Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน ( FW mail )




Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน

by Ble Pak-art

16 มีนาคม 2553



"Informed public is the key to acceptance of nuclear energy"



หลังจากนั่งอ่านเรื่องราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นจากหลายๆที่ก็ไปเจอประโยคข้างบนนี้เข้า รู้สึกว่าเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ได้ดี(แต่ของบ้านเราจะเป็น mis-informed public เสียมากกว่า)

ไหนๆก็นั่งอ่านอะไรๆอยู่หลายวัน ลองรวมๆมาเขียนเก็บไว้อ่านเผื่อมีใครมาถาม อีก จะได้ไม่เสียชื่อหมอรังสี

ขอบคุณจูนที่มากระตุ้น เลยเอามาแปลไทยแบบไม่มาตรฐาน กระชับข้อความ
ตัดฟิสิกส์รุงรังออกไปบ้าง เติมน้ำเล็กน้อย เผื่อเพื่อนๆที่ไม่ใช่หมอจะมาอ่าน คงจะเอาไปอ้างอิงอะไรจริงจังไม่ได้ หรือถ้าสงสัยอยากอ่านเพิ่มเติมแบบจริงจังเชิญที่ reference
ข้างท้ายได้จ้า

คำแนะนำ- เปิดเพลงใน link นี้ประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน ^^

//www.facebook.com/l/530f9/www.youtube.com/watch?v=M-TygNlwPPE



1. เรากำลังหวาดกลัวกับอะไรกันอยู่ "รังสี" มันคืออะไร

รังสี หรือเรียกให้น่ากลัวว่า "กัมมันตภาพรังสี" (radioactivity) ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวเรา อยู่ในพื้นดิน ในอากาศที่เราหายใจ ในอวกาศ เช่นรังสีคอสมิก และก็มีอยู่ในตัวเราด้วย แต่เป็นปริมาณที่น้อยมาก

มีการวัดค่ารังสีที่พบในสิ่งแวดล้อมตามปกติไว้ เรียกว่า Environmental dose คือพบทั่วๆไป (natural background) 1 mSv, ดูทีวี 0.1 mSv, นั่งเครื่องบินจาก NY-LA 0.04 mSv เป็นต้น

โดยมีค่ามาตรฐานว่าในประชาชนทั่วไปจะได้รับรังสีอยู่ที 1 mSv ต่อปี

ถ้าบังเอิญต้องเข้า รพ. แล้วต้องไปถูกเอกซเรย์ปอด ก็จะแถมไปอีก 0.14 mSv ต่อครั้ง เอกซเรย์สวนแป้ง 6.4 mSv ต่อครั้ง CT scan 8.8 mSv ต่อครั้ง ส่วนคนที่ทำงานเกี่ยวกับรังสีให้ได้ถึง 50 mSv ต่อปี



2. แล้วเจ้าไอโอดีน 131 (I-131) ซีเซียม 137 (Cs-137) ที่เค้าว่ารั่วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันเกี่ยวอะไร

สองตัวนี้เค้าเรียกว่าเป็น"สารกัมมันตรังสี" (radionuclide)ซึ่งเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งกระเด็นหลุดออกมาจากเตาสู่ภายนอก ตอนที่มีการระเบิดของอาคารโรงไฟฟ้า (ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะเพราะระเบิดที่เราฟังข่าวกันอยู่นี้ไม่ใช่ atomic bombแบบฮิโรชิมา นางาซากิ)

เจ้าสารกัมมันตรังสีนี่มันมีคุณสมบัติคือ จะมีการสลาย(decay) แบบปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่าออกมาเรื่อยๆจนกว่ามันจะหมดอายุขัยลง ซึ่งจะบอกเวลาหมดพลังของมันด้วยค่า"ครึ่งชีวิต" (half-life)แล้วคูณ10 โดย I-131 อยู่ที่ประมาณ 80 วัน, Cs -137 อยู่ที 300ปีนู่น

ปัญหามันก็อยู่ที่รังสีเบต้า และแกมม่าที่เจ้าสารกัมมันตรังสีมันปล่อยออกมานี่แหละ พวกนี้(รวมทั้งรังสีเอกซ์ที่เราใช้เอกซเรย์กันด้วย)มีชื่อเรียกรวมๆว่า Ionizing radiation (ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยใช้คำว่าอะไรเรียกว่ารังสีแล้วกัน) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำร้ายเซลล์ของร่างกายได้หลายแบบ เช่น ทำให้เซลล์ตาย เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง หรือมีพันธุกรรมเพี้ยนไป



3. อ้าว แล้วที่ไปเอกซเรย์ปอด CT scan กระหน่ำกันทุกวัน ไม่เป็นไรรึ (จะตกงานไหมเรา)

อย่างที่บอกแล้วว่ารังสีนี่ไม่ต้องรอโรงไฟฟ้าระเบิดเราก็เจอกันทุกวันอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่สำคัญที่ทำใหรังสีทำอันตรายเราได้มีอยู่สามตัว คือ

ปริมาณที่ได้รับ (Dose)

ระยะทางจากต้นกำเนิดรังสีถึงตัวเรา (distance)

และ เวลาที่ได้รับรังสี (exposure time)

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าจ่อยิงรังสีใกล้ๆ อัดโดสมากๆ แล้วนอนอาบรังสีอยู่นานๆ ก็แย่แน่ แต่ในชีวิตจริงการถ่ายภาพเอกซเรย์ใช้โดสน้อยมาก และใช้เวลาเป็นมิลลิวินาที ปริมาณรังสีที่คนไข้ได้รับจึงน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย



4. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นจะมีอันตรายกับเราแค่ไหน

จากข่าวที่เป็นทางการของ IAEA ปริมาณล่าสุดของรังสีที่เวลา 6.00น.(UTC) วันที 15 มีนาวัดที่ประตูโรงงาน อยู่ที่ 0.6 mSv ต่อชั่วโมง (เห็นไหมต้องบอกตำแหน่งที่วัดและเวลา)

แปลง่ายๆว่าถ้าเราไปยืนที่ประตูโรงงานหนึ่งชั่วโมงจะได้รังสี 0.6 mSv

คราวนี้ก็คำนวณเอาเองว่าประตูบ้านเราห่างจากประตูโรงงานกันแค่ไหน
ถ้าขี้เกียจคำนวณก็ลองดูว่า ประเทศญี่ปุ่น(ซึ่งเค้าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมาก) เค้าอพยพคนในรัศมี 20 กม.จากโรงงาน ส่วนชาวบ้านในระยะ 30 กม. ให้อยู่ในบ้าน

ปริมาณรังสีที่เคยวัดได้มากที่สุดจากประตูโรงงานคือ 400 mSv/ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ก็ลดลงแล้ว ถ้าอยากติดตามข่าว update จาก IAEA มีทั้งสถานการณ์โรงไฟฟ้า และเรื่องรังสี ขอเชิญที่

//www.facebook.com/l/530f9/www.iaea.org/newscenter/news/tsunamiupdate01.html



5. แล้วฝุ่นควันที่มีสารกัมมันตรังสีจะปลิวมาถึงไทยหรือเปล่า จะป้องกันยังไง

เท่าที่ตามข่าวดูมีการแตกตื่นเรื่องฝุ่นไอโอดีนซีเซียมกันเยอะ ไม่เฉพาะบ้านเราหรอก แต่ละแหล่งข่าวก็ว่ากันไป และมีการวัดสารปนเปื้อนรายงานเป็นระยะๆ แต่จริงๆแล้วไม่มีใครบอกได้หรอกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ที่พอจะทำนายได้ก็ต้องย้อนกลับไปเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เรื่องอุบัติเหตุนิวเคลียร์ อย่างที่ Chernobyl ปี คศ. 1986 ซึ่งเหตุการณ์และการจัดการเลวร้ายกว่าที่ญี่ปุ่นครั้งนี้มาก มีการระเบิดของโรงไฟฟ้า(ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะ)และมีการกระจายของกัมมันตรังสีไปทั่วยุโรปและเอเชีย เมื่อมีการวัดรังสีที่ได้รับ (average exposure) ในคน 135000 คนในระยะ18 mile รอบโรงไฟฟ้า พบปริมาณรังสี 15 mSv เท่านั้น (มากน้อยแค่ไหนลองกลับไปเทียบในข้อหนึ่ง)

ทางราชการของบ้านเราตอนนี้ก็ได้ฟังข่าวว่ามีการตรวจเช็คปริมาณรังสีในอากาศกันอยู่แล้ว แถมยังมี ประเทศอื่นดักหน้าไว้อีกหลายประเทศกว่าฝุ่นควันจะปลิวมาถึง ก็คอยฟังข่าวแล้วลองคำนวณปริมาณกันเองแล้วกัน

ถ้ามันมาถึงจริงๆและมีปริมาณมากพอที่จะทำอันตราย(ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยถ้าปริมาณรังสีหน้าประตูโรงงานเป็นแค่นี้) ค่อยเริ่มแตกตื่นตุนน้ำมันปาล์มกันก็ยังไม่สาย

ส่วนปลาดิบญี่ปุ่นซึ่งอาจกินกัมมันตรังสีเข้าไปแล้วว่ายมา อยู่บนจานเรานั้น ถ้าอยากจะเลี่ยงก็ตามสะดวก เพราะตามทฤษฎีแล้วก็เป็นไปได้จริงๆ แต่ถ้าจะห่วงเรื่องสารกัมมันตรังสี อย่าลืมห่วงเรื่อง สารปรอท สารตะกั่ว พยาธิ เชื้อโรค ซึ่งมีโอกาสเจอเยอะกว่ามากด้วยน้า เปลี่ยนไปทานหมูก็เจอสารเร่งเนื้อแดง ทานผักก็เจอยาฆ่าแมลง ก็ดี
เราจะได้กลับไปเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทานเองกันทุกคนเหมือนเดิม



6. ทำไมระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาคนถึงตายเยอะ มีเด็กเป็นลิวคีเมียก็มาก เชอร์โนบิลเองก็มีวัวสามขา

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าระเบิดนิวเคลียร์ (atomic bomb) กับระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคนละเรื่องกัน

ระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดก็ไม่เท่าระเบิดนิวเคลียร์

คนที่ตายในระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นนั้น 200,000 คนตายทันทีจากความร้อนและแรงระเบิด (heat and blast) มีเพียง 300 คนที่ตายจาก ionizing radiation

ส่วนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่เชอร์โนบิลนั้น แรงระเบิดจำกัดอยู่ทีโรงงาน มีความร้อนต่ำกว่ามาก และมีคนตายจาก ionizing radiation น้อยกว่า 100 คน

แต่ปัญหาระยะยาวของคนที่ได้รับ ionizing radiation ที่พบได้คือรังสีที่ได้รับทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในระดับเซลล์และไปทำให้ DNA เปลี่ยนไป ซึ่งผลต่อร่างกายอาจเกิดได้หลายอย่างที่ดีที่สุดคือเซลล์ซ่อมแซมตัวเองแล้วไม่มีผลอะไร ที่ไม่ดีคือเซลล์ที่มี
DNA ถูกทำลายกลายเป็นมะเร็ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดในทุกคน และเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาหลายปีในการเกิด

ซึ่งที่กังวลกันคือถ้าเราได้รับรังสีน้อยๆ แต่บ่อยๆ เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆโอกาสเกิดก็จะเพิ่มขึ้นได้บ้าง เหมือนแท็กซี่ขับรถทุกวันก็มีโอกาสรถชนมากกว่า

ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ทารกในครรภ์ (รวมทั้งคนท้อง) ซึ่งปริมาณโดสที่ได้รับจะดูมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวซึ่งถูกทำลายได้ง่ายอยู่มาก จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังในการใช้รังสีทุกประเภท และหลีกเลี่ยงการตรวจทางรังสีไม่จำเป็น



สุดท้ายนี้คงต้องการบอกว่า รังสีไม่ใช่ของปลอดภัยที่จะมาอาบเล่นกันทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกอย่างที่ประโคมข่าวกัน

ถ้ามาเดินในหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือ radiation therapy ของโรงพยาบาลก็จะพบคุณหมอที่ใช้รังสีและสารกัมมันตรังสีเหล่านี้กันทุกวันเพื่อวินิจฉัยและรักษาคนไข้ให้หายจากโรคร้ายโดยควบคุมปัจจัยหลักสามตัวที่กล่าวไปแล้วคือ เลือกใช้ปริมาณที่เหมาะสมในเวลาสั้นและ รักษาระยะปลอดภัยระหว่างที่คนไข้ได้รับรังสี


สิ่งที่เกิดที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้คือพยายามลดปริมาณสารกัมมันตรังสีที่จะปนเปื้อนสู่ภายนอกให้มากที่สุดซึ่งก็ต้องคอยติดตามข่าวกันต่อไป

บ้านเราระยะทาง ไกลขนาดนี้ก็ไม่ต้องแตกตื่นมาก คิดอีกที โอกาสที่เราจะขึ้นรถเมล์แล้วถูกลูกหลงกระสุนปืนจากเด็กช่างกล หรือ ขับรถตกโทลเวย์ อาจมากกว่าที่เราจะโดนรังสีจากญี่ปุ่นเสียอีก ไข้หวัดนก หวัด2009 ที่เราผ่านกันมาได้ ก็มีคนตายกันเลวร้ายกว่านี้มาก

สิ่งที่ทุกคนควรทำคือติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ และหาความรู้ที่มีอยู่มากมาย อย่าเลือกที่จะเชื่อเพราะเป็นเรื่องที่เราอยากเชื่อ หรือเพราะคนเล่าดูน่าเชื่อถือ แต่ขอให้ใช้วิจารณญานของตัวเอง และหาข้อมูลหลายๆด้านก่อนจะปักใจเชื่ออะไร

ข้อมูลข้างบนคงเป็นแค่ความรู้พื้นฐานง่ายๆ จะได้ไม่งง เวลาอ่านข่าว

ถ้าสงสัยอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการรักษาและป้องกันอันตรายจากรังสี

ขอเชิญตามเอกสารอ้างอิงด้านล่าง



References

Wolbarst AB, Wiley AL, Nemhouser JB, Christensen DM, Hendee WRI.
Medical Response to a Major Radiologic Emergency: A Primer for Medical
and Public Health Practitioners. Radiology. Mar 2010; (254) 660-677.
//www.facebook.com/l/530f9/radiology.rsna.org/content/254/3/660.long

2. ACR disaster preparedness for radiology professionals

//www.facebook.com/l/530f9/www.acr.org/SecondaryMainMenuCategories/BusinessPracticeIssues/DisasterPreparedness/ACRsDisasterPreparednessPrimer/ACRDisasterPreparednessPrimer2006Doc1.aspx



3. US Nuclear regulartory commission USNRC standard for protection
against radiation.

//www.facebook.com/l/530f9/www.nrc.gov/reading-rm/doc-collections/cfr/part020/full-text.html



4. Wagner RH, Boles MA, Henkin RE. Treatment of radiation exposure and
contamination. Radiographics. Mar 1994 (14)387-396

5. Vogel H. Rays as weapons. Eur radiol 2007 Aug;63(2):167-77."







Create Date : 26 มีนาคม 2554
Last Update : 26 มีนาคม 2554 1:09:00 น. 0 comments
Counter : 1957 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]