bloggang.com mainmenu search



เรียบเรียงโดย เภสัชกร รุจน์ สุทธิศรี


เอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งร่างกายเราสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากรังไข่ รก หรือต่อมอะดรีนาล estradiol ซึ่งเป็นหนึ่งในเอสโตรเจนหลักๆ 3 ชนิดที่พบในร่างกายมนุษย์ เป็นชนิดที่พบมากและมีฤทธิ์ดีที่สุด ในคน

ฮอร์โมนกลุ่มนี้มีผลโดยตรงต่อการแสดงลักษณะของเพศหญิง นับตั้งแต่การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือน ตกไข่ ตั้งท้อง ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

estradiol มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเนื้อเยื่อปากมดลูก มดลูก
และเต้านม รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการอยู่รอดและการแพร่กระจายของเซลมะเร็งซึ่งต้องอาศัยฮอร์โมนกลุ่มนี้

เอสโตรเจนสามารถเคลื่อนเข้าสู่เซลโดยอาศัยความแตกต่างระหว่างความเข้มข้นของสารนี้ภายในและนอกเซล หรืออาจอาศัยกระบวนการขนถ่ายซึ่งต้องใช้พลังงานเพื่อเข้าสู่เซลก็ได้

จากนั้น สารกลุ่มนี้จะแสดงฤทธิ์โดยการเข้าไปจับกับ receptor ที่อยู่ในส่วนนิวเคลียสของเซล เป็นการเริ่มต้นของกระบวนการส่งผ่านสัญญาณอันนำไปสู่การสังเคราะห์โปรตีนและการเพิ่มจำนวนของเซลในที่สุด

สารที่สามารถเข้าจับกับ receptor ของเอสโตรเจนและทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะเดียวกันได้ เช่น estradiol ถือว่าเป็น agonist ของเอสโตรเจน ในขณะที่สารซึ่งเข้าไปปิดกั้น receptor ของเอสโตรเจน จัดเป็น antagonist หรือ anti-estrogenic agent

Phytoestrogen เป็นสารอินทรีย์ซึ่งสร้างขึ้นโดยพืช แต่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเอสโตรเจน
สารเหล่านี้พบได้ทั้งในส่วนเมล็ด ลำต้น รากหรือดอก โดยในพืช สารนี้จะทำหน้าที่เป็นสารฆ่าเชื้อรา (fungicide) หรือเป็น phytoalexin นั่นคือเป็นสารเคมีที่พืชสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเองเมื่อถูกรุกรานโดยจุลชีพ

ในช่วงแรกๆ ความสนใจในเรื่องของ phytoestrogen มักจะมุ่งประเด็นไปที่ปัญหาในแง่ปศุสัตว์ เมื่อพบว่ามีสัตว์ที่ไปกินพืชซึ่งมีสารเหล่านี้อยู่แล้วเกิดเป็นหมันขึ้นมา

แต่มาในระยะหลัง มีงานวิจัยมากมายหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสารกลุ่มนี้อาจจะมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเราอย่างมากก็ได้ เนื่องจากเราพบ phytoestrogen ในธรรมชาติเป็นส่วนประกอบอยู่ในอาหารที่มนุษย์เรารับประทานเข้าไปตามปกติในแต่ละวันอยู่แล้ว

และสารเหล่านี้อาจเข้าไปมีผลป้องกันหรือปรับเปลี่ยนภาวะความผิดปกติของร่างกายหรือการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการหมดประจำเดือนได้อีกด้วย

Phytoestrogen อาจเป็นสารในกลุ่ม flavonoids, isoflavonoids, lignans, coumestans หรือchalcones ซึ่งสารเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือ มีโครงสร้างส่วนที่เป็น diphenolic

ส่วนมากแล้ว phytoestrogen จะมีบางส่วนของสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงหรือเทียบได้กับ steroid nucleus ของ estradiol อันเป็นเอสโตรเจนที่พบในธรรมชาติ หรือเอสโตรเจนสังเคราะห์

และสาร anti-estrogen บางชนิด เช่น diethylstilbestrol (DES) และ tamoxifen การที่สูตรโครงสร้างของสาร phytoestrogen เหล่านี้สามารถเทียบเคียงได้เป็นอย่างดีกับ estradiol

บ่งบอกถึงศักยภาพของสารในการเข้าไป interact กับ receptor ของเอสโตรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าไปปรับเปลี่ยนการเจริญของเซลมะเร็งซึ่งต้องอาศัยฮอร์โมนนี้

มีผลงานวิจัยที่แสดงว่าสาร phytoalexin ชนิดหนึ่งคือ trans-resveratrol เป็น phytoestrogen ที่มีฤทธิ์ anti-estrogen ต่อเซลมะเร็งเต้านมของมนุษย์เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง สารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งนี้

พบได้ในพืชกว่า 70 ชนิด รวมทั้งองุ่นและถั่ว ผลิตภัณฑ์จากองุ่นทั้งไวน์ขาว
และไวน์แดง

สารกลุ่ม flavonoid ในพืช ได้แก่ quercetin และ apigenin เป็นสารที่พบได้ทั่วไปในพืช ในชา กาแฟ เมล็ดธัญพืช และผักผลไม้มากมายหลายชนิด

ปริมาณการบริโภคสารเหล่านี้ในคนปกติแต่ละวันคิดเป็นประมาณ 1 กรัม เราสามารถพบ phytoestrogen กลุ่ม isoflavonoid ซึ่งได้แก่ genistein และ daidzein ในปริมาณที่มากพอสมควรได้ในถั่วเหลือง

และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง เป็นต้น

phytoestrogen ในพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีโมเลกุลของน้ำตาลต่ออยู่ในสูตรโครงสร้างด้วย ทำให้เป็นลักษณะของกลัยโคไซด์ซึ่ง polar และละลายน้ำได้

แต่โดยแท้จริงแล้ว ฤทธิ์ในลักษณะของเอสโตรเจนหรือ anti-estrogen ได้จากส่วนของ aglycone คือ โมเลกุลของ genistein, apigenin หรือ daidzein ที่ยังไม่ได้ต่อกับน้ำตาลนั่นเอง

เพราะส่วนนี้จะมีความใกล้เคียงกับโมเลกุลของเอสโตรเจนมากที่สุด และพร้อมที่จะเข้าไปจับกับ receptor ของฮอร์โมนนี้ phytoestrogen ที่เป็นสารในกลุ่มอื่น

ได้แก่ กลุ่ม coumestan และ lignan ก็พบในพืชที่ใช้เป็นอาหารหลายชนิดเช่นกัน coumestan มีในถั่วต่างๆ ในขณะที่เราสามารถพบ lignan ได้ในน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากเมล็ดป่าน

ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิด เช่น เบียร์ หรือไวน์ ก็พบว่ามี phytoestrogen อยู่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้ผลิตขึ้นมาจากการหมักเมล็ดธัญพืชหลายชนิด หรือจากองุ่น

ซึ่งองุ่นที่ต่างชนิดกันที่ใช้ทำไวน์จะให้ปริมาณของ phytoestrogen ต่างๆ กันไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการหมักไวน์ด้วย สารกลุ่ม isoflavonoid ที่มีรายงานว่าพบในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ ได้แก่ genistein, daidzein และ biochanin

ในขณะที่สารเหล่านี้มีที่มาได้ต่างๆกัน การรับประทานสารกลุ่มนี้เข้าไปก็มีผลต่อสุขภาพได้หลายแบบเช่นกัน

คุณประโยชน์ของการได้รับ phytoestrogen ในอาหารซึ่งมักจะได้รับการ
กล่าวถึงกันอยู่เสมอ ได้แก่ ผลในการไปเปลี่ยนแปลงการเจริญของมะเร็งบางชนิดที่ต้องอาศัยฮอร์โมน ช่วยป้องกันโรคของระบบหลอดเลือดและหัวใจ

ลดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการหมดประจำเดือน และป้องกันการสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกหรือภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)

ผลของ phytoestrogen ต่อสุขภาพเหล่านี้อาจแยกได้เป็น 2 แง่ คือ จากการแสดงฤทธิ์เป็น เอสโตรเจน และจากฤทธิ์ antioxidant ของสาร ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ฤทธิ์ในลักษณะเอสโตรเจนของ phytoestrogen เกิดขึ้นได้

เนื่องจากสารเหล่านี้มีสูตรโครงสร้างบางส่วนคล้ายคลึงกับ estradiol และถึงแม้ว่าสารกลุ่มนี้จะจับกับreceptor ของเอสโตรเจนได้ไม่ดีเท่า estradiol เอง

การจับกันดังกล่าวก็สามารถทำให้เกิดการตอบสนองในเซลมะเร็งต่างๆ กันไปได้ทั้งในลักษณะที่เหมือนกับผลของเอสโตรเจนเองหรือเป็นตรงกันข้าม ที่ระดับความเข้มข้นต่ำๆ phytoestrogen บางตัวสามารถแสดงฤทธิ์เหมือน
เอสโตรเจน

โดยกระตุ้นการเจริญของเซล แต่ขณะเดียวกัน ที่ความเข้มข้นสูงขึ้น phytoestrogen ชนิดเดียวกันนั้นกลับแสดงฤทธิ์ anti-estrogen และยับยั้งการเจริญของเซลแทน

ลักษณะของปรากฏการณ์ที่เป็น biphasic เช่นนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก และอาจจะเกี่ยวข้องกับศักยภาพของ phytoestrogen เหล่านี้ในการแสดงฤทธิ์ที่ขึ้นกับตัวแปรหลายๆ อย่างได้ที่ความเข้มข้นต่ำ

แต่ที่ความเข้มข้นสูงกลับแสดงฤทธิ์โดยใช้กลไกคนละแบบกับเอสโตรเจน โดยอาจแสดงผลยับยั้งเอ็นไซม์ protein kinase ตัวอย่างเช่น protein-tyrosine kinase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีหน้าที่เร่งการส่งผ่านหมู่ฟอสเฟตของ adenosine triphosphate (ATP) ไปยังโมเลกุลของโปรตีนอีกมากมายหลายชนิด

ที่ล้วนแต่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่หรือการเปลี่ยนแปลงไปของเซล หรือยับยั้งเอ็นไซม์ topoisomerase ซึ่งก็มีผลต่อการผันแปรไปจากเดิมของเซลได้เช่นกัน

การที่สูตรโครงสร้างของ phytoestrogen มีต่างกันไปได้หลายแบบ ทำให้คาดว่าฤทธิ์ทางชีวภาพของสารกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเข้าไปมีผลต่อ receptor ของเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

มีงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสูตรโครงสร้างของสารประกอบ
flavonoid หลายชนิดกับฤทธิ์แบบเอสโตรเจนซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งของหมู่ hydroxyl ใน ring ต่างๆ ของสูตรโครงสร้างหลัก ในหลอดทดลอง phytoestrogen บางชนิด

เช่น genistein และ daidzein สามารถไปควบคุมการสร้าง รวมทั้งอาจมีผลต่อการทำงานของ sex hormone-binding globulin (SHBG) ในเซลมะเร็งเต้านม MCF-7 ของมนุษย์ SHBG

เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับ มีหน้าที่เข้าจับและลำเลียงเอสโตรเจนที่ถูกสร้างขึ้นภายในร่างกาย

ผลของ phytoestrogen ต่อ SHBG ย่อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อระดับของเอสโตรเจน ณ เซล ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนนี้ สาร genistein มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้าง SHBG ในเซลมะเร็งตับของมนุษย์

และส่งผลยับยั้งการเจริญของเซลเหล่านี้ที่เลี้ยงไว้ในหลอดทดลองได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปริมาณ SHBG ที่เพิ่มขึ้นย่อมมีผลไปทำให้มีเอสโตรเจนที่ถูกจับไว้เพิ่มมากขึ้นไปด้วยปริมาณของฮอร์โมนที่เซลมะเร็งจึงลดต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญของเซลเหล่านี้

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมและต่อม prostate ต่ำ คาดว่าเนื่องมาจาก การที่คนญี่ปุ่นได้รับ phytoestrogen จากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอยู่เป็นประจำ

เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคและการขับสาร phytoestrogen หลายชนิดออกทางปัสสาวะ รวมทั้งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนระหว่างชาวฟินแลนด์ อเมริกัน และญี่ปุ่น พบว่า

คนญี่ปุ่นซึ่งมีการขับถ่าย phytoestrogen ออกมาในปริมาณมากที่สุดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำสุด อาหารของคนทางตะวันตกไม่ค่อยจะมีส่วนประกอบที่เป็น phytoestrogen

และก็ดูเหมือนว่าประเทศเหล่านี้จะมีอุบัติการณ์หรือความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม ลำไส้และต่อม prostate สูงกว่าด้วย

คุณประโยชน์อย่างหนึ่งของ phytoestrogen ที่ยังไม่สามารถสรุปแน่นอนได้ คือการนำสารเหล่านี้มารักษาอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการหมดประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะรักษาโดยการให้เอสโตรเจนที่เหมาะสมเพื่อทดแทน การได้รับ phytoestrogen จากอาหารที่รับประทานเข้าไป

อาจเข้ามาแทนการใช้เอสโตรเจนทดแทนโดยตรงได้ มีรายงานว่า หญิงชาว
ญี่ปุ่นในวัยหมดประจำเดือนซึ่งบริโภค phytoestrogen อันเป็นส่วนประกอบในอาหารที่รับประทานเข้าไปตามปกติในปริมาณมากอยู่แล้วนั้น มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก รวมทั้งอาการต่างๆ ของภาวะการหมดประจำเดือนน้อยกว่าผู้หญิงในประเทศอื่นๆ

ผลจากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่ามีผู้หญิงญี่ปุ่นในวัยหมดประจำเดือนเพียงประมาณ 4% ที่รักษาโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทนตามวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เทียบกับในอเมริกาซึ่งใช้วิธีนี้ถึงประมาณ 30% ภาวะกระดูกพรุนซึ่งพบได้ทั่วไปในหญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นภาวะซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนที่ลดลง

และการให้ฮอร์โมนทดแทนก็เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ขณะนี้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า phytoestrogen บางชนิด เช่น genistein ให้ผลป้องกันการสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกในหนูทดลองได้

และในอนาคต อาจมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลของ phytoestrogen ที่ช่วยป้องกันอาการบางอย่างซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาวะการหมดประจำเดือนในเพศหญิงก็เป็นได้

นอกจากนี้แล้ว phytoestrogen ยังกำลังเป็นที่ความสนใจในแง่ฤทธิ์ antioxidant หรือการเป็น free radical scavenger ของสารเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น

ได้มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มไวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวน์แดง ของคนฝรั่งเศส กับอัตราการเกิด ischaemic heart disease ในคนชาตินี้ ซึ่งนับว่ามีระดับต่ำเมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ

คาดว่านี่เป็นผลมาจากการที่มีสาร polyphenolic flavanols อยู่มากในไวน์ สารประกอบเหล่านี้ได้แก่ (+)-catechin, epicatechin และ dimer หรือ trimer

ตามธรรมชาติของสารกลุ่มนี้อันมีสูตรโครงสร้างซึ่งสัมพันธ์กับ phytoestrogen กลุ่ม flavonoid และ isoflavonoid โดยมีหมู่ phenolic ซึ่ง
จำเป็นต่อการจับกับอนุมูลอิสระ และแสดงฤทธิ์ได้ทั้งเมื่อทดลองในหลอดหรือในสัตว์ทดลอง

Phytoestrogen บางชนิดซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกับวิตามิน อี ก็เป็น antioxidant หรือ free radical scavenger ที่มีฤทธิ์สูงได้เช่นกัน มีการทดลองเปรียบเทียบฤทธิ์ antioxidant ของ flavonoid หลายชนิด

รวมทั้งสาร trans-resveratrol กับ Trolox อันเป็นอนุพันธ์ชนิดหนึ่ง ของวิตามิน อีที่ใช้เป็นสารมาตรฐานในการทดสอบฤทธิ์ด้านนี้ ตัวอย่างหนึ่งของผลการทดลอง

ที่แสดงถึงฤทธิ์ antioxidant ของ phytoestrogen คือ พบว่า genistein สามารถยับยั้งการสร้าง hydrogen peroxide ที่เกิดจากการตอบสนองต่อ phorbol esters

อันเป็นสารที่มีผลส่งเสริมการเกิดมะเร็งของเซลมะเร็งไขกระดูกมนุษย์ลงได้ทั้งในการทดลองลักษณะ in vitro และ in vivo ฤทธิ์ในเชิงนี้ของสารจากพืชจะมีส่วนช่วยลดการเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘oxidative stress’ ในสิ่งมีชีวิตอันเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุของความผิดปกติหรือโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็งบางชนิด
หรือการแก่ (aging) ด้วย

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ antioxidant ในกลุ่มของ flavonoid และ phytoestrogen มักจะเน้นไปในแง่ที่เกี่ยวข้องกับโรคของระบบหลอดเลือดและหัวใจ หรือมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมน

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเอสโตรเจนอาจมีบทบาทที่สำคัญมาก ต่อระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) โดยอาจไปเพิ่มการทำงานบางลักษณะของเซลใน CNS

กระตุ้นการเจริญของเซลประสาท และอาจจะมีผล antioxidant ต่อสารพิษบางอย่างในร่างกายที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นได้ใน CNS ความเสียหายในลักษณะของ oxidative stress จากอนุมูลอิสระเหล่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และภาวะ dementia

การที่ phytoestrogen มีฤทธิ์ antioxidant นี้อยู่ จึงน่าจะสามารถช่วยป้องกันความผิดปกติต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือโรคดังกล่าวได้ด้วย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ สมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการนำฤทธิ์ที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศของสมุนไพรชนิดนี้ไปใช้ คือ

กวาวเครือ (Pueraria mirifica วงศ์ Papilionaceae) ซึ่งเคยมีรายงานว่าพบสารเคมีในกลุ่ม isoflavonoids หลายชนิด ได้แก่ kwakhurin, kwakhurin hydrate, daidzein และ genistein

ในรากของพืชนี้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสารจากพืชในกลุ่มนี้สามารถแสดงฤทธิ์ในลักษณะเดียวกับเอสโตรเจนได้ อย่างไรก็ตาม ในการนำพืชสมุนไพรนี้มาใช้นั้น ควรจะต้องคำนึงไว้เสมอว่า

ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อมูลทางเคมีและทราบถึงคุณค่าของ phytoestrogen เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีคำถามที่ต้องการคำตอบอีกมากมายเกี่ยวกับความแรง

โอกาสเกิดพิษ และบทบาทหรือกลไกของสารเหล่านี้ต่อภาวะการเกิดโรคต่างๆ เรายังคงต้องศึกษาสารกลุ่มนี้ทั้งในแง่ bioavailability กระบวนการเมตาบอลิสม ความคงตัวเมื่อให้เข้าสู่ร่างกาย

รวมถึงขนาดใช้เพื่อให้เกิดผลตามต้องการ การได้รับสารกลุ่มเอสโตรเจนต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อร้ายบางชนิดได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วกรณีของ phytoestrogen มีความเสี่ยงเช่นนี้ด้วยหรือไม่

มีตัวอย่างของสารที่ให้ฤทธิ์เช่นเดียวกับ phytoestrogen ได้แก่ สาร zearalenone ซึ่งสร้างโดยเชื้อรา Fusarium graminearum และเคยถูก
นำมาทดลองใช้เป็นยาคุมกำเนิด หรือให้ทดแทนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือน

พบว่าสารนี้กระตุ้นการเจริญของเซลมะเร็งเต้านม MCF-7 ของมนุษย์ รวมทั้งมีรายงานว่าสารนี้มีผลเพิ่มขนาดของต่อมน้ำนมและกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมในหนูทดลองด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าการได้รับ phytoestrogen ต่อเนื่องกันนานๆจะมีผลต่อการเจริญพันธุ์ได้หรือไม่ และศักยภาพของ phytoestrogen อันจะมีผลต่อพัฒนาการของร่างกายมนุษย์หรือทำให้เกิดความเป็นพิษนั้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการใช้ phytoestrogen คือการที่ปัจจุบันเรายังไม่มีข้อกำหนดที่แท้จริงเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็นสารเหล่านี้ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการที่คนทั่วไปจะนำสารกลุ่มนี้มาใช้ได้อย่างปลอดภัย

ในขณะที่เรายังมีข้อมูลทางพิษวิทยาของ phytoestrogen อยู่ไม่เพียงพอเช่นนี้ ผู้บริโภคบางรายอาจใช้สารนี้ในขนาดที่มากเกินควร จนอาจทำให้เกิดอาการพิษขึ้นได้

บทบาทของ phytoestrogen ที่อาจจะได้รับการพัฒนาขึ้นใช้ในทางยาต่อไปในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดี แต่ในขณะเดียวกัน แทบทุกครั้งที่มีการค้นพบข้อมูลหรือโอกาสใหม่ในการนำสารกลุ่มนี้ไปประยุกต์ใช้

ก็มักจะมีคำถามใหม่ๆ ที่จำเป็นจะต้องค้นหาคำตอบเพิ่มเติมตามมาด้วยเช่นกัน


ขอขอบคุณ - เภสัชกร รุจน์ สุทธิศรี

- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


วุธวารสิริสวัสดิ์ มานมนัสรมณีย์ ที่มาอ่านค่ะ
Create Date :18 พฤศจิกายน 2552 Last Update :30 กรกฎาคม 2553 1:17:35 น. Counter : Pageviews. Comments :0