เหอ ๆ
นี่เป็นครั้งแรกเหมือนกันครับที่ผมเขียนเรื่องทหารอ๊ะ ๆ .... ที่ผ่านมา ผมเขียนแต่เรื่อง "อาวุธ" นะครับผม เรื่อง "ทหาร" ที่เป็นตัวบุคคลนั้น ผมไม่เคยกล่าวถึงหรือวิจารณ์เลยเพราะมันเสี่ยงที่จะทำให้ถูกด่าฟรี เพราะความชอบหรือไม่ชอบของคน เพราะความเชื่อหรือไม่เชื่อของคนนั้นแหละ
เลยไม่รู้จะพูดไปทำไม ทุกวันนี้มีแต่คนที่ใช้อารมณ์สร้างเหตุผลเพื่อความชอบธรรมของตน จนกฏหมายบ้านเมืองก็ไม่สนใจแต่ มีหลายสิ่งน่าสนใจในประเด็นนี้ จึงขอฉลองบทความแรกที่เขียนเกี่ยวกับทหารในบทความนี้ครับ

ปี 2551 นี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งคือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพพร้อมใจกันเกษียรอายุราชการกันถึง 3 ท่าน
ดังนั้น ผมจึงขอใช้ความรู้งู ๆ ปลา ๆ ของผมวิจารณ์ผู้บัญชาการเหล่าทัพแต่ละท่านทั้งที่เกษียณแล้วและยังไม่เกษียณครับ ถือว่าเป็นความเห็นของพลเรือนคนหนึ่งที่สังเกตุกองทัพอยู่ห่าง ๆ นั่นเอง 
พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพลเอกบุญสร้างถือเป็นนายทหารที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง ท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าโดยได้คะแนนเป็นลำดับต้น ๆ จึงได้รับทุนของกองทัพไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนนายร้อยสหรัฐ (West Point)
นอกจากนั้นยังได้รับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกลจาก Massachusetts Institute of Technology และปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมโครงสร้างจาก Asian Institute of Technology ประเทศไทย ท่านเติบโตมาในสายงานวิชาการมาโดยตลอด
และยังเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง UNTAET (United Nations Transitional Administration In East Timor) หรือกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการบริหารของสหประชาชาติ ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยอย่างสูง
บทบาทที่สำคัญในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็คือกรณีการเผชิญหน้าในข้อพิพาษด้านเขาพระวิหาร
โดยท่านก็ได้แสดงบทบาทและจุดยืนมาโดยตลอด และในที่สุดท่านก็ได้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของไทยซึ่งทำการเจรจานัดแรกกับพลเอกเตียร์ บัน รัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชา ผมชื่นชมในการวางตัวของท่าน และชื่นชมในการวางเกมส์ของท่าน หลังจากท่านได้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจา ท่านก็แสดงบทบาทสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางการฑูตของประเทศได้เป็นอย่างดี
ผลงานสำคัญของท่านก็คือการแสดงบทบาทของกองทัพไทยและประเทศไทยในกรณีพิพาษว่าประเทศไทยยึดถือแนวทางสันติภาพ ทำให้เราไม่เพลี้งพล้ำต่อเกมส์การรุกทางการฑูตของกัมพูชาสำหรับผม ถือว่าท่านสอบผ่านครับ
คะแนน การทำงานในหน้าที่ 5 คะแนน
การวางบทบาท 3 คะแนน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ผู้บัญชาการทหารบกผบ.ทบ. คนที่ 36 ท่านนี้ ถือได้ว่าเป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง หลังจากจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแล้ว
ท่านเคยปฏิบัติการรบในสงครามลับในลาวภายใต้บก.หน่วยผสม 333 นอกจากนั้นยังเคยปฏิบัติงานในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และเคยปฏิบัติงานในแผนป้องกันประเทศของกองกำลังบูรพา ในช่วงที่ภัยคุกคามจากต่างชาติพุ่งสูง และเป็นทหารเสือราชินีคนหนึ่ง (จากการรับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) และยังจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสำหรับนักบริหาร) จาก NIDA อีกด้วย
ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะการบริหารราชการตามปกติ
ผมชื่นชมที่ท่านออกมากล่าวอย่างหนักแน่นว่า ทหารจะต้องทำหน้าที่ของทหารเท่านั้น และทหารจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งท่านก็ได้แสดงบทบาทเช่นนี้เรื่อยมา แม้แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ที่เกิดการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล
ถือเป็นการกู้ศรัทธาให้กองทัพและลดความหวาดระแวงของประชาชนได้ในระดับหนึ่งผลงานด้านการวางกำลังในกรณีพิพาษพิพาษด้านเขาพระวิหารก็เป็นสิ่งที่ท่านทำได้อย่างดียิ่งไม่แพ้พลเอกบุญสร้าง
นอกจากนั้นการทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ถือเป็นผลงานหนึ่งที่น่าพอใจ เนื่องจากการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง และใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารเชิงรุกได้ถูกต้อง ถูกเวลา และเหมาะสมกับสถานการณ์
แต่ก็ยังมีข้อติติงในเรื่องการจัดหารถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ซึ่งท่านยังไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับประชาชนถึงความจำเป็นและความโปร่งใสของโครงการนี้ ผมก็ขอให้ท่านพยายามทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกกับประชาชนให้มากขึ้น โดยเน้นการสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดหาอาวุธ เพื่อประโยชน์ของกองทัพบกครับ
คะแนน การทำงานในหน้าที่ 3 คะแนน
การวางบทบาท 5 คะแนน
พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์
ผู้บัญชาการทหารเรือท่านจบจากโรงเรียนนายเรือในตำแหน่งนายทหารพรรคนาวิน และเติบโตในการเป็นนายทหารบนเรือรบของกองเรือตรวจอ่าวมาโดยตลอด
รวมถึงเคยเป็นผู้ช่วยฑูตทหารเรือประจำกรุงนิวเดลี ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 3 และเสนาธิการทหารเรือในสมัยของท่าน กองทัพเรือมีโครงการดี ๆ ที่น่าชื่นชมหลายโครงการ แม้ว่ากองทัพเรือจะมีภารกิจมากและได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่ในสมัยของท่านนั้น กองทัพเรือถือได้ว่าเป็นกองทัพต้นแบบในการพึ่งพาตนเอง
เห็นได้จากโครงการหลาย ๆ โครงการที่ทหารเรือทำการพัฒนาระบบอาวุธต่าง ๆ ขึ้นใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาทุ่นระเบิดล่องหน ซึ่งกำลังจะเริ่มเฟสที่สองในเร็ว ๆ นี้, โครงการยานใต้น้ำที่ทำการวิจัยกันมานานจนเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง, โครงการพัฒนาโปรแกรมจำลองการรบ NWS980 ที่ใคร ๆ เห็นแล้วก็ต้องทึ่งในความสามารถของทหารเรือ อีกทั้งยังมีโครงการสร้างปะการังเทียมด้วยเรือรบที่ปลดประวางแล้ว
นอกจากนั้นยังมีโครงการต่อเรือใช้เองอีกหลายโครงการ เช่น เรือหลวงพฤหัส ซึ่งเป็นเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ การต่อเรือเร็วจู่โจมของหน่วยซีล การต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งและเรือลากจูงที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมถึงโครงการที่น่าภาคภูมิใจอย่างโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต. 991
ซึ่งทุกโครงการเป็นการต่อเรือในประเทศทั้งสิ้น สมกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ทหารเรือน้อมรับมาปฏิบัติเสมอนอกจากนั้นในช่วงที่บ้านเมืองเกิดภาวะไม่ปกติ ท่านและกองทัพเรือก็วางตัวและวางบทบาทได้ดีมาก ภาพของทหารอาชีพแห่งราชนาวีไทยจึงเป็นภาพที่ทุกคนจะนึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงลูกประดู่ของกองทัพเรือถือว่าท่านสอบผ่านฉลุยครับ
คะแนน การทำงานในหน้าที่ 5 คะแนน
การวางบทบาท 5 คะแนน
พลอากาศเอก ชลิต พุกพาสุข
ผู้บัญชาการทหารอากาศกองทัพอากาศยังคงรักษาประเพณีที่จะแต่งตั้งคนที่เก่งที่สุดมาเป็นผบ.ทอ. เสมอ พลอากาศเอก ชลิต เคยเป็นผู้บังคับฝูง 231 กองบิน 23, เสนาธิการกองบิน 23, ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ และบัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ท่านเป็นนักบินที่มีความสามารถสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ
โดยเป็นนักบินคนแรกที่มีชั่วโมงบินกับเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 มากถึง 2,000 ชั่วโมง เป็นนักบินทดสอบมือดีของไทย และเคยผ่านการรบตามแนวชายแดนมาหลายครั้งพูดได้ว่ากองทัพอากาศเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากในสมัยที่ท่านเป็น ผบ.ทอ. ซึ่งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกของท่านในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ Gripen C/D นั้นถือได้ว่าได้ใจของผู้สังเกตุการณ์ทางทหารแทบทุกคน จนโครงการพบกับอุปสรรคที่ไม่ใหญ่หลวงนัก
เมื่อพิจารณาจากผลประโยชน์จำนวนมากที่ประเทศไทยไม่เคยได้รับมาก่อนนั้น ถือได้ว่าโครงการนี้คือหนึ่งในโครงการจัดหาอาวุธที่ดีที่สุดของกองทัพไทย รวมถึงโครงการพัฒนา บ.ชอ.6 ซึ่งสำเร็จออกมาเป็นรูปร่างให้ได้ชื่นใจกันว่าคนไทยก็ทำเครื่องบินเองได้
แต่ท่านก็มีข้อติติงหลายส่วนในบทบาทที่ไม่ใช่ทหาร กล่าวคือการแสดงความคิดเห็นหลายครั้งที่ยังทำให้ภาพลักษณ์ของทหารอาชีพที่มีต่อกองทัพอากาศในภาพรวมนั้นนั้นยังไม่เด่นชัดในสายตาของประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสียหลักของท่านข้อหนึ่งครับคะแนน การทำงานในหน้าที่ 5 คะแนน
การวางบทบาท 2 คะแนน
คนเก่าไป คนใหม่มา ....... ไม่ว่าอย่างไร ผมก็ขอชื่นชมทุกคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย ท่านใดที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ หรือแม้แต่ทำผลเสียให้กับประเทศ กลับมาทำดีตอนนี้ก็ไม่มีคำว่าสายครับ

สงวนลิขสิทธิ์ห้ามคัดลอกไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม และห้ามไม่ให้นำข้อความในบทความนี้ออกจากบล็อกแห่งนี้ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เจ้าของบล็อกจะไม่รับผิดชอบความเสียหายใด ๆ อันเกิดจาการละเมิดข้อตกลงนี้