bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : นิทรรศการสืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ, อยุธยา Thailand
พิกัด GPS : 14° 8' 57.61" N 100° 31' 22.19" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 



ช่วงนี้ถึงจะผ่อนคลาย  lockdown  ลงบ้างแล้ว  แต่ที่บ้านเจ้าของบล็อกก็ยังปฎิบัติตัวเหมือนเดิมครับ  คือ  ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น  ถ้าออกนอกบ้าน  พอกลับมาก่อนเข้าประตูบ้านจะต้องพ่นแอลกอฮอร์ทั้งตัว  ถูเจลทีมือถึงข้อศอก  แล้วก็รีบเข้าไปล้างมือด้วยสบู่พร้อมกับร้องเพลง  “ช้าง  ช้าง  ช้าง”  2 รอบ  และอาบน้ำ  สระผม  เพราะที่บ้านมีทั้งผู้สูงอายุและเด็กต่ำกว่า  12  ปี  อย่างที่คุณหมอบอกครับ  ถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็สามารถติดเชื้อได้  ตอนนี้มีสายพันธุ์ใหม่อีกด้วย  ต้องระมัดระวังตัวให้มากเข้าไว้จะดีที่สุดครับ
 
 



ช่วงนี้ก็ยังคงเป็นการเอาสถานทีท่องเที่ยวที่ไปเที่ยว  ถ่ายรูปเอาไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้เอามาโพส  มาโพสลงบล็อกตามเคยครับ  ถือเป็นการเคลียร์โฟลเดอร์รูปที่ถ่ายเก็บไว้ด้วยครับ
 




 
Entry  ที่แล้วพาไปเที่ยวอยุธยามานะครับ  พอดีเหลือบไปเห็นรูปในอีก  2  โฟลเดอร์ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในอยุธยาด้วยครับ  เลยคิดว่าน่าจะเอา  entry  นี้มาโพสก่อนสถานที่ท่องเที่ยวที่อื่นครับ
 



 
 

**** เจ้าของบล็อกออกตัวไว้ก่อนว่า  เจ้าของบล็อกเกิดมาในช่วงเวลาที่ข่าวในพระราชสำนักเผยแพร่ข่าวพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่  9  และ  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินไปในที่ทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฏรเสมอๆ  ดังนั้นเวลาออกพระนามของทั้งสองพระองค์เจ้าของบล็อกจะมีน้ำตาคลอๆอยู่เสมอ  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงในการที่ทรงพระราชทานชีวิตให้กับพสกนิกรชาวไทยหลายหมู่หลายเหล่า  กว่าเจ้าของบล็อกจะเขียนดราฟต์บล็อกนี้เสร็จก็เล่นเอาเจ้าของบล็อกร้องไห้ไปหลายยกครับด้วยความคิดถึงทั้งสองพระองค์ครับ ****
 
 



 

นิทรรศการสืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 


ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ 


บางไทร  อยุธยา




 
 

นิทรรศการสืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง  จัดแสดงอยู่ใน  หอสุพรรณ – พัสตร์  ชั้น  2  ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ  บางไทร  อยุธยา 








 
 











พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่  9  และ  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฏรครั้งแรกในปี  พ.ศ.  2491  จากนั้นเป็นต้นมาก็ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฏรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย   ทรงเห็นว่าราษฏรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน  คราวใดที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลราษฏรก็ได้รับความเดือดร้อนลำบาก 
 
 

 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงเห็นว่าราษฎรน่าจะมีอาชีพเสริมเพื่อช่วยเหลือให้ราษฏรมีรายได้อีกทาง  เพื่อทำให้ราษฏรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น







 




 
ในปี  พ.ศ. 2494  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่  9  และ  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฏรในภาคอีสานหลายจังหวัดต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง  19  วัน  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ได้ทอดพระเนตรเห็นสตรีชาวบ้านนุ่งผ้าซิ่นไหมงดงามมารับเสด็จฯ 
 
 



ในปี  พ.ศ.  2513  เกิออุทกภัยจากน้ำในแม่น้ำศรีสงครามหลากท่วมท้น  จนบ้านเรือนและไร่นาของราษฏรในจังหวัดนครพนมได้รับความเสียหายและราษฏรได้รับความเดือดร้อน  ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรที่ประสบภัย  ที่บ้านท่าบ่อสงคราม  ตำบาลท่าบ่อสงคราม  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  เพื่อพระราชทานสิ่งของอุปโภคบริโภคเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทอดพระเนตรเห็นสตรีชาวบ้านที่มารับเสด็จฯ  ต่างนุ่งซิ่นไหมลวดลายสวยงาม  ทรงซักถามราษฏรจนได้ความว่า  “ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองในครอบครัว  ไม่ได้ทอขาย  เพราะราคาถูก  ไม่คุ้มกับแรงและเวลาในการทอ”





จีงทรงเห็นว่าในการที่จะพระราชทานความช่วยเหลือในระยะยาวเพื่อที่ราษฏรจะได้มีอาชีพเสริมที่ยั่งยืนควรจะเป็นสิ่งที่ราษฏรคุ้นเคยและทำกันอยู่ทั่วไป  ไม่ต้องจัดหาครูมาฝึกหัด  ใช้วัตถุดิบที่ราษฏรมีอยู่แล้วในท้องถิ่น   เช่น  การทอผ้ามัดหมี่ 









 



 





12  สิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงทำให้  “ผ้าไหมไทย”  เป็นที่นิยม
 



 
1. การทอผ้าไหมเป็นงานที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม  เครื่องมือในการทอผ้าไหมชาวบ้านก็มีอยู่กับตัวแล้ว  ภูมิปัญญาก็มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  และวัตถุดิบ  ตัวไหม  และ  ใบหม่อน  ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนไหมก็สามารถหาได้ในชุมชน 


2. ทรงส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมือง  และมอบหมายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไหมพื้นเมืองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น


3. ทรงอนุรักษ์ลายผ้าไหมโบราณโดยทรงกำชับคณะทำงานที่ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างผ้าไหมโบราณจากชาวบ้านว่า  “แม้แต่ผ้าที่ใช้ถูบ้านก็อย่าได้ละเลย ....”  เพราะชาวบ้านมักจะนำผ้าซิ่นเก่าๆไปทำผ้าสำหรับทำความสะอาดบ้าน


4. ผ้าไหมโบราณมีความกว้างของหน้าผ้าไม่เท่ากัน  เพราะ  “กี่”  สำหรับทอผ้าในแต่ละท้องถิ่นมีความกว้างไม่เท่ากัน  ทรงค่อยๆพระราชทานคำแนะนำแก่ชาวบ้านให้ขยายหน้าผ้าให้เป็น  1  เมตร  เท่ากันทุกพื้นที่


5. พระราชทานคำแนะนำในการทอผ้าไหมมัดหมีให้ทอเป็นลวดลายยาว  2  เมตร  และทอผ้าพื้นในผืนเดียวกันต่อไปอีก  2  เมตร  เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ซื้อจะได้นำไปตัดเสื้อผ้าได้ทันที  ดังที่เราเคยเห็นกันในปัจุจุบันว่าผ้าไหมมัดหมี่จะมีส่วนที่เป็นลวดลายและส่วนที่เป็นผ้าพื้นอยู่ในผืนเดียวกัน


6. ผ้าแพรวา  เคยนิยมทอแบบหน้าแคบมากๆ  ประมาณ  1 หรือ  2  คืบ  เพราะนิยมทำเป็นผ้าสไบเท่านั้น  ทรงพระราชทานคำแนะนำให้ขยายหน้าผ้าออกเป็น  1  เมตร  เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น  และสามารถจำหน่ายได้ในจำนวนที่มากขึ้นด้วย


7. พระราชทานโอกาสให้ผู้นำกลุ่มทอผ้ามาอบรมเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการย้อมผ้า  เพื่อที่จะได้ผ้าที่มีสีติดทนทาน  ขายได้ราคาดี


8. พระราชทานคำแนะนำให้ผู้ทอผ้าไหมทดลองใช้โทนสีที่อยู่ในสมัยนิยม


9. ทรงจัดประกวดผ้าไหมลายใหม่ๆ  ณ  พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์  ทุกๆปี  เพื่อเป็นการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก้ผู้ทอให้มีความคิดสร้างสรรค์สร้างลายผ้าไหมใหม่ๆ


10. พระราชทานกำลังใจแก่ผู้ทอผ้าอยู่เสมอมิได้ขาด  ดังที่จะเห็นได้จากที่ทรงประทับนั่งราบกับพื้นเพื่อตรวจงานผ้าไหมทอมือและมีพระปฎิสันถารกับผู้ทออย่งเป็นกันเองเป็นเวลานานๆ   


11. ทรงนำผ้าไหมจากโครงการศิลปาชีพไปตัดเป็นฉลองพระองค์  เคยพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ว่า  “ชาวบ้านเค้าจะได้ภูมิใจว่าเค้าทอผ้าให้พระราชินีใส่ ...”


12. ทรงตั้ง  “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ”  ในปี  พ.ศ.  2519  เพื่อจะเป็นศูนย์กลางในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกทั้งในและนอกประเทศ
 










 





ก่อนที่เราจะไปรู้จักผ้ามัดหมี่  เรามาทำความรู้จักกับ 
“น้อนหนอมไหม”  กันก่อนดีกว่าครับ
 


 
ไหมไทยพันธุ์พื้นบ้าน  (Thai Native Silkworms Varieties)  เป็นหนอนไหนประเภทที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร  (Mulberry  Silkworms  -- Bombyx mori)  เป็นชนิดที่ออกไข่ตลอดปี  (Polyvoltine Type) 
 



 
1. ไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านถึงแม้ตัวจะเล็ก  แต่มีความแข็งแรง  ทนต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ดี  ให้รังไหมสีเหลืองทอง  และเป็นรังไหมชนิดเดียวที่มีความแวววาวตามธรรมชาติ 


2. เส้นไหมที่ได้จากไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านจะขนาดเล็ก  มีความละเอียดและมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในสามารถสะท้อนแสงได้มากกว่า  เมื่อนำเส้นไหมหลายๆเส้นมารวมกันเป็นเส้นไหม 1 เส้นในการทอผ้า  ผ้าที่ได้จากการทอไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านจะมีความแวววาว  สะท้อนแสงได้  อันเป็นเอกลักษณ์ของไหมไทยเท่านั้น


3. เส้นไหมของไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านมีความละเอียด  นุ่ม  เมื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมจะได้ผ้าไหมที่นุ่ม  ไม่ยับง่าย


4. นอกจากไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านจะให้ประโยชน์คือเส้นไหมที่ใช้ในการทอผ้าแล้ว  เส้นไหมและรังไหมทีเป็นของไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านยังมีกรดอะมิโนถึง  18  ชนิด  และมีสารซิริซิน  ซึ่งมีสีเหลือง   ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้อีกหลายชนิดมาก  เช่น  สบู่ใยไหม  ครีมบำรุงผิว













 
 
ผ้ามัดหมี่  เป็นเทคนิคการทอผ้าชนิดหนึง  ซึ่งแตกต่างจากการทอผ้าทั่วไปคือมีการย้อมเส้นไหมให้เป็นลวดลายตามที่ได้กำหนดไว้  เรียกว่า การผูกลาย  ก่อนจะนำไปทอ  โดยใช้เชือกกล้วย  หรือ  เชือกด้วย  “มัด”  เส้นไหมเป็นเปลาะๆ  ที่เรียกว่า  “หมี่” 
 


 
ลวดลายของผ้าไหมมัดหมี่จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆ  เพราะลวดลายที่ชาวบ้านคิดสร้างสรรค์ขึ้นจะได้มาจากสิ่งรอบๆตัวและจินตนาการ 
 


 
โดยทั่วไปในภาคอีสานของไทย  จะมีผ้าไหมมัดหมี่อยู่  2  ชนิด   
 



 
1. หมี่รวด  หรือ  หมี่หว่าน  หมายถึงผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอดเป็นลวดลายเดียวกันทั้งผืน


2. หมี่คั่น  หมายถึงผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอเป็นลวดลายสลับกับสีพื้นเป็นระยะๆ





 





จากการรวบรวมลายผ้าไหมมัดหมี่จากส่วนต่างๆในประเทศไทย  สามารถจำแนก 
“แม่ลาย”  ได้ดังนี้
 





 
1. ลายหมี่ข้อ  เป็นลายที่เกิดจากการมัดหมี่ที่เส้นพุ่งเป็นข้อสั้นๆตามแนวนอน  ซึ่งแบ่งออกเป็น  “หมี่ข้อตรง”  คือเป็นลายข้อมัดขนานตรงกันทั้งผืน  และ  “หมี่ข้อหว่าน”  คือมัดเป็นข้อสับหว่างกันทั้งผืน


2. ลายหมี่โคม  เป็นลวดลายคล้ายพุ่มหรือโคม  เกิดจากการมัดเส้นพุ่งเป็นแนวทึบลดหลั่นกันโดยมีส่วนกลางยาวที่สุด  เช่น  ลายหมี่โคมห้า  คือมัดทึบลดหลั่นกันห้าแถว  หรือ  ลายหมี่โคมเจ็ด    คือมัดทึบลดหลั่นกันเจ็ดแถว 


3. ลายหมี่กง  มีลักษณะคล้ายกับลายหมี่โคม  แต่มัดเฉพาะหัวกับท้าย ให้ตรงกลางเป็นลายโปร่ง


4. ลายหมี่บักจับ  เป็นลวดลายคล้ายนกบินกลางอากาศ  โดยมัดเป็นเส้นทึบสามเส้นที่มีความสมมาตรกัน  มีเส้นกลางมีความยาวเป็นสามเท่าของเส้นที่ขนาบทั้งสองข้าง


5. ลายหมี่ดอกแก้ว  มีลักษณะเป็นลายดอกไม้มีเจ็ดกลีบ  เกิดจากการมัดหมี่เจ็ดแถวลดหลั่นกันแบบสมมาตร  โดยที่สามเส้นกลางจะยาวเท่ากัน  เรียกว่าดอกแก้วทึบ  หรือเส้นกลางมัดเฉพาะหัวท้าย  เรียกว่าดอกแก้วโปร่ง


6. ลายหมี่ขอ  เป็นลายคล้ายตะขอ  โดยมัดหมี่  21-23  ลำเป็นเส้นทึบให้เป็นแนวม้วนหัวท้ายไปคนละด้าน 


7. ลายหมี่ใบไผ่  มีลักษณะคล้ายใบไม้เรียวยาว  ทแยงขึ้นไปคนละทาง  ทอสลับกับไหมสีพื้นเป็นระยะๆ






 
 










พูดแบบไม่อายเลยนะครับ  ตอนไปชมนิทรรศการเจ้าของบล็อกเดินน้ำตาคลอตาอยู่ตลอดเวลา  ด้วยความคิดถึงพระองค์ท่าน  ถึงตอนที่ทำดราฟต์บล็อกน้ำตาก็ยังคลอ  ร้องไห้บ้างเป็นระยะๆ  ครับ   


























 
132132132​​​​​​​

 
Create Date :06 ธันวาคม 2564 Last Update :6 ธันวาคม 2564 11:42:04 น. Counter : 1189 Pageviews. Comments :26