พระไตรปิฎกกับพระสัทธรรม ๓ อีกแง่หนึ่ง พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริงถ้าสรุปง่าย ๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็น
สัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
ปริยัติ ก็คือพุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้ เราอาจกล่าวได้ว่า
ปริยัติเป็นผลจาก
ปฏิเวธ และเป็น
ฐานของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าเมื่อทรง
บรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์
แล้ว จึงทรงนำ
ประสบการณ์ที่เป็นผลจากการ
ปฏิบัติของพระองค์นั้นมาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือ ทรงสั่งสอนพระ
ธรรมวินัยไว้
คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน แต่
ปริยัติที่เป็นผลจาก
ปฏิเวธนั้น หมายถึง
ปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือ ผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤๅษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด
ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติของเราก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบ ซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่า ล้มเหลวไปด้วยกัน
พูดง่ายๆ ว่า จาก
ปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็น
ปริยัติของเรา แล้วเราก็
ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อ
ปฏิบัติถูกต้อง ก็บรรลุ
ปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไป พระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่
ปริยัติที่มาจาก
ปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และ
เป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ
ฉะนั้น มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั้นเอง
ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็นสัทธรรม ๓ หรือ บางทีแยกเป็นศาสนา ๒ คือ ปริยัติศาสนา กับ ปฏิบัติศาสนา นั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้