bloggang.com mainmenu search






ภาพร้านค้าซึ่งชาวยิวเป็นเจ้าของกิจการ
ถูกทำลายย่อยยับในเหตุการณ์คริสทัลนัชท์




นโยบายอนุรักษ์สัตว์

ในปี 1933 พรรคนาซีได้ร่างกฎหมายอันเข้มงวด เพื่อกำหนดการอนุรักษ์สัตว์ขึ้นมา ทำให้การล่าสัตว์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในนาซีเยอรมนีซึ่งแม้แต่ในประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน ก็ยังมีการสืบทอดกฎหมายการปกป้องสัตว์ของนาซีมาจนถึงปัจจุบันไม่มากก็น้อย

แต่ว่าผลของกฎหมายดังกล่าวก็มีผลน้อยมากในการบังคับใช้ เนื่องจากพรรคนาซีเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องชำแหละสัตว์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์


นโยบายกีดกันทางเชื้อชาติ

พรรคนาซีได้แบ่งประชากรออกเป็นสองประเภทคือ "เชื้อชาติอารยัน" และ "ไม่ใช่เชื้อชาติอารยัน" ซึ่งหมายถึงชาวยิวหรือชนกลุ่มน้อยอื่น สำหรับเชื้อชาติอารยันแล้ว พรรคนาซีได้ออกนโยบายทางสังคม ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มนี้ และเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ซึ่งรวมไปถึงยกโทษให้แก่เด็กที่เกิดจากบิดามารดานอกสมรส รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงิน ให้แก่ครอบครัวชาวอารยันซึ่งให้กำเนิดบุตร

พรรคนาซีดำเนินนโยบายกีดกัน โดยการข่มเหงและสังหารผู้ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม และผู้ที่ไม่ควรจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายทางเชื้อชาติและสังคม ซึ่งเรียกว่าเป็น "ศัตรูของรัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พวกที่ต่ำกว่ามนุษย์"

อย่างเช่น ชาวยิว ชาวยิปซี ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์ ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตและทางกาย ซึ่งได้แก่ ไร้สมรรถภาพและรักร่วมเพศ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 แผนการของพรรคนาซี ที่จะแยกหรือจนกระทั่งสังหารชาวยิว ได้เริ่มต้นขึ้นในนาซีเยอรมนี ด้วยการสร้างนิคมชาวยิว ค่ายกักกัน และค่ายแรงงาน ในปี 1933 ค่ายกักกันดาเชาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งฮิมม์เลอร์ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของค่ายดาเชาว่าเป็น "ค่ายสำหรับนักโทษทางการเมือง"

ภายหลังจากที่พรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจแล้ว ชาวยิวจำนวนมากถูกยุให้หนีออกนอกประเทศ ซึ่งชาวยิวจำนวนมากก็ทำเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่ กฎหมายเมืองเนือร์นแบร์ก ผ่านในปี 1935 ชาวยิวถือว่าสูญเสียสัญชาติเยอรมัน และถูกปฏิเสธจากตำแหน่งการงานของรัฐ

ซึ่งทำให้ชาวยิวจำนวนมากตกงานในประเทศ โดยชาวเยอรมันจะเข้าทำหน้าที่ตามตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้น เหตุการณ์ที่โดดเด่นก็คือ รัฐบาลพยายามที่จะส่งตัวชาวยิวเชื้อสายโปแลนด์กว่า 17,000 คนกลับสู่โปแลนด์

ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่การลอบสังหารเอิร์ท วอม รัท ทูตชาวเยอรมัน โดยเฮอร์สเชล กรินสปัน ชาวยิวเชื้อสายเยอรมัน ที่อาศัยอยู่ในปารีส การลอบสังหารนี้ทำให้เกิดข้ออ้าง แก่พรรคนาซีที่จะปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านชาวยิว ในวันที่ 9 พฤศจิกายน

ซึ่งมุ่งจะทำลายธุรกิจของชาวยิวเป็นพิเศษ เหตุการณ์ต่อต้านนี้ถูกเรียกว่า คริสทัลนัชท์ (เยอรมัน: Kristallnacht) หรือ "คืนแห่งการทุบกระจก" "คืนคริสตัล" (อังกฤษ: Night of Broken Glass, ตามตัวอักษร คือ "Crystal Night)

เพราะกระจกหน้าต่างร้านค้า ที่ถูกทุบทำให้ถนนดูเหมือนถูกโรยด้วยคริสตัล จนกระทั่งเดือนกันยายน 1939 ชาวยิวกว่า 200,000 คนหลบหนีออกนอกประเทศ และรัฐบาลจะทำการยึดทรัพย์สินของชาวยิวเหล่านั้นเป็นของแผ่นดิน

พรรคนาซียังได้ดำเนินการสังหารชาวเยอรมันที่ "อ่อนแอ" และ "ไม่เหมาะสม" อย่างเช่น พฤติการณ์ ที-4 (อังกฤษ: Action T-4) ซึ่งมีการสังหารคนพิการและผู้ป่วยเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในความพยายามที่จะ "รักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อสายอันยิ่งใหญ่" (เยอรมัน: Herrenvolk)

อีกประการหนึ่งที่โครงการที่นาซีใช้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติคือ เลเบนสบอร์น (เยอรมัน: Lebensborn) หรือ "น้ำพุแห่งชีวิต" ที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1936 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้ทหารเยอรมัน (ซึ่งส่วนใหญ่คือ หน่วยเอสเอส) สืบเชื้อสายของพันธุ์บริสุทธิ์

รวมไปถึงข้อเสนอที่ให้บริการสนับสนุนครอบครัวเอสเอส (รวมไปถึงจัดให้เยาวชนที่มีพันธุ์บริสุทธิ์เข้าไปอยู่ในครอบครัวเอสเอสที่มีความเหมาะสม) และจัดหาสตรีที่มีความเหมาะสมทางเชื้อชาติ ให้เป็นภรรยาของชายที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว

และให้พวกเธออยู่อาศัยในเยอรมนี และดินแดนยึดครองในทวีปยุโรป และยังเลยไปถึงขั้นที่ จะนำเด็กที่มีพันธุ์บริสุทธิ์ที่จับมาจากดินแดนยึดครอง เช่นโปแลนด์ มาให้กับครอบครัวชาวเยอรมัน

เมื่อถึงตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเยอรมนีได้ออกคำสั่งในดินแดนยึดครองโปแลนด์ ผู้ชายชาวยิวต้องถูกใช้แรงงานหนัก ผู้หญิงและเด็กจะต้องถูกจับไปยังนิคมชาวยิว

ซึ่งในการกระทำดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแก้ปัญหาชาวยิวที่ได้มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว จะยุติลงด้วยการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย คือการทำลายล้างเชื้อชาติยิวจนสิ้นซาก


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์จันทรวาร สิริมานปรีดิ์เขษมนะคะ
Create Date :31 มกราคม 2554 Last Update :31 มกราคม 2554 21:38:40 น. Counter : Pageviews. Comments :0