Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคลมแดด ' ฮีตสโตรค ' ... โดย นพ.ศักดา อาจองค์ รพ.รามา ..ลงใน นสพ.เดลินิวส์





โรคลมแดด 'ฮีตสโตรค'


วัน เสาร์ ที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 0:00 น

//www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=493&contentID=59074


อันตรายจากอากาศร้อน

อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดโรคมากมาย โรคที่พานพบแต่ละโรคนั้น ก็จะยิ่งร้ายกาจ ทวีความรุนแรงตามอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น

“ฮีตสโตรค” เป็นอีกโรคหนึ่งที่เชื่อว่า หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง

คำว่า “ฮีต” แปลได้ว่า ความร้อน ส่วน “สโตรค” แปลว่า โรคเกี่ยวกับการเป็นลม การเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อรวมกันแล้ว จึงอาจอนุมานความหมายได้ว่า “โรคลมแดด”

ฮีตสโตรค ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โรคลมเหตุร้อน โรคอุณหพาติ อันเป็นโรคที่ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อน มากเกินไป (เกินกว่า 41 องศาเซลเซียส) จนไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้

เมื่อเกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย โดยปกติแล้วจะระบายออกได้หลายทาง ทั้งทาง เหงื่อ ทางลมหายใจ เป็นต้น เมื่อร่างกายร้อนขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดภาวะการสูญเสียน้ำ อันเกิดจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสได้สั่งการให้เกิดความรู้สึกหิวกระหายน้ำ เพื่อเป็นกลไกในการปรับตัวสู้กับความร้อนของร่างกายที่สูงขึ้น

แต่สำหรับผู้ที่มีอาการโรคฮีตสโตรค ขณะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมา สมองจะไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายขาดน้ำ เพราะความเข้มข้นของเลือดยังไม่เปลี่ยนแปลง และหากร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ต่อมเหงื่อจะหยุดทำงานทันที ทำให้ความร้อนในร่างกายไม่ได้ระบายออก อุณหภูมิในร่างกายจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เป็นแล้วหายได้เอง เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เป็นสาเหตุให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง ตับ ล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิตได้

อุบัติการณ์ของโรคลมแดด ในไทย อาจไม่มีการรายงานที่ชัดเจน แต่ก็มีให้ตกใจเป็นครั้งคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น พบการเสียชีวิตของเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในรถ หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เด็กมักเสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจ แท้จริงแล้วเด็กอาจเสียชีวิตจากอุณหภูมิ ความร้อนสูงเกินไป ดังนั้น พ่อแม่ ที่ปล่อยลูกไว้ในรถ อาจเปิดเครื่อง ยนต์เปิดแอร์ไว้ แต่เครื่องเกิดดับขึ้นมาชั่วเวลาเพียง ไม่นาน อุณหภูมิภายในรถจะสูงขึ้น หากอุณหภูมิภายนอกสูงเช่นในเวลากลางวัน ความร้อน จะยิ่งทวีคูณอย่างรวดเร็ว หนทางที่ดีที่สุดคือ พาลูกออกไปด้วย ไม่ปล่อยทิ้งไว้ในรถ

ส่วนประเทศในแถบตะวันตกนั้น พบการรายงานการเสียชีวิต จากโรคนี้ราว 25-334 รายต่อปี ทั้งที่สภาวะอากาศร้อนน้อยกว่าประเทศ เราค่อนข้างมาก แม้กระทั่งในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็พบว่ามีการเสียชีวิตได้บ่อยครั้ง ทั้งที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

จากข้อมูลยังรายงานต่อไปอีกว่า หากวินิจฉัยช้าและให้การรักษาไม่รวดเร็วพอ จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 80 และสามารถลดลงได้ถึงร้อยละ 10 จากการช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันท่วงที ในเรื่องปัจจัยอื่น ๆ เช่น เชื้อชาติ เพศ ไม่ค่อยพบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้พบอุบัติการณ์มากนัก แต่มักมีผลทางอ้อมมาจากกิจกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มากกว่า

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือฮีตสโตรค มักเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ที่มีระบบการระบายความร้อนในร่างกาย ต่างจากคนวัยอื่น ๆ

2. กลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติกับระดับเกลือแร่ได้ง่าย

3. กลุ่มนักกีฬา ที่ออกกำลังกายหักโหม

4. กลุ่มทหารเกณฑ์ฝึกใหม่ ที่ต้องฝึกหนักกลางแดด และการถ่ายเทของอากาศไม่ดี

5. กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ที่นั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน ร่างกายไม่ฟิตพร้อมและต้องออกมาปะทะอากาศร้อนกะทันหัน ทำให้ร่างกายปรับตัวกับความร้อนได้ไม่ทัน

จะสังเกตได้ว่า เมื่อร่างกายร้อนขึ้น หากเข้าไปหลบร้อนด้วยการตากแอร์เย็น ๆ เป็นเวลานาน เมื่อต้องออกมาปะทะกับอากาศร้อนแล้ว ก็มักจะทำให้ไม่สบายได้บ่อยครั้ง



คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด

- ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยแนะนำว่าควรออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายปรับความเคยชินกับอากาศร้อน ที่สำคัญควรออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศถ่ายเท

- ในสภาวะอากาศที่ร้อนมาก ควรดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หรือราว 6-8 แก้ว ให้หลีกเลี่ยงอากาศร้อนชื้น สถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก พยายามจัดให้ที่อยู่หรือสภาพแวดล้อมระบายอากาศได้ดี และควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรืออยู่ในระหว่างการออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร หรือราว 4-6 แก้วต่อชั่วโมง ถึงแม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม

- สวมใส่เสื้อสีอ่อน ไม่หนา เนื้อผ้าบางเบา ระบายความร้อนได้ดี

- ควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ โดยจัดให้อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และไม่ปล่อยให้อยู่ในรถที่ปิดตามลำพัง

- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ ทาแป้ง เปิดแอร์ เปิดพัดลม งดอาหารประเภทที่มีแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดที่มีผลต่อการเพิ่มความร้อนในร่างกาย เช่น ยาแอมเฟตามีน ยารักษาโรคบางชนิดที่ทานเป็นประจำแต่มีผลรบกวนต่อ การระบายความร้อน หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ



ในฐานะที่เป็นหมอทางฉุกเฉินด้วยแล้ว ก็อยากฝากคำแนะนำในเรื่องการเข้าช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลผู้ที่เป็นโรคฮีตสโตรค กันด้วย โดยเมื่อพบเห็นผู้ที่กำลังจะเป็นลม ให้นำตัวผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง ถอดเสื้อผ้าออก เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพอรู้สึกตัวและสามารถหายใจได้เอง อาจจัดให้นอนในท่าตะแคง เพื่อให้หายใจได้สะดวกได้เช่นเดียวกัน

หลังจากนั้น หาผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิง กราน และศีรษะ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย พร้อมกับเปิดพัดลมระบายความร้อนถ้ามี พยายามเช็ดตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ เปลี่ยนน้ำที่ใช้เช็ดตัวบ่อยครั้ง เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง หลังจากนั้น ให้รีบส่งตัวไปโรงพยาบาล

ข้อห้ามสำหรับการปฐมพยาบาลคือ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำเย็นราดตัวผู้ป่วย เพราจะทำให้เกิดการสั่นเทาของกล้ามเนื้อ ทำให้ความร้อนในร่างกายไม่ลดลง

เหล่านี้คือที่มาและแนวทางในการป้องกัน รวมไปถึงหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ต้องเตรียมรับมือกันไว้ล่วงหน้า หากเกิดอาการ...ฮีตสโตรค ขึ้น


นพ.ศักดา อาจองค์

ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล






Create Date : 16 พฤษภาคม 2553
Last Update : 16 พฤษภาคม 2553 14:04:01 น. 0 comments
Counter : 2372 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]