Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อมูลสำคัญ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ สถานการณ์ล่าสุด ... แถม เวบน่าสนใจ




//beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=32105025&Itemid=240

ข้อมูลสำคัญ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (เอ็ช1เอ็น1) 2009


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่ติดต่อง่าย คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทาน คนทุกเพศทุกวัยติดเชื้อนี้ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อใหม่ คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ โดยเฉพาะเด็กและคนหนุ่มสาว แต่ผู้สูงอายุบางคนอาจมีภูมิต้านทานโรค จากการที่เคยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่คล้ายกันกับเชื้อตัวใหม่นี้มาแล้ว

ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้มากสุดช่วง 3 วันแรก เมื่ออาการทุเลาขึ้นจะแพร่เชื้อได้ลดลง ส่วนใหญ่มักไม่เกิน 7 วัน แต่เด็กเล็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่านี้

เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูดคุย เชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จะฟุ้งกระจายไปไกล 1 ถึง 2 เมตร และมีชีวิตอยู่ที่พื้นผิวหรือสิ่งของได้นาน 2 ถึง 8 ชั่วโมง





ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้

* อยู่ไกลจากผู้ป่วยอย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน เพื่อไม่ให้ถูกไอจามรดโดยตรง หรือสูดฝอยละอองเชื้อโรคเข้าไป

* ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดมือ แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ และใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหารกับผู้อื่น

* หมั่นล้างมือบ่อยๆ และล้างมือหลังจากสัมผัสพื้นผิว สิ่งของเครื่องใช้ที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มลิฟต์ โทรศัพท์ แป้นคอมพิวเตอร์

* ฝึกนิสัยไม่ใช้มือแคะจมูก จับปาก ขยี้ตา หรือจับต้องใบหน้า หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ควรใช้กระดาษทิชชูจะปลอดภัยกว่า

* ไม่ควรเข้าไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดมาก หากจำเป็น ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง




ควรป้องกันตนเองอย่างดี เช่น สวมหน้ากากอนามัย และเช็ดมือด้วยเจล แอลกอฮอล์ บ่อยๆ รักษาร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค

o ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสัมผัสแสงแดดยามเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
o รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก เช่น ฝรั่ง

o ดื่มน้ำสะอาดให้มากพอ

o พักผ่อน นอนหลับให้พอเพียง

o ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เที่ยวไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก



รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ช่วยให้ห่างไกลจากโรคติดต่อ

o หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และล้างมือทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร ป้อนอาหารเด็ก หลังสั่งน้ำมูก ไอ จาม ขับถ่าย ดูแลผู้ป่วย จับต้องสิ่งของเครื่องใช้ พื้นผิวที่มีผู้สัมผัสมาก สัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอาการป่วย)

o ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดทั่วถึง (ถูฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว หัวแม่มือ ข้อมือ) นานประมาณ 20 วินาที (นับในใจ 1 ถึง 20)

o พกเจลแอลกอฮอล์ 70% ไว้ สำหรับเช็ดมือให้สะอาดเวลาเดินทาง

o ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง



ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

หลังจากได้รับเชื้อ 2 ถึง 3 วัน (มักไม่เกิน 7 วัน) ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (95%) อาการไม่รุนแรง อาการจะคล้ายกันกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์เก่า แต่เนื่องจากเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดปอดบวมได้มากกว่าเชื้อสายพันธุ์เก่า จึงพบว่ามีผู้ป่วยส่วนน้อย (5%) มีอาการป่วยรุนแรง

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนมาก (70%) เป็นผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ ไต เบาหวาน พิการทางสมองและปัญญา ฯลฯ) หญิงตั้งครรภ์ (เสี่ยงป่วยรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า) ผู้เป็นโรคอ้วน ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ (โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ผู้ป่วยรับยากดภูมิต้านทาน ฯลฯ) เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี

อย่างไรก็ตามยังมีผู้เสียชีวิตส่วนน้อย (30%) ที่มีสุขภาพดีก่อนป่วย ยังไม่พบปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศกำลังเร่งศึกษาหาสาเหตุ

สัญญาณอันตราย คือ มีไข้สูงไม่ลดลงภายใน 2 วัน (เด็กอาจมีอาการชัก) ไอมากจนเจ็บหน้าอก ไอมีเลือดปน หรือหายใจถี่ หอบ เหนื่อย ไม่ทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ซึมมาก อ่อนเพลียมาก นอนซม อาเจียนหรือท้องร่วงมาก มีอาการขาดน้ำ ผิวหนังมีสีม่วงคล้ำ

ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษาและยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด


ดูแลรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงที่บ้าน

หากผู้ป่วยมีไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึมหรืออ่อนเพลียมาก และพอทานอาหารได้ ต้องพักดูแลรักษาตัวที่บ้าน โดยทำจิตใจให้สบาย และห้ามออกกำลังกาย

o หยุดเรียน หยุดงาน ไม่ออกไปนอกบ้าน 7 วัน อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ แต่ต้องหลังจากไม่มี ไข้แล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะแพร่เชื้อ

o รับประทานยาลดไข้พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) ยาละลายเสมหะ ยาแก้เจ็บคอ วิตามิน ฯลฯ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

o ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง

o เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อย เช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว หน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดส่วนอกระหว่างเช็ดแขนขา เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัว และห่มผ้าให้ อบอุ่นทันที

o ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น

o รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ ให้พอเพียง

o นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และอากาศถ่ายเทสะดวก



ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ในบ้าน

o แยกนอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก

o รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น

o ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น

o ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม แล้วทิ้งทิชชูลงในถังขยะ (ถ้าหยิบไม่ทัน ต้องรีบเบนหน้าใส่ต้นแขนตัวเอง) และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที

o สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ 1 ถึง ’2 เมตร หรืออย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน

o ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังดูแลผู้ป่วย

o หมั่นทำความสะอาดบริเวณห้องนอนผู้ป่วยและบริเวณที่มีคนสัมผัสมาก โดยเช็ดล้างด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไปที่ใช้ตามบ้าน รวมทั้งเปิดม่านให้แสงแดดยามเช้าส่องเข้ามาในห้องได้


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม

o เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th

o สายด่วน 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3333



“ ขอบคุณ....ที่หยุดงาน หยุดเรียน
สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ
....เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ”

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
เว็บไซต์ //beid.ddc.moph.go.th
เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th
1 ตุลาคม 2552




สถานการณ์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการป้องกันควบคุม ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ (เอ็ช1เอ็น1) 2009
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
19 พฤศจิกายน 2552

//beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=32117872&Itemid=240

สถานการณ์โรคและแนวโน้มการระบาด

สถานการณ์ทั่วโลก

การ ระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (เอ็ช1เอ็น1) 2009 ซึ่งเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขของประเทศทั่วโลก จะยังไม่ยุติในเวลาอันใกล้ องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 (เว็บไซต์ //www.who.int) มากกว่า 503,536 คน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6,260 คน ข้อมูลนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากการระบาดได้ขยายไปสู่ชุมชนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 206 ประเทศแล้ว

ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำ (ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา) ให้ประเทศที่มีการระบาดภายในประเทศแล้ว เปลี่ยนการตรวจยืนยันผู้ป่วยทางห้องปฏิบัติการ (confirmed case) ทุกราย ซึ่งจะสร้างภาระและสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่คุ้มค่า มาใช้วิธีการทางระบาดวิทยา (epidemic monitoring) เพื่อติดตามสถานการณ์

ขณะ นี้ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสที่อาจทำให้เชื้อมีความรุนแรง เพิ่มขึ้น และยังไม่พบปัญหาการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในระดับที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข รวมทั้งเชื้อยังไวต่อยาซานามิเวียร์



สถานการณ์ในประเทศไทย

จาก การเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 ถึงขณะนี้ (14 พฤศจิกายน 2552) ไทยพบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งสิ้น 28,939 ราย เสียชีวิต 185 ราย

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 -14 พฤศจิกายน 2552) มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย

สถานการณ์ การระบาดในกรุงเทพและปริมณฑลได้ลดลงมากตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่าน มา และได้ขยายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด

มีความเสี่ยงที่จะ เกิดการระบาดในเขตเมือง ในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก และมีสัญญานเตือนการขยายตัวเป็นการระบาดระลอกใหม่ โดยเกิดการระบาดในโรงเรียนและค่ายทหาร และมีปัจจัยเสริม ได้แก่ อากาศที่เย็นและแห้ง




แหล่งข้อมูลการติดต่อเพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่


1. กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

โทรศัพท์ 0 2245 8106 , 0 2246 0358 และ 0 2354 1836

2. ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

3. สำนัก โรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชั้น 4 อาคาร 8 กรมควบคุมโรค (ตึกสถาบันราชประชาสมาสัย) ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี

โทร. 02 590 3275 02 590 3238 โทรสาร. 02 590 3397


Call Center 24 ชั่วโมง

• ศูนย์ปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ห้องประชุม 2 ชั้น 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Call Center 1422 , โทรสาร 02 - 590 1993

• ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข

หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994

• ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค อาคาร 2 ชั้น 3 ตึกกรมควบคุมโรค

Call Center 02 - 590 3333 โทรสาร 02 - 590 3308

• e-Mail: moc@health.moph.go.th



กระทู้น่าสนใจ



จากไข้หวัดใหญ่ MEXICO ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 .. บทเรียนสาธารณสุขไทย

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-05-2009&group=4&gblog=76


.....สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009....( ศจ.นพ.ธีระวัฒน์ ) และ แนวทางดูแลรักษาผู้ป่วย

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2009/07/L8147316/L8147316.html


ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009....เสียชีวิตจากการรักษาช้าจริงหรือ ??? ... ศจ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2009/08/L8154944/L8154944.html


ถึงสื่อมวลชนทุกท่าน ผมจะบอกความจริงเรื่อง ไข้หวัด 2009 ให้ทราบ

//www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A8060907/A8060907.html




เวบที่น่าสนใจ ..



เวบ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).. ภาพสวย ข้อมูลเพียบ มีคำถามที่พบบ่อย และ เวบบอร์ดให้สอบถามปัญหา ครบถ้วน ... เจ๋งมั๊ก ๆ

//www.flu2009thailand.com/
สอบถามข้อมูลไข้หวัด 2009 และขอรับสื่อ โทร. 1422 หรือ 1330



ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ ภาวะฉุกเฉินทาง การแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

//www.moph.go.th/flu/

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

//beid.ddc.moph.go.th/th/index.php





แถม ...


1+1 ใน 5 = สัญญาณอันตราย

//www.flu2009thailand.com/important-sign.html

วิธีง่ายๆ ที่ใช้สังเกตอาการไข้หวัด2009

ลดความกังวลใจ ลดความเสี่ยงในการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

ถ้ามีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับ ไอ เจ็บคอ ให้ดูว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหนักหรือเปล่า ถ้าใช่ต้องไปหาหมอทันที

ถ้าไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ข้อมูลกลุ่มเสี่ยงอยู่ในหมวดการรักษา) ในเบื้องต้นให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้

ถ้า กินยาพาราเซตามอลแล้ว อาการขั้นแรกยังมีอยู่ นั่นคือ ไข้สูง ไอ เจ็บคอ แล้วก็มีอาการเพิ่มเติมเพียงแค่ 1 ใน 5 สัญญาณอันตราย ก็ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน นั่นคือ

1. ปวดหัวมากแม้กินยาพาราเซตามอลก็ยังไม่ดีขึ้นนัก

2. เบื่ออาหารอย่างมาก ไม่อยากกินอะไรเลย น้ำก็ไม่อยากดื่ม

3. เหนื่อย อ่อนเพลียและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก

4. ไอแล้วเหนื่อย หรือไอแล้วเจ็บเฉพาะที่ ไอแล้วเจ็บหน้าอก

5. มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน

เรียก ว่าถ้ามี 1 อาการหลัก(ไข้ ไอ เจ็บคอ) ร่วมกับอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย อย่างน้อย 1 ใน 5 ดังกล่าวก็ต้องรีบไปหาหมอโดยด่วน จำไว้ว่า 1+1 ใน 5 = สัญญาณอันตราย



แต่ถึงแม้จะไม่มีอาการร่วม 1 ใน 5 สัญญาณอันตราย แต่ถ้าพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 2 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นแม้แต่น้อย ก็จะต้องไปหาหมอเช่นกัน





นำมาฝากกัน ... จะได้มีความรู้เอาไว้ ดูแลรักษาตนเอง และ คนที่คุณรัก ...

ผมเชื่อว่า ผู้ป่วย มีความรู้มากเท่าไหร่ หมอก็ทำงานได้สบายมากขึ้นเท่านั้น ...

ถ้าเป็นไปได้ ก็รบกวนฝากส่งต่อไปให้คนอื่น ๆ ด้วยนะครับ ... ถือว่า ทำบุญร่วมกัน ...

ขอบคุณครับ


ปล.

ขอชี้แจงไว้ก่อนว่า ผมเป็นหมอกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) ... ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่อง ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙... ก็อาศัยหาความรู้ทางเนต เหมือนกับทุกท่าน

จึงขอไม่ตอบหลังไมค์ เกียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ นะครับ ถ้าเป็นโรคกระดูกและข้อ ก็ยินดีช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ...










Create Date : 25 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2552 15:41:43 น. 9 comments
Counter : 2806 Pageviews.  

 
ความคิดเห็นที่ 11 [ถูกใจ] [แจ้งลบ]

ขอบคุณมากสำหรับความรู้ครับ

รบกวน ถาม คุณหมอหมู ว่าตอนนี้มีการนำเข้าชุดทดสอบไข้หวัดใหญ่ 2009 แบบ screening test จากเกาหลี และมหาวิทยาลัยรัฐบางที่ก็สามารถทำได้ตามข่าวเช่นกัน

ขอถามว่า ชุดทดสอบทั้งที่ผลิตในไทย และที่นำเข้าจากต่างประเทศ
มีความจำเป็นและน่าเชื่อถือ ขนาดไหนครับ

จากคุณ : Five Precepts


................ เท่าที่ติดตามข่าว ก็ยังไม่เห็นว่ามีประกาศให้นำมาใช้ อย่างเป็นทางการ นะครับ ... ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ...


.................. ถือโอกาส นำมาฝากไว้ด้วยเลย เผื่อช่วยกันติดตามข่าว ...





//thainews.prd.go.th/PrintNews.php?m_newsid=255205210274&tb=N255205


ผศ.ดร. ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำ ห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้คิดค้น ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กล่าวว่า การคิดชุดตรวจนี้ใช้หลักการตรวจวิเคราะห์ด้วยเซ็นเซอร์ โดยใช้เครื่องมือที่ง่ายในการตรวจ ทำให้การตรวจทำได้ในทุกพื้นที่ที่ต้องการได้ในทันที


กระบวนการทำงานของชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ เล่าถึงการทำงานของชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่าการตรวจวิเคราะห์จะอาศัยหลักการ 3 ขั้น คือ ขั้นแรกเป็นการสกัด DNA หรือ RNA จากนั้นนำมาเพิ่มปริมาณ DNA หรือ RNA เป้าหมายเพื่อให้มีปริมาณมากพอที่จะตรวจสอบได้ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การแปลงสัญญาณให้แสดงผลในรูปแบบกายภาพ ซึ่งตรวจวัดได้ในห้องปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งการทดสอบนี้ได้ใช้ในการตรวจการปนเปื้อนในอาหารมาก่อน เช่น ตวรจสอบการปนเปื้อนของดีเอ็นเอสุกรในอาหารที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล ซึ่งถือเป็นการต่อยอดทางการทดลองนั่นเอง

การตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่เดิมที่เป็นการนำเชื้อมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ จึงถูกย่อยลงมาเป็นชุดทดสอบที่สามารถพกพาได้ ด้วยถุงขนาดพกพาที่ภายในมีอุปกรณ์สำหรับตรวจเชื้อ ประกอบด้วย น้ำยาสำเร็จรูปที่ใส่หลอดไว้ล่วงหน้า พร้อมสำหรับหยดตัวอย่างไวรัส ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 1-2 นาที จากนั้นจะนำไปบ่มปฏิกิริยาที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส ประมาณ 40 นาที-1 ชั่วโมง จากนั้นตรวจผลจากการเรืองแสง (สามารถใช้เครื่องตรวจธนบัตรปลอมที่มีราคาถูกและสะดวกในการพกพาสามารถดูด้วย ตาเปล่าได้) ทั้งนี้หากผลออกมาเรืองแสง แสดงว่าตัวอย่างติดเชื้อหวัดฯ 2009

จากขั้นตอนทั้งหมดนี้หากคิดค่าใช้จ่ายจากการตรวจ อยู่ที่ 150 บาท ซึ่งการตรวจดังกล่าวต้องใช้ร่วมกับชุดตรวจตัวอย่างด้วย Kit สำเร็จรูป 1 ตัวอย่างที่เป็นชุดตรวจมาตรฐานทั่วไป ดังนั้นหากรวมราคาทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 350 บาท ซึ่ง ถือได้ว่าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการส่งผลตรวจเข้ายังห้องปฏิบัติการที่ใช้ เวลาถึง 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิพิเศษที่มีราคาแพง รวมถึงต้องพึ่งห้องปฏิบัติการ และบุคลากรเฉพาะทางทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก และโดยหลักการทางทฤษฎียังพบว่าวิธีนี้มีความแม่นยำกว่าอีกด้วย

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันชุดตรวจดังกล่าวมีการนำไปใช้ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกำลังมีการพิจารณาว่าจะนำไปใช้อย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป




โดย: หมอหมู วันที่: 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:44:19 น.  

 



//www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRJMk1URXhPVFkxT0E9PQ==


วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13:59 น. ข่าวสดออนไลน์


อภ.ดีเดย์ฉีดวัคซีนหวัด09 อาสาสมัครกลุ่มแรกวันนี้

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ได้ทำการทดลองพ่นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้กับอาสาสมัครกลุ่มแรก 24 คนเป็นครั้งแรก โดยวัคซีนดังกล่าวผลิตโดย อภ. ซึ่งวัคซีนดังกล่าวอยู่ในรูปแบบน้ำ วิธีฉีดทำโดยใส่สลิงและพ่นเข้าโพรงจมูกของอาสาสมัคร จะกลายเป็นละอองฝอย เข้าในโพรงจมูกข้างละ 0.25 มิลลิกรัม รวม 2 ข้าง 0.5 มิลลิกรัม โดยการฉีดดังกล่าวจะไม่อนุญาติให้บันทึกภาพหรือสัมภาษณ์อาสาสมัคร เพราะถือเป็นการรักษาความปลอดภัยในการทดลอง



ต่อมาเวลา 08.30 น. คณะผู้วิจัย นำโดยนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณะบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวการทดลองวัคซีนในอาสาสมัครครั้งแรก



นพ.วิชัย กล่าวว่า อภ.ได้ร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลในการทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ให้กับอาสาสมัครคนไทยเป็นครั้งแรกให้กับอาสาสมัคร จำนวน 24 คน แบ่งเป็นชาย 15 คน หญิง 9 คน โดยการทดลองจะมีการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครทั้ง 24 คนอย่างใกล้ชิด โดยมีการตรวจดูอาการข้างเคียง ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำหมูกไหล ปวดเมื่อย และตรวจวัดอุณหภูมิตลอดเวลา เป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะกลับมาฉีดซ้ำครั้งที่ 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และทำกระบวนการเดิมอีกครั้ง คาดว่าจะทราบผลการทดลองความปลอดภัย และผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันประมาณ ม.ค.ปี 2553 โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและองค์การอนามัยโลกเป็นผู้ตัดสินว่าปลอดภัยหรือ ไม่ และจะทำการทดลองต่อในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่จำนวน 400 คนหรือไม่ รวมทั้งเลือกว่าจะใช้เชื้อที่มีความแรงระดับเท่ามใด หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553



“จากผลการทดลองความปลอดภัยของวัคซีนในหนูทดลอง พบว่า ในหนู 17 ตัวสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ 9 ตัว เมื่อทดลองกับหนู 19 ตัวพบว่ามีภูมิต้านทานขึ้น 10 ตัว ซึ่งในทางวิชาการถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีสัตว์ใดๆที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับมนุษย์ แม้ว่าจะมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากเพียงใด ก็ต้องทดลองให้มั่นใจว่าจะสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกที่เป็นผู้สนับสนุนการวิจัยดังกล่าวก็พอใจในผลการทดลอง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและศักยภาพในการกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย ”นพ.วิชัย กล่าว



ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาสาสมัครทดลองวัคซีนชุดแรก 24 คน ได้เข้ามาพักที่คณะเวชศาสตร์ฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดตามหลักเกณฑ์จริยธรรมการทดลอง ในมนุษย์ อาทิ ตรวจเม็ดเลือด ตรวจสุขภาพปอด ทั้งการเอ็กซเรย์ ตรวจความจุปอด เก็บตัวอย่างน้ำในโพรงจมูก เป็นต้น และอาสาสมัครทั้ง 24 คน จะต้องพักค้างคืนที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนนาน 1 สัปดาห์หลังจากที่รับวัคซีนครั้งแรก ซึ่งในระหว่างนี้จะมีทีมแพทย์ ตรวจสอบร่างกายเป็นระยะๆ ทุกวัน เพื่อดูว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัครเอง และตรวจสอบวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ เมื่อครบ 1 สัปดาห์แล้วอาสาสมัครจึงจะกลับบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ



ศ.พญ.พรรณี กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่นั้น แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำในโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่สัมผัสวัคซีนโดยตรง และเจาะเลือด เพื่อดูว่าเม็ดเลือดขาวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ รวมการทดลองวัคซีนในอาสาสมัครกลุ่มแรก ใช้เวลานาน 28 วัน จากนั้นทีมผู้วิจัย จะสรุปข้อมูล เพื่อรายงานให้คณะกรรมการความปลอดภัย และทีมผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ลงความเห็นว่าผลการทดลองวัคซีนมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ ก็จะพิจารณาให้ทีมผู้วิจัยเริ่มการทดลองในมนุษย์ เป็นครั้งที่ 2 ทดลองกับอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ 400 คน



โดย: หมอหมู วันที่: 18 ธันวาคม 2552 เวลา:16:16:16 น.  

 

มีผู้ตั้งกระทู้เกี่ยวกับ การฉีดวัคซีน .. มีข้อมูลที่น่าสนใจ เลยนำมาฝากกัน

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8699895/L8699895.html

ข้อมูลขณะนี้ อ้างอิงจาก New England Journal of Medicine หนึ่งในวารสารการแพทย์ที่มี Impact factor สูงมากๆ

# Greenberg, Michael E et al. Response to a monovalent 2009 influenza A (H1N1) vaccine. N Engl J Med. 2009 Dec 17;361(25):2405-13

ตัวแรก เป็น Vaccine ของ CSL Biotherapies, Australia ทดลองใน 240 คน
- ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหรือเสียชีวิต
- พบผลข้างเคียงเฉพาะที่ 56.3% ส่วนใหญเป็นอาการปวดและกดเจ็บ
- พบผลข้างเคียงที่ไม่ใช่เฉพาะที่ 53.8% ส่วนใหญ่เป็น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตัว
- ผลข้างเคียง 86.3% ของทั้งหมดเป็นแบบเล็กน้อยเท่านั้น
- มีสามคนที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ 1 คนเป็น H1N1 2 คนไม่ใช่
- สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 95%ครับ

Ref: //content.nejm.org/cgi/content/full/361/25/2405


#F.-C. Zhu et al A Novel Influenza A (H1N1) Vaccine in Various Age Groups N Engl J Med. 2009 Dec 17;361(25):2414-23

ตัวที่สอง เป็นของ Hualan Biological Bacterin Company ทดลองใน 2200 คน
- ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหรือเสียชีวิต
- พบผลข้างเคียงเฉพาะที่ 5.5% ไม่ได้ระบุ
- พบผลข้างเคียงที่ไม่ใช่เฉพาะที่ 15.9% ไม่ได้ระบุ
- สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 97.1% ในคนอายุ 12-60 และประมาณ 70% ในคนที่อายุน้อยและมากกว่านี้

Ref: //content.nejm.org/cgi/content/full/361/25/2414

# Tristan W. Clark et al, Trial of 2009 Influenza A (H1N1) Monovalent MF59-Adjuvanted Vaccine N Engl J Med. 2009 Dec 17;361(25):2424-35

ตัวที่สาม เป็น Vaccine ของ Novartis ทดลองใน 176 คน
- ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหรือเสียชีวิต
- มีผลข้างเคียงทั้งหมด 80% ซึ่งไม่รุนแรงครับส่วนใหญ่เป็น อาการปวด 61% และ ปวดกล้ามเนื้อ 40%
- มีสามคนที่มีอาการไข้ หายเองและไม่รุนแรง
- สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 92-100%ครับ

Ref: //content.nejm.org/cgi/content/full/361/25/2424

จากคุณ : oncodog

เขียนเมื่อ : 26 ธ.ค. 52 18:10:39



โดย: หมอหมู วันที่: 26 ธันวาคม 2552 เวลา:19:22:10 น.  

 
นำมาจากเวบ ไทยคลินิก ...

//scm.gpo.or.th/vmi/document/Flu-NHSO/H1N1/L-
Panenza_complete.pdf

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับยาอื่น PANENZA อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ แม้จะไม่ได้เกิดในผู้ป่วยทุกราย

อาจเกิดอาการแพ้ (allergic reaction) ภายหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งน้อยรายนำไปสู่อาการช็อก แพทย์ควรคำนึงถึงโอกาสในการเกิดอาการแพ้และมีการเตรียมพร้อมการรักษาแบบฉุกเฉินในกรณีเหล่านี้

จากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ :


พบบ่อยมาก

- ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดบริเวณที่ฉีด


พบบ่อย

- รู้สึกไม่ค่อยสบาย, สั่น, มีไข้
- บริเวณที่ฉีด : แดง, บวม

อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้มักหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา ภายใน 1 – 3 วันหลังการเกิดอาการ



อาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้เคยเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดเป็นประจำทุกปี ภายในระยะเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับวัคซีน PANENZA


พบน้อยมาก :

- ปฏิกิริยาทางผิวหนังที่อาจกระจายไปทั่วร่างกาย รวมทั้งอาการคันที่ผิวหนัง (คัน, ลมพิษ) และผื่น

- อาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง

• ปวดบริเวณเส้นประสาท (neuralgia),
• ความรู้สึกที่แตกต่างในการรับรู้การสัมผัส, ปวด, ร้อน และหนาว (paraesthesia),
• การชักที่เกี่ยวข้องกับการมีไข้
• ความผิดปกติทางระบบประสาทที่อาจมีผลให้คอแข็ง, สับสน (confusion), ชา (numbness), ปวด และแขนขาอ่อนแรง, เสียสมดุลย์, สูญเสียการตอบสนองของร่างกาย, อัมพาตบางส่วนหรือทั่วร่างกาย (encephalomyelitis, neuritis, Guillain-Barre Syndrome)

- ปริมาณเกล็ดเลือดลดลงชั่วคราว ซึ่งอาจมีผลทำให้เลือดออกง่าย หรือช้ำ (transient thrombocytopenia), การบวมของต่อมในคอ, รักแร้ หรือขาหนีบ(transient lymphadenopathy) แบบชั่วคราว

- อาการแพ้ (Allergic reaction)

• พบน้อยรายที่นำไปสู่อาการช็อก (ความล้มเหลวของระบบหมุนเวียนของโลหิตในการรักษาการไหลเวียนของโลหิตให้มีปร ิมาณเพียงพอต่ออวัยวะส่วนต่างๆที่นำไปสู่ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์)
• รวมทั้งอาการบวม ซึ่งปรากฏชัดที่ศีรษะและคอ, รวมทั้งหน้า, ริมฝีปาก, ลิ้น, คอ หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย (angioedema) ซึ่งพบน้อยรายมาก

- การอักเสบของหลอดเลือด (vasculitis) ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง และมีน้อยรายที่มีความผิดปกติที่ไตชั่วคราว

ส่งโดย: ๏ SaGaCious MidFielDer





โดย: หมอหมู วันที่: 21 มกราคม 2553 เวลา:19:34:48 น.  

 
//thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255301260071&tb=N255301

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับวัคซีนป้องกัน

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ถึง 2 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 29,921 ราย เสียชีวิต 192 ราย และล่าสุดพบผู้เสียชีวิตเป็นรายแรกของปี ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเพศหญิงวัย 30 ปี ทำให้เป็นที่ยืนยันว่าสถานการณ์การระบาดของโรคได้เวียนกลับมาอีกระลอก

สถานการณ์การกลับมาระบาดอีกระรอก ทำให้สาธารณะสุขออกโรงเตือนถึงการป้องกันโรคด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ร่วมด้วยการออกกำลังกาย และที่สำคัญคือการรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง

แต่ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนในปี 2552 ที่เป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล พบว่ามี กลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีนน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก จากเดิมที่ตั้งไว้วันละ 10,000 คน แต่มีผู้มารับวัคซีนเพียงวันละ 1,500 คนเท่านั้น

และที่สำคัญคือ ที่ผ่านมามีข่าวการเสียชีวิตจากผู้เข้ารับวัคซีน ทำให้ประชาชนมีความกังวลต่อการฉีดวัคซีนดังกล่าว และจากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการเข้ารับวัคซีน รวมถึงความจำเป็นของกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีน

ในปี 2553 นี้ สาธารณสุขได้นำ วัคซีนตัวใหม่ คือ วัคซีนเชื้อตายที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในคลังขององค์การเภสัชกรรม แล้ว 1 ล้านโดส พร้อมจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม เป็นต้นไป แต่ต้องโดยความสมัครใจ

หากกล่าวถึงวัคซีนตัวใหม่นี้ วัคซีนจากเชื้อตาย ถือได้ว่ามีความปลอดภัย 100% เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยใดๆ สามารถให้ได้เกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ สามารถใช้ได้ ทว่าวัคซีนเชื้อตายอาจสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีเท่าวัคซีนเชื้อเป็น และอาจมีราคาสูงกว่าเนื่องจากในการผลิตจำเป็นต้องใช้ไข่เพาะเชื้อมากกว่า หากแต่วัคซีนเชื้อเป็น กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิตและทดลองในปัจจุบัน




ใครที่ต้องได้รับวัคซีน????

สำหรับวัคซีนกลุ่มที่ควรได้รับอันดับแรก คือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด ใหญ่ และบุคคลผู้ดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข ซึ่งอาจแยกได้ ดังนี้

1) บุคคลทุกกลุ่มอายุที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด ผู้ที่มีระบบหายใจไม่ปกติหรือเสี่ยงต่อการสำลัก ผู้ที่มีโรคลมชัก ผู้ที่ไขสันหลังได้รับอันตราย ผู้ป่วยความจำเลอะเลือน ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจที่ไม่ใช่โรคความดันโลหิตสูง

2) บุคคลทุกกลุ่มอายุ ที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำในช่วงปีที่ ผ่านมา จากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด ผู้มีภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือบกพร่อง ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบอิมมูน

3) บุคคลทุกกลุ่มอายุที่เข้ารับการดูแลบริบาลอยู่ในสถานพักฟื้น และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรังต่างๆ

4) บุคคลอายุ 6 เดือนถึง 18 ปี ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพริน เป็นประจำเป็นเวลานาน และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกลุ่มอาการไรย์ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

5) บุคคลที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

6) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 23 เดือน

นอกจากนี้ กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บุคคลที่ทำหน้าที่สาธารณะ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ




ใครเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน???

ขณะเดียวกันยังมีความกังวลของประชาชนว่าวัคซีนดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลข้าง เคียง เนื่องจากมีข่าวผู้ได้รับอันตรายจากวัคซีนปรากฏประปราย รวมทั้งข่าวบริษัทยาเรียกเก็บวัคซีนคืน เพราะว่าคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ ไม่สูงเท่าที่ควร

แต่ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ก็ยังคงยืนยันว่า ข้อมูลจาก 16 ประเทศที่ให้วัคซีนแก่ประชาชนแล้วประมาณ 65 ล้านคนนั้น จากการติดตามผลพบว่ามีความปลอดภัยเทียบเท่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ ใช้มานานกว่า 60 ปี

สำหรับวัคซีนป้องกันไข้ หวัดใหญ่ 2009 นี้ มีข้อห้ามให้บริการกับผู้ที่แพ้อาหารที่ทำจากไข่ทุกชนิด หรือเคยแพ้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ผู้กำลังมีไข้ หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีการใช้ส่วนประกอบของไข่ขาวและโปรตีนในการผลิต หากผู้ที่มีอาการแพ้และได้รับวัคซีนจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

อาการแพ้วัคซีน โดยผู้ฉีดอาจจะมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง ที่พบได้บ่อยมากกว่าร้อยละ 1 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 คือ อาการปวดศีรษะ เหงื่อออก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไข้ เมื่อยล้า สั่น ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายเองใน 1-3 วันหลังเกิดอาการ

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ที่มีรายงานพบได้น้อยกว่า 1 ในแสน คือ อาการแพ้รุนแรงบวมตามร่างกาย การอักเสบของหลอดเลือด ชักจากไข้สูง ปริมาณเกล็ดเลือดลดลง อาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ปากเบี๊ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งต้องพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการอย่างเร่งด่วน




สามารถรับวัคซีนได้ที่ใด???

สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติในโรงพยาบาลต่างๆ ทางโรงพยาบาลจะทยอยติดต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อนัดวันเวลาใน การเข้ารับวัคซีน

แต่หากผู้ที่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนแต่ยังไม่ได้ รับการติดต่อ สามารถติดต่อไปได้ทางโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อรับข้อมูลและรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่ วันที่ 11 มกราคม - 31 มีนาคม 2553



พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง

ศิริวรรณ ดำปรีดา บรรณาธิการ


โดย: หมอหมู วันที่: 27 มกราคม 2553 เวลา:19:04:11 น.  

 
ขอบคุณบทความดีๆ อย่าลืมใส่ ผ้าปิดจมูก กันนะคะ


โดย: Aussie angel วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:14:50:25 น.  

 
//www.cueid.org/content/view/3460/1/

ไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคร้ายที่ไม่มีใครกลัว?

พฤหัสบดี, 25 มีนาคม 2010

ในปีที่ผ่านมา ข่าวคราวด้านสุขภาพที่ถือเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของไข้หวัด 2009 ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาแพร่ระบาดในไทย จนทำให้คนไทยหวั่นผวาไปตามๆ กัน แต่พอล่วงเลยเข้าสู่ปี 2010 ก็ดูเหมือนว่าข่าวคราวเรื่องหวัดสายพันธุ์ใหม่ จะลดดีกรีความน่ากลัวลงไป ไม่ร้อนแรงเหมือนเมื่อก่อน ทั้งๆ ที่มันก็ยังระบาดอยู่เหมือนเดิม ทว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีเหตุที่ทำให้เรื่องราวของหวัด 2009 นั้น ก็กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง

เพราะในการชุมนุนมของกลุ่มเสื้อแดงนั้นมีนักข่าวคนหนึ่งซึ่งฝังตัวอยู่เกิด ป่วยเป็นหวัด 2009 ขึ้นมา ซึ่งนพ.เหวง โตจิราการ ก็รีบออกมาโต้ตอบกับเหตุการณ์นี้อย่างทันควันว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่านักข่าวคนนี้ติดหวัด 2009 มาจากม็อบ

แต่แม้ว่านักข่าวคนนั้นจะติดหวัดจากที่ไหนมาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นักข่าวคนนั้นเป็นหวัด 2009 จริง และในขณะที่เป็นก็อยู่ในม็อบจริง ดังนั้นเรื่องของการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ชุมนุมรายอื่นๆ และคนในชุมชนนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้

และอีกไม่กี่วันถัดมา ชายวัย 40 ปีคนหนึ่งจากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอาสาสมัครของกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในม็อบ ก็ล้มหมอนนอนเสื่อไปอีกราย ด้วยไข้หวัด 2009 เช่นกัน จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการ แพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ในการชุมนุม

ซึ่งเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยในม็อบทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นเสมือนตัวจุดประกายให้สังคมหันมามองเรื่องราวการระบาดของหวัด 2009 อีกครั้งหนึ่งว่ามันยังมีอยู่จริง

แต่ถึงกระนั้น คนในสังคมก็อาจจะโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะในทุกๆ วันนี้เรามีวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 กันแล้ว

แต่ปัญหาก็คือเจ้าวัคซีนที่ว่านี้ มันไม่มีใครยอมไปฉีดกันนี่สิ!!!


หวัด 2009 ในปี 2010

ที่ผ่านมา ไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้มีการระบาดอยู่ในประเทศไทยในอัตราที่สม่ำเสมอ แต่ชาวบ้านตาดำๆ ทั่วไป กลับเริ่มเคยชินกับข่าวที่ถูกนำเสนออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนทำให้ความรู้สึกของคนในสังคมเดินทางมาถึงจุดที่เกือบจะไม่ยี่หระกับการ แพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ 2009 อีกต่อไป

แต่การที่ไม่สนใจ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้มีอยู่...

นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทยว่า แบ่งออกเป็น 2 ระลอก คือ ระลอกที่ 1 ช่วงเดือนมิถุนายน 2552-ธันวาคม 2552 และระลอกที่ 2 เดือนมกราคม 2553-กุมภาพันธ์ 2553

โดยช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552- มีนาคม 2553 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อที่ยืนยันแล้วว่าเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 35,975 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 219 ราย (อ้างอิงจากที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้)

แม้นพ. คำนวณ จะบอกว่า ช่วงเดือนมีนาคมนี้ ถือเป็นช่วงขาลงของการแพร่ระบาดแล้ว แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ถือเป็นโมงยามแห่งความสุขสนุกสนานของคนไทยทั้ง ประเทศนั้น ‘เชื้อโรค’ ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะพร้อมใจกันออกมาพาเหรดเพื่อแพร่เชื้อโรคร้ายกันอีกรอบ

“กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ช่วงสงกรานต์ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะกลับบ้านต่างจังหวัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่คนในหมู่บ้านได้”

ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข น่าจะมีผู้ป่วยมากถึง 10-15 ล้านคนเลยทีเดียว

ปัญหาและอุปสรรคอันใหญ่หลวงในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของกรมควบคุมโรค คือ ผู้ป่วยนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ให้แยกตัวจากผู้อื่นประมาณ 3-4 วัน อีกทั้งกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งหญิงตั้งครรภ์และคนอ้วน เมื่อรู้ตัวว่าอาจได้รับเชื้อฯ มักไปรับการรักษาช้าเกินแกง และถึงแม้จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 คนก็ไม่ยอมไปฉีดเพราะหวั่นเกรงผลข้างเคียง

และจากการสำรวจในหัวข้อ ‘แบบสำรวจช่วยบอกสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009’ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักระบาดวิทยาและสวนดุสิตโพล ที่เพิ่งจัดแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลที่ยืนยันถึงเรื่องที่ นพ. คำนวณ กล่าวไว้ เพราะมีคนถึงเกือบร้อยละ 70 ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล อีกทั้งวัคซีนป้องกันหวัด 2009 ที่สั่งซื้อมาจำนวน 2 ล้านโดสนั้น ทุกวันนี้ มีการใช้ออกไปเพียงแค่ 5 แสนโดสเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง

แล้วอะไรกันหนอที่ทำให้คนในบ้านเราหันหลังให้กับวัคซีน? เพราะคนไทยคิดว่าหวัด 2009 เป็นโรคที่ไม่อันตราย? หรืออาจจะเป็นเพราะความกลัวอันตรายที่เกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน ที่มีข่าวแพลมออกมาให้เห็นกันอยูเนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวของหญิงมีครรภ์ในจังหวัดสตูล ที่แท้งหลังจากได้รับวัคซีนหวัด 2009 หรือข่าวของเด็กที่คลอดออกมาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากแม่ที่ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดมาก่อนหน้านี้


ทำอย่างไร? เมื่อใครๆ ก็ไม่ฉีดวัคซีน

“ผมยืนยันว่าเราไม่นำชีวิตคนมาเป็นตัวประกันแน่นอน วัคซีนที่เรานำเข้ามา 2 ล้านโดส มีความปลอดภัยมาก เป็นวัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ในฝรั่งเศส อเมริกา และหลายประเทศในยุโรป”

แม้คนในสังคมจะมีความกังขา ไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัด 2009 แต่นายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็เน้นย้ำหนักแน่นถึงความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว ก่อนเผยถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน นั่นคือ

“ประการแรกเลยนะครับ ผมมองว่า เกิดจากความเชื่อของประชาชนที่มีต่อไข้หวัด 2009 นั้นเปลี่ยนไป จากเดิมที ไม่ว่าในไทย หรือต่างประเทศ รวมถึงมาตรการขององค์การอนามัยโลกเอง ต่างมองว่า สถานการณ์ของไข้หวัดชนิดนี้มีความรุนแรงสูงมาก หากเป็นกัน 10 คน จะมีคนตาย 5 – 7 คน แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดขึ้น และเริ่มยับยั้งการระบาดได้แล้ว ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ลดน้อยลง ทำให้เกิดความคิดว่า หวัด 2009 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”

ส่วนอีกประเด็นก็คือ ความไม่มั่นใจต่อวัคซีน ที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ได้รับผลข้างเคียง โดยเฉพาะในกรณีของหญิงมีครรภ์ ซึ่ง นพ. นพพร อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

“ข่าวครึกโครมเกี่ยวกับผู้แพ้วัคซีน ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ แต่ผมยืนยันนะครับ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด อย่างกรณีของหญิงตั้งครรภ์ที่ จ. สตูล ผมก็ลงพื้นที่ ไปถามข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่า ผู้รับวัคซีน ที่มีปัญหาแท้ง หรือเด็กในครรภ์ผิดปกตินั้น ไม่ได้เกิดจากการรับวัคซีน เช่น รายหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาล หลังจากได้รับวัคซีนไป 3-5 วัน ก็ยังปกติดีอยู่ แต่เขาหกล้ม หัวฟาดพื้น มีเลือดออกในสมอง จึงต้องเข้ารับการผ่าตัด”

ด้วยเหตุนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์ ส่วนเรื่องของผลข้างเคียง เช่น การปวดเมื่อยตามร่างกายนั้น รองอธิบดีกรมฯ อธิบายว่า เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้

แต่เมื่อความไม่เชื่อมั่นได้ก่อตัวขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรกับวัคซีน 2 ล้านโดสที่นำเข้ามากันเล่า?

“ฉีดไม่หมดก็ไม่เป็นไรครับ เราก็กำลังคิดเอาไว้ว่า จะใช้วิธี 'ป่าล้อมเมือง' คือ รณรงค์ให้คนรอบตัวของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มาเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น ถ้าเป็นหญิงมีครรภ์ เราก็จะฉีดให้กับ สามี หรือลูกๆ เมื่อคนรอบตัวปลอดภัยจากเชื้อหวัด หญิงมีครรภ์ก็จะปลอดภัยไปด้วย”

ซึ่งการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนั้น ก็ไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

“ไม่มีอันตรายแน่นอน เพราะวัคซีนที่เรานำเข้ามา คือวัคซีนแบบเชื้อตาย ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งวัคซีนเชื้อตายนั้น มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดกับคนทั่วไป”

ณ ปัจจุบัน นพ. นพพร บอกว่า มีคนปรกติทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขอแสดงความจำนงรับวัคซีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่รับวัคซีน การฉีดวัคซีนให้คนปกติ ก็เป็นหนทางหนึ่งในการยับยั้งการระบาดของเชื้อหวัดมรณะนี้ได้
แต่ถ้าหากประชาชน มีความเชื่อมั่น และยินยอมเข้ารับการฉีดวัคซีน นพ.นพพร ก็หวังอยากให้วัคซีนได้ทำหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ที่อาจจะมาเยือนในช่วงหน้าฝน หรือเดือน กรกฎาคมนี้

อยากฉีดก็ไม่ได้ฉีด

ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรคจะกล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นมีการรณรงค์ในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถามไปยังคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หลายคนก็ตอบว่าเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปฉีดวัคซีนที่ว่านี้ที่ไหนกันแน่

“จริงๆ ผมก็เคยได้ข่าวเรื่องหวัด 2009 มาพอสมควร เพราะมันเป็นเรื่องที่คนทั่วไปตื่นตกใจมากในช่วงแรก ต่อมาก็ได้ข่าวเรื่องวัคซีนเหมือนกัน แต่ก็ไม่แน่ชัด รู้เพียงเลาๆ ว่าคนที่จะฉีดได้ก็จะเป็น คนท้อง คนแก่ คนที่มีน้ำหนักมาก ตัวเราเองก็มีน้ำหนักมากอยู่แล้วด้วย ก็สนใจนะ แต่ไม่หารายละเอียดเพิ่มเติม”

สิริวิทย์ สุขกันต์ อาจารย์หนุ่มร่างใหญ่ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง บอกกับเราว่าได้รับข่าวคราวเรื่องของวัคซีนมาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไปฉีด เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปติดต่อใครที่ไหนอย่างไร แต่แล้ว เขาก็โดนแจ๊กพอตเข้าจนได้

“วันหนึ่งเราก็เกิดป่วยขึ้นมา พอเราเป็นไข้ ก็ไปตรวจที่โรงพยาบาล กลัวจะเป็นไข้หวัด 2009 เพราะมีอาการครบเลย ทั้งไข้สูง ท้องเสีย แต่ยังไม่มีอาการอาเจียน หลังจากที่เขาเอาเสมหะไปตรวจทางพยาธิวิทยา ก็ปรากฏว่าเราเป็นจริงๆ อาจจะเป็นเพราะเราเดินทางไปสอน เราต้องนั่งรถเมล์ไปไกล กลับมาที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นก็น่าจะมีวัคซีนเข้ามาแล้วนะ แต่เรื่องของการฉีดเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าต้องไปที่ไหน”

แต่สุดท้ายแล้ว สิริวิทย์ ก็รอดพ้นจากเงื้อมมือของโรคร้ายมาได้เพราะเขาได้เข้าไปสู่กระบวนการรักษาได้ ทันท่วงที

“มาถึงทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้คิดจะฉีดวัคซีนแล้วนะ เพราะเขาว่ากันว่า คนที่เป็นมาแล้วจะไม่เป็นอีกเพราะมีภูมิคุ้มกัน แต่สำหรับคนที่อยากฉีด ผมก็ยังเชื่อว่า พวกเขาน่าจะขาดข้อมูลที่ชัดเจน อาจจะรู้เหมือนผมเมื่อก่อนว่าใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายแล้วจะต้องไปที่ไหนหรือติดต่อใครก็ไม่รู้เลย อีกอย่าง ยิ่งมีข่าวว่ามีคนไปฉีดแล้วเป็นอันตรายก็ยิ่งกลัวกันไปใหญ่”

ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ ก็เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่กรมควบคุมโรคจะต้องแก้ให้ตก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และการทำความเข้าใจถึงผลกระทบข้างเคียงจากวัคซีน ที่ไม่ได้มีอันตรายมากมายอย่างที่เข้าใจกัน



ที่มา ASTVผู้จัดการรายวัน 24 มีนาคม 2553



โดย: หมอหมู วันที่: 30 มีนาคม 2553 เวลา:15:21:17 น.  

 

จริงหรือ? "ไข้หวัด" เหมือน "หัด" ใครเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก ???


บางคนเข้าใจว่า ใครที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ป่วยแล้วหาย จะเป็นเพียงครั้งเดียวและจะไม่กลับไปเป็นอีก แต่หลายคนก็อดสงสัยว่า ใช่แน่หรือ เพราะนี่คือโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่หัดหรืออีสุกอีใส อันเป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าหากใครเป็นโรคนี้แล้วก็จะไม่กลับไปเป็นอีก

จึงได้สอบถาม ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) โดย นพ.ประเสริฐได้เปิดเผยว่า คนที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วหาย จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้และจะไม่ป่วยด้วยเชื้อไวรัสตัวเดิมอีก

"ผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปีนี้แล้วหาย จะไม่เป็นอีก เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อตัวนี้แล้ว เพราะฉะนั้นคนนั้นจะไม่ป่วยอีก หากได้รับเชื้อไวรัสที่มีหน้าตาเหมือนเดิม

แต่หากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้เกิดการกลายพันธุ์ และทำให้ภูมิคุ้มกันจดจำไม่ได้ ก็มีสิทธิ์จะติดเชื้อและป่วยได้อีกเหมือนกัน" ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบาย

เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่หากใครเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ทำให้ป่วย แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีหลายสายพันธุ์ และมีการปรับเปลี่ยนกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ในแต่ละปี จึงทำให้คนเรามีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อีก หากได้รับเชื้อที่ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งแตกต่างกับโรคหัด และโรคอีสุกอีใส ที่เป็นครั้งเดียวและจะไม่เป็นอีก

ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบายเรื่องนี้ว่า เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหัดและโรคอีสุกอีใส ยังคงเป็นเชื้อตัวเดิมที่ไม่มีการกลายพันธุ์ ดังนั้นหากใครที่เคยเป็นโรคหัดหรือโรคอีสุกอีใสแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ทำให้เป็นเพียงครั้งเดียวและไม่กลับไปเป็นซ้ำอีก

นายกสมาคมไวรัส วิทยากล่าวอีกว่า การที่ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จะช่วยให้การระบาดสงบลงได้ เพราะเชื้อไม่สามารถแพร่กระจายไปได้มากอีกแล้ว ซึ่งมีการประมาณกันไว้ว่าหากประชาชนมีภูมิคุ้มกันราว 30-50% จะช่วยให้การระบาดของโลกดังกล่าวค่อยๆ ลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประเสริฐ ระบุว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในขณะนี้ อาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ยังไม่ถือว่ารุนแรงมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตไม่แตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ฉะนั้นผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงและมีความเสี่ยงต่อโรคนี้อย่างมาก ควรเฝ้าระวังไม่ให้ได้รับเชื้อ แต่สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อแล้วก็จะหายป่วยได้เอง จึงไม่ต้องกังวลมาก

พร้อมทั้ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาและกลายพันธุ์ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ควรใช้เฉพาะในรายที่จำเป็นเท่านั้น และต่อไปเมื่อประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็จะไม่ต่างไปจากโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล.

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ

ที่มา //www.healthcorners.com/2007/news/Read.php?id=10835



โดย: หมอหมู วันที่: 21 กันยายน 2553 เวลา:12:46:21 น.  

 
ไข้เลือดออก ... ( นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=116

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม ยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย?
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2008&group=4&gblog=38

ไวรัสโคโรนา2012 (MERS , เมอร์ส) นำมาฝาก (ไม่ได้เขียนเอง ^_^)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=19-06-2015&group=4&gblog=110

ไวรัส ซิกา โรคไข้ซิกา (Zika Fever) นำมาฝาก (ไม่ได้เขียนเอง ^_^)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-01-2016&group=4&gblog=118

ไวรัส อีโบล่า EBOLA ... ระบบเฝ้าระวัง ของบ้านเรา ห่วยจริงหรือ ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2014&group=4&gblog=105

จากไข้หวัดใหญ่ MEXICO ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 .... บทเรียนสาธารณสุขไทย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-05-2009&group=4&gblog=76

ข้อมูลสำคัญ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ สถานการณ์ล่าสุด ... แถม เวบน่าสนใจ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2009&group=4&gblog=79

ชิคุนกุนยา ... ที่กำลังระบาด ในภาคไต้ ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2009&group=4&gblog=75

ตาแดง
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-09-2014&group=4&gblog=103




โดย: หมอหมู วันที่: 29 มกราคม 2559 เวลา:21:45:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]