Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-and-Mouth disease) ..นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง




 
โรคมือเท้าปาก
เวบสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  https://www.pidst.net/A297.html   

โรคมือเท้าปากคืออะไร
            โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

โรคมือเท้าปากติดต่อได้อย่างไร
          เชื้อ ไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

อาการของโรคมือเท้าปากเป็นอย่างไร
            เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง
โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

โรคมือเท้าปากรักษาได้อย่างไร
            โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่าง ใกล้ชิด

โรคมือ-เท้า-ปาก ป้องกันได้อย่างไร
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
            ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ แจ้งโรงเรียนและเด็กควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน โรคนี้หายได้เอง แต่ควรเฝ้าระวังอาการซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น

........................................
 
โรค มือ-เท้า-ปาก และโรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล

โรค มือ-เท้า-ปาก
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี71 ที่มีการระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เป็นเชื้ออีวี 71 นี่เอง ประเทศไทยเราก็พบเชื้ออีวี71 ร่วมกับเอนเตอโรไวรัสตัวอื่นๆด้วย  แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรง

อาการของโรคมือ-เท้า-ปาก
เด็กที่เป็นโรคมือ-เท้า-ปาก มักเริ่มด้วยอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขาได้ ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้
            โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้ออีวี 71 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น
            ปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี 71 อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ-เท้า-ปากได้ เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน การระบาดของโรคมือ-เท้า-ปาก ในประเทศไทยในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม

การรักษาโรคมือ-เท้า-ปาก
            โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต

การติดต่อของโรค มือ-เท้า-ปาก
            โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

 วิธีป้องกันโรค มือ-เท้า-ปาก
            ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
    โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดี ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และ เมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหารแก่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้
            ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้เนื่องจากมีเด็กที่เป็นโรคนี้และแพร่เชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ที่อาจไปอยู่รวมกัน

การป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล
            1. มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท) ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้ และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน
            2. ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก
            3. มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
            4. หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย เพื่อหยุดการระบาด

...........................................


 
โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease)
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา
https://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81/

บทนำ
โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth disease) เป็นโรคที่ กุมารแพทย์และแพทย์ทั่วไปพบได้บ่อย บางครั้งมีข่าวระบาดที่นั่นที่นี่อยู่เนืองๆ เร็วๆนี้มีการระบาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีผู้ป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดการตื่นตระหนกมาถึงประเทศไทยจากการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเรา พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรต้องทราบเรื่องโรค การป้องกัน ตลอดจนการดูแลรักษาเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัย
โรคนี้พบได้ตลอดปีในแถบร้อนชื้น มักเป็นในเด็กเล็ก พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี แต่พบในเด็กอายุ มากกว่านี้ก็ได้ และหากมีการเกิดโรคในสถานเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเพราะโรคนี้ระบาดได้ง่าย หากการควบคุมป้องกันโรคไม่เข้มแข็ง
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 1 กรกฏาคม 2555 มีเด็กป่วย เป็นโรคมือ เท้า ปาก และเฮอร์แปงไจนา (Herpangina การติดเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนัง และตุ่มน้ำในปาก ซึ่งแยกจากโรคมือ เท้า ปาก ด้วยอาการและการตรวจร่างกายยาก) จำนวน 10,813 คน โดยไม่ได้เกิดจาก เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71, เชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง) และไม่มีรายงานการเสียชีวิต ซึ่งผู้เขียนคาดว่า ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการไม่มาก และอาจไม่ได้ไปโรงพยาบาล จึงไม่ได้รายงานเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าว พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมากขึ้นกว่า 5 ปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าจากระบบการรายงานผู้ป่วยที่ดีขึ้น
จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปากคิดเป็น 17.2 คนต่อประชากร 100,000 คน เด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี พบ 242.76 คนต่อประชากร100,000 คน ตามด้วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี 18.70 คนและอายุ 10-14 ปี 2.54 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ
เด็กชายพบบ่อยกว่าเด็กหญิงคิดเป็นอัตราส่วน 1:0.72
ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี พบมากที่สุดในอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 และ 3 ปีโดยมีจำนวนผู้ป่วยเป็น 28.18%, 26.11% และ 17.39% ของผู้ป่วยตามลำดับ
พบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด คือ 26.61 รายต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 26.03, 16.58 และ 8.52 รายต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ
อนึ่ง โรค เท้า-ปาก ที่เกิดในสัตว์ (Foot-and-Mouth disease หรือ Hoof-and-Mouth disease) เป็นคนละโรคกับโรคนี้ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่คนละสายพันธุ์กับที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปากในคน โรคเท้า-ปากในสัตว์เกิดเฉพาะในสัตว์กีบคู่ (เช่น วัว ควาย หมู แพะ และแกะ) มี วัคซีนฉีดป้องกันในสัตว์ และโดยทั่วไปไม่ติดต่อสู่คน ยกเว้นมีรายงานการติดเชื้อบ้าง ในคนที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ป่วย หรือที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์นี้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก?
โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า คอกแซคกีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A 16) ในบางครั้งเมื่อเกิดการระบาดอาจเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71), คอกแซคกีไวรัส เอ 5, 7, 9, 10 และคอกแซคกีไวรัส บี 2 และ 5 และอาจเกิดจากเชื้อไว รัส เอ็คโคไวรัส (Echovirus) ได้บ้าง
***** อนึ่ง เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงรุนแรง ถึงกับเสียชีวิตคือ เอ็นเทอโรไวรัส 71

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?
โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง ทางหนึ่งจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ หรือน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย อีกทางหนึ่งจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายมาจากผู้ป่วย
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ (ระยะฟักตัวของโรค)

โรคมือ เท้า ปากมีอาการอย่างไร?
ส่วนใหญ่ เด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก จะมีอาการน้อย โดยอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ และมีตุ่มน้ำ หรือตุ่มแดงๆที่มีการอักเสบกระจายทั่วไปบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังของคอหอย กระพุงแก้ม หรืออาจจะทำให้มีแผลตื้นๆบนเยื่อบุปากที่อักเสบ
มักพบมีผื่น หรือตุ่มน้ำ บริเวณมือและเท้า ซึ่งจะเจ็บ ส่วนใหญ่จะพบตุ่มน้ำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร (มม.) มักพบเป็นตุ่มน้ำรูปรีๆ เหมือนลูกรักบี้ อาจพบตุ่มน้ำบริเวณหลังเท้าหรือบริเวณก้นได้ ซึ่งตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับแพทย์หากเห็นตุ่มน้ำที่บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากได้ไม่ยาก
โรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ทางระบบประสาท (มีการอักเสบของก้านสมอง เนื้อสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแขน ขาอ่อนแรง /อัมพาต) ระบบหัวใจ และปอด ได้สูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และภาวะช็อก อย่างไรก็ตามเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่า จากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มาก
เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากมักจะกินอาหารและนมได้น้อยลง เด็กเล็กๆ จะมีน้ำลายยืดมาก กว่าปกติเพราะมักจะเจ็บปาก กลืนไม่ได้ หากแบมือ และดูที่ฝ่าเท้าจะพบมีตุ่มแดงๆในช่วงแรก ซึ่งต่อมาจะโตขึ้นและเห็นเป็นตุ่มน้ำชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?
ส่วนใหญ่ในทางคลินิก แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จาก อาการ และการตรวจร่างกายของผู้ป่วย
การตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น การเพาะเชื้อไวรัส หรือการตรวจหาในระดับโมเลกุลเพื่อการวินิจฉัยเฉพาะเจาะจงอาจทำในกรณีที่มี การระบาดของเชื้อไวรัสเหล่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ อาจต้องแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น
•    การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ออกผื่น เช่น จากโรคไข้รูมาติก
•    การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและตุ่มน้ำในปาก ที่เรียกเฮอร์แปงไจน่า (Her pangina) ซึ่งจะเห็นมีตุ่มน้ำบริเวณเพดานอ่อนหรือบริเวณคอหอย
•    และต้องแยกอาการแผลในปากจากเชื้อโรคเริม เฮอร์ปีย์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex) ซึ่งทำให้เกิดตุ่มน้ำและแผลที่เหงือกได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากมีอาการทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ หรือ อาการทางหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องแยกจากเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเกิดตามหลังการมีตุ่มน้ำในบริเวณที่กล่าวไปแล้ว ก็ทำให้แพทย์นึกถึงว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคมือ เท้า ปากมากขึ้น

รักษาโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?
เนื่องจากโรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัส และส่วนมากอาการไม่รุนแรง การรักษาที่สำคัญคือ การรักษาตามอาการ
ในขณะนี้ มีการรักษาโดยยาบางชนิด หรือสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิด รุนแรง แต่การรักษายังอยู่ในวงจำกัดซึ่งต้องการหลักฐานจากการศึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอันตรายจากยาที่รักษา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ
1.    เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
2.    เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้ มีไข้สูง
3.    มีอาการซึม หรือหงุดหงิดไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
4.    มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก
อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ดูแลเด็กโรคมือ เท้า ปากที่บ้านอย่างไร?
เด็กที่ เป็นโรคมือ เท้า ปาก จะเจ็บปากมาก กินอะไรไม่ค่อยได้ ผู้เขียนจะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ลูกกินน้ำเย็น กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ
แรกๆพ่อแม่ผู้ปกครอง มักกลัวว่ากินของเย็นแล้วไข้จะขึ้น แต่ที่จริงแม้ไม่กินของเย็น ไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น หากเด็กเจ็บปาก ลองให้ลูกกินน้ำเย็น นมเย็นดู เขาจะกินอย่างหิวกระหาย การที่เด็กกินได้ ทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็ว
หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ลดไข้

ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร? มีวัคซีนไหม?
เนื่องจากโรคนี้ติดต่อโดยการได้รับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจ เอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย และปัจจุบัน ยังไม่วัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญ คือ
1.    ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
2.    เมื่อบุตรหลานมีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรคนี้ไปแพร่ให้เด็กอื่น
3.    สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือและเท้าในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้านและไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
4.    ในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
5.    การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
6.    หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมือ เท้า ปากต้องปิดห้อง เรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน 

........................................


อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือน 17 จังหวัดเสี่ยงโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็กเล็กแรกเกิดถึง 4 ขวบ แนะถ้าพบเป็นไข้-มีแผลในปาก และตุ่มที่มือหรือเท้า ให้รีบพบแพทย์
            เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 กันยายน 2558 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 26,407 ราย เสียชีวิต 3 ราย ที่ จ.สระบุรี ตาก และชลบุรี โดยล่าสุดเป็นเด็กอายุ 4 ขวบ เสียชีวิตปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมากในภาคกลางและภาคใต้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยและเสียชีวิต คือ เด็กเล็กอายุแรกเกิดถึง 4 ขวบ ที่สำคัญในปีนี้พบว่าเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงมีสัดส่วนสูงกว่าทุกปีเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนนี้มีการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากไวรัสหลายชนิด ซึ่งทุกปีจะมีปะปนกันระหว่างเชื้อค็อกซากี เอ 16 (Coxsackie A6) และอีวี 71 แต่ในปีนี้จากการส่งตรวจเชื้อ พบเชื้ออีวี 71 ค่อนข้างมาก ซึ่งเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงสูงและถูกจับตามองมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยแต่ละปีก็จะพบประปราย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะถ้าพบโรคเร็วและรักษาทัน ก็สามารถรักษาหาย วิธีสังเกตอาการเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปากนั้น ปกติจะหายเองร้อยละ 90 ภายใน 7-10 วัน
อาการของโรคว่า หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีตุ่มแดงขนาด 2-8 มิลลิเมตรที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเห็นเป็นตุ่มน้ำสีเทาเล็กๆ แต่ตุ่มน้ำจะแตกเร็ว เห็นเป็นแผลตื้นๆสีออกเหลืองเทา และมีผื่นแดงล้อมรอบแผลเล็กๆ อาจรวมเป็นแผลขนาดใหญ่ ซึ่งแผลเหล่านี้จะเจ็บและทำให้เด็กไม่รับประทานอาหาร อีกทั้งยังทำให้ลิ้นมีสีแดงและบวมได้ แต่รอยโรคเหล่านี้มักจะหายไปใน 5-10 วัน
ส่วนผื่นที่ผิวหนังนั้น อาจเกิดพร้อมกับแผลในช่องปาก หรือเกิดหลังแผลในช่องปากเล็กน้อย อาจมีเพียง 2-3 จุด หรือมากกว่า 100 จุด โดยพบที่มือมากกว่าที่เท้า รอยโรคมักเป็นที่หลังมือ ด้านข้างของนิ้วมือ หลังเท้าและด้านข้างของนิ้วเท้า มากกว่าที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นได้ด้วย รอยโรคที่ผิวหนังระยะแรกจะเป็นผื่น หรือตุ่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร ที่ตรงกลางมีตุ่มน้ำสีเทา มักเรียงตามแนวเส้นของผิวหนัง และมีผื่นแดงล้อมรอบ ผื่นเหล่านี้จะคงอยู่ได้ 2-3 วัน อาจมีอาการเจ็บ กดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ต่อมาจะเป็นสะเก็ดและตกสะเก็ดใน 7-10 วัน จนผิวแลดูปกติไม่มีแผลเป็น
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยยา ทายาแก้ปวด ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม  การกินน้ำเย็น กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ
หากเด็กมีอาการป่วยที่รุนแรง คือ มีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณหัวเข่า ข้อศอก และก้น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ซึมลง หายใจหอบ และมีอาการเหม่อลอย วินิจฉัยไว้ก่อนว่าเป็นเชื้อ EV71 ให้รีบพาพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เนื่องจากเชื้ออาจกระจายจนก้านสมองอักเสบ ส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นผิดปกติ และเด็กมีโอกาสหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วัน ดังนั้นหากมีไข้สูง ขอให้รีบพาพบแพทย์โดยเร็ว.
       ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเด็ก เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ โดยยึดหลักสุขอนามัยที่ดีคือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปาก ทำได้ดังนี้
1. ล้างมือ ฟอกสบู่ (การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้) ไม่ใช้ช้อนป้อนเด็กร่วมกัน พี่เลี้ยง สัมผัสอุจจาระ เปลี่ยนผ้าอ้อมต้องล้างมือ
2. ห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
3. ทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นเด็กด้วยสาร sodium hupochlorite โดยใช้ hypochlorite ทำให้เจือจาง 5:25% ให้เป็น 1 : 50 หรือ clorox สารละลาย คลอรีน เช็ดถูให้สะอาด (สามารถฆ่าเชื้อได้)
การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยสารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน  ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
4. เด็กที่ป่วยต้องแจ้งให้โรงเรียนพื้นที่ ทราบ และหยุดอยู่บ้าน จนแผลทุกแห่งหาย ประมาณ 1 สัปดาห์ และหากพบเด็กป่วยในเวลาไล่เลี่ยกันมากกว่า 2 คน ขอให้พิจารณาปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
5. ผู้ปกครอง ไม่พาเด็กไปที่มีคนหมู่มาก ห้าง สนามเด็กเล่น ในช่วงที่มีการระบาด
6. บอกความเป็นจริงทั้งผู้ปกครองและสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคลงได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ
1.    เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
2.    เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้ มีไข้สูง
3.    มีอาการซึม หรือหงุดหงิดไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
4.    มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก

       ติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
          สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล ทุกแห่ง
          ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3333
          สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3194
          แจ้งการระบาดของโรคได้ที่ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-1882

........................................

Hand, foot and mouth & Herpangina, Aphthous pharyngitis Bureau of Epidemiology, DDC, MPH  
ICD-10 : B08.4(HFM), B08.5 (Herpangina) กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ
https://www.boe.moph.go.th/fact/Hand-Foot-Mouth.htm

1. ลักษณะโรค
    เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ
    ส่วนใหญ่โรค HFMD โดยเฉพาะที่เกิดจาก coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก EV71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ในการระบาดที่ไต้หวันพบสูงถึงร้อยละ 30 อาจเป็นแบบ aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบ encephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมอง (brain stem) อาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด (acute pulmonary edema)
    โรค HFMD ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ โรค Herpangina ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-7 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ coxsackievirus A1 และ EV71 ผู้ป่วยจะมีไข้ฉับพลันและมีแผลเปื่อยเล็กๆ ในลำคอบริเวณเพดาน ลิ้นไก่ ทอนซิล มีอาการเจ็บคอมากร่วมกับมีน้ำลายมาก ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต และอาจมีอาการกลืนลำบากปวดท้องและอาเจียน โรคจะเป็นอยู่ 3 - 6 วัน และมักจะหายเอง

2. การวินิจฉัยโรค
    ใช้การวินิจฉัยตามอาการ ส่วนการตรวจหาเชื้อสาเหตุนั้น โดยการเพาะแยกเชื้อไวรัสจากอุจจาระ หรือ throat swab หรือ nasal washing หรือ nasal aspiration ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ควบคู่กับการตรวจทางน้ำเหลือง (serology) ในตัวอย่างเลือด acute และ convalescent serum เพื่อดู antibody ต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ

3. สาเหตุ
    เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่อยู่ในลำไส้ของคน (enteroviruses) มีหลายสายพันธุ์สำหรับสายพันธ์ที่ก่อโรค HFMD ได้แก่ coxsackievirus group A, type 16 (พบบ่อย) และ group A type 4, 5, 9 และ 10 ; group B type 2 และ 5 และ enterovirus 71
    สายพันธ์ที่ก่อโรค Herpangina ได้แก่ coxsackievirus, group A, type 1-10; 16 และ 22 และ enterovirus 71
    ความทนทานของเชื้อ enteroviruses
        ถูกทำลายโดยแสงอุลตราไวโอเล็ต ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน
        ถูกทำลายโดยการต้มที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แต่ถ้ามีเกลือ magnesium อยู่ด้วย จะยังทนอยู่ได้
        เชื้อมีชีวิตอยู่ได้หลายวันในอุณหภูมิห้องและเมื่ออยู่ในสภาพที่มีโปรตีนผสมอยู่ด้วย เช่น ในน้ำนม ไอศกรีม หรือครีม จะมีชีวิตอยู่นานกว่าในน้ำ การทำให้น้ำนมปราศจากเชื้อ โดยวิธี pasteurization สามารถทำลายเชื้อได้
        คลอรีนผสมน้ำ 0.1 ppm, (part per million) สามารถทำลายเชื้อได้ หากทำลายเชื้อในอุจจาระจะต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นมากกว่านี้
        ฟอร์มาลินขนาด 0.3% สามารถทำลายเชื้อได้
        เชื้อนี้ค่อนข้างทนทาน ไม่ถูกทำลายโดยอีเธอร์ แอลกอฮอล์ และสาร deoxycholate

4. วิธีติดต่อ
    กินเชื้อผ่านเข้าปากโดยตรงจากมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ (ซึ่งอาจจะยังไม่มีอาการ) หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ( droplet spread)
    การแพร่เชื้อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อออกมามาก เชื้อจะอยู่ในลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ เพิ่มจำนวนที่ทอนซิลและเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ และเชื้อจะออกมากับอุจจาระ
    ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า การแพร่กระจายของโรคเกิดจากแมลง น้ำ อาหาร หรือขยะ

5. ระยะติดต่อ
    ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และอาจยาวนานหลายสัปดาห์

6. ระยะฟักตัว
    ปกติ 3-5 วัน

7. อาการและอาการแสดง
    HFMD มีอาการไข้สูงอาจเกิน 39 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วจะมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส อีก 3-5 วัน บางครั้ง อาจบ่นเจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร พบตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจมี 1 แผล หรือ 2-3 แผล ขนาด 4-8 มิลลิลิตร เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล พบตุ่มพอง (vesicles) สีขาวขุ่นบนฐานรอบสีแดง ขนาด 3-7 มิลลิเมตร บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในเด็กเล็กๆ บางครั้งจะพบมีผื่นนูนสีแดงเล็กที่ก้น ส้นเท้า ส่วนใหญ่จะไม่เป็นตุ่มพอง หายไปได้ภายใน 1-3 วัน
    อาการและอาการแสดง : Herpangina จะมีไข้อย่างเฉียบพลัน บางครั้งไข้อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในเด็กโตจะบ่นปวดศีรษะ ปวดหลัง อาจมีอาเจียน เจ็บคอ น้ำลายไหล จากนั้นจะพบตุ่มพองใส ขนาด 1-2 มิลลิเมตร 2 ข้างของบริเวณเหนือต่อมทอนซิล (anteriar fauces) ซึ่งอาจแตกเป็นแผล หลังจากระยะ 2-3 วันแรก แผลจะใหญ่ขึ้นเป็น 3-4 มิลลิเมตร จะเห็นเป็นสีขาวเหลืองอยู่บนฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้มีอาการเจ็บคอหรือกลืนลำบากเวลาดูดนมหรือกินอาหาร เด็กจะมีอาการน้ำลายไหล ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 3-6 วัน ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต

8. ระบาดวิทยาของโรค
    เกิดขึ้นทั่วโลก มีลักษณะเกิดกระจัดกระจายหรือระบาดเป็นครั้งคราว มักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน (พฤษภาคม - มิถุนายน) มักเป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ค่อยพบในวัยรุ่น การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล กลุ่มเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี และพบสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่กันอย่างแออัด และมีฐานะยากจน และถ้ามีการระบาดเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่เด็กที่มีอายุมากขึ้นจนถึงวัยรุ่น และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคจาก enterovirus ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่มิถุนายน 2541 โดยสำนักระบาดวิทยาทำการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งในระยะแรกเป็นการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ใน 14 โรงพยาบาลและขยายเป็นการเฝ้าระวังทั่วประเทศใน พ.ศ. 2544
    ความไวรับและความต้านทานต่อโรค : โดยทั่วไปจะไวรับต่อการติดเชื้อได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะจำเพาะต่อเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุโดยที่อาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ไม่ทราบช่วงเวลา การติดเชื้อครั้งที่สองอาจเกิดได้จากการติดเชื้อ coxsackievirus group A ชนิดที่ต่างไป

9. การรักษา :
    รักษาตามอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ทายาที่ลดอาการปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ มีอาการสมองอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ จำเป็นต้องให้การรักษาแบบ intensive care และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

10. การป้องกันและควบคุมโรค
    10.1 มาตรการป้องกัน ลดการสัมผัส คนสู่คน เท่าที่จะทำได้ โดย
        ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
        หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
        ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร และรับประทานอาหารและภายหลังการขับถ่าย
        ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน

    10.2 การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม :-
        การรายงานโรค ระบบเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
        การแยกผู้ป่วย ระวังสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยในหอผู้ป่วยแม่และเด็กเกิดอาการเจ็บป่วยที่ บ่งชี้ว่าจะเป็นการติดเชื้อ enterovirus จะต้องระวังเรื่องสิ่งขับถ่ายอย่างเข้มงวด เพราะอาจทำให้ทารกติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้
        ห้ามญาติหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ enterovirus เข้ามาในหอผู้ป่วยหรือหอเด็กแรกเกิด หรือห้ามเข้าใกล้ทารกหรือหญิงท้องแก่ใกล้คลอด
        การทำลายเชื้อ ต้องทำลายเชื้อในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วปลอดภัย ล้างทำความสะอาด หรือทำลายสิ่งของปนเปื้อน หลังสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนหรือสิ่งขับถ่าย
        การกักกัน ไม่ต้อง
        การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส ไม่มี
        การสอบสวนผู้สัมผัสและค้นหาแหล่งโรค ค้นหา ติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดในกลุ่มเด็กอนุบาลหรือสถานเลี้ยงเด็ก

    10.3. มาตรการเมื่อเกิดการระบาด วิเคราะห์สถานการณ์เป็นรายวัน จำแนกและแยกผู้ป่วยนอก ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม เฝ้าระวังผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ทำการควบคุม ป้องกัน โดยทำลายสารคัดหลั่งต่างๆจากผู้ป่วยทั้งในบ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงพยาบาล

    10.4.มาตรการควบคุมโรคระหว่างประเทศ ไม่มี

    10.5.โอกาสที่เกิดการระบาดใหญ่ ในสถานรับเลื้ยงเด็ก หากมีผู้ป่วยในสถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสแพร่ระบาดได้
 


Create Date : 30 มิถุนายน 2559
Last Update : 19 มีนาคม 2565 15:20:25 น. 5 comments
Counter : 7064 Pageviews.  

 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาทักทาย สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ


โดย: nokyungnakaa วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:13:47:04 น.  

 
กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือสถานศึกษาคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า เน้นช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้ ระวังโรคมือ เท้า ปาก หลังข้อมูลปี 2559 กว่าร้อยละ 60 เด็กป่วยช่วง พ.ค.-ส.ค.<<<<

-----สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย

----ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากถึง 70,874 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ป่วยทั้งหมด

----ช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด
#มือเท้าปาก #คัดกรองเด็ก

อ่านเพิ่มเติมที่
//www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=35631&pcid=69&pcpage=1


โดย: หมอหมู วันที่: 6 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:10:18 น.  

 
กรมควบคุมโรค แนะดูแลและสังเกตอาการป่วยของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หลังปีนี้พบผู้ป่วยเกือบ 5 หมื่นราย เสียชีวิต 3 ราย
21/08/2560 จำนวนคนอ่าน 313 ครั้ง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ดูแลและสังเกตอาการป่วยของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หลังปีนี้พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก รวมเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว และเสียชีวิต 3 ราย โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาร่วมคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับ
วันนี้ (21 สิงหาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มักพบเด็กเล็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 16 ส.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 49,019 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดจันทบุรี ราชบุรี และร้อยเอ็ด
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป คือ EV71 โรคนี้พบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน

ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่ง

จากรายงานของโรงพยาบาล 15 แห่งที่เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กแรกเกิด - 5 ปี ของสำนักระบาดวิทยา ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 93 ราย ตรวจพบเชื้อ 28 ราย ในจำนวนนี้พบติดเชื้อ EV71 มากถึง 14 ราย (ร้อยละ 50) ส่วนพื้นที่ที่ควรติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือจังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางเท่ากับ 2 เท่าขึ้นไป มี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เชียงใหม่ พิษณุโลก พะเยา แม่ฮ่องสอน ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือสถานศึกษาดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้การป้องกันควบคุมโรค ดังนี้
1.คัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ
2.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ
3.หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
4.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง

สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ บางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

******************************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 21 สิงหาคม 2560

//www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=36143&pcid=69&pcpage=1


โดย: หมอหมู วันที่: 22 สิงหาคม 2560 เวลา:13:02:39 น.  

 
สิงหาคม ๒๕๖๐
แนะ สังเกตอาการป่วยของเด็กเล็ก ระวัง มือ เท้า ปาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ดูแลและสังเกตอาการป่วยของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หลังปีนี้พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก รวมเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว และเสียชีวิต 3 ราย โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาร่วมคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับ
.
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มักพบเด็กเล็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 16 ส.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 49,019 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดจันทบุรี ราชบุรี และร้อยเอ็ด

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป คือ EV71 โรคนี้พบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งจากรายงานของโรงพยาบาล 15 แห่งที่เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กแรกเกิด - 5 ปี ของสำนักระบาดวิทยา

ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 93 ราย ตรวจพบเชื้อ 28 ราย ในจำนวนนี้พบติดเชื้อ EV71 มากถึง 14 ราย (ร้อยละ 50) ส่วนพื้นที่ที่ควรติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือจังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางเท่ากับ 2 เท่าขึ้นไป มี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เชียงใหม่ พิษณุโลก พะเยา แม่ฮ่องสอน ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี

นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือสถานศึกษาดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้การป้องกันควบคุมโรค ดังนี้
1.คัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ
2.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ
3.หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
4.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ บางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
.
ที่มา:กรมควบคุมโรค

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1075747072560733&set=a.115039465298170.16367.100003763525584&type=3&theater


โดย: หมอหมู วันที่: 29 สิงหาคม 2560 เวลา:14:47:22 น.  

 

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองในช่วงหน้าฝน ระวังบุตรหลานป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก 1-3 ปี

2019-08-15

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองในช่วงหน้าฝน ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี เน้นสังเกตอาการ ไข้สูง ซึม อ่อนแรง ชักเกร็ง มือสั่น เดินเซ หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที และหมั่นทำความสะอาดของเล่นของใช้ ถ้าเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย

วันนี้ (15 สิงหาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนในเด็ก ซึ่งในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศที่เย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้

สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วย 37,921 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.48 รองลงมาอายุ 1 - 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.30 และอายุ 2 - 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 18.37 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก เชียงใหม่ ระยอง น่าน กรุงเทพมหานคร และเพชรบุรี ตามลำดับ

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1 - 2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงอาจถึงขั้น เสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้ 1.การลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น และ 4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ส่วนผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการข้างต้นควรให้หยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422




โดย: หมอหมู วันที่: 15 สิงหาคม 2562 เวลา:20:50:01 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]