=== ลาก่อน F-5B The Oldest Tiger ในพิธีปลดประจำการ F-5B อย่างเป็นทางการ === ![]() ตั้งแต่การบินเที่ยวสุดท้ายที่กองบิน 7 สุราษฏ์ และ การบินเที่ยวสุดท้ายของเครื่องมาลงที่กองบิน 6 ดอนเมือง โดยผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ......... วันนี้ คือบทสรุปหน้าสุดท้าย ของตำนานของเครื่องบินรบที่เป็นตำนานของโลกลำนี้ F-5 Freedom Fighter ...... นั้นคือการทำพิธีปลดประจำการ F-5B "The Oldest Tiger" เครื่องแรกของโลก ณ บริเวณลานจอดของฝูงบินที่ 603 กองบิน 6 ดอนเมือง โดยท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และลูกศิษย์ของ F-5B ลำนี้ ได้ให้เกียรติกับอาจารย์ของตน ในพิธีปลดเกษียร วันนี้ มีเรื่องราวเล็ก ๆ ของเจ้า F-5B เครื่องนี้ ในพิธีปลดประจำการมาฝากครับ วันที่ 28 ธ.ค. 2550 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ก หรือ F-5B Freedom Fighter ทะเบียน 70101 หมายเลข 38438 หมายเลขการสร้าง N.8001 โดยมี พลอากาศเอก พุฑฒิ มังคละพฤกษ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ผู้ซึ่งทำการบิน F-5B เที่ยวสุดท้าย จากกองบิน 7 สุราษฏ์ มาที่กองบิน 6 ดอนเมือง เป็นผู้รายงานและดำเนินพิธีการ พร้อมกับคณะนายทหารของกองทัพอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือผู้ที่เคยฝุกบินกับ F-5B "The Oldest Tiger" เครื่องนี้ มาร่วมงานกัน ![]() นอกจากนั้น ยังมีเหล่าช่างของฝูงบิน 701 ของบิน 7 สุราษฏ์ ที่รับผิดชอบ ดูแลรักษา F-5B เครื่องนี้ มาร่วมในพิธีด้วยครับ ![]() หลังจากเสร็จสิ้นคำกล่าวสดุดี วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ F-5E จำนวน 4 ลำ ของฝูงบิน 701 ได้บินเกาะหมู่ 4 ผ่านในระยะต่ำ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับเครื่องบินลำนี้ ![]() และผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ทักทายกับบรรดาช่างที่เข้าร่วมพิธี (ได้ยินผบ.ทอ. พูดกับช่างว่า ขอบคุณมาก เยี่ยมมาก ฯลฯ) ![]() พร้อมกับถ่ายภาพคู่กับ F-5B และเดินชมเครื่อง ![]() ถ้ายังจำกันได้ ......... ผู้บัญชาการทหารอากาศคนนี้ เป็นนักบิน F-5 ที่มีชั่วโมงบินกับ F-5 มากกว่า 2,000 ชม. ถือเป็นนักบิน F-5 คนแรกของไทยและเอเชียที่ทำการบินได้มากขนาดนี้ และตั้งแต่เข้ารับการฝึกเป็นนักบินขับไล่เป็นต้นมา ก็ทำการฝึกกับ F-5B เครื่องนี้มาโดยตลอด จึงถือได้ว่า F-5B ลำนี้เป็น "ครู" ของท่านคนหนึ่งเหมือนกัน ![]() สุดท้าย นายทหารระดับสูง ก็ได้ร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับ F-5B พร้อมกับ F-5E ที่บินผ่านในระดับต่ำ ........ คงไม่ต้องบอกว่า หลาย ๆ ท่านที่ยืนอยู่ในภาพนี้ ต่างเคยทำการลบินกับเครื่องบินลำนี้มาแล้ว ![]() พิธีการอย่างเป็นทางการจบแล้วครับ ......... หลังจากนี้ ก็เป็นคิวของการถ่ายภาพและเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันครับ อย่างภาพนี้ ......... คนที่สองจากขวาคือ พลอากาศโท พิธพร กลิ่นเฟื่อง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายการข่าว เป็นนักบินทดสอบที่เก่งที่สุดในประเทศไทย เขาพูดกันว่า ไม่มีเครื่องบินลำไหนในโลกที่ท่านบินไม่ได้ (เพราะท่านบินมาแทบจะครบหมดแล้ว ) ล่าสุด ท่านก็เป็นนักบินทดสอบให้กับเครื่อง บ.ชอ. 2 ที่กองทัพอากาศจัดสร้างเอง ..... ส่วนคนถัดมาทางซ้ายคือ พลอากาศตรี ดร. ชนนนาถ เทพลิบ รองเจ้ากรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ซึ่งถ้าใครอ่านนิตยสาร Tango จะต้องคุ้นชื่อแน่นอนครับ ![]() รวมทั้งคุณลุงนายทหารสรรพวุธประจำเครื่อง ....... ก็ขอหล่อ ๆ กับเขาด้วยสักรูปครับ ![]() ![]() จบจากหล่อ ๆ ก็มาต่อกันที่สวย ๆ ครับ ![]() ![]() ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ...... ผมจะขอ Walk Around เจ้าเสือแก่สักเล็กน้อย ตามระเบียบครับ ![]() ความจริงลุงเสือแกไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่า F-5B ลำอื่น ๆ ในแง่คุณสมบัติของเครื่องครับ ....... แต่ความพิเศษตรงที่แกเป็นลูกคนโตสุดจากสายการผลิต ก็ทำให้แกได้รับเครื่องหมายพิเศษติดที่บริเวณห้องนักบิน นันคือคำว่า The Oldest Tiger พร้อมกับรูปเสือ 1 ตัว ![]() ที่หาง มีข้อความนี้ครับ ...... 44 Years of The First F-5B of The World (นับตั้งแต่ออกจากสายการผลิต) ............. พร้อมรูปธงชาติไทย, รูป F-5B, Serial No. และสัญลักษณ์ของกองบิน 7 ครับ F-5B ลำนี้ได้รับมาโดยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาครับ โดยขนส่งมาทางเรือและมาประกอบที่กองบิน 6 ดอนเมือง โดยช่างของกองทัพอากาศ รวมถึงขึ้นบินครั้งแรกที่นี่ เมื่อครั้งที่ที่นี่ยังมีสภาพเป็น ฝูงบิน 13 กองบิน 1 ...... จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมจึงต้องจัดพิธีที่นี่ครับ ![]() นี่คือห้องนักบินด้านหน้าครับ เป็นห้องนักบินที่สร้างนักบินขับไล่ชั้นยอดมาแล้วหลายคน เพราะที่นี่จะเป็นที่นั่งของศิษย์การบินครับ บางท่านที่ชอบเครื่องบินรบ อาจจะมองหาจอเรด้าร์ ........ เหอ ๆ ๆ อยากจะบอกว่า หาไปก็ไม่เจอครับ "เพราะเจ้าเครื่องนี้ไม่มีเรด้าร์" .......... แต่ยิงจรวดได้นะครับ เพราะจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะใกล้แบบ AIM-9P ที่เป็นอาวุธหลักของลุงเสือ ไม่ต้องใช้เรด้าร์ครับ เมื่อนักบินจะยิงจรวดใส่ข้าศึก จะใช้เซนเซอร์ของตัว AIM-9P ในการตรวจจับสัญญาณความร้อนหรือรังสีอินฟาเรดที่ออกมาจากเครื่องยนต์ และเมื่อรับสัญญาณความร้อนได้มากพอ ก็จะมีเสียงปี๊บ ๆ ๆ ๆ ในห้องนักบินและนักบินก็สามารถสั่งยิงจรวดได้ครับ ![]() ส่วนอันนี้เป็นห้องนักบินหลังครับ เป็นที่นั่งของครูการบิน ![]() ได้กลิ่นน้ำมันไหมครับ? เพราะนี่คือข้างในเครื่องยนต์ ผมยื่นหน้าเข้าไปถ่าย ......... เอิ๊ก ๆ ๆ ![]() ฝาครอบห้องนักบินของ F-5 ปิดด้วยมือนะครับ ไม่ได้มีระบบอัตโนมัติเหมือนเครื่องรุ่นอื่นของกองทัพ ![]() เอาล่ะครับ ลุงเสือแกยืนตากแดดตากลมมาหลายชั่วโมงแล้ว กลับบ้านดีกว่าครับ ........... งานนี้ลากไปนะครับ เพราะเราไม่ได้สตาร์ทเครื่องอีกแล้วครับ ![]() ณ ตอนนี้ ลุงเสือแกจะพักอยู่ที่โรงเก็บของทอ. ก่อนครับ เพราะในวันเด็ก แกมีคิวโชว์ตัว จากนั้นจึงจะทำการเคลื่อนย้ายเข้าไปในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ดอนเมืองครับ ![]() สโลแกนของงานนี้คือ The Old Fighter Never Die, Just Fade Away. ........... ปรับมาจากวลีอมตะของนายพล ดักลาสน์ แม็กอาร์เธอครับ ...... The Old Soldier Never Die. They Just Fade Away. ![]() สำหรับวันนี้ก็คงจบลงตรงนี้ครับ ........... ท่านใดอยากเจอลุงเสือตัวจริง เชิญพบได้ที่งานวันเด็กของกองทัพอากาศ วันที่ 12 ม.ค. 2551 ครับ ...... แกจะมาเล่นกับหลาน ๆ ก่อนกลับบ้านที่พิพิธภัณธ์กองทัพอากาศ ดอนเมือง ![]() เพื่อให้กระทู้นี้สมบูรณ์มากขึ้น ขอนำบทความของคุณท้าวทองไหลมาประกอบครับ WINGS OF SIAM เครื่องบินไทยในยุคสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตอนที่ ๕ เครื่องบินฝึกขับไล่เอฟ-๕ บี ( บข.๑๘ ก.) โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์ เมื่อกล่าวถึงเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ-๕ เอ โดยที่มองข้ามไม่กล่าวถึงเครื่องบินฝึกขับไล่สองที่นั่งแบบ เอฟ-๕ บี ที่มีอายุมากกว่า ๓๗ ปี โดยเฉพาะเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโฑลกที่อยู่ในประเทศไทยแล้วหละก็ ปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลาหยุดพักผ่อนของเครื่องบินรุ่นนี้ แต่ผมก็จะขอแนะนำให้รู้จักกับเครื่องบินขับไล่แบบนี้ เพื่อให้เรื่องราวของเครื่องบินขับไล่ในตระกูล ฟรีดอมไฟร์ทเตอร์ ที่ประกอบด้วย เอฟ-๕เอ / บี / ซี และ อาร์เอฟ-๕ เอ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะบังเอิญว่าผมเคยตั้งใจแล้วว่าคอลัมน์มีความประสงค์เหลือเกินที่จะนำเสนอเฉพาะเครื่องบินที่ปลดประจำการไปแล้ว เอาเป็นว่าผมขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย ..แบบ ( ขอเสียงตบมือต้อนรับด้วยอีกสักครั้งครับ ) . เครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียง แบ เอฟ-๕ บี จัดเป็น บ.ขับไล่สมรรถนะสูงความเร็วเหนือเสียงแบบแรกที่ได้บรรจุเข้าประจำการใน ทอ. ซึ่งผลิตโดยบริษัท NORTHROP (USA) ใช้เป็นเครื่องบินฝึกขับไล่ ขับไล่ทิ้งระเบิดและลาดตระเวน ความเร็วเหนือเสียง ความเร็วสูงสุด 1.40 มัค หรือประมาณ 1,750 กม./ชม. รัศมีทำการรบ 925 กม. ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 20 มม. 2 กระบอก แต่ละกระบอกบรรจุกระสุน 280 นัด สามารถติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9 ได้ 2 นัด และสามารถติดตั้งลูกระเบิดแบบต่าง ๆ ได้อีก 5 ตำแหน่ง เครื่องต้นแบบของ เอฟ-๕ เครื่องแรกของโลกได้ทำการบินเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2502 ที่สหรัฐฯ ได้รับสมญานามว่า FREEDOM FIGHTER และสำหรับ เอฟ-๕ บี เครื่องบินขับไล่ฝึกสองที่นั่งเรียงตามกัน เครื่องแรกของโลกนั้น ( Sel.No.63-8438 ) ได้ทำการครั้งแรกในวันที่ 24 ก.พ.2507 ที่สหรัฐเช่นกันนับจากวันนั้น จวบจนกระทั่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานถึง 37 ปีโดยมีชั่วโมงบินประมาณ 5,400 ชั่วโมงแล้ว เอฟ-๕ บี เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟ-๕ ที่มีสองที่นั่ง ใช้ในการฝึกบินเปลี่ยนแบบ และบินขับไล่ โดยที่นั่งหลังหรือที่นั่งครูการบินจะถูกยกให้สูงขึ้น 10 นิ้ว เพื่อประโยชน์ในการมองไปข้างหน้าเพิ่มขึ้น รูปร่างและสมรรถนะของเครื่องโดยทั่วไปจะเหมือนกับ เอฟ-๕ เอ ที่นั่งเดียว จะแตกต่างอยู่ที่ส่วนหัวเครื่อง เอฟ-๕ บี จะไม่ติดตั้งปืนกลอากาศ แต่ยังคงสามารถปฏิบัติการบินรบได้เช่นเดียวกับ เอฟ-๕ เอ ยกเว้นปืนกลอากาศเท่านั้น กองทัพอากาศไทยรับมอบเอฟ-๕บี ชุดแรกในปลายปี ๒๕๐๙จำนวน ๒ เครื่อง Sel.No.63-8438 และ 63-8439เดิม เอฟ-๕ บี สองเครื่องนี้เป็นเครื่องบินฝึกของกองทัพอากาศสหรัฐฯมาก่อน โดยใช้สีบรอนซ์เงิน มีเพียงหมายเลขเครื่องที่หางและธงชาติไทยเท่านั้น ในภายหลังเพิ่มลายหางสีแดงพร้อมสายฟ้าและ เสือโคร่งกระโจมที่หัวเครื่อง เดิมกองทัพอากาศกำหนดชื่อเป็น " บฝข.๑๘ " (ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ นิตยสารการบิน กองบินยุทธการ กองทัพอากาศ ฉบับที่ ๑๐ ประจำ ตุลาคม ๒๕๑๐ ) บรรจุเข้าประจำการก่อน เอฟ-๕เอ ในฝูงบินขับไล่ที่ ๑๓ กองบิน ๑ ดอนเมือง(ขณะนั้นตั้งอยู่ที่ฝั่งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย) เพื่อใช้ฝึกนักบิน เอฟ-๘๔ จี และ เอฟ-๘๖ เอฟ/แอล ที่จะมาบินกับเอฟ ๕เอในต้นปี ๒๕๑๐ กองทัพอากาศได้รับมอบเอฟ-๕เอจากรัฐบาลสหรัฐฯตามโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบให้เปล่าต่อพันธมิตรทางทหาร ทั้งหมดบรรจุเข้าประจำการที่ฝูง ๑๓ ดังนั้นจึงมีการกำหนดชื่อ เอฟ-๕ บี เรียกตามแบบ ทอ.ไทยใหม่ว่า "บข.๑๘ ก." กำหนดหมายเลขเครื่องทั้งสองเป็น 1301 และ 10302 ( 63-4838 และ 63-4839 ตามลำดับ ) ตั้งแต่นั้นมา อนึ่งในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทรงเยี่ยมกองบิน ๑ ดอนเมือง และในโอกาสนี้ น.อ.บุญสม อยู่ออมสิน ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นชุดนักบินและประทับบนที่นั่งหน้าของเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ-๕ บี หมายเลข 1302 (Sel.No.63-4839 ) ได้รับการถวายคำอธิบายเกี่ยวกับการติดเครื่อง การขับเคลื่อน ฯลฯ พระองค์เมื่อทรงประทับแล้วได้ทรงทำการติดเครื่องและทำการขับเคลื่อนไปตามลานจอด ด้วยพระองค์เอง แม้จะมิได้บินขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ก็นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นกระหม่อมหาที่สุดไม่ได้ สร้างความปลื้มปิติยินดีและยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวกองทัพอากาศไม่รู้ลืม ในปี ๒๕๑๙ กองทัพอากาศรับมอบเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ บี อีกหนึ่งเครื่อง ( Sel.No.73-1609 กำหนดหมายเลขเป็น 1303 ) แต่ในปีเดียวกันนี้ทั้งสามเครื่องย้ายไปอยู่ที่ตั้งใหม่ กองบิน ๑ นครราชสีมา ( ร่วมกับกองบินที่ ๓๘๘ ของกองทัพสหรัฐฯ ) จึงกำหนดชื่อฝูงใหม่เป็น ฝูงบินขับไล่ที่ ๑๐๓ กองบิน ๑ ช่วงนี้ในระยะแรกยังคงใช้สีเดิมเครื่องหมายเดิมเปลี่ยนเพียงหมายเลขฝูงจากเลข ๔ หลักเป็น ๕ หลัก ในปีเดียวกันนี้ กองทัพอากาศต้องสูญเสียเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องหมายเลข ๒ หมายเลขฝูง 1302 ( Sel.No.63-8438 )ไปในระหว่างการฝึกบินเหนือสนามบิน พร้อมชีวิตครูการบิน และ ศิษย์การบิน คือ ร.ท.ปรีชากร พันธ์นิล และ ร.อ.ศรเดช ศิริมงคล เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย. ๑๙ เวลา ๑๔๑๓ อันเนื่องมาจากจะต้องสร้างนักบินใหม่ๆของฝูงบินเองและเพื่อให้สามารถส่งไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ อี ที่มีสมรรถสูงกว่าซึ่งกำลังจะรับมอบในปีถัดไป (๒๕๒๑ ) การขาดแคลนเครื่องบินฝึกหรือการมีเครื่องบินฝึกขับไล่เพียงแค่สองเครื่องกับนักบินฝูง ๑๐๓ ที่มีมาก และที่สำคัญคือการที่จะต้องสร้างนักบินใหม่ๆเพื่อให้สามารถส่งไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ อี ที่มีสมรรถสูงกว่าดังกล่าว เครื่องบิน เอฟ-๕ บี ทั้งสองเครื่องที่เหลือในช่วงนี้เปลี่ยนสีเป็นสีพลางท้องขาวแบบเดียวกับ เอฟ-๕ เอ และ เอฟ-๕ ซี โดยยังคงเครื่องหมายรูปเสือเอาไว้ที่เดิม ในปี ๒๕๒๕ ภายหลังจากส่ง น.ท.อมร แนวมาลี (อดีต ผบ.ทอ. ) ตำแหน่งขณะนั้นเป็นเสนาธิการกองบิน ๑ ไปทำการทดสอบเครื่องบินเอฟ-๕ บี ของ กองทัพอากาศมาเลเซีย ดังนั้น กองทัพอากาศจึงจัดซื้อเครื่องบินแบบ เอฟ-๕บี ทั้ง ๒ เครื่อง จาก ทอ.มาเลเซีย เพื่อใช้ฝึกบินดังกล่าว (Sel.No.74-0778 และ 74-0779 กำหนดหมายเลขฝูงเป็น 10302 เพื่อทดแทนหมายเลขเครื่องที่ตก และ 10304 ตามลำดับ ) ทั้งสองเครื่องใช้สีเทาอมเงิน ที่ส่วนหัวมีการพ่นแล็คเกอร์ไว้อย่างหนาเพื่อป้องกันสีลอกจากการเสียดสีกับอากาศขณะบินด้วยความเร็วสูง ภายหลังต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้าล้วนๆ เมื่อ เอฟ-๕ ฝูง ๑๐๓ ทั้งหมดย้ายไปอยู่ ฝูง ๒๓๑ กองบิน ๒๓ อุดร ตั้งแต่ ปี ๒๕๒๘ แต่เนื่องจากสนามบินอุดร ปิดซ่อม เครื่องบินทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่อุดรจริงๆ ในปลายปี ๒๕๒๙ จึงมีเอฟ-๕ บี บางเครื่องยังคงรูปเสือ แต่เป็นลายสีดำ แห่งถิ่นถ่ำเสือไว้เป็นที่ระลึกอยู่ระยะหนึ่ง ในปี ๒๕๓๐ มีการจัดซื้อเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เพิ่มอีกสองเครื่อง จากสหรัฐฯ เพื่อใช้ฝึกนักบิน หลังจากนั้นมีการจัดหาจากสหรัฐฯ เป็นเครื่องบินสีเทาขาว คาดสีดำที่ห้องนักบิน และช่วงระยะแรกยังคงเครื่องหมาย LA ที่แพนหางไว้ระยะหนึ่งภายหลังลบออกแล้วพ่นเครื่องหมาย HUNTER เมื่อเครื่องพร้อมใช้งาน ช่วงระยะแรกๆของ เอฟ-๕ ที่อยู่กองบินนี้มีการใช้เครื่องหมายที่แพนหางสองในช่วงแรกเป็นรูปหัวเยี่ยวสัญลักษณ์กองบิน ๒๓ เดิมและเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายฮันเตอร์ ประวัติการรบอันกล้าหาญของ เอฟ-๕ บี นอกจากการใช้อาวุธสนับสนุนระหว่างการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แล้ว ในปี ๒๕๓๑ ระหว่างการรบในกรณีพิพาทเหตุการณ์บ้านร่มกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เอฟ-๕บี ของฝูงบินขับไล่ที่ ๒๓๑ จำนวน ๔ เครื่อง เข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายตรงข้าม ในวันที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๓๑ (วันเดียวกับที่กองทัพอากาศสูญเสีย เครื่องบินโจมตีแบบ โอวี-๑๐ ซี ) วันนั้น เอฟ-๕ บี ของฝูงบิน ๒๓๑ ที่มี น.ต.ธีระพงษ์ วรรณสำเริง และ ร.ต.ณฤทธิ์ สุดใจธรรม ถูกจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ แซม ๗ ยิงเข้าที่เครื่องยนต์ขวาได้รับความเสียหาย แต่นักบินทั้งสองนายก็สามารถนำเครื่องบินกลับมาลงที่อุดรได้อย่างปลอดภัย ( 23102 Sel.No.74-0779 ) ซึ่งภายหลังทั้งสองท่านได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ส่วนเครื่องบินเอฟ-๕ บี เครื่องดังกล่าวก็สามารถซ่อมบำรุงและกลับเข้ามารับใช้ชาติได้เหมือนเดิม เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ในปี ๒๕๓๙ กองบิน ๒๓ ได้จัดงานฉลองเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ( 63-4838 )ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย โดยมีการเขียนเครื่องหมายและรวดลายที่สวยงาม จนกระทั่งในปี ๒๕๔๑ เอฟ-๕บี ที่เหลือเพียง ๓ เครื่องจากทั้งหมด ๗ เครื่อง ( ๑ เครื่องเกิดอุบัติเหตุตก , ๑ เครื่องอุบัติไฟไหม้เครื่องยนต์ขณะเติมน้ำมัน และ ๒ เครื่อง หมดอายุการใช้งานโดยมีชั่วโมงถึง ๖,๐๐๐ ชั่วโมง ) ที่เหลือเพียง ๓ เครื่องประกอบด้วย 63-8438 , 74-0778 และ 74-0779 ย้ายไปบรรจุฝูงบินขับไล่ที่ ๗๑๑ กองบิน ๗๑ สุราษฏ์ฯ ยังคงใช้สีพลางเขียวเช่นเดิม แต่ในปี ๒๕๔๓ เปลี่ยนชื่อฝูงบินเป็น ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ แทน ตามคำสั่งกองทัพอากาศ โดยทั้งหมดเปลี่ยนสีเป็น สีพลางเทา เช่นเดียวกับเอฟ-๕ อี ฝูง ๗๐๑ ในปี ๒๕๔๔ กองบิน ๗ ได้จัดงานฉลองเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ( 63-8438 )ในโอกาสครบรอบ ๓๗ ปี ที่สร้างขึ้นมา ถือเป็นเอฟ-๕ เครื่องที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงประจำการอยู่ ตลอดอายุและเวลาที่รับใช้ชาติ เอฟ-๕ บี ได้สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของชาติทั้งในประเทศและตามแนวชายแดนแม้จะสูญเสียในระหว่างการรบไปจำนวนหนึ่งก็ตาม เอฟ-๕ บี เคยประจำการอยู่ที่ ฝูง ๑๓ , ฝูงบินที่ ๑๐๓ , ฝูงบินที่ ๒๓๑ , ฝูงบินที่ ๗๑๑ และปลดประจำการในฝูงสุดท้ายที่ฝูงบิน ๗๐๑ ![]() เครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ บีของกองทัพอากาศไทย โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์ บ.F-5A/B ที่ ทอ.ได้รับมานั้น เริ่มบรรจุครั้งแรกที่ฝูงบิน 13 กองบิน 1 ดอนเมือง (ปี 2509) ใช้นามเรียกขานว่า LIGHTNING ในปี 2519 ได้เริ่มย้าย บ.F-5A/B จากฝูงบิน 13 กองบิน 1 ดอนเมือง ไปสังกัด ฝูง 103 กองบิน 1 จ.นครราชสีมา ใช้นามเรียกขาน LIGHTNING เหมือนเดิมการเคลื่อนย้ายได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2521 ในปี 2529 ทอ.ได้ปรับวางกำลังใหม่ โดยให้ย้าย บ. F-5A/B จากฝูงบิน 103 ฯ ไปสังกัดฝูงบิน 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี และได้เปลี่ยนนามเรียกขานใหม่เป็น "HUNTER" ในปี 2541 ได้ย้าย บ.F-5A/B จากฝูง 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี ไปสังกัดฝูง 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานีรวมกับ บ.F-5E ที่มีอยู่เดิมและได้ใช้นามเรียกขานเป็น "SHARK" ในปี 2543 ทอ.ได้ปลดประจำการ บ.F-5A แต่ยังคงใช้งาน บ.F-5B ที่มีอยู่จำนวน 3 เครื่องและ RF-5A อีก 1 เครื่องต่อไป บข. ๑๘ ก. เอฟ-๕ บี ฟีร์ดอมไฟเตอร์ ( F-5 B Feedom Fighter ) ผู้สร้าง......................บริษัทนอร์ธรอป แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเภท....................เครื่องบินไอพ่นฝึกขับไล่ทิ้งระเบิด ความเร็วเหนือเสียง สองนั่งเดียว เครื่องยนต์................เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตแฝดแบบ เจเนอรัล อิเลคทริค เจ-๘๕ จีอี-๑๓ ให้แรงขับ ๔,๐๘๐ ปอนด์เมื่อใช้สันดาปท้าย ๒ เครื่อง กางปีก......................๗.๘๗ เมตร ยาว........................ ..๑๔.๑๒ เมตร สูง.............................๓.๙๘ เมตร อัตราเร็วสูงสุด......... ๑,๔๓๔ กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ( ๑.๓๔ มัค ) เพดานบิน.................๑๕,๘๕๐ เมตร พิสัยบินไกลสุด.........๒,๐๙๒ กิโลเมตร รัศมีทำการรบ...........๙๑๗ กิโลเมตร เมื่อติดอาวุธหนัก ๑,๕๐๐ ปอนด์ พร้อมถังน้ำมันอะไหล่ อาวุธ...................@ลูกระเบิดขนาดต่างๆมีน้ำหนักรวม ๖,๒๐๐ ปอนด์ ที่ใต้ปีก และลำตัว ๕ ตำแหน่ง @จรวดนำวิถีแบบ เอไอเอ็ม ๙ ไซด์ไวน์เดอร์ ข้างละลูกที่ปลายปีกทั้งสองข้าง @กระเปาะถ่ายภาพแบบ ทอ. พัฒนาเอง ที่ใต้ลำตัวในภารกิจลาดตระเวณ ประจำการ...............บรรจุประจำการใน ทอ. ปี พ.ศ.๒๕๐๙ - ปัจจุบัน ![]() ![]() ![]() ![]() โดย: นางน่อยน้อย
![]() ขอแอดเป็นเพื่อนนะครับ บลอคดีความรู้ดีมากมาก
ผมก็ลูกทัพฟ้าครับ อยู่รร.การบิน กำแพงแสน โดย: Thales of Miletus
![]() |
บทความทั้งหมด
|
เท่ห์มากครับ
หวัดดีปีใหม่นะครับ