bloggang.com mainmenu search





บันยิป บนหนังสือพิมพ์ อิลลัสสเตรส ออสเตรเลียน นิวส์
ในปี ค.ศ. 1890




บันยิป (Bunyip) หรือ เคียนปราตี (Kianpraty) เป็นชื่อเรียกสัตว์ประหลาด ในตำนานพื้นบ้านของชาวอะบอริจินส์ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย

บันยิปถูกอธิบายถึงรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันมากมาย เช่น หน้าแบนเหมือนสุนัขพันธุ์บูลด็อก และหางเหมือนปลา หรือคอยาวและมีจะงอยปากเหมือนนกอีมู และมีขนแผงคอที่ห้อยย้อยลงมาเหมือนงูทะเล

หรือแม้แต่กระทั่งเหมือนมนุษย์ โดยความเชื่อเรื่องบันยิปนี้มีกระจายไปทั่วออสเตรเลีย


เรื่องเล่า

โดยชาวอะบอริจินส์เชื่อว่า บันยิป เป็นจิตวิญญาณของปีศาจ ที่สิงสถิตย์อยู่ตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง และทะเลสาบ

เมื่อนานวันเข้าจึงหลอมรวมตัวเป็นสัตว์ประหลาดขึ้นมา มีนิสัยดุร้ายมาก ถ้าหากมีใครบุกรุกหรือล่วงล้ำถิ่นที่อยู่ของมัน จะถูกทำร้ายอาจถึงแก่ชีวิต และเชื่อว่าบันยิปกินมนุษย์เป็นอาหารด้วย

โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก มีการอธิบายถึงการหายตัวไปของผู้หญิงและเด็กว่า เป็นเพราะถูกบันยิปลากไปกินในน้ำ

บันยิปมีเสียงร้องที่กึกก้องมาก โดยจะได้ยินไปทั่วคุ้งน้ำ และได้ยินชัดเจนโดยเฉพาะหลังฝนตกใหม่ ๆ และจะหายไปเมื่อถึงฤดูร้อน เพราะแหล่งน้ำที่มันอาศัยอยู่แห้งผาก โดยบันยิปจะฝังตัวอยู่ใต้โคลน เพื่อรอจนถึงฤดูฝน


ถูกค้นพบ

เรื่องของบันยิปไม่ได้เชื่อเฉพาะในหมู่ชาวอะบอริจินส์เท่านั้น หากแต่ยังเชื่อไปถึงชาวตะวันตก ที่บุกเบิกประเทศออสเตรเลียด้วย โดยเรื่องราวของบันยิปมีมาก่อนปี ค.ศ. 1800 เสียอีก ก่อนจะที่ถูกเล่าขานอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1820 - ค.ศ. 1845

โดยกล่าวกันว่า มี 4 ขา และแต่ละขามี 3 เล็บ ขนาดลำตัวใหญ่ ที่ตัวด้านหน้ามีเกล็ดปกคลุมไปจนถึงครึ่งของหลัง และแผ่นหลังปกคลุมด้วยขนไปตลอดจนถึงหาง หน้าคล้ายสุนัข บ้างก็ว่าเหมือนหมู

มีหางคล้ายตัวบีเวอร์ ขนาดความยาวตลอดตัวราว 10 -12 ฟุต แต่ส่วนใหญ่มักบอกว่าคล้ายไดโนเสาร์หรือสัตว์เลื้อยคลาน

ในช่วงปี ค.ศ. 1800 นั้นมีรายงานการพบซากกระดูกของสัตว์ขนาดใหญ่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่เมืองกีลอง รัฐวิกตอเรีย โดยรูปร่างกระดูกคล้ายกับฮิปโปโปเตมัส แต่เมื่อมีการพิสูจน์แล้วพบว่า ไม่ใช่ จึงเล่าลือว่าเป็นกระดูกของบันยิป

ต่อมาในปี ค.ศ. 1845 ก็มีการขุดค้นพบ โครงกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งลักษณะของกระดูกที่ขุดพบครั้งนี้นั้น รูปร่างคล้ายจระเข้ผสมกับนก โดยรูปร่างของสัตว์ตัวนี้คล้ายจระเข้ยืน 2 ขาและตัวพอง ๆ แบบนก โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้รายงานข่าวนี้ และลงรูปของบันยิป

ในปี ค.ศ. 1872 ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ หนังสือพิมพ์วักก้า วักก้าแอ็ดเวอร์ไทเซอร์ ได้รายงานถึงข่าวนี้ว่า มีบุรุษผู้หนึ่งได้เห็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลสาบในเวลาเช้าตรู่ โดยไม่กลัวคน

เขาได้อธิบายว่า สัตว์ตัวนี้มีขนาดความยาว เป็นสองเท่าของสุนัขพันธุ์รีทรีฟเวอร์ ขนตามลำตัวสีดำสนิท และยาวมากลอยแผ่ไปตามผิวน้ำราว 5 นิ้ว กระเพื่อมขึ้นลงตามจังหวะการเคลื่อนไหวของมัน ไม่สังเกตเห็นตา แต่หูสังเกตเห็นได้ชัด

ต่อมาในปี ค.ศ. 1876 หนังสือดิอะบอริจินส์ ออฟ วิคตอเรีย ตีพิมพ์ว่ามีคนเห็นบันยิปที่อ่างเก็บน้ำโคลิบันว่า มีพันตรีผู้หนึ่งและพรรคพวกเห็นสัตว์ตัวหนึ่ง ที่ตอนแรกคิดว่าเป็นแมวน้ำแต่ไม่ใช่

สัตว์ชนิดนี้ตัวใหญ่และมีสีเข้ม พวกเขาเฝ้าดูสักพักและมันก็ดำน้ำหายไป ต่อมาก็มีครูผู้หนึ่ง ที่ชื่นชอบในการล่านกเป็ดน้ำ ในขณะที่ออกล่านกเป็ดน้ำในวันหนึ่ง ได้พบกับสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้

โดยบอกว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่มาก มีรูปร่างเหมือนสุนัขพันธุ์รีทรีฟเวอร์ หูกลม และมันเกือบจะจมเรือของคนที่ช่วยเขาเก็บนกเป็ดน้ำ

ที่รัฐวิกตอเรีย ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1890 ได้มีข่าวลือถึงสัตว์รูปร่างแปลกประหลาด ซึ่งอาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานก็ได้ อาศัยอยู่บึงใกล้ ๆ ตำบลยูโรอา

ดังนั้น ในวันศุกร์ที่ 21 เดือนเดียวกัน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เมลเบิร์น และช่างภาพสมัครเล่นก็ไปช่วยกันลงอวนในบึงแห่งนั้น พวกเขาขึงตาข่ายขวางบึงแล้วช่วยกันใช้ไม้ตีตะล่อมไประยะ แต่ปรากฏวี่แววของสัตว์ชนิดนั้น เชื่อว่ามันหนีไปได้ ทิ้งแต่รอยเท้าไว้ที่ในพงอ้อริมบึง

เรื่องราวของบันยิปที่ถูกพบเห็นโดยชาวตะวันตก มีมากมาย ซึ่งทั้งหมดให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า มีหัวกลมคล้ายสุนัข มองเผิน ๆ เหมือนแมวน้ำ แต่ไม่ใช่ ว่ายน้ำเก่งและดำน้ำหายไปได้อย่างรวดเร็ว

ที่น่าสังเกตคือ ไม่เคยมีการปรากฏภาพเขียนของบันยิป ในศิลปะของชาวอะบอริจินส์ ซึ่งหมายความว่าบันยิปไม่ใช่สัตว์ที่พวกเขาสมมุติขึ้นตามคติความเชื่อ หากแต่เป็นสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริง ๆ

เพียงแต่มันอาจดุร้ายน่ากลัว จนพวกเขาไม่อยากเข้าไปใกล้ เลยไม่รู้แน่ชัดว่า มันมีรูปร่างอย่างไร

แต่ในต้นศตวรรษที่ 19 มีสัตว์ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งถูกฆ่าตาย ที่ริมฝั่งแม่น้ำแฟรี่แคร็ก ใกล้ ๆ เมืองอรารัตในรัฐวิกตอเรีย และเพื่อไว้แสดงให้ลูกหลานรู้สึกความกล้าหาญของพวกตน ชาวอะบอริจินส์เผ่าจับวูรอง ที่ฆ่าสัตว์ตัวนั้น ก็ขุดร่องตื้น ๆ ไปรอบร่างสัตว์ที่ตายนอนอยู่บนพื้น

แล้วก็คอยหมั่นถอนหญ้า มิให้ขึ้นมาคลุมภาพที่เป็นรอยลึกอยู่บนพื้นดิน นั้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 1840 หลังการเปิดสถานีรถไฟชาลลิคัม ซึ่งอยู่ห่างจุดที่ฝังซากสัตว์ตัวนั้นไปราว 1 กิโลเมตร ร่องรอยของหลุมยังคงอยู่ที่นั้น และคงอยู่อีกราวปี ค.ศ. 1870

แต่หลังจากนั้นชาวอะบอริจินส์ ก็มิได้ดูแลหลุมฝังเหมือนเช่นเคย คงปล่อยให้หญ้าขึ้นปกคลุม แต่ทว่าผู้ดูแลสถานีรถไฟชาลลิคัมได้สเก็ตภาพนี้ไว้

และเรื่องราวของบันยิปก็ยังคงเล่าขานมาถึงถึงปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1971 มีผู้กล่าวว่า พบบันยิปที่บึงแห่งหนึ่งห่างจากเมืองลิสมอร์ของ รัฐนิวเซาท์เวลส์ไปทางเหนือราว 32 กิโลเมตร โดยกล่าวว่า สัตว์ตัวนั้นยาวหลายฟุต มีหัวคล้ายสุนัข หูเล็กและแนบกับหัว และเขาเห็นมันจับหงส์ไปกิน


ข้อสันนิษฐาน

มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า บันยิปหากมีจริง อาจจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ เช่น ปาลอร์เคสตีส หรือ ไดโปรโตดอน

ซึ่งเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ที่เคยอาศัยอยู่ในออสเตรเลียเมื่อกว่า 20,000 ปีที่แล้ว โดยสถานที่ ๆ มันอาศัยก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เหมือนบันยิปด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นสัตว์ในยุคปัจจุบันที่ผู้อ้างว่าพบเห็นมองผิดไป เช่น นาก แมวน้ำ หรือ ตุ่นปากเป็ด เป็นต้น


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภุมวารสิริสวัสดิ์ ปรีดิ์มนัสวัฒนสิรินะคะ
Create Date :25 มกราคม 2554 Last Update :25 มกราคม 2554 9:26:40 น. Counter : Pageviews. Comments :2