bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เทเวศน์, กรุงเทพมหานคร ดุสิต Thailand
พิกัด GPS : 13° 46' 20.24" N 100° 30' 6.68" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม







วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร  เทเวศน์






  วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร   ตั้งอยู่ที่ เลขที่  90  ต้นถนนศรีอยุธยา  ปากคลองผดุงกรุงเกษม  แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2400   ที่ตั้งวัดเนื้อที่ 20 ไร่  และยังมีที่ธรณีสงฆ์แปลงที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  มีเนื้อที่  1  ไร่  1  งาน  94  ตารางวา  มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือโฉนดที่ดินเลขที่  8902 




 
 
การเดินทางไปยัง 
  วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร  ให้เลี้ยวจากถนนสามเสน  เข้าถนนศรีอยุธยา  ตรงแยกสี่เสาเทเวศร์  (ข้างๆหอสมุดแห่งชาติ)   ที่จะลงไปแม่น้ำเจ้าพระยา  ขับไปจนสุดถนน
 
 


 
อาณาเขตของ 
  วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร   ทิศเหนือติดกับถนนศรีอยุธยา  ตอนโค้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตท่าวาสุกรี  ทิศใต้ติดกับปากคลองผดุงกรุงเกษม  และตลาดเทวราช  ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์   ทิศตะวันออกติดกับถนนศรีอยุธยา  และตลาดเทวราชของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตอภัยทานท่าน้ำวัดเทวราชกุญชร
 




 

  วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร   เดิมเป็นวัดราษฎร์ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  คนทั่วไปเรียกกันว่า  วัดสมอแครง  สันนิษฐานว่าชื่อ  สมอ  มาจากต้นสมอที่ขึ้นกระจายอยู่ภายในวัด  แต่บางท่านสันนิษฐานว่าคำว่า  สมอ  เพี้ยนมาจากคำว่า  ถมอ  (ถะมอ)  เป็นภาษาเขมรแปลว่า  หิน  วัดนี้คงเรียกกันครั้งแรกว่า  ถมอแครง  แปลว่า  หินแกร่งหรือหินแข็ง
 



 
ต่อมา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1  ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์  พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่ 1  ผู้ทรงเป็นต้นสกุลมนตรีกุล ตามลำดับ  ในการบูรณะฯ  นั้นได้รับการอุปถัมภ์โดย  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์   (ต้นสกุลกุญชร ณ อยุธยา)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์สิ้นพระชนม์แล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระโอรสทรงอุปถัมภ์  หลังจากนั้นเจ้านายผู้สืบสกุลกุญชรให้ความอุปถัมภ์โดยลำดับต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
 



ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า 
 วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร  โดยทรงนำคำว่า  เทวราช  แปลว่าพระอินทร์  มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร  ซึ่งแปลว่าช้าง  รวมความแล้วแปลว่า  ช้างพระอินทร์



 
สมัยพระบทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2  ปรากฏชัดว่า  วัดสมอแครง  ใช้เป็นสถานที่ฌาปนกิจศพของขุนนางฝ่ายวังหน้า  เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงพระนคร  และเป็นวัดในเขตความรับผิดชอบของวังหน้า  ดังปรากฏหลักฐานในในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 2  จุลศักราช 1183  (พุทธศักราช 2364)  เลขที่ 2  ระบุว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระราชทานเพลิงศพจมื่นจงขวา  ขุนนางสังกัดพระอาลักษณ์ฝ่ายวังหน้า  ณ  วัดสมอแครง  เมื่อวันแรม  6  ค่ำ  พุทธศักราช  2364  ว่า





 
"....ด้วยพระยาธารมารับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าจะได้ชักศพจมื่นจงขวาบ้านอยู่ ณ คลองบางลำพู บ้านพระอาลักษณ์วังหน้า ไป ณ เมรุวัดสมอแครง ณ วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ เพลาเช้า ครั้นเพลาบ่าย จะพระราชทานเพลิงนั้นให้ชาวพระคลังวิเสทรับเลกต่อพระสัสดี ต่อพันพุฒ พันเทพราช ๒๐ คน ถอยเอาเรือขนานลำหนึ่งไปรับศพที่บ้าน...."
 

 




ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการบูรณะซ่อมแซม  วัดสมอแครง  อีกครั้งหนึ่ง  ดังปรากฏหลักฐานในราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่  3  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า  
"กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์บูรณะวัดสมอแครงวัด ๑..."
 




 
การซ่อมแซมวัดสมอแครงครั้งนั้น  สันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับ  พุทธศักราช  2392  เนื่องจากพบหลักฐานสมุดไทยร่างสารตรา  หมวดจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3  หมู่จุลศักราช  1211  (พุทธศักราช 2329)  ระบุว่าเจ้าพระยาจักรีมีสารตราไปถึงพระยาพิษณุโลก  พระยาสวรรคโลก  พระยาสุโขทัย  พระยาพิชัย  พระยาพิจิตร พระยาแก้วกำแพงเพชร  พระยาตาก  พระยานครสวรรค์  พระยาเถิน  ให้เกณฑ์ตัดไม้ขอนสักซ่อมแซมวัดมหาธาตุ  วัดพรหมสุรินทร์  และวัดสมอแครงสาเหตุที่ต้องบูรณะวัดสมอแครงเนื่องจากพระอุโบสถเดิมมีขนาดไม่เพียงพอต่อการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ขยายพระอุโบสถวัดสมอแครงให้กว้างขึ้นกว่าเดิม  ดังความในร่างสารตราดังกล่าวว่า




 

“ด้วย สมเต็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรม พระยารชิรญาณวโรรส  พระมหาสมณะ ประ ทาน รายงาน บฏิถังขรณ์ ของพระครูสมุห์วรคณิศรสิทธิการ ผู้รั้งเจ้าอาวาสวัดเทวราชรุญชร มายัง กระทรวงธรรมการ ว่า  พระครูสมุห์วรคณิศรสิทธิการ ได้เบิกเงินราย ทรงพระราชอุทิศ ๒,๐๐๐ บาท กับเงิน ผลประโยชน์ ขวง วัดเทวราชกุญชรอีก ๔,๗๘๘ บาท ๔ สตางค์ ไป จากกระทรวงธรรมการ แลเริยไรจาก ท่าน ที่ ทรง พระศรัทธา และ ศรัทธาได้ ๓,๕๐๔ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๐,๙๒๙ บาท  ๔ สตางค์ จักการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ กุฏิ ๓ หลัง ก่อถนนในวัต ๑๔ สายแล้วเสร็จ มีราย พระนาม และ นามผู้บริจาคทรัพย์ แจ้ง ต่อไปนี้  …”
 
 


 
 

พระอุโบสถ  มีขนาดใหญ่และสูง  กว้าง  17  เมตร ยาว  36  เมตร  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  หลังคามุงกระเบื้อง  ประดับช่อฟ้า  ใบระกาหางหงส์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระพิทักษเทเวศร์   (ต้นสกุลกุญชร ณ อยุธยา)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โปรดให้สร้างขึ้น  มีเขตพัทธสีมา  กว้าง  26  เมตร ยาว  43.50  เมตร  มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ  ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์อยู่ทั้ง  4  มุม  













 
 
 


 
 
ในปี  พ.ศ. 2555  คณะกรรมการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนสถานอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนา  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ได้เห็นชอบให้การสนับสนุนและดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2556   นอกจากนั้น  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ยังทรงมีพระราชศรัทธา  โปรดเกล้าฯ  ให้พระอุโบสถบูรณะปฎิสังขรณ์พระอุโบสถของ  วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร  โดยลำดับอีกด้วย
 






 
 







พระประธานในพระอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปโลหะ  ลงรักปิดทอง  ปางมารวิชัย  ฝีมือช่างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา  ประดิษฐานบนฐานชุกชี  ขนาดหน้าตักกว้าง  4.35  เมตร  สูงตั้งแต่พระเพลาถึงยอดเปลวรัศมี  5.65 เมตร  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร  พระราชทานนามว่า  พระพุทธเทวราชปฏิมากร  เมื่อวันที่   15  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2546  นอกจากนั้น  เมตร  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ได้โปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งล้านบาทถ้วนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถด้วย




 
 
ประวัติของ 
พระพุทธเทวราชปฏิมากร   คุณหลวงวรศักดิ์ภูบาล  เล่าว่า ....




 

“ในหลวงรัชกาลที่  3  ทรงทราบมาว่ากรุงศรีอยุธยาพบพระทององค์ใหญ่  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศร  ไปอันเชิญลงมายังพระนคร  เสด็จในกรมฯ  ได้ทรงต่อแพอันเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ล่องลงมา  ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์  แพเกิดดื้อฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตำหนักแพ  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศร  อันเชิญพระพุทธรูปนี้ขึ้นที่  วัดสมอแครง”
 
 



สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยที่มาของ  พระพุทธเทวราชปฏิมากร  ไว้ในสาสน์สมเด็จว่า
 
 





“ ... หม่อมฉันไปทอดกฐินวัดเทวราชกุญชร  สังเกตเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปหล่อที่เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นลักษณะแบบพระสมัยทวารวดี  แต่องค์พระเป็นพระแบบกรุงรัตนโกสินทร์  สืบตามได้ความว่า  พระประธานองค์นั้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์อันเชิญลงมาจากเมืองลพบุรี  ก็เข้าใจว่าคงได้แต่เศียรมาหล่อองค์ที่ในกรุงเทพ ฯ  หม่อมฉันจำขนาด  ไปตรวจดูที่เมืองลพบุรี  เมื่อภายหลังก็พบกับแหล่งเดิม  ว่าเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ  วัดอื่นหามีที่ตั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่านั้นไม่...”
 
 




การถวายเครื่องสักการะแด่องค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร นับว่าแปลกกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากพุทธศาสนิกชนนิยมถวาย “ผ้าไตร” แทนดอกไม้ธูปเทียน นับเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่มีการนำผ้าไตรมาเป็นเครื่องสักการะพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ปรารถนา มาจนทุกวันนี้
 















 
 
 
เจ้าของบล็อกรู้สึกแปลกตาตั้งแต่ก้าวเข้าไปในพระอุโบสถแล้ว  เมื่อลองพิจารณาดูดีๆ  ก็คงเป็นเพราะว่า  สีของภาพจิตกรรมผนัง  ทำให้บรรยากาศในพระอุโบสถแปลกออกไปจากวัดแห่งอื่นๆ
 



 
จิตรกรรมฝาผนังเป็นแบบไทยประเพณี  แต่สีของภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็น  สีน้ำเงินน้ำทะเล  เป็นหลักครับ  ซึ่งต่างจากจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณีที่จะมีพื้นสีแดงเป็นหลัก 
 
 


 
ด้านหลังพระประธาน  ด้านข้างตอนบนเหนือช่องหน้าต่างทั้ง  2  ด้าน  และด้านตรงข้ามกับพระประธาน  เขียนภาพเหตุการณ์เหล่าเทพยดามาชุมนุมกัน  ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน ส่วนจิตรกรรมที่ผนังตอนล่างระหว่างช่องประตูหน้าเป็นภาพทศชาติ เรื่อง สุวรรณสาม และด้านหลังเป็นภาพวัดเทวราชกุญชรเดิมก่อนที่จะมีการสร้างพระอุโบสถหลังนี้
















 
 

พระวิหาร  ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ ภายในกำแพงแก้ว  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน   หลังคามุงกระเบื้องดินเผา  เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างสมัย  ทำด้วยทองเหลือง  ลงรักปิดทอง  ขนาดหน้าตัก  19  นิ้ว สูง  43  นิ้ว จำนวน  9  องค์  ซึ่พระบามสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร  พระราชทานแก่วัดเทวราชกุญชร  (ปางสมาธิ ศิลปะสมัยทวารวดี  ปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี  ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน  ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง  ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย  ปางลีลา ศิลปะสมัยสุโขทัย  ปางสมาธิ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ปางสมาธิ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง  พระคันธารราษฎร์)

















 
 
 
ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของ 
พิพิธภัณฑ์ไม้สักทองวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร   อาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์  2  ชั้น กว้าง  16.75  เมตร  ยาว  30.15  เมตร  ใช้เสาไม้สักทองทั้งหลัง ขนาดเสา  2 คนโอบที่มีอายุประมาณ  479  ปี




 

พิพิธภัณฑ์ไม้สักทองวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร  สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ไม้สักทอง และเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา  และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร  เมื่อครั้งที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เมื่อคั้งที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา
 
 



ภายในจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา



























 
 
 
 
เปิดทุกวัน เวลา 07.00 - 18.00 น.
 
 






ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่เอื้อเฟื้อข้อมูลทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ



 
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร – วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
วัดเทวราชกุญชร – ท่องวัดผ่านเว็บ

 
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร – ศูนย์กลางข้อมูลด้านศาสนา

 
รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดเทวราชกุญชร สง่างามสมนาม “ช้างพระอินทร์” - mgronline.com


 













 
134135136​​​​​​​
 
Create Date :14 พฤศจิกายน 2565 Last Update :14 พฤศจิกายน 2565 9:42:32 น. Counter : 1873 Pageviews. Comments :18