั้นต้น" หรือที่เรียก " ตรวจคัดกรอง " ใช้วิธี ELISA โดยตรวจแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) ถ้าให้ ผลบวก ก็จะตรวจยืนยันโดยวิธี western blot assay จึงจะบอกได้ว่า "เลือดเอดส์ให้ผลบวก" การตรวจคัดกรองใช้เวลาประมาณ 30 นาที – 2 ชม.แต่ถ้าตรวจยืนยันด้วยวิธี western blot ก็แล้วแต่สถานที่ บางแห่ง 7 วันก็รู้ผล บางแห่ง ก็นัดเป็นเดือนก็มี



เลือดบวก แปลว่าอะไร

ผลบวก หมายถึงว่า "มี" หรือ "พบเชื้อ" หรือ "พบร่องรอยการติดเชื้อ” ถ้าผลเลือดบวกเอดส์ ก็แปลว่า เคยได้รับเชื้อโรคเอดส์ มาแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่ากำลังเป็น โรคเอดส์ (ที่แสดงอาการแล้ว) ในขณะนั้น

ผลบวกปลอม พบได้ แต่น้อยมาก ซึ่งอาจพบจากแอนติเจนบอดี( ภูมิคุ้มกัน )ต่อกล้ามเนื้อเรียบ ต่อไวรัสชนิดอื่น

ผลลบปลอมมีไหม ? (ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ) ก็มีครับ แต่น้อยมากเช่นกัน มักพบในผู้เพิ่งรับเชื้อมา แล้วร่างกายยังไม่สร้าง แอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) เมื่อตรวจแล้วภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น ทำให้ได้ผลเป็น ลบ เรียกระยะนี้ว่า Window period ดังนั้นถ้าตรวจแล้วผลเลือดเป็น ลบ แต่มีเหตุควรสงสัย ควรจะตรวจซ้ำอีก 3-6 เดือนต่อมา ถ้าได้เป็น ผลลบอีก จึงจะแน่ใจว่า ไม่ติดเชื้อ



"ติดเชื้อ" กับ "เป็นเอดส์" เหมือนกันไหม

"ติดเชื้อ" หมายถึงรับเชื้อมาแล้ว มีเชื้อในร่างกาย ตรวจเลือดเอดส์ก็ให้ผลบวก แต่ยังไม่มีอาการ บางคนกินยายับยั้งเชื้อเอดส์และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็มีชีวิตเหมือนคนปกติ (ดูหน้าตาก็ไม่รู้) เพียงแต่มีเลือดเอดส์เป็นบวกเท่านั้น

"เป็นเอดส์" หมายถึงเกิดมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ แสดงออกทางร่างกายแล้ว เป็นผลจากที่ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง จนไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆได้ อาการที่อาจพบได้เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว เป็นเชื้อราในปาก เป็นงูสวัด ท้องเสียบ่อยๆ น้ำหนักลด จนกระทั่งกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้น เช่น เชื้อราขึ้นสมอง ปอดอักเสบรุนแรง เป็นมะเร็ง

หลังรับเชื้อมาแล้ว…. เวลาผ่านไป 1 - 2 ปี มีไม่ถึง 5 % ที่เป็นเอดส์ เวลาผ่านไป 3 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 20 %

เวลาผ่านไป 6 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 50 % เวลาผ่านไป 16 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 65 - 100 %

เฉลี่ย นับจากรับเชื้อจนเป็นเอดส์ ประมาณ 7 - 11 ปี



ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจอย่างไร ต้องอดอาหารไหม

ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆทั้งสิ้น แต่ต้องเตรียมเงินกับเตรียมใจ เพราะผลการตรวจเลือดเอดส์ไม่เหมือนการตรวจเลือดอย่างอื่น ถ้าผลเป็นบวก คนที่มีภาวะจิตใจไม่เข้มแข็งอาจหวั่นไหว หมดหวังท้อแท้ หรือตัดสินใจผิดๆ อาจเป็นที่รังเกียจ อาจถึงกับถูกไล่ออกจากงาน บริษัทประกันบางแห่งอาจไม่รับประกัน ถ้าไม่บอกผลตรวจเอดส์หรือ ถ้าได้ผลบวก

ดังนั้นก่อนไปตรวจเลือดจึงต้องเตรียมจิตใจให้ดีว่า ถ้าผลเลือดเป็นบวก เราจะรับสภาพได้ไหม จะเกิดอะไรขึ้น จะวางแผนรับมืออย่างไร ถ้ามีแฟน มีภรรยา เราจะทำอย่างไร จะมีบุตรไหม จะบอกกับใครบ้าง จะต้องดูแลตนเองอย่างไร

..................................................



ประโยชน์ 6 ข้อที่ควรตรวจ HIV
https://www.hfocus.org/content/2014/10/8333
กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านเอดส์กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมทุกปีเป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (Voluntary Counselling and Testing Day : VCT Day) เพื่อให้ประชาชนตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้ ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 500,000 คน ในจำนวนนี้ มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 250,000 รายเท่านั้นที่ทราบผลเลือดและเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ระบบบริการปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ครอบคลุมในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ จึงเป็นที่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่ยังไม่ตรวจเลือดและไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา

ซึ่ง “ประโยชน์ 6 ข้อที่ควรตรวจเอชไอวี” เป็นประเด็นรณรงค์ในปี 2557 นี้ โดยมีความหมายว่า การตรวจเอชไอวีจะทำให้

1.สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ

2.ได้รับการรักษา จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ

3.สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้

4.สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้

5.สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้

6.มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง

กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ประชาชนสามารถไปรับการตรวจเลือดเอชไอวี ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ การทราบผลการตรวจเลือดจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเกิดความตระหนักในการป้องกันตนเอง ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะป้องกันไม่ถ่ายทอดเชื้อไปให้ผู้อื่น ขณะเดียวกันจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการป่วยจากโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค และลดการเสียชีวิตลง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ (Getting to Zero) คือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และลดการรังเกียจตีตราเรื่องเอดส์

ขอบคุณภาพจาก สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663



..............................................



ชวนกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อเอชไอวี รู้ผลในวันเดียว เริ่ม 1 ก.ค. 58
https://hfocus.org/content/2015/07/10294

กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ 1 กรกฎาคม เป็นวันณรงค์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอวี หรือ VCT Day รู้ผลตรวจได้ภายในวันเดียว ที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ทั่วประเทศ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว สามารถตรวจเลือดฟรีทุกสิทธิการรักษา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาเร็ว ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิต ลดการถ่ายทอดเชื้อให้แก่คู่นอน เพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต และผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ประชาชนสามารถตรวจฟรี ปีละ 2 ครั้ง และปรึกษาปัญหาเอดส์ทางสายด่วนบริการปรึกษาเรื่องเอดส์ หมายเลข 1663




นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทย ประมาณ 500,000 คน จึงได้กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันรณรงค์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอวี หรือ VCT Day ซึ่งจะรณรงค์ตลอดทั้งกรกฎาคม เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทุกคนรู้ถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการตรวจแต่เนิ่นๆ และตรวจเป็นประจำจะทำให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวน ประชาชนเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สามารถเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกสิทธิ์การรักษา หากทราบผลว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะได้ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อตลอดไป แต่หากพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาโดยการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต การเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ได้ หากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาปัญหาเอดส์ทางสายด่วนบริการปรึกษาเรื่องเอดส์ทางหมายเลข 1663
 
“เอดส์: รู้เร็ว ตรวจฟรี รักษาฟรี ต่ำกว่า 18 ปี ตรวจได้ไม่ต้องขอผู้ปกครอง”

************************





Strong ไปกับสคร.4 ตอน รณรงค์ตรวจเอชไอวี
1 กรกฎาคม 2562
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2769645119774762&set=a.111601272245840&type=3&theater

“Know You Status: เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว
เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี”

สคร.4 สระบุรี เชิญชวนประชาชนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีและประชาชนทั่วไปเข้ารับการตรวจและทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองเร็ว เพื่อให้เข้าสู่การรักษาระยะเริ่มแรกและต่อเนื่อง เนื่องในวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (VCT Day)ทั้งนี้ปี 2562 กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Know Your Status : เอชไอวี
ตรวจฟรี ตรวจเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” โดยรณรงค์ตลอดทั้งเดือน

แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่4 จังหวัดสระบุรี (สคร.4 จ.สระบุรี) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ปี พ.ศ. 2561 ผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังคงมีชีวิตอยู่ 41,598 ราย ผู้ชาย 23,756 ราย ผู้หญิง 17,842 รายทั้งหมดรับยาต้านไวรัสฯ 35,478 ราย หรือร้อยละ 85.29 ตลอดทั้งปี
มี 63,022 ราย ที่เข้ารับคำปรึกษาก่อนตรวจหาการติดเชื้อฯ ณ หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ยินยอมตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ 57,543 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.31 พบการติดเชื้อฯ 2,696 ราย (ร้อยละ 4.69) ในจำนวนที่ตรวจพบการติดเชื้อทั้งหมดเป็นผู้ชาย 1,828 ราย หญิง 868 ราย

แพทย์หญิงวรยา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อทราบสถานะของตนเอง นำไปสู่บริการป้องกันและดูแลรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนทั้งตรวจฟรีและรักษาฟรี มีประเด็นสื่อสาร ปี 2562 คือ “Know Your Status : เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” สำหรับคนไทยทุกคน ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกกลุ่มวัย รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถรับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยความสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง ปัจจุบันการตรวจสามารถรู้ผลภายในวันเดียว ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน เมื่อทราบว่าไม่มีการติดเชื้อไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อ
ทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากพบการติดเชื้อเอชไอวีทางโรงพยาบาลจะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว สามารถรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ

เนื่องจากเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องและป่วยเป็นเอดส์ (AIDS) ซึ่งพบวมากที่สุดในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ทั้งชายหญิงล้วนเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีทั้งนั้น หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยรวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นด้วย พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน ดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด ติดต่อได้ ๓ ทาง ได้แก่
1) ร่วมเพศทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
2) ร่วมเลือด การติดต่อทางเลือด
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีหรือการได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
3) ร่วมครรภ์ การติดต่อจากมารดา
สู่ทารก ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมบุตร
สำหรับการตรวจเลือด
สามารถตรวจได้โดย 1) การตรวจแบบรู้ผลในวันเดียว สามารถเริ่มการรักษาและการป้องกันได้เร็ว 2) การตรวจแบบนิรนาม สามารถตรวจโดยใช้รหัส ไม่ต้องแจ้งชื่อ – ที่อยู่ ข้อมูลความลับ ลดความกังวลใจ 3) ตรวจพร้อมคู่ โดยจะได้รับการปรึกษาที่สร้างความเข้าใจระหว่างคู่ ส่งเสริมการป้องกันได้ง่ายและรู้เทคนิควิธีการป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม

สคร.4 สระบุรี จึงขอเชิญชวนประชาชนให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการรู้สถานะ การติดเชื้อของตนเอง สามารถดูแลสุขภาพและวางแผนการดำเนินชีวิต ภายใต้แนวคิดรณรงค์ “Know Your Status: เอชไอวี ตรวจฟรี รักษาเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” รับคำปรึกษาฟรีได้ที่ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ Facebook : https://www.facebook.com/ dpc4saraburi

..............................................

เอดส์ ( AIDS)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=27

 

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=26

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ ... ของแพทย์ ... แต่ ประชาชน ก็ควรรู้

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-09-2012&group=4&gblog=96

 

องค์กรที่ให้บริการปรึกษาและทำงานด้านเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=28




Create Date : 26 มีนาคม 2551
Last Update : 1 กรกฎาคม 2562 15:03:29 น. 2 comments
Counter : 29332 Pageviews.  

 

รองเลขาธิการแพทยสภาโพสต์เฟซบุ๊ก ชี้เคสผลแล็บ “เอชไอวี” ผิด ต้องพิจารณารอบด้าน ตั้งข้อสังเกตแพทย์แปลผลผิด ห้องแล็บบอกผลผิด หรือภาวะบวกเทียมทางแล็บ ระบุต้องมีผู้รับผิดชอบ แต่หากผลบวกจริงแล้วเป็นลบ ถือเป็นความหวังของผู้ป่วยเอดส์ แพทย์เผยโอกาสตรวจเลือดเป็นบวกแล้วเป็นลบมี แต่น้อยราย แต่ยันร่างกายกำจัดเชื้อเองไม่ได้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณี นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยเรื่องมีผู้ป่วยฟ้องร้อง รพ.เอกชนชื่อดัง หลังผู้ป่วยรายนั้นไปตรวจการติดเชื้อเอชไอวีแล้วพบผลเป็นบวก คือ ติดเชื้อ และทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสนานกว่า 4 ปี

สุดท้ายกลับไม่ได้ติดเชื้อ ว่า ข้อเท็จจริงที่น่ารู้ก่อนฟ้อง คือ การตรวจเลือดและรายงาน เป็นงานของนักเทคนิคการแพทย์ในห้องแล็บ ซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามผลแล็บที่รายงานมา รายนี้จึงต้องตรวจสอบว่าผลบวกครั้งแรกเป็นการรายงานออกจากแล็บ หรือการแปลผลบวกผิดพลาดจากแพทย์ ซึ่งการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบแพทย์นั้นสามารถทำได้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตคือ

1. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นลบ แล้วแพทย์แปลผลผิดพลาดว่าเป็นบวก และรักษา ซึ่งผิดมาตรฐาน แพทย์จะต้องรับผิดชอบ

2. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แพทย์แปลผลตามเป็นบวก และรักษา ถือว่าแพทย์รักษาตามมาตรฐาน

3. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แต่จริง ๆ ผลเป็นลบในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดได้จากการรายงาน “ผิด” ด้วยเหตุต่าง ๆ ทางเทคนิคที่ต้องสืบค้นข้อมูลว่าความผิดพลาดอยู่ที่ใด และ

4. ถ้าห้องแล็บบอกว่าเป็นบวก และพิสูจน์พบว่าผลก็เป็นบวกจริงตามมาตรฐานในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดจากการรายงาน “ถูกต้อง” แต่เป็นภาวะบวกเทียมทางแล็บ หรือเป็นภาวะบวกจริง ๆ จากสภาวะผู้ป่วยเอง เพราะเวลานานอาจมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปี อาจได้รับยาและรักษาอะไรมาบ้างหรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น ผลเลือดตรวจจำนวนไวรัสอื่น ๆ ก่อนตัดสินข้อเท็จจริง

กรณี 3 และ 4 จะอยู่ในความรับผิดชอบของห้องแล็บ และนักเทคนิคการแพทย์ สามารถตรวจสอบมาตรฐานของแล็บได้ โดย สธ. และสภาเทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่แพทยสภา ตามข่าวรายนี้คาดว่าผลแล็บออกมาว่าบวก คือ “เป็นเอชไอวี” ปกติแพทย์ต้องรักษาให้ยาตามมาตรฐาน

ถ้าพบแพทย์รายนี้ข้อมูลไม่ชัดว่าได้รับการรักษาอย่างไรหรือไม่ จน 4 ปี มาตรวจซ้ำผลแล็บว่าลบ คือ “ไม่เจอ” ซึ่งน่าจะถือเป็นโชคดีของคนไข้ ถ้าเป็นจริง

น่าสนใจบทสรุปว่า

1. ผลเลือดบวกนี้เป็นความพลาด (Medical Error) ทางเทคนิค ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องจริงทางการแพทย์ที่คนไข้เคยบวก แล้วกลับลบได้ ซึ่งเป็นความหวังของคนไข้เอดส์ทุกคน

2. สุดท้ายจะเป็นความรับผิดชอบของใคร

3. คดีเรียกร้องค่าเสียหายทุกข์ใจจะจบลงอย่างไร

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีมีอยู่ 2 วิธี คือ

1. การตรวจหาภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีหลายรุ่น แต่จะใช้เวลาหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และ

2.การตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรงด้วยวิธีแนต (Nucleic Acid Amplification Testing : NAT) จะตรวจได้เร็วหลังรับเชื้อประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ประเภทจะมีแม่นยำอยู่แล้ว ทั้งนี้ โดยปกติแล้วหากตรวจครั้งแรกให้ผลเลือดเป็นบวก

จะต้องมีการตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จึงจะสามารถยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการผิดพลาดนั้นเป็นไปได้ เช่น การตรวจเลือด 3 ครั้ง ให้ผลยืนยันเป็นบวกทั้งหมด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลับไม่พบว่าผู้ป่วยป่วยจริง ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อย 1 ในหมื่นหรือแสนคน

“กรณีตรวจพบ แล้วภายหลังตรวจไม่พบ ปัญหาไม่ได้มาจากชุดตรวจ แต่เป็นเรื่องของตัวคนเป็นหลัก เช่น เลือดของผู้ป่วยสลับกัน การอ่านค่าผิด หรือตรวจเพียง 1 - 2 ครั้ง พอให้ผลเลือดเป็นบวกแล้วก็แจ้งคนไข้เลย ไม่ได้มีการตรวจซ้ำก่อน” พญ.นิตยา กล่าวและว่า

สำหรับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจริง ๆ หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสเลย บางรายจะเริ่มมีอาการป่วยในระยะ 5 - 6 ปี โดยเฉลี่ย อาการที่พบคือมีผื่น มีตุ่มขึ้นตามตัว เชื้อราในช่องปาก งูสวัด อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยร้อยละ 5 ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยร้อยละ 5 - 10 แสดงอาการแบบเต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง พญ.นิตยา กล่าวว่า สมัยก่อนเราไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยพบว่า กรณีผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อเอชไอวีมาใหม่ ๆ ยังไม่ถึงเดือน แล้วให้รับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน

พอมาตรวจเลือดซ้ำหลังจากนี้ก็พบเชื้อลดลงมาก แทบไม่เจอ แต่พอให้หยุดรับประทานยาต้านไวรัส แล้วมาตรวจซ้ำอีกครั้งก็พบว่าเชื้อยังอยู่ในร่างกายเหมือนเดิม ดังนั้น ข้อมูลทุกวันนี้จึงยังไม่พบว่าร่างกายคนเราสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=vinitsiri&month=11-09-2015&group=444&gblog=181


โดย: หมอหมู วันที่: 28 กันยายน 2558 เวลา:13:53:43 น.  

 
อย. แจง กรณีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง
29 Apr 2019

https://oryor.com/digi_dev/detail/media_news/1619

อย. เผยกรณีการปลดล็อกชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีว่า มีการกำหนดให้มีเอกสารข้อมูลที่ผู้ใช้งานชุดตรวจควรรู้ ก่อนและหลังการตรวจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อให้คำปรึกษาโดยตรง อีกทั้งหลายภาคีเครือข่ายเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา และให้ผู้ไม่ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการป้องกัน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 โดยเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562

ซึ่งหลายหน่วยงานได้แสดงความกังวลว่า ผู้ใช้ชุดตรวจจะมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใดในการจัดการตนเองภายหลังทราบผลตรวจนั้น ขอชี้แจงว่า การปลดล็อกเพื่อให้มีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองครั้งนี้ อย. ได้กำหนดให้มีเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ใช้งานชุดตรวจควรรู้ ก่อนการตรวจและภายหลังทราบผลการตรวจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจน และชี้แจงช่องทางเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกัน รวมถึงให้มีข้อมูลสนับสนุนการใช้ชุดตรวจดังกล่าวผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผลและหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้โดยตรงและทาง อย. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา สภากาชาดไทย กรมควบคุมโรค ในการเตรียมข้อมูลคำแนะนำในผู้ใช้กลุ่มเยาวชนด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารายใด ยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

ที่มาของการปลดล็อกในครั้งนี้มาจากมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเห็นชอบในหลักการเชิงนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชน รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง โดยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองอันเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญและนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จ

ในส่วนของ อย. จึงได้ดำเนินการพิจารณาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง

ทั้งนี้ การใช้ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น

เมื่อผลการตรวจ พบว่ามีปฏิกิริยา (reactive) ผู้ใช้ต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัย เช่น โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน เป็นต้น

หากผลการตรวจพบว่า ไม่มีปฏิกิริยา (non-reactive) ผู้ใช้ชุดตรวจดังกล่าวต้องพิจารณาความเสี่ยงของการรับเชื้อของตนเอง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย สัมผัสเลือดเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก เป็นต้น หากมีความเสี่ยงสูง หรือไปเสี่ยงรับเชื้อดังกล่าว ในช่วง 6-12 สัปดาห์ ก่อนใช้ชุดตรวจควรมีการตรวจซ้ำ

ทั้งนี้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดผลลบปลอม (false negative)

ศ.กิตติคุณ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและเทคโนโลยีเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ของคณะกรรมการเอดส์ชาติ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยทัศนคติและมุมมองต่อการปลดล็อกครั้งนี้ว่า การตรวจเอชไอวี เป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา และช่วยให้ผู้ไม่ติดเชื้อ เข้าสู่ระบบการป้องกัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี แต่จากการสำรวจผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ พนักงานบริการทางเพศ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น พบว่ามีเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ที่จะเข้ารับการตรวจเอชไอวีในแต่ละปี และมีส่วนน้อยที่จะตรวจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากอุปสรรคของการเข้ารับการตรวจเอชไอวีที่เหมือนกันทั่วโลกคือความ “อาย” ที่สังคมมองว่าตัวเองอาจเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง และความ “กลัว” ว่าผลตรวจจะออกมาเป็นบวก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานด้านเอชไอวีในประเทศไทยจึงพยายามผลักดันการปลดล็อกครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่ยังอายและกลัวได้เข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีใช้กันในหลายประเทศและเริ่มแพร่หลายในหลายประเทศ อาทิ อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน บราซิล เป็นต้น

ทั้งนี้ เดิมมีความกังวลว่า ผู้ใช้ทั่วไปจะมีความเข้าใจหรือไม่ ทำได้ถูกต้องหรือไม่ หรือตรวจแล้วพบผลบวกจะไปทำร้ายตัวเองก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจยืนยันผล ความกลัวเหล่านี้ไม่ปรากฏเป็นปัญหาในประเทศที่มีการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ในทางกลับกันปรากฏว่าคนสามารถเข้าถึงการตรวจเอชไอวีเพิ่มขึ้น และเจอจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศไทย ทาง อย. มีเกณฑ์กำหนดอย่างชัดเจนว่า ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองต้องมีมาตรฐานความไวและความจำเพาะที่เชื่อถือได้ มีเนื้อหาทั้งในรูปแบบเอกสาร และรูปภาพที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง และมีช่องทางเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษา และป้องกัน

ดังนั้น การปลดล็อกให้ประชาชนสามารถใช้ชุดตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง จึงเป็นความหวังในการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษา และทำให้ผู้มีความเสี่ยงได้เข้าสู่ระบบการป้องกันได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั่วโลกที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก

ด้าน กรมควบคุมโรค ได้มีการจัดทำแผนการรองรับชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง และการเข้าถึงชุดตรวจที่ถูกกฎหมายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. การจัดระบบรองรับการใช้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเอง รวมถึงการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบบริการ ทั้งการตรวจยืนยันและการตรวจรักษา รวมถึงจัดทำแนวทางการเชื่อมต่อการเข้าสู่ระบบบริการหลังการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อรองรับการตรวจยืนยันผลของผู้ที่ตรวจเอชไอวีด้วยตนเองมาแล้ว



โดย: หมอหมู วันที่: 29 เมษายน 2562 เวลา:15:38:10 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]