|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | |
|
|
|
|
ต่อ
เนื้อตัวแท้ๆ ของอรรถกถา หรือความเป็นอรรถกถา ก็ตรงกับชื่อที่เรียก คือ อยู่ที่เป็นคำบอกความหมาย หรือเป็นถ้อยคำชี้แจงอธิบายอัตถะของศัพท์ หรือข้อความในพระไตรปิฎก เฉพาะอย่างยิ่งคืออธิบายพุทธพจน์ เช่น เราอ่านพระไตรปิฎก พบคำว่า "วิริยสฺส สณฺฐานํ" ก็ไม่เข้าใจ สงสัยว่าทรวดทรงสัณฐานอะไรของความเพียร จึงไปเปิดดูอรรถกถา ก็พบไขความว่า สัณฐานในที่นี้หมายความว่า "ฐปนา อปฺปวตฺตนา..." ก็เข้าใจ และแปลได้ว่า หมายถึงการหยุดยั้ง การไม่ดำเนินความเพียรต่อไป
ถ้าพูดในขั้นพื้นฐาน ก็คล้ายกับพจนานุกรมที่เราอาศัยค้นหาความหมายของศัพท์ แต่ต่างกันตรงที่ว่าอรรถกถามิใช่เรียงตามลำดับอักษร แต่เรียงไปตามลำดับเนื้อความในพระไตรปิฎก
ยิ่งกว่านั้น อรรถกถาอาจจะแปลความหมายให้ทั้งประโยค หรือทั้งท่อนทั้งตอน และความที่ท่านช่ำชองในพระไตรปิฎก ก็อาจจะอ้างอิงหรือโยงคำ หรือความตอนนั้น ไปเทียบหรือไปบรรจบกับข้อความเรื่องราวที่อื่นในพระไตรปิฎกด้วย นอกเหนือจากนี้ ในกรณีเป็นข้อปัญหา หรือไม่ชัดเจน ก็อาจจะบอกข้อยุติหรือคำวินิจฉัยที่สังฆะได้ตกลงไว้และรักษากันมา
บางทีก็มีการแสดงความเห็นหรือมติของพระอรรถกถาจารย์ต่อเรื่องที่กำลัง พิจารณา และพร้อมนั้น ก็อาจจะกล่าวถึงมติที่ขัดแย้ง หรือที่สนับสนุนของ "เกจิ" (อาจารย์บางพวก) "อญฺเญ" (อาจารย์พวกอื่น) "อปเร" (อาจารย์อีกพวกหนึ่ง) เป็นต้น
นอกจากนั้น ในการอธิบายหลักหรือสาระบางอย่าง บางทีก็ยกเรื่องราวมาประกอบหรือเป็นตัวอย่าง ประเภทเรื่องปนอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์บ้าง เรื่องในวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านบ้าง
ตลอดจนเหตุการณ์ในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งมากทีเดียวเป็นเรื่องความเป็นไปของบ้านเมืองในสังกาทวีป ซึ่งในอดีตผ่านยุคสมัยต่างๆ ระหว่างที่พระสงฆ์เล่าเรียนกัน คงมีการนำเอาเรื่องราวในยุคสมัยนั้นๆ มาเล่าสอนและบันทึกไว้สืบกันมา จึงเป็นเรื่องตำนานบ้าง ประวัตศาสตร์บ้าง แห่งกาลเวลาหลายศตวรรษ อันเห็นได้ชัดว่า พระอรรถกถาจารย์ ดังเช่น พระพุทธโฆสาจารย์ ไม่อาจรู้ไปถึงได้ นอกจากยกเอาจากคัมภีร์ที่เรียกว่า โปราณัฏฐกถาขึ้นมาถ่ายทอดต่อไป
สำหรับ ผู้ที่รู้จักอรรถกถา สิ่งสำคัญที่เขาต้องการจากอรรถกถา ก็คือ ส่วนที่เป็นคำบอกความหมายไขความ อธิบายเนื้อหาในพระไตรปิฎก ซึ่งก็คือต้องการตัวอรรถกถาแท้ๆ นั่นเอง และก็ตรงกันกับหน้าที่การงานของอรรถกถา อันได้แก่การรักษาสืบทอดคำบอกความหมายที่เป็นอัตถะในพระไตรปิฎก
ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่น เรื่องราวเล่าขานต่างๆ เป็นเพียงเครื่องเสริมประกอบ ที่จริง มันไม่ใช่อรรถกถา แต่เป็นสิ่งที่พ่วงมาด้วยในหนังสือ หรือคัมภีร์ที่เรียกว่า อรรถกถา
เนื่องจากผู้อ่านพระไตรปิฎกบาลี ต้องพบกับศัพท์ที่ตนไม่รู้เข้าใจบ่อยครั้ง และจึงต้องปรึกษาอรรถกถา คล้ายคนปรึกษาพจนานุกรม เมื่อแปลพระไตรปิฎกมาเป็นภาษาไทย เป็นต้น จึงมักแปลไปตามไขความ หรือ อธิบายของอรรถกถา
พระไตรปิฎกแปลภาษาไทย เป็นต้น นั้น จึงมีส่วนที่เป็นคำแปลผ่านอรรถกถา หรือเป็นคำแปลของอรรถกถาอยู่เป็นอันมาก และผู้อ่านพระไตรปิฎกแปล ก็ไม่รู้ตัวว่าตนกำลังอ่านอรรถกถาพร้อมไปด้วย หรือว่าตนกำลังอ่านพระไตรปิฎกตามคำแปลของอรรถกถา
Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2566 |
|
0 comments |
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2566 17:53:09 น. |
Counter : 403 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|