สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก มิควรยึดมั่นถือมั่น)

<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 เมษายน 2549
 

คู่มือมนุษย์-ธรรมะทำไม

...

เคยนึกสงสัยมั้ยครับ...ว่า 'ศาสนาพุทธ' ที่เราป่าวประกาศบอกใครต่อใครเวลาถามว่านับถือศาสนาอะไร หรือกรอกลงในใบสมัครเข้าเรียน ใบสมัครงาน และใบสมัครอะไรต่อมิอะไรที่มีถามถึงศาสนาที่คุณนับถือนั้น
โดยจริงแท้แล้ว 'ศาสนาพุทธ' เป็นอย่างไรกันแน่

หรือหากใครสักคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ และไม่มีความรู้เรื่องศาสนาพุทธมาถามคุณซึ่งออกตัวมาแต่ไหนแต่ไรว่านับถือ 'ศาสนาพุทธ' ว่าศาสนาพุทธสอนอะไร...
คุณจะตอบเขาว่าอย่างไร

ผมเคยสงสัยอยู่บ้างครับ...เมื่อก่อนนี้
แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร นึกไปว่าศาสนาก็ต้องสอนให้คนเป็นคนดีน่ะซี (โดยไม่เฉลียวใจเลยว่า สาระคืออะไร เพราะถ้าแค่สอนให้เป็นคนดี ศาสนาอื่นๆก็มี ทำไมพระพุทธเจ้าท่านต้องใช้เวลาและความเพียรมากมายในการตรัสรู้)

นึกไปว่าเขาถือกันมาอย่างไรก็ตามนั้นไปแหละ
เหมือนกับเมื่อตอนเรียนประถม มีการกรอกข้อมูลส่วนตัวอะไรสักอย่างในการเรียนวิชาหนึ่ง มีช่องว่างอยู่หนึ่งช่องให้เรากรอกหลังคำว่าศาสนา
เพื่อนผมคนหนึ่งถามคุณครูว่า...ต้องกรอกอะไรลงไปคะ?
ครูถามกลับว่า...พ่อแม่เธอเคยไปวัดหรือเปล่า? ถ้าเคยไปก็ตอบไปว่า 'พุทธ'
ครูขยายความเพิ่มเติมว่า คนเรามักจะนับถือศาสนากันตามบุพการี (ผมก็ฟังๆไปและนำมาเก็บไว้ในหน่วยความจำ โดยไม่ได้นึกอะไรเล้ยยย... ว่าทำไมคนเราจึงเลือกนับถือศาสนาอื่นเองไม่ได้เหรอ ต้องทำตามบุพการีด้วยเนี่ย)

ครั้นได้เรียนวิชาพุทธศาสนามากขึ้นๆตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ได้รับรู้ว่า ศาสนาพุทธสอนให้คนมีความเพียร กระทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน ผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับสาระที่ได้รับการศึกษามาอีก ท่องจำไปแค่เพียงว่าให้ได้มีอะไรใส่หัวสำหรับกาข้อสอบ หรือเขียนตอบข้อสอบไปให้ผ่านได้คะแนนดีๆเท่านั้น

ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า หากศาสนาพุทธสอนให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงแล้ว ทำไมคนไทยซึ่งเอ่ยอ้างว่าประเทศที่ตนอาศัยอยู่เป็น 'เมืองพุทธ' นั้น เหตุใดจึงยังมีการบูชาอ้อนวอนรูปเคารพอย่างพระพุทธรูปกันอย่างแพร่หลาย
อยากสอบได้คะแนนดีอยากเรียนหนังสือเก่งๆ ก็ไปไหว้พระ ขอพรพระ
อยากสมหวังในเรื่องใดๆก็ไปบนบานกับหลวงพ่อที่ไหนสักวัดว่าหากสำเร็จสมหวังในเรื่องนั้นๆจะถวายละครรำ จะถวายหนังกลางแปลง

(ผมเคย 'สิ้นคิด' ขนาดไหว้ศาลเจ้าในบ้านเพื่อขอให้สิวบนหน้าของตัวเองหายโดยเร็วด้วยซ้ำ!!! )

ผมเคารพและยกมือไหว้พระภิกษุในฐานะที่เคยรับรู้มาว่าเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย (คือพระสงฆ์) โดยไม่ได้สนใจไปให้ลึกมากกว่านั้นว่าทำไมต้องเคารพท่านเหล่านั้นด้วย
หรือว่าเราจะเคารพท่านเพียงเพราะท่านห่มจีวรและสบงอย่างนั้นเหรอ?

เหล่านี้เป็นคำถามบางส่วนที่ผมมานึกย้อนไปแล้วงงตัวเองว่า...คุณนัทครับ คุณไม่เคยสงสัยอะไรๆอย่างนี้เลยเหรอครับ?




ในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าทุกข์ใจมากๆแห่งชีวิตผมช่วงหนึ่ง
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ 'คู่มือมนุษย์' ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมเอาเทศนาธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุในวาระต่างๆกัน แต่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน

ผมอ่านไปก็ได้แต่ทึ่งและอึ้งในหลายๆด้าน
ในด้านหนึ่งคือ ทำไมผมรู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือธรรมะได้มากขนาดนี้
ในอีกด้านก็คือ ทำไมผมไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ทั้งๆที่ป่าวประกาศว่านับถือศาสนาพุทธต่อสาธารณะมายี่สิบกว่าปี
และในอีกด้าน แก่นแท้และแง่งามอันเรียบง่ายที่สุดต่อการเข้าถึงของพุทธศาสนา ผมเคยคิดว่าเรื่องดังกล่าวมันจะซับซ้อนกว่านี้นะ

ทุกข์ใดๆในโลกล้วนเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเรา-ของเรา หากไร้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นแล้ว...เราจะไม่เป็นทุกข์เลย

ผมเคยได้ยินได้อ่านว่า คู่มือมนุษย์ เป็นหนังสือที่ชาวพุทธทุกคนควรได้อ่านอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
พออ่านจบผมจึงเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องอ่าน?

สำหรับผมเอง คำตอบก็คือ อ่านเพื่อให้ได้รู้ว่าที่ตัวเราเองประกาศก้อง (ผ่านสื่อต่างๆ เช่น คำพูด ตัวอักษร) ว่านับถือศาสนาพุทธน่ะ...จริงหรือเปล่า? เราควรจะนับถือศาสนาพุทธหรือไม่
และเพื่อให้ได้พูดได้เต็มปากเต็มคำและเต็มใจว่า 'เรานับถือศาสนาพุทธ'



เมื่องานสัปดาห์หนังสือฯที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเหมาหนังสือมาจำนวนหนึ่งในปริมาณหอบพอหนักและปวดแขน
หนึ่งในนั้นคือหนังสือชื่อ ธรรมะทำไม โดย ว.วชิรเมธี

เป็นหนังสือรวบรวมข้อเขียนจากการที่ท่านได้รับจากจดหมายของบุคคลต่างๆที่ส่งมาเพื่อสอบถามถึงแนวทางแก้ปัญหาต่างๆของชีวิตโดยใช้หลักธรรมะ
เป็นคำถามปกติที่คนสงสัย เช่น ทำไมเวลาทำสังฆทานต้องใช้ถังเหลือง ทำไมเราต้องกรวดน้ำ ทำไมต้องถวายข้าวพระพุทธรูปเวลาทำบุญ
ไปจนถึงคำถามถึงปัญหาที่หนักหน่วงกับผู้ประสบ เช่น ทำไมบุตรของตนต้องตายก่อนวัยอันควร ปัญหาหัวใจ และอื่นๆ

อ่านแล้วทำให้รู้ได้ว่า ธรรมะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทุกอย่างได้ดีและมีประสิทธิภาพจริงๆ อยู่ที่เราจะเปิดใจยอมรับทั้งปัญหาที่เกิดและวิธีแก้ปัญหานั้นๆหรือไม่



สำหรับทุกคนที่อ่านมาแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้...
ขอบคุณมากๆนะครับ ลองอ่านย้อนดูแล้วอยากเขียนให้มันสื่อได้มากกว่านี้แต่ ณ ขณะนี้คงได้แค่นี้ล่ะครับ




-------ขอบคุณที่แวะมาครับ -------






Create Date : 18 เมษายน 2549
Last Update : 21 เมษายน 2549 8:25:49 น. 33 comments
Counter : 1096 Pageviews.  
 
 
 
 
ตอนชีวิตเราเข้ามรสุมมากๆ เราเองก็ต้องพึ่งพาธรรมะเหมือนกันค่ะ ไม่งั้นคงตายไปแล้วเหมือนกัน


ยังไม่เคยดูซีรี่ส์ที่ว่าเลยค่ะ


ถ้าชอบโอนิซึกะ ก็ลองไปเปิดๆ โลกนี้มันช่างยีสต์ดูนะคะ อาจจะชอบค่ะ
 
 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 18 เมษายน 2549 เวลา:14:03:33 น.  

 
 
 
สาธุ!!

ทราบมาตลอดว่าศาสนาพุทธ แท้จริงแล้ว ไม่ได้สอนให้เคารพในวัตถุใดๆเลย แต่ให้ยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างสงบสุข

แต่จะว่าไปแล้ว วัตถุเหล่านั้นก็มีผลกับชาวพุทธเราไม่น้อยนะคะ อย่างบางคน เวลาอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป ก็ไม่กล้าจะพูดปด อย่างน้อยก็เป็นการช่วยให้คนๆนั้นไม่ทำบาปในทางอ้อมด้วยค่ะ

เพียงแต่ว่า สิ่งเหล่านี้ ใช้ไม่ได้กับทุกคน เพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คุณธรรมและจริยธรรมของคนเริ่มถดถอยจนอะไรก็ฉุดไม่อยู่ ก็แต่เชื่อว่า เมื่อใกล้ถึงวันสุดท้ายของชีวิต พระพุทธศาสนาก็จะกลับเข้ามาอยู่ในใจของคนๆนั้นอีกครั้ง เพียงแต่มันจะสายเกินไปหรือเปล่าเท่านั้นเอง

ทำไมตอบยาวจังวุ้ย!! งงตัวเองเหมือนกันนะเนี่ย อิอิ
 
 

โดย: ตุ๊กตาไขลาน วันที่: 18 เมษายน 2549 เวลา:17:43:31 น.  

 
 
 
ในความรู้สึกของตัวเองนะคะ ศาสนาพุธเป็นศาสนาหนึ่งที่มนุษย์มีอำนาจมาก มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และเป็นผู้ลิขิตชีวิตตนเอง

จะทำอะไรก็ได้ แต่ทำแล้วก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลที่ตามมา
 
 

โดย: rebel วันที่: 18 เมษายน 2549 เวลา:18:33:28 น.  

 
 
 
คนเรามักจะนับถือศาสนากันตามบุพการี << ใช่เลย
รู้สึกว่าตัวเองโชคดีนะที่เป็นพุทธน่ะ แต่ไม่เคยศึกษาลงรากลึกซักที

ถึงแม้ไม่ค่อยเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเท่าไหร่...แต่ก็ไม่ใช่คนบาปแน่นอน

=)
 
 

โดย: hunjang วันที่: 18 เมษายน 2549 เวลา:22:39:54 น.  

 
 
 

ยอมรับว่าห่างวัด แต่ไม่ห่างธรรมะ

 
 

โดย: keyzer วันที่: 18 เมษายน 2549 เวลา:23:55:22 น.  

 
 
 
อืม เขียนดีจริงๆค่ะ

แวะมาบอก good night ค่ะ คืนนี้ฝันดีนะคะ
 
 

โดย: corfinia วันที่: 19 เมษายน 2549 เวลา:23:31:33 น.  

 
 
 
คนเรา ไม่ได้เข้มแข็งขนาด อยู่ได้โดย ปราศจาก เครื่องยึดเหยี่ยวจิตใจ
..
...
ตอนผมแย่ๆ ได้อ่าน คู่มือมนุษย์ เหมือนกัน
..
...
ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ครับ
 
 

โดย: แร้ไฟ วันที่: 20 เมษายน 2549 เวลา:1:15:31 น.  

 
 
 
...

-- สาวไกด์ใจซื่อ / ไว้มีโอกาสจะลองหามาอ่านครับ

-- ตุ๊กตาไขลาน / เห็นด้วยครับ ด้านดีก็มีอยู่ เพียงแต่จะมีใครพิจารณาเห็นชอบอย่างถ่องแท้เท่านั้น หากเห็นผิดไป...มันจะยิ่งถลำลึกไปกันใหญ่น่ะสิ แม้จะนึกถึงศาสนาอีกครั้งเมื่อใกล้สิ้นชีวิต แต่เมื่อไม่ได้ตั้งความเห็นชอบมาตั้งแต่ต้น การระลึกนึกถึงมันก็คงไม่เป็นไปในทางที่ถูกมั้งครับ (คิดเอาเองนะ)

-- rebel / เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับผม

-- hunjang / อ้าว...ฮันจังไม่ใช่คนบาปหรอกเหรอ? เข้าใจผิดเสียนาน

-- keyzer / วัดก็เป็นแค่ศาสนวัตถุหรือศาสนสถานเท่านั้นครับ อยู่ที่ใจมากกว่า

-- corfinia / ขอบคุณมากครับ

-- แร้ไฟ / เห็นด้วยครับ เพียงแต่ขอให้ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้นเป็น "ธรรม" ก็แล้วกัน


-------ขอบคุณที่แวะมาครับ -------


 
 

โดย: The Legendary Midfielder วันที่: 20 เมษายน 2549 เวลา:8:23:37 น.  

 
 
 
สาระเยอะจริง ๆ อิ อิ เอาเวลางานมาโพสต์อีกแล้วนะ คุณ จขบ
 
 

โดย: ZAkk Blade วันที่: 20 เมษายน 2549 เวลา:15:30:45 น.  

 
 
 
สาธุ ค่ะ
อ่านแล้ว สนใจมากเลยค่ะแล้วจะไปหาซื้อมาอ่านบ้างนะค่ะ
เพราะว่าที่บ้านปลูกฝังให้เข้าวัดทำบุญมาตั้งแต่เด็ก เวลามีปัญหา อึดอัด คิดไม่ออก ก็จะเข้าวัดทำบุญ ทำทาน ปล่อยนก ปล่อยปลาไปตามเรื่อง ถ้ายังเป็นหนักก็หาหนังสือธรรมะมาอ่าน แต่ก็ยังมีขอสงสัยในใจ บางเรื่องก็ยังปลงไม่ได้ กิเลสคงยังหนาอยู่
 
 

โดย: lovelyberry IP: 202.42.154.133 วันที่: 20 เมษายน 2549 เวลา:16:21:07 น.  

 
 
 
จัดรูปให้มันอยู่กึ่งกลางหน่อยดิ
ใช้แถบเครื่องมือให้เป็นประโยชน์

=)
 
 

โดย: hunjang วันที่: 21 เมษายน 2549 เวลา:8:34:50 น.  

 
 
 
แวะมาเยี่ยม...สวัสดีครับ
 
 

โดย: **mp5** วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:9:05:12 น.  

 
 
 
เคยเถียงกับแม่บ่อยๆว่า
พระท่านไม่ใช่นักการเมือง
อยากได้อะไรทำไมต้องติดสินบนท่าน
 
 

โดย: เซียวเปียกลี้ วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:11:20:12 น.  

 
 
 
สาธุๆ เขียนได้ดีมากครับ

หนังสือคู่มือมนุษย์รายไหนรายนั้น เขียนได้ไม่มีใครติมาเลย ส่วนอีกเล่มยังไม่เห็นครับแต่ได้มีโอกาสเคยสนทนาธรรมกับท่าน .วชิระ เมธี ท่านสมเป็นปราชญ์จริงๆครับ ความคิดก็ทันสมัยมาก
 
 

โดย: นายเบียร์ วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:5:16:58 น.  

 
 
 
...

--ZAkk Blade // เดี๋ยวมีต่อยครับ
-- lovelyberry // เป็นวิธีการแก้ปัญหาของตัวเองที่ดีมากในระดับหนึ่งเลยครับ

--hunjang // ยังอุตส่าห์มีแขวะอีกนะ

-- **mp5** // ขอบคุณมาก สวัสดีครับ

--เซียวเปียกลี้ // เปรียบเปรยได้ดีจังครับ เห็นภาพเลย

--นายเบียร์ // ขอบคุณมากครับ ผมว่านี่เป็นส่วนที่วิเศษมากๆของ "ธรรมะ" เลยนะครับ คือเราไม่สามารถโต้แย้งได้เลยว่ามันไม่จริง


---ขอบคุณที่แวะมาครับ---


 
 

โดย: The Legendary Midfielder วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:9:40:03 น.  

 
 
 
โชคดีจังเลยค่ะ วันก่อนแอบเห็นมีหนังสือคู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาสในกองหนังสือที่บ้านด้วยเห็นปุ๊บก็คว้าปั๊บดีใจเหมือนได้แก้ว ตอนนี้ก็อ่านไปได้นิดหน่อยแล้วค่ะ
 
 

โดย: lovelyberry IP: 202.42.154.133 วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:11:15:41 น.  

 
 
 
โอ้ ที่บ้านหนูก็มีคู่มือมนุษย์เหมือนกันค่ะ
แต่เป็นแบบเล่มเล็กปกสีดำนะคะ อ่านแล้วเข้าใจง่ายมากๆ เลยค่ะ

ว่าแต่ Dive ที่พี่พูดถึงนี่หมายถึงอะไรหรอคะ
 
 

โดย: HTK IP: 203.113.16.241 วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:13:10:38 น.  

 
 
 

แวะมาอีก

 
 

โดย: keyzer วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:13:47:02 น.  

 
 
 
สวัสดีอีกรอบ

อีเทอนัลซันไชน์ฯ ได้ดูแล้วค่ะ

เป็นหนังอีกเรื่องเลยที่ชอบค่ะ



พูดเรื่องตานั่นที่ได้ที่ ๒ ส.ว.

เราก็เพิ่งไปคอมเม้นท์เมื่อวันเสาร์เรื่องมีคนเทอดทูนน่ะค่ะ แล้วก็ปรากฏว่ากระทู้ก็ถูกลบไปตามระเบียบ เฮ้อ..
 
 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:15:46:25 น.  

 
 
 
ช่วงนี้ไม่ค่อยอยากพูดเรื่องธรรมะเลย แบบว่าห่างวัดห่างวามานาน รู้สึกละอายแก่ใจเล็กน้อยค่ะ
 
 

โดย: ตุ๊กตาไขลาน วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:15:59:57 น.  

 
 
 
บรรยากาศในงานอย่างฮามากเลยค่ะ เวทีเตี้ยมาก ก็ประมาณว่า เป็นการแบกคนขึ้นไป แล้วยก คนข้างบนก็จะบอกว่า เฮ้ย อย่าทำกูหล่นนะเว้ย
 
 

โดย: HTK IP: 203.113.39.9 วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:19:34:24 น.  

 
 
 
แช่งให้ชาวบ้านเค้าไส้แตกนี่ก็บาป

=)
 
 

โดย: hunjang วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:21:07:12 น.  

 
 
 
...

--lovelyberry /// ยินดีด้วยครับ ขออนุญาตแนะนำนิดนึง ถ้าอ่านจบเป็นบทๆไปจะสนุกกว่าอ่านทีละไม่จบบทนะ

--HTK /// ดีจังครับ ได้อ่านแต่เนิ่นๆก่อนผมตั้งหลายปี

-- keyzer /// หวัดดีครับ

--สาวไกด์ใจซื่อ /// นี่ก็มีข่าวจะให้เป็นประธานฯอีก บ้าป่าวเนี่ย? อ่านข่าวที่นายกฯเกาหลี (หรือ รมต.นี่ล่ะจำไม่ค่อยได้) ไปเล่นกอล์ฟขณะที่มีการชุมนุมประท้วง แล้วโดนกดดันให้ลาออก ผมล่ะนึกถึงประดานักการเมืองไทยเลยว่าคงกำลังหัวเราะพฤติกรรมของนายกฯเกาหลีอยู่แน่ๆ...เซ็ง

-- ตุ๊กตาไขลาน /// วัดเป็นแค่ศาสนวัตถุอย่างนึงเองครับ ที่สำคัญคือให้ใจเรามี "ธรรมะ" ก็พอแล้ว ท่านพุทธทาสฯก็เคยพูดไว้ว่า...ถ้าไม่มีเวลาว่างก็ไม่ต้องมาวัดก็ได้ เพราะหากเราปฏิบัติหน้าที่ของเราเองให้สมบูรณ์ ก็เหมือนกับการปฏิบัติธรรม...ล่ะครับ
จะว่าไป ผมก็ไม่ได้เข้าวัดมานานแล้วเหมือนกัน

-- HTK /// คอนเสิร์ตจบคงเหงื่อซ่กกันทั้งงานเลยดิครับน้อง

--hunjang /// อ๊ะๆ กลัวใช่ป่าวเล่า?


---ขอบคุณที่แวะมาครับ ---


 
 

โดย: The Legendary Midfielder วันที่: 25 เมษายน 2549 เวลา:8:41:38 น.  

 
 
 
ทำไมเวลาทำสังฆทานต้องใช้ถังเหลือง ทำไมเราต้องกรวดน้ำ ทำไมต้องถวายข้าวพระพุทธรูปเวลาทำบุญ
..
...
สงสัยทั้งนั้นเลยครับ
 
 

โดย: แร้ไฟ วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:2:05:07 น.  

 
 
 
พักจากอ่านแบบก่อน มาแวะอ่านค่ะ
 
 

โดย: ปุ้ม หญิง วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:13:13:31 น.  

 
 
 
โอมเพี๊ยงงง
 
 

โดย: Qooma วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:17:30:13 น.  

 
 
 
คุณมิดฟิลด์จะไปร่วมพิธี แช่งผีควบหอยที่ฮันเป็นเจ้าภาพมั้ยคะ
 
 

โดย: rebel วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:20:10:57 น.  

 
 
 
^
เจ้าภาพ...แต่หารเท่า

จขบ. เอานวมมาด้วยนะ หมั่นไส้มานานแล้ว

=)
 
 

โดย: hunjang วันที่: 26 เมษายน 2549 เวลา:21:18:03 น.  

 
 
 
...

-- แร้ไฟ //// เดี๋ยวจัดให้

--ปุ้ม หญิง //// ขอบคุณครับ ว่างๆแวะเอาแบบมาให้อ่านด้วยนะ

--Qooma ////

-- rebel //// แค่พิธีแช่งเองเหรอครับ เอาเป็นจุดไฟเผาเลยดีก่า

-- hunjang //// ฮันจังใจร้าย


--ขอบคุณที่แวะมาครับ --


 
 

โดย: The Legendary Midfielder วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:12:10:44 น.  

 
 
 
ซึ่งในรสพระธรรม
 
 

โดย: ปิงปอง IP: 202.129.52.170 วันที่: 25 ธันวาคม 2549 เวลา:11:33:31 น.  

 
 
 
คู่มือมนุษย์ (ฉบับย่อ)

มนต์ชัย ชนินทรลีลา – ย่อ
๑. ใจความสำคัญของพุทธศาสนา (พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร)
ศีลธรรม หมายถึง ข้อปฏิบัติซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์สุขในโลกนี้ในชั้นที่เป็นพื้นฐานทั่วไป เพื่อทำให้เป็นคนดี เช่น มีศีล มีสัจจะ มีกตัญญูกตเวที ไม่เบียดเบียนตนหรือผู้อื่น ตามหลักที่สังคมทั่ว ๆ ไปต้องการ ซึ่งมีอยู่ตรงกันแทบทุกศาสนา
ศาสนา หมายถึง ระเบียบวิธีปฏิบัติในขั้นสูง มีขอบเขตหน้าที่กว้างไกลต่อไปจากศีลธรรม เพื่อกำจัดกิเลสหรือดับความทุกข์ให้สูญสิ้นไป ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละเฉพาะศาสนา
พุทธศาสนา คือ วิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติสำหรับจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรให้มากเป็นพิเศษ โดยถูกต้องครบถ้วนลึกซึ้งถึงที่สุดแท้จริง เพราะเมื่อเรารู้อะไรจริง ๆ แล้ว เราย่อมไม่ปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง แต่ย่อมจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การปฏิบัติพุทธศาสนา ย่อมเป็นการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา กรรมฐาน ภาวนา เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วความรู้นั้นจะทำลายกิเลสไปในตัว
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งพระไตรปิฎก ล้วนแต่เป็นการบ่งระบุให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วน เช่น หลักเรื่อง “อริยสัจจ์ ๔” นั้น ข้อ ๑ สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ แต่สัตว์ทั้งหลายไม่ทราบไม่รู้ไม่เห็นจึงได้ไปอยากไปยึดถือเข้า คือ ปฏิบัติผิดต่อความจริงของสิ่งทั้งปวง ข้อ ๒ สมุห์ทัย มูลเหตุของความทุกข์ ได้แก่ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น โดยไม่เห็นว่าความอยากนี้เป็นเหตุเป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดของความทุกข์ ข้อ ๓ นิโรธหรือพระนิพพาน คือการดับตัณหาเสียให้สิ้น เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายไม่รู้จักกันใหญ่ จึงไม่มีใครปรารถนาดับความอยากไม่ปรารถนาพระนิพพาน ข้อ ๔ มรรค อันมีองค์ ๘ ประการ เป็นวิธีดับความอยากนั้น ๆ เสีย เป็นหลักธรรมสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุด แต่แล้วก็ไม่มีใครสนใจในความรู้ข้อนี้กันนัก
หลักบาลีหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือพระคาถาของพระอัสสชิ ซึ่งกล่าวถึงใจความโดยย่อที่สุดของพระพุทธศาสนาที่ว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่าใด เกิดมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าท่านทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้นเพราะหมดเหตุ ; พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้” คือ การบอกให้รู้ว่า “สิ่งทั้งปวงนั้น มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา , มันดับไม่ได้จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน” สิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา คือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นเท่านั้น อย่าไปหลงยึดถือจนชอบหรือชังมันเข้า ; ทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความชังดีกว่า เมื่อทำได้แล้วนั่นคือการออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ เป็นการดับเหตุเสียได้ ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดได้เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป ซึ่งเป็นการชี้ว่า “อะไรเป็นอะไร” ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ซึ่งคนทั่วไปตามธรรมดาไม่เคยได้ยินได้ฟังเช่นกัน
วัตถุประสงค์แห่งการออกผนวชของพระพุทธเจ้า ก็เพื่อแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล “กุศล” แปลว่า ความฉลาด หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์ นี้เรียกว่าความฉลาดหรือกุศลถึงที่สุด
หลักพระไตรลักษณ์ ที่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น เป็นหลักพระพุทธศาสนาที่ประกาศความจริงออกไปว่า “สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น ไม่เที่ยง, สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นทุกข์, สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยไม่ปรุงแต่งนั้น เป็นอนัตตา” ; ที่ว่าเป็นอนิจจังก็คือ สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไม่มีอะไรเป็นตัวมันเองที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ ที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์หมายถึง สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทุกข์ทรมานอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะที่ดูแล้วน่าเกลียดน่าชัง น่าเบื่อหน่าย น่าระอาอยู่ในตัวมันเองทั้งสิ้น และที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตาหมายถึง การบอกให้รู้ว่าบรรดาสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือเอาด้วยจิตใจที่ยึดมั่นเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ไม่มีทางจะยึดเอาเป็นตัวตนหรือเป็นของตนได้เลย ถ้าไปยึดถือเข้าก็ต้องเป็นความทุกข์ สิ่งทั้งปวงนั้นมันยิ่งกว่าไฟ แต่มันเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ เราจึงเข้าไปกอดกองไฟกันด้วยความสมัครใจ แล้วก็เป็นทุกข์ตลอดกาล
เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ไม่ต้องสงสัย เราก็จะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง ฉะนั้น คนเราจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่สิ่งทั้งปวงเป็นจริงอยู่อย่างไร เพื่อให้รู้ว่าศีล สมาธิ ปัญญา กรรมฐาน ภาวนา เป็นอะไรหรือว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราได้อย่างไร จึงจะตรงต่อกฎธรรมชาติธรรมดาของสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่จริง ๆ ตามหลัก “โอวาทปาฏิโมกข์” (แปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด) มีอยู่ ๓ ข้อ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มที่ให้ครบถ้วน และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง (ทำจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ซึ่งต้องมาจากความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเสมอไป) , เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ยึดถือเอาไม่ได้ ไปหลงใหลด้วยไม่ได้ เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงในลักษณะที่ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง ตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นตัวใจความสำคัญของพุทธศาสนาโดยตรง
คนเราเมื่อมองสิ่งทั้งหลายด้วยความยึดถือของปุถุชนตามปกติทั่วไปแล้ว ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นตามธรรมดาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น เรียกว่าอภิชฌาและโทมนัส คือ รักกับเกลียด ชอบกับชัง หรือพอใจกับไม่พอใจ อันเป็นลักษณะธรรมดาของการที่จิตใจของคนเราตกเป็นทาสของอารมณ์ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเองเลย เมื่ออารมณ์ในโลกมีมากเหลือจะนับ คนเราก็ตกเป็นทาสของอารมณ์มากเหลือจะนับ , ความพอใจหรืออภิชฌานี้ มีลักษณะที่จะรวบอะไร ๆ เข้ามาหาตัว ส่วนความไม่พอใจหรือโทมนัสนี้ มีลักษณะที่จะปฏิเสธหรือผลักไสอะไร ๆ ออกไปเสียจากตัว ถ้ายังมีความรู้สึก ๒ อย่างนี้อยู่แล้ว ก็หมายความว่าจิตยังไม่เป็นอิสระ เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง ยังเลือกหลงรักหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตยังไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์สะอาดปราศจากความครอบงำของสิ่งทั้งปวงได้ ,
หลักของพระพุทธศาสนาในขั้นสูงสุด จึงปฏิเสธการยึดถือหมดทั้งสิ่งที่น่ารักน่าชัง ซึ่งคนธรรมดาพากันหลงรักและหลงชัง การรู้จักสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดสิ้นเชิง ว่าไม่มีอะไรที่น่าผูกพันตัวเข้าไปเป็น “ทาส” ของมัน ถือเป็นการปฏิเสธเลยขึ้นไปถึงความดีและความชั่ว คือการไม่ยอมหลงติดผูกพันกับสิ่งใดเลย จิตจึงจะบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งห่อหุ้มเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง และไม่มีความทุกข์เลย
ความดีความชั่วเป็นเรื่องของสมมติ การผูกพันตัวอยู่ใต้ผลของความดี ยังไม่ใช่ความพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง ยังไม่เป็นความรู้ที่ถูกต้องถึงที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร เพราะคนดีคนชั่วก็ยังมีความทุกข์ตามประสาคนดีหรือคนชั่วอยู่ คนดีจะไม่มีความทุกข์เลยก็ต่อเมื่อกระโดดขึ้นไปให้อยู่เหนือความดี กลายเป็นโลกุตตระคือเหนือโลก เป็นการปฏิบัติชั้นที่ ๓ คือ ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดปราศจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง
พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง มุ่งหมายโดยตรงที่จะกำจัดกิเลสโดยสิ้นเชิง หรือดับทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากการเกิดแก่เจ็บตายให้สิ้นไป เราต้องปฏิบัติจนให้รู้ของเราเอง เมื่อรู้ถึงที่สุดแล้วกิเลสตัณหาต่าง ๆ จะถูกความรู้วิชชานั้นทำลายล้างสิ้นไป ความหลงใหลอวิชชาจะดับไปในทันที ขอให้พยายามดูหรือเข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วยวิธีทำการปฏิบัติในทางที่จะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้อง รู้ด้วยความเห็นแจ้งจริง ๆ ให้พยายามตั้งสติคอยเฝ้ากำหนดพิจารณาความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตน ศึกษาด้วยตัวจริงคือจากสิ่งทั้งปวง แล้วจะเป็นทางเข้าถึงพุทธศาสนาได้ดีกว่าการเรียนเอาแต่ในพระไตรปิฎก

๒. ไตรลักษณ์ (ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง)
ศีลธรรมกับศาสนามีขอบเขตต่างกัน ศีลธรรมนั้นเป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อจะกำจัดความทุกข์ความยุ่งยากในชั้นโลก ๆ ส่วนศาสนานั้นมีหน้าที่ไปไกลจนถึงกับสามารถกำจัดความหม่นหมองทุกชนิดที่ศีลธรรมเหลือวิสัยจะกำจัดได้
เมื่อกล่าวศีลธรรมโดยสรุปแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่าหลักแห่งศีลและธรรม ๕ คู่ (เบญจศีล เบญจธรรม) คือ
(๑) การไม่เบียดเบียน พยาบาทปองร้าย ริษยากัน ทั้งกายวาจาและจิต , แต่มีเมตตาปรานี ไม่เหยียดหยามดูหมิ่นกัน สมัครสมานสามัคคีกัน มีความประพฤติและความคิดเห็นไม่ขัดแย้งกัน มีความกตัญญูกตเวที โดยถือว่าสัตว์ทั้งปวงที่อยู่ร่วมโลกกัน ล้วนแต่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน ต่างมีบุญคุณที่สัมพันธ์กันสนิทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
(๒) การไม่ลักขโมยแย่งชิงกัน ไม่เอาเปรียบบุคคลและสังคมทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง , แต่กลับมีการแสวงหาและเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ปันกันในสิ่งของ ความรู้ และความดี ขวนขวายช่วยผู้อื่นในกิจที่ควรช่วย มีความพากเพียรเพื่อความเจริญก้าวห้า ประหยัดมัธยัสถ์ บูรณะซ่อมแซม ขยันขันแข็งในหน้าที่การงานของตน เพื่อไม่ต้องเป็นขโมย เพื่อตั้งตัวและดำรงวงศ์สกุล และเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมอย่างเคร่งครัด
(๓) ไม่ล่วงละเมิดของรักและบุคคลเป็นที่รักของคนอื่นทุกชนิด ไม่ปล่อยตัวตามกระแสตัณหา , แต่กลับมีความสันโดษยินดีในของรักหรือประโยชน์ของตนที่ได้มาหรือมีอยู่โดยชอบธรรม ไม่อยากใหญ่ในกาม เป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ไม่โลภจนผิดธรรม
(๔) การไม่กล่าวเท็จทางกาย ทางวาจา หรือทางตัวอักษร ทุกวิถีทาง , แต่กลับเป็นผู้มีวาจาเชื่อถือได้ มีประโยชน์ควรแก่การฟังของผู้อื่น มีสัตย์ มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ไม่มีมายาสาไถย และ
(๕) การไม่ตกเป็นทาสของอบายมุขทุกชนิด หรือสิ่งมึนเมาเสพติด ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม อันเป็นทางแห่งความประมาทมัวเมา เสียความปรกติแห่งสติสมปฤดีทุกประการ , แต่กลับเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ เห็นถูกเชื่อถูก ไม่งมงาย มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่สะเพร่าเลินเล่อ มีความอดกลั้นอดทนในการศึกษา ในการบังคับตัวเอง ปฏิบัติถูกทั้งต่อมิตรและศัตรู รู้จักฐานะและประมาณ รู้จักกาลเทศะ รู้จักสังคมและบุคคล มีการสำรวม มีมารยาทดี ไม่ดื้อกระด้าง มีหิริโอตัปปะ ละอายบาปกลับบาปได้โดยลำพังตนเอง มีการศึกษาดี มีเพื่อดี มีความใคร่ในทางดี ไม่เปิดโอกาสในใครดูหมิ่นได้ รู้จักเลือกใช้คนและคบคน
ศีลและธรรมทั้งหมดนี้ มีความมุ่งหมายผลเพียงความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบร้อยของสังคมทั่วไป และเป็นความผาสุกขั้นต้น ๆ อันเป็นวิสัยของปุถุชน มิได้หมายสูงพ้นขึ้นไปถึงการดับทุกข์หรือตัดกิเลสเด็ดขาดสิ้นเชิงจนเป็นพระอริยะเจ้า
การรู้จักว่าอะไรเป็นอะไรจริง ๆ แล้ว หมายความว่า เราต้องรู้ว่าเราจะพึงปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างไรด้วย เช่น รู้จักว่าชีวิตนี้คืออะไรโดยสิ้นเชิง รู้จักว่าหน้าที่การงานของชีวิตว่าคืออะไร รู้จักที่มาที่ไปในเบื้องสุดท้ายของชีวิตดี เป็นต้น แล้วก็สามารถดับความทุกข์หรือทำชีวิตให้ปราศจากความทุกข์ได้ นั่นคือการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ว่ารู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ก็คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะอันเรียกว่าไตรลักษณ์หรือลักษณะ ๓ ประการ คือ ทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ สิ่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละคือความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง เป็นคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากที่สุดกว่าคำสั่งสอนทั้งปวง แสดงให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ บรรดาคำสอนทั้งหลายจะนำมารวบยอดอยู่ที่การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น โดยเฉพาะอนัตตานั้นมีสอนแต่ในพุทธศาสนา
อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประเภทที่เป็นสังขารมีปัจจัยปรุงแต่งนั้น มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีความคงที่ตายตัว การศึกษาสภาพที่แท้จริงของสสารและพลังงานทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ยิ่งช่วยให้เข้าใจได้เห็นชัดแจ้งได้ว่าสิ่งทั้งปลายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจริง ๆ ทุกขัง แปลว่า เป็นทุกข์ มองดูแล้วน่าสังเวชใจ นำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งนั้น ๆ อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน ไร้ตัวตัวอันแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งประเภทที่เป็นสังขารและมิใช่สังขาร ไม่มีความหมายหรือลักษณะแห่งความเป็นตัวเป็นตน
การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าอยากน่าปรารถนาในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น (เห็นจนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น) คือ มองเห็นและเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ในความมีความเป็นอย่างใดว่าเป็นความหลอกลวง เป็นมายา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น การเห็นแจ้งอย่างที่เรียกว่าเห็นธรรมจึงไม่อาจเห็นได้ด้วยการฟังการท่องหรือคำนวณตามหลักเหตุผล เพราะเมื่อเหตุผลเปลี่ยนแปลงเพราะความไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็พลอยเลือนไปตามอำนาจแห่งเหตุผล แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยใจจริง
สุญญตา ซึ่งแปลว่า ความเป็นของว่าง คือ ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน หมายถึง ว่างจากสาระที่เราควรเข้ายึดถือเอาด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้นว่าของเรา จนเกิดความรู้สึกว่าไม่น่าเอาไม่น่าเป็น ซึ่งจะคุ้มครองคนเราไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสหรืออารมณ์ทุกชนิด การเอาการเป็นนั้น เป็นแต่เรื่องสมมติของโลกอย่างหนึ่ง และเป็นไปได้ด้วยอำนาจของความไม่รู้หรืออวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เพราะโดยแท้แล้วคนเราเอาอะไรไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้ เป็นความจริงเด็ดขาดชั้นปรมัตถ์
ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากการเอา การเป็น หรือความอยากเอา อยากเป็น หรือตัณหาทั้งนั้น เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนี้หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอยาก โดยสัญชาตญาณเรารู้จักทำตามความยาก ถ้าได้ผลตรงก็ยิ่งอยากได้และทำมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าไม่ได้ผลตามที่ตนอยากก็จะดิ้นรนอยากทำอย่างอื่นต่อไปอีกจนกว่าจะได้ผล วนเป็นวงกลมของกิเลส – กรรม – วิบาก เรียกว่า วัฏฏสงสาร เป็นวงกลมที่วนเวียนไม่มีสิ้นสุด
ความอยาก ๓ อย่างอันเป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง อย่างแรกเรียกว่า กามตัณหา คือ อยากในสิ่งที่ตนรักใครพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็น วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นไม่ให้เป็นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะไม่ให้เป็น ความอยากอันนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ มีความอยากที่ไหนก็มีความร้อนใจทุกข์ยากตามส่วนของการกระทำตามความอยาก เมื่อได้ผลมาแล้วก็ยังอยากต่อไปร้อนต่อไป ต้องเป็นทาสของความอยากอีก เราจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วยลำพังเพียงการกระทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องทำจิตให้หลุดพ้นไปจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของความอยากทุกชนิดนั่นเอง
เราจะกำจัดหรือระงับหรือตัดรากเหง้าของความอยากให้สิ้นเชิงได้นั้น ต้องพิจารณาให้เห็นและรู้สึกอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยที่แท้แล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนมองเห็นว่าไม่น่าเอา - ไม่น่าเป็น หรือไม่มีอะไรที่น่าอยากนั่นเอง สำหรับการได้กับความมีความเป็นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เช่น ได้เงินได้ทอง ได้บุตรได้ภริยา มีตำแหน่งหน้าที่ ล้วนแต่เป็นภาระและหน้าที่ เพราะความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของมันนั่นเอง การที่คนเราพยายามรักษาต่อสู้ต้านทานต่อกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้นจึงเป็นการทุกข์ทรมานให้ยากลำบากขึ้น เราจึงต้องทำงานหรือเป็นอยู่ด้วยอำนาจของสติปัญญา คือความรู้ที่แจ่มแจ้งถึงที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร จะได้ไม่ร้อนเหมือนคนที่ทำไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา
ที่สุดของพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา ก็คือการทำจิตให้หลุดพ้นจากอุปาทาน ทำแต่สิ่งที่เหนือไปกว่าความชั่วและความดี อยู่เหนืออำนาจกิเลสตัณหาความอยาก ผลของการเห็นแจ้งในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรุปอยู่ในหลักที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอะไรที่มาผูกคล้องจิตนั้นให้ไปตกเป็นทาสของโลกเพื่อจะเอาหรือจะเป็นให้เวียนเกิดในโลกอีกต่อไป

๓. อุปาทานสี่ (อำนาจของความยึดติด)
พระพุทธศาสนามีความมุ่งหมายจะแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์ในทางใจ ที่สูงและลึกยิ่งไปกว่าความมุ่งหมายของศีลธรรมและจริยธรรมตามธรรมดา แม้ว่าจะไม่ป่วยทางกาย (Physical Disease) ไม่ป่วยทางจิต (Mental Disease) แต่ถ้ายังมีกิเลสตัณหา (ความอยาก) อวิชชา (ความไม่รู้) อุปาทาน (ความยึดมั่น) เหล่านี้เป็นเครื่องทำให้คนเราตกอยู่ในสภาพของความป่วยในทางวิญญาณ (Spiritual) ซึ่งเหลือวิสัยที่ศีลธรรมสากลทั่วไปจะช่วยแก้ไขได้ ต้องอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นชั้นสูง
อุปาทาน หรือกิเลสเป็นเครื่องให้ยึดถือ จำแนกเป็น ๔ ประการ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
กามุปาทาน การยึดมั่นในกาม เป็นการยึดถือในของรักของใคร่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือสิ่งที่รับรู้ยึดถือทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และความรู้สึกในใจ ซึ่งตามปกติคนเรารู้สึกว่าเป็นความเพลิดเพลินหรือเอร็ดอร่อย อย่างที่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะถอนได้ เราจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจและประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะให้ได้รับการควบคุม จะให้ละในที่สุด เพราะอะไรทุกอย่างที่มนุษย์ทำกันอยู่ในโลกล้วนแต่มีมูลมาจากกามารมณ์ทั้งสิ้น โลกจะตั้งอยู่หรือจะหมุนไปหรือจะแตกดับวินาศฉิบหายหรือจะเป็นอะไร ย่อมมีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่นยึดติดอย่างเหนียวแน่นในกามุปาทานนี้เอง
ทิฏฐุปาทาน การยึดถือทิฏฐิความคิดเห็นตามที่ตนมีอยู่ มักจะต้องตกไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือลัทธิศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่มีไว้แสดงถึงสิ่งที่ถือว่าดีที่สุด จึงเป็นกิเลสตัวร้ายกาจที่น่าอันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามอย่างยิ่งให้หน่ายให้จางและให้หลุดถอน ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ให้ค่อย ๆ กลายมาเป็นสัมมาทิฏฐิถึงที่สุดชนิดที่รู้อริยสัจจ์
สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นในการประพฤติกระทำที่เคยประพฤติกระทำสืบปรัมปรากันมาอย่างไร้เหตุผล ยึดถือในศีลและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่ตนเคยปฏิบัติโดยงมงายในฐานะที่เป็นของที่เคยทำแล้วแต่เดิม การประพฤติวัตรแปลก ๆ หรือที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีหรือลัทธิศาสนา แล้วยึดถือไว้ในฐานะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่งไป เป็นทางไม่ให้ก้าวหน้าไปในทางสูงของจิตใจ
อัตตวาทุปาทาน การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัวเป็นตน อันเป็นสัญชาตญาณมูลฐานที่ต้องมีประจำอยู่ในสิ่งทุกสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล อุปาทานข้อนี้เป็นมูลกำเนิดของชีวิตด้วย และเป็นมูลกำเนิดของความทุกข์ด้วยพร้อมกัน
สิ่งต่าง ๆ ที่มีอุปทานยึดครองอยู่ นั่นแหละเป็นตัวความทุกข์หรือเป็นมูลของความทุกข์ จึงต้องฆ่าอุปาทานหรือฆ่าอวิชชาอันเป็นมูลเหตุของตัณหาและอุปาทาน เพราะเป็นทางที่ทำให้สามารถกำจัดความทุกข์ได้เด็ดขาดหมดสิ้นเชิง เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักอุปาทานทั้งสี่ที่เป็นอันตรายนี้ให้มากเป็นพิเศษ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่ายึดถือไม่น่าเอาไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เรายังตกไปเป็นบ่าวเป็นทาสมันอย่างเหนียวแน่น ก็เพราะอำนาจของอุปาทานทั้งสี่นี่เอง เพื่อควบคุมอุปาทานทั้งสี่ให้อยู่ในอำนาจของปัญญาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สามารถดำรงชีวิตให้เป็นไปในลักษณะที่เยือกเย็น มีความสะอาดสว่างสงบตามสมควร เพื่อทำจิตให้หลุดพ้นจากอุปาทานกลายเป็นโลกุตตระ คือ พ้นโลกซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์

๔. ไตรสิกขา (ขั้นตอนของการปฏิบัติศาสนา)
ข้อปฏิบัติ ๓ ชั้นที่เป็นการอบรมกายวาจาใจ เรียกว่า ไตรสิกขา หรือสิกขา ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา
ศีล หมายถึง การปฏิบัติเพื่อความปรกติสงบเรียบร้อย ปราศจากโทษชั้นต้น ๆ ที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา ทั้งที่เกี่ยวกับสังคมหรือส่วนตัวหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิตวิญญาณอันจำเป็นแก่การเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นยอดอานิสงส์ของศีลที่ว่า “สมาธิสํวตฺตนิกา” แปลว่า เป็นไปเพื่อให้เกิดสมาธิ
สมาธิ หมายถึง จิตตั้งมั่นในลักษณะที่พร้อมจะปฏิบัติงานใด ๆ ด้วยการฝึกฝนให้มีความสามารถบังคับจิตใจของตัวไว้ให้อยู่ในอำนาจ ในสภาพที่สงบบริสุทธิ์สะอาดเป็นสุขใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดได้ตามที่ตนต้องการ ดังที่พระพุทธวจนะทรงแสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิว่า กมฺมนิโย แปลว่า สมควรแก่การทำงาน ไม่ใช่ให้บริสุทธิ์เฉย ๆ หรือตั้งมั่นสงบเงียบแน่นิ่งในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติงานใด ๆ , ถ้าฝึกฝนให้ถูกวิธีตามหลักของพุทธศาสนาเป็นสมาธิเป็นฌานเป็นสมาบัติแล้ว ก็จะเป็น “อุตตริมนุสสธรรม” แปลว่า ยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์
ปัญญาสิกขา หมายถึง การฝึกฝนอบรม ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องสมบูรณ์ถึงที่สุด เห็นแจ้งด้วยใจในสิ่งทั้งปลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง (ยถาภูตัง - ไม่ใช่ถูกต้องตามที่เราเข้าใจเอาเองหรือสมมติกันโดยมาก) จนถึงกับถอนความยึดถือด้วยอุปาทาน คือถอนความโง่หลงต่าง ๆ จากสิ่งที่มันเคยเข้าไปผูกพันไว้ตั้งแต่ต้นมาให้ออกไปได้จากใจ ทั้งนี้ กิริยาอาการที่จิตใจเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งที่ตนเคยหลงรักนั่นแหละ คือ ตัวความเห็นแจ้ง
ไตรสิกขา มีไว้เพื่อดับความทุกข์อันเกิดมาจากอุปาทานสี่ เป็นของหรือศาสนาสากลที่จะใช้ได้แก่คนทุกคนทุกยุคทุกสมัย ใช้ได้แม้แต่ในสัตว์เบื้องต่ำ แก่มนุษย์ในท่ามกลางแก่เทวดาหรือยิ่งกว่าเทวดาในเบื้องบน เพราะว่าชีวิตทุกหน่วยมีปัญหาทุกข์เพราะเกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์เพราะกิเลสตัณหาอุปาทานครอบงำย่ำยีเหมือนกันทั้งนั้น มีปัญหาอย่างเดียวกัน มีสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวกัน คือ ต้องตัดกิเลสตัณหาที่เป็นตัวการสำคัญหรืออุปาทานเสียให้ได้

๕. เบญจขันธ์ (คนเราติดอะไร)
“โลก” ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งทั้งปวงทั้งสิ้นไม่ว่าจะเกี่ยวกับมนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ปีศาจ เปรต อสุรกาย แต่เรารู้จักโลกกันแต่ชั้นนอก ๆ ที่เรียกว่าชั้นสมมติ ซึ่งจำแนกออกเป็นฝ่ายวัตถุเรียกว่ารูปธรรมอย่างหนึ่ง ฝ่ายจิตเรียกว่านามธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเอารูปธรรม ๑ ส่วน มารวมเข้ากับนามธรรม ๔ ส่วน ก็ได้เป็น ๕ ส่วน เรียกว่าเบญจขันธ์ แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก คือเป็นสัตว์เป็นคนนี่เอง
รูป หรือรูปขันธ์ คือ ร่างกายที่เป็นวัตถุ ; ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วน จำแนกได้คือ
เวทนา หรือเวทนาขันธ์ หมายถึง ความรู้สึก ๓ ประการ ที่มีประจำอยู่ในคนเราเป็นปกติ คือ สุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง , ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง , อีกแบบหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์ คือยังเฉย ๆ อยู่ โดยเฉพาะตัวความสุขหรือเอร็ดอร่อยทางตาหูจมูกลิ้นและทางกายที่ผู้คนไม่เว้นแม้พรหมเทวดาต่างลงทุนเข้าไปหลงใหลติดยึดเป็นตัวเป็นตน ตกเป็นทาสของสุขเวทนากันมากที่สุด
(โปรดอ่านต่อในตอน ๒)
 
 

โดย: มนต์ชัย IP: 125.26.2.39 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:33:51 น.  

 
 
 
(คู่มือมนุษย์ ฉบับย่อ ตอน ๒)

สัญญา หรือสมปฤดี แปลว่า รู้ตัว เป็นความรู้สึกตัวอยู่เหมือนอย่างว่าเรากำลังตื่นอยู่ คือ ไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือเรียกว่ามีสติสมปฤดี โดยทั่วไปมักจะอธิบายกันว่าเป็นความรู้สึกจำได้หมายรู้ เมื่อกระทบอะไรทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็รู้สึกหรือจำไว้ว่าเป็นอะไร ซึ่งเป็นเพียงผลของการปรุงแต่งตามธรรมชาติของคน ๆ หนึ่ง แต่พอเกิดการไม่เป็นระเบียบในการปรุงแต่งสัญญาก็จะกลายเป็นใช้ไม่ได้ไปทันที พุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับว่าสัญญาเป็นตัวตนของใคร
สังขาร แปลว่า ของปรุงแต่ง คือ กิริยาอาการของสิ่งที่เป็นอยู่ในคนหนึ่ง ๆ ได้แก่ การนึกคิดหรือความคิด เป็นความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งภายในใจ เป็นอาการที่คิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ว่าจะทำนั่นทำนี่ จะได้นั่นได้นี่ เป็นความคิดดีหรือชั่วก็ตาม เป็นของหลาย ๆ อย่างมาปรุงกันเข้า ซึ่งแสดงความเป็นตัวตนหนักขึ้นไปอีก พุทธศาสนาจึงได้ปฏิเสธสังขารว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อแยกพิสูจน์ออกเป็นแต่ละส่วน ๆ ก็เป็นอนัตตาเช่นเดียวกับขันธ์อื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว
วิญญาณ หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงที่ใจของตนเอง ซึ่งมีความสามารถในการรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอยู่ตลอดเวลา แล้วยึดถือเอาเป็นตัวตน มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น โดยไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก ไม่ใช่เจตภูตที่ออกไปจากร่างตอนนอนหลับอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน
ขันธ์ห้านี่แหละเป็นที่เกาะยึดของอุปาทานทั้ง ๔ ความยึดนั้นมันเกาะจับอยู่กับส่วน ๕ ส่วนนี้ อาจยึดเอาแต่ละส่วนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวตนก็ได้ แล้วแต่ความโง่ของคน หน้าที่อันจะพึงปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์ คือ ต้องทำให้ความรู้แจ้งเกิดขึ้นเพื่อขจัดความโง่เสีย แล้วจะเห็นเองว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวเป็นตนอันน่ายึดถือ แต่ละส่วนล้วนเป็นมายาไร้ตัวตนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่มีเหยื่อล่อให้เกิดอุปาทานสี่ประการยึดถือจนเป็นที่ตั้งของความอยากได้อยากมีอยากเป็น อยากไม่ให้มีไม่ให้เป็น ซึ่งล้วนแต่จะทำให้เกิดทุกข์ จึงต้องอาศัยข้อปฏิบัติไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ทำการถอนอุปาทานความหลงติดในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง จึงจะไม่ตกเป็นทาสของเบญจขันธ์
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้มากกว่าเรื่องทั้งหลาย มีใจความสรุปสั้น ๆ ว่า “เบญจขันธ์เป็นอนัตตา” ถ้ารู้ตามที่เป็นจริง ความยึดถือด้วยการเข้าใจผิดก็หายไป ความอยากทุกชนิดจะไม่มีทางเกิด และความทุกข์ก็จะไม่มี โลกจะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกใจให้แก่ผู้นั้น ไม่ต้องร้อนใจเพราะสิ่งใด ๆ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง

๖. สมาธิ และวิปัสสนา ตามธรรมชาติ (การทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติ)
ถ้าเราไม่ศรัทธาในบุคคลหรือทฤษฎีใด ก็จะจำไม่ค่อยได้ แต่เวลาที่จิตใจผ่องใสชุ่มชื่นเยือกเย็น เป็นเวลาที่จะรู้ธรรมหรือตรัสรู้ คือ อาจจะรู้โพล่ง ๆ เฉย ๆ ขึ้นมาได้โดยง่าย แม้ที่สุดความจำที่เลอะเลือนก็กลับจะแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นมาใหม่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ
สมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักจะพอเหมาะพอสมแก่กำลังของปัญญาที่จะใช้ทำการพิจารณา คนเรารอดตัวมาได้เป็นส่วนใหญ่ก็โดยอำนาจของสมาธิตามธรรมชาติ แม้การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ก็อาศัยสมาธิตามธรรมชาติเป็นส่วนมาก จึงควรประคับประคองจิตที่สงบเป็นสมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติให้ถูกวิธี , ส่วนสมาธิที่เกิดจากการฝึกตามหลักวิชาการ มักจะมากเกินไปหรือเหลือใช้ จนเป็นเหตุให้คนหลงผิดพอใจเพียงแค่สมาธินั้น เพราะในขณะที่จิตเป็นสมาธิเต็มที่นั้น ย่อมเป็นความสุขความสบายชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความพอใจจนถึงกับหลงติดหลงคิดว่าเป็นมรรคเป็นผล
ความลับของธรรมชาติที่เกี่ยวกับลำดับแห่งความรู้สึกต่าง ๆ ภายในใจ จนกระทั่งเกิดการรู้จักเห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงต่อโลกหรือขันธ์ห้า ลำดับแรกได้แก่ “ปีติและปราโมทย์” หมายถึง ความชุ่มชื่นใจหรืออิ่มเอมในทางธรรม ซึ่งหากมีประจำใจอยู่มากพอก็มีอำนาจทำให้เกิด “ปัสสัทธิ” คือความรำงับ เมื่อมีความรำงับแล้วก็ย่อมเกิดอาการที่เรียกว่า “สมาธิ” คือ ใจสงบนิ่งอยู่ในสภาพที่คล่องสะดวกเบาสบายพร้อมที่จะไหวไปตามความต้องการ โดยเฉพาะเพื่อตัดกิเลส ร่างกายจะต้องให้มีความรู้สึกอยู่อย่างปกติ แต่จิตสงบเป็นพิเศษเหมาะที่จะใช้นึกคิดพิจารณา มีความผ่องใสเยือกเย็นสงบรำงับที่สุด เรียกว่า “กมฺมนีโย” คือ พร้อมที่จะรู้แจ้ง จนเกิดความรู้ตามที่เป็นจริงต่อโลกทั้งหมด (ยถาภูตญาณทัสสนะ) , ไม่ใช่ว่าอยู่ในฌานสมาบัติตัวแข็งทื่อไม่รู้สึกตัว พิจารณาอะไรไม่ได้เลย ซึ่งเป็นอุปสรรคของการทำวิปัสสนาโดยตรง
ยถาภูตญาณทัสสนะ หมายถึง การรู้การเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่า "ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน หรือด้วยความยึดมั่น ไม่ว่าอะไร ๆ ก็ไม่ควรเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าของตัวของตน ว่าดีว่าชั่วน่ารักหรือน่าชัง ไปในทางพอใจหรือไม่พอใจแม้เพียงรู้สึกนึกคิดหรือระลึกถึง ก็ยังถือว่าเป็นความยึดถือ เมื่อเรารู้ความจริงข้อนี้แล้ว ก็จะมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองจิตไม่ให้ตกไปเป็นทาสของความมีความเป็นด้วยอำนาจความยึดติด มีสติปัญญาอยู่เหนือสิ่งต่าง ๆ (คนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา) ให้สิ่งต่างๆ ลงไปอยู่เป็นบ่าวเป็นทาสเราและเราอยู่เหนือมัน ระมัดระวังอย่าเข้าไปเกี่ยวข้องยึดถือด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานจนถูกมันเล่นงานเอาได้
สมาธิและวิปัสสนาตามธรรมชาติ ที่ทำให้บุคคลบรรลุมรรคผลนั้น ต้องอาศัยการพิจารณาความจริงในข้อที่ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” อยู่เป็นประจำทุกวัน ผู้หวังจะได้ผลอันนี้จะต้องพยายามทำตนให้เป็นคนสะอาด มีอะไรที่พอใจตัวจนยกมือไหว้ตัวเองได้ มีปีติและปราโมทย์ (ความอิ่มใจในธรรม) ตามทางธรรมอยู่เสมอ เป็นเหตุให้จิตมีสมรรถภาพในการคิดค้นตามธรรมชาติ เกิดความเห็นจริงว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นอยู่เสมอ ความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) ก็จะเกิดขึ้นตามมา ขณะใดเป็นไปอย่างแรงกล้าจิตก็ย่อมจะมีความจางหรือคลายออก (วิราคะ) ไม่มีความหลงอยากในสิ่งใดด้วยกิเลสตัณหาอีกต่อไป ความทุกข์ซึ่งไม่มีที่ตั้งอาศัยก็สิ้นสุดลง ความหลุดออกจากทุกข์ (วิมุตติ) จะต้องมีโดยแน่นอน เมื่อหลุดออกมาได้จากความเป็นทาสของโลกก็จะมีอาการบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) ไม่เศร้าหมองอีกต่อไป เกิดเป็นความสงบรำงับดับเย็นของสิ่งทั้งปวง (สันติ) จากการรบกวนเบียดเบียนวุ่นวายหรือจากการดิ้นรนต่อสู้ทรมาน แทบจะเรียกได้ว่าถึงขั้นสูงสุดหรือขั้นเดียวกับ “นิพพาน” แปลว่า ไม่มีเครื่องทิ่มแทง หรือความดับสนิทไม่มีเหลือ คือ ไม่มีเชื่อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีกต่อไป ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง

๗. สมาธิ และวิปัสสนา ตามหลักวิชาในรูปเทคนิค (การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา)
วิปัสสนา หมายถึง การรู้แจ้งเห็นจริง คือ เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จนเต็มไปด้วยความน่ากลัวน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น ,
สีลวิสุทธิและจิตตวิสุทธิจัดเป็นรากฐานที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา เป็นปากทางของวิปัสสนา , วิสุทธิอีก ๕ ลำดับ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ , กังขาวิตรณวิสุทธิ , มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ , ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ , และญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาแท้ ทำความรู้ในตัวความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างชัดแจ้ง , แล้วเจริญกำหนดหาความรู้ลงไปที่โลกทั้งปวง ภพทั้งปวง หรือสังขารทั้งปวง หรือขันธ์ห้าทั้งปวง , ทำกิจคือ กำจัดตัดความโง่ความมืดความหลงติดในโลกทั้งปวงเสีย ให้สำเร็จเกิดผลเป็นความสว่างแจ่มแจ้งขึ้นมา เป็นความสะอาด สว่าง สงบ อุปาทานไม่เหลืออยู่ต่อไป ไม่มีอะไรผูกพันจิตให้ติดอยู่กับภพนั้น ๆ เกิดลักษณะที่เรียกว่า วิมุตติ หรือหลุดพ้นออกมากภพหรือจากโลก จิตไม่มีความทุกข์เพราะไม่มีตัณหาหรือความอยากแต่ประการใดในภพนั้น ๆ อีกต่อไป รู้แจ้งแทงตลอดสิ่งทั้งปวง กำจัดกิเลสสูญสิ้นไป ถึงที่สุดแห่งความทุกข์เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานถึงที่สุดแห่งกิจในพระพุทธศาสนา
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๑ เรียกว่า ความมีทิฏฐิบริสุทธิ์หมดจด หมายถึง ความหมดจดจากความเห็นผิด ที่เราเห็นผิดกันอยู่ตามธรรมชาติธรรมดามาแต่เดิม หรือด้วยการถูกแวดล้อมเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ความเชื่องมงายไร้เหตุผลในเรื่องไสยศาสตร์ ขึ้นมาถึงเรื่องความเข้าใจผิดในธรรมชาติว่าเป็นของเที่ยงของสุขเป็นตัวเป็นตน เป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ไป ไม่เห็นว่าทั้งหมดเป็นเพียงนามและรูป หรือกายกับใจ มองไม่เห็นว่าเป็นขันธ์ห้า (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่เห็นว่าเป็นเพียงอายตนะ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ,
กังขาวิตรณวิสุทธิ หมายถึง การเห็นแจ้งในพวกเหตุพวกปัจจัยของสิ่งทั้งปวง เป็นความหมดจดแห่งความรู้ที่จะให้ข้ามความสงสัยเสียได้ สรุปได้ว่ามีความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราว่ามีอยู่หรือไม่ ตัวเราได้มีแล้วหรือไม่ ตัวเราจะมีต่อไปหรือไม่ในลักษณะอย่างไร การที่จะข้ามความสงสัยเสียได้ก็ต้องโดยเหตุที่ทราบว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่ธาตุ ขันธ์ อายตนะ และเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ซึ่งปรุงแต่งขันธ์อายตนะเหล่านั้น ,
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดสะอาดแห่งความรู้ความเห็นว่าอะไรเป็นทางที่จะก้าวต่อไปอย่างถูกต้อง อะไรเป็นทางผิดที่จะเป็นอุปสรรคไม่อาจก้าวต่อไปได้ เพราะสิ่งที่เกิดในขณะที่จิตเป็นสมาธิอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่านี่เป็นของวิเศษพอแล้วสำหรับเรา หรือปีติอิ่มอกอิ่มใจมาล้นท่วมทับจิต ทะนงตัวฟุ้งซ่านว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว หรือจิตตกไปในทางรำงับหยุดนิ่งมากเกินไป พอใจหลงใหลแต่ในทางสมาบัติ จนไม่อาจพิจารณาในทางปัญญาได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงต้องศึกษาอบรมดำรงตัวให้เดินในทางที่ชอบไว้เรื่อย ๆ ไปจนเกิดความรู้แจ้งชัดในหนทางแห่งวิปัสสนาจิตที่ถูกตรงโดยประการทั้งปวง ,
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แปลว่า ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวทางแห่งการปฏิบัติ เป็นความบริสุทธิ์หมดจดสะอาดดีแห่งปัญญาเป็นเครื่องเห็น ในการดำเนินไปของวิปัสสนาหรือปัญญาที่รู้แจ้งและตัดกิเลส ซึ่งมีการจำแนกเป็น ๙ ลำดับ เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ คือ (๑) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณหรืออุทยญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดให้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปของสังขารทั้งปวง เห็นภพทั้งหลายเต็มไปแต่ด้วยการเกิดดับ เพื่อให้มีกำลังแรงในการที่จะเบื่อหน่ายหรือขูดเกลาไถ่ถอนความยึดมั่นในสิ่งนั้น ๆ เสียได้ในลำดับต่อไป (๒) ภังคานุปัสสนาญาณหรือภังคญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดเห็นความพังทลายหรือความดับ เพ่งแต่ฝ่ายดับ ไม่เพ่งดูฝ่ายเกิด (๓) ภยตุปัฏฐานญาณหรือภยญาณ แปลว่า ความรู้แจ้งในสังขารปรากฏว่าเต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัว ปรากฏเต็มไปในภพทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ (๔) อาทีนวานุปัสสนาญาณหรืออาทีนวญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดให้เห็นโทษของสังขารทั้งปวง จึงไม่มีความปลอดภัยในการที่จะไปหลงเกี่ยวข้องด้วยสังขารเหล่านั้น (๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณหรือนิพพิทาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องกำหนดด้วยความเบื่อหน่ายไม่น่าเสน่หาในสังขารทั้งปวง (๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาในการพ้นจากการระคนด้วยสังขารเหล่านั้นจริง ๆ ไม่ใช่ทำกันเล่น ๆ ยิ่งรู้สึกกลัวเท่าไรก็รู้สึกอยากพ้นเท่านั้น (๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องกำหนดพิจารณาหาทางรอด โดยพิจารณาเห็นอุปาทานเห็นกิเลสซึ่งเป็นเหตุผูกพันจิตให้ติดอยู่กับภพนั้น ๆ หาหนทางที่จะทำให้กิเลสนั้นอ่อนกำลังแล้วจึงทำลายเสีย (๘) สังขารุเปกขาญาณหรืออุเบกขาญาณ แปลว่า ความรู้เป็นเหตุให้วางเฉยในสังขารทั้งปวง โดยพิจารณาเห็นความว่างแห่งสังขารทั้งหลาย จนเกิดความวางเฉยในสิ่งทั้งปวงในทุก ๆ ภพ (๙) สัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ แปลว่า ญาณที่พร้อมถึงที่สุดแล้วที่จะรู้อริยสัจจ์ ชนิดที่เป็นขั้นที่จะทำลายกิเลสสังโยชน์ให้หมดไปเป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ชั้นใดชั้นหนึ่งได้ ,
ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ ซึ่งได้แก่อริยมรรคญาณ เป็นผลสุดท้ายของวิปัสสนา ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีโคตรภูญาณแทรกอยู่ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายคั่นระหว่างปุถุชนกับอริยบุคคล

๘. อริยบุคคล กับ การละกิเลส (ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก)
โลกุตตรภูมิ คือ ชั้นหรือฐานะของจิตใจที่อยู่เหนือโลก มีจิตอยู่เหนือความต้องการสิ่งใด ๆ ในโลก มีจิตใจอยู่เหนือความครอบงำของกิเลสตัณหา มองเห็นโลกด้วยความเป็นของไม่มีตัวตน ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกียภูมิ
โลกียภูมิ คือ ภูมิของจิตที่ต่ำอยู่ในขนาดที่สิ่งต่าง ๆ ในโลกมีอิทธิพลเหนือจิตได้ แบ่งออกเป็น ๓ พวกด้วยกัน คือ กามาวจรภูมิ (จิตที่ยังต่ำจนพอใจในกามทั้งปวง) รูปาวจรภูมิ (จิตที่ไม่ต่ำจนถึงกับพอใจในกาม แต่ยังพอใจในความสุขที่เกิดมาแต่สมาบัติที่มีอารมณ์เป็นรูปธรรมสิ่งใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม) และอรูปาวจรภูมิ (จิตที่ยังพอใจในความสุขความสงบที่สูงขึ้นไปกว่าอีกชั้นหนึ่ง อันเกิดแต่สมาบัติที่มีสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์) , “ภูมิ” หมายถึง สถานะทางจิตที่เป็นอยู่อย่างไร ซึ่งอาจจับคู่กันได้กับ “ภพ” ซึ่งหมายถึง ที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์ซึ่งมีจิตต่าง ๆ กัน
กิเลสเครื่องผูกพัน ๑๐ อย่าง เรียกว่าสังโยชน์ ผูกพันคนทุกคนหรือสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดให้ติดอยู่ในโลก คนจึงตกอยู่ในวิสัยของโลกเป็นโลกียภูมิ ซึ่งถ้าตัดเครื่องผูกพันเหล่านั้นออกไปเสียได้ จิตก็จะค่อย ๆ หลุดออกมาจากโลกตามลำดับ เมื่อตัดได้หมดจิตก็หลุดออกมาสู่ความอยู่เหนือโลกเป็นโลกุตตรภูมิ ซึ่งมีอยู่ ๔ ชั้นตามลำดับของการตัดกิเลสหรือสังโยชน์ที่จะกล่าวต่อไป
สังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดที่ผูกพันตัวเรา ๑๐ ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา , สีลัพพตปรามาส , กามราคะ , ปฏิฆะ , รูปราคะ , อรูปราคะ , มานะ , อุทธัจจะ และอวิชชา
(๑) สักกายทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นว่ากายเป็นของตน เป็นไปหนักแน่นมากถึงกับเอาอะไร ๆ เป็นตัวตนก็ได้ตามความรู้สึกของตน ซึ่งเป็นความสำคัญผิด เป็นอุปาทาน เป็นกิเลสข้อแรกที่ใคร ๆ จะต้องละเพื่อการเอาชนะโลก
(๒) วิจิกิจฉา หมายถึง ความสงสัย คือ ความรู้มีไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้สงสัยลังเลในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ลังเลในศาสนา หรือความลังเลในความดี ซึ่งมีมูลเหตุมาจากความไม่รู้หรืออวิชชาที่ก่อให้เกิดกิเลสตัณหาคอยดึงกระชากจิตให้เคยชินแต่ในการไหลไปทางต่ำ
(๓) สีลัพพตปรามาส แปลว่า การจับฉวยศีลและวัตรผิดความมุ่งหมายที่ถูกต้อง คือ การติดแน่นยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ในสิ่งที่ตนเห็นว่าดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นการทำไปอย่างงมงายไร้เหตุผลอันมีมูลมาจากความขลาดความกลัว เช่น การยึดมั่นเป็นเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การปฏิบัติอย่างไสยศาสตร์ การสมาทานศีลปฏิบัติสิกขาบทด้วยความคิดว่าจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา การถวายข้าวพระทำนองเซ่นวิญญาณพระพุทธเจ้า
ถ้าละขาดกิเลสหรือสังโยชน์ ๓ อย่างแรกนี้ได้จริง ๆ ก็เรียกว่าตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง คือเป็น “พระโสดาบัน” แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสแห่งนิพพาน , สำหรับโลกุตตรภูมิอันดับที่ ๒ นั้น หมายถึง บุคคลที่ละสังโยชน์เครื่องผูกพัน ๓ อย่างนั้นสิ้นไปแล้ว และยังสามารถทำโลภะ โทสะ โมหะบางส่วนให้จางไปได้อีกระดับหนึ่งด้วยจนถึงกับมีจิตใจสูง มีความผูกพันอาลัยอยู่ในกามโลกหรือกามภพแต่เล็กน้อยที่สุด ถึงกับว่ายังจะเวียนมาสู่โลกนี้เพียงหนเดียวครั้งเดียวซึ่งเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า “พระสกิทาคามี” ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดนิพพานยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
(๔) กามราคะ หมายถึง ความที่จิตยังย้อมติดอยู่ด้วยความพอใจในกาม หรือความรักใคร่ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส เป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในใจสัตว์อย่างเหนียวแน่นราวกะว่าแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว จนยากที่จะเข้าใจยากที่จะล้างออกได้สำหรับคนธรรมดาดังที่ได้อธิบายไว้ในเรื่องกามุปาทาน กามราคะนี้แม้พระโสดาบันและพระสกิทาคามีก็ยังละไม่หมด ยังมีความพอใจในของรักของใคร่เหลืออยู่เป็นบางส่วน
(๕) ปฏิฆะ เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตฝ่ายที่รู้สึกไม่พอใจ (ถ้าพอใจก็เป็นกามราคะ) เป็นความรู้สึกโกรธ ความขัดเคืองใจ ความกระเพื่อมแห่งจิตชั้นละเอียด เป็นความขุ่นอยู่ข้างใน กิเลสที่เรียกว่าปฏิฆะนี้พระโสดาบันหรือพระสกิทาคามีล้างออกไปได้เป็นส่วนมาก เหลืออยู่เพียงความหงุดหงิดความขัดข้องอยู่ภายใน
กิเลสหรือสังโยชน์ทั้ง ๕ ข้อนี้ จัดเป็นภาคแรกหรือภาคต่ำ พระอริยะเจ้าประเภทที่ ๓ ละได้หมด เพราะไม่มีกามราคะเหลืออยู่เลยจึงไม่เวียนมาสู่กามภพอีกต่อไป เป็นเหตุให้ได้นามว่า “พระอนาคามี” แปลว่า ผู้ไม่มีการกลับมาอีก
(๖) รูปราคะ หมายถึง ความรักความพอใจในความสุขที่เกิดมาแต่ในรูปสมาบัติ เหมือนพวกโยคีที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ เป็นเรื่องระหว่างที่กิเลสสงบรำงับเพราะอำนาจของฌาน จิตก็ว่างโปร่งสงบเย็นเป็นอิสระคล้ายกันกับรสของนิพพาน แต่ว่าเป็นเรื่องชั่วคราวไม่ใช่กิเลสได้สูญหายไปจริง เมื่อหมดกำลังของฌานกิเลสก็กลับมาปรากฏอีก ,
(๗) อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจติดใจในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติ ซึ่งละเอียดประณีตสุขุมลึกซึ้งขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นการเจริญฌานโดยกำหนดเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น อาการหรือความว่างเปล่ามาเป็นอารมณ์ ถ้าใครเข้าถึงก็จะติดใจกว่าความสงบที่เป็นรูปฌานซึ่งเรียกว่าอรูปฌาน
(๘) มานะ ได้แก่ ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นชั้น เป็นเชิง ว่าเราเลวกว่าเขา (น้อยใจ) เราเสมอเขา (ทำให้นึกแข่งขัน) เราดีหรือสูงกว่าเขา (ทะนงใจ) ตามที่สมมติกันในโลก (ไม่ได้หมายถึงมานะทิฏฐิด้วยความเย่อหยิ่งจองหองตามธรรมดา) เป็นเหตุให้ดิ้นรนกระวนกระวาย ไม่เป็นความสงบสุขถึงที่สุด ถ้ามีจิตใจอยู่เหนือความดีความชั่วเสียแล้ว ความรู้สึกต่าง ๆ เช่นนี้จะมีอยู่ไม่ได้
(๙) อุทธัจจะ แปลว่า ความกระเพื่อม ความรู้สึกที่ฟุ้ง หรือความไม่สงบนิ่ง เป็นความกระพือขึ้นของใจหรือความทึ่งในเมื่อสิ่งที่ยั่วหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นที่ตั้งแห่งความสนใจผ่านมา ไม่ว่าทางตาหูจมูกลิ้นกายในลักษณะที่ตรงกับความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเข้า
(๑๐) อวิชชา แปลว่า ภาวะที่ปราศจากความรู้ความจริงที่ถูกต้องในเรื่องความดับสนิทของทุกข์ ไม่รู้หนทางที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์ , ความรู้ทั้งหลายมีมากมายแต่พระพุทธเจ้าจัดไว้ในจำพวกที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเองก็มีขอบเขตอยู่แต่ในวงเรื่องที่ควรรู้ ซึ่งคำว่า “สัพพัญญู” (รู้ทั้งหมด) ก็คือการรู้แต่ในขอบเขตที่ควรรู้สำหรับการดับทุกข์ คนที่ไม่รู้ก็ย่อมทำไปตามความเขลาหรืออำนาจกิเลสตัณหาตามความต้องการของตนเอง โดยอวิชชาทำให้คนรู้หลงสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นความสุขไป จนถึงกับพอใจเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ และสำคัญผิดในเหตุของความทุกข์จนไปคว้าเอาสิ่งที่ผิดไว้ หรือเกิดความโง่เขลาใหม่ ๆ ขึ้น เช่น ไปโทษผีสางเทวดาว่าเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้แทนที่จะรักษาโดยวิธีที่ถูกต้อง
เมื่อตัดกิเลส ๕ อย่างสุดท้ายได้หมด คือ ตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ซึ่งเป็นการตัดสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ อย่าง แล้วก็จะกลายเป็น “พระอรหันต์” คือ เป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
พระอริยเจ้าทั้ง ๔ ประเภท กล่าวคือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์นี้ (ซึ่งมีความทุกข์น้อยลงตามสัดส่วนจนกระทั่งไม่มีทุกข์เลย) จัดว่าเป็นผู้ที่อยู่ในโลกุตตรภูมิ ส่วนตัวธรรมที่ได้บรรลุเรียกว่าโลกุตตรธรรม ซึ่งแยกออกเป็น ๙ อย่าง คือ ภาวะของพระโสดาบันในขณะที่กำลังตัดกิเลสเรียกว่าโสดาปัตติมรรคอย่างหนึ่ง เมื่อตัดกิเลสได้แล้วเรียกว่าโสดาปัตติผลอีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นคู่ ๆ คือ โสดาปัตติมรรค – โสดาปัตติผล , สกิทาคามิมรรค – สกิทาคามิผล , อนาคามิมรรค – อนาคามิผล , อรหัตตมรรค – อรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ เติมนิพพานเข้าอีกหนึ่งจึงเป็น ๙ เรียกว่า โลกุตตรธรรม ๙ และผู้รู้คือพระพุทธเจ้าทุก ๆ องค์ ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นอุดมธรรม (Summum Bonum) เป็นผลของการปฏิบัติวิปัสสนาหรือผลสุดท้ายของพุทธศาสนา

๙. พุทธศาสนา กับคนทั่วไป (พุทธศาสนาสอนศิลปะการเป็นคน)
ศาสนาทุกศาสนามีมูลมาจากความกลัวที่มีอยู่หลายขั้น ตั้งแต่ภัยธรรมชาติไปจนถึงความเกิดแก่เจ็บตายหรือความทุกข์ ศาสนาจึงเป็นตัวการดิ้นรนกระทำเพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายหรือสิ่งที่ตนถือว่าอันตรายในทางจิต
พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เพราะ “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้หรือผู้ตื่น คือไม่หลับ เป็นผู้เบิกบาน คือไม่หุบหรือไม่มืด แต่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง จึงปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง ไม่เปิดโอกาสให้สิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลยึดถือจนกระทำเกิดความทุกข์ เป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญาหรือวิชาความรู้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องมือทำลายความทุกข์หรือต้นเหตุของความทุกข์ เราจึงต้องศึกษาให้เห็นแจ้งเข้าถึงตัวพุทธศาสนาจริง ๆ มิใช่เป็นแต่ผู้รู้หรือผู้เข้าในพุทธศาสนาแต่หาได้เป็นผู้เห็นแจ้งไม่
การทำพิธีรีตองเพื่อบูชาบวงสรวงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ถูกรับเข้ามาในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการกระทำที่ไม่อาจจะเป็นที่พึ่งได้ จนถึงกับมีคำกล่าว่า ความรู้ความฉลาดความสามารถที่ทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละเป็นตัวฤกษ์ที่ดีอยู่ในตัวเองแล้ว ดวงดาวทั้งหลายในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรปรารถนาจะผ่านพ้นคนโง่ ๆ ที่มัวแต่นั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น , หรือว่าถ้าน้ำศักดิ์สิทธิ์จะทำคนให้หมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกปลา พวกเต่า ปู หอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้นก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปได้ด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน , หรือถ้าหากว่าความพ้นทุกข์จะสำเร็จได้ด้วยการบูชาอ้วนวอนเอา ๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครที่ไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่าใคร ๆ ก็บูชาอ้อนวอนเป็น ไม่ใช่ของทำยาก
พระพุทธศาสนามีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายคู เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างกันก็เห็นเป็นรูปต่างกัน สิ่งที่เรียกว่าความจริงของคนเราจึงไม่เหมือนกัน เพราะคนเราเข้าถึงตัวจริงของสิ่งซึ่งเป็นปัญหาได้ตื้นลึกหรือด้วยท่าทางลักษณะ และสติปัญญาที่ต่างกัน ดังพิธีรีตองต่าง ๆ ที่เกิดมาเป็นเปลือกหุ้มห่อของจริง กลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอก จนความมุ่งหมายเดิมสาบสูญไป เช่น การบวชนาค กฐิน ที่มีการประกอบพิธีหรูหราเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจหรือสำมะเลเทเมา โดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริงจากตัวแท้ของพุทธศาสนา


(โปรดอ่านต่อตอน ๓)
 
 

โดย: มนต์ชัย IP: 125.26.2.39 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:36:05 น.  

 
 
 
(คู่มือมนุษย์ ฉบับย่อ ตอน ๓)
พระพุทธศาสนามีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายคู เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างกันก็เห็นเป็นรูปต่างกัน สิ่งที่เรียกว่าความจริงของคนเราจึงไม่เหมือนกัน เพราะคนเราเข้าถึงตัวจริงของสิ่งซึ่งเป็นปัญหาได้ตื้นลึกหรือด้วยท่าทางลักษณะ และสติปัญญาที่ต่างกัน ดังพิธีรีตองต่าง ๆ ที่เกิดมาเป็นเปลือกหุ้มห่อของจริง กลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอก จนความมุ่งหมายเดิมสาบสูญไป เช่น การบวชนาค กฐิน ที่มีการประกอบพิธีหรูหราเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจหรือสำมะเลเทเมา โดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริงจากตัวแท้ของพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีเหลี่ยมคูต่าง ๆ ที่เมื่อมองดูกันในเหลี่ยมไหนแล้วก็จะได้รูปร่างหรือลักษณะในเหลี่ยมนั้น เช่น ถ้ามองบทบัญญัติที่เป็นศีลธรรมดีงาม มีกล่าวถึงบุญบาป ดีชั่ว ความซื่อตรง ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคีในพระไตรปิฎก ก็จะเห็นว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral) , แต่ถ้ามองถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับเรื่องสุญญตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจจ์สี่ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานที่เป็นสัจธรรม (Truth) , ถ้ามองส่วนที่เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติ ได้แก่ ศีลสมาธิปัญญา ผลที่เกิดคือ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันจะพึงปฏิบัติเพื่อผลโลกุตตรธรรมให้หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้ นี่เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) , ถ้ามองในลักษณะที่เป็นจิตวิทยา ในอภิธรรมปิฎกได้กล่าวพึงความรู้ทางจิตวิทยาที่แยบคายลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบัน , ถ้ามองในฐานะที่เป็นปรัชญาและวิทยาศาสตร์ หลักพระพุทธศาสนาบางอย่างเป็นปรัชญาสำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ตัวแท้ของพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา มีวิธีการปฏิบัติด้วยกายวาจาใจโดยการพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งล้วนแต่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตานั้น มีอะไรบ้างที่น่ายึดถือน่าเอาน่าเป็น หรือมีสิ่งใดบ้างที่ยึดถือเข้าแล้วจะไม่เป็นความทุกข์ พิจารณาไปจนกระทั่งมีจิตใจเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือสิ้นไปในที่สุดจนเกิดความสว่างไสวที่เรียกว่าวิชชา ไม่ตกเป็นบ่าวเป็นทาส แต่เป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวงให้อยู่ในอำนาจแห่งสติปัญญาของตน โดยถือว่าธรรมะในพระพุทธศาสนาจะให้ความเพลิดเพลินในฐานะเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ

๑๐. ตุลาการตามอุดมคติแห่งพระพุทธศาสนา (สรุปกถาธรรมบรรยาย)
ตุลาการ คือ บุคคลผู้มีหน้าที่อภิบาลรักษาธรรมของโลกประเภทหนึ่ง การที่คนเราปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอุดมคติสูงอยู่อย่างสุดความสามารถนั้น นับว่าเป็นการประพฤติธรรมอย่างเต็มที่อย่างหนึ่งอยู่ในตัว สำหรับตุลาการนั้นนับเป็นโอกาสแห่งการประพฤติธรรมชั้นสูงพร้อมกันไปในตัว
การที่เรายึดถืออุดมคติอันใหญ่หลวงว่า เราเป็นผู้รักษาธรรมของโลก ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลของโลกทุกโลก จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราบกพร่องในอุดมคติที่ย่อม ๆ เล็ก ๆ ลงมา ข้อนี้จะเป็นเครื่องชูกำลังให้มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาที่กว้างหรือสูง เป็นทางที่จะป้องกันอคติต่าง ๆ ได้ง่าย แต่ถ้าเราทำตนเป็นคนของใครก็จะต้องทำอะไรคล้ายตามความประสงค์ของคนนั้นเป็นธรรมดา เช่น เป็นผู้รับใช้ประชาชนหรือเป็นข้าราชการของกระทรวงหนึ่ง ก็ต้องเป็นคนที่ต้องทำตามความต้องการของประชาชนหรือความประสงค์ของกระทรวงนั้น ๆ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคนของธรรมซึ่งยิ่งไปกว่าโลกใหญ่ไปกว่าโลก ไม่เป็นลูกจ้างใคร ก็จะสามารถเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาธรรมหรือความยุติธรรมไว้ให้คงมีอยู่เป็นที่พึ่งของโลก โดยไม่เห็นแก่หน้าใครได้โดยง่าย ส่วนเงินเดือนเป็นแต่ค่าบูชาที่ชาวโลกช่วยกันสละให้ ด้วยหวังว่าเราจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาทำไร่ไถนาหาอาหารด้วยตนเอง เพื่อใช้เวลาทั้งหมดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมคติให้ยังคงมีอยู่เป็นที่พึ่งประจำโลก
ตุลาการผู้ทำหน้าที่ตามอุดมคติจนตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลแล้ว ย่อมเป็นเครื่องป้องกันทางมาแห่งกิเลสและอคติ ๔ วันคืนย่อมประกอบอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ จึงได้รับความผาสุกทางกายทางใจ มีสติปัญญาสดชื่นแจ่มใสในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และเป็นหนทางแห่งการรู้ธรรมอันสูงยิ่งขึ้นไปตามธรรมชาติพร้อมกันไปในตัวด้วย
เมื่อผู้ใดเป็นอยู่ด้วยการพยายามละกิเลสหรือสังโยชน์อยู่โดยปรกติแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอคติก็จะหมดกำลังไปในตัว แม้ไม่ต้องคอยระมัดระวังก็เกิดหรือมีขึ้นไม่ได้ การไม่เห็นแก่ตัวย่อมจะป้องกันฉันทาคติหรือโทสาคติได้ ความไม่งมงายย่อมจะป้องกันภยาคติ (ลำเอียงเพราะความกลัว) หรือโมหาคติ (ลำเอียงเพราะความไม่รู้หรือโง่เขลา) ได้
ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคลประเภทหนึ่ง จึงควรจะสนใจในเรื่องของพระอริยบุคคลหรือปูชนียบุคคลที่แท้จริงของโลกให้มาก เพื่อจะได้สิ่งวิเศษศักดิ์สิทธิ์สิ่งหนึ่งซึ่งจะเป็นเครื่องมือกำจัดอคติไปในตัว ท่านที่เป็นตุลาการวินิจฉัยคดีก็ยังอาจนำเรื่องของวิปัสสนาภาวนามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่หน้าที่ประจำวันได้ ด้วยการมีศีลมีจิตบริสุทธิ์มีปัญญาสว่างไสว มีทิฏฐิมีความคิดเห็นที่เป็นไปถูกทางในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง หล่อเลี้ยงสมรรถภาพในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์
หลักของศาสนาต่าง ๆ ในโลก อาจสรุปวิธีทำความดับทุกข์ได้ ๓ ประเภท คือ ความเชื่อ ความเพียร และปัญญา ซึ่งพุทธศาสนาเราอยู่ในพวกหลังนี้ ผู้ที่พยายามรักษาอุดมคติของตุลาการไว้ประจำใจอยู่เสมอนั้น ย่อมจะมีเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องในการที่จะรักษาธรรมของโลก ไม่มีเจตนาที่จะทำใครให้ลำบากหรือแกล้งทำให้ใครเสียชีวิต และยังจะประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรมข้อสุดท้าย คือ อุเบกขามีความวางเฉยในเมื่อช่วยอะไรไม่ได้
ผู้ที่เป็นตุลาการจะต้องมีภาระหนักที่จะป้องกันไม่ให้เรื่องของครอบครัวเกี่ยวพันถึงการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ ในการป้องกันนั้นอย่างน้อยเราจะต้องทำให้คนข้างเคียงหรือครอบครัวของเราเป็นผู้ที่ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมเช่นเดียวกับเรา การมีบุคคลแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นทั้งหมดของความสำเร็จของมนุษย์เรา แต่การที่มีสิ่งแวดล้อมหรือบุคคลแวดล้อมเป็นอุปสรรคเสียเอง ถือว่าเป็นโชคร้ายอัปมงคลอย่างยิ่ง
ขอแนะนำพร้อมทั้งวิงวอนให้ท่านทั้งหลาย ศึกษาพระพุทธศาสนากันในอาการที่ต้องไปพิจารณาดูกิเลสของตัวเองให้เข้าใจ แล้วพยายามไถ่ถอนมันออกไปเสียให้ได้ เพื่อจะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา หรืออย่างน้อยก็ทำให้เราได้ความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์

- จบ -
 
 

โดย: มนต์ชัย IP: 125.26.2.39 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:37:06 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

The Legendary Midfielder
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




...
" เพราะเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี, เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด, เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ
" หากปรารถนาผลอันดี พึงสร้างเหตุสร้างปัจจัยอันดี "


...
" ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ "


...
" ทะเลทุกข์ไร้ขอบเขต
กลับใจจะพบฟากฝั่ง "


...
"หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
"ทำกรรมดีย่อมได้รับผลของกรรมดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว"



...
"...กฎแห่งกรรมไม่เคยผิดพลาดมาก่อน
"ไม่ว่าเราจะประสบพบกับคราวเคราะห์หนักหนาสาหัสแค่ไหน
"ให้ระลึกไว้ว่านั่นเป็นสิ่งที่สมควรและสาสมแก่เราแล้ว
"เป็นเพราะเราได้สร้างเหตุนั้นๆมาก่อน
"ผลเช่นนี้จึงตามมา..."

[Add The Legendary Midfielder's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com