ถนนสายนี้มีตะพาบ 303 : เพื่อน
บีทรูทจำนวนหนึ่งที่ซื้อมาเก็บไว้ในตู้เย็น ที่เหลือ ๆ จากการเอาไป ปั่นดื่มกับผลไม้ชนิดอื่น เราก็เอาไปดองใส่โหล ไม่ก็ขูดเป็นฝอยกิน กับผักสลัดบ้าง แต่พักหลังก็เริ่มเบื่อสีสันที่แดงแจ๋ของมันเลอะติดมือ
มีเมนูอาหารประเภทซุป ซึ่งมีบีทรูทเป็นส่วนประกอบ นั่นคือ Borscht ซุปผักสีแดง ที่เคยเห็นในรัสเซีย สืบค้นวิธีทำในกูเกิ้ล มันก็ดันมีสูตรที่หลากหลายมากจนเลือกไม่ถูก ก็เลยลองส่งอีเมล์ไปถาม วาดิม ดูเผื่อว่าจะได้ Borscht ฉบับยูเครน มาลองทำ
แต่ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยนะว่า นายคนนี้เป็นฮินดูที่เคร่งครัด ก็คงมีแนวโน้มที่ เราจะได้เมนูดังกล่าวเป็นสูตรมังสวิรัติแน่ ๆ ซึงก็ไม่ผิดไปจากที่คิดไว้
หวัดดี ฟ้า, Borscht (Ukrainian dish) ส่วนประกอบหลัก ไม่ใช่บีทรูทหรอกนะ มันถูกใช้สำหรับแต่งสีสันเท่านั้น เป็นกะหล่ำปลีต่างหากที่เป็นตัวเอก!
อันดับแรก ก็ตั้งกระทะบนเตาแล้วใส่น้ำมันลงไปไม่ต้องเยอะมาก กะให้พอดีกับการผัดแครอทขูดฝอยและหัวหอมใหญ่ที่หั่นแบบบาง ๆ ทิ้งไว้ก่อน
ให้ต้มน้ำราวหนึ่งลิตรในหม้อขนาดกลาง ใส่ชิ้นมันฝรั่งที่ปอกเปลือกและกะหล่ำปลีซอยลงไป พอผักเริ่มสุก ก็เททุกอย่างที่ผัดในกระทะลงไปผสม รสชาติควรออกทางไปทางเปรี้ยว ให้ใส่มะเขือเทศบด (ถ้าไม่มีก็เท ketchup แทน) อาจบีบมะนาวเพิ่มก็ได้ ปรุงด้วยเกลือและเพิ่มความเผ็ดด้วยพริกไทยดำ เวลาที่ใช้ในการเคี่ยวซุปก็นานประมาณชั่วโมงนึงหรือมากกว่านั้น เพื่อรสชาติจะได้เข้าที่ (คนบ้านเราเชื่อว่า Borscht ในวันถัดไปจะ อร่อยขึ้นกว่าตอนเพิ่งปรุงสุกใหม่ ๆ...แต่ถ้าอิงตามหลักอายุรเวท ก็ถือว่าไม่ดีเท่าไหร่) ตอนตักใส่ชามก็ค่อยโปะครีมเปรี้ยวลงไป มันช่วยให้รสชาติของซุปละมุนขึ้น คุณยายของเราชอบเคี่ยวหม้อซุปบนเตาที่ใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงวางอุ่นอังไฟไว้ ในช่วงเวลาเย็นของวัน เหลือฟืนพอติดไฟแค่นิดหน่อยแล้วก็ทิ้งไว้ข้ามคืน พอเช้ามาก็จะได้ซุปผักที่มีรสชาติกำลังดี... อ่านจบก็คิดว่าไม่ยากเท่าไหร่ เหมือนเป็นวิธีง่าย ๆ แต่ไหงกลับไม่เจอบีทรูทใน สูตรสงสัยคงจะลืม 555
เราเคยทำเมนูนี้กินไปสองสามหน แต่ก็ใส่บีทรูทลงไปพร้อมกับจังหวะ ที่ผัดแครอทกับหัวหอมใหญ่ด้วยนะ ไม่งั้นคงหาทางกำจัดมันออกจาก ตู้เย็นยากมาก .....
ปี 2015
เรารู้จักกับวาดิม ที่สำนักเรียนโยคะแห่งหนึ่งในเมือง Rishikesh ด้วยการแวะไปเยี่ยมหนึ่งในผู้ดูแลศูนย์แห่งนี้ตามคำชวน วาดิมเป็นคนที่ มาพักที่นั่น เขานั่งแปลข้อความจากตำราเป็นอีกภาษาลงในแล็บท็อปของ ตัวเองที่บนดาดฟ้าตามลำพัง ก่อนผู้ดูแลศูนย์ที่พาเราเดินชมอาคารนี้จะหัน ไปแนะนำให้รู้จักพอเป็นพิธี โดยบอกเราว่า...คนนี้มาจากยูเครน ด้วยความที่เราเคยไปแค่รัสเซียแต่ไม่ได้เลยไปถึงยูเครน ก็อยากรู้ว่า คนสองประเทศนี้เขาพูดภาษาเดียวกันมั้ย วาดิมเล่าให้ฟังว่าฝั่งปู่ของเขา ย้ายมาจากรัสเซีย พื้นเพเดิมของก็เลยนับว่าเป็นญาติโกโหติกากันทั้งนั้น
เราและวาดิมอาจไม่ถึงขั้นเรียกว่าอยู่ใกล้เฉียดในวงโคจรของเพื่อนสักเท่าไหร่ ในปีหนึ่งก็จะส่งอีเมล์ถามไถ่สารทุกสุขดิบไปแค่สองสามหน วาดิมมีแผนจะลง เรียนการนั่งสมาธิแนววิปัสสนาแถว ๆ เชียงใหม่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้มา ซะที คงเพราะติดสถานการณ์บางอย่าง รวมถึงการระบาดของโควิดเมื่อช่วงปี สองปีที่ผ่านมา
ปี 2022
ประมาณช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนกลิ่นของสงครามจะเริ่มคุกรุ่นขึ้น ในไม่ช้า ใครมันจะไปคิดว่าในยุคนี้จะยังมีแผนการสู้รบเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง ราวกับว่าผู้สั่งบุกรุกกำลังท้าทายสายตาของชาวโลกที่จ้องมองดู...ข้อความ ในอีเมล์ที่ส่งหนนี้จึงไม่ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงคราม แต่กลับเป็น การถามถึงแค่สถานการณ์ Covid-19 หลังจากนั้นไม่กี่วันการสู้รบก็ปะทุขึ้นมา สถานการณ์รุนแรงเรื่อย ๆ ยิ่งพอรู้ถึง เรื่องกฎการอพยพผู้คนในยูเครน ไม่อนุญาตให้ผู้ชายที่มีอายุระหว่างุ 18-60 ปี เดินทางออกนอกประเทศด้วยแล้ว – คิดดีไม่ได้จริง ๆ ผ่านไปเกือบเดือนกว่า ก็ยังไม่มีวี่แววการส่งข่าวตอบกลับมาสักที
กลางเดือนเมษายน การสู้รบดูเหมือนจะไม่จบลงง่าย ๆ เราส่งอีเมล์ไปอีกรอบ ไม่ได้คาดหวังมากแล้วที่จะได้รับข่าวโดยทันที จากปลายทาง เขียนถามไถ่ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแบบสั้น ๆ และลงท้ายไว้ว่า หลังเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ช่วยตอบกลับมาด้วย
ไม่นานจากนั้นราวสี่ชั่วโมง กล่องข้อความก็มีอีเมล์ตอบกลับมา ถึงจะเป็นประโยคสั้นกุดไปหน่อย แต่ก็พอรู้แค่วาดิมและครอบครัว ยังคงปลอดภัยดี พวกเขาคาดหวังถึงสงครามครั้งนี้จะจบลงในไม่ช้า คงเป็นสองความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน ที่เป็นทั้งเรื่องน่ายินดีที่รู้ว่าเพื่อนรายนี้ยังปลอดภัย แต่ก็ดูน่ากลัวเกินไปที่เจ้าตัวรีบตอบกลับมาอย่างไว จนดูเหมือนกับว่า ถ้ามัวรอให้มันยุติลงก็คงอาจไม่ทันแล้ว
Create Date : 01 มิถุนายน 2565 |
|
0 comments |
Last Update : 2 มิถุนายน 2565 7:35:42 น. |
Counter : 429 Pageviews. |
|
 |
|