กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กันยายน 2567
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
space
space
25 กันยายน 2567
space
space
space

อรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อมา


 
 
 
235 อรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อมา
 

     เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงคำสอน คือพระธรรมวินัยแล้ว  สาวกทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ก็นำหลักธรรมวินัยนั้นไปเล่าเรียนศึกษา  คำสอน หรือพุทธพจน์ส่วนใดที่ยาก  ต้องการคําอธิบาย นอกจากทูลถามจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว  ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์คอยแนะนำ ชี้แจงช่วยตอบข้อสงสัย
 
     คำอธิบาย และคำตอบที่สำคัญก็ได้รับการทรงจำถ่ายทอดต่อกันมา  ควบคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บทนั้นๆ จากสาวกรุ่นก่อนสู่สาวกรุ่นหลัง  ต่อมาเมื่อมีการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎกแล้ว  คำชี้แจง  อธิบายเหล่านั้นก็เป็นระบบและมีลำดับไปตามพระไตรปิฎกด้วย  คำอธิบายพุทธพจน์ หรือหลักธรรมวินัย หรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎกนั้น  เรียกว่า อรรถกถา
 
     เมื่อมีการทรงจำถ่ายทอดพระไตรปิฎกด้วยวิธีมุขปาฐะ  ก็มีการทรงจำถ่ายทอดอรรถกถาประกอบควบคู่มาด้วย  จนกระทั้งเมื่อมีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษร ณ ประเทศลังกา ประมาณ พ.ศ. ๔๖๐ ตำนานก็กล่าวว่า ได้มีการจารึกอรรถกถาพร้อมไปด้วยเช่นกัน
 
     อนึ่ง พึงสังเกตว่า พุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎกนั้น ในภาษาวิชาการท่านนิยมเรียกว่า บาลี หรือพระบาลี  หมายถึง  พุทธพจน์ที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎก  ไม่พึงสับสนกับ  ภาษาบาลี   (คำว่า บาลี มาจาก ปาลฺ  ธาตุ ซึ่งแปลว่า “รักษา”)   สำหรับบาลี หรือ พระไตรปิฎกนั้น  ท่านทรงจำถ่ายทอดกันมา และจารึกเป็นภาษาบาลีมคธ แต่อรรถกถา สืบมาเป็นภาษาสิงหล
 
     ทั้งนี้สำหรับพระไตรปิฎกนั้นชัดเจนอยู่แล้ว  ในฐานะเป็นตำราแม่บท  อยู่ข้างผู้สอน จึงจะต้องรักษาให้คงอยู่อย่างเดิมโดยแม่นยำที่สุดตามพระดำรัสของพระผู้สอนนั้น  ส่วนอรรถกถาเป็นคำอธิบายสำหรับผู้เรียน  จึงจะต้องช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุด  เมื่ออรรถกถาสืบมาในลังกา ก็จึงถ่ายทอดกันเป็นภาษาสิงหล  จนกระทั่งถึงช่วง พ.ศ. ๙๕๐–๑๐๐๐ จึงมีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น พระพุทธโฆสะ และพระธรรมปาละ  เดินทางจากชมพูทวีป  มายังลังกา และแปลเรียบเรียงอรรถกถากลับเป็นภาษาบาลีมคธ  อย่างที่มีอยู่และใช้ศึกษากันในปัจจุบัน
 
     ลักษณะสำคัญของอรรถกถา คือ  เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในพระไตรปิฎกโดยตรง หมายความว่า  พระไตรปิฎกแต่ละสูตรแต่ละส่วนแต่ละตอนแต่ละเรื่อง ก็มีอรรถกถาที่อธิบายจำเพาะสูตรจำเพาะส่วนตอนหรือเรื่องนั้นๆ และอธิบายตามลำดับไป  โดยอธิบายทั้งคำศัพท์หรือถ้อยคำอธิบายข้อความ  ชี้แจงความหมาย  ขยายความหลักธรรมหลักวินัย และเล่าเรื่องประกอบ ตลอดจนแสดงเหตุปัจจัยแวดล้อม หรือความเป็นมาของการที่พระพุทธเจ้าจะตรัสพุทธพจน์นั้นๆ หรือเกิดเรื่องราวนั้นๆ ขึ้น  พร้อมทั้งเชื่อมโยงประมวลความเป็นมาเป็นไปต่างๆ  ที่จะช่วยให้เข้าใจพุทธพจน์ หรือเรื่องราวในพระไตรปิฎกชัดเจนขึ้น
 
     นอกจากอรรถกถา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักในการเล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว คัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ หลังพุทธกาล  ยังมีอีกมากมาย  ทั้งก่อนยุคอรรถกถา หลังยุคอรรถกถา และแม้ในยุคอรรถกถาเอง  แต่ไม่ได้เรียบเรียงในรูปลักษณะที่จะเป็นอรรถกถา
 
     คัมภีร์สำคัญบางคัมภีร์  เป็นผลงานอิสระของพระเถระผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านจัดวางเอง หรือเกิดจากเหตุการณ์พิเศษ  เช่น  การตอบคำถามชี้แจงข้อสงสัยของผู้อื่น  เป็นต้น ปกรณ์หรือคัมภีร์พิเศษเช่นนี้  บางคัมภีร์ได้รับความเคารพนับถือและอ้างอิงมากโดยเฉพาะคัมภีร์  เนตติ  เปฏโกปเทส  และ มิลินทปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนยุคอรรถกถา ในพม่าจัดเข้าเป็นคัมภีร์ในพระไตรปิฎกด้วย  (อยู่ในหมวดขุททกนิกาย)
 
     ในยุคอรรถกถา คัมภีร์ วิสุทธิมัคค์ ของพระพุทธโฆสะ ผู้เป็นพระอรรถกถาจารย์องค์สำคัญ แม้จะถือกันว่าเป็นปกรณ์พิเศษ   ไม่ใช่เป็นอรรถกถา  เพราะท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านตั้งเอง ไม่ใช่อธิบายพระไตรปิฎกตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะ   แต่ก็ได้รับความนับถือมากเหมือนเป็นอรรถกถา  เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์ระดับอรรถกถา   ประเทศพุทธศาสนาเถรวาทต่างให้ความสำคัญ  ถือเป็นแบบแผนในการศึกษาหลักพระพุทธศาสนา

     คัมภีร์ที่เกิดหลังยุคอรรถกถา   ก็มีทั้งคัมภีร์ที่อยู่ในสายเดียวกับอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก และอธิบายอรรถกถา และอธิบายกันเอง เป็นขั้นๆ ต่อกันไป กับทั้งคัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก เช่น ตำนานหรือประวัติ และไวยากรณ์  เป็นต้น  คัมภีร์เหล่านี้  มีชื่อเรียกแยกประเภทต่างกันออกไปหลายอย่าง จะกล่าวเฉพาะในสายของอรรถกถา คือที่อธิบายต่อออกไปจากอรรถกถา และเฉพาะที่ควรรู้ในที่นี้ ก็คือ ฎีกา และอนุฎีกา  

     เมื่อเรียงลำดับคัมภีร์ในสายพระไตรปิฎก  และอรรถกถา  ก็จะเป็น  ดังนี้

        (ก) บาลี  คือ พระไตรปิฎก
        (ข) อรรถกถา  คือ  คัมภีร์ที่อธิบายบาลีหรืออธิบายความในพระไตรปิฎก
        (ค) ฎีกา  คือ  คัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา หรือขยายความต่อจากอรรถกถา
        (ฆ) อนุฎีกา  คือ  คัมภีร์ที่อธิบายขยายความต่อจากฎีกาอีกทอดหนึ่ง

     ส่วนคัมภีร์ชื่ออย่างอื่นต่อจากนี้ไปที่มีอีกหลายประเภท  บางทีท่านใช้คำเรียกรวมๆ กันไปว่า ตัพพินิมุต   (แปลว่า “คัมภีร์ที่พ้น หรือนอกเหนือจากนั้น”)

     คัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมาย ทั้งในสายและนอกสาย   พระไตรปิฎกนี้ ในประเทศไทยเท่าที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือออกมาแล้วเพียงจำนวนน้อย ส่วนมากยังคงค้างอยู่ในใบลาน เพิ่งจะมีการตื่นตัวที่จะตรวจชำระและตีพิมพ์กันมากขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ จึงจะต้องรออีกสักระยะหนึ่งซึ่งคงไม่นานนัก ที่ชาวพุทธและผู้สนใจจะได้มีคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ศึกษาค้นคว้า อย่างค่อนข้างบริบูรณ์

     สำหรับคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถานั้น  ได้มีการตีพิมพ์เป็นเล่มพรั่งพร้อมแล้วในปี  พ.ศ. ๒๕๓๕  ส่วนคัมภีร์อื่นๆ รุ่นหลังต่อๆ มา  ที่มีค่อนข้างบริบูรณ์พอจะหาได้ไม่ยากก็คือคัมภีร์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม

     เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้  มีความสัมพันธ์อธิบายความต่อกัน กล่าวคือ อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎก และฎีกาขยายความต่อจากอรรถกถา หรือต่อจากคัมภีร์ระดับอรรถกถา จึงจะได้ทำบัญชีลำดับเล่ม จับคู่คัมภีร์ที่อธิบายกันไว้ เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป และเพื่ออำนวยความสะดวกในการโยงข้อมูลระหว่างคัมภีร์


Facebook

 


Create Date : 25 กันยายน 2567
Last Update : 29 กันยายน 2567 12:19:11 น. 0 comments
Counter : 138 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space